ความรับผิดของนักแปลและล่าม (ตอนที่ 1)


เมื่อปลายปีที่แล้ว เราเกริ่นๆ ไว้ว่ามีน้องนักศึกษานิติศาสตร์ชื่อคุณดุษฎี (EarnSorathiwa) ติดต่อมาขอข้อมูลเรื่องความรับผิดของนักแปลและล่ามเพื่อทำวิจัย น้องเห็นว่าน่าสนใจ และปรึกษาอาจารย์แล้วเห็นว่าน่าค้นคว้าทำเป็นรายงาน น้องก็เลยเริ่มหาข้อมูล แต่ปรากฏว่าทำไปได้แค่ 3 บทก็ไปต่อไปไม่ได้เพราะหาตัวบทกฎหมายว่าด้วยความรับผิดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานแปลไม่ได้และหาคำพิพากษาที่ตัดสินว่านักแปลหรือล่ามแปลผิดโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายไม่พบทั้งยังไม่มีเลขคดีให้นำไปค้นได้ ทำให้งานวิจัยถึงทางตัน ต้องเปลี่ยนหัวข้อ

ทว่าเพื่อไม่ให้สิ่งที่น้องทำมาเสียเปล่า เราขอน้องตัดเอาบางส่วนมาลงบล็อกให้คนที่สนใจได้อ่าน(แบบค้างๆ คาๆ) โดยจะลงเป็นตอนๆ เผื่อจะมีใครนำไปต่อยอดวิจัยให้เป็นองค์ความรู้สาขาการแปล

**********************************************************

บทนำ

“นักแปลและล่ามเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านภาษาเป็นพิเศษกล่าวคือ นักแปลและล่ามจะต้องเชี่ยวชาญในภาษาต้นทาง (source text) และภาษาปลายทาง (target text) เป็นอย่างดี ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาควบคุมกำกับการประกอบอาชีพนักแปลและล่ามอย่างจริงจังต่างจากวิชาชีพทนายความ นักบัญชี หรือวิศวกร ที่มีสภาวิชาชีพโดยเฉพาะซึ่งหมายความว่า บุคคลใดที่คิดว่าตนมีความสามารถในการแปลและการล่ามเพียงพอก็สามารถรับงานแปลและล่ามได้แล้วต่างจากบางประเทศที่นักแปลหรือล่ามจะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพแปลและล่ามจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเสียก่อนจึงจะทำการแปลหรือล่ามได้ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักแปลและล่ามจำนวนมากในประเทศไทยที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญด้านภาษาอย่างแท้จริงประกอบอาชีพแปลและล่าม ซึ่งในการปฏิบัติงานของนักแปลและล่ามกลุ่มนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดได้สูงเป็นพิเศษ”

“ผลกระทบของการแปลและการล่ามที่ผิดพลาดเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในบริบทของกระบวนการยุติธรรม การแพทย์ และธุรกิจการค้าซึ่งจำต้องอาศัยความถูกต้องแม่นยำของการแปลเป็นพิเศษ เพราะผลที่เกิดจากความผิดพลาดนั้นอาจร้ายแรงได้เช่นล่ามในโรงพยาบาลแปลอาการคนไข้ผิด ทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดเป็นเหตุให้คนไข้ถึงแก่ความตาย หรือในกรณีที่นักแปลแปลเอกสารผิดและส่งให้ผู้ว่าจ้างตีพิมพ์แล้วหลายฉบับเมื่อมีการพบความผิดพลาด ผู้ว่าจ้างต้องสูญเสียเงินในการจ้างนักแปลคนใหม่และต้องตีพิมพ์ใหม่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นซึ่งความเสียหายที่เกิดจากการแปลและการล่ามที่ผิดพลาดนี้ก่อให้เกิดความรับผิดตามกฎหมายได้แก่ ความรับผิดทางอาญาและความรับผิดทางแพ่ง แต่ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ผู้เขียนจะศึกษาเฉพาะความรับผิดทางแพ่งเท่านั้นซึ่งความรับผิดทางแพ่งของนักแปลและล่ามแบ่งออกเป็นความรับผิดในทางสัญญาและความรับผิดในทางละเมิด ดังนี้

