คุยกับ Inkdot


ก่อนกลับออสเตรเลียเรามีโอกาสได้เจอรุ่นน้องโทการแปล จุฬาฯ ชื่อ คุณทัศนีย์ หรือปู๊นเจ้าของ Inkdot ผู้ให้บริการแปลล่าม ถอดเทป และงานบริการด้านภาษา เราเจอน้องคนนี้ครั้งแรกตอนที่ไปบรรยายเรื่องจรรยาบรรณนักแปลเมื่อปี2008 หลังจากนั้นก็มีส่งงานให้น้องช่วยแปลบ้างและปีที่แล้วก็มีโปรเจ็กต์ใหญ่เป็นคู่มือเครื่องมือผ่าตัดตาให้น้องช่วยอีกเพราะสเกลงานใหญ่ต้องให้คนถนัดCAT Tools ช่วยทำซึ่งก็ไม่ผิดหวังเพราะปู๊นเป็นอาจารย์พิเศษวิชา Localisation ที่จุฬาฯ ด้วย เราขอสัมภาษณ์เพื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจเป็นนักแปลอ่านตามด้านล่างเลย

เริ่มต้นการเป็นนักแปลได้อย่างไร (ไล่เรียงตั้งแต่เรียน ฝึกงาน รับงานแรก จนถึงจัดตั้งทีมงานของตัวเอง)

เริ่มต้นแปลงานครั้งแรกสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ปู๊นเห็นประกาศรับอาสาสมัครนักแปล (พูดง่ายๆ คือทำแปลฟรี) ที่ป้ายรถป็อบหน้าคณะฯ เลยลองสมัครดู เนื้อหาที่แปลตอนนั้นคือหนังสือ Scientology (พึ่งมารู้ที่หลังว่าศาสตร์นี้หลอกลวง) ตอนนั้นเขารับสมัครนักแปลเยอะมากเลยนะ มีเรียกไปประชุมด้วย ยังจำได้ว่าหลังแปลเสร็จตีพิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่มและส่งมาให้ที่บ้านด้วย รู้สึกดีใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมแม้จะไม่ได้ค่าจ้างเลยก็ตาม

หลังเรียนจบปู๊นยังไม่ได้เริ่มแปลงานจริงจัง อาชีพหลักคือสอนภาษาอังกฤษและสอนเปียโน งานแปลเป็นเพียงอาชีพเสริม และรับมาจากบริษัทแปลอีกที ส่วนใหญ่จะเป็นงานแปล Annualreport จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาซ้ำกันกับปีก่อนๆ เลยไม่หวือหวาอะไรมาก นอกจากรับงานแปลจากบริษัทแปล ปู๊นยังรับงานแปลเองด้วย ถ้าจำไม่ผิดงานที่ปู๊นหาเองงานแรกจะเป็นงานแปลซับไตเติ้ลของบริษัทแปลหนังที่ฮ่องกง (ตอนนี้บริษัทโดนซื้อไปแล้ว ฮ่าๆ) ช่วงนั้นก็ร่อน CV ให้บริษัทแปลหลายแห่งไปทั่ว

หลังทำงานอิสระได้หนึ่งปี ปู๊นก็เริ่มหันมาทำงานประจำที่กระทรวงการต่างประเทศ ปรากฏว่ามีเวลาระหว่างงานค่อนข้างเยอะ เลยรับงานแปลเพิ่มขึ้น ตอนนั้นเริ่มจริงจังกับงานแปล ทั้งเรียนปริญญาโทที่ศูนย์การแปล คณะอักษรศาสตร์ สมัครเรียนคอร์สการแปลต่างๆ ของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย งานแปลต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นเพราะลูกค้าบอกปากต่อปาก เราเริ่มเห็นว่าเป็นอาชีพจริงๆ ของเราได้ จึงตัดสินใจลาออก สร้างทีมงานแปลขึ้นมาจากเพื่อนๆ และรุ่นน้องอักษรด้วยกันเอง แล้วสร้างแบรนด์ของตัวเองชื่อ Inkdot

ให้บริการอะไรบ้างนอกจากงานแปล (ล่าม ถอดเทป ประสานงาน) และชอบงานไหนมากกว่ากัน เพราะอะไร

