Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๑ ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



วิญญาณธาตุ - จิตที่เป็นตัวเดิม

ได้กล่าวถึงบุรุษสตรีบุคคลว่ามีกายและจิตประกอบกันอยู่ และจิตนั้นในธาตุวิภังคสูตร เรียกว่าวิญญาณธาตุ แปลว่าธาตุรู้ หมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิม และจิตที่เป็นตัวเดิมนี้ในพระญาณที่ ๑ ของพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนที่จะตรัสรู้ในราตรีที่จะตรัสรู้นั้น ที่ทรงได้ในปฐมยาม ที่ทรงระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ คำว่าขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนนั้นเรียกว่านิวาสน์ ที่มาใช้กันว่าบ้านที่อยู่อาศัย ตรัสเล่าถึงพระองค์เอง ก็ทรงใช้คำว่าฉันข้าพเจ้าหรือเรา และในพระญาณที่ ๒ ทรงใช้ว่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นส่วนที่หมายถึงในบุคคลทุกๆ คน อันเป็นส่วนที่แม้เมื่อขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่แตกสลาย ก็ไม่แตกสลายไป เป็นแต่ว่าเคลื่อนคือเคลื่อนออกจากขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ที่แตกสลายนั้น ไปเข้าถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ใหม่ คือว่าเคลื่อนออกจากบ้านเก่าไปเข้าอาศัยอยู่ในบ้านใหม่ ในพระญาณที่ ๑ ตรัสเล่าถึงพระองค์เองก็เรียกว่าเราหรือฉันหรือข้าพเจ้า ในพระญาณที่ ๒ ก็ตรัสเรียกว่าสัตว์ทั้งหลาย และในส่วนที่แบ่งออกเป็นกายและจิต ก็เรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ หรือเรียกว่าจิต แม้ในธาตุวิภังคสูตรนั้นเองที่ตรัสแสดงถึงธาตุ ๖ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาธาตุ ๕ ข้างต้น คือปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่าง บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงยึดถือ ว่านี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเราเพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับ จึงแสดงวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ต่อไปว่า ธาตุรู้ย่อมผ่องใสควรแก่การงาน ในเมื่อได้พิจารณาเห็นธาตุ ๕ ข้างต้นตามที่เป็นจริงดั่งนั้น ฉะนั้นวิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้นี้จึงหมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิม ดังที่ตรัสสอนชี้ให้รู้ลักษณะของจิตว่า ไม่มีสรีรสัณฐาน มีคูหาเป็นที่อาศัย เที่ยวไปไกล และตรัสสอนให้ฝึกจิตให้ข่มจิตให้รักษาจิตให้อบรมจิต

จิต - อัตตภาวะหรือสัตตภาวะ

ฉะนั้น จึงสรุปว่าสิ่งที่มีอยู่อาศัยอยู่ในกายอันนี้ ซึ่งแม้กายอันนี้จะแตกสลายก็เคลื่อนออกไป ไม่แตกสลายไปตามกาย เข้าถึงกายใหม่ซึ่งเป็นบ้านใหม่ต่อไป ก็เรียกว่าจิตบ้าง วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ หรือวิญญาณบ้าง ถ้ามุ่งขึ้นมาถึงตัวเราเอง ก็เรียกว่าเราหรือฉันหรือข้าพเจ้า โดยนัยนี้เมื่อมุ่งถึงผู้อื่นเมื่อจะพูดถึง ก็เรียกท่านหรือเธอเป็นต้น และเมื่อเรียกรวมๆ ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งคำว่าสัตว์นี้ก็ได้กล่าวแล้วว่า ไม่ได้หมายจำเพาะถึงสัตว์เดรัจฉาน แต่หมายถึงทุกถ้วนหน้า จะเป็นมนุษย์สัตว์เดียรัจฉานเปรตอสุรกาย หรือเป็นเทวดามารพรหมก็เรียกว่าสัตว์ทั้งหมด ในเมื่อยังมีกิเลสเป็นเครื่องข้องอยู่ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงสรุปว่าตามคติที่แสดงไว้ในพุทธศาสนานั้น บุคคลทุกๆ คนไม่ว่าชายไม่ว่าหญิงจึงมีกายและจิตอาศัยกันอยู่ หรือเมื่อแบ่งเป็นธาตุทั้ง ๖ ก็มีธาตุที่เป็นส่วนกาย คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ และวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้ที่เป็นส่วนจิต และส่วนจิตนี้ก็เรียกว่าเราเขาหรือเรียกว่าสัตว์ จึงมีวิญญาณธาตุหรือจิต มีอัตตภาวะ คือภาวะที่เรียกว่าเราหรืออัตตาตัวตน หรือเรียกว่าสัตตภาวะ ความเป็นสัตว์ อยู่ด้วยกัน ซึ่งสภาพที่เป็นจิตเป็นวิญญาณธาตุ เป็นอัตตาหรืออัตตภาวะ ความเป็นเรา ดังที่เรียกเป็นกิเลสว่าอหังการ มมังการ กิเลสที่เป็นเครื่องกระทำให้เป็นเราเป็นของเรา ในที่นี้ไม่ใช้คำนั้น แต่ใช้คำว่าอหภาวะ ภาวะที่เป็นของเราหรือว่าเขาก็ได้ที่คู่กัน และสัตตภาวะ แต่ว่าภาวะเหล่านี้ไม่มีรูปสัณฐาน แต่ก็อาศัยอยู่ในกายอันนี้ เมื่อก่อเกิดกายอันนี้ขึ้นมาก็เกิดปฏิสนธิหรืออุปบัติคือเข้ามาอาศัย และเมื่อกายอันนี้แตกสลายก็จุติคือว่าเคลื่อนออกไป แล้วก็เข้าถึงกายใหม่หรืออุปบัติ แต่ว่าภาวะที่เข้ามาและภาวะที่เคลื่อนออกไป หรือว่าสภาพที่เข้ามาสภาพที่เคลื่อนออกไปอันเรียกว่าจิตหรือวิญญาณธาตุ หรืออหภาวะหรือว่าสัตตภาวะดังกล่าวนั้น เมื่อไม่มีสรีรสัณฐานก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ทางวัตถุคือจะชั่งตวงวัดหรือจะพิสูจน์เหมือนอย่างพิสูจน์วัตถุทั้งหลายไม่ได้ เพราะไม่มีสรีระ เมื่อเป็นดั่งนี้ ผู้ต้องการที่จะพิสูจน์เหมือนอย่างผู้ที่มีสรีระ จึงกล่าวปฏิเสธว่าไม่มี เพราะเมื่อคนเกิดก็ไม่ปรากฏเป็นสรีระเป็นวัตถุว่า มีสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือวิญญาณ หรือภาวะเป็นเราภาวะเป็นสัตว์ ดังกล่าวนั้นเข้ามา และเมื่อตายก็ไม่ปรากฏเป็นวัตถุว่า มีอะไรเคลื่อนออกไป แต่ว่าแม้จะพิสูจน์ทางวัตถุไม่ได้ดั่งนั้น ก็ควรจะพิจารณาว่าสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือวิญญาณหรือภาวะเป็นเราหรือภาวะเป็นสัตว์ดังกล่าวนั้น คือในเดี๋ยวนี้สภาพที่เป็นวัตถุไม่มีสรีระสัณฐานนั้น มีอยู่ในบุคคลหรือไม่ในบัดนี้ อย่างตัวเราเองในบัดนี้มีอยู่หรือไม่

