บ้านที่มีความรักและความอบอุ่นคือจินตนาการของคนไทยยามนี้ !
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
15 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 

พุทธบูรณารำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 4)






พุทธบูรณารำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 4)

โดย ดร.สุวินัย ภรณวลัย //www.suvinai-dragon.com 23 พฤษภาคม 2549 16:02 น.


ดร.สุวินัย ภรณวลัย
//www.suvinai-dragon.com

4. ตามรอยพระอรหันต์


“ทุกวันนี้ พระอริยบุคคลที่จะเป็นเนื้อนาบุญไม่มีแล้ว”

เจ้าพระยาทิพากรวงษ์

การขบถและการแสวงหาโดยลำพังของพระหนุ่มอินทปัญโญ เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทแห่งความขัดแย้งระหว่างสองวัฒนธรรมของศาสนาพุทธในเมืองไทยวัฒนธรรมหนึ่งนั้น โน้มเอียงไปในทางเน้นความเป็นเหตุเป็นผล มีเนื้อหาชัดเจน มุ่งผลที่เห็นได้ในชาตินี้ ยึดอิงตำราว่าเป็นหัวใจของการเข้าถึงธรรมะและความจริง ขณะที่ในอีกวัฒนธรรมหนึ่งนั้น ยังเชื่ออย่างฝังหัวในสิ่งที่อยู่เหนือเหตุผล โดยยอมรับว่ายังมีอีกโลกหนึ่งที่พ้นไปจากโลกนี้ เรียนรู้จากประสบการณ์และผ่านตำนานเรื่องเล่าเชิงอุปมาอุปไมยที่เป็นรูปธรรมหรือบุคลาธิษฐาน อีกทั้งยังเห็นว่าธรรมะกับความบันเทิงไม่ได้แยกออกจากกัน

นี่คือความขัดแย้งทางโลกทัศน์ที่สะท้อนถึงความต่างของระดับจิตของคนเมืองกับคนชนบท ความต่างระหว่างโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม แบบเป็นวิทยาศาสตร์กับโลกทัศน์แบบปรัมปราคติ ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของความขัดแย้งระหว่างพระปริยัติจากในเมืองกับพระท้องถิ่นในบ้านนอก ปัญหาของพระหนุ่มอินทปัญโญนั้นอยู่ที่ว่า ตัวเขาไม่สามารถนิยามตัวเองได้ว่าสังกัดอยู่กับกลุ่มใด

จริงอยู่ แม้ตัวเขาจะไม่ค่อยเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์และไสยศาสตร์มาตั้งแต่ก่อนบวชแล้ว เขาจึงมีความโน้มเอียงที่จะไม่ยอมรับ “พุทธธรรมแบบปรัมปราคติ” ของพวกพระท้องถิ่นที่อยู่รอบข้าง นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเขาต้องดิ้นรนไปศึกษาต่อที่เมืองหลวงเพื่อค้นหา “พุทธธรรมที่สูงส่งกว่านั้น” เพื่อพบกับความผิดหวังว่า

“พุทธธรรมแบบเหตุผลนิยม” ของพวกพระเมืองที่ย่อหย่อนในการปฏิบัติสมาธิภาวนานั้นน่าผิดหวังยิ่งกว่า การศึกษาอย่างใหม่ในทางโลกและทางศาสนา ทำให้นักเรียนดูถูกพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่าโง่เขลาคร่ำครึ การครอบงำของโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยมที่มีฐานจากในเมือง โดยได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีและรัฐทำให้ "ความศักดิ์สิทธิ์" ของพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมมีชุมชนท้องถิ่นเป็นพื้นฐานหาที่ยืนได้ลำบากยิ่งขึ้นทุกที และนับวันก็จะยิ่งรุกล้ำเข้ามาล่วงเกิน แม้กระทั่ง “ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต”...ของทุกสรรพชีวิตบนโลกใบนี้

อินทปัญโญรู้สึกปวดร้าว แต่มันเป็นความปวดร้าวของค้างคาวที่รู้ตัวเองว่าไม่ใช่ทั้งนกและหนู และไม่อาจสังกัดในกลุ่มหนูหรือกลุ่มนกอย่างยินยอมพร้อมใจได้ การมีชีวิตอยู่อย่างงมงายไปวันๆ โดยไม่คิดแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ใส่ตัว มิใช่ทางเลือกของพระหนุ่มอย่างเขา แต่การยึดถือพุทธศาสนาโดยยึดตำรา และการใช้เหตุผลล้วนๆ จนปฏิเสธ แม้กระทั่งการใช้สมาธิภาวนาเพื่อเข้าถึงความจริงก็เป็นสิ่งที่ตัวเขายอมรับไม่ได้เช่นกัน ตัวเขาจึงต้องออกแสวงหาและทดลองเดินบนเส้นทางแห่ง “ทางเลือกที่สาม” เพียงลำพัง...ทางเลือกที่ศึกษาปริยัติเพื่อรับใช้การปฏิบัติธรรม มิใช่ไร้ปริยัติเหมือนพวกปรัมปราคติ แต่ก็มิใช่ปริยัติเหมือนพวกเหตุผลนิยม

