|
คำถามและเวลาที่เหลือ
คำถามและเวลาที่เหลือ
ปีใหม่ปีที่แล้ว ฉันและกลุ่มเพื่อนรวมถึงผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือช่วยกันคนละไม้ละมือลงเงินตามแต่กำลังทรัพย์และแรงศรัทธา จัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อ ชีวิตนี้น้อยนัก ซึ่งเป็นบทนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช ที่พูดถึงบาปบุญคุณโทษและกฎแห่งกรรมตามหลักศาสนาพุทธ
รวมเงินกันได้จำนวนหนึ่งก็จัดพิมพ์หนังสือแจกจ่ายเป็นวิทยาทาน
นอกเหนือไปจากเจตนาที่ต้องการทำบุญในโอกาสปีใหม่แล้ว ฉันคิดเองว่า เราต่างต้องการเตือนสติตนเองให้คิดดี ทำดี ในเมื่อยอมรับและเห็นตรงกันว่า ชีวิตคนเรานี้สั้นนัก
ความสั้นยาวของชีวิตในความหมายของพวกเรา ไม่ได้วัดที่ระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่ แต่ตัดทอนเหลือแค่ช่วงชีวิตที่ได้มีโอกาสทำดี หรือน้อยที่สุดไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร
การทำดีจะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก

เมื่อต้นเดือนก่อนฉันและครอบครัวตั้งใจไปบริจาคโลหิตที่สภากาชาดไทย เมื่อตรวจเช็คเลือดและความพร้อมของร่างกายแล้ว ไม่ใช่เราทั้งหมดที่มีโอกาสบริจาคเลือดตามที่ตั้งใจไว้
ถ้านอนไม่พอ หรือถ้าในรอบอาทิตย์นั้น ป่วยไม่สบายต้องกินยาปฏิชีวนะก็ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
ยังมีข้อห้ามอื่นๆ อีกที่คนที่คิดอยากไปบริจาคเลือดต้องรู้ไว้ เช่น ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ก่อนมาบริจาคอย่างน้อย 24 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคเพื่อให้ปอดฟอกเลือดได้ดีขึ้น
สำหรับคุณผู้หญิงถ้ากำลังตั้งครรภ์หรือเป็นช่วงวันนั้นของเดือนก็บริจาคไม่ได้เช่นกัน
ทำดีด้วยการบริจาคโลหิตที่คิดเองว่า ง่ายแล้ว ไม่ง่ายเหมือนกัน
คนกลัวเข็ม กลัวเลือดก็คงไม่มีโอกาส เช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี (ฮา)
นอกเหนือจากที่ต้องมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 45 กิโลกรัมแล้ว
เคยถามตัวเองเล่นๆ ว่า คนเราจะมีโอกาสบริจาคโลหิตได้กี่ครั้งกัน เพราะบริจาคได้แค่ 3 เดือนครั้งเท่านั้นเอง
วันก่อนโน้นได้ยินข่าวเกี่ยวกับ คุณยอดรัก สลักใจนักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดัง
คุณยอดรักเพิ่งตรวจพบว่า ป่วยเป็นมะเร็งตับขั้นร้ายแรงแล้ว
คุณหมอบอกว่า อาจมีโอกาสอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณยอดรักทำให้ฉันกลับมาถามตนเองว่า ถ้าเราเหลือเวลาอีกแค่ 6 เดือน เราจะทำยังไง
ฉันตอบในใจว่า คงต้องมานั่งคิดๆ และเขียนรายการสิ่งที่อยากทำ ภายใต้ความเป็นไปได้และข้อจำกัดเรื่องเวลา
ที่สุดแล้วก็คิดว่า สิ่งที่ต้องทำแน่ๆ คือ ลาออกจากงานและใช้เวลาอยู่กับครอบครัว หันไปถามเพื่อนรุ่นพี่ด้วยคำถามเดียวกัน
ฉันจะสู้ให้ถึงที่สุด สู้ให้หาย คำตอบของเราแต่ละคนคงแตกต่างกันไป
ฟังคำตอบของรุ่นพี่แล้วก็คิดถึงการต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดของ คุณหมอสงวน นิตยารัมพงศ์
คุณหมอพบว่า ตนเองเป็นมะเร็งและต่อสู้กับโรคร้ายอย่างเข้มแข็งจนมีชีวิตยืนยาวต่อมาได้เกือบ 5 ปี
ทั้งๆ ที่คุณหมอเจ้าของไข้บอกว่า มีเวลาเหลือเพียงไม่กี่เดือน
ตลอดช่วงเวลาที่เหลืออยู่ คุณหมอสงวนไม่เพียงทำงานในหน้าที่เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเต็มที่ สานต่อปณิธานในการปฎิรูประบบสุขภาพ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้ประชาชนคนไทย
ในช่วงที่ป่วย คุณหมอยังริเริ่มโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือจิตอาสาให้คนไข้ที่ป่วยและหายแล้วให้กำลังใจช่วยเหลือเพื่อนที่ยังเจ็บป่วยให้หายจากโรคต่างๆ ด้วย และอื่นๆ อีกมากมาย
ผลงานของคุณหมอที่พวกเรารู้จักกันดี คือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาท
คนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำแต่ความดีอย่างคุณหมอสงวน น่าจะมีอายุยืนยาวกว่านี้
เราเลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายไม่ได้ แต่บางคนมีโอกาสรู้ว่า ตนเองเหลือเวลาอีกเท่าไร จะน้อยจะมากจะสั้นหรือยาว คงไม่สำคัญเท่ากับว่าเวลาที่มีอยู่นั้น เราได้ ทำอะไรบ้าง
เราอยากให้คนอื่นจดจำเราแบบไหน ถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ 6 เดือน
ลองถามตัวเองกันบ้างดีไหม
ชั้น5 ประชาชาติ 25 กุมภาพันธ์ 2551
Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2551 |
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2551 10:41:21 น. |
|
2 comments
|
Counter : 602 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: ... IP: 71.63.23.4 วันที่: 1 มีนาคม 2551 เวลา:14:01:04 น. |
|
|
|
| |
|
|
อ่านแล้วทึ่งค่ะ....จะดีกว่ามั๊ย หากทุกวันๆ ของเราเป็นวันที่มีคุณค่า และมีความสุขที่สุด แม้จะต้องตายก็ไม่เสียใจ
คำตอบ ดูออกแนวอุดมคติ ดี
แต่กับบางอย่าง..แม้จะรู้ว่าความสุขอยู่ตรงไหน.. แต่ก็ยังคว้าไว้ไม่ได้... คงต้องทำใจ แล้วปล่อย..ให้มันตายไปพร้อมๆกัน
เศร้าเนอะ!!