Group Blog
 
All Blogs
 
๒๕. สรุปเรื่องการศึกษา



หลักพระพุทธศาสนา

๒๕. สรุปเรื่องการศึกษา

ไตรสิกขา


เมื่อครูอธิบายเรื่องอะไรให้ฟัง จะต้องมีหัวข้อ บางทีครูก็บอกหัวข้อให้ทราบ เมื่อได้ฟังอธิบายของครูเข้าใจดีแล้ว ก็จำไว้เพียงหัวข้อเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนให้คนปฏิบัติชอบ ก็มีหัวข้อเป็นที่รวมความ หัวข้อใหญ่คือสิกขา ๓ อันเรียกว่าไตรสิกขา ได้แก่ สิลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา หรือ ศึกษาศีล ศึกษาจิต ศึกษาปัญญา ซึ่งนับว่าเป็น ปฐมศึกษา มัยธมศึกษา อุดมศึกษา ในพระพุทธศาสนาโดยลำดับ ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติทุกประการรวมลงในหลักไตรสิกขานี้ สีลสิกขา เกี่ยวกับความประพฤติทั้งปวง จิตตสิกขา เกี่ยวกับภาวะทางจิตใจทุกอย่าง ปัญญาสิกขา เกี่ยวกับความรู้ความเห็นทุกประการ คนเราทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องมีความประพฤติของตน ต้องมีจิตใจของตน ต้องมีความรู้ความเห็นของตน จึงมีหน้าที่หรือมีความสมควรจะพึงศึกษาในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องของตนแท้ๆ และต้องศึกษาอยู่เรื่อยไปจึงจะมีความเฉลียวฉลาดต่อตนเองอยู่เสมอๆ ไม่เช่นนั้นก็จะโง่เขลาต่อตนเอง ฉะนั้น ไตรสิกขาของพระพุทธเจ้าจึงจำเป็นแก่ชีวิต เหมือนอย่างลมหายใจที่จำเป็นแก่ชีวิตร่างกาย หยุดหายใจเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น หยุดศึกษาเมื่อใดก็ตายจากความดีและความรู้เมื่อนั้น คนตายย่อมไม่มีความรู้สึกตัว คนที่ไม่รู้จักตนเองจึงเหมือนคนตายโดยแท้

หลักการศึกษาทางตะวันตก

หลักความคิดของฝ่ายตะวันตก ในเรื่องของคนและโลกเป็นต้น ดังที่เรียกว่า จริยธรรม (เอธิค) จิตวิทยา (ไซโคโลยี) ปรัชญาหรืออภิปรัชญา (ฟิโลโซฟี หรือ เมตาฟิสิก) ก็มีหลักเค้าเดียวกันกับสิกขา ๓ คือ จริยธรรมเค้าเดียวกับสีลสิกขา จิตวิทยาเค้าเดียวกับจิตตสิกขา ปรัชญาหรืออภิปรัชญาเค้าเดียวกับปัญญาสิกขา แต่ก็เป็นเพียงมีเค้าๆ เท่านั้น เพราะผู้ที่แสดงหลักเหล่านั้นก็กำลังศึกษาอยู่ บางทีแสดงเรื่องที่ยังศึกษาไม่ถึงจึงแสดงไปอย่างเดาหรือเก็งความจริง เหมือนอย่างกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมหนึ่งแต่ไปแต่งตำราชั้นมัธยมปลายหรือชั้นอุดมศึกษา ส่วนพระพุทธเจ้าได้ทรงสำเร็จการศึกษาหรือศึกษาจบ ดังที่เรียกว่าได้ตรัสรู้เองชอบแล้ว จึงทรงสั่งสอนวางหลักสิกขาทั้ง ๓ เพื่อให้ชาวโลกศึกษาปฏิบัติ ไตรสิกขาของพระองค์จึงเป็นหลักที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ และรวบรัดเข้าใจง่าย มีเหตุผลปฏิบัติให้สำเร็จผลได้จริง

