Group Blog
 
All Blogs
 
๑๘. พิสูจน์กรรม



หลักพระพุทธศาสนา

๑๘. พิสูจน์กรรม

การพิสูจน์ทางโลก


เดี๋ยวนี้เมื่อพูดว่าอะไรเป็นอะไร ก็มักจะถูกถามว่าพิสูจน์ได้หรือไม่ เหมือนอย่างวิธีพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ อันทุกๆ สิ่งที่ปรากฏขึ้น หรือดังที่เรียกว่าปรากฏการณ์นั้น ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้แน่ในเมื่อมีเครื่องพิสูจน์ที่เพียงพอ แต่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ชนิดไหนก็สุดแต่สิ่งที่จะพิสูจน์ ถ้าสิ่งที่พิสูจน์นั้นเป็นวัตถุหรือสสารก็พึงพิสูจน์ด้วยเครื่องพิสูจน์สำหรับวัตถุหรือสสารนั้นทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้เป็นต้น ถ้าสิ่งที่จะพิสูจน์เป็นอย่างอื่น จะใช้เครื่องพิสูจน์สำหรับวัตถุหรือสสารนั้นหาได้ไม่ ถ้าจะพึงใช้เครื่องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้ทุกอย่างแล้วศาลหลวงก็ไม่ต้องตั้งขึ้น เพราะเมื่อใครถูกกล่าวหาฟ้องร้องว่าทำผิดก็จับตัวมาเข้าห้องวิทยาศาสตร์พิสูจน์ ไม่ต้องขึ้นศาล ในบัดนี้แม้จะมีเครื่องจับเท็จก็ใช้เป็นเพียงเครื่องมือประกอบเท่านั้น ใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยเด็ดขาดหาได้ไม่ ฉะนั้น จะพิสูจน์อะไรก็ต้องมีเครื่องพิสูจน์ที่ควรกัน กล่าวอย่างสรุป เมื่อสิ่งที่พิสูจน์เป็นวัตถุหรือสสารก็ใช้เครื่องพิสูจน์ในทางนั้น เมื่อสิ่งที่พิสูจน์เป็นความจริงที่นอกไปจากวัตถุหรือสสารก็ต้องใช้เครื่องพิสูจน์อย่างอื่นที่จะชี้ถึงความจริงนั้นๆ ได้ ดังวิธีที่ทั่วโลกก็ใช้กันอยู่แล้ว เป็นต้นว่า

การพิสูจน์ความผิด เมื่อบุคคลถูกกล่าวหาฟ้องร้องว่าทำผิดกฎหมายก็ต้องพิสูจน์กันตามวิธีที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น สืบสวน สอบสวน ไต่สวน พิจารณา วินิจฉัยโดยยุติธรรม ตามกฎหมาย

การพิสูจน์ภูมิรู้สติปัญญา เรื่องนี้จะชั่งตวงวัดอย่างวัตถุ หรือจะคำนวณด้วยวิธีคณิตศาสตร์ ให้รู้ว่าใครมีภูมิสติปัญญาเท่าไรหาได้ไม่ เพราะมิใช่เป็นสิ่งที่มีส่วนกว้างบางตื้นลึกหนักเบาอย่างสิ่งของ ฉะนั้น จึงต้องใช้วิธีให้แสดงออกเหมือนอย่างในครั้งโบราณ ผู้ที่ไปเรียนสำเร็จศิลปศาสตร์มาแล้วก็แสดงศิลปศาสตร์นั้นในที่ประชุมชน ในบัดนี้ก็ใช้การสอบต่างๆ ตั้งข้อสอบให้ตอบ เมื่อตอบได้ตามเกณฑ์ก็รับรองว่าสอบได้ มีภูมิรู้ชั้นนั้นชั้นนี้ แม้การวัดภูมิสติปัญญาที่เรียกว่าไอคิวของฝรั่ง ก็เป็นวิธีตั้งปัญหาให้ตอบเช่นเดียวกัน แล้วก็ตัดสินว่ามีสติปัญญาขนาดนั้นขนาดนี้ วิธีพิสูจน์ด้วยการสังเกตจากการแสดงออกนี้ก็คล้ายเป็นการทำนายอย่างหมอดู ซึ่งทำนายไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ใช่เป็นความจริงอย่างเต็มที่เหมือนอย่างรู้ด้วยญาณ (ความหยั่งรู้จริง) แต่เรียกว่าเป็นญาณสมมติก็พอได้ คือต่างว่าเป็นญาณ เมื่อใช้วิธีซึ่งเป็นที่รับรองกันแล้ว เช่นวิธีสอบดังกล่าว ก็เป็นใช้ได้