อารมณ์คืออาการที่ปรากฏของจิต

ถ้าหากพิจารณาดูแล้วโดยรอบคอบ ทุกคนก็จะรู้ว่าทุกคนมีธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุอยู่คือรู้อะไรๆ ทางตาทางหูเป็นต้นได้ ซึ่งเป็นความรู้ทางประสาท สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายก็มีความรู้ทางประสาททางตาทางหูเป็นต้นเหมือนกัน และเมื่อว่าถึงความรู้ทางประสาทตาประสาทหูเป็นต้นนั้น ประสาทหูประสาทตาบางอย่างของสัตว์เดียรัจฉานดีกว่าของมนุษย์ อย่างเช่นตามองเห็นอะไรในความมืด หูฟังเสียงอะไรที่ละเอียด ตาหูของสัตว์เดียรัจฉานบางจำพวกดีกว่าตาหูของมนุษย์ แต่ว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่สู้มนุษย์ไม่ได้ ก็คือปัญญา ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่าสมอง สมองของมนุษย์นั้นดีกว่าของสัตว์เดียรัจฉาน สมองอันเป็นสิ่งที่เป็นที่ตั้งของปัญญา แต่ว่าสิ่งที่เรียกว่าสมองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งมีสรีรสัณฐาน มีอีกอย่างหนึ่งคือจิตหรือวิญญาณธาตุซึ่งอาศัยอยู่ในร่างกายอันนี้ และก็อาศัยสมองอันนี้เป็นที่ตั้งของประสาทรับรู้ต่างๆ และเป็นที่ตั้งของปัญญาต่างๆ สมองนั้นก็เป็นเครื่องมือของจิตคือธาตุรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีสรีรสัณฐาน ควรจะต้องพิจารณาว่า บรรดาร่างกายนั้นล้วนเป็นเครื่องมือของจิตหรือวิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้ทั้งนั้น เพราะว่าจิตหรือวิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้นั้นไม่มีสรีรสัณฐาน อาศัยร่างกายนี้ซึ่งเป็นตัวสรีรสัณฐานสำหรับปฏิบัติงานการต่างๆ ไปตามต้องการ เช่นเกี่ยวแก่ประสาททั้งหลายก็ต้องอาศัยสมอง และเมื่อต้องการจะหยิบจับอะไรก็ใช้มือ จิตหรือวิญญาณธาตุรู้นั้นจะเดินเองก็ไม่ได้ต้องอาศัยร่างกายอันนี้ ซึ่งรวมเข้าแล้ว จะดูอะไรก็ต้องอาศัยจักขุประสาท จะฟังอะไรก็ต้องอาศัยโสตประสาทเป็นต้น ซึ่งเป็นปรกติธรรมดา และอาการที่แสดงออกว่าเป็นอาการของจิตและธาตุรู้นั้น ก็คืออาการที่ปรากฏเป็นอารมณ์คือเรื่องที่ปรากฏเป็นกิเลส ที่ปรากฏเป็นอารมณ์คือเรื่องนั้นก็คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตครุ่นคิดถึงทั้งหลาย เมื่อเป็นเรื่องรูปก็เรียกว่ารูปารมณ์ อารมณ์คือรูป เรื่องเสียงก็เรียกว่าสัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง เรื่องกลิ่นก็เรียกว่าคันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น เรื่องรสก็เรียกว่ารสารมณ์ อารมณ์คือรส เรื่องที่กายถูกต้องก็เรียกว่าโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ เรื่องของเรื่องเหล่านั้นที่รู้ที่คิดอยู่ในใจก็เรียกว่าธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรม คือเรื่องราวของเรื่องเช่นรูปเป็นต้นเหล่านั้น ที่ประสบพบผ่านมาแล้วและก็นำมาคิดนำมาระลึกถึง และอารมณ์บางอย่างที่เป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะ ก็เกิดเป็นราคะ ความกำหนัดยินดีติดอยู่ เป็นความโลภอยากได้ เรื่องที่เป็นที่ตั้งของโทสะ ก็เกิดความขัดแค้นโกรธเคืองอันเป็นตัวโทสะ เรื่องที่เป็นที่ตั้งของความหลง ก็เกิดความหลงที่เป็นตัวโมหะขึ้น บรรดาอารมณ์และกิเลสเหล่านี้ก็ไม่มีสรีรสัณฐาน ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ และในด้านปฏิบัติธรรม ที่เรียกว่าปฏิบัติก็ดี ที่เรียกว่าศึกษาก็ดี ที่เป็นเมตตาเป็นกรุณา เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ก็ไม่มีสรีรสัณฐานอีกเหมือนกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ แม้ว่าการศึกษาเล่าเรียนในทางคดีโลกก็ตามในทางคดีธรรมก็ตาม ก็เป็นความรู้ดังที่ได้เคยกล่าวแล้ว ก็ไม่มีสรีรสัณฐาน

