เลิกรา หย่าร้าง สะสางทรัพย์สินอย่างไร




บล็อกนี้เขียนเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหญิงไทยที่อยู่ในออสเตรเลีย ขออนุญาตผู้อ่านที่ติดตามบทความการแปลมาเขียนนอกเรื่องหนึ่งวัน

วันนี้เขียนสิ่งที่ได้เรียนจากงานสัมมนาเรื่องSeparation: Know Your Rights and Options จัดโดย สมาคมสารนิเทศและสวัสดิภาพไทย (ทิวา) (Thai Information and Welfare Association Inc.) (TIWA) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2559 ที่เมลเบิร์น

ปัญหาคลาสสิกของหญิงไทยในต่างประเทศขณะนี้ไม่พ้นเรื่องหย่าร้างแยกทาง การแบ่งสินสมรส ความรุนแรงในครอบครัว และวีซ่า

สัมมนาครั้งนี้เปิดงานโดยฯพณฯ ท่าน ดร. ไซมอน วอลเลซ กงสุลกิตติมศักดิ์ ประจำสถานกงสุลใหญ่ เมลเบิร์น

ดร.ไซมอน อธิบายว่า สมัยก่อนโน้น ปัญหาในกลุ่มผู้หญิงไทยพี่พบบ่อยคือการลักลอบค้ามนุษย์ แต่เนื่องจากปัจจุบันพาสปอร์ตมีการติดไมโครชิพทำให้ปลอมแปลงได้ยากขึ้น ประเด็นปัญหาจึงเปลี่ยนไป โดยพบว่า ผู้หญิงไทยในออสเตรเลียประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) มาก

ในบางกรณีคนไทยที่ประสบปัญหาอาจไม่ขอความช่วยเหลือเพราะเข้าประเทศออสเตรเลียด้วยวีซ่าผิดประเภท กรณีตัวอย่างมีคนมาทำงานเก็บเห็ดโดยที่ไม่ได้ถือวีซ่าที่อนุญาตให้ทำงานได้ ปรากฏว่าวันหนึ่งเก็บเห็ดผิดประเภทมากินทำให้ป่วยหนักแต่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ สุดท้ายเสียชีวิต

ในรัฐวิกตอเรียชุมชนคนไทยขนาดใหญ่จะอยู่ที่ เบนดิโก และโรบินเวล

เดิมSBS จะเป็นศูนย์กลางที่คนไทยติดต่อเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือ ปัจจุบัน TIWA ได้เข้ามามีบทบาทตรงนี้มากขึ้นโดยเป็นศูนย์ให้ข้อมูลแก่คนไทย ช่วยเหลือเรื่องสวัสดิภาพและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าหน่วยงานหลักที่สนับสนุน TIWA คือสถานกงสุลใหญ่ เมลเบิร์น

หัวข้อแรกที่เรียนคือ Safety from Violence วิทยากรคือคุณลอรา แสงภู่ จาก Safe Steps (คุณลอรามีสามีเป็นคนไทย)

คุณลอราบอกว่า ความรุนแรงในครอบครัว มีหลายรูปแบบ เช่น การข่มขู่ว่าจะเอาลูกไปข่มขู่ว่าจะยกเลิกวีซ่า หรือทำร้ายจิตใจโดยการพูดถากถางกดดันให้เรารู้สึกไม่ดีตลอดเวลาหรือการจำกัดทางการเงิน เช่น เราต้องขอเงินเพื่อมาซื้อนมหรือผ้าอ้อมให้ลูก(ทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว การเป็นคู่ครองกัน ทั้งสองฝ่ายมีภาระทางการเงินร่วมกันดังนั้นหากเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านไม่จำเป็นต้องขอแต่ฝ่ายชายต้องหยิบยื่นให้เอง) หรือแม้แต่การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ (หลายๆคนไม่รู้ตัวว่าถูกบังคับ สามีอาจจะพูดให้รู้สึกผิด ว่ามันเป็นหน้าที่ของเธอเธอต้องทำ แต่แท้จริงแล้ว คือการบังคับ)

วงจรความสัมพันธ์มีอยู่4 ช่วงคือ (1) Honeymoon Phase คือ ช่วงที่รักกันหวานชื่อ (2Tension-building Phase คือ ช่วงที่เกิดความตึงเครียดปัญหาสะสมมากขึ้น (3) Explosive Phase เป็นช่วงที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น (4)  Reconciliation หรือช่วงคืนดีกัน จากนั้นวงจรก็เริ่มใหม่อย่างนี้เรื่อยๆ