พระหนุ่มอินทปัญโญได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่า จากนี้ไปเขาจะยึดถือ พระพุทธเจ้าเป็นคุรุหรือครูทางจิตวิญญาณของเขาโดยตรง ยิ่งเมื่อตัวเขากลายเป็นพระป่าที่พำนักอยู่คนเดียวตามลำพังในวัดร้างแห่งนี้ จึงมีเวลาอ่านพระไตรปิฎกอย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยตัวเขาอ่านพระไตรปิฎกจากมุมมองที่มุ่งจะค้นหาร่องรอยแห่งการศึกษาค้นคว้า การปฏิบัติและการเป็นอยู่ประจำวัน ตลอดจนวิธีการอบรมสั่งสอนและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ของพระพุทธเจ้า โดยมุ่งจะนำเอาหลักเกณฑ์เหล่านี้มาใช้ในการที่จะทำความเข้าใจโลกภายใน หรือชีวิตด้านในของพระพุทธเจ้า เพื่อที่ตัวเขาจะได้เจริญรอยตามท่าน

ความยากลำบากอยู่ตรงที่เรื่องราวเหล่านี้ในพระไตรปิฎก มิได้รวมอยู่ที่ตอนใดตอนหนึ่งทั้งหมด แต่ไปมีแทรกอยู่ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง และบางแห่งก็มีนิดหน่อยและเร้นลับ ต้องตั้งใจเลือกเก็บกันจริงๆ ถึงจะค้นพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับตัวเขาที่มุ่งจะสืบค้นหาร่องรอยการปฏิบัติธรรมของพระอรหันต์ที่ยังเร้นลับอยู่ในพระไตรปิฎก

อินทปัญโญมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นไม่คลอนแคลนว่า ชีวิตแห่งความเป็นพระอรหันต์ ในพระพุทธศาสนาคือ บรมธรรมชิ้นเอกที่โลกต้องการ เพราะนี่เป็นสิ่งเดียวที่อาจนำความสุขที่แท้จริงมาให้แก่โลกได้ เพราะนี่คือ วิถีแห่งการทำให้จิตมีอำนาจเหนือโลก เหนือโลกานุวัตร เพื่อไม่ต้องหมุนเวียนไปในกระแสแห่งความทุกข์ทรมานของโลก และเพื่อถึงที่สุดแห่งความสุขอันจะไม่กลับไปเป็นทุกข์อีกต่อไป

วิถีแห่งพระอรหันต์นี้มีพระพุทธเจ้ากระทำสำเร็จเป็นคนแรก แล้วสอนให้ผู้อื่นทำตามบ้าง จนมีพระอรหันต์คือผู้ที่พ้นทุกข์เป็นจำนวนมาก การได้เห็นและศึกษาตัวอย่างจากผู้ที่พ้นทุกข์แล้ว มีใจที่เป็นอิสระจากธรรมชาติฝ่ายต่ำ ไม่ติดขัดดุจท้องฟ้ากลางหาว และสดชื่นเบิกบานได้ถึงที่สุดของใจ เป็นวิธีการเดียวที่จะนำความสุขมาสู่โลกได้แท้จริง โลกมีความจริงเป็นเช่นนี้ แต่มนุษย์ส่วนมากในโลก ไม่ได้ยึดเอาความจริงนี้เป็นหลัก จึงดำเนินชีวิตที่ขัดขวางต่อความจริงของโลกโดยไม่รู้ตัว

อินทปัญโญไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเชื่อของพวกพระผู้ใหญ่ทั้งหลายในกรุงเทพฯ ที่อ้างว่า พระอรหันต์ไม่มีในโลกแล้ว และจะไม่มีอีกต่อไป เขาไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกนั้นจึงพยายามยกเหตุผลต่างๆ มากล่าวอย่างจริงจังเพื่อรองรับความเชื่อข้างต้นราวกับว่า พวกเขาจะได้รับผลดีอะไรบางอย่างจากการกระทำเช่นนี้ เช่น สมณศักดิ์กระนั้นหรือ

ความเชื่อที่หลงผิดเช่นนี้ จะทำให้ไม่มีใครพยายามเพื่อเป็นพระอรหันต์อีกต่อไป และจะทำให้พุทธธรรมอันสูงสุดกลายเป็นคำพูดคำสอนที่เหลวไหล

พระอรหันต์ไม่มีเครื่องหมายภายนอกแสดงให้รู้ จึงยากที่จะรู้จักพระอรหันต์ด้วยรูปร่างภายนอก คนที่เรียนเรื่องพระอรหันต์รู้แล้วแต่ไม่ทำจริงๆ ตามนั้นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นโมฆบุรุษหรือคนว่างเปล่า การเรียนจบพระไตรปิฎกก็ไม่ได้ทำให้พ้นจากข้อตินี้ ถ้าไม่ปฏิบัติดูบ้างตามที่เรียนมา

ตัวพุทธศาสนาที่แท้จริง ไม่รู้จักคร่ำคร่าหรือเสื่อมสูญ เพราะพุทธธรรมเป็นกฎที่แท้จริงประจำอยู่ในโลก ย่อมไม่เหลวไหล แต่ผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานั้นไม่แน่นอน ผู้นั้นอาจเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่ออาศัยประโยชน์ส่วนตัวหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงก็เป็นได้

การเรียนรู้เชิงปริยัติก็ต้องใช้ความบากบั่นอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่าหยุดแค่นั้น จะต้องพยายามต่อไปในขั้นปฏิบัติธรรมด้วย ส่วนปฏิเวธธรรมหรือการเก็บเกี่ยวผลอันเกิดจากการทำจริงๆ นั้น ไม่ต้องบากบั่นอะไร เพราะเมื่อมีการทำจริงๆ แล้ว ก็ย่อมหวังได้แน่นอนว่า จะต้องได้รับผลจากความพยายามนั้น

อะไรคือความยากลำบากในการตามรอยพระอรหันต์?