การพิสูจน์มติและจิตใจ เมื่อต้องการจะรู้ว่าใครมีความคิดเห็นอย่างไรจะใช้เครื่องชั่งตวงวัดเป็นต้น ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องใช้วิธีให้แสดงออกมา ในทางการเมืองเช่นออกเสียงเลือกตั้ง ออกเสียงแสดงประชามติ ในการประชุมเช่นการอภิปราย การลงมติ และในส่วนปลีกย่อย เฉพาะเรื่อง เฉพาะบุคคล ก็ใช้วิธีแหย่ให้บุคคลนั้นแสดงออกมา และสังเกตจากอาการที่เขาแสดงออกมานั้น แต่ถ้าเขาไม่แสดงอาการออกมาแล้วก็จะรู้ไม่ได้ เว้นไว้แต่จะมีญาณหยั่งรู้จิตใจของเขาเท่านั้น

การพิสูจน์ต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ แสดงว่าเครื่องพิสูจน์นั้นมีต่างๆ เมื่อเป็นวัตถุก็นำเข้าห้องวิทยาศาสตร์ เมื่อเป็นความผิดก็นำเข้าโรงศาล เมื่อเป็นภูมิรู้ก็นำเข้าสอบไล่ เมื่อเป็นจิตใจก็แหย่ให้แสดงออก ดังนี้เป็นต้น คราวนี้เป็นกรรมจะนำเข้าวิธีไหน? จะนำเข้าโรงศาลหรือจะนำเข้าห้องสอบไล่ดังกล่าวแล้วเป็นต้น ก็คงไม่ได้ผล จึงต้องนำเข้าพิสูจน์ตามหลักเหตุผล อันเป็นเหตุผลอย่างธรรมดาสามัญที่สามารถจะเข้าใจได้ด้วยสามัญสำนึกของทุกๆ คน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

การพิสูจน์ตามหลักเหตุผล

ทุกๆ คนเมื่อตากแดดก็ร้อน เมื่ออาบน้ำก็เย็น เมื่อได้รับความร้อนเย็นตามที่ต้องการก็เป็นสุข เมื่อได้รับเกินต้องการก็เป็นทุกข์ สิ่งที่ทำให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์เหล่านี้เรียกว่าเหตุ ส่วนความสุขหรือทุกข์ที่ได้รับเรียกว่าผล ถ้าเป็นเหตุผลในทางให้เกิดสุขก็เรียกว่าดี ถ้าเป็นเหตุผลในทางให้เกิดทุกข์ก็เรียกว่าชั่วร้าย เหตุผลที่เกิดจากการทำของบุคคลก็เช่นเดียวกัน เช่นเมื่อผู้ใดมารังแกตัวเราให้เดือดร้อนเราก็เห็นว่าคนนั้นไม่ดีเกเร เมื่อมีผู้ใดมาช่วยเหลือเกื้อกูลตัวเราให้เป็นสุขสบายเราก็เห็นว่าคนนั้นเป็นคนดีเป็นคนมีคุณเกื้อกูล ตัวอย่างง่ายๆ ดังกล่าวนี้เป็นเครื่องแสดงว่าทุกๆ คนต่างก็มีสามัญสำนึกบอกตัวเองอยู่ว่า ความดีและความชั่วมีจริง เพราะเรารู้สึกตัวของเราเองว่าคนนั้นทำดีแก่เรา คนโน้นทำชั่วร้ายแก่เรา และในทำนองเดียวกันตัวเราเองก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่า ตัวเราเองทำดีหรือไม่ดีอย่างไร จนถึงบางทีรู้สึกภูมิใจในความดีของเรา หรือเสียใจในความชั่วของเรา ในเมื่อเกิดรู้สึกตัวขึ้น อันความดีหรือความชั่วที่ตัวเราเองทำหรือที่คนอื่นทำซึ่งปรากฏในความรู้สึกของเรานั้น คืออะไรเล่า? ก็คือกรรมนั่นเอง เป็นกุศลกรรม (กรรมดี) บ้าง เป็นอกุศลกรรม (กรรมชั่ว) บ้าง ฉะนั้น กรรมจึงมีจริง และมีตัวอยู่จริง เพราะติดอยู่ในความรู้สึก ในจิตใจของตัวเราเอง ท่านผู้ทำความดีให้แก่ตัวเรา เช่นมารดาบิดา และผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย พระคุณของท่านเหล่านี้ย่อมติดอยู่ในจิตใจของตัวเรา เกิดเป็นความกตัญญู (รู้พระคุณที่ท่านได้ทำ) และกตเวที (ประกาศพระคุณที่ท่านได้ทำแล้ว คือการตอบแทนพระคุณท่าน) ในทางตรงกันข้าม เมื่อใครทำไม่ดีต่อเราก็มักจะติดใจตัวเรา กลายเป็นผูกเวรกันต่อไปได้เหมือนกัน กรรมของคนอื่นยังติดใจตัวเราเองอยู่ได้ถึงเช่นนี้ ไฉนกรรมของเราเองจะติดใจตัวของเราเองอยู่ไม่ได้ เราไม่สามารถจะแกล้งลืมกรรมของเราได้ ถึงจะลืมไปแล้วก็ยังฝังอยู่อย่างลึกซึ้งในจิตใจ เพราะกรรมเกิดจากเจตนาของเรา จึงเป็นรอยจารึกของจิตใจ

กรรมและวิบาก

เมื่อรู้สึกว่ากรรมมีจริง ทำดีเมื่อใดเป็นกรรมดีเมื่อนั้น ทำไม่ดีเมื่อใดเป็นกรรมชั่วเมื่อนั้น ปัญหาต่อไปจึงมีว่า กรรมวิบากคือผลของกรรมมีหรือไม่และมีอย่างไร คิดดูง่ายๆ ในเวลาสอบไล่ เมื่อได้รับข้อสอบ คิดออกตอบได้สอบไล่ได้ การที่ตอบได้สอบไล่ได้เป็นผลดี เกิดจากความตั้งใจเรียนดี นี้แหละคือกรรมดี ทำให้เกิดผลดีคือสอบไล่ได้ ถ้าตรงกันข้ามเรียนอย่างเหลวไหลจนถึงสอบไม่ได้ นี้เป็นกรรมชั่ว ทำให้เกิดผลชั่วคือสอบตก ฉะนั้น ผลของกรรมจึงมีอยู่จริง และมีตามชนิดของกรรม คือผลดีเกิดจากกรรมดีผลชั่วเกิดจากรรมชั่ว เพราะกรรมดีย่อมให้ผลดีกรรมชั่วย่อมให้ผลชั่วเสมอ ไม่สับสนกัน เหมือนอย่างต้นมะม่วงให้ผลเป็นมะม่วง ต้นขนุนให้ผลเป็นขนุน เป็นไปตามชนิด