บางครั้งสามีอาจทำร้ายเราโดยอ้างว่า พลั้งไป ควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่เพราะหากสามีไม่ตบตีเราในที่สาธารณะ แต่รอให้ถึงบ้านก่อนถึงค่อยลงมือแสดงว่าไตร่ตรองไว้แล้ว ไม่ใช่กรณีที่ควบคุมตนเองไม่ได้

Safe Steps มีแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงด้านความรุนแรงในครอบครัว หากสำรวจตัวเองแล้วทำเครื่องหมาย4-5 ช่องแสดงว่ามีความเสี่ยงที่จะประสบกับความรุนแรงในบ้าน สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.dhs.vic.gov.au/__data/assets/word_doc/0010/642961/Practiceguideno2.doc

กรณีที่ Safe Step ได้รับการติดต่อจากผู้หญิงที่ประสบภัย Safe Step สามารถหาพี่พักที่ปลอดภัยให้พักพิงชั่วคราวได้เป็นเวลา6-8 สัปดาห์ โดยจะไม่มีใครรู้ตำแหน่งของที่พักนี้ แม้แต่ตำรวจหรือ ต.ม.

สำหรับคนที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัวแต่เลือกที่จะไม่หนีออกมา Safe Step แนะนำให้เตรียมกระเป๋าฉุกเฉินในกระเป๋าควรใส่เอกสารที่สำคัญๆ เช่น ใบเกิด ทะเบียนสมรส เอกสารศาล ใบขับขี่บัตรประกันสุขภาพ รายละเอียดธนาคาร เงินสดเล็กน้อยไว้จ่ายค่าแท็กซี่หรือรถเมล์ยาประจำตัว ของใส่ส่วนตัว เสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน เบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนหรือคนในครอบครัวประกัน ที่ทำงาน โรงเรียน หมอ ทนายความ ให้เก็บกระเป๋าไว้ในที่ที่สามีจะหาไม่เจอ

สำหรับเอกสารสำคัญอาจแสกนเก็บไว้ในอีเมล หรือทำสำเนาฝากเพื่อนสนิทไว้ 1 ชุดก็ได้

เคยมีกรณีที่ผู้หญิงไม่ยอมหนีเพราะสามียึดพาสปอร์ตไว้ ส่วนนี้ ท่านกงสุลบอกว่า หนังสือเดินทางไทยเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย (อ่านปกหลังของพาสปอร์ต) ให้ติดต่อสถานทูตเพื่อขอรับความช่วยเหลือโดยจะมีการประสานกับตำรวจเพื่อนำพาสปอร์ตคืน

Safe Step ให้บริการผู้หญิงเท่านั้น เปิดรับสาย 24 ชั่วโมงที่ 1800 015188 

ช่วงที่สองของการสัมมนายิ่งน่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องวีซ่า วิทยากรคือ คุณแอนโทนี วอลเลส (ไอ-ไมเกรชั่น)

สิ่งแรกที่คุณแอนโทนีบอกคือเราต้องรู้ก่อนว่า เราถือวีซ่าอะไร หลายๆคนโทรหาคุณแอนโทนี บอกว่าตัวเองมี partner visa แต่ถามแล้วปรากฏว่าเป็นคู่สมรสของผู้ที่ถือวีซ่านักเรียน แสดงว่าวีซ่าที่ผู้หญิงถือเป็นวีซ่าประเภทอื่น(ผู้ติดตามนักเรียน)

วีซ่าคู่ครองหลักๆจะมี 3 กลุ่ม คือ 309/100 กรณีสมัครขณะที่อยู่นอกออสเตรลีย (offshore) 820/801 กรณีสมัครขณะที่อยู่ในออสเตรลีย (onshore) และ300 หรือวีซ่าคู่หมั้น (prospective marriage)

ขณะนี้เวลาดำเนินวีซ่าประเภทนี้จนถึงอนุมัติอยู่ที่12-15 เดือน คุณแอนโทนีแนะนำว่าให้ยื่นขอ partner visa ก่อน แล้วค่อยขอ tourist visa ตัว tourist visa จะอนุมัติง่ายกว่าเพราะในระบบของ Immigration จะมีข้อมูลใบสมัคร partner visa ไว้แล้ว

และให้ยื่นขอpartner visa แบบ onshore ถ้าทำได้ เพราะยื่นแล้วจะได้ bridging visa ซึ่งทำงานได้เลยและขอประกัน Medicare ได้ด้วย

