World of Health & Knowledge
Group Blog
 
All blogs
 

ทำไมต้องมีเภสัช....5

4. ร้านยา
ผ่านเรื่องอื่นมาก็เยอะ ถ้าจะไม่ีพูดถึงสาขาที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดของเภสัชกร ก็คงดูแปลกๆ

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเภสัชกรในร้านยาเป็นเภสัชกรที่มีความสำคัญกับบทบาทวิชาชีพจริงๆ เพราะเป็นส่วนที่คนทั่วไปจะได้รับรู้

หน้าที่หลักๆ ของเภสัชกรในร้านยาคือ ประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคทั่วไป เภสัชกรนั้น จะต้องเรียนวิชา pathology และ pharmacotherapy เช่นเดียวกับหมอครับ ดังนั้นการประเมินโรคพื้นฐานของเรา ทำได้ในระดับหนึ่ง การประเมินโรคและตัดในใจว่าจะรักษาเองหรือต้องส่งต่อไปพบแพทย์นั้น เป็นความรับผิดชอบของเภสัชกรผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในร้านยา ซึ่งนับเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่มากและหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย

การประเมินโรคนั้น เภสัชกรทำได้จากการ "ซักอาการ" เท่านั้นครับ

ไม่สามารถตรวจร่างกายแบบอื่นๆ ได้ ยกเว้นการตรวจประเมินเบื้องต้นที่คนไข้ทำเองได้ แต่คนไข้ร้องขอให้ทำบางอย่างเช่น การวัดความดัน การเจาะน้ำตาล

ดังนั้นเภสัชกรเราจะมีข้อจำกัดอยู่แล้วครับ

เมื่อประเมินอาการของโรคแล้ว หากเกินความสามารถหรือมีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม เราจะแนะนำคนไข้ให้พบแพทย์แทน

ในขณะเดียวกัน เภสัชกรร้านยาที่ดี จำเป็นที่จะต้องให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้มารับบริการอย่างสมบูรณ์พร้อมครับ ไม่ว่าจะถามอะไรคุณต้องสามารถอธิบายได้

และการจ่ายยาของเภสัชกรร้านยานั้น จำเป็นต้องยึดตามหลัก Pharmacology และ Pharmacotherapy อย่างเคร่งครัด โดยที่ยึดหลักที่ทำให้คนไข้หายจากโรคอย่างปลอดภัย

ปัญหาของร้านยาทุกวันนี้ มีสองด้านครับ คือ
1. ปัญหาที่ตัวเภสัชกร ทั้งไม่มาอยู่ประจำ ไม่มีความใส่ใจต่อผู้บริโภค และที่ร้ายกว่านั้นคือไม่มีความรู้มากพอที่จะให้บริการประชาชนได้อย่างปลอดภัย ทำตัวไม่ต่างจากหมอตี๋ที่ไม่มีความรู้อะไร
2. ปัญหาที่ผู้รับบริการ ผู้มารับบริการไม่มีความเคารพต่อวิชาชีพเภสัชกร บางครั้งถึงขั้นดูถูกว่าเป็นเพียง "คนขายยา" และปัญหาที่ว่าคนไข้ไม่สนใจว่าเภสัชกรคือใคร แค่ต้องการให้ขายยาราคาถูก และได้ยาแรงๆ ที่หายเร็ว หรือยาชุด โดยที่ไม่ได้สนใจความปลอดภัยของตัวเอง

เภสัชกรที่แขวนป้ายให้ร้านยา ก็ควรจะคิดอะไรได้บ้างนะครับ

เอาเป็นว่าตรงนี้ผมจะเขียนในหัวข้อทำร้านยากันดีกว่าอีกครั้ง

แม้จะเป็นสาขาที่ผมอยู่กับมันมาตลอด แต่เป็นสาขาที่ทำให้วิชาชีพตกต่ำจริงๆ ครับ




 

Create Date : 17 เมษายน 2550    
Last Update : 17 เมษายน 2550 2:16:44 น.
Counter : 4924 Pageviews.  

ทำไมต้องมีเภสัช....4

ห่างหายกันไปนานกับหัวข้อนี้ ครั้งนี้กลับมาพร้อมกับงานที่เหลือของเภสัชกรครับ

3. บริษัทยา
บริษัทยากำลังเป็น Hot issue ในหลายๆ ที่ บ้างก็ว่าบริษัทยาข้ามชาตินั้น ได้กำไรเกินควรไปเยอะ ส่วนบริษัทในประเทศก็มีแต่ข่าวไม่ค่อยน่าอภิรมย์เท่าไหร่

ลองมารู้จักกันหน่อยดีกว่าครับ ว่าในบริษัทยาเนี่ย เภสัชกรทำอะไรกันบ้าง ส่วนที่อยู่โรงงานที่เคยพูดไปแล้ว ก็จะไม่พูดซ้ำนะครับ

ฝ่ายการตลาด
ฝ่ายนี้ถือเป็นหัวใจขับเคลื่อนบริษัทยาทีเดียว ทำไมหรือครับ...

