bloggang.com mainmenu search
บิ๊กตู่แก้สลากกินแบ่งสูญเปล่า “พ่อค้าหัวใส” ยังกุมตลาดเบ็ดเสร็จ รอ ม.44 สิ้นมนต์!

ชำแหละแนวทางการแก้สลากกินแบ่งในรัฐบาลบิ๊กตู่ สูญเปล่า กลับพบว่า “พ่อค้ารายใหญ่” ยังคงกุมอำนาจตลาดแบบเบ็ดเสร็จ การเข้าคิวของรายย่อยแค่พิธีกรรม ความจริงคือนอร์มินีหรือตัวแทนซื้อผ่านตู้เอทีเอ็ม อีกทั้งมีโควตาผ่านทางองค์กรการกุศลแบบยกล็อตที่ไม่มีสมาชิกจำนวนล้านๆ ใบ ส่งผลให้แนวทางแก้ของรัฐ แค่พายเรือในอ่าง สุดท้ายทุกฝ่ายวิ่งเสนอขายนายทุน ยืนยัน ม.44 สิ้นมนต์ขลัง ราคาสลากฯ พุ่งแน่เหตุ “รายใหญ่” รอถอนทุนคืน ส่วนรายย่อยตัวจริง รายได้หดหาย เสนอแนวทางแก้แบบยั่งยืนต้องสร้างความเข้มแข็งให้รายย่อย

       รัฐบาลทุกยุคที่ผ่านมาพยายามจะแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่สะสมกันมายาวนาน และท้าทายอำนาจรัฐเป็นอย่างยิ่ง จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถือว่าได้ทะลายขุมทรัพย์ 5 เสือในกองสลากไปได้ ซึ่งเป็นการตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง เปลี่ยนรูปการขายระบบโควตาเพื่อไม่ให้รายใหญ่มีโอกาสเป็นผู้กำหนดราคาเหมือนเช่นในอดีต

       แต่ปัญหาอื่นๆ ใช่ว่าจะหมดไปโดยเฉพาะการควบคุมไม่ให้มีการขายเกินราคาใบละ 80 บาทก็ยังคงมีให้เห็นทั้งในกทม.และต่างจังหวัด

       นอกจากนี้แม้รัฐจะออกมาตรการล่าสุดเพื่อให้ถึงมือผู้ค้าสลากรายย่อยด้วยการจองผ่านตู้กดเงินเอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย แต่กลับพบว่ายังคงมีปัญหาอยู่หลายจุด เช่นเรื่องการต่อคิวจำนวนมาก แต่สลากมีไม่เพียงพอและขายหมดภายใน 1 ชั่วโมง

       อย่างไรก็ดีการที่รัฐมีนโยบายเพิ่มจำนวนสลากไปจำนวนหนึ่งแล้ว แต่เหตุใดจึงยังไม่เพียงพอกับความต้องการ รวมไปถึงการจองสลากที่หมดด้วยเวลาอันรวดเร็ว ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นคำถามที่กองสลากต้องหาคำตอบ โดยเฉพาะหากพบว่าผู้ซื้อรายย่อยที่จองคิวซื้อได้ แต่ไม่ได้นำไปขายเอง แต่กลับนำไปขายต่อให้พ่อค้ารายใหญ่ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ในการจองและซื้อทันที

       “ที่มีข่าวว่ารัฐมีนโยบายเพิ่มจำนวนสลากฯ อีก 120 ล้านฉบับ ล่าสุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่มีการเพิ่มจำนวนสลากแน่นอน”

       ส่วนปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีอยู่ทุกวันนี้ มีสถานะเช่นใด และแนวทางการจัดการของรัฐบาลบิ๊กตู่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมาอย่างไรนั้น นายมณเฑียร บุญตัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการสลากฯ ในประเทศไทย กล่าวกับ “Special Scoop” ว่า การที่รัฐคุมราคาสลากฯ ราคา 80 บาทได้ตามเป้าหมาย ก็มีปัญหาอย่างอื่นตามมา เช่น ยอดขายสลากฯ ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า คนมีแรงจูงใจให้เล่นการพนันมากขึ้น อีกทั้งยังได้รับข้อมูลจากผู้ค้าสลากฯ รายย่อย ที่กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า “ผู้ค้ารายย่อยกำลังจะตาย” เนื่องเพราะกลไกในการขายสลากฯ ฉบับละไม่เกิน 80 บาท

       ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นการควบคุมโดยบีบที่ปลายทางแต่ไม่ได้สร้างหลักประกันตรงกลางทาง คือ ยังต้องพึ่งพาผู้ค้ารายใหญ่ เพราะนโยบายของรัฐสลากกินแบ่งฯ มีไว้หาเงินเข้ารัฐ จึงต้องพยายามขายให้หมด ซึ่งข้อจำกัดที่ต้องการจะขายสลากฯ ให้หมดนั้น หนีไม่พ้นการพึ่งพาผู้ค้ารายใหญ่ และนับว่าส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ค้าสลากฯ รายย่อยลดลงไปมาก เพราะกำไรที่ได้จากส่วนต่างก็น้อยลงไปด้วย

พ่อค้ารายใหญ่กุมอำนาจเหนือรายย่อย

       นายมณเฑียร ได้ยกตัวอย่างของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่ “ไม่มีโควตา” ไปซื้อสลากฯ ต่อจากผู้ค้ารายใหญ่ ต้องซื้อในต้นทุนที่มีราคาอย่างน้อยๆ 74 บาทถึง 75 บาท บางครั้งอาจขยับขึ้นไปถึง 77 บาท และจากเดิมที่มีราคาลอยตัว ตามดีมานด์ซัปพลาย เมื่อต้องขายในราคาควบคุม 80 บาทนั้น ถือว่าสาหัส

       อีกกรณีผู้ค้ารายย่อยบางรายที่ “ซึ้อมาขายด้วยต้นทุน 71.40 บาท” ตามราคาที่รัฐบาลควบคุมไว้ แต่เมื่อโอกาสที่จะขายหมดมีน้อย และด้วยปัจจัยในการขายสลากฯ หมดนั้นมีหลายปัจจัย เช่น ต้องมีเลขชุดหรือมีเลขสวย

       ด้วยเหตุผลนี้ทำให้รายย่อยบางคนต้องนำสลากฯ ไปแบ่งขาย ซึ่งก็ต้องยอมขายต่อให้ผู้ค้ารายใหญ่ในราคาที่ถูกกว่าปกติ เช่นซื้อในต้นทุน 71.40 บาท แต่ขายต่อไปให้รายใหญ่ในราคา 73 บาท ในลักษณะนี้แทนที่จะนำมาขายในราคา 80 บาทและได้ส่วนต่างมาเต็มๆ ใบละ 9.60 บาท ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ เพราะรายใหญ่จำต้องปล่อยออกไปบ้างเพื่อลดความเสี่ยงให้กับตัวเอง

       “ทุกวันนี้ผู้ค้าสลากฯ รายใหญ่ยังเป็นผู้คุมตลาดอยู่ เพียงแต่เข้ามาอีกรูปแบบ ซึ่งดูเหมือนว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรสลากฯ ที่รัฐพยายามจะลดการพึ่งพาผู้ค้ารายใหญ่ โดยตัดโควตารายใหญ่ออก และหันมาใช้วิธีการจองผ่านตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงไทย จะเปรียบเสมือนตัดวงจรรายใหญ่ แต่อันที่จริงไม่ใช่ เพราะทันทีที่เปิดให้มีการจองสลากฯ ส่วนใหญ่คนที่จองได้นั้น ล้วนเป็นนอร์มินีของผู้ค้ารายใหญ่ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีศักยภาพในการเข้าถึงได้ดีกว่า มีเงินมากกว่า สามารถนำเงินไปเข้าบัญชีได้เร็วกว่า”

       ขณะที่ผู้ค้าสลากฯ รายย่อย ส่วนใหญ่นั้นยอมรับว่าต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินทุนพอ บางรายมีหนี้ทั้งต้นทั้งดอกจนทำให้ขาดสภาพคล่อง รัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาของคนที่ขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถปล่อยแหล่งเงินกู้ที่จะไปดูแลสวัสดิการของผู้ค้ารายย่อยได้

