กรรมของ " ทักษิณ " คือ // ท่านอธิฐานบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ ท่านมาจาก พุทธภูมิ // ท่านเลยต้องเที่ยวตะเวณช่วยเหลือ คนนับแสนนับล้าน
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
18 สิงหาคม 2551

ศาสตร์แห่งการลี้ภัย เขียนโดยคุณจักรภพ เพ็ญแข


คอลัมน์ : วิเทศทรรศน์

ในราชอาณาจักรเยี่ยงนี้ การลี้ภัยเป็นหนทางหนึ่งในการถนอมตัวไว้ สำหรับการเผชิญหน้าที่ยาวไกล การ “ลี้ภัย” ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว จึงถือเป็นธรรมดาและเป็นธรรมชาติของวงจรนี้ ถ้าวงจรนี้หมดไปและมีวงจรใหม่เข้ามาแทนที่ ก็อาจจะต้องใช้หลักใหม่ที่ไม่ควรมีใครต้องลี้ภัย เพราะผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ตรงกันอีกต่อไป


แต่วันนั้นยังมาไม่ถึง คงคล้ายกับที่คุณทักษิณเขียนจดหมาย “ลา” ไว้ด้วยลายมือในตอนหนึ่งว่า “...วันนี้ยังไม่ใช่วันของผม...” นั่นล่ะครับ


ดีที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น เพราะอย่างน้อยคนไทยจำนวนหนึ่งก็เริ่มหูผึ่งกับคำว่า “การลี้ภัย” หรือ “ผู้ลี้ภัย” ทั้งที่เคยเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน จนคนไทยต้องหลบหนีจากบ้านเกิดเมืองนอนไปหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นท่านปรีดี พนมยงค์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฯลฯ แต่เราก็ไม่ได้สนใจนักกับคำๆ นี้ ทั้งที่มันสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดเกี่ยวกับตัวเราได้อย่างสะใจ


คราวนี้จะได้รู้กันเสียทีว่าการลี้ภัย เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในยุคต่ำกว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวด สำหรับคนที่อยากจะตื่นขึ้นจากมนต์สะกดบางอย่าง


ลองมาทำความเข้าใจกันเสียหน่อยปะไร


เริ่มจากวิกิพีเดียก็ไม่เลว เพราะเขาไปประมวลความหมายมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้หลายแหล่ง


เขาบอกว่า สิทธิในการลี้ภัย (right of asylum) ถือเป็น “แนวทางโบราณในกระบวนการยุติธรรม ที่ถือว่าบุคคลที่ถูกขู่เข็ญคุกคามจากความคิดเห็นทางการเมือง หรือจากความเชื่อทางศาสนาที่ไม่ตรงกันในประเทศของตนเอง สามารถจะได้รับความคุ้มครองจากประเทศอื่น รัฐอื่น และศาสนสถานอื่นได้ แต่อย่าเอาเรื่องการขอลี้ภัยทางการเมือง ไปสับสนกับกฎหมายผู้อพยพในโลกยุคใหม ่ที่ต้องรับมือกับผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากๆ การลี้ภัยในความหมายนี้ เป็นเรื่องของคนแต่ละคนและจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่ผู้ลี้ภัยสองประเภทนี้อาจทับซ้อนกันได้ เพราะผู้อพยพจำนวนมากๆ อาจขอลี้ภัยแยกเดี่ยวเป็นบุคคลด้วยเหตุผลข้างต้นด้วยก็ได้...”


ในแง่ความเป็นมานั้น “สิทธินี้มีรากเหง้ามาจากธรรมเนียมในโลกตะวันตก ถึงจะโยงกลับไปได้ถึงอียิปต์โบราณ กรีกโบราณ และอาณาจักรฮิบรูว์ แต่คนอย่างเดสกาส์ก็ลี้ภัยไปเนเธอร์แลนด์ วอลแตร์ไปอังกฤษ ฮ็อบส์ไปฝรั่งเศส (ติดตามด้วยขุนนางอังกฤษ อีกเป็นจำนวนมากในระหว่างสงครามกลางเมืองของอังกฤษ) ทุกรัฐให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ถูกลงทัณฑ์เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในศตวรรษที่ 20 เข้ามากระทบสิทธิในการขอลี้ภัยเข้าอย่างจัง ถึงกฎหมายระหว่างประเทศยังยอมรับว่ารัฐไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ที่จะส่งตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร ไปให้กับประเทศที่ร้องขอมา เพราะส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย คือทุกรัฐมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการดูแลจัดการ กับคนทุกคนที่อยู่ในดินแดนของตนก็ตาม...”


เอาเฉพาะแค่นี้ เราจะเห็นอะไรสว่างขึ้นมากทีเดียว การอยู่รวมกับเป็นโลกนั้นหมายความว่าต้องยอมรับกฎเกณฑ์ของโลกด้วย หากแผลงฤทธิ์ขึ้นมาเป็นเยอรมนีภายใต้ฮิตเลอร์ อิตาลีภายใต้มุสโสลินี หรือญี่ปุ่นภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิองค์เก่า ก็จะถูกปราบปรามด้วยกำลัง และผู้ชนะก็คือผู้ที่วางกฎเกณฑ์ทุกอย่างว่าอะไรผิดอะไรถูก รวมทั้งเขียนประวัติศาสตร์ให้ตนเป็นฝ่าย “เทพ” ด้วย


