bloggang.com mainmenu search
แห่แชร์ดราม่า โตเกียวบานาน่าไทย แลกด้วยน้ำตา - เซเว่นอีเลฟเว่น ปัดลอกเลียนซัพพลายเออร์ พบบทความ "โตเกียวบานาน่าไทย ที่แลกมาด้วยน้ำตา" ถูกแชร์บนโซเชียลมหาศาล เนื้อหาระบุมีคนทำอยู่ก่อน แต่ค้าปลีกยักษ์แนะให้ลงทุนสร้างโรงงาน แลกกับวางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ก่อนถูกยกเลิกดีล แล้วผลิตเองขายเอง ผู้เขียนลบบทความอ้างถูกฝ่ายกฎหมายบีบ ด้าน "ซีพี ออลล์" แจง "เลอ แปง บานาน่า" ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร อาร์แอนด์ดีวิจัยเอง เผยกำลังคุยให้ไปวางในร้านคัดสรร

       วันนี้ (23 เม.ย.) เว็บไซต์โอเคเนชั่น โดยผู้ใช้นามแฝง "assuming" ได้เผยแพร่บทความที่มีชื่อว่า "แบ่งปัน SIAM BANANA โตเกียวบานาน่าไทย แบบมีกล้วยอยู่จริงๆ ที่แลกมาด้วยน้ำตา" กรณีที่ก่อนหน้านี้มีขนมเค้กสอดไส้คัสตาร์ดรสกล้วยยี่ห้อ "สยาม บานาน่า" ที่มีหน้าตาคล้ายกับ “โตเกียวบานาน่า” วางจำหน่ายที่เขาใหญ่และหัวหิน แล้วปรากฎว่าผู้บริหารบริษัทร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ให้ความสนใจสั่งซื้อเพื่อวางขายในร้านที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ก่อนที่จะบอกเลิกคำสั่งซื้อและหันมาผลิตพร้อมจัดจำหน่ายเอง

       โดยบทความนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน ระบุถึงที่มาที่ไปว่า จากพนักงานออฟฟิศทั่วไป ไปขายเสื้อผ้าที่จตุจักรในวันเสาร์-อาทิตย์ ขายได้เรื่อยๆ แต่เมื่อจุดนึงที่การแข่งขันเริ่มรุนแรง เลยอยากหาสินค้าที่สามารถทำเป็นลักษณะขายส่ง คนอื่นสามารถนำไปจำหน่ายต่อได้ โดยที่เรายังควบคุมคุณภาพสินค้าได้ ความที่ชื่นชอบขนม แต่กลับค้นพบว่า โตเกียวบานาน่า ไม่มีกล้วยอยู่เลย มีแค่คัสตาร์ด ใส่กลิ่นกล้วยเข้าไป แล้วแป้งนุ่มๆ กับแพกเกจจิ้งสวยงาม จึงเกิดความคิดว่า ประเทศไทยเป็นที่ผลิตกล้วยน่าจะดีที่สุดในโลก ทำไมไม่พัฒนามาเป็นสินค้าของไทยบ้าง ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้บ้าง

       โดยได้ทำกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอย ถึงต้นแบบโตเกียวบานาน่า คิดค้นพัฒนาในการทำกล้วยและใส่รสชาติเป็นของตัวเอง ใช้เวลาไปกว่าครึ่งปี เงินอีกจำนวนมหาศาล เพื่อเรียนรู้กระบวนการทุกอย่าง และสร้างเทคนิค เอกลักษณ์เป็นของเราเอง สิ่งที่ยากกว่าที่คิดคือ แพกเกจจิ้งของโตเกียวบานาน่า โรงงานในมืองไทยไม่สามารถทำได้ และตัวดูดความชื้นที่เรียกว่า absorber เป็นแบบพิเศษที่ปล่อยความร้อนออกมาด้วย ทำให้ควบคุมอุณภูมิของแป้งได้ สามารถเก็บได้นานถึง 1 เดือน โดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย โดยได้หาซัพพลายเออร์ แม้ต้นทุนจะแพงขึ้นมหาศาล แต่ก็รักษาความอร่อย และความนุ่มของแป้งให้คงที่