       ในท้ายที่สุด คนที่มีศักยภาพในการหาเงินเข้าบัญชี ไปนอนเฝ้า เข้าแถวรอกดสลากฯ ผ่านตู้เอทีเอ็ม คือ ไม่เป็นพันธมิตรก็เป็นสมุนของผู้ค้ารายใหญ่ และถึงจะไม่ใช่คนทั้งสองกลุ่มก็จำต้องนำสลากฯ ที่กดมาได้ไปปล่อยให้ผู้รายใหญ่ หรือไปยืมเงินผู้ค้ารายใหญ่และผ่องถ่ายสลากกินแบ่งฯ ให้ตกอยู่ในมือของรายใหญ่อยู่ดี

บิ๊กตู่แก้สลากกินแบ่งสูญเปล่า “พ่อค้าหัวใส” ยังกุมตลาดเบ็ดเสร็จ รอ ม.44 สิ้นมนต์!                                                                                                (แฟ้มภาพ) บรรยากาศการต่อคิวซื้อสลากฯที่จังหวัดพะเยา,เชียงใหม่,อ่างทอง

       อีกรูปแบบที่เป็นเส้นทางเข้ามาของผู้ค้าสลากรายใหญ่คือ การตัดโควตารายใหญ่ นั่นคือทางทฤษฎี แต่ทางปฏิบัติยังคงให้องค์กรการกุศลบางแห่ง “ที่ไม่มีสมาชิก” ได้รับโควตา จากสำนักงานสลากฯ ซึ่งเป็นกลุ่มได้รับโควตายกล็อต จำนวนหมื่นๆ เล่มล้านๆ ใบ จึงมีคำถามว่าองค์กรที่ไม่มีสมาชิกจะจัดสรรให้สมาชิกที่ไหน

       ซึ่งการจะระบายสลากฯ ขายหมดให้ได้เร็วๆ นั้น สุดท้ายต้องไปปล่อยให้ผู้ค้ารายใหญ่โดยตรง นี่คือวงจรที่ผู้ค้ารายใหญ่ได้รับสลากฯ แบบยกล็อตในรูปแบบใหม่นั่นเอง

       “หากตามไปดู ใครจะมีศักยภาพรับซื้อได้มากขนาดนี้ หากไม่ใช่ผู้ค้ารายใหญ่ เพราะฉะนั้นความเป็นจริงคือ สลากฯจะขายหมดยังไงๆ ก็ต้องอาศัยการขายยกล็อตให้กับผู้ค้ารายใหญ่ เรื่องแบบนี้มีอยู่จริง และชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาวนกลับมาที่จุดเดิม”

รัฐจัดหาแหล่งทุนให้รายย่อยปิดช่องพึ่ง “นายทุน”

       อีกปัญหาที่สำคัญ คือ ผู้ค้ารายย่อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และไม่มีศักยภาพพอที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์การจำหน่ายสลากฯ ไปจากผู้ค้ารายใหญ่โดยสิ้นเชิง โดยผู้ค้ารายย่อยบ้านเรา ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ผู้ค้ารายย่อยไม่มีแหล่งทุนที่มีหลักประกันอย่างชัดเจน ไม่มีความเข้มแข็งในระบบจัดการซื้อมาขายไป กำไร-ขาดทุน ต้นดอกแยกแยะไม่ออก บางครั้งขายหมด หรือบางงวดทั้งกำไรขาดทุนเอาไปใช้จ่ายหมด จะไปต่างอะไรกับคนเช่านา คือ ตกเป็นเครื่องมือเพราะชีวิตมีความลำบาก

