Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
28 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
สรุป 12 เหตุการณ์น่าสนใจในวงการหนังไทย ปี 2007

ปรกติร้อยวันพันปี ผมคงไม่ได้คิดจะมาสรุปเหตุการณ์อะไรลงในบล็อก แต่อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่น จังหวะชีวิตเกิดรู้สึกอยากเขียน จึงขอเริ่มสรุปเหตุการณ์ที่น่าสนใจของวงการภาพยนตร์ไทยในปี 2007 มาไว้ 12 อย่าง ก่อนที่จะเขียนถึงวงการหนังของโลกในอีกคราว เพื่อให้หายอยากในโอกาสต่อไป

ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้มีหนังไทยที่โดดเด่นสร้างชื่อเสียงระดับโลก หรือมีหนังทำเงินเป็นประวัติการณ์ แต่ถือเป็นปีที่มีอะไรแปลกใหม่ที่ทั้งสร้างสีสัน ไปจนถึงตั้งคำถามต่อสังคมได้อย่างดียิ่ง พอที่จะทำให้เราเห็นว่า "หนัง" ไม่ใช่แค่ความบันเทิง

ใครที่คิดว่าในปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรน่าสนใจนอกเหนือจากที่ผมเขียน ก็มาเสริมได้ครับ นี่เป็นแค่มุมมองของผม ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองแยกแยะถูกผิดแต่ประการใด ไม่แน่อาจจะขยายกลายเป็น 13, 14, 15 ไปเลย(ยังกับหนังของมะเดี่ยวแน่ะ)

1.ตำนานสมเด็จนเรศวรมหาราช ภาคองค์ประกันหงสา และ ภาคประกาศอิสรภาพ ออกฉายในวันที่ 18 มกราคม และ 15 กุมภาพันธ์ ตามลำดับ ผลงานกำกับของ หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล ภาพยนตร์ทุนสร้างสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 700 ล้านบาท กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดประจำปีโดยรวมรายได้ทั้งสองภาครายได้น่าจะมากกว่า 450 ล้านบาท โดยถูกชูประเด็นรักชาติในช่วงที่บ้านเมืองยังมีความขัดแย้งได้น่าพอดิบพอดี แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ถูกตั้งคำถาม-วิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น แต่ก็นับเป็นอีกครั้งที่ท่านมุ้ยทำให้ประวัติศาสตร์ไทยถูกทบทวนอย่างแพร่หลายอีกครั้ง

2.Final Score 365 วัน - ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ ผลงานการกำกับของ โสรยา นาคะสุวรรณ ออกฉายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นับเป็นสารคดีเรื่องที่สองของประเทศไทยที่ได้ฉายในวงกว้างต่อจาก "เสือร้องไห้" โดยดึงจุดเด่นจากการตามติดชีวิตเด็กนักเรียนที่กำลังสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบใหม่เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งทำรายได้อย่างน่าพอใจไปประมาณ 25 ล้านบาท บริษัท GTH แสดงให้เห็นว่าหากตีโจทย์กลุ่มผู้ชมได้ถูก สารคดียังมีที่ทางในประเทศไทย เช่นเดียวกับเป็นการกรุยทางให้หนังประเภทนี้ต่อยอดอีกในอนาคต

3.หนังที่คนส่วนใหญ่มองข้าม แต่น่าสนใจคือ อสุจ๊าก หรือ The Sperm หนังแฟนตาซีเกี่ยวกับเรื่องเพศ ผลงานกำกับของ ทวีวัฒน์ วันทา ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่เรื่องของไทยออกฉายในวันที่ 22 มีนาคม และลาโรงอย่างเงียบๆ โดยทำรายได้ไม่ถึง 2 ล้านบาท แม้จะไม่เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่อง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าหนังประเภทนี้ เช่น จ.เจี๊ยวจ๊าว, สยิว ฯลฯ สังคมไทยโดยส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับ (ส่วนจะเป็นลักษณะปากว่า ตาขยิบ หรือเปล่าก็สุดจะคาดเดา)

ไชยา (30 สิงหาคม) ภาพยนตร์ที่ตีแผ่อาชญากรรมในวงการมวยไทยเป็นครั้งแรก ผลงานกำกับของ ก้องเกียรติ โขมสิริ ได้รับเกียรติให้เป็นหนังปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งกรุงเทพฯ ครั้ง 5 ระหว่างวันที่ 19-29 กรกฎาคม 2007

4.นับเป็นปีที่ภาพยนตร์ไทยมีหนังเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นรักร่วมเพศออกฉายในวงกว้างถึง 3 เรื่อง ตั้งแต่หนังที่ตั้งคำถามกับรสนิยมทางเพศ ใน Me...Myself(19 เมษายน), หนังที่ว่าด้วยความรักของคนเพศที่สามใน เพื่อน...กูรักมึงว่ะ(13 กันยายน), และหนังรักที่มีประเด็นรักร่วมเพศผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่นอย่าง รักแห่งสยาม(22 พฤศจิกายน) ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างชัดเจนจากหนังกระเทยที่เน้นให้ผู้ชายแต่งหญิงเพื่อเกิดความขบขัน โดยเฉพาะเรื่องหลังซึ่งก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน และคลั่งไคล้อย่างที่ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก

5.แสงศตวรรษ ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุดของ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล คนทำหนังไทยที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในระดับนานาชาติ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนในรุ่นเดียวกัน) ซึ่งมีแผนจะออกฉายจำกัดโรงในวันที่ 19 เมษายน มีเหตุให้ต้องระงับการฉาย เนื่องจากมีปัญหาในการตรวจเซ็นเซอร์ ซึ่งสั่งตัดฉาก 4 ฉากในหนังออกไป

มีทั้งเสียงของคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การเลือกไม่ฉายเพราะโดนตัดทอนของผู้สร้าง ได้ขยายให้เกิดประเด็นความเหมาะสมของ พระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับปัจจุบัน การจัดเรต ปัญหาในวงการภาพยนตร์ไทยที่เรื้อรังมายาวนาน จนเกิดการก่อตั้งกลุ่ม Free Thai Cinema

6.Wonderful Town ผลงานกำกับหนังขนาดยาวเรื่องแรกของ อาทิตย์ อัสรัตน์ ได้รับรางวัล New Currents Award ร่วมกับภาพยนตร์อีก 2 เรื่อง ในงานเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ครั้งที่ 12 โดยยังนับเป็นหนังขนาดยาวเรื่องแรกๆ ที่อิงเหตุการณ์คาบเกี่ยวกับภัยพิบัติสึนามิ ในปี 2548

7.งานด้านภาพยนตร์ที่โดดเด่นในประเทศไทยปี 2550 ได้แก่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5(19-29 กรกฎาคม 2550) , เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 5 (25-31 ต.ค.2550), เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 11, งานประชุมวิชาการภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1(เป็นการนำเสนอเรื่องทางด้านภาพยนตร์ไทยในเชิงวิชาการเป็นครั้งแรก)

ที่ต้องชมเป็นพิเศษคือ หน่วยงานเล็กๆ อย่าง มูลนิธิหนังไทย ที่มีคนทำงานไม่กี่คน แต่สามารถจัดงานน่าสนใจมาโดยตลอด รวมไปถึง เทศกาลหนังดิจิตอลยาว(6-9 กันยายน) ซึ่งฉายหนังดิจิตอลขนาดยาว ที่มีงานอย่าง The Truth Be Told สารคดีตามติดชีวิตของ สุภิญญา กลางณรงค์ โดยคุณพิมพกา โตวิระ และ สัปดาห์ภาพยนตร์เชิด ทรงศรี

8.แม้เราจะไม่เห็นหนังไทยที่ออกฉายในวงกว้างเรื่องใดกล่าวถึงประเด็นทางสังคมหลังยุครัฐประหาร แต่ในการฉายเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 11 ได้มีหนังสั้นที่มีเนื้อหาวิพากษ์การเมืองไทยทั้งโดยตรง และเคลือบแฝงออกมาจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นพลังเงียบของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกคับข้องกับสถานการณ์ในประเทศ งานที่โดดเด่น เช่น ความลักลั่นของงานรื่นเริง โดย ปราปต์ บุนปาน, The Day Before Revolution. โดย ภาส พัฒนกำจร, และ เวลา-ลาน (Somewhere-in-time) โดย ไพรัช คุ้มวัน เป็นต้น


9.พระพุทธเจ้า (The Life of Buddha) ภาพยนตร์อนิเมชั่น เรื่องที่ 3 ของไทยออกฉายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ต่อจากเรื่อง สุดสาคร() และ ก้านกล้วย(2549)

10.หนังไทยยังได้ไปฉายในเทศกาลหนังเช่นเคย หนังปี 2550 (ซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึง)ที่โดดเด่นได้แก่ พลอย ผลงานกำกับของ เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งได้รับเชิญให้ฉายในสาย Director's Fortnight เทศกาลหนังเมืองคานส์, Pleasure Factory ของ เอกชัย เอื้อครองธรรม ในสาย Un Certain Regard เทศกาลหนังเมืองคานส์ และ Alone หรือ แฝด ผลงานกำกับของ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ และ บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่ฉายใน Screamfest Horror Film Festival 2007 ซึ่งคว้ารางวัลมาได้ถึง 4 สาขาคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, และ ตัดต่อยอดเยี่ยม ส่วนในเทศกาล Fantastic Fest 2007 แฝดก็ยังคว้ารางวัลมาได้อีก 3 รางวัลคือ รองอันดับ 1, ผู้กำกับ และนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม

11.ในขณะที่ ที่ทางของคนทำหนังรุ่นใหม่หลายคนไม่มีโอกาสได้ทำหนังเชิงพาณิชย์เพื่อฉายในวงกว้าง ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มคนทำหนังที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่มาจากกลุ่มวงการนักแสดงตลก ปี 2550 มีหนังสองเรื่องที่ฉายเก็บเงินแบบวงจำกัด ได้แก่ Lullabye Before I Wake ของ เนตร พันธุมสินชัย และ ดึกแล้วคุณขา ของ สันติ แต้พานิช ทั้ง 2 เรื่องฉายจำกัดโรงที่ ลิโด ก่อนจะลาโรงไปอย่างรวดเร็ว

12.หลังการเกิดขึ้นของกลุ่ม Free Thai Cinema ได้ก่อให้เกิดกลุ่มที่ประท้วงการเซ็นเซอร์อีกหลายกลุ่ม ทั้งจากคนทำหนัง, แวดวงวิชาการ, ไปจนถึงผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งได้จัดการประท้วง, แถลงข่าว และการสัมมนาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี (ซึ่งต่างจากปรกติที่มักมีแต่กลุ่มประท้วงไม่ให้ฉายหนัง) แต่ก็เช่นเดียวกัน จะด้วยเพราะนี่เป็นการปกครองของรัฐบาลที่จัดตั้งหลังการทำรัฐประหารหรือไม่ก็ตาม ปีนี้ยังเป็นปีที่มีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ต่างๆ ทั้งที่ฉายในโรง แพร่ภาพทางโทรทัศน์ และผลิตเพื่อจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ มากที่สุดครั้งหนึ่ง รวมไปถึงการก่อเกิด พระราชบัญญติภาพยนตร์ใหม่ ที่ทั้งจัดเรท และแบนได้ ดังเนื้อหาด้านล่าง

การจัดเรทภาพยนตร์ ตามมาตรา 26 กำหนดการจัดประเภทภาพยนตร์ (เรทติ้ง) ออกเป็น 7 เกณฑ์ คือ

1) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู

2) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป

3) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป

4) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

5) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

6) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู

7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร

โดยมีหลักเกณฑ์ในการแบนหนังคือ "ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชน" ได้เปลี่ยนเป็น "ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 'หรืออาจ'กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ และ ‘เกียรติภูมิประเทศไทย’ "

ขอไว้อาลัยให้กับเหตุการณ์สุดท้ายซึ่งทำให้สถานการณ์วงการหนังไทยปี 2551 วังเวงพิกล


Create Date : 28 มกราคม 2551
Last Update : 28 มกราคม 2551 10:35:48 น. 16 comments
Counter : 1182 Pageviews.

 
อ่านเรื่อง เซนเซอร์ กับจัดเรตแล้ว

วังเวง วังเวง


โดย: เสือจุ่น IP: 58.9.184.82 วันที่: 28 มกราคม 2551 เวลา:14:19:00 น.  

 
เซ็นเซอร์ทุเร......ศ


โดย: Tomkung IP: 58.9.74.209 วันที่: 28 มกราคม 2551 เวลา:22:07:52 น.  

 
ปรี๊ดแตกกับวิธีการจัดเรทสุด ๆ แล้วค่ะ


โดย: tae IP: 124.121.147.167 วันที่: 28 มกราคม 2551 เวลา:23:08:54 น.  

 
หนูก็ไม่เห็นด้วยนะ กับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่ลงแผ่นแล้ว บางอันมันทำให้เสียอรรถรส จริงค่ะ เอ้ย ครับ


โดย: เอสุเกะคุง IP: 203.209.44.17 วันที่: 29 มกราคม 2551 เวลา:16:20:36 น.  

 
แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผมมีเสื้อดำเพิ่มขึ้นตัวหนึ่ง ซึ่งผมจะใส่มันและซักสลับไปมาช่วง 15 วันไว้ทุกข์ (เพราะผมเองไม่ชอบสีดำด้วยเหตุผลเพราะมันดูดความร้อนได้มาก) คือเสื้อ No Cut No Ban

และนั่นคือข้อดีข้อเดียวจากข้อเสียล้านข้อของการเซ็นเซอร์

ส่วนเรื่องอื่นๆผมว่าเป็นปีที่น่าพอใจทีเดียวสำหรับวงการหนังไทย


โดย: ต้องบอกด้วยเหรอ วันที่: 29 มกราคม 2551 เวลา:21:50:21 น.  

