Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๗ ลักษณะพุทธศาสนา - สังขตธรรมและอสังขตธรรม (๓)

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



รูปกายและนามกาย

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงสังขตธรรมและอสังขตธรรมทางวัตถุ จากนี้จะได้แสดงสังขตธรรมและอสังขตธรรมทางจิตหรือ วิญญาณธาตุ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าบุรุษสตรีบุคคลทั้งปวง พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีธาตุ ๖ สำหรับธาตุทางวัตถุนั้นก็คือธาตุ ๕ ข้างต้นประกอบกันเป็นรูปกาย ส่วนธาตุที่ ๖ คือวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็มาประกอบเข้า วิญญาณธาตุนั้นเมื่อมาประกอบเข้ากับรูปกายคือธาตุ ๕ ข้างต้น ก็ปรากฏเป็น นามกาย ซึ่งเป็นอาการของวิญญาณธาตุหรือจิตใจ สำหรับรูปกายคือกองรูปโดยเฉพาะนั้น เป็นสิ่งที่มีสรีรสัณฐานเป็นวัตถุ และเมื่อมาประกอบกันก็เป็นสังขาร คือเป็นส่วนผสมปรุงแต่งมาจากธาตุทั้งหลาย และธาตุนั้นได้แสดงแล้วว่าทางพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าแสดงไว้อย่างไร ได้มุ่งอะไร แต่ก็ได้เป็นต้นฉบับหรือต้นทางที่จะให้มองเห็นได้ ว่าส่วนที่เป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งนั้น ที่ปรากฏเป็นรูปกายของทุกๆ คนจะต้องมาจากสิ่งที่มาผสมปรุงแต่งเข้า และสิ่งนั้นคือธาตุ และธาตุนั้นมุ่งถึงส่วนที่เป็นสาระแก่นสาร เช่นปฐวีธาตุ ธาตุดิน ก็หมายถึงสิ่งที่แข้นแข็งเป็นต้น และสิ่งที่แข้นแข็งนั้นเมื่อแยกออกไปอีกๆ ก็ย่อมจะพบละเอียดเข้าๆ ไปโดยลำดับ จนถึงที่สุด แปลว่าแยกไปอีกไม่ได้ นั่นเป็นตัวธาตุแท้ดั้งเดิม แต่บัดนี้จะค้นพบหรือยังไม่ทราบ นี้เป็นด้านวัตถุ ซึ่งด้านวัตถุแม้ที่กล่าวมาแล้วนี้ก็สรุปลงได้ ว่าส่วนที่เป็นสังขารนั้นก็เป็นสังขตธรรม และส่วนที่เป็นธาตุแท้ก็เป็นอสังขตธรรม เพราะเมื่อแยกออกไปอีกไม่ได้ เมื่อมีอยู่ก็แปลว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่ง เป็นตัวเดิมแท้ๆ ของวัตถุ

คราวนี้มาว่าถึงวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ก็เหมือนกัน อันวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ที่มาประกอบอยู่ในกายนี้อันหมายถึงรูปกายอันนี้ ก็ย่อมจะมีตัวเดิมซึ่งเป็นตัวธาตุแท้ และมีตัวอาการซึ่งเป็นสังขารหรือเป็นส่วนผสมปรุงแต่งเช่นเดียวกัน บุคคลทุกๆ คนนั้นย่อมรู้สึกได้หรือว่าจับได้ในส่วนที่เป็นอาการ ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ในขันธ์ ๕ ที่เป็นส่วนนามกาย คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เวทนา