ถ้าขายไม่ได้ จะเป็นบริษัทไปทำไม (วะ)

แน่นอนครับ ถ้าขาดฝ่ายนี้ไป บริษัทไม่เกิด

แม้จะมีหน้าที่เยอะแยะมากมาย แต่ฝ่ายการตลาดก็คงเอามาเป็นหัวข้อการพูดได้ไม่มากนัก เพราะหน้าที่ของเภสัชกรในฝ่ายนี้ ไม่มีอะไรโดดเด่น ยกเว้นตำแหน่งผู้แทนยา...

ในฝ่ายการตลาดนั้น ก็จะมีระดับการบริหารตั้งแต่ Director, Business Unit Manager, Product Manager, District Manager, Supervisor, และ Medical Representative

ตำแหน่งอื่นๆ ยกเว้น Medical Representative ก็ไม่ต่างกับงานในธุรกิจต่างๆ ครับ

คงเข้าใจกันไม่ยาก

แต่สำหรับ Med. Rep. (ผมเคยแซวว่า เมิงจะไปข่มขืนหมอหรอ ดังนั้นขอเรียกว่าดีเทลจะสะดวกกว่านะครับ) นั้น ต่างออกไป

ดีเทลยาที่ทุกคนรู้จักกัน เงินเดือนไม่มากหรอกครับ แต่ค่า incentive นั้น หอมหวลยิ่งนัก ชวนให้เด็กใหม่ๆ หลงเข้ามาหาได้ตลอดเวลา

บางคน ถ้าได้จับยาดีๆ เงินเดือนๆ หนึ่งเฉียดแสนเลยนะครับ หรือมากกว่า

แต่ถ้าลำบากหน่อย ก็หลายหมื่นอยู่ดี...(ผมก็หลายครับ หลายร้อย)

ดีเทลยามีหน้าที่อะไร...

จริงๆ ก็ไม่ต่างจากเซลล์อื่นๆ หรอกครับ คือไปอธิบายสินค้า ไปคอยกระตุ้นเตือนคุณหมอทั้งหลาย ว่าอย่าลืมเรานะ ต้องคอยเข้าหา มีไอ้นู่นให้ไอ้นี่ให้ ต้องง้อลูกค้า ใครใช้ให้ไปรับลูก ก็ต้องไป

มีพี่คนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า โดนใช้ให้ไปรับลูกให้ แล้วแถมสั่งลูกไว้ว่า ถ้าคนนี้มารับ ไม่ต้องไปไหว้....

นี่แหละครับ อาชีพเซลล์ขายยา

อย่างที่บอก เซลล์ขายยาไม่ต่างกับเซลล์อื่นครับ ยกเว้นว่า แค่คุณจะต้องรู้ทุกอย่างในยาที่คุณขายและเกี่ยวข้องมันธรรมดาไป

คุณต้องตอบได้ถึงกลไกการออกฤทธิ์ของยาในระดับ Molecule (เริ่มยากแล้วสิเนี่ย)

เ่ช่นยาลดไขมัน คุณต้องตอบได้ มากกว่าจะตอบว่าลดไขมันด้วยกลไกใด

ถ้าถามว่าแล้วมีผลต่อ Free fatty acid ที่ถูกปล่อยจาก Adipose Cell ที่ Omentum Fat ไหม แล้ว ไปช่วย GLUT-2 ด้วยหรือเปล่า มีผลต่อ PPAR อย่างไร

ต้องตอบได้ ต้องไล่ได้หมด ไม่ได้ผลเป็นอย่างไรหรือครับ

หมอก็ไม่เชื่อถือ เภสัชด้วยกันเองก็ไม่เชื่อใจ

ยาอื่นไม่เท่าไหร่ ยามะเร็งนี่ สุดยอดถึงที่สุด ยากมากกกกกก

รวมทั้งอาชีพนี้ จัดเป็นความเสี่ยงครับ เพราะ Med Rep มันเสี่ยงจริงๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เพิ่งจบใหม่ๆ ใสๆ

ตั้งแต่ต้องขับรถไปๆ มาๆ ต้องเผชิญหน้าผู้ชาย....

เอ่อ..ไม่พูดตรงนี้ต่อดีกว่าครับ เดี๋ยวของขึ้น

เอาเป็นว่าอันตรายใช้ได้ และด้วยตัวงานแ้ล้ว นอกจากนี้แล้ว ค่าใช้จ่ายในการ Entertain ทั้งเงิน และเวลาส่วนตัวก็ต้องเสียไปเกือบหมด

ทำให้เภสัชกรหลายๆ คนปฏิเสธที่จะทำอาชีพนี้อยู่ดี แม้จะรายได้สูงกว่าทำที่อื่นไปมากก็ตาม

ฝ่ายวิชาการ
ผมเรียกรวมงานของเภสัชกรในฝ่ายนี้ซึ่งจริงๆ มีหลากหลายครับ งานของฝ่ายวิชาการแบ่งออกเป็นสองทางหลักๆ คืองานบริการข้อมูล (Drug Information Service, Medical Information Service) และงานวิจัยยา (Clinical Research Associater)

