bloggang.com mainmenu search






นิกายโปรเตสแตนต์ มีกำเนิดมาจากความคิดเห็นที่แตกแยกกันในเรื่องความเชื่อและการใช้ชีวิตของคริสตชน โดยคำว่า "โปรเตสแตนต์" (Protestant) แปลว่า "ผู้ประท้วง" หรือ "ผู้คัดค้าน" แยกตัวออกมาในปี ค.ศ. 1529 โดย มาร์ติน ลูเทอร์ และผู้สนับสนุน ในยุคที่ฝ่ายคาทอลิกเกิดปัญหาขึ้นมากมาย

มาร์ติน ลูเทอร์ (10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1483-1546) เกิดที่เมืองไอสเลเบน แคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมนี บิดามารดาเป็นคนยากจนและไม่ได้รับศึกษา เมื่อเติบโตขึ้นก็ไม่มีเงินจะให้ลูเทอร์เข้าโรงเรียน

ลูเทอร์ต้องเที่ยวร้องเพลงขอทานตามบ้านต่าง ๆ เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียนในโรงเรียน เผอิญมีหญิงมั่งคั่งคนหนึ่งเกิดความเมตตาได้ช่วยเหลือให้เข้ามหาวิทยาลัยเมื่อ ค.ศ. 1500

ลูเทอร์ได้ศึกษาศาสนศาสตร์ วรรณคดี ดนตรี และที่เอาใจใส่มากที่สุดคือกฎหมาย บิดาของลูเทอร์ก็ปรารถนาให้ลูเทอร์เป็นนักกฎหมาย แต่เมื่ออายุ 22 ปีเกิดเหตุการณ์หนึ่งคือเพื่อนของลูเทอร์ถูกฆ่าตายในระหว่างดวลต่อสู้กับบุคคลหนึ่ง

ทำให้ลูเทอร์กลายเป็นคนกลัวผี ขี้ขลาด ต่อมาอีก 2-3 วันลูเทอร์จะเข้าประตูมหาวิทยาลัย ก็เกิดฝนตกฟ้าร้อง ฟ้าผ่ามาใกล้ ๆ ลูเทอร์ได้อธิษฐานว่า ถ้ารอดพ้นไปได้จะบวชเป็นพระ

ต่อมาในไม่ช้าในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1505 ลูเทอร์ก็เข้าไปอยู่ในอารามออกัสติเนียน (Augustinian Monastery) ในมหาวิทยาลัยวิตเตน เบิร์ก ตั้งหน้าศึกษาพระคัมภีร์อย่างเอาใจใส่ เป็นคนเฉลียวฉลาด พูดเก่ง จนในที่สุดก็ได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้น

ในปี ค.ศ. 1511 ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในอาราม ลูเทอร์ได้มีโอกาสไปแสวงบุญที่โรม และได้พบเห็นชีวิตของสันตะปาปาโอ่โถงหรูหราจนเกือบไม่มีกษัตริย์องค์ใดสู้ได้ และเห็นว่าพระไม่ควรดำเนินชีวิตอย่างนั้น

จนในปี ค.ศ. 1515 สันตะปาปาเลโอที่ 20 อยากจะสร้างโบสถ์ให้งดงามสมตำแหน่งจึงได้ตั้งบัญญัติใหม่ว่า ถึงแม้จะทำความผิดเป็นอุกฉกรรจ์มหันตโทษเพียงไร ก็สามารถล้างบาปได้โดยซื้อใบฎีกาไถ่บาป

และบรรดานายธนาคารทั้งหลายในประเทศต่าง ๆ ก็ตกลงเป็นเอเยนต์รับฝากเงินที่คนทั้งหลายจะชำระล้างบาปโดยไม่ต้องส่งไปโรม ลูเทอร์ได้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกประชุมผู้รู้ทั้งหลายมาปรึกษา โต้เถียงกับบัญญัติใหม่

จนเดือนตุลาคม ค.ศ. 1517 ลูเทอร์ได้นำประกาศที่เรียกว่า ”ข้อวินิจฉัย 95 เรื่อง” (The 95 Theses) ไปปิดไว้ที่ประตูหน้าโบสถ์เมืองวิตเตน เบิร์ก ซึ่งมีเนื้อหาประณามการขายใบไถ่บาปของสันตะปาปา และการกระทำที่เหลวแหลกอื่น ๆ ความคิดของลูเทอร์ได้รับการสนับสนุนจากมหาชนเยอรมันเป็นจำนวนมาก แล้วแพร่หลายออกไปทั่วยุโรป

การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้พระสันตะปาปาและฝ่ายสังฆราชไม่พอใจ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1520 ลูเทอร์ได้รับหมายบัพพาชนียกรรม ”ขับออกจากการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร” (Excommunication)

โดยที่ลูเทอร์ต้องออกจากเขตปกครองของจักรพรรดิ ไปหลบที่วอร์มส์พร้อมกับผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่ง ที่นั่นท่านได้แปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาเยอรมัน และได้เขียนงานเกี่ยวกับพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งมิซซาและศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments)

ซึ่งลูเทอร์ตั้งใจที่จะให้ชาวบ้านซึ่งไม่เข้าใจภาษาละติน สามารถเข้าถึงหลักคำสอนและมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ได้