 
มีอนิเมชั่นไทยอีกเรื่องนึงนะพี่
ของ แมลงปีศาจไง เข้าฉายที่ เฮ้าส์ที่เดียวอะครับ

ส่วนเรื่องเซ็นเซอร์นี่ ได้แต่เศร้าครับพี่
-_-'


โดย: ;y= IP: 58.9.212.188 วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:22:25:54 น.  

 
เสือจุ่น, Tomkung, tae
^
^
^
ผมก็รู้สึกวังเวงครับ แต่ที่วังเวงกว่าก็คือกฎหมายฉบับนี้เขาจะใช้เมื่อไหร่ กลัวน่ะกลัวครับ แต่ที่ตลกก็คือเขาร่างขึ้นมาเพื่อแสดงความอหังการหรืออย่างไร จนบัดนี้ผมยังเดินเข้าโรงหนังโดยไม่เห็นมีใครต้องตรวจสอบอายุสักคน

เอสุเกะคุง
^
^
^
ตกลงจะค่ะ หรือครับ ดีล่ะครับ

ต้องบอกด้วยเหรอ
^
^
^
ผมคิดว่าปีนี้เป็นปีที่น่าพอใจมากเลยครับ โดยเฉพาะความร่วมมือของคนในวงการหนัง

;y=
^
^
^
ดีมากวัช ช่วยกันนับเหตุการณ์สำคัญ


โดย: yuttipung IP: 58.9.199.198 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:54:21 น.  

 

อย่าลืมน้องสาหร่าย 555


โดย: merveillesxx วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:3:01:23 น.  

 
^
^
^
เอ่อ ลืมไป นั่นคือเหตุการณ์สำคัญที่สุดนี่นะ 555


โดย: yuttipung IP: 58.9.221.76 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:44:29 น.  

 
.....ซินเจียยู่อี่...ซินนี้ฮวดไช้ ...นะคะ!!!!!!!!!!!

โดย: a_mulika วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:0:11:04 น.  

 
^
^
^
สวัสดีตรุษจีนเช่นกันครับ


โดย: yuttipung IP: 58.9.224.90 วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:11:21:03 น.  

 



Happy Valentine's Day นะจ๊ะ



โดย: a_mulika วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:11:24:51 น.  

 
โอ้ ขอบพระคุณครับ


โดย: yuttipung IP: 58.9.222.249 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:42:53 น.  

 
รักแห่งสยามซิสุดๆ


โดย: hutchjaa IP: 202.91.18.194 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:19:06 น.  

 
หนังไทยทำกี่ชาติก็ไม่มีดีเลย ตอนนี้ยิ่งทุเรศกว่าเดิมที่โหลอยู่แล้ว มีแต่หนังผิดเพศ อนาคตไทยคงจะมีพระป็นสัตว์กับคน แบบในหนังฝรั่งบางผู้กำกับสุดก็รีบๆทำมานะ


โดย: 007 IP: 61.91.188.248 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:19:48:57 น.  

 
^
^
^
ผมไม่เถียงนะครับว่าหนังบ้านเราคงยังต้องพัฒนาอีกไกลมาก ที่สรุปปัจจุบันนี้คือเหตุการณ์ที่น่าสนใจเมื่อปีที่ผ่านมา หากปราศจากอคติ ความแตกต่างเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการพัฒนาได้

ยังไงก็หัดพิมพ์ภาษาไทยให้อ่านรู้เรื่องก่อนนะครับ


โดย: yuttipung IP: 58.9.188.195 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:10:28:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

yuttipung
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เป็นคนไม่เป็นโล้เป็นพายคนหนึ่งที่ติดอินเตอรเน็ต จนได้งานพอประทังเลี้ยงชีพ Blog นี้มอบให้แก่หญิงสาวที่ให้กำลังใจสำหรับความฝันอันริบหรี่ของผมมาตลอด ปัจจุบันเรียนโทจบแล้ว ทำงานหลายที่ หลักๆ ตอนนี้เพิ่งเริ่มเป็น Webmaster นิตยสารแห่งหนึ่ง ส่วนงานพิเศษคือลงข่าว และข้อมูลหนัง ดูแลเว็บให้กับ Popcornmag กับ เครือข่ายคนดูหนัง และเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ให้กับ Filmax

Friends' blogs
[Add yuttipung's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.