งานบริการข้อมูลยา
ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า DIS งาน DIS นี้ จริงๆ เราจะพบได้ทั้งที่บริษัทยาและโรงพยาบาล เพราะงานหลักของเภสัชกรอย่างหนึ่งคืองานบริการข้อมูล ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนก็ตาม อย่างที่ผมเคยพูดไปแล้วในหัวข้อ ทำไมต้องมีเภสัช....2 ซึ่งงานในบริษัทยานั้น จะมีส่วนต่างกับงานของโรงพยาบาลเล็กน้อย เพราะเวลาโรงพยาบาลไม่มีข้อมูลยา รพ. ก็จะถามมาที่บ. ยา แต่ถ้าบ. ยาไม่มีข้อมูลยา จะไปถามใครหละครับ

ดังนั้นหน้าที่ของ DIS ในบริษัทยา จึงเน้นไปที่การเก็บรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับยาทั้งหมด โดยที่มีแหล่งกำเนิดมาจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก แต่การได้มานั้น ต่างกับ DIS อื่นๆ ครับ เพราะว่า ที่บริษัทยานั้น ทำเพื่อการพาณิชย์ การได้มาของเอกสาร จึงต้องซื้อครับ

ใครที่อยู่ในแวดวงวิชาการคงจะรู้กันดีนะครับ ซื้อบทความหนึ่งๆ จากต่างประเทศ ราคาปรกติก็ตั้งแต่ 15 USD ขึ้นไป ตามความเก่าใหม่ คิดง่ายๆ ก็บทความละ 500 บาทนั่นแหละครับ

และไม่ใช่แค่หนึ่งบทความที่ถูกนำมาเก็บไว้ที่บริษัทยา เพราะส่วนใหญ่แล้วก็หลายร้อยรายการต่อปีสำหรับบริษัทเล็กๆ คิดเป็นเงินคงหลายแสนบาทอยู่

ซึ่งตรงนี้ ก็เป็นต้นทุนของการขายแน่นอนครับ

นอกจากนี้แล้ว DIS ของบริษัทยา ยังต้องช่วยสนับสนุนด้านวิชาการแก่บุคลากรในบริษัทด้วย เช่นเตรียมเอกสารสำหรับยาตัวที่จะนำไปนำเสนอแก่แพทย์หรือโรงพยาบาล

รวมทั้งหาข้อมูลเวลาที่คุณหมอฝากดีเทลมาหาคำตอบอีกต่างหาก

แน่นอนครับ DIS เป็นงานที่สนุกเสมอ เชื่อผมสิ

บางที DIS ยังต้องเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยหลังวางตลาดด้วย เช่นติดตามอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย คอยรายงานส่งคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และส่งไปยังบริษัทแม่ที่ต่างประเทศ บริษัทไหนยาเยอะหน่อย ก็สนุกหละครับ

งานวิจัย
สำหรับงานวิจัย เป็นหนึ่งในงานที่มีคนทำในสายบริษัทยาค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่แล้วคนที่ทำมักจะจบในระดับปริญญาโท หรือมีประสบการณ์ทำงานในหน่วยวิจัยอื่นๆ เช่นโรงพยาบาล, สถานศึกษามาก่อน ดังนั้น คนที่จบป.ตรีทางเภสัชศาสตร์และไม่มีประสบการณ์นั้น ได้เข้าไปทำในส่วนนี้น้อยมาก

ที่พูดมาไม่มีอะไรหรอกครับ....เพื่อนสนิทผมได้เข้าไปทำ

งานในส่วนวิจัยส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรเกินไปกว่ารับนแนวทางการทำงานวิจัยมาจากต่างประเทศ ยื่นให้คณะกรรมการจริยธรรมดู และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามนั้น

แต่ก็ไม่เสมอไปครับ เพราะหลายๆ ครั้ง เราต้องดูแลตั้งแต่การกำหนดรูปแบบงานวิจัยเองจนจบเลย ขึ้นอยู่กับว่าเป็น Local Trial หรือ International Trial และนโยบายงานวิจัยของแต่ละบริษัท

งานไม่หนักครับ แต่ทำตลอด...คือไม่ต้องเร่งๆ เหมือนอยู่โรงพยาบาล แต่มีงานให้ทำทั้งวัน

ถึงเร่งไป เดี๋ยวมันก็มีอีก

จุดสำคัญของเภสัชกรที่อยู่ในฝ่าย CRA ก็คือ การที่เราจะควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่ต้องการไหม เก็บข้อมูลได้ครบไหม ตรงเวลาไหม ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพหรือเปล่า

เหมือนไม่ยากครับ แต่ต้องไปทำเองจะรู้




อื่นๆ ของงานในบริษัทยา ก็ไม่ต่างกับงานบริษัทอื่นๆ ครับ
แต่เภสัชกรจะแทรกไปได้ทุกที่

เช่นพี่ที่บ. ทาเคดา (ขอพาดพิงครับ) เป็นพี่เภสัชที่น่ารักคนนึง (ผู้ชายครับ ผู้ชาย ผมหมายถึงใจดี) ก็ไปเป็นหัวหน้าฝ่าย IT ซะเฉยๆ

และนอกจากนี้ ก็จะมีงานเหมือนกับโรงงานก็คือขึ้นทะเบียนยา (Registration Pharmacy)

ของบริษัทยา ผมไม่ค่อยถนัดนัก คงต้องพอแค่นี้ครับ

ต่อไปก็จะเป็นส่วนที่ผมถนัดที่สุดครับ งานร้านยา

ไม่ถนัดได้ไงหละครับ ก็อยู่ทุกวันนี่




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2550 21:40:55 น.
Counter : 3057 Pageviews.  

