กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มิถุนายน 2565
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
space
space
5 มิถุนายน 2565
space
space
space

สีลมัย


   บุญข้อที่ ๒ เรียกว่า สีลมัย  บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล.  คำว่า “ศีล” แปลว่า “ปกติ” ปกติ แปลตามตัวว่า ศีล. กายที่ปกติก็เรียกว่า เป็นศีล วาจาที่พูดโดยปกติ ไม่มีการปรุงแต่งด้วยกิเลสประเภทใดก็เรียกว่า เป็นศีล ใจที่ปกติไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็เรียกว่า จิตเป็นศีล  ศีล แปลว่า ปกติ ถ้าปกติมันไม่ยุ่ง ไอ่ที่ยุ่งเพราะมันผิดปกติ พูดผิดปกติ ทำผิดปกติ คิดผิดปกติ ก็เรียกว่ายุ่งละ มันผิดศีลแล้ว นี่แหละศีลโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของศีล คือการปกติ

   คราวนี้คนเรามันไม่ได้ปกติอยู่เสมอไป เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ จึงต้องมีการถือเพื่อให้ปกติตลอดไป ที่เราเรียกว่า “ถือศีล”  การถือศีล ก็คือการยอมเดินปฏิบัติตามระเบียบที่เรียกว่า ศีล ระเบียบของศีลที่จะทำให้เกิดศีลคือความปกติขึ้นในตัวเรา เขาบัญญัติไว้ให้เราปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็เรียกว่า เราถือ  ถ้าเราไม่ปฏิบัติก็เรียกว่า เราไม่ถือ  คราวนี้การถือศีลนั้นเป็นบุญ  การไม่ถือศีลนั้นเป็นบาป   เป็นความเศร้าหมองในจิตใจ   การรักษาศีลจึงถือว่าเป็นบุญกิริยา

   คราวนี้การรักษาศีล รักษากันไว้ที่ไหน ?   ศีลมันอยู่ที่อะไร ? มันอยู่ที่ความตั้งใจงดเว้นโทษต่างๆ อันผิดจากศีล  จำง่ายๆ ว่า การรักษาศีลก็คือ การตั้งใจงดเว้นจากการกระทำความชั่ว เช่น เราตั้งใจว่าเราจะไม่ฆ่าใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ลักของใคร ไม่ประพฤติล่วงเกินของรักของชอบใจของใคร ไม่พูดโกหกหลอกลวงใคร ไม่ดื่มกินของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันนี้ เรียกว่า รักษาศีลแล้ว คือตั้งใจลงว่าเราจะประพฤติอย่างนั้น ก็เรียกว่าเราเป็นผู้มีศีล ตราบใดที่เรายังตั้งใจปฏิบัติอยู่ ก็เรียกว่า มีศีลอยู่

ถ้าไม่มีความตั้งใจเมื่อใด ศีลมันก็หายไปเมื่อนั้น ศีลขาดก็เพราะขาดความตั้งใจ ความตั้งใจนี้ ภาษาพระท่านเรียกว่า “เจตนา” พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เจตะนาหัง ภิกขะเว สีลัง วะทามิ”  ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าความตั้งใจเป็นตัวศีล เจตนาตั้งความเจตนาว่า นี่เป็นตัวศีล เพราะฉะนั้น ศีลก็อยู่ที่เจตนา

ตัวเจตนานั้นมันอยู่ที่ไหน ? มันอยู่ที่ใจของเรา ศีลแท้ๆมันก็อยู่ที่ความตั้งใจจะปฏิบัตินั่นเอง พอไม่ตั้งใจปฏิบัติ ศีลมันก็หายไปเท่านั้นเอง ไม่อยู่กับตัวเราต่อไป ความตั้งใจปฏิบัติ จึงเรียกว่า เป็นตัวศีล

    ทำไมจึงต้องตั้งใจรักษาศีล ?    เพราะถ้าไม่ตั้งใจมันก็เป็นไปไม่ได้  ศีลมันก็ไม่เกิดถ้าไม่ตั้งใจ เพราะฉะนั้น  มันต้องมีการอธิษฐานใจ   ผูกใจไว้กับเรื่องนั้น  การรับศีลนั้นก็คือการให้สัญญากับพระ เช่น เราไปรับศีล รับศีลว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี เป็นต้น ก็ให้สัญญากับพระว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  สิกขาบท ก็คือ แบบฝึกหัดในเรื่องเกี่ยวกับศีล  จะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ดังนั้นเป็นต้น  เรียกว่า กล่าวคำสัญญาไว้กับพระ   เมื่อสัญญาไว้แล้วก็ต้องรักษาสัญญา  การรักษาสัญญาก็เรียกว่าเรารักษาศีล  ถ้าเราไม่รักษาสัญญาไว้ก็เรียกว่า เราไม่รักษาศีล

