ได้เวลาขึ้นค่าบริการหรือยัง



นี่ก็จะสิ้นปีแล้วได้เวลาปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง รวมถึงการปรับค่าบริการ

สาเหตุหลักที่ผู้ให้บริการขึ้นค่าบริการคือต้นทุน และต้นทุนหลักของงานบริการคือค่าแรง

ปกติถ้าทำงานกับเอเจนซี่ถ้านักแปลไม่ขอขึ้นค่าแปล เอเจนซี่ก็ให้อัตราเดิม แต่ของเรามีอัตราเริ่มต้นให้และบางงานอาจเพิ่มค่าแปลให้อีกถ้าลูกค้าให้งบประมาณสูง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานที่ได้จากต่างประเทศเพราะลูกค้าไทย งบน้อยมากเนื่องจากอิงอัตราค่าบริการในประเทศ

ต้นทุนอื่นที่เราพบว่าขึ้นราคาในปีนี้คือค่าบริการทำบัญชีรายเดือนและค่าตรวจสอบงบการเงิน รวมกันหลายพันบาท จะไม่จ้างก็ไม่ได้เพราะถ้าทำเอง เสี่ยงที่ผู้ตรวจสอบบัญชีจะไม่เซ็นงบให้ ยุ่งกว่าเดิม

ค่าสมาชิกองค์กรวิชาชีพค่าอุปกรณ์สำนักงาน ค่าเดินทาง และอื่นๆ ขึ้นทุกอย่าง ก็ต้องผลักภาระไปที่ลูกค้า ยังดีที่ไม่ได้เช่าออฟฟิส ไม่งั้นมีค่าเช่าอีก บาน

คำถามคือ ขึ้นค่าบริการเท่าไหร่ดี

เราไม่ได้จะขึ้นเยอะแค่จะปรับให้สูสีราคาตลาด เพราะทุกวันนี้ลูกค้าบอกว่าเจ้าอื่นคิดแพงกว่าเราเกือบเท่าตัว (ห๊ะ ทำไมชั้นไม่รู้) อันที่จริงเดาได้เพราะหลายงานมากที่เราไม่มีเวลาทำให้ ลูกค้าไปหาๆ เจ้าอื่นสุดท้ายก็วิ่งกลับมาที่เรา จะขอรอคิว พอถามแบบเนียนๆเลยได้รู้ว่า ราคาเราต่ำกว่าคนอื่นแต่ประสบการณ์ในสายงานไม่ได้น้อยเลย หรือบางทีลูกค้าลองใช้บริการเจ้าอื่นซึ่งคิดค่าบริการใกล้เคียงกับเรา แต่ไม่ถูกใจเลยมาขอให้เราทำงานให้ (ใช้คำว่าไม่ถูกใจ เพราะบางทีนักแปลอาจจะทำงานดีแต่ไม่ถูกใจลูกค้าเนื่องจากเหตุผลบางประการ)

แต่… ผู้ให้บริการสามารถเลือกขึ้นค่าบริการเฉพาะลูกค้าบางกลุ่มได้คือ (ก) ลูกค้าที่ชำระเงินไม่ตรงเวลา เครดิตเทอม 30 วัน ก็ลากยาวไปจ่ายเมื่อครบ 60 วัน หรือ 90 วัน ทำให้นักแปลเสียโอกาสในการนำรายได้ส่วนนั้นไปลงทุนให้ได้ดอกผล  (ข) ลูกค้าที่มียอดใช้บริการน้อย  อันนี้ต้องพิสูจน์ตามยอดที่บันทึกในใบแจ้งหนี้ ลูกค้าบางรายส่งงานมาชิ้นละพันสองพันบาท แต่ทั้งปีรวมกันแล้วหลายแสนบาทก็เรียกว่าไม่น้อย (ค) ลูกค้าที่มีเงื่อนไขพิเศษ อย่างแปลเว็บที่เคยเล่าให้ฟัง แปลเสร็จแล้วจะให้เช็คเลย์เอาท์เว็บอีก 3-4รอบแบบไม่จ่ายเงิน

ส่วนลูกค้าที่ผู้ให้บริการอาจคงอัตราเดิมหรือขึ้นค่าบริการเท่ากันแต่มีส่วนลดเป็น % ให้ ก็คือลูกค้าที่ตรงข้ามกับกลุ่มด้านบน 

ครั้งหนึ่งสามีเล่าให้ฟังว่าพวกงานช่างถ้างานไหนยากมากๆ แล้วไม่อยากทำ ช่างเขาจะเสนอราคาเว่อๆเพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่จ้าง แต่แจ็กพ็อตแตกอยู่งานนึง ลูกค้าดันสั่งจ้าง ช่างปวดหัวมากเพราะจริงๆ ไม่ได้อยากได้งานนั้น

นอกจากการเปลี่ยนแปลงด้านราคาแล้ว ผู้ให้บริการอาจเลือกที่จะไม่ขึ้นราคาแต่ขอเปลี่ยนสกุลเงินที่รับค่าบริการ รุ่นน้องคนหนึ่งที่จุฬาฯ (อายุเยอะกว่าเรา แต่เรียนโทการแปลหลังเราสิบปี) เพิ่งขอลูกค้าเปลี่ยนสกุลเงินจากGBP เป็น USD จังหวะเหมาะกับที่มีการประท้วงกรณีคุณโดนัลด์ ทรัมพ์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เราจำได้ว่ามันร่วงมาหน่อยนึงเพราะวันนั้นเราซื้อของแล้วจ่ายด้วย Paypal ปกติ USD 1 =THB 34 วันนั้นค่าเงินอยู่ที่USD 1 = THB 33 ถ้าซื้อของ 1,000 ดอลลาร์ ก็จะขาดทุน 1,000 บาท