ขั้นตอนการขอวีซ่ามี3 ขั้นตอนคือ (1)ยื่นวีซ่า - ในขั้นตอนนี้หากปรากฏว่าผู้สมัครแยกทางกับสปอนเซอร์ Immigration จะไม่พิจารณาใบสมัครต่อ (2) TR – หากได้รับ TR แล้ว เกิดความรุนแรงในครอบครัว ผู้สมัครอาจขอ PR ได้หรืออาจเลือกไปขอวีซ่าประเภทอื่น (3) PR - เมื่อได้รับ PRแล้ว แม้จะแยกทางกับสปอนเซอร์ ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อวีซ่า

เคยมีคนโทรหาคุณแอนโทนีบอกว่า “ภรรยาถูกลักพาตัว” พอสอบถามก็ได้ความว่า ภรรยาเพิ่งได้รับ PR เมื่อ 2 วันก่อน พอถึงวันนี้ข้าวของทุกสิ่งอย่างรวมทั้งตัวภรรยา หายไปหมดเลย ไม่เหลืออะไรในบ้าน (ตัวฝ่ายชายอายุมากกว่าฝ่ายหญิง2-3 รอบ)

สำหรับผู้สมัครที่ได้รับวีซ่าแล้วมีข้อจำกัดคือ จะไม่สามารถสปอนเซอร์ผู้อื่นได้เป็นเวลา 5 ปี

ปัจจุบันกระบวนการด้านตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียกำลังมีการเปลี่ยนแปลงโดยจะมีการตรวจสอบสปอนเซอร์มากขึ้นโดยเฉพาะด้านการเงิน (ประสานกับสรรพากรออสเตรเลีย)

ทางเลือกวีซ่าอื่นๆสำหรับคนที่หมดช่องทางได้รับ PR เช่น วีซ่า 500 (นักเรียนและ 457 (ทำงานชั่วคราว) เดิมผู้ที่เข้าประเทศด้วย partner visa จะไม่สามารถสมัคร student visa ได้แต่ขณะนี้สามารถทำได้แล้วเนื่องจากมีการเปลียนแปลงระเบียบ

ผู้ที่มีpartner visa ซึ่งประสบกับความรุนแรงในบ้านต้องส่งหลักฐานที่ไม่ใช่หลักฐานที่ได้จากทางศาล (non-judicially determinedevidence) x 2 รายการ เช่นรายงานผลตรวจร่างกายจากโรงพยาบาล บันทึกประจำวันจากตำรวจคำแถลงจากหน่วยงานที่ให้ที่พักพิง

สำหรับการขอวีซ่าในประเทศออสเตรเลียหากผู้ถือวีซ่า มีเงื่อนไข 8534 No further stay (ติดมากับวีซ่านักเรียน)) และ 8503 No further stay (ติดมากับวีซ่าท่องเที่ยววีซ่าทำงานและท่องเที่ยว และวีซ่าฝึกอบรม) ผู้ถือวีซ่าจะไม่สามารถสมัครวีซ่าอื่นใดในออสเตรเลียได้อีก ต้องบินออกมาขอที่ประเทศต้นทาง

มีคนถามว่า ถ้าแยกทางกับสามีด้วยดีสามีไม่มีปัญหาเรื่องวีซ่าของฝ่ายหญิง แต่ลูกๆ ของสามีกดดันให้ส่งฝ่ายหญิงกลับประเทศ จะทำอย่างไร คำตอบคือ กรณีนี้จะใช้ Family Violence Provision ไม่ได้เพราะสปอนเซอร์ไม่ได้เป็นผู้กระทำ

ไอ-ไมเกรชั่นให้คำปรึกษาเบื้องต้น 45 นาที ในอัตรา $150 ขอนัดปรึกษาได้ที่03-9936 8874 (เราว่าไม่แพงเพราะเคยเช็คของที่อื่น แพงกว่านี้อีก อีกอย่าง เราว่าคนไทยน่าจะอุ่นใจ เพราะคุณเอมี่ จนท.ของที่นี่ เป็นอดีตจนท. สถานกงสุลไทยเมลเบิร์น พูดภาษาไทย และคุณแอนโทนีซึ่งเป็นเจ้าของ ก็เป็นบุตรชายของท่านกงสุลไซมอน ไอ-ไมเกรชั่นเป็นลูกค้าเราที่ส่งเอกสารวีซ่าให้เราแปลด้วย)

หัวข้อที่สามคือเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน หรือ Property Settlement วิทยากรคือ คุณมะลิ คอนิช ทนายความ

