Group Blog
All Blog
--- เ สื อ ล่ อ ง ว า รี : อุเทน วงศ์จันดา ---













นวนิยายเรื่อง “เสือล่องวารี” เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย แสดงถึงความเสื่อมทรุดแทบทุกส่วนตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ในแต่ละองค์กร กระทั่งสถาบันต่าง ๆ กำลังเข้าสู่จุดเสื่อมและส่งสัญญาณถึงการล่มสลายในระยะเวลาอันใกล้

ในการบอกเล่าเหตุการณ์ในเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นที่มีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผีต้นตะเคียนซึ่งอยู่คู่ความศักดิ์สิทธิ์ของคนในชุมชน บางคนอาจไม่ชอบหรือไม่สนุก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินเรื่องให้น่าติดตามนั้น ผู้เขียนเขียนได้น่าอ่าน ตื่นเต้น ผูกเรื่องได้ชวนติดตามมาก ๆ ฉาก(หลัก ๆ อยู่ที่บ้านควน)และพล็อตในเรื่องนี้เป็นมุมมองสร้างสรรค์อย่างยิ่ง เป็นเสียงสะท้อนแสดงถึงความหายนะจากคนโลภ หาแนวร่วมเพื่อทำลายธรรมชาตินั้นดังกึกก้องด้วยภาษาเรียบง่ายแต่ทรงพลัง ความอยุติธรรมของคนมีอำนาจระดับท้องถิ่น ต้องการรวบหัวรวบหาง กินตามน้ำใช้อำนาจและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการกระทำผิดต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะการรับสัมปทานการบุกรุกป่า ตัดไม้ทำลายป่า โค่นป่าด้วยเลื่อยเครื่อง---เสียงคมเลื่อยจากเลื่อยเครื่องขณะตัดไม้ '...เสียงมันช่างดังเหลือเกิน ไร้สุ้มเสียงของความไพเราะ มันแหบโหยและหอนไปทั้งป่า ยิ่งกว่าการกรีดร้องของภูติผีไร้ญาติซึ่งทุกข์ทรมานต่อความหิวโหยและถูกทัณฑ์ทรมานจากบาปที่เคยทำครั้งยังมีชีวิตอยู่จนต้องยกมือปิดหู'

ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนหยัดมานานนับร้อยปีได้เรียนรู้ดินฟ้าอากาศจนแตกฉานซึ่งรากได้หยั่งถึงครึ่งโลกยังถูกโค่นลงโดยง่าย เสียงกัมปนาทฉีกฟ้านั่นเป็นคำสั่งเสียสุดท้ายของต้นไม้ เหล่าบรรดาสิงสาราสัตว์ที่อาศัยต้นไม้ทำรังหรือหาอยู่หากินบนนั้นหรือพวกสัตว์ที่อาศัยเก็บผลหมากสุกหรือใบไม้กิน ต่างพากันรับรู้ถึงรสชาติที่ผิดแผกแตกต่างของต้นไม้ มีแต่ความหวาดกลัวอันแสนเศร้าที่ทำให้รสชาติหรือกลิ่นของต้นไม้เปลี่ยนไป ข้าจึงได้ยินเสียงต้นไม้ร้องไห้ดังระงมไปทั้งป่า นั่นล่ะขุนเขาที่นอนสงบอยู่จึงพลิกตัวด้วยความตกใจ....ปล่อยไว้เช่นนี้ต้นไม้ที่เหลืออยู่จะพลอยถูกโค่นลงในไม่ช้า จากต้นหนึ่งไปสู่ต้นหนึ่ง คนพวกนั้นไม่มีทีท่าว่าจะพอง่าย ๆ หัวเราะหยาบกระด้าง พ่นคำหยาบออกจากปากจนดอกไม้ป่าไม่กล้าผลิบาน...

‘เสียงเลื่อยมอดดับ เสียงพูดคุยอันหยาบถ่อยก็เงียบตาม
มันคงเหลือแต่เสียงร่ำไห้ของข้าแผ่วโหยซอกซอนฉีกเปลือกไม้แห้งหลุดจากต้น เหนี่ยวดึงใบไม้ชำรุดให้หลุดจากกิ่งก้าน

กลัวว่าต้นไม้ซึ่งเป็นญาติสนิทของพวกเราจะหายไปหมดจากป่านี้
กลัวว่าขุนเขาที่สงบจะฉีกปริออกจากกันและพังทลายลง
กลัวว่าแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ พลอยเก็บตัวเงียบในชั้นใต้ดินลึกลงไปเรื่อย ๆ จนถึงแก่นกลางของโลก
กลัวว่าแม้กระทั่งแสงเดือนในยามดึกจะรังเกียจไม่ยอมออกมาเผยแสงระยิบระยับอีก..’

การที่หัวหน้าชุมชนระดับท้องถิ่นร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐใช้ช่องโหว่ของกฎหมายควบคุม ครอบงำชาวบ้านและจัดระเบียบพระสงฆ์องค์เจ้าที่เห็นตรงข้ามกับชาวบ้านให้ตกอยู่ใต้เงื้อมมือพวกอำมหิตฉายอิทธิพลของความชั่วร้าย เปี่ยมด้วยความโง่ ความโลภ ความมักมากอยากได้ และใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อเงิน ด้วยหลงผิดว่า --- ป่าให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ได้เงิน ชาวบ้านได้ผืนดินทำกิน ส่วนตัวชั่วนั้นได้ทั้งเงินและผืนดิน…

‘ในฐานะผู้ใหญ่บ้านย่อมรู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งที่พระสงฆ์องค์เจ้าได้ประกาศตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่รัฐ นายทุนและชาวบ้านอย่างชัดเจนด้วยการสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นที่ป่าช้าและอือออเพียงลำพังว่าป่าทั้งหมดในเขาสวนรุมนั้นต้องถูกปกป้องดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเก่าก่อน กระผมก็ได้แต่แอบยิ้มในใจ ป่าทั้งหมดที่หลวงพี่เห็นอยู่นั้นมีคนจับจองหมดแล้ว แต่มิกล้าบอกท่านตรง ๆ ว่าเขาทั้งลูกที่เขาสวนรุมกระผมได้ซื้อไว้หมดสิ้นแล้วแต่เพียงผู้เดียว

ลมหายใจของชาวบ้านไม่ใช่พุทเข้าโธออกเหมือนหลวงพี่ ลมหายใจของชาวบ้านเข้าก็เงิน ออกก็เงินและคนที่จะทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ก็มีแต่กระผมคนเดียวเท่านั้น ผู้รู้ซึ้งถึงความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริงไม่ใช่พระ

กระผมเฝ้ารอวันที่ต้นตะเคียนล้ม หากเวลานั้นมาถึงความเชื่อดั้งเดิมเหล่านี้จะถูกลบล้างจากสมองของชาวบ้านเสียที...หากผีถูกกำจัดให้พ้นทางอะไรก็ง่ายขึ้น

สำหรับหลวงพี่ต้องดูท่าทีของท่านก่อนว่าทำตัวเยี่ยงไร หากท่านเชื่อฟังไม่ดื้อแพ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับชาวบ้าน กระผมก็จะให้ท่านได้มีที่จำวัดในป่าช้าต่อไป แต่ถ้าท่านไม่เชื่อฟังคำตักเตือน กระผมก็มีแผนการที่จะกำจัดท่านออกจากหมู่บ้านไว้เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ต้นตะเคียนยังคงยืนต้นตรงขึ้นสู่ฟ้า กระผมจึงยอมคล้อยตามท่านทุกอย่าง ขอเพียงต้นตะเคียนล้มลง ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงในฉับพลัน ...’

การเปิดเรื่องเพื่อเข้าสู่เนื้อหาที่เข้มข้นนั้นน่าสนใจทั้งเรื่อง มองเห็นความเชื่อเกี่ยวกับต้นตะเคียนผ่านสายตาผู้เล่า การโค่นต้นตะเคียน การมาถึงของตะเคียนทองที่หมู่บ้าน ความเชื่อปากต่อปากอย่างเป็นเหตุเป็นผลและที่ไม่ต้องการเหตุผลใด ๆ นอกจากจะเชื่อ การขุดเรือลำใหญ่ ๆ ให้พุ่งพลิ้วเหนือสายน้ำ เรื่องเล่าของช่างขุดเรือที่อยู่ในสายเลือดและอยากสร้างเรือที่ดีที่สุด เห็นความคิดขัดแย้งระหว่างการดำเนินชีวิตแบบเดิมและการศึกษาซึ่งอยู่อีกฟากฝั่งที่อาจทำให้ชีวิตสบายกว่าวิถีของคนที่ผูกพันกับสายน้ำและเรือมาแต่ปางบรรพ์ การบอกเล่าถึงประเพณีแข่งเรือยาว การพากย์เรือ การแข่งขันช่วงชิงธงแดงช่างเร้าใจ เสียงโห่ร้องเอ็ดอึงถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จนเหล่าพระอินทร์เทวดาต้องชะโงกหน้ามองจากบานหน้าต่างก้อนเมฆนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกสนุกสนานและได้รู้จักประเพณีบางอย่างเหล่านี้ด้วยวิธีการเล่าจนเห็นภาพฝอยน้ำกระทบหน้าขณะพายจ้วงด้วยท่วงท่าทะมัดทะแมงเป็นจังหวะ สายตาจับจ้องจะคว้าธงบนเรือ ‘เสือล่องวารี’ ลำนี้

ข้าพเจ้าอ่านจบด้วยความรู้สึกว่าป่าของประเทศไทยยังมีความหวังอยู่ จะด้วยบทบาทของความดีงามในการบอกผ่านความรู้สึกผิดชอบชั่วดีด้วยการปฏิบัติดีของพระสงฆ์ ความยึดมั่นในเรื่องความถูกต้องและหากสร้างชุมชนให้เกิดขึ้นทั่วประเทศด้วยการปลูกต้นไม้ในหัวใจของคนก่อนนั้นเป็นเรื่องดี สำนึกดีและมีความเป็นไปได้ หรือเพราะความหนักหนาสาหัสจากน้ำท่วมที่ผ่านมายิ่งทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการมีอยู่ของป่าไม้ในเมืองอุตสาหกรรมเช่นนี้

‘เมื่อความเมตตาปรานีมันได้สูญสิ้นไประหว่างกัน สิ่งที่เราได้รับคือความแล้งไร้น้ำใจเช่นเดียวกัน

ทุกอย่างเริ่มต้นจากคนและสุดท้ายก็วกมาสู่คนเช่นเดิม ถ่มน้ำลายรดฟ้าย่อมตกใส่หน้าตัวเอง ด่าขุนเขา ขุนเขาย่อมด่าตอบ ยิ่งเราไร้น้ำใจกับธรรมชาติเท่าไหร่ ธรรมชาติก็ยิ่งไร้น้ำใจต่อเราเท่านั้น แต่ถ้าคนรักธรรมชาติเท่าไหร่ ธรรมชาติก็รักคนเท่านั้น’

ขอบคุณค่ะ
ภูเพยีย
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕
















Create Date : 28 พฤษภาคม 2561
Last Update : 28 พฤษภาคม 2561 8:16:24 น.
Counter : 515 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ภูเพยีย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



  •  Bloggang.com