อารมณ์เป็นอาหารอย่างหนึ่งของจิต

ในตอนนี้จะพิจารณาเห็นความแตกต่างกันได้ระหว่างสมองกับภาวะที่เรียกว่าจิตหรือวิญญาณธาตุ อาการของอารมณ์และกิเลสเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตและวิญญาณธาตุ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสมอง เรื่องของสมองนั้น สมองต้องการอาหารสำหรับเลี้ยงสมองเป็นแบบอาหารสำหรับเลี้ยงรูปกาย และเมื่อสมองป่วยก็เป็นอาการป่วยทางรูปกาย ซึ่งต้องใช้หยูกยาทางรูปกายรักษา แต่ว่าอาหารของจิต หรือวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นั้น ก็คืออารมณ์ จะพึงกล่าวได้ว่า จิตย่อมมีอารมณ์เป็นอาหารอย่างหนึ่ง และจิตที่มีกิเลส กิเลสก็มีอารมณ์ที่เป็นอาหาร มีสิ่งที่กิเลสต้องการเป็นอาหาร อันนับว่าเป็นอาหารของอารมณ์และอาหารของกิเลส และเมื่อจิตมีกิเลส กิเลสนั้นเองต้องการ เช่นว่าเมื่อโลภเกิดขึ้น อยากจะได้เงินอยากจะได้ทอง ก็ทำให้อารมณ์ในเงินในทองนั้นมาเป็นอาหารโลภ ของจิตที่โลภ เมื่อได้เงินได้ทองก็รู้สึกว่าอิ่มใจสบายใจ โทสะก็เหมือนกันต้องการอาหาร เมื่อโกรธขึ้นมาก็ต้องการทุบตีเขาทำลายเขา การที่ได้ทุบตีเขาก็เป็นอาหารแก้หิวของโทสะ โมหะก็เหมือนกันหลงสยบติดอยู่ ก็เพลิดเพลินสบายอยู่กับสิ่งที่หลงสยบติดอยู่ นั่นก็เป็นอาหารของโมหะคือความหลง แต่อันที่จริงไม่ได้เป็นอาหารของจิตหรือธาตุรู้โดยตรง แต่เป็นอาหารของกิเลส เหมือนดังว่าตัวพยาธิที่อาศัยอยู่ในท้องของบุคคล ตัวพยาธิก็ต้องการอาหารที่บุคคลบริโภคอาหารเข้าไป ตัวพยาธิก็แย่งบริโภค อาหารก็ไม่ได้บำรุงเลี้ยงร่างกายเท่าไหร่ จิตก็เหมือนกัน โดยมากนั้นก็ต้องการอาหารที่เป็นอาหารของกิเลสดังกล่าวนั้น เหล่านี้เป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของธาตุรู้ที่เกี่ยวแก่กิเลส เป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากอาหารของสมอง

ธัมมะเป็นอาหารของจิตโดยตรง

คราวนี้อาหารที่เป็นของจิตโดยตรงนั้น ก็คือธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูล เมื่อจิตได้ดูดดื่มธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูล เช่นว่าเมื่อได้ทำทานก็ได้ปีติได้สุขในทาน จิตก็ดื่มปีติสุขที่เกิดจากทานและเมื่อทานที่บริจาคที่ทำนั้นไปขัดเกลาโลภะมัจฉริยะในจิต เมื่อโลภะมัจฉริยะเบาบางลง จิตก็บริสุทธิ์ผ่องใส ก็เกิดสุขเกิดปีติอันเกิดจากความบริสุทธิ์ จิตก็ได้ดูดดื่มปีติสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์นั้น ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาก็เช่นเดียวกัน จิตบริสุทธิ์จิตก็ได้ดื่มปีติสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์นั้น ก็ได้ความปีติได้ความสุขที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น คือธรรมปีติ ปีติในธรรมนั้นเอง นี่เป็นอาหารของจิตโดยตรง ทำให้จิตมีความสุขมีความอิ่มเอิบ เป็นความสุขเป็นความอิ่มเอิบยิ่งกว่าที่ได้อาหารของกิเลสเข้ามา เช่นได้อาหารของกิเลสเป็นความโลภเป็นต้นดังที่กล่าวนั้นเป็นความสุขเป็นความอิ่มเอิบที่บริสุทธิ์กว่าที่สงบกว่าที่เย็นกว่า ซึ่งบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมได้รับก็ย่อมจะรู้สึก ธรรมนี้แหละเป็นอาหารของจิตโดยตรง และยังเป็นธรรมโอสถหรือยาธรรมสำหรับที่จะแก้โรคกิเลส แก้โรคโลภหรือราคะ แก้โรคโกรธ แก้โรคหลง ได้ด้วย ดังที่ได้เคยกล่าวแล้ว ฉะนั้นยาสำหรับแก้โรคทางจิตคือโรคกิเลสดังที่ได้กล่าวแล้วก็คือธรรมโอสถ ซึ่งต่างจากยาแก้โรคสมองที่เป็นเวชโอสถ โอสถของหมอทางร่างกายนั้นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วดั่งนี้จะเห็นได้ว่า ในบุคคลทุกๆ คนนี้มีสภาพที่เรียกว่าจิตหรือธาตุรู้ หรือว่าภาวะเป็นเราหรือว่าภาวะเป็นสัตว์ อันเป็นสิ่งที่ยังดำรงอยู่แม้เมื่อร่างกายอันนี้แตกสลาย แล้วก็เคลื่อนไปสู่ที่บ้านใหม่ภพใหม่ต่อไป

พุทธศาสนาไม่แสดงว่าตายเกิดหรือตายสูญ

ตามที่กล่าวนี้ก็กล่าวเป็นทำนองว่าตายเกิด แล้วก่อนเกิดนั้นเล่าก็มีชาติภพในอดีตมาก่อนจึงมาถึงชาติภพนี้ และก็ต่อไปชาติภพอื่น เพราะเหตุว่ามีตัวที่เรียกว่าจิตหรือธาตุรู้หรือว่าตัวที่เป็นเราหรือที่เป็นสัตตภาวะหรือภาวะเป็นสัตว์อันเป็นสิ่งที่ไม่ตายไปตามกาย เป็นสิ่งที่ยังดำรงอยู่เมื่อกายแตกสลาย คือบ้านอันนี้พัง สภาพที่กล่าวนี้ที่เป็นตัวเรา เป็นสัตตภาพ เป็นจิตหรือเป็นธาตุรู้ก็จุติเคลื่อนออกไป ไปถือภพชาติใหม่ต่อไป ก็เป็นอันกล่าวไปในเค้าว่าตายเกิด และก่อนเกิดมาก็เคยเกิดในชาติภพอื่นมาก่อน สืบต่อมาถึงชาตินี้ภพนี้ แล้วก็จะสืบต่อไปถึงชาติหน้าภพหน้า ไม่ใช่ตายสูญ แต่อันที่จริงนั้นตายเกิดตายสูญนี้เป็นทิฏฐิที่มีมาก่อนพุทธกาล และในบัดนี้ก็ยังมีอยู่ คือบางลัทธิแสดงว่าตายสูญคือไม่มีอะไรไปเกิดอีก เรียกว่าอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ อีกลัทธิหนึ่งแสดงว่าตายเกิดเรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง เพราะฉะนั้นหากจะมีปัญหาว่าพระพุทธศาสนาแสดงอย่างไร ก็ตอบได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นไม่แสดงว่าตายเกิด ไม่แสดงว่าตายสูญ คือปฏิเสธทั้งฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงกับอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ แต่ว่าแสดงตามเหตุผลว่าเมื่อยังมีเหตุก็ยังเกิดอีก เมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด ซึ่งจะแสดงต่อไป

๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 15 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2553 8:56:13 น. 0 comments
Counter : 1152 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.