ทำไมต้องมีเภสัช....3

2. โรงงานยา
พูดกันไปแล้วถึงเภสัชในโรงพยาบาล ครั้งนี้ก็คงพูดถึงเภสัชในโรงงานกันดีกว่าครับ

เภสัชในโรงงานก็เป็นอีกงานที่สนุกสนานไม่แพ้กันกับสาขาอื่นๆ เลย

มีที่ไหนหละครับที่เภสัชไปซ่อมเครื่องจักร (เล็กๆ และพื้นๆ) เองได้ นอกจากในโรงงานยา

เคยได้ยินสโลแกนขององค์การเภสัชกรรมใช่ไหมครับ

"รับผิดชอบชีวิต ผลิตยาคุณภาพ"

มันไม่ใช่แค่สโลแกนเท่ๆ ที่พูดขึ้นเฉยๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นหัวใจของงานผลิตทั้งหมด ไม่ว่าคุณจะทำงานที่โรงงานไหนก็ตามในโลกนี้

แล้วกว่ายาจะเป็นเม็ดออกมาได้ เภสัชมีหน้าที่อะไรบ้าง

ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
เรียกภาษาอังกฤษว่า Research & Development หรือ R&D มีหน้าที่ในการตั้งตำรับยา ซึ่งยาแต่ละตัวกว่าจะถูกผลิตได้ ต้องผ่านการค้นคว้าทดลองเพื่อพัฒนาให้สูตรตำรับมีความคงตัว อยู่ได้ทน ได้นาน และสามารถใช้ได้ง่าย

ยกตัวอย่าง

ยาน้ำพาราเซตามอล หรือ Paracetamol Syrup กว่าจะออกมาได้ ไม่ง่ายนะครับ เพราะพาราเป็นหนึ่งในยาที่ละลายยาก (มาก) และรสชาติแย่ (ที่สุด)

เราต้องดูทุกอย่างว่าทำอย่างไรให้ยาอยู่ได้นาน โดยไม่เสื่อมคุณภาพไปก่อน เก็บได้นานโดยไม่ลดการละลายลง และรสชาติดีถูกใจเด็กๆ

แค่ทำให้ยาละลายโดยไม่ผสมแอลกอฮอล์ ก็คิดกันนานแล้วครับ กววาจะปรับสัดส่วนของตัวทำละลายให้เหมาะสม โดยที่ไม่เสียรสชาติ และเก็บในที่เย็น (ตู้เย็น) ได้ โดยไม่ตกตะกอน แล้วไหนยังต้องมาเลือกรสเลือกสีให้เหมาะกับเด็กๆ ตายๆๆๆ


รู้ไหมครับว่าสีและรสที่ใช้แต่ง ต่างมีผลต่ออายุของยาทั้งนั้น เพราะมีคุณสมบัติทางเคมีต่างกัน

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่คุณคิดไม่ถึงอีกมาก กว่าจะได้ตำรับแรกที่จะนำมาทดสอบ

เช่นจะปรับค่ากรดเบสอย่างไร และต้องใช้คู่บัฟเฟอร์ตัวไหน ต้องใช้สีอะไร ใช้สารกันเสียอย่างไร

เชื่อไหมครับ กว่าจะได้พาราน้ำเชื่อมสักขวด เราอาจจะต้องใช้สารอื่นๆ นอกจากพาราถึง 10 ชนิด หรือมากกว่าก็ได้

หลังจากลองปรุงแล้วก็ต้องผ่านการทดสอบอีก เช่นแช่เย็น แช่แข็ง ผ่านความร้อน ซึ่งเป็นภาวะเร่งให้ยาแต่ละตัวแสดงข้อเสียของมันมา

มีอีกเยอะครับ กว่าจะได้พัฒนาได้

ในห้อง R&D จะมีอุปกรณ์เกือบทุกอย่างเช่นเดียวกับฝ่ายผลิต แต่เป็นขนาดย่อส่วนครับ น่ารักดี แต่ก็แพงน่าดู

แม้ว่าจะมีคนแซวว่าบ้านเราไม่น่าใช้ R&D น่าจะเป็น C&D (Copy & Development) แต่เภสัชเราก็ไม่ท้อครับ เพราะต่อให้มีสูตรเดียวกันอยู่ในมือ โรงงานสองแห่งยังทำได้ไม่เหมือนกันเลย เภสัชสาขานี้ก็เลยมีงานทำอยู่ตลอดเวลาครับ

ฝ่ายผลิต
งานนี้สนุกครับ ได้คลุกคลีกับคนงานกับวิศวะเยอะแยะเลย เราไม่ได้ไปลงมือทำเองหรอกครับ แต่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการผลิตให้เป็นไปด้วยดี พร้อมทั้งประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ

หลังจากที่ R&D ส่งสูตรตำรับมาแล้ว ฝ่ายผลิตก็ต้องมาคำนวณจาำก Lab Scale ให้เป็น Production Scale และดูขั้นตอนต่างๆ ว่าเหมาะสมกับงานผลิตของโรงงานตนเองหรือไม่

หลังจากนั้นก็ดูแลอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จ

ในฝ่ายผลิต เป็นบริเวณที่กินพื้นที่มากๆ และใช้คนเยอะสุดๆ ในโรงงาน ในฝ่ายนี้มีเครื่องมือเป็นขนาดใหญ่ๆ กว่าในห้องของพวก R&D เยอะครับ ซึ่งทำให้เหนื่อยได้น่าดูในการทำความสะอาด

การควบคุมการผลิต เราต้องได้มาตรฐานสูงสุด แม้กระทั่งน้ำล้างถังผสมยา ยังต้องส่งไปให้ QC วิเคราะห์ถึงการปนเปื้อนเลยครับ

หากยังมีการปนเปื้อนก็ล้างใหม่ไปเรื่อยๆ

ตรงนี้ทำให้งานผลิตมีอะไรทำตลอดจริงๆ

ให้พูดถึงฝ่ายนี้ก็คงพูดยากครับ เพราะอธิบายไม่ได้จริงๆ แต่อยากจะบอกว่าสำคัญครับ สำคัญมากๆ และทุกอย่างที่ออกมาได้ถึงมือทุกท่าน ก็อยู่ที่คนกลุ่มนี้ว่าจะละเอียดรอบคอบแค่ไหน

ฝ่ายควบคุมคุณภาพและประกันคุณภาพ
เรียกว่า QC & QA ครับ ตรงตัวก็คือควบคุมคุณภาพว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้น จะเป็นไปตามที่ขึ้นทะเบียนหรือตามที่ต้องการแน่นอน

QC ต้องทำอะไรบ้าง

ก็วิเคราะห์ครับ เอายามาบด มาปั่น มาละลาย ดูค่าแตกตัว ค่าการละลาย ค่าความแข็ง ความกร่อน ความหนา ดูปริมาณยาแต่ละเม็ด

ใครดูโฆษณา Air-X ก็ตามนั้นเลยครับ ทุกที่ควบคุมหมด

งานนี้สำหรับผมเป็นงานที่น่าเบื่อครับ เพราะอยู่กับที่ จริงๆ งานนี้ผู้ชายทำไม่ค่อยได้อยู่แล้ว (พวกควมอดทนต่ำแถมชุ่ย)

ดังนั้นงานในแผนกนี้ 90% เป็นผู้หญิงครับ

แต่ในห้องนี้แหละ ที่มีเครื่องมือราคาหลายสิบล้านอยู่ ทั้ง HPLC, Electron bombard และอื่นๆ อีกมากมาย ใครทำพังก็ทำงานใช้ทั้งชีวิตแหละครับ หึๆ

นอกจากนี้แล้ว เรายังดูการเกิดเชื้อในยาปลอดเชื้อ (เช่นยาฉีด น้ำเกลือ) ว่ามีเชื้อขึ้นหรือไม่ ทั้งระหว่างผลิต หลังผลิต หลังวางขาย

จากงานผลิต ยาทุก Lot จะต้องถูกสุ่มตรวจจากหลายๆ ตำแหน่ง เช่นก้นถัง ปากถัง ว่ามีปริมาณยาเท่ากันไหม มีปัญหาอะไรไหม

หลังจากควบคุมแล้ว เรายังต้องประกันด้วยครับ

ซึ่ง งานประกันคุณภาพ หรือ QA ทำอะไรบ้างน่ะหรือครับ...

ก็ประกันไง

เอายาที่ผลิตแล้วมาเก็บไว้ แล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อยืนยันว่ายานี้นะ มีความคงตัวสูงมาก เก็บได้นานแสนนาน

จากตอนขึ้นทะเบียนได้ 2 ปี ผ่านสองปีไปวิเคราะห์ยังอยู่ได้ ก็ขอเพิ่มเป็น 3,4,5 ปี

เป็นงานฝ่ายนี้ทั้งนั้นครับ

ขึ้นทะเบียนยา
งานขึ้นทะเบียนเป็นงานที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ต้องวุ่นวายกับเอกสารและผู้คนไม่ต่างจากงานอื่นๆ ในโรงงานครับ เป็นงานเดียวที่ออกไปเที่ยวได้ตลอด...

ก็ไปกระทรวง ไปอย. ไงครับ

กว่าจะผลิตยามาขายได้ ต้องขอขึ้นทะเบียนก่อน แต่ก่อนขึ้นทะเบียนก็ต้องผลิตตัวอย่างก่อน ต้องพิมพ์กล่องฯลฯ

เหนื่อยนะครับ

นอกจากนี้หากเราจะขึ้นทะเบียน เราต้องเตรียมเอกสารที่จะแสดงว่ายาของเรามีการออกฤทธิ์ที่ดีพอ ถ้าทำในบริษัทยานอก ก็ต้องแสดงได้ว่ายาเรามีผลตามที่เราอ้าง โดยการยกการทดลองต่างๆ มาก รวบรวมเอกสารเยอะแยะ

แต่ถ้าเป็นยาในประเทศ ก็ต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มมา 1 อย่างครับ คือ Bioequivalence ซึ่งเป็นการดูว่ายาไทยกับยานอก ดูดซึมได้ดีเท่ากันหรือเปล่า...