นึกถึงตอนน้องชายเรามาเรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลียเมื่อ3-4 ปีก่อน ตอนนั้น AUD 1 = THB 33 บาท ทำงานใช้หนี้ ขี้พุ่ง (ถอดคำพูดน้องมาเลย) พอกลับไปไทย ค่าเงินค่อยๆ ร่วงจนปัจจุบันเหลือ AUD 1 = THB 26 ตอนที่ AUD แพงๆ ก็ไม่ได้ทยอยแลกมาเป็นเงินไทยเพื่อกินกไร พอถึงเวลาย้ายบ้าน บ้านใหม่มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเอง 1.6 ล้านบาท สามีใจดี ให้ยืม AUD 52,000 บาท แต่ช่วงนั้น AUD ลงมามากแล้ว โอนมาปั๊บขาดทุนทันทีดอลลาร์ละ 7 บาท เสร็จสรรพธุรกรรมนั้นทำเราขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 300,xxx บาท บร้ะเจ้า ซื้อรถอีโคเงินสดได้เลยนะ ตอนนั้นจะกู้ธนาคารก็กู้ไม่ได้เพราะทำงานฟรีแลนซ์

อย่างหนึ่งที่ควรพิจารณาคือการกำหนดค่าบริการที่แตกต่างกันสำหรับลูกค้าแต่ละประเทศ ลักษณะอิงราคาตลาด เช่น สมมติในไทยค่าบริการแปลภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย หน้าละ 1,200 บาท เพื่อให้ขายของได้นักแปลก็อาจจะตั้งราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็ต้องคำนึงถึงตัวแปรอื่นด้วย เช่น หากนักแปลจบตรงด้านการแปลหรือสายภาษาและมีประสบการณ์แปลมายาวนานก็อาจตั้งราคาสูงกว่าราคาตลาด (pricing at a premium) หรือหากประสบการณ์น้อยและต้องการสร้างพอร์ตผลงานก็ตั้งราคาให้ต่ำกว่าราคาตลาด (pricing for penetration) (นี่กำลังพูดเรื่อง pricing strategy อยู่ใช่มั้ย) เร็วๆ นี้มีคนโทรมาเล่าให้เราฟังว่าเขาเช็คราคาค่าแปลในออสเตรเลียเริ่มต้นคำละ AUD 0.20 (คำละ 5-6 บาท) แต่เขาไม่ได้จ้างเราหรอกนะเพราะเราคิดแพงกว่านั้นเนื่องจากเป็นเอกสารเทคนิคแล้วต้องประทับ NAATI ด้วย หน่วยงานราชการออสเตรเลียบางหน่วยก็ให้เงินดีที่คำละ AUD 0.34 นี่คือแปลเนื้อหาทั่วไป

เอเจนซี่เดี๋ยวนี้ใช้นักแปลในพื้นที่หมดแล้ว เอเจนซี่อเมริกาส่งงานมาให้นักแปลในไทยทำเยอะแยะ นี่คือเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือให้ค่าแรงน้อยกว่าค่าแรงทั่วไปที่จ่ายกันในตลาด งานแปลเอกสารกฎหมาย คำละ 3-4 บาทนี่คือราคาปกติของไทย ตกหน้าละ 1,200 –1,600 บาท เร็วๆนี้เอเจนซี่ต่างประเทศมีสาขาในกรุงเทพ เสนองานมาให้เรา ให้คำละ 1 บาท ประมาณหน้าละ 400 บาท ก็เข้าใจว่า เอเจนซี่เขาก็มีต้นทุนอื่น คือ ค่าคนตรวจแก้ ค่าซอฟท์แวร์ ค่าโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ บวกไปมาก็ไปคิดลูกค้าคำละ 4-5 บาทอยู่ดี เราบอกเอเจนซี่ตรงๆว่า ขอไม่รับงานนี้เพราะอัตราที่ให้นั้นน้อยกว่าที่รับอยู่ในปัจจุบัน อันที่จริง ปีนี้เราแทบจะล้างแฟ้มลูกค้าเอเจนซี่ที่เคยทำมาด้วยกันหลายสิบเจ้าก็ไม่ได้ส่งงานมาให้นานแล้วเข้าใจว่าหานักแปลที่รับงานได้ถูกกว่า แต่เราไม่เดือดร้อนนะเพราะยังมีลูกค้าประจำอยู่ลูกค้าน่ารักด้วย จ่ายเงินดีมาก

แถมท้ายเรื่องของการแปลงานกฎหมายหลายคนคิดว่ารู้คำศัพท์ก็พอ เราว่ามันมีมากกว่านั้นนะหลังๆ หลายงานนี่เราต้องไปนั่งอ่านประมวลแพ่งและพาณิชย์ประกอบการแปลต้องไปค้นคำแปลบางมาตราเพื่อให้แปลเอกสารแล้วสอดคล้องกับตัวกฎหมายที่กฤษฎีกาจัดทำไว้แล้วกลางปีที่ผ่านมาก็มีเถียงกับลูกค้าฝรั่งงานนั้นเป็นคำพิพากษาของศาลไทยเราก็แปลอิงกฎหมายไทยโดยดูประมวลแพ่งประกอบแต่ลูกค้าแย้งว่าทำไมไม่อิงกฎหมายออสเตรเลียเพราะออสเตรเลียใช้คำนี้แหม่อยากให้ลูกค้าไปบอกอย่างนี้ต่อหน้าผู้พิพากษาจัง





Create Date : 18 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2559 11:25:53 น.
Counter : 1224 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
พฤศจิกายน 2559

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog