bloggang.com mainmenu search
จากข่าวรถหรูไฟไหม้มูลค่าเป็นร้อยล้านบาท ได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องของขบวนการรถหรูจดประกอบหลีกเลี่ยงภาษี จนดีเอสไอต้องนำมาเป็นคดีพิเศษ และเตรียมตรวจสอบรถจดประกอบในตลาด ที่จดทะเบียนไป 6 พันคัน และที่ยื่นขออีก 3 พันคัน ทำให้คนซื้อรถจดประกอบต้องหนาวๆ ไปตามๆ กัน ทั้งที่ว่ากันตามจริงรถจดประกอบไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ที่ผิดเพราะมีการหลบเลี่ยงกฎหมาย จากการร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้ค้ารถ เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน รวมถึงผู้ซื้อบางราย จนเกิดเป็นขบวนการขึ้นมา และทำให้ต้องสูญเสียรายได้เข้าประเทศนับหมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดล้วนมีที่มาที่ไป และเขาทำกันอย่างไร? “ASTV ผู้จัดการ” มีคำตอบ…

รูปแบบการนำเข้ารถหรู
       การนำเข้ารถมาขายในไทย ตามกฎหมายจะต้องเป็นรถใหม่เท่านั้น รถยนต์ใช้แล้วไม่สามารถเข้ามาได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ จะมียกเว้นบ้างก็เป็นรถเฉพาะประเภท หรือรถนำเข้ามาใช้เป็นส่วนบุคคล ของผู้ที่เคยอยู่ หรือศึกษาในต่างประเทศ และทำเรื่องขอนำรถที่เคยใช้กลับมาเมืองไทย (มีเช่นกันที่ใช้ช่องนี้หลบเลี่ยงนำเข้ามาขาย แต่ไม่มากนัก)
       แต่การนำเข้ารถใหม่ทั้งคันมีอุปสรรคต่อการทำตลาดเช่นกัน เพราะต้องโดนภาษีทุกอย่างเบ็ดเสร็จกว่า 200-300% (แล้วแต่ขนาดเครื่องยนต์และแรงม้า) ด้วยข้ออ้างเพื่อคุ้มครองอุตฯ รถยนต์ในประเทศ จึงทำให้สมมุติรถราคา 1 ล้านบาท เมื่อนำมาขายในไทยจะเพิ่มเป็น 3-4 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้อนุญาตให้นำอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถใช้แล้ว หรืออะไหล่รถจากต่างประเทศเข้ามาได้ และให้สามารถนำมาประกอบรถเป็นคัน และจดทะเบียนเหมือนรถปกติทั่วไปได้ หรือที่เรียกกันว่า... “รถจดประกอบ”
ฉะนั้นรถจดประกอบ จึงไม่ใช่รถที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ผิดและเกิดปัญหา อยู่ที่กระบวนการดำเนินการของรถจดประกอบ ซึ่งผิดไปจากความหมายของรถจดประกอบ ดังเช่นรถหรู/ซูเปอร์คาร์ 6 คัน ที่กำลังจะนำไปจดทะเบียนยังจังหวัดศรีสะเกษ แต่เกิดไฟไหม้ระหว่างทาง 4 คัน และถูกตรวจสอบพบว่า เป็นรถจดประกอบหลีกเลี่ยงภาษี
       จริงๆ ปัญหารถจดประกอบไม่ใช่เพิ่งเกิด นิยมทำกันมา 5-6 ปีแล้ว และเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาก็มีข่าวอื้อฉาว จนสื่อมวลชนออกมาสาวไส้กระบวนการรถจดประกอบหลีกเลี่ยงภาษี เพราะมีการตรวจสอบพบว่า รถจดประกอบที่เป็นรถหรู หรือซูเปอร์คาร์ ไม่ได้นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะมาเป็นคัน (บางรายนำเข้ารถใหม่ๆ มาเลย) หรือแยกเพียงล้อเท่านั้นมา ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนใช้แล้ว