ไว้เดี๋ยวค่อยพูดถึงวันหลังครับ

ทุกอย่างที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นกล่อง เม็ดยา ฉลาก หรืออะไรก็ตาม ต้องถูกนำไปขึ้นทะเบียนโดยฝ่ายนี้ครับ

ตัวงานเรียบง่าย แต่เยอะ



ยังเหลือที่ผมจะพูดคือในบริษัทยาต่างประเทศและหน่วยงานวิจัย, ในร้านยา และในหน่วยงานอื่นๆ ครับ ไว้ต่อวันหลัง




 

Create Date : 08 กันยายน 2549    
Last Update : 17 กันยายน 2549 9:32:27 น.
Counter : 5687 Pageviews.  

ทำไมต้องมีเภสัช....2

ในแต่ละสาขาของเภสัชนั้น งานต่างๆ ที่ต้องทำ ก็จะแตกต่างกันไปครับ หากเราจะดูตามสถานที่ทำงานแล้ว เภสัชก็จะมีหน้าที่ดังนี้

1. โรงพยาบาล
ในโรงพยาบาลเราจะแบ่งหน้าที่เภสัชออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ ครับคือ
ผู้ป่วยนอก - กลุ่มนี้ต้องรับศึกหนักช่วง 9.00-14.00 น. โรงพยาบาลใหญ่ๆ คนไข้เป็นพันๆ เภสัชมีอยู่กี่คนต้องแ่บ่งมาเช็คยาจ่ายยาหมด หลายๆ คนคงคิดว่าจ่ายยานี่ง่ายนาดูเลยใช่ไหมครับ จริงๆ เนี่ย นรกนะ

เราไม่ได้แค่พูดๆๆๆๆ ตามฉลากนะครับ แต่การจ่ายยาต้องตรวจยาว่าเหมาะสมกับโรคหรือไม่ แพทย์จ่ายถูกขนาดไหม ยาแต่ละตัวมีอันตรกิริยา (interaction - หรือง่ายๆ ก็คือยาตีกัน) กันหรือไม่ ยาซ้ำกันไหม ที่ยากน่ะ ไม่ใ่ช่ตอนตรวจนะครับ ยากตอนแย้งหมอ

ก็เภสัชน่ะ เป็นลูกน้องหมอนี่นา จะเถียงได้อย่างไร

พอตรวจเสร็จก็ส่งต่อให้คนจ่ายยาจ่าย เภสัชที่จ่ายยาก็ต้อง recheck อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงจ่ายให้คนไข้

ดังนั้นคนที่คิดว่าแค่จัดยาแล้วส่งให้ ทำไมช้านัก (วะ) ก็ช่วยๆ เห็นใ่จเภสัชหน่อยเถอะครับ

รอหมอ 3-4 ชั่วโมงรอได้ รอเภสัช 20 นาทีด่ากันซะ

ผู้ป่วยใน - เภสัชกลุ่มนี้จะแบ่งหลายอย่างครับ ตั้งแต่ประจำห้องยา คือจัดยาคล้ายๆ กับผู้ป่วยนอก แต่จะต้องจัดโดยแบ่งเป็นวันๆ หรือเป็นครั้งๆ ไป

เราเรียกว่า Unit Dose ซึ่งเป็นอะไรที่เลวร้ายที่ซู้ดดดด

ไม่เชื่อลองไปถามพวกในรพ. 400 เตียงแล้วต้องจัด unit dose สิครับ

เพราะเราต้องจัดทีละซอง ซองละเม็ด สมมติว่าคนนึ่งกินมียา ก่อนอาหาร 3 เวลา 4 อย่าง หลังอาหาร 3 เวลา 2 อย่าง และยาก่อนนอน 3 อย่าง

วันหนึ่งๆ ต้องจัดยาแยกซองทั้งหมด 12+6+3=21 ซองต่อคนครับ แล้วไม่ได้มีคนเดียวนะ ถ้ามีสัก 50 คน ก็ต้องจัด 1050 ซองแล้วครับ

โหดมั้ย

เราเลยปรับเป็น Daily Unit Dose หรือให้ไปทีเดียวทั้งวันเลย วานคุณพยาบาลช่วยไปแยกเองนะ

แต่บางครั้ง เภสัชที่ดูแลผู้ป่วยใน จะต้องทำหน้าที่อีกอย่างก็คือการ round ward (ราวนด์ วอร์ด) กับคุณหมอครับเพื่อที่จะให้หมอลองภูมิ และหลอกถาม แถมต้องไปคอยติดตามการใช้ยาของผู้ป่วยอีกนะครับ ว่าใช้แล้วดีไหม เป็นอย่างไร ต้องจัดการวางแผนการรักษาอย่างไร แล้วเขียนไว้ในชาร์ตให้หมอมานั่งพิจารณา และด่ากลับ

สำหรับหน้าที่ตรงนี้ จะมีเภสัชที่ชำนาญเฉพาะครับ ก็คือสายคลินิก และสายผม ก็คือ Pharmaceutical Care หรือบริบาลเภสัชกรรม ครับ

สายอื่นๆ อาจจะทำได้ เพียงแต่ว่าต้องกลับมาฝึกอีกรอบนั่นเอง

งานคลัง งานสบายครับ ถ้ายาขาด งานคลังก็โดน ยาเกิน ใช้งบเปลืองงานคลังก็โดน ต้องคอยแจกจ่ายยาและเครื่องมือให้ห้องยา ให้ ward ให้ฯลฯ

แล้วมันสบายตรงไหนวะ???

