ขอให้ความสุนทรีย์และความสุขสงบจงมีแด่ท่านทั้งหลาย
Group Blog
 
All Blogs
 
สนทนากับพระเจ้า เล่ม1

หนังสือสนทนา : สัจธรรมนอกคัมภีร์

หนังสือสนทนา : สัจธรรมนอกคัมภีร์
เขียนโดย ทวี คุ้มเมือง
สนทนากับพระเจ้า : การพูดคุยที่ไม่ธรรมดา เล่ม ๑

นีล โดนัลด์ วอลซ์ เขียน รวิวาร โฉมเฉลา แปล สำนักพิมพ์ โอ้ พระเจ้า พับลิชชิ่ง, กันยายน ๒๕๔๙
คำถามแรกเมื่อเห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ก็คือ นี่เป็นเรื่องจริงหรือโกหกกันแน่ ? ใครหนอที่สามารถสื่อสารกับพระผู้สร้างได้ยืดยาวอย่างนี้ ? อาจจะมีผู้คนเคยบอกเล่าถึงประสบการณ์ทางจิตวิญญาณผ่านนิมิตนานัปการเมื่อยามวิกฤติของชีวิต แต่การมาปุจฉาวิสัชนาโต้ตอบปัญหากันแบบตัวต่อตัว จนสามารถบันทึกเป็นข้อเขียนออกมาเสียละเอียดลออ ย่อมต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังให้สืบค้นเป็นแน่แท้...
หลังจากที่เข้าออกงานในแวดวงสถานีวิทยุมานับครั้งไม่ถ้วน พอ ๆ กับการต้องแยกทางกับคนรักหลายหน และด้วยสุขภาพซึ่งเริ่มเสื่อมถอยลงเป็นระยะ นีล โดนัลด์ วอลช์ ยังคงพยายามดิ้นรนไปสู่เส้นทางชีวิตสายใหม่อยู่เสมอ กระทั่งเกิดเคราะห์ร้ายถูกรถชนคอเกือบหัก ทำให้ต้องใช้เวลารักษาตัวเนิ่นนานจนถึงคราวซวยอย่างสมบูรณ์แบบคือ ตกงาน ไร้บ้าน หมดเงิน ต้องกลายเป็นคนเก็บขยะข้างถนน อาศัยนอนตามสวนสาธารณะ โดยสิ่งสุดท้ายซึ่งเขากำลังจะสูญเสียไปอีกคือ เริ่มหมดหวังต่อความเป็นมนุษย์ของตัวเอง

ก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย วอลช์ขอใช้โอกาสอันเหลืออยู่น้อยนิด จดหมายทิ้งทวนด่า "พระเจ้า" ให้หายแค้นในฐานะต้นเรื่องของความผิดพลาดทั้งปวง แต่ข้อเขียนเหล่านั้นกลับนำพาให้เขาพร้อมกับผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง เริ่มรู้จักและเข้าใจ "พระเจ้า" ในความหมายที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

ภาพพจน์ดั้งเดิมของพระเจ้าตลอดช่วงประวัติศาสตร์หลายพันปีมีลักษณะเป็นผู้ชายสูงวัยไว้หนวดเครายาวสลวย ก่อนปรากฏกายต้องมีทูตสวรรค์คอยเป่าแตรเบิกฤกษ์ แล้วด้วยฐานะผู้ดลบันดาลพิภพบาดาลจรดอวกาศไพศาล พระองค์จึงต้องคอยเฝ้าตัดสินลงโทษหรือให้รางวัลมวลมนุษย์ตลอดเวลา จนถึงวาระ "พิพากษาครั้งสุดท้าย" เพื่อชำระล้างแผ่นดินโลกให้บริสุทธิ์สะอาดดุจแรกสร้างอีกครั้งหนึ่ง

นั่นเป็นลักษณะซึ่งมนุษย์รับรู้ถึงภาวะดำรงอยู่ของพระเจ้าจนฝังใจ เสมือนบิดาผู้เข้มงวดกวดขันต่อบุตรดื้อด้าน ยิ่งเมื่อศาสนจักรเพิ่มเติมความยิ่งใหญ่อลังการราวจักพรรดิแห่งสรวงสวรรค์ ผนวกกับความซับซ้อนเพื่อ "เข้าถึง" ผ่านตรรกะเทววิทยาโดยเหล่าสังฆราชาทั้งหลาย การสนทนากับพระเจ้าจึงต้องอาศัยตัวกลางภายใต้อาภรณ์นักบวชเฉพาะนิกาย กระทั่งสี่ร้อยกว่าปีก่อนเกิดแตกแยกศรัทธาจนถึงวิถีปฏิบัติในยุโรป เมื่อมีผู้ไม่ยอมรับสถานะอำนาจของสันตะปาปาอีกต่อไป