นามข้อที่ ๑ คือเวทนานั้น ได้แก่ความรู้สุขรู้ทุกข์หรือรู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ที่ทุกๆ คนได้มีความรู้สึกอยู่ คำว่าเวทนานั้นมักจะแปลกันว่าเสวยอารมณ์ คือกินอารมณ์หรือว่าเอาสุขทุกข์มาใส่เข้า ว่าเสวยสุขเสวยทุกข์เสวยเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ในเมื่อเสวยสุขทุกคนก็รู้สึกว่าสบายกายสบายใจ เมื่อเสวยทุกข์ทุกคนก็รู้สึกว่าไม่สบายกายไม่สบายใจ เมื่อเสวยภาวะเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็รู้สึกปรกติเฉยๆ ธรรมดา เหมือนอย่างในเมื่อยู่ในที่มีอากาศเป็นกลางๆ ไม่ร้อนไม่หนาว รู้สึกเฉยๆ ธรรมดา เหมือนอย่างว่าไม่มีเวทนา แต่ความจริงนั้นมี คล้ายๆ กับว่าบริโภคอาหารที่มีรสเป็นปรกติธรรมดา ก็ไม่รู้สึกว่าอร่อย แต่ก็ไม่รู้สึกว่าจืดชืดไม่ชอบรส ซึ่งความจริงก็เคี้ยวอาหารและก็กลืนอาหารลงท้องไปเรียกว่ากินเหมือนกัน แต่เมื่อรสเป็นธรรมดาก็รู้สึกเป็นปรกติธรรมดา อร่อยก็ไม่ใช่ ไม่อร่อยก็ไม่ใช่ ดั่งนี้คือเวทนาที่เป็นกลางๆ จึงได้แบ่งเวทนาเป็น ๓ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข และก็มีแบ่งพิสดารออกไปเป็น ๕ คือสุขเวทนานั้นก็แบ่งเป็น ๒ คือสุขเวทนาทางกาย สุขเวทนาทางใจ ทุกขเวทนานั้นก็แบ่งเป็น ๒ คือทุกขเวทนาทางกาย ทุกขเวทนาทางใจ ส่วนเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุขนั้นเรียกอุเบกขาเวทนา เวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข แบ่งเป็น ๕ เวทนา นี้ก็เป็นอาการของจิตหรือของธาตุรู้ ซึ่งนับว่าเป็นตัวสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งเหมือนกัน จึงเป็นเวทนาขึ้นมา แต่ว่าเป็นสังขารอย่างไรนั้นจะยังไม่อธิบาย

สัญญา

นามข้อที่ ๒ คือสัญญา ความรู้จำ ก็คือจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง และจำเรื่องราวทางใจ แม้ความรู้จำคือสัญญานี้ก็เป็นสังขาร คือส่วนผสมปรุงแต่งเหมือนกัน

สังขาร

นามข้อที่ ๓ คือสังขาร ซึ่งเป็นคำที่ซ้ำกันกับคำว่าสังขาร แต่ว่าสังขารในขันธ์ ๕ นี้ มุ่งถึงสังขารทางใจเท่านั้น คือความคิดปรุงหรือปรุงคิด ก็คิดปรุงหรือปรุงคิดรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องบ้าง ธัมมะคือเรื่องราวทางใจบ้าง หรือว่าแบ่งสรุปลงเป็น ๓ คิดดี คิดชั่วหรือคิดไม่ดี และคิดเป็นกลางๆ อันนี้เรียกว่าสังขาร ได้แก่รู้ปรุงหรือรู้คิด คือคิดปรุงหรือปรุงคิด อันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นตัวสังขารโดยตรง คือเป็นส่วนผสมปรุงแต่ง

วิญญาณ

นามข้อที่ ๔ คือวิญญาณซึ่งเป็นความรู้ ในเมื่อตากับรูปประจวบกันก็รู้รูปคือเห็น ในเมื่อหูกับเสียงประจวบกันก็รู้เสียงคือได้ยิน เมื่อจมูกกับกลิ่นประจวบกันก็รู้กลิ่นคือทราบกลิ่น เมื่อลิ้นกับรสประจวบกันก็รู้รสคือทราบรส เมื่อมโนคือใจกับธัมมะคือเรื่องราวประจวบกันก็รู้เรื่อง คือความรู้ที่เราเรียกว่าเห็นรูป ความรู้ที่เราเรียกว่าได้ยินหรือฟังคือได้ยินเสียงฟังเสียง ความรู้ที่เราเรียกว่าทราบคือทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง และความรู้ที่เราเรียกว่ารู้หรือคิดคือรู้หรือคิดเรื่อง ในขณะที่อายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันเข้านี้คือวิญญาณ เป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นวิญญาณในวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ที่กล่าวมาโดยลำดับ

