กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตอนที่ ๔ เรื่องเมื่อเปลี่ยนรัชกาล


พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร



..............................................................................................................................................................



เมื่อทูลกระหม่อมสวรรคต ทั้งครัวเรือนของฉันรู้สึกกันเหมือนกับคนเรือแตกกลางทะเล หมดความรู้สึกและสิ้นความคิดที่จะทำอย่างไร พากันงงไปทั้งนั้น เห็นจะเป็นด้วยเหตุนั้นฉันจึงจำอะไรในตอนนั้นมิใคร่ได้ จำได้แต่ขึ้นไปถวายน้ำสรงพระศพดังเล่ามาแล้ว กับจำได้ว่าเห็นแม่และใครๆทั้งผู้ชายผู้หญิงพากันโกนหัวทั่วไปหมด(๑) แปลกตาจนตกใจ แต่ตัวฉันไม่ต้องโกนเพราะเด็กไว้ผมจุกกับจีนไว้เปียไม่ต้องโกนหัวไว้ทุกข์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต นอกจากนั้นยังจำได้อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อทูลกระหม่อมสวรรคตแล้วไม่ช้านัก มีเจ้าหน้าที่พระคลังในมาตรวจสมบัติ ว่าเงินทองที่ทูลกระหม่อมพระราชทานฉันนั้นยังอยู่บริบูรณ์ดีหรืออย่างไร ตรวจเช่นนั้นทุกพระองค์ ปรากฎว่าแม่รักษาสมบัติของฉันไว้บริบูรณ์ครบครัน จนคุณท้าวที่มาตรวจออกปากชม นอกจากที่เล่ามาเรื่องอะไรอีกที่จำได้เองในสมัยนั้นนึกไม่ออก แต่มีเรื่องที่มาได้ยินจากท่านผู้อื่นเมื่อภายหลัง เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ฟังเป็นต้น กับทั้งที่ได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุต่างๆเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ได้ทราบเรื่องสำคัญในทางพงศาวดารตอนเปลี่ยนรัชกาลใหม่ครั้งนั้นอีกบ้าง คล้ายกับมาจำได้เมื่อภายหลัง จึงเขียนลงไว้ในหนังสือนี้ด้วย

จะเล่าเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับรัชทายาทก่อน เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ก็เหมือนกับเป็นรัชทายาทจนเสด็จสวรรคตเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ตั้งแต่นั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ก็เสด็จขึ้นสู่ฐานะเป็นรัชทายาทตามราชประเพณี เพราะเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่(๒) แต่ในเวลานั้นยังทรงพระเยาว์ พระชันษาได้เพียง ๑๓ ปี จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตก ด้วยพระองค์ทรงพระชราพระชันษากว่า ๖๐ ปีแล้ว ถ้าหากเสด็จสวรรคตไปโดยด่วน สมเด็จพระราชโอรสจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลายังทรงพระเยาว์เห็นว่าจะเป็นการเสี่ยงภัยใหญ่หลวง ด้วยตัวอย่างที่เคยมีในพงศาวดาร พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์เป็นอันตรายด้วยถูกชิงราชสมบัติทุกพระองค์ ไม่มีพระองค์ใดที่ได้อยู่ยั่งยืนสักพระองค์เดียว

จึงทรงยับยั้งไม่ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชโอรสเป็นที่รัชทายาท ตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อพระราชโอรสเจริญพระชันษาครบ ๒๐ ปี(ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖)ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณีแล้ว จะมอบเวนราชสมบัติพระราชทานส่วนพระองค์เองจะเสด็จออกเป็น "พระเจ้าหลวง"(๓) เป็นที่ปรึกษาประคับประคองสมเด็จพระราชโอรสไปจนตลอดพระชนมายุของพระองค์ ด้วยเหตุนั้นจึงโปรดฯให้สร้างวังสราญรมย์เพื่อเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จออกจากราชสมบัติ และเอาเป็นพระราชภาระทรงฝึกสอนราชศาสตร์แก่สมเด็จพระราชโอรสเองอย่างกวดขันตั้งแต่ปีฉลูมา แต่ในระหว่างนั้นปรากฏความนิยมของคนทั้งปวงแพร่หลาย แม้จนพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศก็ถือว่าสมเด็จพระราชโอรสจะเป็นรัชทายาท(๔) เหตุที่จะเกิดการแย่งชิงราชสมบัติไม่น่าจะเป็นได้เหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา

ถึงกระนั้นก็ยังทรงพระวิตกด้วยมีความลำบากอย่างอื่นอยู่อีก คือ ถ้าสมเด็จพระราชโอรสต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินก่อนพระชันษา ๒๐ ปีทรงว่าราชการแผ่นดินแทนองค์ อันไม่เคยมีแบบอย่างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่ประมาท จึงทรงพระราชดำริเตรียมการเผื่อจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (Regent) ด้วย ก็ในเวลานั้นเห็นชัดว่ามีแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนเดียวซึ่งทรงความสามารถอาจเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ จึงตรัสปรึกษาพระราชปรารภกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นว่าถ้าตัวท่านต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ต้องอยู่ในที่ยากยิ่ง ด้วยจะถูกคนทั้งหลายสงสัยว่าจะชิงราชสมบัติเหมือนอย่างพระเจ้าปราสาททอง

เพราะมีเรื่องในหนังสือพงศาวดาร ว่าเมื่อครั้งพระเจ้าทรงธรรมจะสวรรคต(ใน พ.ศ. ๒๑๗๑)ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระเชษฐาธิราช โอรสพระองค์ใหญ่พระชันษาได้ ๑๔ ปี ให้เจ้าพระยากลาโหมศรีวรวงศ์(๕)อันเป็นพระญาติเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อยู่มาเจ้าพระยากลาโหมทำการปลงศพมารดาที่วัดกุฏิ พวกข้าราชการพากันไปช่วยงานจนไม่มีใครเข้าเฝ้าเวลาเสด็จออกจากท้องพระโรง พวกข้าหลวงเดิมทูลยุยง สมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงเชื่อว่าเจ้าพระยากลาโหมคิดกบฏ ตรัสสั่งให้เรียกตัวจะชำระลงโทษ เจ้าพระยากลาโหมก็เลยเป็นกบฏจับสมเด็จพระเชษฐาธิราชปลงพระชนม์แล้วชิงเอาราชสมบัติ

เรื่องเผอิญคล้ายกับพฤติการณ์ในรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงหวาดหวั่นชั้นแรกถึงกราบทูลขอตัว แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชี้แจงให้เห็นความจำเป็น ไม่อาจปฏิเสธได้จึงคิดหาอุบายป้องกันตัวท่านด้วยยกเอาเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยสงสัยว่าตัวท่านจะชิงราชสมบัติอ้างเป็นเหตุกราบทูลว่า ถ้าจะโปรดให้ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเช่นนั้น ขอให้ทรงตั้งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพราะเป็นลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกข้าราชการวังหน้าจะได้พอใจไม่กระด้างกระเดื่อง ก็จะเป็นเครื่องป้องกันมิให้คนทั้งหลายสงสัยตัวท่านว่าจะชิงราชสมบัติด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยั่งทราบความคิดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าประสงค์จะให้มีวังหน้าขึ้นสำหรับกีดขวางวังหลวง ตัวท่านจะได้มั่นคงด้วยจำต้องอาศัยท่านทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย แต่จะขัดขวางก็ไม่ทรงเห็นประโยชน์เพราะไม่มีตัวผู้อื่นที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ ถ้าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคงจะทำตามชอบใจ

อีกประการหนึ่งในเวลานั้นก็เป็นแต่ปรึกษาเผื่อว่า สมเด็จพระราชโอรสจะต้องเสวยราชย์แต่ก่อนพระชันษาครบ ๒๐ ปี หรือถ้าว่าอย่างหนึ่ง คิดสำหรับกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาชั่ว ๗ ปีเท่านั้น ถ้าพระองค์ดำรงพระชนม์อยู่จนปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เหตุที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและปัญหาเรื่องตั้งกรมพระราชวังบวรฯ ก็จะระงับไปเอง แต่ถึงกระนั้นเมื่อได้ทรงทราบความคิดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็ไม่วางพระราชหฤทัยว่าสมเด็จพระราชโอรสจะได้เสวยราชย์โดยมั่นคง จึงเป็นแต่โปรดฯให้เลื่อนกรมเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ยังไม่ประกาศตั้งเป็นรัชทายาท

เผอิญล่วงมาปีหนึ่งถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประชวร เมื่อตระหนักพระราชหฤทัยว่าจะเสด็จสวรรคตก็ยิ่งทรงพระวิตกถึงเรื่องรัชทายาท เห็นจะทรงพระราชดำริว่าถ้าตรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติแก่พระราชโอรส และตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ต้องตรัสสั่งตั้งกรมพระราชวังบวรวิชชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช อันเป็นการทำผิดราชประเพณี เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้อื่นคงไม่พอใจกันมาก แต่ถ้าไม่ทรงตั้งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็จะคิดอ่านตั้งเอาตามชอบใจจะเลยลำบากถึงสมเด็จพระราชโอรสเมื่อเสวยราชย์ ด้วยเหตุนี้ในเรื่องรัชทายาทจึงพระราชทานอนุญาตให้พระราชวงศ์และเสนาบดีปรึกษาถวายพระราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้วแต่จะเห็นพร้อมกัน ด้วยทรงพระราชดำริว่าถ้าพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระราชโอรสก็จะได้เสวยราชย์โดยมั่นคง ดังปรากฏในจดหมายเหตุเมื่อประชวร ดังนี้

"มีพระราชดำรัส(แก่กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัย)ต่อไป ว่ามีพระราชประสงค์จะตรัสด้วยราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสมาทานเบญจศีล(แสดงความสัตย์สุจริต)เสียก่อน ครั้นทรงสมาทานศีลแล้ว ตรัสภาษาอังกฤษหลายองค์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า ที่พูดภาษาอังกฤษนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าสติสัมปชัญญะยังเป็นปกติ ถึงภาษาอื่นมิใช่ภาษาของตนก็ยังทรงจำได้ด้วยสติยังดีอยู่ ท่านทั้งปวงจะได้สำคัญในข้อความที่จะสั่งว่ามิได้สั่งโดยฟั่นเฟือน เมื่อตรัสประภาษดังนี้แล้วจึงมีพระราชดำรัสต่อไป

ว่าท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้วขอให้ท่านทั้งปวงจงช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย ให้สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้พึ่งอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ให้เอาพระราชธุระรับฎีกาของราษฎรอันมีทุกข์ร้อน ให้ร้องได้สะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงเป็นพระราชธุระรับฎีกามาแต่ก่อน
(๖)

อนึ่ง ผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบพระบรมราชวงศ์ไปภายหน้านั้น ให้ปรึกษากันเลือกดูแต่ที่สมควร จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ตาม พระเจ้าลูกยาเธอหรือพระเจ้าหลานเธอก็ตาม เมื่อปรึกษาพร้อมกันว่าพระองค์ใดมีปรีชาสามารถควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็จงยกย่องพระองค์นั้นขึ้น จะได้ทำนุบำรุงแผ่นดินให้พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการและอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป อย่าได้หันเหียนเอาความว่าจะชอบพระราชหฤทัยเป็นประมาณเลย เอาแต่ความดีความเจริญของบ้านเมืองเป็นประมาณเถิด"

ความที่กล่าวมาตอนนี้ เป็นมูลของเรื่องการปรึกษาถวายราชสมบัติที่จะเล่าต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเวลา ๑๕ นาฬิกา พอเวลาเที่ยงคืนก็มีการประชุมพระราชวงศ์กับเสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และนิมนต์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ ๒๕ รูป มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์(คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)ที่สังฆนายกเป็นประมุข กับทั้งพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชั้นใหญ่ ๗ พระองค์ ซึ่งทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ทั้งนั้น มานั่งเป็นสักขีพยานด้วย(๗) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นประธานลุกขึ้นคุกเข่าประสานมือกล่าวในท่ามกลางที่ประชุมเนื้อความว่า

ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแผ่นดินว่างอยู่ การสืบพระบรมราชสันตติวงศ์ตามราชประเพณีเคยมีมาแต่ก่อนนั้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะเสด็จสวรรคต ได้ทรงมอบราชสมบัติพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะสวรรคตไม่ได้ทรงสั่งมอบราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใดด้วยอาการพระโรคตรัสสั่งไม่ได้ เสนาบดีจึงพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต มีรับสั่งคืนราชสมบัติแก่เสนาบดีตามแต่จะปรึกษากัน ให้เจ้านายพระองค์ใดเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระราชวงศ์และเสนาบดีปรึกษากันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเมื่อเวลาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรอยู่นั้น ได้มีรับสั่งให้หากรมหลวงวงศาธิราชสนิท กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูราภัยเข้าไปเฝ้า พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ว่าผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้น ให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือกัน สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดจะทรงสามารถปกครองให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระราชวงศ์พระองค์นั้น พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ บัดนี้ท่านทั้งหลายบรรดาอยู่ในที่ประชุมนี้จะเห็นว่าเจ้านายพระองค์ใดสมควรจะทรงปกครองแผ่นดินได้ก็ให้ว่าขึ้นในท่ามกลางประชุม อย่าได้มีความหวาดหวั่นเกรงขามเลย

ขณะนั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ ซึ่งมีพระชนมายุยิ่งกว่าพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง จึงเสด็จลุกคุกพระชงฆ์ประสานพระหัตถ์ตรัสขึ้นในท่ามกลางประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระเดชพระคุณได้ทำนุบำรุงเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และมุขมนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงมาเป็นอันมาก พระคุณเหลือล้น ไม่มีสิ่งใดจะทดแทนให้ถึงพระคุณได้ ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเหมือนหนึ่งได้ทดแทนพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อกรมหลวงเทเวศรฯ ตรัสดังนี้แล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงถามที่ประชุมเรียงตัว แต่ส่วนพระสงฆ์นั้นถามเฉพาะกรมหมื่นบวรรังษีฯพระองค์เดียว ถามตั้งแต่กรมหลวงวงศาฯเป็นต้นมา ทุกคนประสานมือยกขึ้นรับว่า สมควรแล้ว เมื่อเห็นชอบพร้อมกันแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงอาราธนาพระสงฆ์สวดชยันโตและถวายอติเรก

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงกล่าวต่อไปในที่ประชุมว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรอยู่นั้น ท่านได้กราบทูลฯให้ทรงทราบว่า ปรึกษากันว่าจะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าทรงพระวิตกอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระชันษายังทรงพระเยาว์ จะไม่สามรถว่าราชการแผ่นดินให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ดังสมควร ข้อที่ทรงพระปริวิตกเช่นนี้จะคิดอ่านกันอย่างไร

กรมหลวงเทเวศรฯ ตรัสว่าขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปนจกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯจะทรงพระผนวช(๘) เจ้าพระศรีสุริยวงศ์ถามความข้อนี้แก่ที่ประชุมก็ให้อนุมัติเห็นชอบพร้อมกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงว่า ส่วนตัวท่านเองนั้นจะรับสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มสติปัญญา แต่ในเรื่องการพระราชพิธีต่างๆท่านไม่สู้เข้าใจ ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ช่วยในส่วนการพระราชนิเวศน์ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง ในที่ประชุมอนุมัติเห็นชอบด้วย

