bloggang.com mainmenu search

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)



พี่หญิงเสียงดุมากเมื่อผมยังไม่เข้าใจเรื่องง่ายๆ อย่างเช่นเรื่อง งานที่ควรทำ กับงานที่ต้องทำ...

“พี่.. ผมมองไม่ออกว่า การอบรมพนักงานใหม่ เป็นงานที่ต้องทำ หรือ เป็นงานที่ควรทำ จริงๆนะ...”

“การอบรมพนักงานใหม่ เป็นงานที่ต้องทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่า งานของเราต้องการให้พนักงานมีความสามารถให้เร็วมากที่สุด เข้ากับระบบงานได้เร็วที่สุด เพื่อทำงานให้กับบริษัทฯ ได้เร็วที่สุด... เราจึงต้องการทั้งปริมาณ และ คุณภาพ...”

พี่หญิง เป็นผู้หญิงที่ดูเหมือนจะแข็งกร้าวก็จริง แต่ ความเป็นจริงแล้ว เป็นหัวหน้างานที่รักลูกน้องและสอนให้มีมุมมองหลายๆด้านเสมอๆ จนบางครั้ง ดูเหมือนว่า พี่หญิง เป็นคนแปลกๆในสายตาลูกน้องไป...

“การที่เธอทำงานได้เสร็จก่อนเวลาเป็นสิ่งที่ดี แต่พี่อยากให้เธอใช้เวลาที่เหลือในการสอนน้องๆ บริหารเวลาของเธอที่เหลือให้ดี ระหว่างงานของเธอ กับการสอนน้องๆ ว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรทำ สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ต้องทำ หรือ งานไหนเป็นงานสำคัญ งานไหนเป็นงานเร่งด่วน.. สรุปแล้ว เธอจะสอนน้องๆ ทำงานได้หรือเปล่า...?” พี่หญิงพูดหักคอแบบ ยังไงก็ต้องทำให้ได้...

“ครับ ผมจะทำให้ได้ครับ..” ผมรับปากพี่หญิงในตอนนั้นแบบ เจ้านายสั่งงาน ไม่ใช่จากความรู้สึกที่อยากจะสอน...

กว่าผมจะเข้าใจสิ่งที่พี่หญิงพูดก็ใช้เวลาหลายปี ผ่านงานมาหลายหลาก เมือเข้ามาอยู่ในส่วนของการผลิต จึงเข้าใจเรื่องต่างๆกระจ่างขึ้น.. ผมก็อธิบายให้กับ วุฒิไปตามที่ผมเข้าใจ ซึ่งก็ใช้เวลา จนงานเลี้ยงรับรองลูกค้าเสร็จสิ้นเราก็ยังคุยกันไม่จบ เราอยู่ต่ออีกประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนแยกย้ายกันกลับ...

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานในสายการผลิต

งานที่ควรทำ กับ งานที่ต้องทำ เปรียบได้ กับ งานที่ทำเพื่อเน้นปริมาณ กับ งานที่ทำเพื่อเน้นคุณภาพงานที่ ถ้าคุณอยู่ในฝ่ายการผลิต คุณจะรู้ดีเลยว่า งานที่ต้องทำ เป็นงานที่เน้นปริมาณ เพราะ ต้องทำตามจำนวนที่กำหนดให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด แต่หากต้องการให้คุณภาพดีขึ้น ก็จะต้องเสียกำลังคนในการตรวจสอบคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้งานมีคุณภาพ จำนวนการผลิตจึงต้องลดลงด้วย เพราะ เอาแรงงานมาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพบางส่วน... คราวนี้มาดูสิว่า งานที่ควรทำ หรือ งานที่เกี่ยวกับคุณภาพ สามารถรอจนกว่างาน ที่ต้องทำ หรือ จำนวนการผลิต เสร็จสิ้นลง ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าต้องการสินค้าจำนวน 1000 ชิ้น ภายใน 1 สัปดาห์ ดังนั้น หากเรามีแรงงานจำกัด สิ่งหนึ่งที่เราควรทำ คือ ทำให้ปริมาณ 1000 ชิ้น ให้เสร็จตามกำหนดเวลา 1 สัปดาห์ หรือ เร็วกว่า อย่างช้าที่สุดที่จะทำคือ 1 วันประมาณ 143 ชิ้น ต่อวัน โดยทำงาน ทั้ง 7 วัน ซึ่งจะไม่มีเวลาเหลือเพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพ แต่หากเราทราบว่า จำนวนการผลิตทำได้มากที่สุด 200 ชิ้นต่อวัน เราก็จะทำงานผลิต 5 วัน และ มีเวลาเหลืออีก 2 วัน เพื่อค่อยสุ่มเช็คคุณภาพ หรือ เช็คคุณภาพทั้งหมด ในบางครั้ง การสุ่มอาจจะต้องการตรวจสอบทั้งหมด แต่ถึงเวลาส่งแล้ว ก็จะจัดส่งไปทั้งๆที่ยังตรวจสอบไม่เสร็จก็มี ซึ่งนั่นหมายถึงเราเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ

แต่หากกำหนดว่า งานนี้ ต้องมีคุณภาพเกรด A ทั้งหมด ก็คงต้องผลิตให้มากขึ้นเผื่อตรวจสอบไม่ผ่าน มีคนตรวจสอบคุณภาพแบบ 100% ไม่ใช่สุ่มตรวจ หากการผลิตได้มากที่สุด 200 ชิ้นต่อวัน ตรวจสอบได้ 100 ชิ้นต่อคนต่อวัน ก็คงต้อง ทำการผลิต 6 วัน และ ในวันที่ 6 กับวันที่ 7 ต้องหาคนมาตรวจสอบสัก 5-6 คน เพื่อใช้เวลา 2 วันที่เหลือ ในการตรวจสอบคุณภาพให้ครบ 1000 ชิ้นสำหรับส่งต่อไป..

จากสูตรของการผลิตอย่างง่ายๆ...
ผลที่ต้องการ = (เวลาการผลิต * จำนวนปริมาณการผลิต) + (เวลาการตรวจสอบ * จำนวนการตรวจสอบ)

จะเห็นว่า ไม่ว่าความต้องการคือ ปริมาณ หรือ คุณภาพ ก็จะต้องใช้ เวลาในการทำให้เกิดขึ้น การระบุจำนวนที่ต้องการที่ต้องมีคุณภาพด้วย โดยเวลาจำกัด จึงต้องขยายเวลาออกให้เพิ่มมากขึ้น เวลาคงไม่สามารถขยายได้จริงเพราะจะเกี่ยวข้องกับสัญญา และ การตกลงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในการทำงานจริงๆ เราจะเพิ่มแรงงานเพื่อเพิ่มเวลาในการทำงานออกไป ในขณะที่เวลาจริงๆที่กำหนดยังคงที่... มันเป็นการเพิ่มกำลังคน เพื่อ สร้างให้เรามีเวลาในการทำงานมากขึ้นนั่นเอง

แต่บางครั้งการเพิ่มกำลังคนก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่ควรทำเสมอไป การยืดเวลารับปากลูกค้า จะเป็นผลดีมากกว่าการเพิ่มกำลังคน เพราะ กำลังคนที่เพิ่มเข้ามานั้น เราจะควบคุมจำนวนและ ปริมาณได้ยาก หากเขาทำงานนี้เสร็จ แล้ว เขาจะมีงานอื่นมารองรับการทำงานหรือไม่ นี่เป็นเหตุผลหลักที่ต้องคิด การจ้างแรงงานจึง จ้างจำนวนแรงงานให้เหมาะกับงานโดยรวม เพื่อที่จะไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น.. ดังนั้น ฝ่ายบริการลูกค้า หรือ เซลล์ ควรจะ วางแผนร่วมกับฝ่ายการผลิตเพื่อวางแผนการทำงานของทั้งสองฝ่ายให้สอดคล้องกัน แต่ระบบงานที่เห็นส่วนใหญ่ ทั้งสองฝ่ายจะไม่ค่อยเข้าใจกัน และ มักจะไม่ค่อยสื่อสารหรือร่วมมือกันทำงานมากนัก จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งกันและกันอยู่บ่อยๆ จนดูเหมือนทั้ง สอง ส่วนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมา กันไม่รู้จบไม่ว่าจะบริษัทฯใดๆก็ตาม...

เพื่อนผมที่เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตของบริษัทฯอื่น เคยมาคุยปรึกษาผมถึงเรื่อง ฝ่ายผลิต กับ ฝ่ายขายไม่ลงรอยกัน จะทำอย่างไรดี... ซึ่งบริษัทฯเขาเกิดปัญหาต่างๆจากความไม่เข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย.. ผมบอกกับเขาอย่างไม่ละอายใจเลยว่า...

“แต่ก่อน ที่บริษัทฯของฉันก็มีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน... แต่แก้ไขให้ดีขึ้นได้บ้างแล้ว...” ผมยอมรับกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในบริษัทฯ

“แล้วเอ็งแก้ไขยังไงว๊ะ…” เพื่อนคนนี้ห้าวกว่าผมเยอะ.. เหมาะกับหัวหน้าควบคุมการผลิตจริงๆ...

โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj)


Create Date :28 ธันวาคม 2547 Last Update :24 สิงหาคม 2551 13:21:17 น. Counter : Pageviews. Comments :0