อินทปัญโญเห็นว่า คือความไม่เข้มแข็ง กล้าแข็งของจิตใจของคนผู้นั้น การจะตามรอยพระอรหันต์ได้ คนผู้นั้นจะต้องกล้าที่จะใช้ชีวิตที่เรียบง่ายโดยเต็มใจ ยินยอมที่จะอดทนต่อความยากลำบากอันเกิดจากความพากเพียรค้นหาความจริง ยอมทนต่อการถูกหัวเราะเยาะ ถูกเย้ยหยันของผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องพระอรหันต์ ไม่หวั่นไหวต่อคำชักชวนของสังคมให้กลับทางเดินเพราะด้วยเหตุนี้กระมัง จึงไม่ค่อยมีใครจะสมัครใจเป็นผู้เดินตามพระอรหันต์ด้วยหัวใจอันแท้จริง ยิ่งพุทธธรรมเป็นปัจจัตลักษณะคือ ผู้มีปัญญาจะเห็นได้เฉพาะตน ด้วยแล้ว การจะทำให้สังคมคล้อยตามจึงเป็นเรื่องยาก

แต่ไม่เป็นไรดอก อินทปัญโญปลอบใจตัวเองและให้กำลังใจตัวเอง ตัวเขาซึ่งได้ตั้งจิตปณิธานขอมอบชีวิตและร่างกายนี้ถวายแด่พระพุทธเจ้าดุจเป็นทาสรับใช้ของพระองค์ จนตัวเขายินดีเรียกตัวเองว่าเป็น “พุทธทาส” ในงานเขียนของเขาแล้ว
ต่อโลกภายนอก เขายินยอมให้โลกชนะเขา แต่ภายในแห่งความจริง เขารู้ดีเสมอว่า ธรรมะย่อมเป็นฝ่ายชนะเสมอ และตัวเขาซึ่งเดินตามวิถีแห่งธรรมะนี้ จึงเป็นฝ่ายชนะเสมอเช่นกันในโลกภายในของตัวเขานี้!

การตามรอยพระอรหันต์เป็น วิถีแห่งจิตของนักจิตศึกษา ซึ่งต้องเรียนรู้ธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งด้วยใจของตนเองโดยเฉพาะ จิตศึกษาคือวิชาแห่งความเป็นพระอรหันต์ที่ต้องพยายามทำจริงๆ ตามลำดับที่พระพุทธเจ้าได้ถ่ายทอดเอาไว้ให้ มันจึงเป็น ศิลปะแห่งจิต ที่ประณีตทำยาก แต่จะได้รับผลคุ้มค่าเป็นสุขอย่างแท้จริง อย่างที่ไม่มีวิธีการอย่างอื่นบันดาลให้ได้

ผู้ที่อยากทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นอย่างสูง จึงต้องหันมาร่วมมือกัน รื้อฟื้น ความสุขอย่างสูงสุดอันมีอยู่ในพุทธศาสนานี้แล้ว แสดงให้ประจักษ์แก่โลก โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส เพราะพระพุทธเจ้าทรงรับรองว่า ฆราวาสก็อาจบรรลุมรรคผล คือความสุขทางใจอย่างสูงขึ้นไปตามลำดับได้

การตามรอยพระอรหันต์ คือการปฏิบัติกาย วาจา ใจ ตามอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้เคยกระทำมาแล้วและไม่เหลือวิสัยที่คนทั่วไปจะทำตามได้ถ้าตั้งใจจริง

พุทธธรรมชั้นสูงมิได้มีไว้สำหรับหลอกคนเล่น เพราะหลักคิดในพุทธศาสนานี้สอนให้คนเราคิดจนเห็นจริงด้วยตนเองเสียก่อน แล้วจึงเชื่อไม่ต้องเชื่อสิ่งที่ไม่มีตัวตามผู้อื่นบอก พุทธธรรมสอนให้คนเราเก็บเกี่ยวผลอันเกิดจากการกระทำของตนเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่สุจริต ถูกต้องต่อภาวะของตนเองไม่ใช่ให้รอคอยรับผลจากผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้วิเศษ

คำสั่งสอนในพุทธธรรมจึงมีบทพิสูจน์กำกับอยู่ด้วยในตัว เพื่อให้ผู้นั้นเห็นได้เองแล้วเต็มใจทำด้วยตนเอง ทำไปตามลำดับๆ ก็จะได้รับผลแห่งความดีนั้นโดยลำดับเช่นกัน เมื่อถึงที่สุดแห่งความดีเมื่อใด เมื่อนั้นก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ คือผู้ที่หมดความชั่ว หมดทุกข์อันเป็นผลจากความชั่วมีอวิชชา เป็นต้น เป็นผู้มีความดีเต็มที่ จนข้ามพ้นแม้แต่ความดีนั้น จัดเป็นคนหนึ่งในจำพวกคนที่ดีที่สุดในโลก แต่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งในโลกพระอรหันต์

แม้คนทุกคนจะเป็นพระอรหันต์กันได้ในบัดนี้ ไม่ได้กันทุกคนก็จริง แต่คนเราทุกคนก็ควรพยายามเป็นพระอรหันต์เท่าที่ตัวเองจะสามารถเป็นได้ในชีวิตนี้มิใช่หรือ?