แรกเริ่มเดิมที Inkdotเน้นงานแปลธุรกิจ (เช่น รายงานประจำปี) งานบันเทิง (เช่น บทละครเวทีและซับไตเติ้ล)และงานแปลให้บริษัทวิจัยการตลาด (เช่น ถอดเทปและแปล Focus Group) เพราะเรามีฐาน connection ส่วนนี้มาก่อนอยู่แล้ว

หลังสร้างผลงานแปลหลายชิ้น ฐานลูกค้าเรากว้างขึ้น กลายเป็นว่าได้เริ่มแปลหนังสือศิลปะ ได้ทำงานแปลให้หอศิลป์ฯ กรุงเทพ ได้ทำงานแปลซับไตเติ้ลให้บริษัทผลิตสื่อการสอน จนสุดท้ายกลายเป็นแปลงานPR งาน IT และ Localization เราเริ่มจากงานแปลเอกสารธรรมดา แล้วค่อยๆ ขยายการบริการจนได้แปลสื่อโสต เว็บไซต์ และ App มือถือ งานเบ็ดเตล็ดอย่าง DTP และออกแบบกราฟฟิคเราก็รับทำเพราะทีมงานพร้อม (ต้องบอกว่าโชคดีที่ทีมงานดีมากความสามารถ) หลังทำ Inkdot ได้ 1 ปี ปู๊นเริ่มลงทุนเครื่องมือช่วยแปล (CAT tools) เพื่อเก็บคลังคำแปล และฟอร์มทีมงานให้ทันยุคสมัยยิ่งขึ้น

Inkdot เป็นเพียงสำนักงานแปลเล็กๆ แต่เรากำลังค่อยๆ ขยายตัว ก้าวหน้าให้ทันเทคโนโลยีและกระแสธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเราเริ่มเดินหน้าไปทิศทาง IT มากขึ้น เจาะเน้นเรื่องLocalization และงานแปลสื่อโสตมากยิ่งขึ้น อนาคตคาดการณ์ว่าจะผันเป็นAcademy และเป็น LSP ที่ให้บริการสนับสนุนแก่ LSP อื่นๆ (เช่น TM/Terminology Management หรือ บริการฝึกMachine Translation)

ถ้าถามความชอบส่วนตัว จริงๆ ชอบงานล่าม (หัวเราะ) เพราะปู๊นเป็นคนทำอะไรเร็ว ฉับไว ไม่ค่อยพิถีพิถัน ถ้าให้ทำงานพิถีพิถันจะใช้เวลาทำงานเยอะ เลยไม่ค่อยชอบเพราะไม่มีเวลาทำงานอย่างอื่น งานล่ามอาศัยการเตรียมตัวเยอะหน่อย แต่เวลาทำงานคือเราทำงานตรงนั้นจริงๆ ใช้พลังงานในการแปลมากกว่างานแปลเอกสาร แต่พองานจบแล้วคือจบ ล่ามไม่ต้องแก้ไขสิ่งที่แปลไปแล้วเหมือนงานแปล และไม่มีผลงานปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนงานแปลเอกสาร

ยกตัวอย่างงานที่คิดว่าทำได้ดีที่สุดตั้งแต่ทำอาชีพนี้ เพราะอะไรถึงคิดว่าดีที่สุด

งานที่ทำได้ดีที่สุด ขอเรียกเป็นงานที่ภูมิใจที่สุดดีกว่า คืองานแปลหนังสือให้ลูกค้าชาวต่างชาติที่ชื่อ Nurak’s Book หนังสือเล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติผสมหนังสืออนุสรณ์งานศพของ ร.. นุรักษ์ อิศรเสนา อยุธยา โปรเจคนี้เป็นงานละเอียดและใหญ่มาก ใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่าจะเสร็จ ปู๊นเข้าไปช่วยงานตั้งแต่ผู้เขียนวางโครงหนังสือ เป็นที่ปรึกษาเรื่องเนื้อหา ช่วยประสานงานกับฝ่ายอาร์ตเพื่อลงเลย์ จนแปลและพิสูจน์อักษร กลายเป็นหนังสืออาร์ตสองภาษา ตีพิมพ์และจำหน่ายสำเร็จ เรียกได้ว่าเป็นโปรเจคที่เริ่มตั้งแต่ศูนย์จนพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มเลย โปรเจคนี้ชอบและภูมิใจมากเพราะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ นอกกรอบงานแปล ตั้งแต่งานจัดเรียงรูปเล่ม งานพิมพ์ จนงานหีบห่อ สุดท้ายช่วยลูกค้าออกแบบกระเป๋าใส่หนังสือและซองซีดีด้วย ล่าสุดหนังสือซีรีย์นี้กำลังจะตีพิมพ์เล่มที่สองนะคะ แต่คิดว่าคงได้พิมพ์ตอนผู้เขียนเสียชีวิต