เมื่อเสร็จการปรึกษาตอนถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานารถแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงกล่าวขึ้นอีก ว่าแผ่นดินที่ล่วงมาแล้วแต่ก่อนๆมา มีพระมหากษัตริย์แล้วก็ต้องมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกๆแผ่นดิน ครั้งนี้ที่ประชุมจะเห็นควรมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าด้วยหรือไม่

กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ เสด็จลุกคุกพระชงฆ์ประสานพระหัตถ์ตรัสว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระเดชพระคุณมาทั้ง ๒ พระองค์ ควรจะคิดถึงพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกกรมหมื่นวิชัยชาญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้เป็นความยินดีของพวกวังหน้าด้วย

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถามที่ประชุมเรียงตัวไปดังแต่ก่อน โดยมากรับว่า "สมควร" หรืออนุมัติโดยไม่คัดค้าน แต่กรมขุนวรจักร์ฯตรัสขึ้นว่า "ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชนั้นควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุปราช" เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซักไซ้กรมขนวรจักร์ฯว่าเหตุใดจึงขัดขวาง กรมขุนวรจักร์ฯทรงชี้แจงต่อไปว่าเห็นราชประเพณีเคยมีมาแต่ก่อนเป็นเช่นนั้น ครั้งรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษก ก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นกรมพระราชวังบวร ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตั้งกรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นกรมพระราชวังบวร มาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาราชเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินเคยทรงตั้งมาทุกรัชกาลจึงเห็นว่า มิใช่หน้าที่ของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุปราช เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขัดเคือง ว่ากล่าวบริภาษกรมขุนวรจักร์ฯต่างๆลงที่สุดทูลถามว่า "ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ" กรมขุนวรจักร์ฯจึงตอบว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม" การก็เป็นตกลง เป็นอันที่ประชุมเห็นสมควรที่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญจะเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงอาราธนาพระสงฆ์สวดชยันโตและอติเรกอีกครั้งหนึ่ง

เจ้าพระศรีสุริยวงศ์กล่าวในที่ประชุมต่อไปว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ทรงพระสติปัญญารอบรู้ราชการแผ่นดิน ด้วยได้เคยทำราชการในตำแหน่งกรมวังมาช้านานถึง ๒ แผ่นดิน ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์สำเร็จราชการพระคลังมหาสมบัติและพระคลังต่างๆ และสำเร็จราชการในพระราชสำนักและเป็นผู้อุปถัมภ์ส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินด้วย ที่ประชุมก็เห็นชอบพร้อมกัน เสร็จการประชุมเวลาราว ๑ นาฬิกา

รุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ ๒ ตุลาคม จะทรงสักการะพระบรมศพตามราชประเพณี เวลานั้นสมเด็จพระ(จุลจอมเกล้า)เจ้าอยู่หัวกำลังทรงอ่อนเพลียมากด้วยประชวรมากว่าเดือน(๙) และซ้ำทรงประสบโศกศัลย์สาหัส ไม่สามารถจะทรงพระดำเนินได้ต้องเสด็จขึ้นพระเก้าอี้หามขึ้นไปจนบนที่นั่งภานุมาศจำรูญที่สรงพระบรมศพ พอทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้แต่ยกพระหัตถ์ขึ้นถวายบังคมแล้วก็สลบนิ่งแน่ไป หมอประจำพระองค์แก้ไขฟื้นคืนสมปฤดีแต่พระกำลังยังอ่อนนัก ไม่สามารถจะเคลื่อนพระองค์จากเก้าอี้ได้ จึงตรัสขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมขุนบำราบปรปักษ์ ถวายน้ำสรงพระบรมศพแทนพระองค์

ขณะนั้นเจ้านายผู้ใหญ่เห็นว่าจะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่นต่อไปพระอาการประชวรจะกำเริบขึ้น จึงสั่งให้เชิญเสด็จไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งได้จัดห้องในพระฉากข้างด้านตะวันออกไว้เป็นที่ประทับระหว่างเวลากว่าจะได้ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร(๑๐) ทางโน้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์สรงน้ำทรงเครื่องพระบรมศพแล้วเชิญพระโกศไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ในเวลาพระบรมศพประดิษฐานอยู่ ณ พระมหาปราสาทแต่ปีมะโรงจนถึงปีมะเส็งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณที่หน้าพระบรมศพแล้วเลยเสด็จออกขุนนางที่พระมหาปราสาทเช้าครั้ง ๑ ค่ำครั้ง ๑ ทุกวัน เจ้านายก็ต้องไปเฝ้าที่พระมหาปราสาท เจ้านายที่ยังเป็นเด็กชั้นเล็กมักไปทางข้างในกับเจ้าจอมมารดา ชั้นกลางมักชอบตามเสด็จทางข้างหน้า และมีหน้าที่ทอดผ้าสดับปกรณ์รายร้อยกับถวายเทียนพระสงฆ์เมื่อเสร็จพิธีเวลาค่ำเสมอ ในตอนแรกเสวยราชย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพิ่งฟื้นจากอาการประชวร ยังปลกเปลี้ยทรงพระดำเนินไม่ได้ไกล ต้องทรงพระราชยาน และให้ทอดสะพานบนขั้นบันไดหามพระราชยานขึ้นไปจนบนพระมหาปราสาทอยู่หลายวันจึงทรงพระราชดำเนินได้สะดวก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยตรัสเล่าเรื่องเมื่อครั้งนั้นเรื่อง ๑ ซึ่งควรรักษาไว้มิให้สูญเสียเล่าที่ตรงนี้ก็เหมาะดี คืนวันสรงน้ำพระบรมศพ เมื่อพระองค์ทรงพระเก้าอี้ ผ่านไปในห้องพระฉนวนพระอภิเนาวนิเวศน์อันภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยคอยเผ้าอยู่ เวลานั้นแม้ยังทรงปลกเปลี้ยมากแต่ได้พระสติแล้ว ได้ยินท่านผู้หญิงพัน ภรรยาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พูดขึ้นเมื่อเสด็จผ่านพอพ้นไปว่า "พ่อคุณ นี่พ่อจะได้อยู่สักกี่วัน" ตรัสเล่าเรื่องนี้ท่านผู้หญิงพันถึงอนิจกรรมในเวลาสิ้นบุญวาสนาแล้วช้านาน ด้วยทรงปรารภจะเสด็จไปเผาศพท่านผู้หญิงพันเหมือนอย่างทูลกระหม่อมเสด็จไปเผาศพหม่อมเจ้าทินกร(เสนีวงศ์)

เรื่องของหม่อมเจ้าทินกรนั้นเกิดเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ เพราะคนมักอยากรู้กันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือไม่ หม่อมเจ้าทินกรเป็นผู้รู้ตำหมอดูพยากรณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยพระชันษาจะสั้น ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงนำพา ครั้นเสด็จเสวยราชย์ก็ทรงชุบเลี้ยงหม่อมเจ้าทินกรตลอดมาจนสิ้นชีพตักษัย ก็การปลงศพหม่อมเจ้านั้น แต่ก่อนมาไม่มีประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ เป็นแต่ทรงจุดเทียนให้ข้าราชการเอาเพลิงกับเครื่องขมาศพไปพระราชทาน วันจะปลงศพหม่อมเจ้าทินกรนั้น เจ้าพนักงานเอาศิลาหน้าเพลิงกับพานเครื่องขมาศพเข้าไปตั้งถวายสำหรับทรงสับศิลาหน้าเพลิง และทรงจบเครื่องขมาตามธรรมเนียม พอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นกระดาษบอกนามศพหม่อมเจ้าทินกรที่พานเครื่องขมา ก็ตรัสสั่งให้เรียกเรือพระที่นั่งในทันที เสด็จข้ามไปยังเมรุที่วัดอมรินทร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วเมื่อจะพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าทินกรด้วยพระหัตถ์ ตรัสว่า "เจ้าทินกร แกตายก่อนข้านะ" ดังนี้ เมื่อพระราชทานเพลิงแล้วตรัสไต่ถามครอบครัวของหม่อมเจ้าทินกรได้ความว่าลูกหลานไม่มีที่พึ่งอยู่หลายคน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ลูกเข้ารับราชการ ส่วนหลานชายที่เป็นเด็กอยู่สองคน โปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนุบำรุง คนหนึ่งชื่อ ปลื้ม ต่อมาได้เป็นนายร้อยเอกหลวงวิชิตชาญศึก แต่ถึงแก่กรรมเสียแล้ว อีกคนหนึ่งชื่อ แปลก ได้เป็นที่พระยาสากลกิจประมวลในกรมแผนที่ ยังมีชีวิตอย่ในเวลาเมื่อฉันแต่งหนังสือนี้