ก็ตรงที่เจอคนน้อยนี่แหละครับ ผมชอบมากกก
แต่ถ้ายังไม่มีแฟนก็ลืมไปเลยนะครับ

การจัดระบบในงานคลังค่อนข้างจะวุ่นวายครับ ยาหายก็ซวยอีก โดยเฉพาะยาเสพติดทั้งหลาย

ก็คือนอกจากจะวุ่นวายแล้วยังเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางอีก

งานผลิต - อันนี้ก็สนุกครับ ผมชอบทำมาก เตรียมน้ำเกลือ เตรียมยา หรืออาหารทางหลอดเลือด ให้ผู้ป่วย

ดูง่ายๆ ใช่ไหมครับ

น้ำเกลือเนี่ย ถ้าทำกันจริงๆ ก็หนุกหนานหละครับ ทั้งวันไม่มีหมด มีงานตลอด

อ้าวแล้วน้ำเกลือสำเร็จก็มีนี่???

น้ำเกลือนี่รวมๆ หลายๆ อย่างครับ ที่ให้ทางหลอดเลือด ไม่ใช่แค่น้ำเกลือที่หยดติ๋งๆๆ ธรรมดา

ส่วนของฝ่ายผลิตที่เสี่ยงชีวิตที่สุดคือ biohazard ทั้งหลายครับ เช่นยามะเร็ง น้อยๆ มันก้รักษา แต่พอมากๆ มันจะทำให้เป็นแหละครับ

สำหรับอีกอันที่สนุกคือเตรียมอาหารทางหลอดเลือดครับ ต้องมานั่งคำนวณว่าคนนี้ต้องการพลังงานเท่านี้ แร่ธาตุเท่านี้ แล้วมาผสมกัน

แต่กว่าจะเสร็จนี่เหนื่อยนะครับ ผมเคยทำวันละ 4-5 ขวดยังจะตายเลย ดึง syrup ที กล้ามขึ้น

ส่วนน่ารักๆ ของงานผลิตก็มีครับ คือการเตรียมยาสำหรัับผู้ป่วยแต่ละคน เช่นเด็กต้องใช้ยาตัวนี้ขนาดนี้ แต่ไม่มี เลยต้องทำให้ ไม่ยากครับ แถม create ได้เต็มที่ พวกสียาใส่กันตามชอบ

ดีนะครับ ยังไม่มีใครทะลึ่งทำยาน้ำสีแบบลูกอมปีศาจ

งานวิชาการ - อันนี้เป็นงานที่ผมถนัดสุดแล้ว วันๆ ก็นั่งกับคอมคอยตอบคำถามชาวบ้าน ที่ขยันถามกันจัง (มันจะถามอะไรนักหนาวะ บางโรงพยาบาล ก่อนมีเภสัชไปทำหน้าที่นี้ ก็ไม่เคยถาม แต่พอมีแล้ว ถามไม่หยุด แล้วก่อนเรามามัีนถามใครฟะ แง่มๆๆ)

งานส่วนนี้เป็นงานที่เราจะได้ปฏิสัมพันธ์กับคนเยอะที่สุดครับ หมั่นไส้ใครไม่อยากตอบก็เงียบไปเฉยๆ (พอประเมินการทำงาน ก็โดนเชิญไปทำอย่างอื่น)

และด้วยเหตุนี้จึงเป็นงานที่ต้องพูดดีและทำดีครับ ไปเป็นศัตรูกับใครก็ไม่ดีทั้งนั้น

เพราะบางครั้งต้องการข้อมูลฉุกเฉิน เราต้องตอบเร็วที่สุด เช่น ยาแก้พิษของสารพิษตัวนี้.....ต้องตอบได้ใน 30 วินาทีครับ ค้นได้ เปิดได้ แต่ต้องเร็ว เลยทำให้เภสัชกลุ่มนี้ใช้ชีวิตอยู่กับหนังสือและคอมเป็นส่วนใหญ่