อธิบายทบทวนสังขารและวิญญาณในความหมายต่างกัน

เพราะฉะนั้นมาถึงตอนนี้แล้วจะพบคำที่ซ้ำกัน แต่ความหมายต่างกันอยู่ ๒ คำ คำหนึ่งก็คือคำว่าสังขาร ที่พูดมาโดยลำดับตั้งแต่ต้นแล้วว่าสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง นี่คลุมทั้งหมด ทุกอย่างที่ผสมปรุงแต่งเป็นสังขารทั้งนั้น และมาถึงสังขารอีกคำหนึ่งก็คือสังขารในขันธ์ ๕ ก็หมายถึงผสมปรุงแต่งเหมือนกัน แต่ว่าเฉพาะที่เป็นทางจิตใจคือคิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ อีกคำหนึ่งคือคำว่าวิญญาณ ที่กล่าวมาโดยลำดับนั้น วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ซึ่งหมายถึงรู้ที่เป็นตัวเดิมหรือว่าจิตที่เป็นตัวเดิม แต่ว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ นี้มุ่งถึงการเห็นการได้ยินเป็นต้นดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมุ่งอธิบายต่างกันดังนี้ ก็จะพึงเห็นว่าวิญญาณนี้เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ หมายถึงรู้ที่เป็นตัวเดิมในบุคคลทุกๆ คนนี้มีรู้ที่เป็นตัวเดิมประกอบอยู่ จะนอนหลับหรือว่าจะตื่นหรือว่าสลบไสลไปยังไม่ตายละก็ ตัวรู้ที่เป็นตัวเดิมนี้ยังอยู่ นี้คือตัววิญญาณธาตุ ธาตุรู้ รู้ที่เป็นตัวเดิม ส่วนวิญญาณในขันธ์ ๕ นี้ ถ้าหากว่าตากับรูปไม่มาประจวบกัน จักขุวิญญาณรู้ทางตาก็ไม่เกิดไม่มี เหมือนอย่างหลับตาอยู่ไม่ได้ดูอะไรไม่ได้มองอะไร ยิ่งคนตาบอดก็แปลว่าจักขุวิญญาณไม่มี ทางอื่นก็เหมือนกัน เช่นว่าหูกับเสียงถ้าไม่มาประจวบกัน โสตวิญญาณรู้ทางหูก็ไม่มี คนหูหนวกก็ย่อมไม่มีข้อนี้ คนตาบอดหูหนวกนั้นก็แปลว่าไม่มีจักขุวิญญาณไม่มีโสตวิญญาณ จมูกลิ้นกายนั้นก็เหมือนกัน คนที่เป็นอัมพาตเอาเข็มแทง ก็ไม่เจ็บตรงที่เป็นอัมพาตนั้น หรือว่าคนที่เขาฉีดยาชาผ่าตัดไม่เจ็บ ก็แปลว่าดับกายวิญญาณ ดับรู้ทางกายในส่วนนั้น มโนวิญญาณ ถ้าหากว่ามโนคือใจกับธัมมะคือเรื่องราวไม่มาประจวบกัน มโนวิญญาณก็ไม่เกิด เช่นขณะที่หลับสนิทหรือสลบไสลไปทีเดียว แต่ว่าแม้คนตาบอดหูหนวกคนที่สลบไสลคนที่ถูกฉีดยาชาดังกล่าวมานั้น ตัววิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้ คือรู้ที่เป็นตัวเดิม ยังอยู่ เขาจึงสะกดจิตที่หัดกันมาแล้วให้คนตาบอดเห็นได้ ในขณะที่จิตถูกสะกดเข้าสู่สภาพที่จะเรียกว่าเป็นสมาธิหรือเป็นจิตส่วนลึก ให้รู้สึกเห็นได้เหมือนอย่างอาศัยทางประสาทกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เพราะว่ายังมีวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ที่เป็นตัวเดิมคือตัวรู้ รู้ที่ยังเป็นตัวเดิมอยู่ เพราะฉะนั้นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณทั้ง ๔ นี้จึงเป็นความรู้ ซึ่งเป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่ง ซึ่งมาจากรู้ที่เป็นตัวเดิมคือธาตุรู้ เมื่อรู้ที่เป็นตัวเดิมคือธาตุรู้นั้นมาประกอบกันอยู่กับรูปกาย ซึ่งเป็นธาตุไม่รู้คือเป็นวัตถุ แล้วก็ได้ความรู้ที่เป็นตัวอาการทั้ง ๔ นี้ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ รู้สุขรู้ทุกข์รู้เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข รู้จำ รู้คิดปรุงปรุงคิด และรู้เห็นรู้ได้ยินเป็นต้น ดังที่สามัญชนทุกๆ คนได้อยู่มีอยู่ ความรู้เหล่านี้เป็นสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งทั้งนั้น ซึ่งมาจากธาตุรู้ที่เป็นตัวรู้เดิมมาประกอบกันกับรูปกาย