นีล โดนัลด์ วอลช์ (เกิดในปี ๑๙๔๓)แก่นแกนของ สนทนากับพระเจ้า นอกจากการใช้รูปแบบถามตอบตามที่วอลช์บอกว่า เขาไม่ได้พูดกับพระเจ้าเหมือนคนคุยกันตามปกติ แต่กำลัง "สื่อสาร" ผ่าน "ความรู้สึก" โดยอาศัยถ้อยภาษาอันคับแคบส่งต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งตรงนี้สำหรับผู้ที่ยังไม่เชื่อว่ามีใครเคยติดต่อกับพระเจ้าแบบเป็นเรื่องเป็นราว ย่อมติงให้เห็นถึงเส้นแบ่งก้ำกึ่งของตัวผู้เขียน ระหว่างสามัญสำนึกซึ่งกำลังเจ็บปวดต่อชีวิตกับภาวะจินตนาการเพ้อเจ้อ แต่พระเจ้าในบทสนทนาได้บอกไว้ชัดเจนถึงช่องทางสื่อสารหลักของพระองค์มาจาก "ประสบการณ์" ของปุถุชนทั่วไป เพียงแต่ใครจะสามารถเลือกจำแนกรายละเอียดชัดเจนมากน้อยแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง

เมื่อคลุมความของการติดต่อที่เกิดขึ้นเอาไว้กว้างขวางอย่างนี้แล้ว ประเด็นของ สนทนาฯ ย่อมมิใช่ปัญหาเรื่องเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ? แต่กลับเป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องแกะเอาความเข้าใจต่อแก่นสารหลักของ การพูดคุยที่ไม่ธรรมดา ก็คือ เราทุกคนล้วนสามารถรับรู้ภาวะดำรงอยู่ของพระเจ้าโดยเท่าเทียมกัน อันอาจเริ่มต้นอย่างง่ายจากการพยายามเข้าใจหนังสือเล่มนี้ไปทีละเล็กละน้อย

วอลช์มีคำถามสำคัญ ๑๓ ข้อให้พระเจ้าช่วยชี้แนะ ๕ ข้อแรกเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมท่ามกลางปัญหาสารพันในสังคมร่วมสมัย นับแต่เรื่องเอาตัวรอดจากวงจรล้มเหลว การหาปัจจัยให้พอยังชีพ ไปจนถึงภาวะทนทุกข์ต่อโรคภัยตลอดเวลา ส่วนอีก ๗ ข้อที่เหลือ ล้วนเกี่ยวเนื่องกับความสงสัยทั้งใกล้หรือไกลตัวมากมายอย่างเรื่องเพศสัมพันธ์กับความรัก พลังจิตกับซาตาน มนุษย์ต่างดาวกับพระเจ้า ฯลฯ โดยประเด็นทั้งหมดผูกโยงเจาะเข้าสู่ความเข้าใจสภาพภายในห้วงอารมณ์รู้สึกนึกคิด เพื่อเริ่มต้นขจัดอาการลังเลสงสัยต่อศักยภาพจริงแท้ ซึ่งพร้อมบังเกิดขึ้นได้สำหรับทุกคนผ่านความคิด ถ้อยคำ และการกระทำ ด้วยการ "ทำสิ่งที่สอดคล้องกับความคิดใหม่ที่เธอต้องการมี จากนั้นให้พูดถ้อยคำที่สอดคล้องกับความคิดใหม่ที่เธอต้องการมี" (น. ๒๔๕)

นอกจากนี้ พระเจ้ายังหักล้างหลักเทววิทยาที่กำบังมนุษย์ออกจากหนทางพบกับจิตวิญญาณของตน เริ่มตั้งแต่ความเชื่อที่ว่าผองชนล้วนมี บาปกำเนิด (Original Sin) เริ่มจากครั้งอดัมกับอีฟถูกขับไล่จากสวนสวรรค์อีเด็นเพราะลักลอบกินผลของต้นไม้แห่งชีวิต ในเมื่อมนุษย์ถูกกำหนดให้ "รู้สึกผิด" แต่แรกเสียแล้ว โมงยามที่เหลือบนโลกจึงหมดเปลืองไปกับการเฝ้าไถ่ถอนโทษทัณฑ์ซึ่งอาจไม่มีอยู่จริงนั้น แต่พระเจ้าบอกวอลช์ว่า แท้จริงมนุษย์ล้วนบริสุทธิ์ เต็มเปี่ยมด้วยพลังด้านดีงามจำนวนมหาศาล ขอเพียงแต่เลือกยอมรับตัวตนเดิมแท้อันสงบสันติ นี่อาจเหมือนง่ายกลับยากเข็ญยามลงมือขุดรากถอนโคนความเชื่อเดิม ที่ยึดกุมกายใจให้ผูกติดทำร้ายวิญญาณมาแสนนานอย่างหมดจดรวดเร็วตามต้องการ แต่ก็มิใช่สิ่งเป็นไปไม่ได้หากเลือกเริ่มต้นเสียแต่เดี๋ยวนี้

ส่วนพระตรีเอกานุภาพ (Trinity) หรือองค์สามอันศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วย พระบิดา พระบุตร (เยซู) และพระจิต ซึ่งถือเป็นสิ่งสูงสุดเหนืออื่นใด ก็ถูกพระเจ้าอธิบายกับวอลช์ว่า พระบิดาคือแหล่งกำเนิดปวงประสบการณ์ในทุกสรรพสิ่ง พระบุตรคือผลแห่งประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งหลาย พระจิตคือการล่วงรู้ถึงแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์เหล่านั้น ขั้นสุดท้ายแล้ว จิตวิญญาณของมนุษย์นั่นเองที่ต้องออกเสาะหาช่วงขณะอันสมบูรณ์เป็นหนึ่งเดียวให้กับชีวิต