คนเราควรมีชีวิตอยู่อย่างสดชื่นแท้จริงทั้งภายนอกและภายใน มีแววตาสุกใสแสดงนิมิตแห่งความเยือกเย็นอยู่เสมอ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่มนุษย์ผู้มีทุกข์อยู่เต็มอก มีแววตาขุ่นข้นเพราะภายในถูกแผดเผาด้วยอำนาจ ความโลภ ความโกรธ และความไม่ได้ตามใจหวัง

คนเราควรทำตนเป็นตัวอย่างแห่งบุคคลที่มีใจเป็นสุขให้ผู้คนดูอยู่ทุกเวลาจนตลอดชีวิต อบรมผู้คนให้มีเมตตาอารีต่อกัน โดยทำตัวอย่างให้ดูเป็นแบบอย่างของความอดทน ความหนักแน่น และความเพียรที่มุ่งบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่นอย่างสูงสุด โดยไม่หวังผลตอบแทน

คนเราจึงต้องบำเพ็ญด้วยใจ ภายในห้วงแห่งความคิดอันละเอียด และตั้งใจทำจริงๆ ในการตามรอยพระอรหันต์ ซึ่งมีอยู่ 23 ขั้นตอนที่พระหนุ่มอินทปัญโญรวบรวมมาได้จากพระบาลี 3 สูตรคือ บาลีฉวิโสธนสูตร บาลีมหาอัสสปุรสูตร และบาลีสามัญญผลสูตร ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 “กุลบุตรได้ฟังเทศน์” เกิดศรัทธา และปัญญา

ขั้นที่ 2 “ละสมบัติ” และวงศ์ญาติ ออกบวช

ขั้นที่ 3 “ปาฏิโมกขสังวร” หรือกาย-วจี-มโนสมาจาร

ขั้นที่ 4 “อินทรียสังวร” สำรวมอินทรีย์ทั้งหก

ขั้นที่ 5 “อาชีวปาริสุทธิ” การหาเลี้ยงชีพบริสุทธิ์

ขั้นที่ 6 “ปัจจยปัจเวกขณะ” พิจารณาปัจจัยสี่

ขั้นที่ 7 “หิริและโอตตัปปะ” คือสมุฏฐานแห่งศีลทั้ง 5

ขั้นที่ 8 “สันโดษ” ยินดีด้วยสิ่งของเท่าที่จะหาได้ในที่นั้นๆ

ขั้นที่ 9 “สติสัมปชัญญะ” รู้ตัวรอบคอบทุกอิริยาบถ

ขั้นที่ 10 “ชาคริยานุโยค” ประกอบการตื่น ไม่เห็นแก่นอน

ขั้นที่ 11 “เสพเสนาสนะอันสงัด” และละนิวรณ์ 5

ขั้นที่ 12 “บรรลุปฐมฌาน” ที่ 1

ขั้นที่ 13 “บรรลุทุติยฌาน” ที่ 2

ขั้นที่ 14 “บรรลุตติยฌาน” ที่ 3

ขั้นที่ 15 “บรรลุจตุตฌาน” ที่ 4

ขั้นที่ 16 “ญาณทัศนะ” ปัญญาเครื่องรู้แห่งสภาวธรรม

ขั้นที่ 17 “มโนมยอภินิมมนะ” นฤมิตรูปทางใจ

ขั้นที่ 18 “อิทธิวิธี” วิธีแสดงฤทธิ์ต่างๆ ตามปรารถนา

ขั้นที่ 19 “ทิพโสต” หูทิพย์

ขั้นที่ 20 “เจโตปริยญาณ” รู้ใจผู้อื่นตามที่เป็นอยู่อย่างไร

ขั้นที่ 21 “บุพเพนิวาสานุสสติญาณ” ระลึกชาติได้เป็นอันมาก

ขั้นที่ 22 “จุตูปปาตญาณ” ตาทิพย์

ขั้นที่ 23 “อาสวักขยญาณ” เครื่องมือทำอาสวะให้สิ้น

จะว่าไปแล้ว 23 ขั้นตอนแห่ง “ตามรอยพระอรหันต์” ดังข้างต้นนี้เป็นแค่ โรดแมป หรือแผนที่นำทางชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิตที่พระหนุ่มอินทปัญโญตั้งเป้าว่าจะเดินตามเท่านั้น โรดแมปนี้มันทำให้ชีวิตของเขาเปี่ยมไปด้วยความหมายมากยิ่งขึ้น ต่อให้เขาจะทำตามโรดแมปนั้นได้จนถึงที่สุดหรือไม่ได้ก็ตาม









 

Create Date : 15 มิถุนายน 2549
5 comments
Last Update : 15 มิถุนายน 2549 14:08:15 น.
Counter : 572 Pageviews.

 


5. เมื่อธรรมมีอยู่ ก็ต้องมีการประพฤติตามธรรมนั้น

"ตถาคตเป็นอรหันต์ ผู้ประกอบด้วยธรรม อาศัยธรรมอย่างเดียว สักการธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอดธง มีธรรมเป็นอธิปไตย ย่อมจัดการอารักขาป้องกันและคุ้มครองโดยธรรม"

จาก "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์"