แต่การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงพันนั้น หาสำเร็จดังพระราชประสงค์ไม่ ด้วยปลงศพในเวลาประพาสอยู่ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพแล้ว ประทับแรมอยู่ในพระฉากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยกว่าเดือน จึงถึงฤกษ์ทำพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน) รายการพระราชพิธีเป็นอย่างไร ฉันจำได้เป็นอย่างรางๆ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าในหนังสือนี้ เพราะทำตามแบบแผนซึ่งมีตำราอยู่ เมื่อทำพิธีบรมราชภิเษกแล้วท่านผู้ใหญ่ในราชการบ้านเมืองก็ปรึกษากันตั้งระเบียบวิธีว่าราชการแผ่นดิน เพราะการที่ผู้อื่นว่าราชการแทนพระเจ้าแผ่นดินเมื่อยังทรงพระเยาว์ไม่มีแบบแผนมาแต่ก่อนจะต้องคิดขึ้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะปรึกษาใครบ้าง นอกจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักหาปรากฎไม่

แต่ระเบียบที่ตั้งครั้งนั้นเมื่อมาพิจารณาดูภายหลังเห็นว่าน่าสรรเสริญความคิดยิ่งนัก ด้วยถือเอาความข้อสำคัญตั้งเป็นหลัก ๒ อย่าง คือ ที่ให้การบังคับบัญชาข้าราชการบ้านเมืองเป็นไปด้วยปรึกษาหารือพร้อมเพรียงกัน ไม่เอาอำนาจไว้แต่ในตัวผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอย่าง ๑ กับฝึกหัดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถว่าราชการบ้านเมืองได้เองอย่าง ๑ เลือกเอาประเพณีเก่าซึ่งคนทั้งหลายรู้กันอยู่แล้วมาปรับใช้เป็นรายการในระเบียบให้สมสมัย เป็นต้นว่าในส่วนการบังคับบัญชาราชการแผ่นดินนั้น ให้บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งแต่โบราณเรียกว่า "มุขมนตรี" ประชุมกัน ณ หอวรสภาภิรมย์(๑๑) ในเวลาเช้าก่อนเสด็จออกขุนนางทุกวันเหมือนอย่างแต่โบราณเคยประชุมกัน ณ ศาลาลูกขุนใน แต่ในชั้นนี้ให้เจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่มาประทับในที่ประชุมด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้ามานั่งเป็นประธานสั่งราชการในที่ประชุมนั้น

ส่วนที่เกี่ยวกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เอาแบบอย่างราชานุกิจครั้งรัชกาลที่ ๓ กับรัชกาลที่ ๔ แก้ไขประสมกันใช้ระเบียบ(๑๒) ให้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงว่าราชการเองหมดทุกอย่าง เว้นแต่ที่จะดำริรัฎฐาภิปาลโนบายและบังคับราชการแผ่นดิน ๒ อย่างนี้ เป็นหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่คิดอย่างไรและได้สั่งไปอย่างไรกราบทูลชี้แจงให้ทรงทราบเสมอเป็นนิจ ระเบียบพระราชานุกิจที่จัดเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ เป็นดังกล่าวต่อไปนี้

เวลาเช้า ๙ นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตรพระสงฆ์ ๑๐๐ รูป ถ้าเป็นวันนักขัตฤกษ์ เช้นเข้าวัสสาเป็นต้น ๑๕๐ รูป ทรงบาตรแล้วเสด็จขึ้นหอสุราลัยพิมานทรงสักการบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จลงในพระที่นั่งไพศาลทักษิณให้เจ้านายพระองค์หญิงเฝ้า แล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมอัฐิสมเด็จพระบุรพการี ณ หอพระธาตุมณเฑียร

เวลา ๑๐ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถ้าเป็นวันพระมีการเลี้ยงพระในท้องพระโรงก่อน(๑๓) แล้วเสด็จประทับในห้องพระฉากทางด้านตะวันออก กรมหลวงวงศาธิราชสนิทหรือเจ้าฟ้า กรมขุนบำราบปรปักษ์เข้าเฝ้า(แต่ไม่เสมอทุกวัน)กราบทูลอธิบายเรื่องพงศาวดารหรือโบราณคดี และประเพณีต่างๆซึ่งทรงศึกษา

เวลา ๑๑ นาฬิกา เสด็จออกประทับพระราชอาสน์นอกพระฉาก พนักงานคลังกราบทูลรายงานจ่ายเงินพระคลังมหาสมบัติเมื่อวันก่อนให้ทรงทราบ แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง(๑๔)เจ้านายฝ่ายหน้าตั้งแต่พระมหาอุปราชเป็นต้น กับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน ราชการที่กราบทูลเมื่อเสด็จออกเวลาเช้าเป็นเรื่องฝ่ายตุลาการเป็รพื้น เช่นรายงานชำระความฎีกาเป็นต้น

เวลา ๑๒ นาฬิกา เสด็จจากพระแท่นออกขุนนางไปประทับในพระฉากอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งคอยอยู่ ณ หอวรสภาภิรมย์เข้าเฝ้า(เว้นบ้างไม่เสมอทุกวัน)กราบทูลราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นและที่ได้บังคับบัญชาไปอย่างไรให้ทรงทราบ

เวลา ๑๓ นาฬิกา เสด็จขึ้นเสวยกลางวันข้างในแล้วว่างพระราชกิจไปจนเวลา ๑๖ นาฬิกา

เวลา ๑๖ นาฬิกา เสด็จออกข้างหน้าทอดพระเนตรช่างทำของต่างๆ(เป็นการทรงศึกษาศิลปศาสตร์) เวลาเย็นเสด็จออกรับฎีการาษฎร หรือประพาสนอกพระราชวัง(๑๕)จนจวบพลบค่ำ

เวลา ๑๗ นาฬิกา เสวยแล้วเสด็จประทับที่ท้องพระโรงใน ให้ท้าวนางผู้ใหญ่เฝ้ากราบทูลกิจการฝ่ายในพระราชนิเวศน์ บางวันก็เสด็จไปเฝ้าสมเด็จกรมพระสุดารัตน์ฯ(๑๖)ที่พระตำหนักเดิม(๑๗) และเสวย ณ ที่นั้น

เวลา ๒๐ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยประทับราชอาสน์ทรงฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้วพนักงานคลังกราบทูลรายงานจ่ายสิ่งของต่างๆ และมหาดเล็กกราบทูลรายงานตรวจการก่อสร้าง กับทั้งรายงานพระอาการประชวรเจ้านายหรืออาการเจ็บป่วยของคนสำคัญซึ่งใคร่จะทรงทราบ เมื่อทรงฟังรายงานแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางอีกครั้งหนึ่ง(๑๘) แต่เสด็จออกตอนค่ำนี้พระมหาอุปราชกับเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ที่สูงอายุไม่เข้าเฝ้า มีแต่ปลัดทูลฉลองอ่านใบบอกหัวเมืองกราบบังคมทูลเหตุการณ์ต่างๆ จนเวลา ๒๒ นาฬิกาเสด็จขึ้นข้างใน เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจำวัน

ที่นี่จะกล่าวถึงเหตุการณืต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ ธรรมดาเวลาเปลี่ยนรัชกาลมักเกิดความหวาดหวั่นในเหล่าประชาชน ด้วยเกรงว่าจะเกิดการแย่งชิงราชสมบัติ หรือเกิดโจรผู้ร้ายกำเริบเป็นนิสัยติดมาแต่โบราณ แม้คราวนี้ก็มีความหวาดหวั่นกันแพร่หลาย และมีเหตุชวนให้หวาดหวั่นด้วย เบื้องต้นแต่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์ต้องมีผู้อื่นว่าราชการแทนพระองค์ คนทั้งหลายเกรงว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะชิงราชสมบัติ เหมือนพระเจ้าปราสาททองในเรื่องพงศาวดารดังกล่าวมาแล้ว

นอกจากนั้นยังมีเหตุร้ายเกี่ยวเนื่องแวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังประชวรถึง ๔ เรื่อง คือ เรื่องกงสุลอังกฤษตั้งวิวาทหาว่ารัฐบาลไทยไม่ประพฤติตามหนังสือสัญญา ถึงลดธง(ตัดทางพระราชไมตรี)และเรื่องเรือรบเรื่อง ๑ ชาวตลาดตื่นด้วยเรื่องเกิด"อัฐ"(สำหรับซื้อของ)ปลอมแพร่หลายถึงกับจะปิดตลาดไม่ขายของเรื่อง ๑ เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมเรื่อง ๑ และจีนตั้วเฮีย(อั้งยี่)จะกำเริบเรื่อง ๑ จะเล่าเรื่องเหล่านี้โดยสังเขป พอให้เห็นวิธีที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ระงับด้วยอุบายอย่างใด


เรื่องกงสุลอังกฤษลดธงนั้น ตัวกงสุลเยเนอราลอังกฤษชื่อ น๊อกส์(๑๙) เวลานั้นไปยุโรปกลับมายังไม่ถึงกรุงเทพฯ ผู้รักษาการแทน ชื่อ อาลบาสเตอรที่เป็นผู้ตั้งวิวาท เกิดเหตุด้วยพวกเจ้าภาษีฝิ่นซึ่งขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไปจับฝิ่นที่โรงก๊วนพวกงิ้ว อยู่ริมวัดสัมพันธวงศ์ เกิดต่อสู้กันไฟไหม้โรงก๊วน แล้วลุกลามไปไหม้ตึกที่พวกแขกในบังคับอังกฤษตั้งร้านขายของ ทรัพย์สินเสียไปเป็นอันมาก กงสุลอังกฤษหาว่าความเสียหายเกิดเพราะพวกเจ้าภาษีเผาโรงก๊วน จะให้ลงโทษและเรียกค่าเสียหายทดแทนให้พวกแขก ฝ่ายเจ้าภาษีฝิ่นแก้ว่าไฟไหม้เพราะพวกงิ้วจุดเผาโรงก๊วนเมื่อจะหนีออกทางหลังโรง เจ้าภาษีหาได้เผาโรงก๊วนไม่ กงสุลไม่เชื่อจะให้รัฐบาลตั้งข้าหลวงไต่สวนด้วยกันกับกงสุลตามข้อสัญญาว่าด้วยคนในบังคับ ๒ ฝ่ายวิวาทกัน

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่ยอม ว่ากรณีไม่ตรงกับข้อสัญญาเพราะเจ้าภาษีฝิ่นมิได้วิวาทกับแขกในบังคับอังกฤษ รับแต่จะให้เงินทดแทนพวกแขกเท่าทุนทรัพย์ที่ไฟไหม้ กงสุลไม่ยอมจึงเกิดวิวาทกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (รู้ว่านายน๊อกส์กับนายอาลบาสเตอร์ไม่ชอบกันในส่วนตัว) โต้แย้งถ่วงเวลาไว้จนนายน๊อกส์กลับมาถึง แล้วพูดจากันฉันท์มิตรให้เห็นว่าที่เอากรณีเล็กน้อยเพียงเท่านี้เป็นเหตุให้เกิดวิวาทเฉพาะในเวลาบ้านเมืองฉุกเฉิน ด้วยเปลี่ยนรัชกาลจะเสียประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย นายน๊อกส์เห็นชอบด้วยยอมถอนคดี ส่วนเรื่องลดธง นายอาลบาสเตอรชี้แจงว่าที่จริงนั้นเป็นด้วยเชือกชักธงขาด จึงมิได้ชักธงในวันที่เตรียมการต่อเชือก หาได้ลดธงในทางการเมืองไม่ แต่เมื่อแพ้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ นายอาลบาสเตอร์ก็ลาออกจากตำแหน่ง(๒๐)กลับไปยุโรป ฝ่ายแม่ทัพเรืออังกฤษ ณ เมืองฮ่องกงได้รับหนังสือเรียกเรือรบ(๒๑)ยังไม่ทันทำอย่างไร ได้ข่าวว่าเปลี่ยนรัชกาลใหม่ในประเทศสยาม นายพลเรือเกปเปลจึงมาเองพอทันช่วยงานบรมราชาภิเษก


เรื่องอัฐปลอมนั้น เดิมในประเทศนี้ใช้เงินตราพดด้วง ๓ ขนาด คือ บาท สลึง(๑/๔ ของบาท) และเฟื้อง(๑/๘ ของบาท) ราคาต่ำกว่านั้นลงมาใช้เบี้ย(หอย เก็บมาจากทะเลตั้งพิกัดราคา ๑/๖๔๐๐ ของบาท) ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศแล้ว มีเรือกำปั่นเข้ามาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯมากขึ้น พวกชาวต่างประเทศเอาเงินเหรียญเม๊กสิโกมาซื้อสินค้า ราษฎรไม่พอใจ พวกพ่อค้าจึงต้องเอาเงินเหรียญเม๊กสิโกมาขอแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติไปซื้อสินค้า จำนวนเงินที่มาขอแลกมากขึ้นทุกที จนโรงทำเงินที่พระคลังมหาสมบัติทำให้ไม่ทัน เพราะเงินพดด้วง "ทำด้วยมือ" ทำทั้งกลางวันกลางคืนก็ได้เพียงวันละ ๒,๔๐๐ บาทเป็นอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดฝืดเคืองในกการค้าขายด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู้หัวจึงโปรดฯให้สั่งเตรื่องจักรมาตั้งโรงกระษาปณ์เมื่อ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ทำเงินตราเปลี่ยนรูปเป็นเงิน(เหรียญ)แบน คงพิกัดบาท สลึง และเฟื้อง ตามราคาเดิม ต่ำกว่านั้นลงมาให้เลิกการใช้เบี้ยเปลี่ยนเป็นเหรียญทองแดง ๒ อย่าง เรียกว่า "ซีก" (หมายความว่าครึ่งเงินเฟื้อง ราคา ๑/๑๖ ของบาท)อย่าง ๑ "เสี้ยว" (หมายความว่าส่วนสี่ของเฟื้อง ราคา ๑/๓๒ ของบาท)อย่าง ๑ ถัดนั้นลงมาให้ทำเหรียญดีบุกขึ้น ๒ อย่างเรียกว่า "อัฐ" (หมายความว่าส่วนแปดของเงินเฟื้อง ราคา ๑/๖๔ ของบาท)อย่าง ๑ เรียกว่า "โสฬศ" (หมายความว่าส่วนสิบหกของเงินเฟื้อง ราคา ๑/๑๒๘ ของบาท)อย่าง ๑ แต่ดีบุกเป็นของอ่อนหล่อง่ายและหาได้ง่ายในประเทศนี้ จึงมีผู้ทำอัฐและโสฬศปลอมขึ้นในกรุงเทพฯ ครั้นตรวจตราจับกุมกวดขันก็ย้ายลงไปทำตามหัวเมืองมลายูแล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ จนอัฐปลอมมีแพร่หลายในท้องตลาด ราษฎรไม่รู้ว่าไหนเป็นของจริงไหนเป็นของปลอมพากันรังเกียจไม่อยากรับอัฐและโสฬศ แต่จะไม่รับก็เกรงรัฐบาลจะเอาผิด จึงตื่นกันถึงกับคิดจะปิดร้านไม่ขายของ