ยกตัวอย่างงานที่คิดว่าพลาดที่สุด และควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดิมอีกในอนาคต

งานที่พังที่สุดในชีวิตคืองานแปล Concept ของบริษัทวิจัยการตลาดแห่งหนึ่งจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ปกติไม่เคยมีปัญหาเลย ครั้งนั้นลูกค้ามาจากRegional Office และไม่เข้าใจภาษาไทย เลยอยากเช็คคำแปลด้วยการขอบริการแปลกลับ (Back translation) จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เราแจ้งลูกค้าไปว่างานนี้เป็นงานแนว transcreation นะ แปลกลับมันก็ไม่มีทางเหมือนกัน 100% หรอก แล้วการที่แปลไม่ตรงกัน ใช่ว่าจะพิสูจน์ได้ว่าแปลไม่ถูก ปรากฏว่าลูกค้าไม่ฟัง ขอดู Back translation ผลคือ ลูกค้าได้แต่ชี้จุดที่แปลไม่ตรงกันในระดับคำ แต่ไม่ดูระดับ sense ว่าสารที่ต้องการสื่อตรงกันหรือไม่ ลูกค้าขอให้เราช่วยแปลใหม่ เป็นแบบนี้อยู่สองสามรอบจนงานแปลฟังไม่เข้าหูคนไทย หลังจบงานเราแจ้งลูกค้าว่าขอเป็นโปรเจคสุดท้ายที่จะทำด้วยกันนะคะ เพราะแนวคิดเราไม่ตรงกัน เสียเวลาและเสียสุขภาพการทำงานมาก ประเด็นนี้สอนให้รู้ว่านิยามของคำว่า “คำแปลถูกต้อง” ไม่เหมือนกัน ผู้ว่าจ้างคือตัวตัดสินว่าคำแปลรูปแบบไหนถูกต้อง ในฐานะผู้ให้บริการทางภาษา เราย่อมรู้ดีว่างานแปลที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวบทนั้นเป็นเช่นไร ถ้าไม่ตรงตามความเข้าใจของผู้ว่าจ้างและทำแล้วเสียเวลาด้วย ทางออกที่ดีที่สุดคือการไม่เสียเวลากับกลุ่มลูกค้าประเภทนี้จะดีกว่

คำถามยอดฮิต - อยากเป็นนักแปลหรือล่าม จำเป็นต้องเรียนสาขานี้โดยตรงมั้ย ขอเหตุผล

อยากเป็นล่ามค่ะ (หัวเราะ) ไม่ลังเลเลย ปู๊นชอบงานที่จบไว งานล่ามจึงตอบโจทย์มากกว่างานแปล ที่สำคัญงานล่ามไม่จุกจิก และสร้างรายได้มากกว่างานแปล ข้อเสียอย่างเดียวของงานล่ามคือ เราไม่ได้ทิ้งร่องรอยงานแปลอะไรไว้เบื้องหลัง ผลงานของเราคือเสียงที่พูดออกไป และเสียงนั้นจะมีความหมายในห้องประชุม และ เวลาที่ผู้พูดเอื้อนเอ่ยคำใดๆ ออกมาเท่านั้น ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง งานล่ามเป็นงานที่สำคัญมากเพราะเราได้ช่วยประสานการสื่อสารระหว่างบุคคลต่างวัฒนธรรม เวลาที่เห็นผู้เข้าร่วมสัมมนาเขาพยักเพยิดด้วยความเข้าใจ เราจะแอบยิ้มในใจและบอกตัวเองว่า “โอเค เขาฟังเราพูดรู้เรื่องนะ”