ลูเทอร์ได้ตั้งลัทธิลูเทอรันขึ้นโดยมีหลักความเชื่อดังนี้

1. ผู้ชอบธรรมจะต้องดำรงชีวิตด้วยความเชื่อเท่านั้น (The Just shall live by Faith alone) คือยืนยันว่าชีวิตนิรันดร์และความรอด เป็นรางวัลที่พระเจ้าประทานให้แก่ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์

และการไถ่บาปได้มาจากพระเมตตาของพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งเป็นการต่อต้านความเชื่อของสถาบันสันตะปาปา เกี่ยวกับความจำเป็นของพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความรอด และการไถ่บาป

2. ผู้ที่เชื่อทุกคนคือผู้รับใช้พระเจ้า (Priesthood of all Believers) คือการยกเลิกนักบวชในศานาว่าเป็นผู้กุมกรรมสิทธิ์ ในการติดต่อกับพระเจ้า ตามการกล่าวอ้างของสถาบันศาสนา แต่เน้นสิทธิของแต่ละบุคคลที่จะสามารถมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพระเจ้าได้

3. เชื่อในคำตรัสของพระเยซูในการรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ถือว่ามีความหมายยิ่ง ของศาสนาเพราะเป็นการสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูและมนุษย์

4. สิทธิอำนาจสูงสุดมีสิ่งเดียวคือ ”พระวจนะของพระเจ้า” (Word of God) นั่นคือพระวจนะที่อยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล พระวจนะที่ได้ยินจากคำเทศน์บนธรรมมาสน์ และพระวจนะที่อยู่ในพิธีบัพติสมาและศีลมหาสนิท

ดังนั้นจึงเป็นการยกเลิกการยอมรับตามสถาบันสันตะปาปา ที่ว่าที่มาแห่งสิทธิอำนาจในศาสนาประกอบด้วยพระคัมภีร์ พิธีกรรม และสถาบันศาสนา คือเป็นการประกาศยกเลิกอำนาจของสันตะปาปานั่นเอง

5. เชื่อในพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้า ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจพระองค์ ทำให้มนุษย์ไร้ความหมายที่จะกระทำสิ่งใดด้วยใจอิสระของตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงพระประสงค์ และน้ำพระทัยของพระเจ้าได้

โดยข้อคิดทั้งหมดนี้ถือเป็นหลักของ ”กลุ่มคริสต์ศาสนปฏิรูป” (Reformed Church) ซึ่งประกาศเป็นทางการในปี ค.ศ. 1530 ณ การประชุมที่เมืองออกสเบิร์ก (The Diet of Augsburg) ที่แบ่งแยกผู้ติดตามลูเทอร์ เป็นนิกายใหม่แยกจากสถาบันศาสนาที่โรม

เอกสารรวมความเชื่อนี้เรียกว่าเอกสาร ”การสารภาพแห่งเมืองออกสเบิร์ก” (The Confession of Augsburg) ซึ่งเรียกรวมขบวนการปฏิรูปศาสนาที่แยกตัวจากโรมนี้เรียกว่า พวกโปรเตสแตนต์ (The Protestants)

หลังจากการประท้วงดังกล่าวได้ทำให้เกิดคลื่นกระแสการปฏิรูปศาสนาในยุโรปขยายออกไป เริ่มจากในเยอรมนีโดยลูเทอร์ ไปสวิสเซอร์แลนด์โดยอูลริค สวิงกลิ (Ulrich Zwingli ค.ศ. 1484-1531) ในฝรั่งเศสโดยจอห์น คาลวิน (John Calvin ค.ศ. 1509-1564) และกลายเป็นนิกายคาลวิน (Calvinism) ซึ่งแพร่หลายอย่างรวดเร็วไปยังเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฮังการี สกอตแลนด์ และโปแลนด์

ในประเทศอังกฤษ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (ค.ศ. 1509-1547) ซึ่งประสงค์จะหย่าจากพระมเหสีเพื่อจะอภิเษกสมรสกับคนใหม่ เพราะคนเดิมไม่สามารถมีพระโอรสเพื่อสืบราชบัลลังก์ แต่พระสันตะปาปาไม่อนุญาตให้หย่า

อังกฤษจึงแยกจากโรมนับแต่นั้นโดยตั้งองค์การขึ้นมาใหม่เรียกว่า ”คริสตจักรอังกฤษ” (Church of England) ซึ่งพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขเสียเอง ซึ่งนิกายอังกลิคันนี้ยังคงรักษาหลักสำคัญบางประการของคาทอลิกไว้เพียงแต่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของสันตะปาปาเท่านั้น

การปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์

คือขบวนการการปฏิรูปศาสนาที่เริ่มโดย มาร์ติน ลูเทอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1517 เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมของนิกายโรมันคาทอลิก และสถาบันสันตะปาปา มาเสร็จสิ้นลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย ค.ศ. 1648

ผลจากการปฏิรูปคือการแยกตัวจากนิกายคาทอลิกมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


จันทรวารสิริสวัสดิ์ มานมนัสวัฒนสิริค่ะ
Create Date :15 กุมภาพันธ์ 2553 Last Update :15 กุมภาพันธ์ 2553 3:01:30 น. Counter : Pageviews. Comments :0