พระเจ้าองค์นี้ปราศจากบุคลิกเคร่งเครียดขรึมขลัง หากมีเรื่องเล่าสนุก ๆ มาแทรกผ่อนคลายระหว่างบทสนทนาเข้มข้นเป็นระยะ นี่อาจทำให้คนช่างสงสัยหยิบยกย้ำถึงข้อเท็จจริงของหนังสือขึ้นมาอีก แล้วทำไมพระเจ้าถึงจะมีอารมณ์ขันไม่ได้ล่ะ ก็ในเมื่อพระองค์เป็นผู้ประดิษฐ์มันขึ้นมาเอง !

สนทนากับพระเจ้า เป็นหนังสือไตรภาค โดยเล่มแรกตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี ๑๙๙๕ ประเด็นเรื่องหลักเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานของปัจเจกบุคคล เล่มที่สองตามมาในปี ๑๙๙๗ ขยายเนื้อหาออกไปเป็นประเด็นว่าด้วยสภาพการณ์ระดับโลกด้านสังคมการเมือง เล่มที่สามเน้นอธิบายสัจธรรมสูงสุดระดับจักรวาล ตีพิมพ์เมื่อปี ๑๙๙๘ หลังจบชุดไตรภาคนี้แล้ว วอลช์ยังมีผลงานออกมาอีกยี่สิบกว่าเล่มในประเด็นว่าด้วยพระเจ้ากับชีวิตตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ต่อมาในปี ๒๐๐๑ วอลช์เริ่มก่อตั้งกลุ่ม Humanity's Team หรือขบวนการพลเมืองเพื่อจิตวิญญาณ มีภาคีสมาชิกหมื่นกว่าคนใน ๙๐ ประเทศทั่วโลก แล้วขยายสร้างองค์กร Group of 1000 ระดมอาสาสมัครออกส่งเสริมให้ผู้คนตามเมืองใหญ่หรือชุมชนต่าง ๆ ค้นพบ "ความจริงใหม่" เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตตามเจตจำนงอิสระ เปิดโอกาสให้แต่ละบุคคลได้เข้าสู่วิถีสำนึกแบบมนุษยนิยมแนวใหม่อีกด้วย



ใบปิดภาพยนตร์ Conversations with God (๒๐๐๖)

นอกเหนือจากหนังสือแล้ว วอลช์ยังเคยเขียนบทและร่วมแสดงในภาพยนตร์ Indigo (๒๐๐๓) โดยรับบทเป็นคุณตาของหลานสาวผู้มีพลังพิเศษสามารถอ่านจิตใจคนอื่นได้ และเดือนตุลาคม ๒๐๐๖ Conversations With God ในรูปแบบภาพยนตร์ชีวประวัติของวอลช์ก็ออกมาให้ชมกัน ที่กล่าวมาทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวอันสืบเนื่องมาจาก สนทนากับพระเจ้า ท่ามกลางสังคมตะวันตกยุคปัจจุบัน

แท้จริงแล้วองค์ความรู้ของวอลช์ไม่ได้ผุดขึ้นแบบปุบปับเมื่อเริ่มต้นสื่อสารกับพระเจ้า นอกเหนือจากศึกษาคัมภีร์ ไบเบิล แล้ว ด้วยวัย ๑๕ ปี เขายังหัดอ่านคัมภีร์อินเดียโบราณ อุปนิษัท, ฤคเวท กระทั่งงานปรัชญาฮินดูของศรีรามากฤษณะ ทำให้หนังสือของเขามีลักษณะผสมผสานปรัชญาตะวันออกกับตะวันตกอย่างหลากหลาย นับแต่เรื่องการจุติหลอมรวมกับพระเจ้าตาม ภควัทคีตา หรือความคิดว่ามนุษย์มิได้ดำรงอยู่เพื่อเรียนรู้อะไรใหม่แต่คือหวนทรงจำต่อสิ่งที่ตนเองรู้อยู่แล้วในปรัชญาของเพลโต ฉะนั้น ด้วยความเป็นหนังสือโด่งดังของขบวนการนิวเอจซึ่งปฏิเสธศาสนาตามรูปแบบสถาบันแล้ว สนทนากับพระเจ้า จะคลี่คลายขยายผลสืบเนื่องออกไปสู่ทิศทางใดนั้น คงเป็นเรื่องให้ต้องตามพิจารณาระยะยาวกันต่อไป

แต่เนื้อหาสาระจากหนังสือเล่มนี้คงไม่เหมาะสำหรับถูกบรรจุให้ "ประจำชาติ" อย่างแน่นอน





Create Date : 26 มีนาคม 2551
Last Update : 18 พฤษภาคม 2551 23:19:46 น. 0 comments
Counter : 528 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

LampOfGod
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add LampOfGod's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.