ในความคิดของปู๊น นักแปลหรือล่ามไม่จำเป็นต้องจบสาขาการแปลโดยตรง ใครๆ ก็แปลได้ถ้าเข้าใจต้นฉบับถ่องแท้ และมีทักษะการเขียน/พูดภาษาปลายทางที่ดี แต่การเรียนจะช่วยให้นักแปลกลายเป็นนักแปลที่สมบูรณ์ขึ้นเพราะมีฐานความรู้เรื่องการแปล ได้เห็นแนวคิด ประสบการณ์ของอาจารย์และเพื่อนร่วมอาชีพ ตลอดจนได้ขยายความรู้ในเชิงวิชาการด้วย เราต้องเข้าใจว่าอาชีพนักแปลแตกต่างจากอาชีพสาขาอื่นอย่างวิศวะฯ หรือสถาปัต เรายังไม่มีหน่วยงานที่ออกวุฒิรับรองทักษะการแปลเป็นทางการ (นอกจากวุฒินักแปลที่ทางPubat เริ่มจัดทำ) การเรียนการแปลจึงเปรียบเหมือนการ “อัปเกรด” สถานะอาชีพของเราให้ทัดเทียมอาชีพสุจริตอื่นๆ

คิดว่าแนวโน้มงานสายภาษาในอนาคตจะพัฒนาไปอย่างไร (เช่น ปัจจุบันจะเห็นมีงาน transcreation เกิดขึ้น ช่วงก่อนก็จะมีงานlocalisation ต่อไปจะมีงานแบบไหน)

ถ้ามองในฐานะนักแปล/ล่ามรายบุคคล งานสายภาษาในประเทศไทยยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นะคะ งาน Transcreation ปู๊นเข้าใจว่ามีมาตั้งนานแล้วนะ ยิ่งถ้าในสายแปล PR นี่ไม่ต้องพูดถึง แปลแบบตรงตัวไม่ได้ ต้องแปลงหน่อย ให้เข้าปาก เข้าหูคนไทยหรือคนต่างชาติ ส่วน Localisation ปู๊นว่านักแปลในไทยนับตัวได้เลยว่ามีใครใช้ CAT Tool บ้าง ส่วนใหญ่มักจะเป็นนักแปลของ LSP (Language service Provider) ต่างๆ ที่เข้าคอร์สอบรมภายในบริษัท หรือนักแปลที่ตั้งใจใฝ่หาความรู้ด้วยตนเอง ในทางปฏิบัติจริง การใช้ CAT Tools กับภาษาไทย ยังมีช่องโหว่อยู่เยอะ เลยไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ แต่ถ้ามองกลุ่มธุรกิจ LSP ถือว่างานแปลกำลังค่อยๆ ก้าวหน้าตามตลาดยุโรปนะคะ ทราบมาว่าตอนนี้บริษัทไทยหลายเจ้าก็ซุ่มเงียบทำ Machine Translation เบื้องหลังของตนเองอยู่ แต่ไม่ค่อยเปิดเผยเพราะทำใช้กันเองภายใน และเป็น Asset ที่สำคัญต่อการสร้างรายได้ ถ้ามองภาคธุรกิจที่ไม่ใช่LSP จะเห็นว่าหลายบริษัทเริ่มให้นักแปลภายในหันมาใช้เครื่องมือช่วยแปลเพิ่มขึ้น เช่น บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต สำนักงานกฤษฎีกา หรือเพื่อนปู๊นที่ทำงานสำนักพิมพ์ ก็ใช้ Trados ในการเก็บคลังคำ หน่วยงานรัฐบาลไทยในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะใช้เครื่องมือเหล่านี้เช่นกัน นักแปลที่อยากก้าวทันอุตสาหกรรมการแปลควรรู้จักเครื่องมือเหล่านี้ไว้ ไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร แต่ควรจะรู้เทรนด์ ที่แน่ๆ คือ Wearable translation และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ กำลังฮ็อตฮิตสุดๆ และ Machine Translation ภาษาไทยจะดีขึ้นแน่ๆ แต่นักแปลไม่ต้องห่วงนะคะว่าจะตกงาน ภาษาไทยเป็นภาษาซับซ้อน น่าจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้าง Algorithm ที่เสถียรและผลิตงานแปลมีคุณภาพ ยังไงก็ต้องใช้คนpost-edit และเทรนด์ MT อีกอยู่ดี