ความรับผิดทางสัญญาของนักแปลและล่ามนั้นคือการที่นักแปลหรือล่ามมีความสัมพันธ์ในทางสัญญากับผู้ว่าจ้าง กล่าวคือ นักแปลได้รับการว่าจ้างโดยผู้ว่าจ้างให้ทำการถ่ายทอดความหมายของข้อความจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่งส่วนในกรณีล่าม คือการที่ล่ามได้รับการว่าจ้างโดยผู้ว่าจ้างให้ทำการแปลคำพูดจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งโดยทันที(ผ่องศรี:2559)สัญญาว่าจ้างให้แปลนี้เป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 เพียงคู่สัญญาตกลงกันโดยไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรก็เกิดความสัมพันธ์ทางสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างและนักแปลหรือล่ามแล้วหากนักแปลหรือล่ามแปลผิดหรือส่งงานแปลไม่ทันภายในกำหนดเวลาไม่ว่าจะจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กรณีถือว่านักแปลหรือล่ามผิดสัญญาแน่นอนว่าการส่งงานแปลไม่ทันกำหนดเวลาเป็นการผิดสัญญา แต่ปัญหามีว่า ความผิดพลาดในการแปลของนักแปลหรือล่ามถึงขนาดไหนที่จะถือว่าเป็นการผิดสัญญาได้ซึ่งสัญญาว่าจ้างให้แปลส่วนใหญ่มักไม่มีรายละเอียดที่มากไปกว่าข้อความที่ให้แปลและกำหนดเวลาส่งงานหากนักแปลเลือกใช้คำหรือสำนวนไม่สละสลวย ไม่เป็นที่พอใจของผู้ว่าจ้างหรือมีการพิมพ์ผิดพลาด จะถือว่าเป็นการผิดสัญญาอันจะก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องโดยผู้ว่าจ้างหรือไม่ในกรณีที่นักแปลรับงานมาจากบริษัทนายหน้าและนักแปลแปลผิดหรือพิมพ์ผิดและลูกค้าที่ใช้ประโยชน์จากงานแปลนั้นได้รับความเสียหายบริษัทนายหน้าจะฟ้องให้นักแปลรับผิดแต่เพียงผู้เดียวได้หรือไม่ หรือกรณีจะถือว่าบริษัทนายหน้าที่เป็นผู้ว่าจ้างมีส่วนผิดด้วยที่ไม่ทำการพิสูจน์อักษรหรือจัดหานักแปลมาตรวจงานอีกครั้งหนึ่ง

นอกเหนือไปจากความรับผิดทางสัญญาที่นักแปลหรือล่ามมีต่อคู่สัญญาแล้วนักแปลและล่ามยังมีความรับผิดทางละเมิดด้วยกล่าวคือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาจ้างงานแปลและล่ามสามารถฟ้องนักแปลและล่ามได้หากบุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการแปลของนักแปลหรือล่ามตามมาตรา420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งความรับผิดทางละเมิดของนักแปลและล่ามนั้นก็ยังไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนเช่นกันปัญหาประการหนึ่งคือมาตรฐานความระมัดระวังของนักแปลและล่ามยังไม่มีความชัดเจนว่าการปฏิบัติงานที่บกพร่องในลักษณะใดที่จะถือว่านักแปลและล่ามกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือขนาดถึงขั้นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งในการวินิจฉัยนั้นจะต้องวัดจากผู้ที่ประกอบอาชีพแปลและล่ามที่มีคุณวุฒิใกล้เคียงกัน ปัญหาอีกประการคือความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของนักแปลหรือล่ามกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับในคดีละเมิด หนึ่งในข้ออ้างที่โจทก์จะต้องกล่าวอ้างก็คือความผิดพลาดของนักแปลหรือล่ามและความเสียหายของโจทก์มีความสัมพันธ์กัน ในบางกรณีกระบวนการการทำงานของนักแปลและล่ามมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นบรรณาธิการหรือบริษัทนายหน้าที่นักแปลหรือล่ามสังกัดอยู่ หรือทนายความและถ้าบุคคลเหล่านี้มีการตรวจทานงานแปลก่อนจะส่งมอบให้กับลูกค้าความผิดพลาดคงจะถูกพบและแก้ไข ความเสียหายก็คงจะไม่เกิดขึ้นจะเป็นการตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของนักแปลและความเสียหายของโจทก์หรือไม่