หลักในการศึกษาในปัจจุบันอีกอย่างหนึ่ง (อีกนัยหนึ่งจาก ๔ หลักที่แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๒๑) ในบางสำนักจำแนกไว้ ๗ ข้อ (เรียกว่า ๗ ฮ.) คือ

(๑) แฮบบิท ฝึกสอนอบรมให้มีนิสัยดีงาม
(๒) (ฮ) ออนเนอร์ ฝึกสอนอบรมให้รู้จักรักเกียรติยศชื่อเสียงของตนเองของหมู่คณะประเทศชาติ
(๓) ฮาร์ต ฝึกสอนอบรมให้มีน้ำใจและอัธยาศัยอันดีงาม เข้าสังคมเป็น
(๔) เฮด ฝึกสอนอบรมให้รู้จักใช้หัว คือรู้จักคิดและใช้สมอง
(๕) แฮนด์ ฝึกสอนอบรมให้รู้จักใช้มือทำงานให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
(๖) แฮนด์เวอร์ค ฝึกสอนอบรมให้มีความอดทน ทำงานหนักเป็นเพื่อให้นิสัยที่อ่อนแอหายไป
(๗) เฮลธ์ ฝึกสอนอบรมให้เป็นคนดี มีพลานามัยสมบูรณ์

หลักเหล่านี้ก็แสดงปลีกย่อยออกไปจากหลักที่กล่าวมาแล้ว

อริยสัจจ์ ๔

ถ้ายังไม่ได้กล่าวถึงอริยสัจจ์ ๔ ก็รู้สึกว่าแสดงเรื่องการศึกษายังไม่จบ โดยเฉพาะยังไม่จบอุดมศึกษา เพราะการศึกษาให้เกิดปัญญาในพระพุทธศาสนานั้น โดยตรงมุ่งให้เกิดปัญญาในอริยสัจจ์ ๔ คำว่าอริยะหรืออารยะเป็นคำเดียวกัน หมายถึงคนที่ประเสริฐคนที่เจริญมีบางคนพูดว่า อารยชน อารยประเทศ บางทีชอบพูดว่า ทำประเทศไทยเจริญให้อย่างนานาอารยประเทศ ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า นานาอารยประเทศนั้นคือประเทศที่มีความเจริญอย่างไร? คำตอบปัญหานี้เข้าใจว่าน่าจะมีว่า คือเจริญด้วยความรู้ความสามารถในวิชาการในการสร้างสรรค์ประดิษฐ์กระทำสิ่งต่างๆ ทั้งในด้านบำบัดทุกข์บำรุงสุข ทั้งในด้านทำลายล้าง มีความก้าวหน้าจนถึงเป็นผู้จัดการโลกอยู่ในปัจจุบันนี้ อาจทำให้โลกสงบก็ได้ อาจทำให้โลกยุ่งเหยิงจนถึงเป็นสงครามโลกขึ้นก็ได้ อันที่จริงผู้ที่สามารถบันดาลโลกให้เป็นไปดังกล่าวได้นั้น ก็นับว่าเก่งอยู่ เมื่อก่อนนี้ก็มักเข้าใจว่ามีใครหรืออะไรเป็นผู้บันดาล แต่บัดนี้เข้าใจกันทั่วไปแล้วว่า มนุษย์นั่นเองเป็นผู้บันดาล โดยมากก็ในประเทศที่เราชอบยกย่องว่านานาอารยประเทศนั้นเอง การเรียกคนที่เจริญว่าอารยะ หรืออริยะ ก็เป็นการใช้เรียกที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์อยู่ ดังที่เรียกหมู่ชนที่อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศอินเดียเมื่อก่อนพุทธกาลว่าอารยัน หมายความว่าเป็นพวกที่เจริญ และยังมีการเรียกว่าอารยะเพราะเหตุอย่างอื่นอีก ดังที่พระอาจารย์ได้ประมวลแสดงไว้ ๔ ประเภทคือ