กายมีความหมายอย่างเดียวกับขันธ์

ตรงนี้จะอธิบายคำว่า “กาย” ซึ่งมักจะเข้าใจกันว่าหมายถึงรูปกายอย่างเดียว และบางทีเราก็เรียกรูปกายว่ากาย เช่นคำว่ากายใจ คำว่ากายในคำว่ากายใจนี้หมายถึงรูป ใจก็ใจ แต่บางทีคำว่ากายนั้นก็มาใช้กับนามด้วย เช่นรูปกาย นามกาย คือคำว่ากายนี้แปลว่าประชุม เหมือนกับคำว่าขันธ์ที่แปลว่ากอง กองก็คือสิ่งทั้งหลายหลายอย่างมากองรวมกัน กายก็แปลว่าประชุม ก็หมายถึงสิ่งหลายอย่างมาประชุมกัน เพราะฉะนั้นคำว่ากายกับคำว่าขันธ์จึงมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน และอาจใช้ได้ทั้งแก่รูป เรียกว่ารูปกาย ทั้งแก่นาม เรียกว่านามกาย และคำว่านามนั้นก็บ่งอยู่แล้ว ว่าไม่ใช่รูป สักแต่ว่าเป็นนาม และคำว่านามนี่แปลว่าอะไรมีความหมายอย่างไรจะต้องอธิบายอีกหนหนึ่ง เพราะฉะนั้นให้เข้าใจคำว่ากายดั่งนี้ เวลาเรียกว่ารูปกายนามกายจะได้ไม่สงสัยคือใช้ได้ทั้งสอง แปลว่าประชุมแห่งรูปประชุมแห่งนาม ก็คือกองรูปกองนาม

อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ

คราวนี้คำที่เรียกโดยมากว่าขันธ์ ๕ นั้น ขันธ์ก็คือคำว่ากองดั่งที่กล่าวแล้ว รูปขันธ์ ก็คือกองรูป ก็หมายถึงหลายๆ สิ่งมารวมกันเข้า มากองอยู่เป็นรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ก็หมายความว่าเวทนาก็มีหลายอย่าง สัญญาก็หลายอย่าง สังขารก็หลายอย่าง วิญญาณก็หลายอย่าง มากองรวมกันอยู่เป็นกอง จึงเรียกว่าขันธ์แต่ละข้อ และที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือก็หมายความว่า สัตว์บุคคลทั้งปวงนั้นย่อมยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่า “เอตํ มม” นี่เป็นของเรา “เอโสหมสฺมิ” เราเป็นนี่ “เอโส เม อตฺตา” นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา เพราะฉะนั้นขันธ์ทั้ง ๕ นี้จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ แปลว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้รู้จักสัจจะคือความจริง ว่าอันที่จริงนั้นข้อที่บุคคลยึดถือกันอยู่ว่าอัตตา คือตัวตนก็ดี อัตตนิยะ คือที่จะพึงยึดถือว่าตัวตนก็ดี โดยมากนั้นก็เข้าใจหรือเห็นว่ารวมๆ กันอยู่ว่านี้แหละตัวเราของเรา เข้าใจและเห็นรวมๆ กันอยู่ จึงได้ตรัสแยกออกไป ว่าอันที่จริงนั้นก็แยกออกไปได้เป็นขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์คือกองรูปนั้นก็เป็นสังขารส่วนผสมปรุงแต่งทั้งนั้น แต่ว่าก็เป็นส่วนผสมปรุงแต่งซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เหมือนอย่างต้นไม้ก็เป็นส่วนผสมปรุงแต่ง ก็เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติธรรมดา ที่ว่าธรรมชาติธรรมดานั้นก็หมายความว่าเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย คือเมื่อมีเหตุปัจจัยก็ย่อมเกิดเป็นผลขึ้นมา ธรรมชาติทั้งหลายในโลกก็เป็นอย่างนี้ ซึ่งที่ปรากฏเป็นฝนตกแดดออกเป็นผลก็เกิดขึ้นจากเหตุซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดา ฟ้าผ่าก็เป็นผลที่เกิดจากเหตุซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดา กลางวันกลางคืนเป็นต้นก็เหมือนกัน โลกธาตุดาวเดือนทั้งหมดก็เหมือนกัน สัตว์บุคคลทั้งหมดก็เหมือนกัน และมาเฉพาะจิตใจก็โดยสิ่งที่เรียกว่าเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเดรัจฉานก็ดี ย่อมมีธรรมชาติธรรมดาที่ประกอบกันอยู่ ๒ ส่วนดังกล่าวมาแล้ว คือส่วนที่ไม่รู้คือส่วนที่เป็นวัตถุ ได้แก่ส่วนที่เป็นรูปกาย และส่วนที่เป็นธาตุรู้คือตัวรู้ ส่วนที่ไม่รู้กับส่วนที่รู้มาประกอบกันเข้าก็เป็นมนุษย์เป็นสัตว์เดรัจฉานต่างๆ มนุษย์นั้นก็มีชาติกำเนิดเกิดในครรภ์ สัตว์เดรัจฉานนั้นก็มีชาติกำเนิดต่างๆ เกิดในไข่ก็มี เกิดในเถ้าไคลก็มี เกิดในครรภ์อย่างมนุษย์ก็มี ตลอดไปถึงอีกจำพวกหนึ่งเรียกว่าโอปปาติกะ คือพวกที่ลอยเกิด ไม่ได้เกิดในครรภ์เกิดในไข่เกิดในเถ้าไคลเหมือนอย่างมนุษย์และเดรัจฉานทั้งหลาย ได้แก่พวกเทพทั้งหลาย พวกผีทั้งหลาย พวกอสุรกายทั้งหลาย เรียกว่าพวกเทวดามารพรหม เปรตอสุรกาย นรก อะไรทั้งหมดนี้เป็นพวกโอปปาติกะหรือพวกลอยเกิด แต่ก็มีกายทิพย์ที่เป็นกายส่วนละเอียด กับมีตัวรู้หรือมีธาตุรู้ รู้ที่เป็นตัวเดิมอีกเหมือนกันมาประกอบกัน จึงได้รวมกันเข้าเรียกว่าสัตวโลก นี้เป็นธรรมชาติธรรมดากันมาทั้งนั้น