ปัญหาที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่งคือค่าเสียหายที่โจทก์สามารถเรียกได้จากนักแปลหรือล่ามปัจจุบันมีนักแปลและล่ามจำนวนไม่น้อยที่ได้รับค่าจ้างไม่มากนักหรือไม่ได้เลย เช่นล่ามอาสาในหน่วยงานรัฐซึ่งได้รับค่าตอบแทนไม่มากนัก ดังนั้นหากจะให้ล่ามหรือนักแปลต้องรับผิดในความผิดพลาดจากการแปลโดยการเยียวยาผู้เสียหายด้วยค่าเสียหายถึงหลักล้านบาทในขณะที่ล่ามหรือนักแปลได้รับค่าตอบแทนในหลักร้อยถึงหลักพันบาทเท่านั้นย่อมฟังดูไม่ยุติธรรมเท่าใดนักในขณะเดียวกันถ้าโจทก์ไม่ได้รับการเยียวยาหรือได้ไม่เพียงพอกับความเสียหายที่โจทก์ได้รับก็ไม่ยุติธรรรมด้วยแน่นอนว่าการได้ค่าตอบแทนน้อยหรือไม่ได้รับค่าตอบแทนเลยมิใช่ข้ออ้างที่นักแปลหรือล่ามจะใช้เป็นข้อต่อสู้ให้ไม่ต้องรับผิดได้แต่การให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคลที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนย่อมกระตุ้นให้คนหันมาช่วยเหลือสังคมมากขึ้นซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้เป็นอาสาสมัครจากความรับผิดเพื่อละเมิดโดยเฉพาะ(วรรณวิภา:2557) ในขณะที่ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสินในคดีหนึ่งว่าเอกชนได้รับความคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องหากรัฐได้ร้องขอให้เอกชนผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของรัฐในงานที่รัฐไม่สามารถปฏิบัติได้(Warner v. Grand County) ดังนั้นควรมีการหาจุดสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้เสียหายและการคุ้มครองนักแปลหรือล่ามในเรื่องค่าเสียหายที่จะเรียกได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาความรับผิดทางแพ่งของนักแปลและล่ามตามหลักกฎหมายเรื่องสัญญาและเรื่องละเมิดของประเทศไทยแล้วยังพบว่ามีความคลุมเครือบางประการอยู่ และที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่มีคำพิพากษาที่ตัดสินเรื่องความรับผิดทางแพ่งของนักแปลและล่ามอย่างชัดเจนประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนและมีชาวต่างชาติจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยความต้องการของอาชีพนักแปลและล่ามจึงเพิ่มขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดข้อพิพาทระหว่างนักแปลหรือล่ามกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพแปลและล่ามในประเทศไทยวิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงมุ่งศึกษาและวิเคราะห์ความรับผิดทางแพ่งของนักแปลและล่ามตามกฎหมายไทยและตามหลักกฎหมายและคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องของต่างประเทศพร้อมทั้งศึกษาการประกอบวิชาชีพประเภทอื่นเพื่อเทียบเคียงกับการประกอบอาชีพนักแปลและล่ามทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้และเหมาะสมในการคุ้มครองนักแปลและล่ามที่ทำงานโดยสุจริตหากต้องถูกฟ้องร้องในทางแพ่งพร้อมกับเป็นแนวทางในการเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานที่ผิดพลาดของนักแปลหรือล่ามด้วย”

ลักษณะการประกอบอาชีพนักแปลและล่าม

“การปฏิบัติงานของนักแปลและล่ามนั้นเหมือนกันตรงที่ทั้งสองอาชีพนี้มีหน้าที่ถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่งหรือทำให้ผู้รับสารเข้าใจความหมายแต่หากพิจารณาวิธีการสื่อสารของนักแปลและล่ามแล้ว สองอาชีพนี้มีความแตกต่างกันกล่าวคือ ในการแปลของนักแปลนั้นต้นฉบับที่จะนักแปลจะต้องถ่ายทอดความหมายนั้นจะเป็นงานเขียนและนักแปลจะแปลเป็นงานเขียน ในขณะที่การแปลของล่ามนั้น ต้นฉบับจะเป็นการพูด และล่ามมีหน้าที่ถ่ายทอดออกเป็นอีกภาษาหนึ่งโดยวิธีพูดเรียกว่า การแปลแบบล่าม ซึ่งอาจเป็นการถ่ายทอดไปพร้อม ๆ กับผู้พูดหรืออาจรอจนผู้พูดพูดจบหนึ่งตอนแล้วจึงจะถ่ายทอดให้ผู้ฟังเสียทีหนึ่ง (สัญฉวี: 2560)

นอกจากล่ามจะเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารให้แก่ผู้ที่มีความสามารถจำกัดด้านภาษาแล้วล่ามยังเป็นสื่อกลางให้แก่ผู้พิการทางด้านการได้ยินด้วย ล่ามประเภทนี้เรียกว่าล่ามภาษามือล่ามภาษามือช่วยให้ผู้พิการด้านการได้ยินสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการบริการด้านการแพทย์ได้ทัดเทียมผู้ที่ไม่มีพิการซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้พิการพึงมีพึงได้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on theRights of Persons with Disabilities (CRPD)) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้เมื่อวันที่29 กรกฎาคม 2551โดยมีเนื้อหาสาระในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันของคนพิการในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการรักษาพยาบาล(สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ: 2552)