คำถามยอดฮิตอีกข้อคือ เรื่องค่าตอบแทน ขอแบบกว้างๆ ว่าค่าตอบแทนการแปลและการล่ามในไทยอยู่ในช่วงใด สำหรับคุณสมบัติแบบไหน

เวลาคนถามเรื่องค่าตอบแทนปู๊นจะบอกเกณฑ์ว่าให้คิดตาม “ระดับความพอใจ” (หัวเราะ) แต่ให้พิจารณาประเด็นต่อไปนี้ด้วย

1. คิดเรทตามอะไร เช่น ตามคำ หน้า บรรทัด ชั่วโมงทำงาน นาที หรือเหมาโปรเจค หากไฟล์มีรูป ต้องแปลรูปนับชิ้นด้วย

2. เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ถ้าเป็นงานทั่วไปควรคิดเรทหนึ่ง งานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะ(เช่น แพทย์ กฎหมาย) ควรคิดอีกเรทหนึ่ง

3. ผู้ว่าจ้างคือใคร ติดต่อกับลูกค้าเองหรือไม่หรือรับงานจากบริษัทแปลอีกทีหนึ่ง ถ้ารับงานจากบริษัทแปลควรคิดราคาถูกลงนิดหนึ่งเพื่อให้โอกาสบริษัทปิดการขายกับลูกค้าได้ในระยะยาว ถ้ารับเองกับลูกค้าโดยตรง เราคิดเรทที่เรา “พอใจ” ได้เลย

4. ความเร่งด่วน งานเร่งด่วนควรคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นจากเรทปกติ 20%

5. เรทขั้นต่ำ บางครั้งงานมีขนาดเล็กมาก อาจต้องคิดเรทขั้นต่ำไป นำไปใช้กับการแปลซับหรือแปลtext น้อยๆ แต่คำใหญ่ได้เป็นอย่างดี (เช่น ข้อความโฆษณา)

6. ใช้ CAT Tool / Machine Translation หรือไม่ หากใช้ ควรพิจารณาลดราคาตามความเหมาะสม ปกติถ้าคำซ้ำปริมาณมากจะลดราคาเหลือ 10-20% ของราคาเต็ม ถ้าเป็น fuzzy match ควรลดประมาณ 50-70%แล้วแต่ความเหมาะสม

7. ไฟล์ที่ต้องส่งงานลูกค้าอยู่ในรูปแบบใด ต้องแปลงไฟล์อีกหรือไม่ ควรพิจารณาค่าเสียเวลาตรงนี้ด้วย

8. ลูกค้าต้องการบริการเสริมหรือไม่ เช่น ต้องทำ DTP หรือเปล่า ถ้าแปล Software ต้องทำ bug report ด้วยหรือเปล่าหรือลูกค้าต้องการทำเอง

นักแปลหรือล่าม จะหางานได้จากที่ไหน เอาของ ink dot เลย งานส่วนใหญ่ได้มาจากช่องทางไหน (เช่น ประมูล บอกต่อ ทำการตลาดโดยตรง)  

สำหรับ Inkdot เราได้งานหลักมาจากฐานลูกค้าเดิมที่ประทับใจผลงานของเราและบอกต่อให้ลูกค้ารายอื่นทราบปากต่อปาก อีกช่องทางที่ลูกค้าติดต่อเราคือเว็บไซต์ www.inkdot.biz เราทำ SEO เอาไว้ ส่วนใหญ่ถ้าติดต่อผ่านช่องทางนี้จะเป็นลูกค้าจากต่างประเทศที่ต้องการแปลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เช่น บริษัท Localization ที่เยอรมันที่เป็นคู่ค้ากับเรามา 3 ปีแล้ว หรือบริษัท ESPN ก็เคยติดต่อเรามาโดยตรงเพื่อให้แปลคลิปมวยไทยจากภาษาไทยเป็นอังกฤษเป็นต้น 