       ทางออกในเรื่องนี้ คือจะต้องทำให้ผู้ค้ารายย่อยเข้มแข็ง มีสายป่านยาว ซึ่งเป็นวิธีการสกัดผู้ค้ารายใหญ่ทางอ้อม โดยรัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มผู้ค้ารายย่อยโดยปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยมีเงินทุนเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพากู้เงินนอกระบบเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เช่นการจัดสรรเงิน “กองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ” ซึ่งมีเงินกว่า 8,000 ล้านบาท มาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้คนขายสลากฯ ที่ด้อยโอกาส และการปล่อยเงินกู้นั้น ต้องเพิ่มมาตรการเป็นพี่เลี้ยง ในการดูแลบริหารจัดการต้นทุน การบริหารเงินซื้อมาขายไปให้ได้กำไรอย่างถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเอ็นพีแอล

       ขณะเดียวกัน รัฐต้องมั่นใจว่าไม่มีการจัดสรรโควตาสลากฯ ให้กับองค์กรที่ไม่มีสมาชิก เพราะองค์กรนี้จะนำสลากฯจำนวนหลักหมื่นหลักแสนเล่มไปจัดสรรขายต่อที่ไหนได้ นอกจากขายต่อให้ผู้ค้ารายใหญ่

       “ซึ่งทุกวันนี้ที่มีการจัดสรรให้ “องค์กรที่มีสมาชิก” ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของสลากฯ 120 ล้านฉบับต่องวดและที่เหลือไม่ทราบว่าเข้าที่องค์กรที่ไม่มีสมาชิกกี่องค์กร และการจัดสรรไปที่ผู้ว่าฯ อย่างไรบ้าง ซึ่งมีคำถามว่ากลุ่มนี้จะไปเดินขายสลากฯหรือ ตรงนี้เห็นได้ว่า อยู่ดีๆ แม่เหล็กขนาดใหญ่จะดูดสลากฯ ล็อตใหญ่จำนวนมากไปที่ผู้ค้ารายใหญ่ มีการนำไปจัดชุดเลขสวย รางวัล 40-50 ล้านบาท เพื่อทำให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีการจัดชุดจะมีคนถูกสลากฯ 5 ใบพร้อมกันในงวดที่ผ่านมาได้อย่างไร และคนขายคนเดียวกันจะไปหาเลขสวยมาจากที่ไหน”

‘บิ๊กตู่’ ตั้งสมมติฐานแก้สลากผิดจึงสูญเปล่า

       นายมณเฑียร กล่าวว่า การที่ปัญหาสลากฯ ไม่สามารถแก้ไขได้แบบยั่งยืนนั้น เป็นเพราะรัฐตั้งสมมติฐานและทฤษฎี รวมทั้งหลักการที่ผิดมาตั้งแต่ต้น จึงทำให้สิ่งที่ทำไปเท่ากับการสูญเปล่า โดยหลักการ 3 ข้อที่รัฐยึดติดนั้น ประกอบด้วย

       ข้อหนึ่ง ในวัตถุประสงค์หลักของสลากกินแบ่งฯ นั้น ยังเป็นกลไกของการหาเงินเข้ารัฐ ซึ่งรัฐยังต้องพึ่งพาการหาเงินโดยวิธีการออกสลากฯ

       ข้อสอง รัฐยังต้องพึ่งพาผู้ค้ารายใหญ่ เพราะไม่มีความเชื่อมั่นในผู้ค้ารายย่อย และสำนักงานสลากฯ ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจจึงมีหน้าที่หลัก คือ การหาเงินเข้ารัฐจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ ให้หมด ด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามก็ต้องดำเนินการ และด้วยเหตุผลนี้จึงไม่สามารถตามไปดูแลผู้ค้ารายย่อยได้

       ข้อสาม ผู้ค้ารายย่อยให้ถือว่าการค้าสลากฯ เป็นเพียงอาชีพเสริมของคนยากจน (จากการให้สัมภาษณ์ของผู้นำรัฐบาลกล่าวว่า สลากฯ ไม่ควรเป็นอาชีพหลักสำหรับคนยากจน เป็นเพียงอาชีพเสริม)

       ขณะที่ในความเป็นจริงนั้น กลุ่มคนที่ไม่มีทางเลือก เช่น คนพิการ ชาวนาชาวไร่หลายคน เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้วไม่มีงานทำก็มาขายสลากฯ หรือคนพิการไปสมัครงาน แม้จะจบปริญญาตรีหรือโทไม่มีใครรับเข้าทำงาน สุดท้ายก็มายึดการค้าสลากฯ เป็นอาชีพหลัก