(๑) อาจารอริยะ เป็นอริยะด้วยความประพฤติ

(๒) ทัสสนอริยะ เป็นอริยะด้วยความเห็น หรือด้วยมีรูปร่างและอิริยาบถน่าดูน่าชม

(๓) ลิงคอริยะ เป็นอริยะด้วยเพศหรือด้วยชาติกำเนิด

(๔) ปฏิเวธอริยะ เป็นอริยะด้วยปัญญารู้ทั่วถึงในอริยสัจจ์

กล่าวเฉพาะในพระพุทธศาสนา นิยมเรียกบุคคลประเภทที่ ๔ นี้เท่านั้นว่าอริยะหรืออารยะ อันได้แก่พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย สัจจ์ แปลว่า ความจริง รวมกันเข้าว่า อริยสัจจ์ แปลว่า ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่พระอริยะตรัสรู้ หรือความจริงอย่างประเสริฐ อริยสัจจ์นี้ ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาโดยมากมักจะจำหัวข้อได้ คือ

(๑) ทุกข์ แปลว่าความไม่สบายก็ได้ แปลว่าความทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนไปก็ได้ ในภาษาไทยเมื่อพูดว่าทุกข์ ก็มักหมายกันว่า คือความไม่สบายกายความไม่สบายใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนายังหมายถึงความที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในโลกนี้มีอะไรเล่าที่ตั้งคงที่อยู่ได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดวงอาทิตย์และดวงดาวทั้งหลายตลอดถึงโลกก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ปีเดือนวันคืนก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ชีวิตก็ไม่หยุดอยู่คงที่ ทุกๆ คนเกิดมาแล้วก็เติบโตขึ้นเรื่อย เป็นเด็กเล็กเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาวโดยลำดับ และก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ยังเปลี่ยนแปลงต่อไป เป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่ จนถึงที่สุดของชีวิต ฉะนั้น พระพุทธเจ้า เพื่อจะทรงชี้ว่าทุกข์คืออะไรให้เห็นอย่างประจักษ์ชัด จึงทรงชี้ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ คือทรงชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิตหรือของโลกดังกล่าวมานั่นเอง ข้อนี้เรียกว่าเป็นทุกข์ประจำชีวิต หรือประจำโลก เมื่อยังมีชีวิตหรือยังมีโลก ก็ต้องมีทุกข์ คือความเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกประหลาดอันใด เมื่อจะสรุปกล่าวให้สั้น ความเกิดแก่เจ็บตายทั้งสี่นี้ย่อลงเป็นสอง คือความเกิดและความดับ ซึ่งเป็นสิ่งสกัดหน้าสกัดหลังของโลกหรือของชีวิตทุกชีวิต นี้แหละเรียกว่าคติธรรมดา แปลว่าความเป็นไปตามธรรมดา สิ่งที่เป็นไปตามธรรมดาดังกล่าวเรียกว่าสภาวะ คือสภาพ แปลว่ามีภาวะของตนเอง หรือเป็นไปเอง หรือจะเรียกว่าสภาวธรรมก็ได้ ชีวิตร่างกายเรียกว่าเป็นสภาวะทั้งนั้น อีกอย่างหนึ่ง ความไม่สบายใจทุกๆ อย่างพระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ว่าเป็นทุกข์ ทุกๆ คนคงเคยประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง แล้วเกิดความทุกข์โศกต่างๆ นี้แหละพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นทุกข์ โลกหรือชีวิตประกอบด้วยทุกข์ดังกล่าวมาแล้ว ฉะนั้น ทุกข์จึงเป็นความจริงที่โลกหรือทุกๆ ชีวิตจะต้องเผชิญ

(๒) ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่าตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ตัณหามี ๓ คือ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อจะได้สิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ๑ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อเป็นนั่นเป็นนี่ ๑ วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อให้สิ่งหรือภาวะที่ไม่ชอบเสื่อมสิ้นไป ๑ ตัณหา ดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ใจต่างๆ ดังกล่าวแล้ว และเป็นเหตุให้ประกอบกรรมที่เป็นทุจริต ทำให้ประสบความทุกข์เพราะทุจริตอีกส่วนหนึ่ง