คราวนี้อย่างภูเขาที่เป็นภูเขาขึ้นมา แม่น้ำเป็นแม่น้ำขึ้นมา นี้เป็นแต่วัตถุ วัตถุที่ไม่มีรู้ ต้นไม้ทั้งหลายท่านแสดงว่าเป็นสิ่งที่มีอินทรีย์เดียวคือชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต แต่ก็ไม่นับว่ามีธาตุรู้หรือรู้ที่เป็นตัวเดิม แต่อันที่จริงนั้นต้นไม้ก็มีตัวรู้เหมือนกัน แต่เราไม่เรียกว่ารู้เหมือนอย่างมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย อย่างต้นไม้บางอย่างไปถูกเข้า ใบจะหุบทันที เหมือนอย่างมีรู้เหมือนกันหรือเช่นที่เขาทดลองดูแล้ว ว่าต้นไม้ที่คนหมั่นไปเยี่ยมและคนแผ่เมตตาให้อยู่เสมอๆ มักจะงอกงามดีกว่าต้นไม้ที่ปล่อยปละละเลยไม่สนใจ แม้ว่าจะให้น้ำให้อาหารคล้ายๆ กันก็ตาม ก็เหมือนอย่างว่ารับรู้เหมือนกัน แต่ว่าไม่มากจนเรียกว่ามีธาตุรู้หรือที่เรียกว่ารู้ที่เป็นตัวเดิม คราวนี้ที่จะมาถึงจุดของความรู้ซึ่งเป็นตัวสังขาร กับรู้ที่เป็นตัวเดิมที่เรียกว่าธาตุรู้ อันจะพึงเรียกได้ว่าวิสังขาร ความรู้หรือรู้ที่เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งนั้นเป็นสังขตธรรม รู้ที่เป็นตัวเดิมนั้นหรือที่เรียกว่าธาตุรู้นั้นคือที่เป็นธาตุแท้ เรียกว่าอสังขตธรรม แต่คราวนี้ที่จะเป็นสังขตธรรมขึ้นมา ตลอดจนถึงทำให้ธาตุที่ไม่รู้คือที่เป็นวัตถุเป็นสังขตธรรมไปด้วยนั้น ก็เพราะมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่ากิเลสเข้ามาผสมปรุงแต่งอยู่กับความรู้หรือธาตุรู้ดังกล่าวนั้นด้วย

๒ กันยายน ๒๕๒๗

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 06 ธันวาคม 2553
Last Update : 6 ธันวาคม 2553 7:12:47 น. 1 comments
Counter : 571 Pageviews.

 


โดย: หน่อยอิง วันที่: 6 ธันวาคม 2553 เวลา:15:58:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.