โดย พุทธทาสภิกขุ


ในสายตาของคนทั่วไป พระหนุ่มอินทปัญโญอาจเป็นผู้ล้มเหลวทางสังคมคนหนึ่งเท่านั้นก็เป็นได้ เพราะในด้านหนึ่งเขาจากกรุงเทพฯ มาอย่างหมดท่า เนื่องจากสอบเปรียญ 4 ตก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากตัวเขาเหลวไหลเอง เพราะตัวเขาอึดอัดใจกับการเรียนภาษาบาลีตามหลักสูตรสมัยนั้น ที่ต้องแปลตามระเบียบ แปลยกศัพท์ที่ชาวบ้านอ่านไม่รู้เรื่อง เขาจึงรู้สึกต่อต้าน เขามีความคิดของตัวเองว่า เขาอยากแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีออกมาเป็นภาษาไทยด้วยสำนวนของเขาเอง แปลอย่างอิสระตามความพอใจของเขา เพื่อให้เกิดความเข้าใจสื่อสารกันได้จริงสำหรับคนทั่วไป

เขาจึงต้องสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ด้วยลำแข้งของตัวเอง หลังจากล้มเหลวทางสังคมอย่างหมดท่า อย่างไม่มีอะไรน่ายินดี น่าพอใจ น่าพยายามปลุกปล้ำ เขาจึงคิดจะไปทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ เสียที โดยทดลองปฏิบัติธรรมวินัยที่ได้เล่าเรียนมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง อย่างไปตายเอาดาบหน้า ยิ่งตัวเขาสิ้นหวังที่จะได้อะไรจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่ เขาก็ยิ่งคาดหวังจะได้อะไรจากป่าในวัดร้างที่ตัวเขามาพำนักอยู่คนเดียวมากเท่านั้น

เมื่ออินทปัญโญหันมาทบทวนตัวเอง เขาก็ค้นพบว่า ตัวเขาเองเป็นคนที่ศึกษาด้วยตนเองทุกประเภทวิชา เขาเรียนแค่มัธยม 3 ยังไม่ทันได้สอบไล่ก็ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะบิดาเสียชีวิตกะทันหัน จึงต้องออกมาช่วยงานบ้าน เขาจึงต้องเรียนเอาเองเรื่อยๆ จากหนังสือทั่วๆ ไป และจากหนังสือพิมพ์ ภาษาต่างประเทศอย่างภาษาอังกฤษ เขาก็ไม่รู้อะไรเลย เขาเพิ่งมาเรียนเอาโดยตนเอง เมื่อบวชแล้ว

แม้แต่ธรรมะ เขาก็เคยเรียนในโรงเรียนเพียงสองปีเท่านั้น จากนั้นก็เรียนลำพังเองแล้วไปขอสมัครสอบ จนได้นักธรรมทั้งสามชั้นแล้ว แต่ตัวเองก็ยังไม่รู้สึกว่ามีความรู้ทางธรรมเลย แม้แต่ภาษาบาลีเองซึ่งตามหลักสูตรจะต้องเรียนถึง 12 ปี เขาก็ได้เรียนในโรงเรียนเพียง 6-7 เดือนเท่านั้น แล้วไปเรียนกับอาจารย์ของตัวเองในกุฏิอีก 1 ปี จึงไปขอสมัครสอบก็สอบได้เปรียญตรี 3 ประโยค ปีต่อมาเขาไปสมัครสอบเฉยๆ จึงสอบตกเปรียญ 4 เพราะตัวเขาเบื่อเรียน

อินทปัญโญหันมาศึกษา บาลีด้วยตนเองอย่างจริงจังอีกครั้ง เมื่อเขามาเป็นพระป่าในวัดร้างตระพังจิกได้ไม่กี่เดือน เมื่อเขาเริ่มตระหนักว่า พอเขาเริ่มลงมือปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างจริงจังในวัดร้างในป่านี้ ก็พบว่า ความรู้ทางธรรมเขาไม่เพียงพอ เขาเลยต้องค้นหาหลักเอาเอง เขาจึงหันกลับไปสนใจสิ่งที่เรียกว่าปริยัติอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่เพื่อไปเป็นนักปริยัติเหมือนพวกพระกรุงเทพฯ ที่เขารังเกียจจนจากมา แต่เขาเริ่มหันมาศึกษาพระไตรปิฎกภาษาบาลีอีกครั้ง เพื่อเก็บหลักธรรมมาสำหรับใช้ปฏิบัติในการตามรอยพระอรหันต์ เขาจึงต้องช่วยตัวเองด้วยการศึกษาจากพระไตรปิฎกด้วยตนเอง

เพราะในตอนนั้น ถึงจะมีพระไตรปิฎกแปลกันอยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก และก็ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ในสายตาของพระหนุ่มอินทปัญโญ พุทธศาสนาในเมืองไทยตอนนั้นเปรียบเหมือนบ่อน้ำใหญ่โตมหึมาที่ร้างหมักหมมมานาน จึงขาดความสะอาดและรสอร่อยไม่อวยผลให้ได้ดีอย่างเต็มที่ พุทธศาสนาในเมืองไทยกำลังต้องการความช่วยเหลือจากผู้ที่เสียสละและเด็ดเดี่ยว ซึ่งอินทปัญโญได้ตั้งจิตปณิธานอาสาที่จะแบกรับภารกิจอันยากลำบากนี้โดยเต็มใจ เพราะ ความสุขของเขาอยู่ที่การได้ศึกษาหาความรู้ทางธรรมใส่ตัว กับการได้ช่วยปลุกเขย่าให้เพื่อนร่วมโลกได้ตื่นตัว อามิสทางวัตถุและทางโลกไม่เคยช่วยให้ตัวเขามีความสุขเลย