(๓) ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า ดับตัณหาเสียได้เป็นความดับทุกข์

(๔) มรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ทางสายหนึ่งที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการคือ สัมมาทิฐิ เห็นชอบ (คือเห็นอริยสัจจ์ ๔) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ (คือดำริออก ดำริไม่พยาบาท ดำริไม่เบียดเบียน) สัมมาวาจา เจรจาชอบ (คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล) สัมมากัมมันตะ การงานชอบ (คือเว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (คือเว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด การทำเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ) สัมมาวายามะ พยายามชอบ (คือเพียรพยายามป้องกันมิให้ความชั่วเกิดขึ้น เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีให้เกิดขึ้น เพียรรักษาส่งเสริมความดี) สัมมาสติ ระลึกชอบ (คือระลึกไปในที่ตั้งของสติ) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ (คือตั้งใจให้เป็นสมาธิจนถึงอย่างแน่วแน่) มรรคมีองค์ ๘ นี้รวมเป็นทางเดียวไม่ใช่แปดทาง แต่แบ่งออกเป็นองค์ประกอบเป็น ๘ และสรุปรวมลงได้ในสิกขา ๓ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ รวมเป็นปัญญาสิกขา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ รวมเป็นสีลสิกขา สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ รวมเป็นจิตตสิกขา มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขานี้ เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

อริยสัจจ์ ๔ ประการนี้ รวมลงเป็นเหตุและผล คือ ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นี้เป็นฝ่ายทุกข์ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ นี้เป็นฝ่ายดับทุกข์

การศึกษาอบรมปัญญา โดยตรงมุ่งให้รู้ทั่วถึงอริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ และที่เรียกว่าปัญญาหรือรู้ทั่วถึงนั้น ต้องรู้ในความจริง ต้องรู้ในกิจคือหน้าที่จะพึงทำ ต้องรู้ในกิจที่ได้ทำไปแล้ว จึงจะเป็นปัญญาสมบูรณ์ การศึกษาก็สมบูรณ์

ผลของการศึกษา

ผลของการศึกษาในไตรสิกขาดังกล่าวโดยตรง คือความสวัสดี ได้แก่ความปลอดภัย ความผ่านพ้นปลอดโปร่ง

สีลสิกขา ศึกษาปฏิบัติให้เป็นคนมีศีล คือมีความประพฤติดี ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ทำให้เกิดความสวัสดี คือผ่องพ้นจากความเป็นคนชั่วเสียหาย และจากภัยเวรจากความทุกข์เดือดร้อนเพราะความชั่วร้ายเสียหาย

จิตตสิกขา ศึกษาปฏิบัติอบรมจิตให้ตั้งมั่นในความดี ทำให้เกิดความสวัสดี คือผ่องพ้นจากบรรดาเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี

ปัญญาสิกขา ศึกษาอบรมปัญญา ทำให้เกิดความสวัสดี คือผ่องพ้นจากความโง่เขลาเข้าใจผิด

ความสวัสดีผ่องพ้นดังกล่าว ท่านเรียกว่าวิมุตติ แปลว่าความหลุดพ้น ปฏิบัติพระธรรมของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะคือไตรสิกขาดังกล่าวเมื่อใด ก็ได้วิมุตติคือความหลุดพ้นเมื่อนั้นทันที ดังเช่นทุกๆ คนเมื่อรักษาศีลเช่นไม่ลักขโมยใครเมื่อใด ก็หลุดพ้นจากความเป็นขโมยเมื่อนั้นทันที และพ้นจากภัยเวรที่เกิดจากความเป็นขโมย