การที่จะได้งานมากหรือน้อยอยู่ที่ฝีมือการแปลของเรา ถ้างานแปลเราดี ลูกค้าประทับใจ ย่อมมีงานเข้ามาอยู่เสมอ การตั้งเป้าหมายประเภทงานแปลก็สำคัญ อย่าง Inkdot เอง พยายาม positionตนเองให้ทำเรื่องสื่อ โสต และ IT มาตั้งแต่ตอนต้น เราเลยได้งานแปลซับมาหลายงาน และขยายขอบเขตไปงานแปล Appและแปลเกม อย่าลืมว่าทุกวันนี้มีบริษัทแปลในตลาดเยอะ ต้อง Target ว่าอยากได้งานประเภทไหน และจุดแข็งเราคืออะไร ที่สำคัญคือต้องให้ลูกค้าจำเราได้เป็นคนแรกๆ จึงต้องหมั่นสร้างความประทับใจกับลูกค้าเสมอ

การทำ marketing ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ นักแปลควรสร้างโปรไฟล์ตนเองเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อาจจะทำเว็บไซต์ของตนเองก็ได้ หรือไปลง CV ไว้ใน Linkedin,facebook และ ชุมชนออนไลน์สำหรับนักแปลโดยตรง (เช่น Proz.com หรือ TM Town) ช่องทางเหล่านี้สำคัญมากเพราะช่วยเพิ่มโอกาสให้โลกภายนอกได้เห็นผลงาน/ความสามารถของคุณ

จากที่เคยรับสมัครนักแปลหรือล่าม คนที่ ink dot ไม่รับนั้น ไม่รับเพราะอะไร (คนอื่นจะได้ปรับปรุงก่อนสมัครงาน

คำถามนี้อยากตอบมาก (หัวเราะ) เพราะมีหลายคนจริงๆ ที่เราอ่านแค่ CV แล้วเรา delete ทันที

ประเด็นแรกที่ไม่ควรพูดเลยนะคะ คือ “รับแปลทุกภาษา” ปู๊นเคยเจออีเมลฉบับหนึ่ง เขียนมาแบบนี้จริงๆ คือ เป็นไปไม่ได้ที่นักแปลจะเป็นพหูสูต แปลได้ทุกภาษา การที่คุณอ้างมาเช่นนี้มันชี้ให้เห็นว่าคุณส่งงานไร้คุณภาพ ไม่รู้จักงานแปลอย่างแท้จริง นักแปลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่รับเลยคือ นักแปลที่เขียนจดหมายแนะนำตัวมาแล้วยังสะกดผิด! ประเด็นนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าคุณไม่ละเอียดและสะเพร่า ขนาดมาสมัครงานคุณยังไม่อ่านทวนข้อความที่เขียน หากเป็นงานแปล เราจะเชื่อได้อย่างไรว่างานของคุณมีคุณภาพ นักแปลอีกประเภทหนึ่งที่ต้องระวังไว้เลยคือนักแปลที่เขียนประวัติดี สวยหรู แต่ไม่มีตัวตนจริง ช่วงนี้เจอนักแปลแบบนี้2-3 คน ต้องไปเช็คกับเว็บไซต์ Scammer report เลยทีเดียวว่ามีตัวตนหรือเปล่า บางครั้งเรา searchชื่อใน Google นะว่ามีตัวตนหรือเปล่า อย่างน้อยfacebook/Linkedin ก็ต้องมีล่ะ ถ้าไม่มี ต่อมเอ๊ะจะเริ่มทำงาน

นักแปลที่เราอยากรับไว้ในอ้อมใจเลยคือนักแปลที่เคยแปลงานมาแล้ว มีความรับผิดชอบ และรักงานแปล งานภาษา มีนักแปลรายหนึ่งเคยส่งอีเมลมาหาพร้อมตัวอย่างงานแปล และ CV สวยงาม พร้อมโทรศัพท์มาหาเราว่าสนใจทำงานแปล นักแปลแบบนี้เราชอบ เพราะคุณมุ่งมั่น ตั้งใจทำงานจริง แม้งานแปลที่คุณทำจะมีข้อผิดพลาด แต่ปู๊นเชื่อว่าเรื่องแบบนี้พัฒนากันได้ นักแปลบางรายเรื่องมากและperfectionist มากๆ แบบนี้ปู๊นก็รับเพราะมันเยอะดี (หัวเราะ) แปลว่ามันละเอียด แล้วงานมักไม่ค่อยผิดพลาด ล่าสุดพึ่งรับนักแปลมาอีกคนหนึ่ง รู้เลยว่าเป็นperfectionist งานแปลดี ไม่มีตก เสียอย่างเดียวว่าคิวงานจะค่อนข้างเยอะ เป็นเรื่องที่ต้อง trade กัน ต้องฝึกนักแปลใหม่เพิ่ม