ครั้นเมื่อตั้งต้นศึกษาพระไตรปิฎกภาษาบาลีด้วยตนเองอย่างจริงจัง อินทปัญโญก็พบว่า การจะค้นหาหลักธรรมเพื่อใช้ปฏิบัติในการตามรอยพระอรหันต์นั้น เป็นงานที่ยากกว่าที่เขาคาดคิดไว้มากมายนัก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดแบบฝนทั่งให้เป็นเข็มก็ว่าได้ เพราะ พระไตรปิฎกที่มีอยู่ไม่ต่างไปจากคลังใหญ่ซึ่งปะปนซับซ้อนหมักหมมกันมานานมาก ผู้ที่มีเป้าหมายแน่วแน่อย่างเขาจึงต้องทำตนดุจ นักค้นคว้าที่คอยเลือกเฟ้น เก็บหอมรอมริบหลักวิชาต่างๆ ในพระไตรปิฎกตามวิธีการที่เป็นหลักวิชาการ เพื่อให้มีความรู้ที่ถูกต้องและชัดเจนจริง

มันจึงมิใช่เรื่องของการท่องจำได้แบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ เป็นเรื่องของการแปรเปลี่ยนพระคัมภีร์ให้กลายเป็นหัวใจของพุทธธรรม ซึ่งเป็นงานที่ต้องกระทำอย่างประณีตช้า อย่างอดทนอย่างใจเย็นดุจงานศิลปะชั้นเลิศ ซึ่งการจะบรรลุความสำเร็จในงานชิ้นนี้ได้ ความตั้งใจจริง การทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน และความแม่นยำหมดจดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งอินทปัญโญคิดว่าตัวเขาเองมีคุณสมบัติเช่นนั้นครบถ้วน เพราะ เขาเชื่อมั่นว่า ตัวเขาสามารถบังคับตัวเองให้ปลุกปล้ำอยู่กับพระไตรปิฎกตามแนวทางขั้นต้นได้เป็นปีๆ หรือหลายสิบปี ปล้ำปลุกกับพระไตรปิฎกนี้จนแหลกละเอียด จนกระทั่งพุทธธรรมอันแท้จริงสถิตอยู่ในตัวเขาอย่างมั่นคงถาวรได้

อินทปัญโญคิดต่างจากคนทั่วไป ขณะที่คนทั่วไปคิดแสวงหาอำนาจหรือความมั่งคั่ง แต่ ตัวเขากลับคิดแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ที่ตัวเขาจะสามารถบรรจุตัวเองอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ หรือของโลกได้ เขาไม่สนใจตำแหน่งอันดาษดื่นที่คนทั่วไปใฝ่ฝันกัน ไม่ว่าตำแหน่งผู้บริหาร นายพล เศรษฐี ดารา นักร้องมีชื่อ เป็นต้น

เขาเฝ้ามองหาช่องที่ยังว่างอยู่ ตำแหน่งที่ยากๆ แต่งดงาม อันเป็นตำแหน่งที่ยากเกินกว่าที่คนทั่วไปเขาจะเป็นได้จึงยังว่างอยู่ และตัวเขาได้พบช่องที่ยังว่างอยู่นั้นแล้วในพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งเป็นวิชาที่เขาเห็นว่ามีค่าสูงที่สุดเท่าที่จะเลือกเรียนได้แม้ว่าจะต้องใช้เวลาศึกษาเกือบทั้งชีวิต จนแก่เฒ่าถึงจะคว้าตำแหน่งนั้นมาได้ก็ตาม แต่ตัวเขาได้เห็นโอกาสนั้นแล้ว และไม่ลังเลใจที่จะคว้าโอกาสนั้นเพื่อ สถาปนาตัวตนของเขา ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของประเทศนี้ โดยเริ่มต้นจากงานเขียน "ตามรอยพระอรหันต์" ในปี พ.ศ. 2475 เดือนสิงหาคม ด้วยวัยเพียง 26 ปี และเริ่มแปล "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" จากภาษาบาลีในปี พ.ศ. 2477 เมื่ออายุ 28 ปี

ทิศทางของ "ตามรอยพระอรหันต์" กับ "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" ของอินทปัญโญนั้น เป็นทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เพื่อค้นหาร่องรอยแห่งการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพื่อที่ตัวเขาและคนอื่นๆ ที่ได้อ่านงานเขียนงานแปลของเขาจะได้เจริญรอยตาม และประพฤติตามธรรมนั้น อินทปัญโญใช้งานเขียนงานแปลของเขา และการศึกษาพระไตรปิฎกเหล่านี้ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเขาควบคู่ไปกับการฝึกเจริญสมาธิภาวนาของเขา เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเขา เขาคือผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานเขียนงานแปลของเขาเอง เขาอยู่ในป่าตามลำพังก็จริง แต่มีกองหนังสือท่วมหัว จนแทบเรียกได้ว่ามีหนังสือมากกว่าที่ผู้อื่น

เขามีกันทั้งอำเภอที่เขาอยู่เสียอีก ถึงแม้เขาจะเก็บตัวอยู่ในที่ห่างไกลจากความเจริญทางวัตถุก็จริง แต่สายตาความรอบรู้ของเขากลับกว้างไกลอย่างยากที่จะหาผู้ใดเปรียบในยุคสมัยเดียวกัน เขาไม่จำกัดตัวเองแค่การศึกษาพุทธศาสนาเท่านั้น เขาศึกษาวิชาต่างๆ อย่างกระตือรือร้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ จิตวิทยา วรรณคดี วิทยาศาสตร์ ปรัชญา แต่ศูนย์รวมจิตใจและความสนใจของเขาก็ยังคงเป็นพุทธศาสนาอยู่ดี