       "โตเกียวบานาน่า ใช้เครื่องจักรแบบซูเปอร์ไฮเทค ชนิดแป้งซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย น้ำตาลแบบไม่ตกผลึก ปลอดภัยกับผู้บริโภค หลังลองผิดลองถูกจนได้รสชาติที่พอใจ จึงวางขายเป็นของฝากตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เริ่มต้นที่ เขาใหญ่ และหัวหิน ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ยอดขายดีกว่าที่คาดหวังไว้ แต่กำลังการผลิตเราก็ไม่มากนัก และเมื่ออยากลองดูว่าสินค้าของตัวเองจะสามารถไปในระดับแมสได้หรือไม่ จึงถือโอกาสนำเข้าไปเสนอในบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ หลังจากเริ่มวางจำหน่ายไปได้ 3 เดือน โดยไม่คาดคิดว่าสิ่งที่ตามมาจะเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิต" ในบทความ ระบุ

       ในบทความระบุว่า การวางขายในร้านที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ จะใช้กำลังผลิตแบบเดิมไม่ได้ ทางบริษัทจึงให้ลงทุนสร้างโรงงานเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อกำลังการผลิตระดับแมส แน่นอนว่าต้องใช้เงินอีกหลายล้านบาท แต่เห็นความเป็นมืออาชีพของบริษัทใหญ่ ก็ยอมกู้เงินมาลงทุนเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มีทีมงานมาช่วยวางแปลนโรงงานให้อย่างละเอียด มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน เป็นคำสั่งมาจากเบื้องบนให้ทุกฝ่ายต้องช่วยโปรเจคนี้ให้สำเร็จตามกำหนดให้ได้

       "แต่ค่าโง่ที่แพงที่สุดก็คือ ต้องกรอกเอกสารจำนวนมาก เพื่อเปิดเผยข้อมูลการผลิตทุกขั้นตอน ส่วนผสมทุกอย่าง เทคนิคการผลิตทั้งหมด ละเอียดเป็นกรัม เป็นมิลลิเมตร โดยมีเจ้าหน้าที่ย้ำว่าจำเป็น เพื่อที่จะช่วยวางแผนการผลิตได้ ความลับเรื่องการนำคาสตาร์ดหรือว่าไส้กล้วยเข้าไปในแป้งก็ถูกเปิดแผย มันเป็นกระบวนการระหว่างการลงทุนก่อสร้างโรงงานไปด้วย ก็จะโดนถามอย่างละเอียดทุกเม็ดในที่ประชุม แต่เราไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนขนาดนั้น คิดว่าเพื่อช่วยยกระดับให้มันมีมาตรฐานสากลก็ต้องยอม" ในบทความ ระบุ

       ในบทความระบุว่า บริษัทส่งคนมาดูแลดีมาก ตลอดระยะเวลา 4 เดือนความฝันเริ่มใกล้จะเป็นจริง รสชาติมีหลากหลายขึ้น แพกเกจสวยงามขึ้น ชื่อแบรนด์ดูเก๋มากขึ้น เหลือแค่โรงงานที่เตรียมพร้อมการผลิต มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยม ดูแลให้คำแนะนำเกือบทุกวัน ตลอดระยะเวลาก่อสร้าง พร้อมประชุมกับบริษัททุกสัปดาห์ และกำหนดวางจำหน่ายก็ออกมาแล้วคือ 1 เมษายน 2558