พ้องในเวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาล เรื่องนี้จะได้ปรึกษาหารือกันในรัฐบาลประการใดไม่ทราบ แต่ตกลงจะแก้ไขด้วยลดราคาทั้งเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกลงทันที พอเปลี่ยนรัชกาลได้ ๑๓ วันก็ออกประกาศอนุญาตให้ราษฎรเอาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกของรัฐบาลมาแลกเอาเงิน จะยอมให้เต็มราคาเดิมเพียง ๑๕ วัน ต่อไปนั้นให้ลดพิกัดราคาเหรียญทองแดงซีกลงเป็นอันละอัฐ ๑ (๑/๑๖ ของบาท) ลดราคาเหรียญทองแดงเสี้ยวลงเป็นอันละโสฬศ ลดราคาเหรียญอัฐลงเป็นอันละ ๑๐ เบี้ย (๑/๖๔๐ ของบาท) และลดราคาเหรียญโสฬศลงไปเป็นอันละ ๕ เบี้ย แล้วทำเหรียณดีบุกตรารัชกาลที่ ๕ ขนาดเท่าเหรียญอัฐของเดิม ความตื่นเต้นกันด้วยเรื่องอัฐปลอมก็สงบไป

แต่ความลำบากเรื่องเครื่องแลกในการซื้อขายยังมามีขึ้นอีก ด้วยต่อมาไม่ช้านักราคาเนื้อทองแดงและดีบุกสูงขึ้นกว่าราคาที่กำหนดให้ใช้เป็นเครื่องแลก ก็มีผู้รวบรวมเหรียญทองแดงและดีบุกส่งไปหลอมขายในประเทศอื่นเสียโดยมาก จนเกิดอัตคัดเครื่องแลกไม่พอใช้ในการซื้อขายในท้องตลาด ราษฎรจึงหันไปใช้ปี้ถ้วยที่นายอากรบ่อยเบี้ยสั่งมาจากเมืองจีน สำหรับเป็นคะแนนราคาต่างๆในการเล่นเบี้ย เอาเป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย พวกจีนได้กำไรก็สั่งปี้เข้ามาจำหน่ายให้ราษฎรใช้กันแพร่หลาย จนเมื่อรัฐบาลสั่งให้ทำเหรียญทองแดง ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬศ มาจายุโรปและประกาศให้ใช้ตั้งแต่ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เครื่องแลกในการซื้อขายจึงเรียบร้อยแต่นั้นมา


เรื่องเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมนั้น ดูเหมือนเป็นนิสัยของคนพาลในประเทศนี้แต่ไรมา ถ้าเข้าใจว่าพนักงานปกครองอ่อนเมื่อใดก็กำเริบ พอเปลี่ยนรัชกาลในไม่ช้าก็เกิดโจร ๕ คนบังอาจขึ้นปล้นกุฏิพระในวัดพระเชตุพนฯ ฆ่าพระธรรมเจดีย์(อุ่น)ตาย ต่อมามีผู้ร้ายฆ่ากัปตันสมิทนำร่องอังกฤษตายในกรุงเทพฯอีกเรื่อง ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้สืบจับโดยกวดขัน จับได้ตัวมาประหารชีวิตภายใน ๑๕ วันทั้ง ๒ ราย โจรผู้ร้ายในกรุงเทพฯก็สงบลง แต่ไปเกิดชุกชุมทางหัวเมืองมณฑลอยุธยา ด้วยเป็นโจรมีพวกมาก ทั้งที่ช่วยปล้นสะดมและช่วยแก้ไขในโรงศาลจนราษฎรพากันเกรงกลัวไม่กล้าฟ้องร้อง หรือแม้แต่จะเบิกความเป็นพยานที่ในศาล พวกผู้ร้ายก็กำเริบได้ใจเที่ยวปล้นสะดมหนักขึ้น

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รู้เค้าไม่ไว้ใจพวกเจ้าเมืองกรมการ เลือกหาข้าราชการที่ท่านไว้ใจให้เป็นข้าหลวงแยกย้ายกันไปเที่ยวสืบจับโดยลับหลายทาง เล่ากันว่าข้าหลวงคนหนึ่งไปเห็นเรือแหวดเก๋งแจวสวนทางลงมาลำหนึ่ง สำคัญว่าเป็นเรือเพื่อนข้าหลวงที่ขึ้นไปสืบจับผู้ร้ายด้วยกัน เบนเรือเข้าไปหมายไต่ถามข้อราชการ เมื่อเข้าไปใกล้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเปิดม่านเก๋งเรือแหวดลำนั้น กวักมือเรียกและชี้มือไปในเก๋ง ก็รีบไปขึ้นเรือแหวดจับได้ตัว "อ้ายอ่วม(ชาวบ้าน)อกโรย" หัวหน้าผู้ร้ายตัวสำคัญคนหนึ่งซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ ด้วยผู้หญิงคนหนึ่งถูกอ้ายอ่วมฉุดเอามาข่มขืนใจให้เป็นเมีย ได้ช่องจึงบอกให้ข้าหลวงจับ

มีข้าหลวงอีกสายหนึ่งจับได้ อ้ายโพ หัวหน้าสำคัญอีกคนหนึ่งที่ตำบลบ้านสาย แต่นั้นพวกราษฎรเชื่ออำนาจรัฐบาลก็กลับเป็นใจช่วยสืบจับโจรกับพรรคพวกได้อีกเป็นอันมาก พอจับหัวหน้าโจรได้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ขึ้นไปยังพระนครศรีอยุธยาพร้อมด้วยผู้พิพากษาตุลาการ ไปตั้งศาลรับสั่งชำระพิพากษาในทันที พวกหัวหน้าโจรที่ต้องโทษถึงประหารชีวิตนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สั่งให้ประหารชีวิตด้วยเอาขวานตัดตัวให้ขาดเป็น ๒ ท่อนที่หน้าพะเนียดคล้องช้างแห่ง ๑ ให้ผ่าอกที่วัดชีตาเห็น(บ้านผักไห่)อีกแห่ง ๑ ป่าวร้องให้คนมาดูโดยหวังจะให้คนพาลสยดสยอง เรื่องนี้แม้ใครจะติเตียนว่าลงอาญาอย่างทารุณก็ต้องยอมว่าได้ผลตามท่านหวัง ด้วโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองเงียบสงัดลงในทันใด


เรื่องจีนตั้วเฮีย (หรือที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า "อั้งยี่") นั้น(๒๒) กลับมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ด้วยการค้าขายเจริญมีเรือกำปั่นบรรทุกสินค้าเข้าออกมากขึ้น ทั้งมีโรงจักรสำหรับสีข้าวและเลื่อยไม้ตั้งขึ้นในกรุงเทพฯหลายแห่ง ต้องใช้คนเป็นแรงงานมากขึ้น ไทยไม่ชอบรับจ้างเป็นกรรมกร พวกพ่อค้าต้องเที่ยวหาจ้างจีน จึงมีจีนชั้นคฤหบดีที่มีทุนรอนคิดอ่านเรียกจีนเลวจากเมืองจีนมารับจ้างเป็นแรงงานอยู่ในความควบคุมของตนเกิดขึ้นหลายราย พวก "เถ้าเก๋" ที่หากินในการเลี้ยง "กุลี" นั้น โดยปกติทำการค้าขายหรือเข้ารับทำภาษีอากรด้วย มักฝากตัวอยู่ในเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่โดยมาก แต่เมื่อกุลีมีจำนวนมากขึ้นจนต้องแย่งงานกันทำ และเกิดเบียดเบียนกันด้วยเหตุนั้น จึงเอาวิธีสมาคมลับในเมืองจีนเรียกว่า "อั้งยี่" มาตั้ง