หากสนใจจะแปลนักแปลหรือล่าม ทำแบบเต็มตัวเลยได้มั้ย หรือควรจะทำเป็นงานเสริม

สำหรับน้องๆ ที่สนใจเป็นนักแปล ช่วงแรกขอให้ไปร่อน CV ตามบริษัทแปลต่างๆ ก่อน เมื่อเริ่มมีงานแปล และคุณทำได้ดี คุณจะได้รับการทาบทามและติดต่องานเรื่อยๆ เอง อย่าพึ่งหันมารับงานแปลเต็มตัวถ้ายังไม่รู้ว่าจะหางานจากไหน แต่ถ้าคุณทุ่มเทกับงานแปลเกิน 50% ของเวลาทั้งหมดที่คุณมี แปลว่าคุณควรจะลาออกมาทำงานแปลได้แล้วค่ะ

จริงๆ จะพูดว่าให้ออกมาเลยก็ยังไม่ถูกนะ เพราะงานแปลมีหลายแบบ เพื่อนปู๊นบางคนเป็นนักแปลหนังสือ ก็ยังทำงานประจำอยู่และแปลหนังสือไปด้วยหลังเลิกงาน ก็ยังทำได้เรื่อยๆ อยู่นะ แต่ถ้าคุณอยากเป็นนักแปลเอกสาร แน่นอนว่าปริมาณงานแปลในตลาดจะเยอะกว่า และ Life cycle ของงานแปลเอกสารสั้น แต่ถี่ คุณจะต้องมีเวลาทำงานเอกสารได้จริง ไม่ใช่ลูกค้าทักมาแล้วไม่ว่าง ลูกค้าก็ไม่อยากจ้างเราอีกในอนาคต

สำหรับล่าม การสร้างเครือข่ายกับล่ามด้วยกันเองเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเครือข่ายล่ามคือช่องทางหางานที่มีประสิทธิภาพ แรกเริ่มเราอาจจะไปลงเรียนหลักสูตรล่ามของสมาคมฯ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ก่อน หากอาจารย์เห็นแววดี อาจพาออกไปทำงานก็ได้ พอเริ่มงานแล้วและมีโอกาสติดต่อกับลูกค้าโดยตรง อนาคตก็ยาวแล้วค่ะ ปัจจุบัน งานล่ามมีมาตรฐานการทำงานที่รองรับในระดับนานาชาติด้วย เรียกว่า AIIC ในประเทศไทยมีล่าม AIIC อยู่แค่ 3 คนเท่านั้น เพราะสมัครยากมาก ใครที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://aiic.net ค่ะ

ข้อสุดท้าย มีอะไรอยากบอกนักแปลและล่ามหน้าใหม่มั้ย

อยากบอกว่านักแปลด้วยกันเองอย่าหั่นราคาแปลกันเองเลยนะคะ ทุกวันนี้งานแปลเอกสารกลายเป็นอุตสาหกรรมไปแล้ว เวลาและราคากลายเป็นปัจจัยตัดสินการให้บริการ คุณภาพงานแปลกลับเป็นเรื่องรองลงมา ทุกวันนี้ เราเลยเห็นงานแปลไร้คุณภาพตามท้องตลาดเยอะแยะไปหมด อยากให้นักแปลทุกคนหมั่นพัฒนาฝีมือแปล และมีจรรณยาบรรณในวิชาชีพมากกว่านี้ ที่สำคัญคือต้องหมั่นอัปเดตตนเองให้ตามทันกระแสโลกการแปล




Create Date : 15 มกราคม 2562
Last Update : 15 มกราคม 2562 3:21:58 น.
Counter : 1620 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
มกราคม 2562

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
15 มกราคม 2562
All Blog