แต่ยังมีปัญหาต่อไปอีก กรรมและกรรมวิบากนั้นเป็นของใคร คิดดูง่ายๆ อย่างการเรียนการสอบดังกล่าวแล้ว คนไหนเรียนคนนั้นรู้ คนไหนไม่เรียนคนนั้นก็ไม่รู้ ถ้าไม่เรียนใครจะมาบันดาลให้ใครรู้ขึ้นเองหาได้ไม่ ฉะนั้น กรรมและวิบากกรรมจึงเป็นของของคนที่ทำกรรมนั้นเอง ผู้ใดทำกรรมอย่างใดก็ย่อมได้ผลกรรมอย่างนั้น เหมือนอย่างหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น ทุกๆ คนจึงต้องรับผิดชอบต่อกรรมของตนเอง จะป้ายไปให้คนอื่นไม่ได้ คนที่ทำดี เช่นประพฤติตนเรียบร้อย ช่วยทำกิจที่เป็นประโยชน์เป็นต้น จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามก็เป็นคนดีขึ้นเพราะกรรมของตน ใครจะรู้จะชมหรือไม่ก็ตามตัวผู้ทำเองก็รู้สึกตัวเองว่าทำดี คนที่ทำไม่ดี เช่นประพฤติตนเกะกะระราน เป็นคนหัวขโมยเป็นต้น ก็เป็นคนชั่วขึ้นเพราะกรรมของตน ใครจะรู้จะติหรือไม่ก็ตามตัวผู้ทำเองก็รู้สึกว่าตัวของตัวทำชั่ว อาจจะป้ายความผิดให้ผู้อื่น ด้วยการหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิด แต่จะหลอกตัวเองไม่ได้ ตัวเองย่อมรู้สึกสำนึกตัวเองอย่างเต็มที่ ฉะนั้นเมื่อทำดีทำชั่วแล้วจึงปัดดีปัดชั่วออกไปให้พ้นตัวเองไม่ได้ เพราะรู้สึกตัวเองอยู่ทางจิตใจของตน ใครจะแย่งดีไปจะใส่ชั่วให้ก็ไม่ได้ นอกจากหลอกให้คนอื่นเข้าใจผิดเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง

สรุปความว่า เมื่อคิดพิสูจน์ด้วยสามัญสำนึกตามเหตุผลอย่างง่ายๆ ในเรื่องความดีความชั่วทั่วๆ ไปที่มีอยู่เฉพาะหน้า ก็จะเห็นได้แล้วว่า

๑. กรรมมี คือมีความดีความชั่วในการทำของทุกๆ คน
๒. กรรมวิบากมี คือมีผลดีของความดี มีผลชั่วของความชั่ว
๓. กรรมเป็นของผู้ทำ คือใครทำกรรมอย่างใดก็ได้รับผลกรรมอย่างนั้น

เมื่อกล่าวเฉพาะตัวของเราเองแล้ว เมื่อเป็นกรรมของเราเองยิ่งพิสูจน์ได้ง่าย คือนำเข้าพิสูจน์ในห้องใจของเราเอง เพราะเรารู้ตัวเราเองได้ดี แต่ข้อสำคัญเราต้องมียุติธรรม คือไม่ลำเอียง เหมือนอย่างการพิสูจน์วัตถุหรือสสารในห้องวิทยาศาสตร์ เครื่องพิสูจน์ต้องใช้ได้หรือการพิสูจน์ความผิดในโรงศาล โรงศาลก็ต้องสถิตยุติธรรม

ที่ลับไม่มี

คำเก่าๆ มีกล่าวว่า “ถึงคนไม่เห็นเทวดาก็เห็น” เดี๋ยวนี้อาจเห็นว่าพ้นสมัย แต่ถ้ารู้จักคิดคำนี้ก็ยังใช้ได้ คือเทวดาในดวงใจของเราเอง หมายความว่าความมีหิริ (ละอายใจ) และโอตตัปปะ (เกรงบาป) ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นเทวธรรม (ธรรมของเทวดา หรือธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา) ใจที่มีละอายมีเกรงต่อบาปคือความชั่วช้าต่างๆ นี้แหละคือเทวดา แต่ใจกระด้างด้านหยาบช้าแข็งกร้าวชั่วร้ายอาจมองไม่เห็น ภาษิตมอญมีกล่าวว่า “เมื่อกาจับที่ใบต้นหญ้า ด้วยคิดว่าไม่มีใครเห็น ถึงกระนั้นก็มีผู้เห็นอยู่ถึงสองเป็นอย่างน้อย” ผู้เห็นทั้งสองในภาษิตมอญนี้คือใคร ขอให้คิดเอาเอง ถ้าคิดไม่เห็นก็ให้ส่องหน้าในกระจก ก็จะเห็นผู้ที่เห็นกา แม้พระพุทธภาษิตก็มีกล่าวไว้ว่า “ชื่อว่าที่ลับย่อมไม่มีแก่ผู้ทำชั่ว”

ลัทธิ ๔ อย่าง

ในมหาโพธิชาดกตอนหนึ่ง เล่าว่า พระราชาแห่งรัฐหนึ่งมีอำมาตย์อยู่ ๔ คน เป็นผู้แสดงลัทธิต่างๆ แก่พระราชา อำมาตย์คนที่ ๑ แสดงลัทธิว่า ผลทุกๆ อย่างไม่มีเหตุ อำมาตย์คนที่ ๒ แสดงลัทธิว่า พระอิศวร (พระเป็นเจ้า) สร้าง อำมาตย์คนที่ ๓ แสดงลัทธิว่า ทุกๆ อย่างเป็นเพราะบุพกรรม (กรรมในปางก่อน) อำมาตย์คนที่ ๔ แสดงลัทธิว่า ขาดสูญ ยังมีชีปะขาวอีกคนหนึ่งซึ่งพระราชาเคารพนับถือ ปรารถนาจะโต้วาทะกับอำมาตย์เหล่านั้น จึงไปขอหนังของวานรจากชาวบ้านมาตากทำให้หมดกลิ่นให้เรียบร้อยดีแล้ว จึงนุ่งห่มหนังวานรและใช้เป็นอย่างผ้าพาดบ่าเข้าไปในพระอุทยาน พระราชาได้ทรงทราบ ได้เสด็จพร้อมกับอำมาตย์ทั้ง ๔ ทอดพระเนตรเห็นท่านชีปะขาวกำลังนั่งสนใจอยู่กับหนังวานร จึงตรัสถาม ชีปะขาวก็ทูลตอบว่า วานรนี้มีอุปการะแก่อาตมามาก ช่วยนำน้ำมาให้บ้าง กวาดที่ให้อยู่บ้าง ทำการปฏิบัติให้ต่างๆ อาตมาจะไปไหนก็ขึ้นหลังวานรนี้ไป แต่คราวหนึ่งอาตมาเกิดมีจิตใจทรามจึงกินเนื้อของวานรนั้น นำหนังมาตากให้แห้งใช้นุ่งห่มตลอดถึงปูนั่งนอนเพราะคิดถึงบุญคุณว่ามีอุปการะแก่อาตมามาก ฝ่ายอำมาตย์ทั้ง ๔ ได้ยินดังนั้นก็พากันกล่าวเย้ยหยันว่า ตาชีปะขาวนี้เป็นคนอกตัญญู ทรยศต่อมิตร ทำปาณาติบาต

ฝ่ายชีปะขาวจึงกล่าวโต้แก่อำมาตย์คนที่ ๑ ซึ่งถือลัทธิทุกๆ อย่างไม่มีเหตุ ว่าเมื่อผลทุกๆ อย่างไม่มีเหตุ เกิดขึ้นเอง ความชั่วอะไรๆ จะมีได้อย่างไร เพราะตามลัทธิของท่าน ย่อมไม่มีเหตุที่จะทำให้ใครๆ ในโลกเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์ โลกนี้เป็นไปตามคติและภาวะของตนเอง แปรปรวนวิวัฒนาการไปเอง มีสุขมีทุกข์ไปเอง จะทำอะไรก็ทำไปไม่จำต้องประสงค์จะทำดีหรือทำชั่ว ทำๆ ไปก็แล้วกัน ทำอะไรก็ทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีใครทำบาปหรือทำบุญอะไรเล่า ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านเป็นจริง ถึงอาตมาจะฆ่าวานรกินเนื้อเสียอาตมาก็ไม่มีโทษไม่มีบาป อำมาตย์คนที่ ๑ เมื่อถูกโต้เช่นนั้นก็นั่งนิ่ง

ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๒ ซึ่งถือลัทธิพระเป็นเจ้าสร้าง ว่าถ้าพระเป็นเจ้าสร้างชีวิตแก่โลกทั้งหมด เที่ยวจัดแจงให้คนนี้ทำกสิกรรมให้คนนั้นเลี้ยงโคเป็นต้น เป็นผู้สร้างความเจริญความเสื่อมความดีความชั่วทั้งปวง เป็นผู้บันดาลสิ่งทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครทำบาปก็ทำเพราะพระเป็นเจ้าสั่งให้ทำ พระเป็นเจ้าจึงต้องรับบาปนั้นไปเอง ถึงอาตมาจะฆ่าลิงหรือใครจะทำบาปอะไรๆ ก็ไม่ต้องรับบาป เพราะทำตามคำสั่งของพระเป็นเจ้าต่างหาก อำมาตย์คนที่ ๒ ถูกโต้ดังนั้นก็นิ่งไป

ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๓ ซึ่งถือลัทธิกรรมในปางก่อน ว่าถ้าใครๆ พากันถึงสุขทุกข์เพราะกรรมในปางก่อนเป็นเหตุเท่านั้นแล้ว ใครๆ ที่ต้องได้รับทุกข์ในบัดนี้ เช่นถูกเขาฆ่า ถูกเขาลักทรัพย์ ถูกเขาเบียดเบียนต่างๆ ก็เพราะกรรมในปางก่อนของตนเองเหมือนอย่างกู้หนี้เขามาแล้วก็ใช้หนี้เขาไป ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านเป็นจริง วานรนี้ก็คงเคยฆ่าอาตมามาแล้วในชาติปางก่อน เหมือนอย่างเป็นหนี้อาตมาอยู่ มาชาตินี้อาตมาจึงฆ่าเสียบ้าง ลิงนี้จึงถูกฆ่าเป็นการใช้หนี้กรรมเก่าให้สิ้นไป อาตมาซึ่งเป็นผู้ฆ่าจึงเท่ากับเป็นผู้ช่วยลิงนี้ให้พ้นจากหนี้ จึงไม่เป็นบาปอะไร กลับจะเป็นการช่วยไปเสียอีก และใครๆ จะฆ่าหรือทำร้ายใคร เมื่ออ้างว่าเป็นกรรมเก่าของเขาๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น และอาจอ้างเอาบุญคุณเสียอีกก็ได้ ว่าช่วยฆ่าเขาเป็นการช่วยเปลื้องหนี้กรรมให้แก่เขา อำมาตย์คนที่ ๓ ถูกโต้เช่นนี้ก็นิ่งไป

ชีปะขาวจึงกล่าวโต้อำมาตย์คนที่ ๔ ซึ่งถือลัทธิขาดสูญ ว่าถ้าใครๆ ขาดสูญเสียหมดคือตายสูญไปเลยไม่ต้องเกิดอีก จะทำอะไรก็มุ่งประโยชน์เดี๋ยวนี้เท่านั้น แม้ว่าจะต้องทำมาตุฆาตปิตุฆาตเพื่อประโยชน์ของตนก็ทำได้ ไม่มีภายหน้าที่จะต้องไปรับผล ฉะนั้น ถ้าลัทธิของท่านดังกล่าวเป็นจริง แม้ว่าอาตมาจะฆ่าวานรก็ไม่มีบาปอะไรที่จะต้องไปรับ ตัวเราเองก็ขาดสูญ บาปและสิ่งทั้งหลายก็ขาดสูญไปด้วยกัน อำมาตย์คนที่ ๔ เมื่อถูกโต้ดังนั้นจึงเงียบไป

ชีปะขาวที่ท่านกล่าวว่าเป็นพระโพธิสัตว์ จึงถวายโอวาทพระราชามิให้เชื่อลัทธิของ ๔ อำมาตย์เหล่านั้น และให้ทรงประพฤติธรรม ปกครองแว่นแคว้นโดยธรรม

เรื่องในชาดกที่เล่ามานี้แสดงว่า แม้ผู้ที่ถือลัทธิว่าไม่มีความดีความชั่วก็ยังมีสามัญสำนึกอยู่ในความดีความชั่ว ซึ่งเป็นหลักความจริง จึงได้กล่าวตำหนิชีปะขาวโพธิสัตว์ไปโดยที่ไม่ทันนึกถึงลัทธิของตนที่ถืออยู่ ฉะนั้น เรื่องของกรรมจึงเป็นเรื่องของความจริงที่เป็นไปอยู่โดยธรรมดาสามัญ พระพุทธเจ้าก็ทรงยกเอาความจริงนี้แหละมาสั่งสอน มิได้ทรงแต่งเรื่องของกรรมขึ้นเอง ทั้งมิได้ทรงยักย้ายเปลี่ยนแปลงบิดผันไปจากความจริง ทรงชี้แจงแสดงเปิดเผยไปตามหลักความจริงเท่านั้น