พวกร่วมน้ำสบถสำหรับช่วยกันและกันมีขึ้นเป็นหลายคณะ ฝ่ายพวกเถ้าเก๋เกรงจะบังคับบัญชากุลีของตนไม่ได้ดังแต่ก่อน ที่เข้ารับเป็นตัวหัวหน้าอั้งยี่เสียเองก็มี ที่อุดหนุนพวกอั้งยี่เอาเป็นกำลังแย่งค้าขายก็มี พวกอั้งยี่จึงกำเริบขึ้นถึงปล้นราษฎรทางเมืองนครปฐม แม้จับตัวได้ก็หวาดหวั่นกันว่าพวกจีนอั้งยี่จะกำเริบขึ้นในกรุงเทพฯ ในเวลาเปลี่ยนรัชกาลใหม่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้สืบจับตัวหัวหน้าได้พวกเถ้าเก๋ที่เป็นคนฝากตัวอยู่กับท่าน เป็นหัวหน้าอั้งยี่หลายคน จึงพิพากษาเพียงให้กระทำสัตย์สาบาน และให้สัญญาว่าจะไม่ประพฤติร้ายเป็นเสี้นหนามแผ่นดินแล้วปล่อยตัวไป แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังไม่วางใจ คิดอ่านให้มีการฝึกซ้อมทหารบกที่ท้องสนามชัย เชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์เนื่องๆ บางวันให้ยิงปืนติดดินปืนทั้งปืนใหญ่ปืนน้อยทำนองประลองยุทธ บางวันก็ผูกหุ่นเป็นตัวข้าศึก แล้วเอาช้างรบเข้าไล่แทงเป็นการเอิกเกริกขู่ให้พวกจีนเกรงกลัว แต่นั้นพวกอั้งยี่ก็สงบมาช้านาน(๒๓)


พิเคราะห์รัฎฐาภิโนบายในเวลานั้นเมื่อมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ดูพยายามดำเนินตามทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลัก แต่มีความลำบากเป็นข้อสำคัญข้อ ๑ ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงพระราชดำริ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้กระทำการให้สำเร็จดังพระราชดำริ เปรียบเหมือนแม้ทัพกับเสนาธิการ ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๔ หน้าที่ทั้ง ๒ อย่างนั้นมาตกอยู่กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แต่คนเดียว ท่านเห็นจะรู้สึกลำบากใจในข้อนี้มาแต่แรก จึงได้ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์เป็นผู้สำเร็จราชการในราชสำนัก เพื่อปลดเปลื้องภาระให้พ้นตัวท่านไปส่วนหนึ่ง แต่การที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งตัวท่านเองไม่มีความรู้เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะหาผู้ใดเป็นที่ปรึกษาหารือก็ไม่มีตัว ท่านจึงแก้ไขหาความรู้ด้วยอุบายคบหาสมาคมกับฝรั่งให้สนิทสนมยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ก็ฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯเวลานั้น ในเหล่าที่เข้ารับราชการอยู่กับไทยมีแต่ชั้นที่เป็นครูสอนหนังสือ หรือหัดทหารและเป็นแต่คนเดินเรือหรือเป็นล่าม จะหาผู้ที่ชำนาญการเมืองหามีไม่ ฝรั่งพวกอื่นก็มีแต่คนค้าขายกับมิชชั่นนารีมาสอยศาสนา แม้กงสุลของรัฐบาลต่างประเทศก็เป็นพ่อค้าแทบทั้งนั้น มีกงสุลที่เป็นข้าราชการแต่อังกฤษฝรั่งเศสและอเมริกัน แต่ในเวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลตัวกงสุลว่างอยู่ กงสุลอเมริกันเป็นนายพล(เมื่อครั้งอเมริกันรบกันเอง)ชื่อ ปาตริช ก็มิใคร่ขวนขวายในการเมืองด้วยกิจธุระของอเมริกันมีน้อย มีคนสำคัญแต่นายน๊อกส์ กงสุลเยเนอราลอังกฤษคนเดียวด้วยเป็นผู้แทนมหาประเทศที่ในอาเซียยิ่งกว่าชาติอื่นอย่าง ๑ เป็นหัวหน้าผู้แทนต่างประเทศที่ในกรุงเทพฯด้วยมียศสูงกว่าเพื่อนอย่าง ๑ ประกอบกับวุฒิในส่วนตัวที่เป็นผู้ดีได้ศึกษาวิชาชั้นสูงและมาเรียนรู้ภาษาไทย ทั้งได้เคยสมาคมกับไทยที่เป็นคนชั้นสูงมาแต่ก่อน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงทำทางไมตรีให้มีกับนายน๊อกส์สนิทสนม คล้ายกับเป็นที่ปรึกษาของท่านในสมัยนั้น

ดูเหมือนจะได้ช่วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาตลอดเวลาที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่เมื่อบรมราชภิเษกคราวหลังแล้ว นายน๊อกนำผู้แทนต่างประเทศให้ถือว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงว่าราชการบ้านเมืองเอง พ้นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เล่ากันว่านายน๊อกส์เริ่มใช้คำเรียกท่านว่า "Ex-Regent" ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่ออกจากตำแหน่งแล้ว ก่อนผู้อื่น จึงห่างกันแต่นั้นมา


..............................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) ประเพณีโกนหัวเป็นการไว้ทุกข์ มาเลิกในรัชกาลที่ ๕

(๒) พระราชโอรส ในรัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติก่อน สมเด็จฯเจ้าฟ้า จุฬาลงกรณ์ มีอีก ๔ พระองค์ คือ
๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านพวงศ์วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ
๒. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์วรฤทธิราชมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชวโรรส กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร
๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทักษิณาวัฏ
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าโสมวัฒนาวดี สิ้นพระชนม์เมื่อแรกประสูติ

(๓) ทรงบัญญัติว่าคำ "พระพุทธเจ้าหลวง" ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตแล้ว พระเจ้าแผ่นดินที่ออกจากราชสมบัติ แต่ยังดำรงพระชนม์อยู่ให้เรียกว่า "พระเจ้าหลวง"

(๔) ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ พระเจ้าเอมปเรอ นโปเลียนที่ ๓ สร้างพระแสงกระบี่ขึ้น ๒ องค์ส่งเข้ามาถวาย พระแสงกระบี่องค์ใหญ่จารึกว่า "ของเอมปเรอฯฝรั่งเศสถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม" พระแสงองค์น้อยจารึกว่า "ของพระยุพราชกุมารฝรั่งเศสถวายพระยุพราชกุมารสยาม"

(๕) ในหนังสือพงศาวดารเรียกว่า "สุริยวงศ์" แต่ในหนังสือวันวลิต ฮอลันดาแต่งร่วมสมัยนั้น ว่าเป็นพระยาศรีวรวงศ์จางวางมหาดเล็กแล้วเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหกลาโหม

(๖) ประเพณีราษฎรถวายฎีกามาแต่ก่อน เป็นที่เข้าใจกันว่า ถ้าใครมีความทุกข์ร้อนให้เข้าไปตีกลองใบ ๑ ซึ่งเอาไว้ที่ทิมดาบกรมวัง เมื่อกลองถึงพระกรรณ ก็โปรดฯให้ราชบุรุษออกมารับฎีกา เรียกกันว่า "ตีกลองร้องฎีกา" เห็นจะเป็นประเพณีมาแต่โบราณ แต่ตามการที่เป็นจริงไม่ใคร่มีใครกล้าเข้าไปตีกลองร้องถวายฎีกา ถ้ามีทุกข์จะถวายฎีกาก็ถวายในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังที่ไหนๆ นอกพระราชวัง เมื่อในรัชกาลที่ ๓ มิใคร่จะเสด็จไปไหน ราษฎรที่ถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงจะถวายฎีกาได้ด้วยยาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบพฤติการณ์อันนี้ ครั้นเสด็จผ่านพิภพจึงเอาพระราชหฤทัยใส่ที่จะเสด็จออกพระราชทานโอกาสให้ราษฎรถวายฎีกาได้โดยสะดวกมาตลอดรัชกาล

(๗) เรื่องในการประชุมที่กล่าวต่อไปนี้ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรเวลานั้นผนวชเป็นสามเณร ได้ประทับอยู่ในที่ประชุมตรัสเล่าให้ฟัง เจ้าพระยาภาณุวงศ์เวลานั้นเป็นพระยาเทพประชุม ได้อยู่ในที่ประชุมก็เล่ายุติต้องกัน

(๘) คือเมื่อพระชันษาครบ ๒๐ ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นเวลาที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ๕ ปี

(๙) เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเริ่มประชวร ได้ทรงพยาบาลอยู่ ๒ วัน พระองค์เองก็ประชวรเป็นไข้ป่าแล้วเป็นพระยอดเพิ่มขึ้น พระอาการเพียบอยู่หลายวัน ถึงต้องปิดความมิให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบพระอาการ

(๑๐) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เวลาก่อนทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ประทับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเหมือนกัน แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เวลาระหว่างเฉลิมพระราชมณเฑียรถึงเดือนครึ่ง จึงปลูกพลับพลาถวายเป็นที่ประทับที่โรงแสงใน เพื่อทรงสำราญกว่าประทับที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

(๑๑) สร้างขึ้นที่กรงนกของเก่า อยู่ตรงสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์ฝ่ายตะวันออก

(๑๒) พระราชานุกิจ คือกำหนดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆประจำทุกวัน ต้นตำราอยู่ในมนูธรรมศาสตร์ ได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ แต่แก้ไขให้เหมาะแก่ภูมิประเทศมีปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล

(๑๓) ในรัชกาลที่ ๓ เลี้ยงพระในท้องพระโรงทุกวัน ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเสด็จประทับที่พระอภิเนาวนิเวศน์ ย้ายไปเลี้ยงพระ ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ถึงรัชกาลที่ ๕ เลี้ยงพระ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ต่อวันพระจึงมาเลี้ยงในท้องพระโรง

(๑๔) พระแท่นออกขุนนางนั้นเป็นพระแท่นบรรทม จะประทับหรือบรรทมว่าราชการได้ตามพอพระราชหฤทัย

(๑๕) การเสด็จออกรับฎีกาและประพาสนอกพระราชวังเพิ่งเกิดเป็นพระราชานุกิจในรัชกาลที่ ๔

(๑๖) คือ หม่อมเจ้าละหม่อม ต่อมาสมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จผ่านพิภพในรัชกาลที่ ๓ จึงเป็นพระองค์เจ้าละหม่อม ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๖๑ มีพระเชษฐาร่วมพระชนนีพระองค์หนึ่ง คือพระองค์เจ้าสิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (และกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์พระองค์นี้เป็นพระชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์) เมื่อสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์สิ้นพระชนม์ได้ทรงเป็นผู้อภิบาลสมเด็จฯเจ้าฟ้า จุฬาลงกรณ์และพระอนุชาโดยตลอด สมเด็จพระราชบิตุลาฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงเล่าว่า ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงกรมเป็นกรมพระสุดารัตนราชประยูร มีพระอิสริยศักดิ์นำหน้าว่า กรมพระเจ้ามไหยิกาเธอ ต่อมาเลื่อนเป็นกรมสมเด็จพระ มีเจ้ากรมเป็นพระยา ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น "สมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "ทูลกระหม่อมย่า"

(๑๗) อยู่ตรงที่สร้างพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์

(๑๘) ประเพณีเสด็จออกขุนนางวันละ ๒ ครั้งตามแบบโบราณ การเสด็จออกเวลาเช้าเพื่อทรงพิพากษาอรรถคดี เสด็จออกเวลาค่ำสำหรับพิพากษาการเมือง เช่นการทัพศึกเป็นต้น จึงถือว่าการเสด็จออกเวลาค่ำสำคัญกว่าเสด็จออกเวลาเช้ามาจนรัชกาลที่ ๓ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ว่างการทัพศึก และมีการเกี่ยวกับต่างประเทศซึ่งใช้การเขียนหนังสือเป็นพื้น เสด็จออกกลางคืนก็ไม่เป็นการสำคัญ

(๑๙) ทอมัช ยอช น๊อกส์ (Thomas George KnoK) เป็นเชื้อผู้ดีมีสกุล เดิมได้เป็นนายร้อยเอกทหารอยู่ในอินเดีย กล่าวกันว่าเพราะเล่นพนันแข่งม้าสิ้นทรัพย์หมดตัว จึงลาออกจากตำแหน่งแล้วตามนายร้อยเอกอิปเป มาหางานทำในประเทศนี้แต่ต้นรัชกาลที่ ๔ นายร้องเอกอิปเปได้เป็นครูทหารวังหลวง ส่วนนายน๊อกส์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เป็นครูวังหน้า ได้เข้ากองทัพกรมหลวงวงศาธิราชสนิทไปตีเมืองเชียงตุง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตามาก ถึงประทานผู้หญิงวังหน้าคนหนึ่งชื่อ ปราง ให้เป็นภรรยา มีลูกด้วยกันหลายคน เมื่อรัฐบาลอังกฤษตั้งกงสุลประจำอยู่ในกรุงเทพฯเห็นว่านายน๊อกส์รู้การเมืองและภาษาไทยทั้งเป็นเชื้อผู้ดี จึงชวนไปเป็นผู้ช่วยกงสุล แล้วได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับจนได้เป็นกงสุลเยเนอราล เวลานั้นเป็นผู้คุ้นเคยชอบพอกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

(๒๐) เฮนรี อาลบาสเตอร (Henry Alabaster)เป็นนักเรียนมีความรู้มาก ภายหลังมารับราชการไทยได้ทำคุณให้แก่ประเทศนี้หลายอย่าง ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า รับราชการอยู่จนถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างอนุสรณ์ ณ ที่ฝั่งศพยังปรากฏอยู่ที่ป่าช้าโปรเตสตันต์จนบัดนี้ นายอาลบาสเตอร์ เป็นต้นสกุล "เศวตศิลา"

(๒๑) สมัยนั้นประเทศสยามยังไม่มีโทรเลข ต้องเขียนหนังสือส่งไปตีโทรเลขที่สิงคโปร์

(๒๒) เรื่องอั้งยี่ในประเทศสยามมีอธิบายโดยพิสดารอยู่ในเรื่อง "นิทานโบราณคดี" นิทานที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องอั้งยี่

(๒๓) บางทีท่านจะให้คนพวกนั้นชี้ตัว และเที่ยวชักชวนพวกหัวหน้าคนอื่นมาลุแก่โทษ แต่มีเสียงติเตียนกันว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นแก่คนใช้จึงไม่เอาโทษอั้งยี่อย่างแรง แต่เมื่อมาคิดว่าพวกอั้งยี่ยังมิได้ก่อการร้ายในกรุงเทพฯ และการที่รัฐบาลกระทำมีผลให้อั้งยี่สงบไว้ได้ในคราวนั้น ดูก็ไม่ควรติเตียน


..............................................................................................................................................................


ความทรงจำ ตอนที่ ๔


Create Date : 29 มีนาคม 2550
Last Update : 30 มีนาคม 2550 14:35:09 น. 0 comments
Counter : 2667 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com