bloggang.com mainmenu search







ฉากแท่นบูชาพอร์ตินาริ (Portinari Triptych) เป็นบานพับภาพที่เขียนโดยฮูโก ฟาน เดอร์ โกส์ จิตรกรสมัยเรอเนซองส์ชาวเนเธอร์แลนด์ของตระกูลการเขียนภาพแบบเนเธอร์แลนด์ สมัยต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ ฟลอเรนซ์ ในประเทศอิตาลี

ฟาน เดอร์ โกส์ เขียนภาพ “ฉากแท่นบูชาพอร์ตินาริ” ราวปี ค.ศ. 1475 เป็นภาพการชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ เป็นงานที่ได้รับจ้างสำหรับวัดโรงพยาบาลซานตามาเรียนูโอวา ในฟลอเรนซ์โดยนายธนาคารชาวอิตาลีโทมมาโซ พอร์ตินาริ

ที่พำนักอยู่ที่เมืองบรูจส์เป็นเวลากว่าสี่สิบปี ในฐานะผู้แทนของธนาคารเมดิชิของตระกูลเมดิชิ พอร์ตินาริเองปรากฏในแผงซ้ายของฉากแท่นบูชากับลูกชายสองคน อันโตนิโอและปิเกลโล ภรรยามาเรีย ดิ ฟรานเชสโก บารอนเชลลิกับลูกสาวมาการิตาอยู่บนแผงขวา

ทุกคนในภาพมีนักบุญผู้พิทักษ์ของแต่ละคนยกเว้นปิเกลโล บนแผงซ้ายเป็นนักบุญทอมัส อัครสาวกถือหอกและนักบุญแอนโทนี แอ็บบ็อทถือกระดิ่ง

บนแผงซ้ายนักบุญแมรี แม็กดาเลนถือผอบน้ำมันหอม และนักบุญมาร์กาเร็ตแห่งอันติโอกถือหนังสือและมีมังกรที่เท้า

แผงกลางประกอบด้วยคนเลี้ยงแกะสามคนคุกเข่าทำความเคารพพระบุตร ฟาน เดอร์ โกส์เขียนฉากบ้านๆ อย่างเป็นจริงเป็นจังและได้บรรยากาศ

นอกจากนั้นในภาพก็มีเทวดาที่ลอยอยู่เหนือและที่คุกเข่ารอบพระแม่มารีและพระบุตร ผู้ที่มิได้นอนในกองฟางแต่นอนอยู่กลางลานโดยมีรัศมีรอบ

การเขียนที่มีลักษณะแปลกเช่นนี้อาจจะเขียนตามทิพยทัศน์ของนักบุญบริจิตแห่งสวีเดน ก่อนที่จะเสียชีวิตที่บรรยายถึงการเห็นแสงสว่างส่องออกมาจากร่างของพระบุตร

บนแผงซ้ายฉากหลังเป็นภาพนักบุญโจเซฟพาพระแม่มารีผู้ทรงครรภ์เดินทางหนีไปอียิปต์ แผงกลางทางด้านขวาเป็นภาพเทวดาที่ประกาศข่าวการกำเนิดของพระเยซูแก่คนเลี้ยงแกะ แผงขวาเป็นภาพการเดินทางของแมไจสามคนมายังเบ็ธเลเฮ็ม

ด้านหน้าของภาพเป็นภาพนิ่งขนาดเล็กของแจกันดอกไม้สองแจกันและข้าวสาลีกำมือหนึ่ง (ซึ่งหมายถึงเบ็ธเลเฮ็ม “เมืองแห่งขนมปัง”) ที่อาจจะเป็นนัยถึงศีลมหาสนิทหรือทุกขกิริยาของพระเยซู

กำข้าวสาลีอาจจะหมายถึงพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ที่พระเยซูแบ่งขนมปังกับอัครสาวก ดอกลิลีสีส้มในแจกันเป็นสัญลักษณ์ของ ทุกขกิริยาของพระเยซูที่จะมาถึง

ดอกไอริสสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ขณะที่ดอกไอริสสีม่วงและก้านดอกอาควิลิเจีย เป็นสัญลักษณ์ของความเศร้าเจ็ดอย่างของพระแม่มารี (Seven sorrows of the Virgin)

ฉะนั้นภาพการกำเนิดนี้จึงเป็นภาพที่เป็นเหตุการณ์ที่จะนำมาซึ่งความตายของพระเยซูในที่สุด

เมื่องานชิ้นนี้ไปถึงฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1483 ก็เป็นที่ชื่นชมของบรรดาศิลปินในอิตาลีที่ได้เห็นกันเป็นอันมาก

และมีบางคนที่พยายามเขียนเลียนแบบเช่นภาพ “การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ” โดยโดเมนนิโค เกอร์ลันเดาที่เขียนในปี ค.ศ. 1485 ในชาเปลซาสเซ็ตติภายในวัดวัดซานตาทรินิตาในฟลอเรนซ์

แต่อันที่จริงแล้วการเขียนคนเลี้ยงแกะอย่างเป็นธรรมชาติ เขียนกันมาก่อนหน้านั้นแล้วในอิตาลีในราวปี ค.ศ. 1450 ในภาพชื่อเดียวกันโดยอันเดรีย มานเทนยา (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน นครนิวยอร์ก)


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ภุมวารสิริสวัสดิ์ มานมนัสรมณีย์ค่ะ
Create Date :16 กุมภาพันธ์ 2553 Last Update :16 กุมภาพันธ์ 2553 18:13:44 น. Counter : Pageviews. Comments :0