"ต้นเดือนกุมภาพันธ์ทุกอย่างพังทลาย ขณะที่กำลังวุ่นวายกับโรงงานใหม่ ก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทว่า “ทางเราได้ผลิตของเราเองแล้ว” ต้องขอยกเลิกดีลที่ตกลงกันไว้ด้วย เงียบไปชั่วขณะหนึ่ง เรียบง่ายแค่นี้จริงๆ เหมือนสายฟ้าฟาดผ่าลงมาที่ตัว แล้วที่ผ่านมา 4 เดือน ประชุมกันเป็นร้อยๆ พันๆ ชั่วโมง กับเจ้าหน้าที่เป็นสิบแผนกคืออะไร เงินที่กู้มาหลายล้านคืออะไร จะวางจำหน่าย 1 เมษายน 2558 คืออะไร คำถามมากมายพรั่งพรูออกมา แต่ปราศจากคำตอบ จนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม 2558 ทุกคนก็คงได้เห็นสินค้าชิ้นนั้นออกสู่ตลาด" ในบทความ ระบุ

       ในบทความได้ตั้งคำถามว่า อยากจะถามบริษัทยักษ์ใหญ่ว่า ถ้าคุณจะทำเอง ทำไมต้องให้เราลงทุนขนาดนี้ เป็นหนี้เป็นสิน มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่า แต่ไม่มีคำสั่งซื้อจะมีความหมายอะไร คุณมาให้ความมั่นใจเราไม่งั้นเราจะกล้าเสี่ยงขนาดนี้เพื่ออะไร เราเหมือนมดตัวเล็กๆ ที่เขาจะบี้ให้ตายเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเทียบกับทรัพยากรที่เขามีอยู่ มันครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทำให้ประหยัดต้นทุนทุกอย่าง เพื่อขายให้ถูกกว่า ราคาส่งของเรายังสูงกว่าเราคาขายปลีกของเขาด้วยซ้ำไป เรียกว่าฆ่ากันให้ตายในดาบแรกด้วยราคาเลย กะไม่ให้เราไปเกิดที่ไหนอีกเลย

       ในตอนท้ายของบทความ ได้ให้ข้อคิดแก่คนที่คิดจะทำธุรกิจ ว่า ไม่มีอะไรสำคัญกว่าผลประโยชน์ของบริษัทเขา, หากใครคิดจะทำอาหาร สูตร เทคนิคการผลิต เขาเรียกว่า “ความลับทางการค้า” จงรักษามันไว้ให้ดี, อย่าหวังพึ่งยอดขายจาก ผู้ซื้อ หรือ ผู้จำหน่าย รายใดรายหนึ่งมากเกินไป จนคุณไม่มีอำนาจต่อรองเลย, หากแบรนด์คุณยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ให้คิดดีๆก่อนเข้าระบบโมเดิร์นเทรด เพราะเขาใหญ่พอที่จะฆ่าแบรนด์คุณทิ้ง หรือทำให้ของคุณเป็นแค่ของเลียนแบบ หรือผู้มาทีหลังได้ทันที และการสร้างภาพสวยๆ ให้องค์กรมีอยู่จริง เพราะของจริงไม่ใช่แบบนั้น การชมตัวเองว่าดีเพราะว่าทำอย่างนู้นทำอย่างนี้ กับการที่คนอื่นมาชมว่าคุณดี มันไม่เหมือนกันเลย



       หลังบทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีผู้คนบนโลกโซเชียลส่งต่อเป็นจำนวนมาก มีผู้อ่านรวมกันมากกว่า 2 แสนคลิก กระทั่งบทความดังกล่าวได้ถูกผู้เขียนลบออกจากเว็บไซต์ พร้อมเขียนข้อความว่า "ผมเป็นผู้เขียนน่ะครับ ไม่ใช่เจ้าของสยามบานาน่า ช่วยพี่เขาเพราะอยากช่วยจริงๆ ทุกอย่างเป็นเรื่องจริง ไปดูจากไทม์ไลน์ในเฟซบุ๊คได้ว่าใครทำมาก่อน ขออนุญาตลบ เพราะได้รับการติดต่อจากบริษัทฯ มา ว่ามันแรงมาก ซึ่งจริงๆ แรงเพราะคนแชร์นะครับ ผมก็แค่โพสไว้เตือนสติ ผมลบเรียบร้อยแล้วนะครับ คุณทีมกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ผมไม่เกี่ยวข้องแล้วถ้าคนจะไปแชร์อะไรต่อ"