       แต่ที่สุดข่าวคราวก็เงียบหายไป จนเกิดกรณีร้อนแรงล่าสุดขึ้นมา จากมูลค่ารถนับร้อยล้านบาท และสื่อมวลชนตามติดเรื่องนี้แทบจะทุกสื่อ
       นอกจากนี้ยังมีการนำเข้ารถอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการลักลอบนำรถหรูเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เพื่อนำมาสวมทะเบียน รถที่นิยมลักลักนำเข้ามา จะเป็นรถหรูรุ่นที่มีในตลาดค่อนข้างมาก เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรือบีเอ็มดับเบิลยู เพราะสามารถหาซากรถรุ่นเดียวกัน(จากอุบัติเหตุ) หรือใกล้เคียง มาตัดต่อแชสซีส์ หรือเลขตัวถังทับ เพื่อสวมทะเบียนได้ง่าย ไม่ก็ใช้ทะเบียนปลอม ตลอดจนติดป้ายแดงวิ่งกันเป็นปีเป็นชาติ แต่ก็เสี่ยงกับการถูกจับสูง
       ในบรรดารถหรูนำเข้า รถจดประกอบจึงเป็นรูปแบบที่นิยมกันมากที่สุด เพราะมีช่องให้ดำเนินการได้ถูกกฎหมาย และอัตราภาษีก็ต่ำกว่ารถใหม่นำเข้ามาก หรือใกล้เคียงกับรถประกอบในไทย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30-50% เท่านั้น
ที่สำคัญได้รับความร่วมมือ จากเจ้าหน้าที่รัฐในการหลบเลี่ยงเป็นอย่างดี!!

กลโกงนำเข้ารถจดประกอบ
       จากความนิยมนำเข้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนมาประกอบรถเป็นคัน หรือรถจดประกอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถที่ไม่ค่อยมีขายในไทย หรือถ้ามีจะเป็นรถใหม่นำเข้าสำเร็จรูปทั้งคัน ซึ่งมีราคาแพงมากจากอัตราภาษีกว่า 200-300% ขณะที่รถจดประกอบเสียภาษีเพียง 30-50% และยังประเมินจากฐานของชิ้นส่วนอะไหล่ หรือราคารถมือสอง(ภาษีสรรพสามิต)
จึงไม่แปลกที่จะเห็นรถ “มินิ” ราคาของตัวแทนจำหน่ายกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นรถจดประกอบกลับไม่ถึงล้านบาท และคิดดูว่ารถเครื่องยนต์ใหญ่กำลังสูงๆ เสียภาษีเต็มกว่า 300% หรือราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป จะมีช่องห่างของราคาแค่ไหน?
       เหตุนี้รถจดประกอบจึงเป็นที่ต้องการ ของบรรดาผู้ชื่นชอบรถหรูและแรง แต่ต้องการสบายกระเป๋า ซึ่งต้นทางของรถเหล่านี้มาจากประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวาเหมือนกัน อย่างอังกฤษ ตะวันออกกลาง และโดยเฉพาะฮ่องกง ที่ใช้รถหรูและสปอร์ตกันมาก รวมถึงประเทศผู้ผลิตรถยนต์อย่างญี่ปุ่น โดยเครือข่ายกลุ่มผู้ค้ารถจดประกอบจะไปซื้อ หรือประมูลมา
       อย่างที่บอกรถจดประกอบ จะเป็นรถหรูและสปอร์ต ไม่ก็เป็นรถที่ไม่มีขาย หรือตัวแทนจำหน่ายในไทยนำเข้ามาขายไม่มาก การแยกอุปกรณ์ชิ้นส่วนมา เพื่อประกอบรถจึงไม่ใช่จะกระทำกันได้ง่ายๆ และยิ่งรถเทคโนโลยีสูงๆ แถมบางรุ่นตัวถังทำด้วยอลูมิเนียมอัลลอย อย่างพวกซูเปอร์คาร์ หรือรถหรูระดับท็อปคลาส การที่จะมาเชื่อม (Welding) หรือประกอบเข้ากัน กับเครื่องมือปกติที่มีในไทยทำไม่ได้เลย ต้องใช้เครื่องมือของมันโดยเฉพาะ
ฉะนั้นจึงเกิดคำถามตัวโตๆ... บรรดารถหรูระดับมากกว่า 10 ล้านบาท โดยเฉพาะซูเปอร์คาร์ เหมือนอย่างรถเกิดไฟไหม้ 6 คัน เป็นไปได้หรือที่จะเป็นรถจดประกอบ?!!
       มากกว่านั้นบางรายถึงกับนำรถใหม่ เข้ามาทำเป็นรถจดประกอบ เพราะลูกค้ามีความต้องการอยู่แล้ว(และรู้กัน) อย่างที่บอกราคาอย่างน้อยแตกต่างกันเป็นเท่าตัว เพราะทุกขั้นตอนถูกตีเป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนอะไหล่ หรือรถมือสอง จึงทำให้เสียภาษีต่ำกว่ารถใหม่นำเข้าทั้งคัน
       นี่จึงเป็นเหตุผล ทำไม? กลุ่มผู้ค้ารถจดประกอบ(เชื่อว่าส่วนใหญ่ แต่ผู้ที่ทำถูกก็มี) นำเข้ารถมาทั้งคันหรือเกือบจะทั้งคัน โดยถอดเพียงแค่ล้อ หรืออย่างมากถอดประตู และฝากระโปรงด้วย เพราะเป็นชิ้นส่วนที่สามารถประกอบได้ง่ายๆ อยู่แล้ว จากนั้นจับใส่ตู้คอนเทนเนอร์ แล้วส่งมาขึ้นท่าเรือแหลมฉบัง หรือคลองเตย
       เมื่อมาถึงท่าเรือและกระบวนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไทย เนื่องจากกฎหมายเองไม่มีความชัดเจน คำว่าชิ้นส่วนใช้แล้วนำมาจดประกอบ หมายถึงจะต้องแยกชิ้นส่วนขนาดไหน ซึ่งเรื่องนี้ในอดีตเคยมีอธิบดีกรมศุลกากร ต้องการให้ตีความให้ชัด แต่ที่สุดเรื่องก็เงียบหายไปกับสายลมเช่นเคย
       ด้วยช่องโหว่ตรงนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรบางราย ร่วมมือกับกลุ่มผู้ค้ารถจดประกอบ แลกกับการรับผลประโยชน์ เพียงดูเอกสารสำแดงนำเข้าที่ระบุว่า เป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถ หรืออะไหล่ โดยที่ไม่ได้มีการเปิดกล่องแต่อย่างใด หรือเปิดเพียงเป็นพิธี พอให้เห็นชิ้นส่วนที่แยกมาบางชิ้นเท่านั้น
       จากนั้นออกใบอินวอยซ์ หรือใบแสดงรายการสินค้านำเข้าจากศุลกากร โดยเฉพาะหมายเลขโครงตัวถัง และเครื่องยนต์ของรถ เพื่อเสียภาษีศุลกากร และนำชิ้นส่วนอะไหล่(รถทั้งคัน) ออกมาทำเป็นรถจดประกอบ
บทสรุป... อุปกรณ์ชิ้นส่วน(รถทั้งคัน) เหล่านี้ จึงเสียภาษีนำเข้าเพียงไม่เกิน 30% (ของราคาประเมินอะไหล่) ขณะที่อัตรารถใหม่นำเข้าทั้งคันสูงถึง 80%

ขั้นตอนและรูปแบบการกระทำ
       ตามกฎหมายของการที่จะทำรถจดประกอบ เมื่อนำอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถเข้ามา จะต้องดำเนินการประกอบรถ กับผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบรถกรมสรรพสามิต ซึ่งเดิมจะมีเพียงไม่กี่แห่ง เพราะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ แต่ช่วงหลังภาครัฐต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการ จึงอนุญาตให้มีโรงประกอบรถมากขึ้น
แม้จะมีอู่หรือโรงรับประกอบรถที่ได้รับใบอนุญาตมากขึ้น แต่ปัจจุบันในไทยยังคงมีอยู่น้อย หรือแทบจะไม่มีอู่ประกอบรถใดเลย ที่จะสามารถดำเนินการประกอบรถหรู รถสปอร์ต หรือซูเปอร์คาร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวช่าง หรือเครื่องมือต่างๆ เห็นได้จากการนำหมายศาลของดีเอสไอ เข้าตรวจค้นสถานประกอบการรถจดประกอบ 4 จุด ที่เกี่ยวข้องกับรถลัมบอร์กินี 1 ในรถ 4 คัน ที่เกิดเหตุไฟไหม้ ปรากฏว่าไม่มีสภาพที่จะประกอบรถหรู หรือซูเปอร์คาร์ได้เลย
       ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม บริษัทหรือกลุ่มผู้นำเข้ารถหรู ต่างก็ใช้ช่องทางเหล่านี้ ในการดำเนินธุรกิจนำเข้าและจดประกอบรถ ซึ่งต้องมีวิศวกรเป็นผู้รับรองมาตรฐานการประกอบรถคันนั้นๆ ด้วย จึงจะสามารถนำไปจดทะเบียนได้
       ตามรายงานของดีเอสไอ พบผู้เกี่ยวข้องในการกระทำผิด เกี่ยวกับการดำเนินการประกอบรถจดประกอบ ได้แก่ ผู้นำเข้าอุปกรณ์ชิ้นส่วน(รถทั้งคัน) ผู้ประกอบรถ และนอมินี ซึ่งแยกเป็น 4 รูปแบบ อ้างดำเนินการทำรถจดประกอบ โดยรูปแบบแรกลูกค้าจะเป็นผู้ซื้อเครื่องยนต์ และอุปกรณ์รถยนต์ จากบริษัทที่เป็นนอมินีของผู้ประกอบรถ ซึ่งบริษัทผู้ประกอบรถจะทำหน้าที่เป็นผู้รับจ้างประกอบ พร้อมกับขายเฉพาะตัวถัง เพื่อให้ดูเหมือนว่าผู้บริโภคเป็นผู้นำเข้าเครื่องยนต์เอง และบริษัทประกอบรถไม่มีความเกี่ยวข้อง
       รูปแบบที่ 2 บริษัทผู้ประกอบรถจะดำเนินการเอง ทั้งการซื้อตัวถัง เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ชิ้นส่วน จากบริษัทนำเข้าโดยตรง เมื่อประกอบรถเสร็จจึงจะนำออกมาขายให้กับผู้บริโภคทั่วไป และแบบที่ 3 กลับกันลูกค้าจะเป็นผู้ซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งหมด และนำไปให้บริษัทผู้ประกอบรถทำการประกอบให้ แต่อาจจะมีการหาอุปกรณ์ตกแต่งให้
       สุดท้ายรูปแบบที่ 4 จะคล้ายๆ กัน ลูกค้าเป็นผู้ซื้อตัวถัง เครื่องยนต์ และอุปกรณ์ชิ้นส่วนจากผู้นำเข้า โดยชิ้นส่วนตกแต่งจะซื้อจากบริษัทนอมินี ซึ่งจากข้อมูลของดีเอสเชื่อว่า ส่วนใหญ่รถหรูที่นำไปจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นแบบแรก และรูปแบบที่ 4
แต่นั่นเป็นรูปแบบของการสำแดงเอกสารอ้างจดประกอบ ทั้งในการเสียภาษีสรรพสามิต และจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ซึ่งจริงๆ ล้วนเป็นเครือข่ายเดียวกัน และแทบจะไม่มีการประกอบรถ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นรถนำเข้ามาเกือบทั้งคัน(หรือทั้งคัน)
       เมื่อกระบวนประกอบรถ(หลอกๆ) เสร็จแล้ว จึงนำรถดังกล่าวไปเสียภาษีสรรพสามิต จากนั้นหากเป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงเบนซิน หรือดีเซล ต้องไปให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ตรวจสอบสภาพรถตามมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานมลพิษ แต่ถ้าใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ หรือแก๊ส 100% ไม่ต้องตรวจกับสมอ. แต่ต้องมีการรับรองมาตรฐาน และความมั่นคงปลอดภัยจากวิศวกร ซึ่งอู่ประกอบรถจะดำเนินการให้
ผ่านกระบวนการต่างๆ เหล่านี้แล้ว และนำหลักฐานสำคัญต่างๆ สำเนาใบนำเข้า หรืออินวอยซ์ หลักฐานการตรวจสภาพรถจากสมอ.(ติดแก๊สไม่ต้องมี) และสำเนาใบเสียภาษีสรรพสามิต นำไปขอจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก อาจจะในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ได้
มีต่อตอน 2





//www.manager.co.th/Motoring/viewNews.aspx?NewsID=9560000070552
Create Date :12 มิถุนายน 2556 Last Update :12 มิถุนายน 2556 21:52:05 น. Counter : 1996 Pageviews. Comments :0