โลกของอินทปัญโญจึงเป็นโลกแห่งนามธรรมยิ่งกว่าโลกแห่งรูปธรรม แม้ในโลกรูปธรรมทางวัตถุ เขาจะขัดสน แต่ในโลกนามธรรมซึ่งครอบครองชีวิตจิตใจของเขาเป็นส่วนใหญ่ กลับเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งไปด้วยธรรมะ เพราะ ธรรมะแต่ละข้อและเรื่องราวแห่งพุทธประวัติที่เขาได้ศึกษา และแปลออกมานั้น ตัวเขาได้ใช้พลังแห่งจินตนาการอันสูงส่งของเขา จำลองมันขึ้นมาราวกับว่าเหตุการณ์นั้นๆ ตัวเขาได้ประสบมาด้วยตัวเอง โดยเริ่มจาก ชีวิตความเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม อย่างเช่น

(1) การไม่ติดทายก ต่อให้มีผู้คนห้อมล้อมเวียนติดตามก็ไม่ผูกใจใคร่

(2)ไม่ยินดีเกี่ยวข้องกับลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ

(3) พอใจกับการอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติอันเงียบสงัด

(4) พอใจกับความสามัคคีในหมู่คณะ

(5) เสวยสุขอย่างเดียวล้วนตลอดเวลา ด้วยการทำกายมิให้หวั่นไหว ทำวาจาให้สงบเงียบ ทำจิตให้อยู่ในเจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต

(6) ใช้อานาปานสติสมาธิเป็นวิหารธรรม

(7) หลีกเร้นเป็นพิเศษบางคราว

(8) เป็นผู้นอนเป็นสุข

(9) เป็นพุทธะเสมอทั้งในขณะทำและไม่ทำหน้าที่

(10) มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์โดยไม่จำแนก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของประสบการณ์ภายใน และชั่วโมงบินในการเจริญสมาธิภาวนาของพระหนุ่มอินทปัญโญ เนื้อหาของ "ตามรอยพระอรหันต์" จึงไม่สมบูรณ์เพราะจบลงห้วนๆ แค่บทที่ 5 คืออาชีวปาริสุทธิศีลเท่านั้น แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้อินทปัญโญลงมือเขียน "ตามรอยพระอรหันต์" ออกมาประการหนึ่ง น่าจะมาจากการที่เขาเห็นว่า ที่ปักษ์ใต้บ้านเกิดของเขาไม่มีสำนักกรรมฐานที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยอย่างจริงจังเหมือนอย่างทางอีสานสายอาจารย์มั่น ที่เขาพอได้ยินชื่อมาบ้าง เขาจึงดำริที่จะก่อตั้งสำนักกรรมฐานเช่นนี้ด้วยตัวของเขาเอง จึงลงมือเขียน "ตามรอยพระอรหันต์" เพื่อวางแนวทางการปฏิบัติให้ลุ่มลึกและสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อค้นคว้าไว้ใช้เองกับตัวเอง และเพื่อคนอื่นด้วย แต่ก็เขียนได้เฉพาะภาคศีลเท่านั้น พอจะเริ่มเขียนภาคสมาธิภาวนา เขาก็เขียนไม่ออกเพราะยังขาดประสบการณ์ภายในที่จะมารองรับอย่างเพียงพอ เขาจึงต้องทิ้งระยะไว้หลายปีกว่าจะศึกษาฝึกฝนค้นพบระบบสมาธิภาวนาอย่างละเอียด จนเอามาเขียนเป็นหนังสือเรื่อง "อานาปานสติฉบับสมบูรณ์" ได้ ก็ต้องยอมให้เวลาผ่านไปอีกถึงยี่สิบห้าปีหลังจากนั้นเลยทีเดียว เส้นทางของนักปราชญ์ช่างเป็นเส้นทางที่ยาวไกลเหลือเกิน และหน่วยวัดเวลาที่เขาใช้วัดเส้นทางของนักปราชญ์นั้น คือหน่วย "สิบปี" มิใช่หน่วย "ปี" หรือหน่วย "เดือน" เหมือนเส้นทางสายอื่น ฉะนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม ที่เลือกเดินบนวิถีแห่งนักปราชญ์นี้สมควรได้รับการคารวะจากผู้คนทั้งแผ่นดิน

 

โดย: คนเดินดินฯ 15 มิถุนายน 2549 14:10:51 น.  

 


6. ธรรมทาน

“ความสุขของผมอยู่ที่การศึกษาของตัวเอง และการปลุกเขย่าเพื่อนสัตว์ให้ตื่นตัว”
จดหมายจากพุทธทาสภิกขุถึงสามเณรกรุณา


พระหนุ่มอินทปัญโญได้ร่วมมือกับนายยี่เกย (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ธรรมทาส”) ผู้เป็นน้องชายก่อตั้ง “คณะธรรมทาน” ขึ้นที่ไชยา เพื่อเผยแพร่ธรรมะในปี พ.ศ. 2476 จะว่าไปแล้ว คณะธรรมทานกับสวนโมกข์ซึ่งเป็นวัดป่าแบบสำนักกรรมฐานเป็นสิ่งที่เสริมกัน โดยที่คณะธรรมทานจะเป็นตัวทำหน้าที่โฆษณาแนวทางของสวนโมกข์ของอินทปัญโญ และเป็นตัวติดต่อกับสังคมภายนอก จึงจำเป็นจะต้องมีหนังสือพิมพ์เล็กๆ ฉบับหนึ่งเป็นของตัวเองออกมา