ส่วนผลโดยอ้อม คือผลดีต่างๆ ที่เกิดจากความดีตามคราวที่ความดีนั้นๆ จะพึงอำนวยให้ เทียบอย่างเมื่อตั้งใจเรียนดี ครูหรือผู้ปกครองก็ให้รางวัลเป็นบางครั้งบางคราว แต่ความจริง ผลของการเรียนดีโดยตรงก็คือความรู้ที่ได้จากการเรียนนั่นเอง ส่วนรางวัลต่างๆ ที่ได้รับเป็นผลโดยอ้อม หรือเป็นผลพลอยได้เท่านั้น

ความเข้าใจผิดในผล

คนโดยมากมักเข้าใจผิดในผลของความดี คือมักไปเข้าใจผลพลอยได้ว่าเป็นผลโดยตรง และมักไปมุ่งผลพลอยได้เป็นสำคัญ ดังเช่นเมื่อไม่ได้ผลที่เป็นวัตถุอะไรๆ ในเมื่อทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มักบ่นว่าทำดีไม่เห็นจะได้อะไร รักษาศีลก็ไม่เห็นร่ำรวยอะไร ทั้งนี้ เพราะไม่เข้าใจว่าผลของความดีคืออะไร เช่นความดีดังที่กล่าวแล้ว ผลของศีลก็คือความหลุดพ้นจากภัยเวรเพราะความประพฤติชั่วเป็นต้น วิมุตติคือความหลุดพ้นหรือความสวัสดีดังกล่าวนี้แหละเป็นผลแห่งความดีดังกล่าวทั้งปวง ผู้ที่ทำความดีได้อย่างมากย่อมแสดงถึงว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจหลุดพ้นจากความเห็นแก่ตัว มีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ผู้อื่นเป็นส่วนรวมที่กว้างขวางออกไปโดยลำดับ และย่อมเห็นว่าการให้สำคัญกว่าการรับ และย่อมบำเพ็ญความดีเพื่อความดี มิใช่เพื่อผลตอบแทนใดๆ เป็นสำคัญ ดังจะพึงเห็นได้ว่า บรรดาผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ทั้งหลายซึ่งเรียกว่าเป็นผู้มีคุณทั้งสิ้นล้วนเป็นผู้ให้ เช่นมารดาบิดาเป็นผู้ให้ทุกๆ สิ่งแก่บุตรธิดา ครูอาจารย์เป็นผู้ให้ศิลปวิทยาแก่ศิษย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ให้การปกครองโดยทศพิธราชธรรม ให้ความปรากฏด้วยเกียรติและศรีสง่า ความเป็นขวัญใจ ความอุ่นใจ และความรวมใจแห่งประชาชน พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ให้แสงสว่างแห่งชีวิต ผู้มีอุปการะอื่นๆ ก็ล้วนเป็นผู้ให้อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยจิตใจประกอบด้วยการเสียสละ ท่านผู้ใหญ่เหล่านี้แหละชื่อว่าเป็นผู้มีคุณ ท่านผู้มีคุณทั้งปวงย่อมบำเพ็ญความดีเพื่อความดี อันแสดงถึงจิตใจที่หลุดพ้นหรือผ่องพ้นจากความชั่วตลอดถึงความเห็นแก่ตัว มากหรือน้อยตามภูมิชั้น ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยอบรมปัญญาให้รู้จักเหตุผลทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายก่อทุกข์และทั้งฝ่ายดับทุกข์ เทียบเคียงกันให้ประจักษ์ชัด และให้รู้จักคุณค่าของความดีให้รู้จักตีราคาของความดีว่าสูงกว่าความชั่วและผลต่างๆ ที่จะพึงได้เพราะความชั่ว ให้รู้จักว่าความดีทำให้เกิดเกียรติ การรักษาเกียรติก็คือรักษาความดีเอาไว้ ทิ้งความดีเสียเมื่อใดก็เป็นอันทิ้งเกียรติเสียเมื่อนั้น เมื่อศึกษาอบรมให้มีความประพฤติมีจิตใจมีความรู้มีความเห็นเข้าทางแห่งเหตุผลที่ถูกต้องดังกล่าว ก็จักบรรลุถึงความเป็นคนโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลสรุปยอดของการศึกษาของพระพุทธเจ้า