มาตรฐานอาชีพนักแปลและล่าม

ปัจจุบันแม้ว่าหลายประเทศจะมีมาตรฐานนักแปลและล่ามในระดับนานาชาติมากมายเช่น มาตรฐาน ISO12616:2002 Translation-Oriented Terminographyหรือในระดับสหภาพยุโรปอย่าง มาตรฐาน EN 15038 Quality Standard forTranslation Services แต่มาตรฐานเหล่านั้นไม่มีความเป็นเอกภาพและยังมีความไม่ชัดเจนซึ่งแทนที่มาตรฐานเหล่านี้จะช่วยให้มาตรฐานการทำงานของนักแปลและล่ามชัดเจนขึ้นกลับไม่ช่วยอะไรมากนัก เช่น คำว่า “best practices (แนวปฏิบัติที่ดี)” หรือ “basic minimum requirements (ข้อกำหนดขั้นต่ำพื้นฐาน)” ก็ไม่ได้มีนิยามกำหนดไว้ว่าหมายความว่าอย่างไร(Thomas B. Mann: 2017)

อย่างไรก็ตามเมื่อปี พ.ศ. 2557สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน)จัดทำโครงการมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ สำหรับ 6สาขาอาชีพของการผลิตหนังสือ (ผ่องศรี: 2559)ซึ่งรวมถึงอาชีพนักแปลด้วย แต่มาตรฐานดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์นักเพราะยังทำได้แค่วัดคุณวุฒิวิชาชีพของผู้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยโดยยังไม่มีคู่ภาษาอื่นและมาตรฐานอาชีพนี้กฎหมายไม่ได้บังคับให้นักแปลทุกคนต้องเข้าทดสอบวัดระดับความรู้และคาดว่านักแปลหรือล่ามหลายคนไม่ทราบถึงการจัดทำมาตรฐานอาชีพนี้แต่ความพยายามในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการกระตุ้นให้นักแปลและล่ามหันมาสนใจพัฒนาตนเองเพื่อเข้าทดสอบวัดระดับความรู้เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณวุฒิที่จะสามารถใช้ในการเสนอต่อผู้ว่าจ้างเพื่อเรียกค่าตอบแทนให้สูงขึ้นแลกกับความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้นด้วย”

จรรยาบรรณอาชีพนักแปลและล่าม

“ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดจรรยาบรรณนักแปลหรือล่ามที่ทำงานในบริบทอื่นที่ไม่ใช่ศาลเช่น ล่ามในโรงพยาบาล จะมีก็เพียงแต่จรรยาบรรณตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้นเช่น ในกรณีการแปลหนังสือหรือเอกสาร ท่านศาสตราจารย์ ดร. มณีรัตน์ สวัสดิวัตน์ ณอยุธยา ให้ความเห็นว่าจรรยาบรรณของผู้แปลคือการที่ผู้แปลควรมีความซื่อสัตย์และซื่อตรงต่อต้นฉบับ เคารพสิทธิ์ของผู้เขียน อ้างถึงหรือขออนุญาตลิขสิทธิ์พิจารณาว่าการแปลนั้น ๆ เหมาะกับประเภทและลักษณะแนวเขียนของต้นฉบับหรือไม่เขียนเป็นแบบใด ให้ผู้อ่านระดับใด ควรตั้งข้อสังเกตเนื้อหาว่าแปลถูกต้องหรือไม่ประมวลเนื้อหาไว้เพียงพอหรือควรสมบูรณ์ตามต้นฉบับตรวจสอบคำนำและเชิงอรรถที่มีในฉบับเดิมด้วย ตรวจการใช้ถ้อยคำและสำนวนโวหารว่าเหมาะสมกับเนื้อความและระดับผู้อ่านหรือไม่การตรวจขั้นสุดท้ายเป็นการพิจารณาว่า มีความถูกต้องพอเพียงกับผู้อ่านและตรวจรายละเอียดการใช้ภาษา ถ้อยคำ สำนวน วรรคตอน ตัวสะกด (มณีรัตน์: 2548)




Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2561
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2561 21:41:23 น.
Counter : 2425 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
กุมภาพันธ์ 2561

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
 
 
All Blog