การไม่ถือระเบียบก็เรียกว่า ไม่มีศีล  ถ้าเคารพต่อระเบียบ ก็เรียกว่ามีศีล  ศีลคือระเบียบ คือจารีตประเพณีคือข้อปฏิบัติ ศีลทั้งนั้น ประเพณีต่างๆ ก็เรียกว่าศีลเหมือนกัน  จารีตที่เขาปฏิบัติกันแล้วมันสร้างเสริมความสงบในสังคม เรียกว่า เป็นศีล

นอกนั้นก็มีศีลที่พระพุทธศาสนาบัญญัติไว้ เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ มากขึ้นไปโดยลำดับ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดอะไรขึ้นมา ? ให้เกิดความสงบในทางจิตใจ การรักษาศีลเพื่อให้เกิดความสงบ ให้เกิดความสว่างขึ้นในทางจิตใจ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะต้องรักษา


    นี่เรามาพิจารณาดูเรื่องศีลที่เรามาสมาทาน  ตามหลักของการรักษาศีลนั้น ต้องสมาทาน สมาทาน ก็แปลว่า รับเอามาปฏิบัติ รับเอาศีลมาปฏิบัติ เรียกว่า สมาทาน  การสมาทานศีล นั้น ไม่ต้องไปสมาทานกับพระก็ได้  ถ้าไม่มีพระเราตั้งใจเอาเองก็ได้  เรียกว่า สมาทานวิรัติ หมายความว่า ตั้งใจงดเว้น ตั้งใจว่าวันนี้เราจะถือศีลนั้น ข้อนั้น ข้อนี้ ให้เคร่งครัด อย่างนี้เรียกว่า ตั้งใจงดเว้น ก็เป็นศีลเหมือนกัน

แต่ถ้ามีพระเราก็เข้าไปหาพระ  ขอศีลจากท่าน  ขอศีล  หมายความว่า  ขอข้อปฏิบัติในเรื่องศีลจากพระ   พระก็ให้ศีลแก่เรา   เราก็รับ เวลารับศีล  เราก็ต้องรับกันดังๆ  เมืองไทยนี้ ก็ในกรุงนี่รับศีลกันไม่ค่อยดัง   คนบ้านนอกเขารับศีลกันดังๆทั้งนั้น ชาวนา ชาวไร่ เขารับศีลเป็น เขารับกันดังๆ ประเทศอื่นเขารับกันดังๆทั้งนั้น ชาวอินเดียที่นับถือพุทธ รับศีลดังชัดถ้อยชัดคำ ชาวลังกาก็รับศีลดัง พม่าก็ดัง แม้คนจีนมลายูที่นับถือพุทธศาสนา เขานับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ก็มีพระฝ่ายเถรวาทไปอยู่มาก เขาก็มีวัด เขาเรียนคำบาลีในเรื่อง สมาทานศีล อะไรได้ เขาว่าดังๆ รับศีลดังๆ แม้ว่าไม่ชัดเขาก็ว่าดังๆ เขาไม่ละอาย เพราะว่าลิ้นของเขามันอย่างนั้น เขาพยายามว่าให้มันชัดถ้อยชัดคำมากที่สุด

   การรับศีล นี่ต้องรับดังๆ เพราะเป็นการกล่าวคำปฏิญาณกับผู้ที่ให้ศีล คือ ต้องกล่าวกับพระที่ให้ปฏิญาณ พูดเงียบๆ มันได้เสียเมื่อไร มันต้องพูดดังๆชัดถ้อยชัดคำ  การรับต้องรับด้วยความเต็มใจ จึงจะเป็นการรับที่ถูกต้อง อันนี้คือการรับที่ถูกต้อง อันนี้ก็คือการรับศีล หรือ สมาทานศีล โดยเฉพาะศีล ๕ ความจริงไม่ต้องสมาทานบ่อย สมาทานทีเดียวตลอดชาติเลย หมายความว่าเป็นพุทธบริษัทก็มีศีล ๕ ประจำ เว้นไว้แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันขาด เราก็ไปสมาทานใหม่  คนที่สมาทานบ่อยๆ แปลว่า ศีลขาดบ่อยๆ นี่มันไม่ได้เรื่อง เหมือนเชือกมันต่อหลายปมแล้วมันไม่ทนเท่าไร ถ้าเส้นเดียวไม่มีต่อมันแข็งแรงดี เพราะฉะนั้น ให้สำรวมระวังไว้ ไม่ให้มันขาดก็ดี แต่อาจจะมีขาดตกบกพร่องไปบ้าง เราก็ไปสัญญากันใหม่ การรับศีลมุ่งอย่างนั้น  ศีลเบื้องต้นที่เป็นฐานสำคัญ คือศีล ๕

 


Create Date : 05 มิถุนายน 2565
Last Update : 19 มกราคม 2567 17:12:42 น. 0 comments
Counter : 178 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space