หลักการนี้เขายอมรับว่าการลี้ภัย เป็นวิธีการอยู่ร่วมโลกกันอย่างหนึ่ง ตั้งแต่สมัยโบราณก่อนจะมี “รัฐชาติ” มาโน่นแล้ว ใครคิดจะประดิดประดอยกัน ในเมืองไทยว่าเรื่องนี้เป็นแนวคิดใหม่ของฝรั่ง พี่ไทยไม่จำเป็นต้องกระทำตามนั้น ก็ขอให้รู้ในบัดนี้ว่าเชยเต็มที เขาถือว่าคนแต่ละคนมีสิทธิ จะเลือกที่อยู่ที่ตนเห็นว่าจะปลอดภัย และไม่ถูกข่มขู่คุกคามได้เสมอ และรัฐที่เขาเห็นแตกต่างจากรัฐนั้นๆ ก็มีสิทธิดูแลคนที่ “หนี” หรือ “ลี้ภัย” มาด้วย


ต้องเน้นย้ำกันให้มากๆ คือการลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม


เราท่องกันว่ากระบวนการยุติธรรมของเรามี 4 ขั้นคือ ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ และก็จบสิ้นขั้นตอนกันแต่เพียงนั้น ทุกขั้นตอนที่ว่ามานี้กระทำการ ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้นด้วย ภายหลังเมื่อสังคมพัฒนาขึ้น เราก็เริ่มมองละเอียดเข้าไปที่สื่อมวลชนบ้าง ครอบครัวบ้าง การคุมประพฤติและการฟื้นฟูผู้กระทำผิดต่างๆ บ้าง ในฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็นับว่าทำให้เกิดเยื่อใยทางสังคม และได้ “ธรรม” มาเป็นข้อ “ยุติ” มากขึ้น แต่การลี้ภัยทำให้เราต้องมองกระบวนการยุติธรรมให้กว้างออกไปอีก


นั่นคือเมื่อเขาผ่านขั้นตอนนั้นแล้ว พบว่าสิ่งที่มีอยู่ให้ความยุติธรรมกับเขาไม่ได้ คนในประเทศเป็นจำนวนมากก็เห็นเช่นกันว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาย่อมมีสิทธิที่จะเดินออกไปจากขั้นตอนของการราชทัณฑ์ ซึ่งเท่ากับเดินออกนอกเขตแห่งอำนาจรัฐนั้นๆ ได้


นี่คือปรัชญาใหญ่ที่นักประชาธิปไตยผู้รักความยุติธรรมควรเข้าใจ ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายใจเมื่อถูกตราหน้าว่า “หนี” และไม่ต้องตกใจเมื่อถูกผู้มีอำนาจเดิมตามมาราวีด้วยการทำให้กลายเป็นผู้ร้ายที่กำลังหลบหนี (fugitive) เพราะเป็นสิทธิแท้ๆ อย่างหนึ่งของมนุษย์ผู้มิใช่พรหม


คุณทักษิณเองก็พูดชัดในจดหมายว่า ไม่เคยคิดที่จะเลี่ยงการขึ้นศาล และกลับมาเมืองไทยก็เพื่อจะขึ้นศาลเพื่อจะสู้คดีตามกฎหมายระบิลเมือง แต่แล้วเมื่อพบว่า กระบวนการต่างๆ มิได้เป็นไปตามที่คาดหมาย และมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับความยุติธรรม คุณทักษิณก็เลือกที่จะเดินออกจากกระบวนการยุติธรรมของไทย ก็เท่านั้น


เรื่องแบบนี้ถ้าไปเอาตำนานเก่าๆ ของนักโทษที่ชอบพูดจนติดปากว่า “เขาหาว่า” มาเสียดสีว่าคนผิดย่อมจะไม่อยากยอมรับผิด ก็คงจะตลก เพราะกรณีของคุณทักษิณมีคนไทยเป็นสิบๆ ล้านจับตาดูอยู่ทั่วประเทศ ถึงจะไม่เข้าใจในเล่ห์กลอันสลับซับซ้อนทั้งหมด แต่ก็พอจะสรุปกับตัวเองได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันขาดความเป็นธรรมอยู่มาก


จะมีโกรธหรือน้อยใจอยู่บ้างก็คือคุณทักษิณหลงเชื่อเขามานานเกินควร


เอาเป็นว่า การลี้ภัยทางการเมืองของคุณทักษิณและครอบครัวเที่ยวนี้ไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ที่จะเอาชีวิตท่านปรีดีให้ได้ หรือไม่ต่างอะไรกับการยุให้จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนเจ้าตัวต้องเตลิดไปเขมรและไปตายที่ญี่ปุ่น แต่ส่วนที่เพิ่มมาอย่างมากคือสายตาของคนทั้งหลายที่เขาเฝ้ามองอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านความอัศจรรย์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เรื่องนี้จะมีฉากจบที่ไม่เหมือนความอาดูรของท่านปรีดีหรือจอมพล ป.


ภาพยนตร์เพิ่งฉายได้แค่ค่อนเรื่องเท่านั้นเองครับ ต้องกลั้นดูไปจนจบแล้วจะได้รู้เองว่าท้ายที่สุดใครจะไม่มีแผ่นดินอยู่อย่างถาวร


จักรภพ เพ็ญแข

ที่มา ประชาทรรศน์ News Magazine









Create Date : 18 สิงหาคม 2551
Last Update : 18 สิงหาคม 2551 22:15:41 น. 0 comments
Counter : 1277 Pageviews.  

VikingsX
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add VikingsX's blog to your web]