คนชนิดต่างๆ

คนที่เกิดมาท่านแสดงว่ามีหลายชนิดคือ

มนุสฺสเนรยิโก แปลว่า คนนรก หมายถึงคนที่ร้อนรนอยู่เสมอเพราะมีโลภ โกรธ หลง ประกอบทุจริตต่างๆ อยู่เป็นอาจิณ ซึ่งเหมือนเป็นไฟเผาให้ร้อนอยู่เรื่อย บางทีดูเหมือนเป็นสุขสมบูรณ์ แต่ความจริงถูกเผาอยู่เสมอ ทีแรกอาจเป็นไฟเย็น แต่เมื่อความชั่วปรากฏก็เป็นไฟร้อนขึ้นมาทันที

มนุสฺสติรจฺฉาโน แปลว่า คนเดียรฉาน คือคนที่ทำอะไรไม่มีความละอายไม่มีความเกรงกลัวต่อความชั่วอะไร ทำชั่วได้อย่างเปิดเผยหรือย่างหน้าตาเฉย

มนุสฺสเปโต แปลว่า คนเปรต คือคนที่มีโลภอยากได้อยู่ไม่รู้จักอิ่มจักพอ มุ่งที่จะอาศัยเบียดเบียนผู้อื่นอยู่เท่านั้น

มนุสฺสมนุสฺโส แปลว่า คนมนุษย์ คือคนที่รู้จักการควรการไม่ควร รู้จักละอายใจ รู้จักยับยั้ง และศึกษาอบรมตนให้มีศีลธรรมตามฐาน

มนุสฺสเทโว แปลว่า คนเทวดา คือคนที่ถึงพร้อมด้วยหิริ (ละอายรังเกียจความชั่ว) โอตตัปปะ (เกรงกลัวความชั่ว) มีความประพฤติสะอาด มีความสงบ

มนุสฺสวิสุทฺโธ แปลว่า คนผู้บริสุทธิ์แล้ว คือท่านผู้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ หรือในไตรสิกขาดังกล่าว จนดับตัณหาเสียได้ บรรลุถึงความดับทุกข์ ดังเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย

คนนรกคนเดียรฉานและคนเปรตนับว่าเป็นคนบกพร่อง มีความเป็นคนไม่สมบูรณ์ ส่วนคนมนุษย์คนเทวดาและคนบริสุทธิ์แล้วเป็นคนสมบูรณ์โดยลำดับ การศึกษาของพระพุทธเจ้ามุ่งให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ ดังแสดงมา

ประเทศไทยเราเรียกว่าเป็นประเทศนับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็ปรากฏว่ามีบุคคลที่บกพร่องอยู่มิใช่น้อย บางประเทศที่มิได้นับถือพระพุทธศาสนาปรากฏว่าคนที่ประพฤติดีอย่างสามัญเช่นไม่ลักขโมยไม่ต้องระวังรักษาสิ่งของกันเท่าไรมีอยู่มาก ดูก็น่าอายเขาอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาและตั้งใจปฏิบัติพระพุทธศาสนาตามสมควร ฉะนั้น แม้จะจัดการกับบุคคลอื่นไม่ได้ ก็ควรจะจัดการกับตนเอง แต่ละคนนี่แหละให้ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา ทำตนให้เป็นคนดี ให้เป็นคนสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ ก็จะเกิดความสวัสดีสมกับที่ต้อนรับกันด้วยสวัสดี

ปุญฺเญมว โส สิกฺเขยฺย
ควรศึกษาทำความดีแล


๑๗ กันยายน ๒๕๐๓


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 11 มิถุนายน 2553
Last Update : 11 มิถุนายน 2553 9:16:44 น. 1 comments
Counter : 629 Pageviews.

 
อืม....ครับ


โดย: panwat วันที่: 11 มิถุนายน 2553 เวลา:10:29:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.