เมื่อแยกทางแล้วสามารถยื่นขอแบ่งทรัพย์สินได้ตามกรอบเวลาคือ หากยังสมรสอยู่ ไม่จำเป็นต้องรอหย่าจึงค่อยขอยื่นแบ่งทรัพย์สิน หากเป็นกรณีอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา (de facto) สามารถยื่นขอแบ่งทรัพย์สินได้ภายใน2 ปีนับจากวันที่แยกทาง และหากหย่าร้างแล้ว สามารถยื่นขอแบ่งทรัพย์สินได้ภายใน 1 ปีนับจากวันที่การหย่าร้างเสร็จสิ้น

ทรัพย์สินที่จะนำมาแบ่งคือทุกสิ่งที่มีมูลค่า แม้ว่าจะอยู่ในชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวก็ตาม ทั้งบ้านรถ หุ้น เงินซุปเปอร์ (เงินเกษียณอายุ) เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ภาพเขียนที่มีมูลค่า

กรณีสามีโยกย้ายทรัพย์สินไปไว้ในชื่อแม่ก่อนแต่งงานเพื่อที่จะไม่ให้ทรัพย์สินนั้นถูกนำมารวมเป็นสินรส ศาลสามารถสั่งเรียกคืนทรัพย์สินได้เพราะเป็นทรัพย์สินที่มี equitable interest (ส่วนได้ส่วนเสียตามหลักยุติธรรม) ติดมาด้วย

หนี้สินก็ต้องแบ่งเช่นกันโดยรวมถึงหนี้ที่ติดพ่อแม่หรือคนในครอบครัวที่อีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่รู้ หนี้บัตรเครดิต แม้ว่าจะเป็นหนี้ที่อยู่ในชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวก็ตาม

ในการแบ่งทรัพย์สิน ศาลจะไม่สนใจว่าแยกทางกันเพราะอะไร (เช่นฝ่ายชายมีชู้ ฝ่ายหญิงควรได้ทรัพย์สินทั้งหมด) จะพิจารณาเฉพาะเรื่องทรัพย์สินเท่านั้น โดยใช้ 4 ขั้นตอน (1) ระบุทรัพย์สินและหนี้สิน โดยต้องเป็นการเปิดเผยที่ครบถ้วนตรงไปตรงมา (full and frank disclosure) ต้องระบุทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศด้วย (2) พิจารณาการมีส่วนร่วมในครอบครัวทั้งที่เป็น financial contribution และ non-financial contribution ไอเดียที่ว่าฝ่ายหญิงเป็นแม่บ้าน ไม่เคยทำงานหาเงินไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ฝ่ายหญิงไม่ได้รับส่วนแบ่ง เพราะการเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกทำกับข้าว ทำความสะอาด ก็เป็น contribution เช่นกัน (3) พิจารณาความจำเป็นของแต่ละฝ่าย เช่น ฝ่ายหญิงไม่เคยทำงานเลยเป็นแม่บ้านมาตลอด แยกทางกันแล้ว จะหาเงินอย่างไร ฝ่ายชายกำลังเจ็บป่วยอยู่ต้องมีเงินสำรองเพื่อรักษาพยาบาลในอนาคต (4) พิจารณาว่าส่วนแบ่งนั้นเป็นธรรมหรือไม่

คำสั่งศาลในออสเตรเลียเรื่องทรัพย์สินไม่มีผลบังคับในกับทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย (จะต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ในประเทศไทยโดยจ้างทนายในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ)

สัญญาตัวหนึ่งที่มีบทบาทคือ Binding Financial Agreement หรือ Pre-nuptial Agreement หรือสัญญาก่อนสมรส สัญญาตัวนี้แน่นอนว่ามักจะไม่ค่อยเป็นธรรม โดยจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ตัวสัญญาจะระบุเงื่อนไขของการแบ่งทรัพย์สินภายหลังการหย่าร้างหรือแยกทางว่าฝ่ายใดจะเก็บอะไรไว้ ฝ่ายใดจะได้ส่วนแบ่งเท่าไร บางกรณีสัญญาระบุไว้ว่าแต่ละฝ่ายจะไม่ได้ทรัพย์สินของอีกฝ่ายเลย เดิมมีเท่าไหร่ ก็ได้คืนไปเท่านั้น ถ้าฝ่ายหญิงมาแต่ตัว พอเลิกกันแล้ว ก็ไปแต่ตัว