       ด้านแฟนเพจ "โตเกียวบานาน่า เมืองไทย (Siam Banana)" โพสต์ข้อความเมื่อเวลา 13.16 น. ระบุว่า "ขอบคุณมากมาย ทุกๆ น้ำใจนะคะ ตอนนี้แม่ค้ากำลังทยอยตอบ ทุกข้อความ"





       ขณะที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีเลอแปง บานาน่า ระบุว่า บริษัทฯ ได้สอบถามไปยังผู้ผลิตดังกล่าว ซึ่งผู้ผลิตได้แจ้งกับบริษัทฯ ว่าไม่ได้เป็นผู้เขียนบทความนี้ ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซึ่งต่อมาผู้เขียนได้ยอมรับในบล็อกว่าตนเป็นผู้เขียน ไม่ใช่เจ้าของผู้ผลิต และได้ลบบทความดังกล่าวออกจากบล็อกแล้ว โดยขนมปังรสกล้วยของบริษัทฯ ที่ได้ถูกพาดพิงนั้น ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากซัพพลายเออร์รายใด และมีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะที่แตกต่าง พัฒนาโดยทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทเองซึ่งมีอยู่กว่า 200 คน

"บริษัทยืนยันว่าได้มีการเจรจาธุรกิจกับซัพพลายเออร์ขนมรสกล้วยเจ้านี้อยู่จริง และขณะนี้ก็ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนเจรจาและพัฒนาสินค้าร่วมกัน โดยมีข้อตกลงจะนำขนมนี้ไปวางที่ร้านคัดสรร เบเกอรี่ ซึ่งเป็นร้านขนมปังกาแฟระดับพรีเมี่ยมที่มีอยู่ 200 กว่าสาขาทั่วประเทศไทยภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ส่วนขนม "เลอแปง บานาน่า" เค้กสอดไส้คัสตาร์ด รสกล้วยของบริษัทนั้น เป็นสินค้าสำหรับลูกค้าทั่วไปวางจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเช่นกัน" ฝ่ายสื่อสารองค์กร ซีพี ออลล์ ระบุ



       ด้านแฟนเพจ "เลอแปง สนุกหลากหลาย อร่อยหลากรส" ซึ่งเป็นแบรนด์ขนมของบริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็งและเบเกอรี่ในเครือซีพีออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ได้โพสต์ภาพการ์ตูนกล้วยและข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า "คำคม ชวนคิด เชื่อเถอะ ถ้าเรายึดมั่น ในการทำความดี ไม่มีจิตใจ "คิดร้าย" กับใคร ไม่ว่าศัตรูหรือ อันตรายใดใด ก็ทำร้ายเราไม่ได้ และจะแพ้ภัยตัวเองในที่สุด"





       สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมสยาม บานาน่า ผลิตโดยบริษัท ทริปเปิ้ลเพาเวอร์โซลูชั่น จำกัด โดยมีหน้าร้านบริเวณถนนเทศบาลนิมิตรเหนือ ใกล้ตลาดบองมาเช่ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ขณะที่ขนมภายใต้แบรนด์ “เลอ แปง บานาน่า” ผลิตโดย บริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้ทดลองวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น บางสาขา ในราคา 12 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา


ที่มา  //manager.co.th/HotShare/ViewNews.aspx?NewsID=9580000046723
Create Date :23 เมษายน 2558 Last Update :23 เมษายน 2558 22:14:52 น. Counter : 1904 Pageviews. Comments :0