       “แม้รัฐจะพยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจังและได้คะแนนความตั้งใจ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มก็ตาม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน หากว่าหลักการยังอยู่บนสมมติฐานที่ผิด ทฤษฎีผิด และหลักการผิดทุกอย่างก็สูญเปล่า”

บิ๊กตู่แก้สลากกินแบ่งสูญเปล่า “พ่อค้าหัวใส” ยังกุมตลาดเบ็ดเสร็จ รอ ม.44 สิ้นมนต์!                                                                                                นายมณเฑียร บุญตัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

จับตา ม.44 สิ้นมนต์ขลังราคาสลากพุ่ง

       นายมณเฑียร บอกว่า แนวทางการแก้ไขนั้นได้มีการเสนอญัตติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการสลากฯ ในประเทศไทย วุฒิสภา ซึ่งมีการศึกษาและจัดทำรายงานแล้วเสร็จ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 มาเป็นแนวทาง โดยเนื้อหาหลักๆ กล่าวถึงสลากฯ ไม่ควรเป็นกลไกการหาเงินเข้ารัฐ แต่รัฐควรจะไปปรับปรุงประสิทธิภาพในการเก็บภาษีมากกว่าเงินรายได้จากสลากที่มีไม่มาก

       นั่นเพราะสลากฯ ควรจะเป็นเงินหมุนอยู่ในระบบสังคม หรือเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) และกลไกในการป้องปรามการพนัน หรือ จัดระเบียบการพนันไม่ให้คนเล่นอย่างเกินเหตุเกินผล เพราะสลากฯ พอควบคุมได้ แต่การพนันอื่นๆ เช่น กาสิโน โต๊ะบอล ควบคุมได้ยากมาก ดังนั้นการมีสลากฯ เพื่อเอาไว้คอยพยุงสังคมไม่ให้คนติดการพนันมากเกินไป

       ส่วนรายได้ที่ได้จากการเล่นสลากฯ ควรจะนำมาดูแลสวัสดิการให้ผู้ค้ารายย่อย เรียกว่า คืนกลับไปสู่การสร้างสังคมให้เข้มแข็ง และที่สำคัญคือ ต้องดิ้นให้หลุดจาก “กับดัก” ของการพึ่งพาผู้ค้ารายใหญ่ โดยตัดตอนตั้งแต่ต้นทางจากสำนักงานสลากลงมาถึงผู้ค้ารายย่อย

       ทั้งนี้เพราะการพึ่งพาผู้ค้ารายใหญ่ คือ ต้นตอปัญหาของสลากฯ ที่ไม่รู้จักจบสิ้น ทุกวันนี้ที่ขายในราคาที่ควบคุมได้เพราะรัฐสั่ง แต่เมื่อรัฐลดทอนคำสั่งลง หรืออำนาจที่ควบคุมโดยวิธีการสั่งหายไป ผู้ค้าจะกลับมาขายในราคาที่สร้างปัญหาเหมือนในอดีต

ที่ยิ่งกว่าคือ ตอนนี้ยังอั้นไว้อยู่ เมื่อถึงวันที่อำนาจรัฐในการสั่งด้วยมาตรา 44 สิ้นสุดลง คิดว่าผู้ค้ารายใหญ่จะขายในราคาที่รัฐควบคุมหรือ ที่ผ่านมาแบกภาระการขาดทุน และมีกำไรลดลง ดังนั้นหากมีโอกาสเมื่อมาตรา 44 เสื่อมแล้วนั้น ผู้ค้ารายใหญ่จะกลับมาเก็งกำไรเหมือนเดิม พร้อมๆ กับการถอนทุนอีกหลายเท่าด้วย //manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9590000014940
Create Date :11 กุมภาพันธ์ 2559 Last Update :11 กุมภาพันธ์ 2559 16:28:53 น. Counter : 766 Pageviews. Comments :0