แต่สัญญานี้สามารถถูกเพิกถอนได้เช่น หากขณะที่เซ็น ฝ่ายที่เซ็นอยู่ในสถานการณ์คับขัน (distress) อย่างกรณีฝ่ายชายขู่ว่าจะยกเลิกงานแต่งงานถ้าไม่เซ็นสัญญาตัวนี้ หรือสัญญาไม่ได้ระบุทรัพย์สินทั้งหมดของทั้งสองฝ่ายโดยอาจปกปิดทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ หรือขณะเซ็นสัญญา ผู้เซ็นมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์หรือสัญญาไม่ได้ระบุการแบ่งทรัพย์สินกรณีมีบุตรด้วยกันแต่ภายหลังแต่งงานแล้วปรากฏว่ามีบุตร (ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ) หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้รับคำปรึกษาด้านกฎหมายก่อนเซ็น หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าใจภาษาที่ใช้ในสัญญา (ต้องส่งแปล ค่าแปลไม่ได้ถูกๆ ขั้นต่ำคำละ$0.35)

ไม่ใช่ทนายทุกคนที่รับทำสัญญาก่อนสมรสเพราะหลายครั้งทนายผู้ร่างสัญญาก็ถูกฟ้อง (เคยมีเคสลูกความตัวเองฟ้องทนายความเพราะร่างสัญญามาไม่ครอบคลุมทำให้ปกป้องทรัพย์สินไม่ได้ตามต้องการเมื่อถึงเวลาหย่า)

มีคนถามเรื่องทรัพย์สินที่ถูกระบุไว้ในพินัยกรรมว่าเป็นของลูกของฝ่ายชาย หากแยกทางกันลูกจะขอกันทรัพย์สินนั้นไว้ได้มั้ย คำตอบคือไม่ได้ เพราะพินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้วเท่านั้น ถ้าฝ่ายหญิงจะขอแบ่งทันทีที่แยกทางก็สามารถยื่นเรื่องขอแบ่งทรัพย์สินได้เลย

อนึ่ง เงินซุปเปอร์จะมีข้อยกเว้นคือต้องแบ่งเท่ากันตามคำสั่งศาล เช่น ฝ่ายชายมี $100,000 ฝ่ายหญิงมี 10,000 พอรวมกันแล้วหารสอง จะได้ฝ่ายละ $65,000 จะไม่เหมือนการแบ่งทรัพย์สินอื่นที่อาจจะไม่ใช่การแบ่ง50/50 หลายๆกรณีหากผู้หญิงไม่ทำงาน เป็นแม่บ้านอย่างเดียว เมื่อถึงเวลาแยกทางฝ่ายหญิงจะได้ส่วนแบ่ง 55% ฝ่ายชายจะได้ 45% (มิน่า ผู้ชายประเทศนี้ ถ้าหย่ามาแล้วมักจะไม่ค่อยเหลืออะไรให้เมียคนที่สองที่สามเพราะคนแรกก็เอาไปซะเยอะแล้วผู้หญิงไทยที่มาได้สามีชาตินี้ก็มักจะเป็นคนที่สองหลังจากผู้ชายหย่าจากภรรยาชาติเดียวกันต้องรักกันจริงนะเนี่ย ไม่งั้นไม่มา)

ในการแบ่งทรัพย์สิน ควรใช้บริการทนาย หากไม่มีรายได้สามารถขอทนายฟรีได้จาก Legal Aid หรืออาจติดต่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้ส่งต่อไปยังที่ปรึกษากฎหมายซึ่งหลายแห่งจะให้คำปรึกษาฟรี 1 ชั่วโมงแรก คนไหนที่ไม่ได้รับสิทธิใช้ทนายฟรีจาก Legal Aid ให้เตรียมเงินค่าทนายไว้เยอะๆ บอกเลยว่าอ่วมอรทัย ผู้ร่วมสัมมนาท่านหนึ่งอยู่ในระหว่างสู้คดีกับคู่สมรสของตัวเองซึ่งค่าทนายเสียไปแล้ว $30,000 กว่าๆ (เกือบจะล้านบาทแล้ว)คดียังไม่เสร็จเลย

จริงๆมีอีกหัวข้อหนึ่งคือเงินช่วยเหลือจาก Centrelink แต่มันมีหลายประเภทมากจนเรางง แนะนำให้หาอ่านจากเว็บไซต์ Centrelink มีข้อมูลจัดทำเป็นภาษาไทยไว้แล้ว หรือโทรศัพท์ไปก็ได้ มีบริการล่ามให้ฟรี

สุดท้ายนี้ ขอทิ้งเบอร์ TIWA ไว้ หากต้องการความช่วยเหลือเบื้องต้น ให้โทรไปที่ 96399964 หรืออีเมลไปที่ thaiwelfare.victoria@gmail.com




Create Date : 10 กันยายน 2559
Last Update : 10 กันยายน 2559 15:15:53 น.
Counter : 5164 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
กันยายน 2559

 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
28
29
30
 
 
All Blog