สรุปงานในโรงพยาบาลแต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันครับ
- ผู้ป่วยนอก งานหนักเป็นช่วงๆ แถมผิดพลาดง่ายเพราะต้องแข่งกับเวลา แต่ว่าพอว่างก็สบายเลย
- ผู้ป่วยใน ต้องใช้ความรู้ลึกกว่าผู้ป่วยนอก ดูเหมือนจะว่างๆ แต่ต้องรับกรรมจากหมอมากหน่อย ต้องติดตามคนไข้ตลอด นั่งก็ไม่ได้ โดนหาว่าอู้อีก ต้องมาเช้า แต่เลิกเท่ากับคนอื่น
- งานคลัง เงียบ ไม่ได้เจอผู้คน แต่งานจุกจิก วุ่นวายอยู่ในตัว ต้องรับผิดชอบสูงและซื่อสัตย์มากๆ
- งานผลิต เหนื่อย เรื่องมาก เสี่ยงตาย ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ (ทำยาติดเชื้อคนไข้ตาย... ) แต่สนุกครับ
- วิชาการ งานเบา ว่างบ่อย แต่พอมีงานละก็ ทำกันตาย เป็นที่รองรับอารมณ์ของคนอื่น (เอาเข้าจริงไม่เคยเห็นปล่อยให้ว่างเลย มีงานสำรองตลอด)

ไว้เดี๋ยวมาต่อที่โรงงาน, ร้านยา และบริษัทยานะครับ




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2549    
Last Update : 17 กันยายน 2549 9:32:32 น.
Counter : 4112 Pageviews.  

ทำไมต้องมีเภสัช....1

หลายๆ คนคงยังไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วเภสัชเป็นอย่างไร ทำหน้าที่อะไร

เดี๋ยวก็อยู่ห้องยา เดี๋ยวก็ร้านยา โรงงาน บริษัทยา บริษัทเครื่องสำอาง

ตกลงไอ้เภสัชเนี่ยมันทำอะไรกันแน่????

ครูบาอาจารย์เก่าๆ บอกไว้ครับ

เภสัชเป็นเป็ด ก็ไม่เป็นได้ยังไง รู้อย่างละนิดๆ หน่อยๆ

แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้วครับ

เภสัชก็หมุนตามด้วย

ส่วนตัวผมเองแบ่งเภสัชออกเป็น

1. เภสัชคลินิก สายนี้มาก็เน้นเรื่องโรคและยาเท่านั้น กินยังไง ใช้ยังไง โรคนี้กับยานี้เป็นยังไง และอาจจะไปเน้นๆ พวกงานวิจัยเกี่ยวกับยาที่ใช้ในคนไข้ด้วยครับ

2. เภสัชอุตสาหกรรม สายนี้จะเป็นแลบแบบโรงงานครับ ใครจะผลิตเครื่องสำอางดีๆ ยาดีๆ ต้องให้สายนี้จัดการให้ ส่วนตัวแล้วชอบสายนี้ที่สุดครับ

3. เภสัชเคมีและวิเคราะห์ สายนี้จะมีแต่สาวๆ เป็นส่วนใหญ่ เป็นงานที่ต้องอาศัยความละเอียดครับ ผู้ชายเลยตกกระป๋องไป แต่ถ้าชายครึ่งๆ นี่ไม่รู้แหะ


4. เภสัชเวท จะมาพร้อมๆ กับเภสัชเคมี ทำหน้าที่ค้นหา ปรับปรุงพัฒนายาที่มาจากพืชครับ เป็นสายที่น่าสนุกอีกอย่าง แถมว่างๆ มีไปเดินป่าด้วยนะ

5. เภสัชชุมชน ก็พวกที่อยู่ในร้านยาครับ ผมเองก็ครึ่งๆ ระหว่างเภสัชคลินิกและชุมชน กลุ่มนี้แหละครับ ที่จะสร้างชื่อเสียงหรือชื่อเสียให้เภสัช ประมาณชี้ิเป็นชี้ตายสถานะของเภสัชในสังคมไทยได้เลย

6. เภสัชการตลาด ก็พวกผู้แทนยาไงครับ หล่อๆ สวยๆ กันทั้งนั้น

พวกนี้ก็จะนำเสนอบทบาทของยาตัวเองให้หมอหรือเภสัชด้วยกันฟังครับ เป็นสาขาที่น่าสงสารเหมือนกัน เพราะโดนดูถูกจากหมอและเภสัชด้วยกันเอง.....แต่เงินเยอะสุดครับ และกลุ่มนี้นี่เองที่อนาคตจะได้ดิบได้ดีในงานการตลาดของบริษัท เงินเดือนก็หลายครับ

ึ7. เภสัชสายวิชาการบริสุทธิ์ครับ พวกนี้ก็จะเรียนทางด้านวิจัยชนิดที่ไม่ต้องมาประยุกต์ใช้ในคนจริงๆ คือเรียนกับทฤษฎีนั่นแหละ พวกนี้ก็จะเป็นอาจารย์ซะส่วนมากครับ เพราะที่เรียนๆ ไปมันใช้ทำอะไรในคนไข้ไม่ได้โดยตรง แต่จะเป็นการต่อยอดไปสู่การพัมนาสาขาอื่นๆ ครับ

คร่าวๆ ในความคิดผมก็เป็นอย่างนี้นะ ไปถามคนอื่นดูอาจจะคนละแบบ




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2549    
Last Update : 17 กันยายน 2549 9:32:09 น.
Counter : 4668 Pageviews.  


Epinephrine
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เมื่อไหร่ที่สุขภาพ วิชาการ และธุรกิจจะไปด้วยกันได้ดีซะที




Friends' blogs
[Add Epinephrine's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.