กรรมปัจจุบันสำคัญ

ข้อที่ควรกล่าวย้ำอีกก็คือ มักจะเข้าใจกันอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องของกรรมเป็นเรื่องอดีตคือล่วงมาแล้ว ในปัจจุบัน เรามักมีหน้าที่ปล่อยตนให้เป็นไปตามกรรมที่เรียกกันว่ายถากรรมเท่านั้น จึงไม่คิดจะทำอะไร ถ้าเห็นดังนี้เป็นความเห็นผิด ดังลัทธิของอำมาตย์ที่ถือว่าอะไรๆ เกิดเพราะกรรมปางก่อน (ปุพเพกตเหตุ) ดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนมิให้เชื่อลัทธินี้ ถือว่าเป็นลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา และตรัสยก เวทนา สุข ทุกข์ ที่ทุกๆ คนได้รับอยู่เป็นตัวอย่าง ว่าเกิดเพราะโรคต่างๆ ในปัจจุบันก็มี เกิดเพราะกรรมเก่าก็มี ฉะนั้น เมื่อโรคเกิดขึ้นก็ต้องเยียวยา และต้องป้องกันรักษาตัวไม่ให้เกิดโรค ในด้านความประพฤติต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ให้ละกรรมที่ชั่วทำกรรมที่ดี กรรมปัจจุบันนี้แหละเป็นข้อสำคัญแห่งชีวิตของทุกๆ คน คือ การที่เราทำอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้อยคำที่เราพูดอยู่เดี๋ยวนี้ เรื่องที่เราคิดอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นหน้าที่ของเราจะต้องคอยตรวจตราดูให้ตัวเราเองทำพูดคิดแต่ในทางที่ถูก ก่อให้เกิดคุณประโยชน์โดยส่วนเดียวเท่านั้น อย่าเอาเรื่องกรรมเก่ามาเป็นเครื่องตัดรอนคุณประโยชน์ มาทำให้นอนรอโชคลาภ ดังมีเรื่องเล่าเป็นคติไว้ว่า มีชาย ๒ คนไปให้หมอดู หมอทำนายทายคนหนึ่งว่าจะได้เศวตฉัตร ทำนายอีกคนหนึ่งว่าจะลำบาก ชายคนที่ได้รับทำนายว่าจะได้เศวตฉัตรก็ดีใจ นั่งนอนรอไม่ทำมาหากินอะไร ในที่สุดก็สิ้นทรัพย์สมบัติ ไปนอนเจ็บอยู่อย่างอนาถในป่าทุ่ง มีพระธุดงค์เดินผ่านมาพบเข้า มีจิตสงสารจึงเอากลดปักให้ ชายผู้นั้นก็สิ้นใจในกลดของพระธุดงค์ ก็ได้เศวตฉัตรเหมือนกัน เพราะคำว่าเศวตฉัตรแปลว่าร่มขาว กลดของพระธุดงค์ก็เป็นร่มขาวชนิดหนึ่ง ส่วนชายอีกคนหนึ่งซึ่งได้รับทำนายว่าจะลำบาก เกิดความกลัวลำบากจึงตั้งหน้าขวนขวายพากเพียรทำมาหากิน เก็บออมทรัพย์สินอยู่เรื่อยๆ มา จึงมีหลักฐานเป็นสุขสบายขึ้นโดยลำดับ แต่ก็ลำบากมาก่อนเป็นอันมาก เรื่องนี้เป็นคติสอนใจว่า หน้าที่ของเราทุกๆ คนก็คือทำกรรมปัจจุบันนี้แหละให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปแล

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ
ควรทำความเพียรในวันนี้ทีเดียว


๔ มิถุนายน ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 21 เมษายน 2553
Last Update : 21 เมษายน 2553 9:38:47 น. 2 comments
Counter : 666 Pageviews.

 
มีข้อสงสัยคือวิบากกรรมหมดแล้วจะได้อะไรค่ะ เหลือแต่สร้างกรรมดีเพื่อให้ได้ผลของกรรมดีในอนาคต


โดย: Chulapinan วันที่: 21 เมษายน 2553 เวลา:10:06:04 น.  

 


โดย: thanitsita วันที่: 21 เมษายน 2553 เวลา:18:32:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.