อินทปัญโญกับนายธรรมทาส จึงร่วมมือกันทำหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” รายสามเดือนออกมา ในสมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีหนังสือพิมพ์ทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะออกมา แม้ว่าก่อนหน้านั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จะเคยออกหนังสือพิมพ์ “ธรรมจักษุ” มาก่อน แต่พอสิ้นท่านก็หยุดไป

หนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” นี้ นายธรรมทาสเป็นบรรณาธิการตามกฎหมาย แต่ตัวอินทปัญโญเป็นคนออกแบบโครงหนังสือว่าจะต้องมี 3 ภาคคือ (1) ภาคทั่วไป นายธรรมทาสเป็นคนดูแล ส่วนใหญ่เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวของวงการพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ (2) ภาคพระไตรปิฎกแปลกับ (3) ภาคปฏิบัติธรรม อินทปัญโญเป็นคนรับทำเองทั้งหมด โดยใช้นามปากกาว่า “พุทธทาส” ส่วนนามปากกาอื่น เขาก็ใช้ในข้อเขียนเชิงวิจารณ์ เช่น “ธรรมโยธ” “อินฺทปญฺโญ” รวมทั้งใช้นามปากกา “สิริวยาส” ในการเขียนโคลงกลอนด้วย

งานเขียนหลักในช่วงยุคต้นๆ ของอินทปัญโญ ไม่ว่าหนังสือ “ตามรอยพระอรหันต์” หรืองานแปล “พุทธประวัติจากพระโอษฐ์” ของเขา ล้วนทยอยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” นี้มาก่อนทั้งสิ้น จนกล่าวได้ว่า หนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” นี้มีบทบาทสำคัญมากในการเผยแพร่งานเขียน และความคิดของอินทปัญโญในนามของ “พุทธทาสภิกขุ” ออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนในกรุงเทพฯ ที่มีความคิดก้าวหน้า และทันสมัยกว่าส่วนอื่นของประเทศ

ในปี พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) ที่อินทปัญโญเริ่มก่อตั้งคณะธรรมทานและออกหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” นี้เองก็เป็นปีเดียวกับที่พระฝรั่งชาติอิตาลีชื่อ “โลกนาถ” ได้มาเมืองไทย พระโลกนาถเป็นคนเชื้อชาติอิตาลีที่ไปเกิดและเติบโตในอเมริกา ก่อนบวชเขาจบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่กลับมีความสนใจทางด้านศาสนาพุทธอย่างแรงกล้ามากถึงขนาดมาบวชที่พม่า แล้วตั้งจิตปณิธานที่จะเผยแพร่ศาสนาพุทธให้เป็นที่รู้จักทางยุโรปและอเมริกา ท่านจึงมีโครงการที่จะนำพระภิกษุสามเณรชาติต่างๆ ในเอเชียที่นับถือศาสนาพุทธ เดินธุดงค์ไปฝึกอบรมเป็นธรรมทูตที่อินเดียก่อนหน้านี้ พระโลกนาถได้จัดทำโครงการนี้ที่พม่ามาก่อนจนสำเร็จแล้ว ท่านจึงมาเมืองไทยเพื่อผลักดันโครงการนี้ต่อเป็นประเทศที่สอง โดยท่านได้เรียกโครงการนี้ของท่านว่า “โครงการภิกษุสามเณรใจสิงห์” พระโลกนาถมาพักอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากลงข่าวชักชวนภิกษุสามเณรทั่วเมืองไทยมาเข้าร่วมโครงการของท่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้ง “พุทธสาสนา” ของคณะธรรมทาน ปรากฏว่าเป็นข่าวที่ฮือฮามากในสมัยนั้น เพราะมีพระและสามเณรกว่า 200 รูปที่สมัครเข้าร่วมในโครงการนี้ของพระโลกนาถ ผู้ที่มีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้คือ ท่านปัญญานันทะกับท่านเขมาภิรัต และคุณกรุณา กุศลาสัย ซึ่งบวชเป็นเณรอยู่ในตอนนั้น

อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนโครงการนี้ของพระโลกนาถอย่างเอาการเอางาน เนื่องจากอาจารย์สัญญารู้จักกับพระอินทปัญโญมาก่อนตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงติดต่ออินทปัญโญและพาเขาไปพบกับพระโลกนาถที่วัดบวรฯ พระโลกนาถได้ยินกิตติศัพท์ของอินทปัญโญจากอาจารย์สัญญามาก่อน จึงมีความชื่นชมและพยายามจะเกลี้ยกล่อมให้อินทปัญโญร่วมโครงการไปกับท่านให้จงได้

อินทปัญโญถึง “ทางเลือก” ที่สำคัญในชีวิตที่จะต้องตัดสินใจอีกครั้ง หลังจากที่เขาทิ้งกรุงเทพฯ มาเป็นพระป่าได้เพียงปีเศษๆ เท่านั้น นั่นคือทางเลือกระหว่างการออกหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” ที่เพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน กับการออกไปธุดงค์กับพระโลกนาถเพื่อเป็นธรรมทูต

ทางเลือกหนึ่งนั้น เป็นเส้นทางของนักคิด นักเขียน ถึงจะปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยก็เป็นการปฏิบัติในระดับแค่พอรักษาตัวไม่ให้ใครมาดูหมิ่นได้ ปฏิบัติเท่าที่จำเป็น แต่จะเน้นไปที่การศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่มากกว่า หากจะปฏิบัติสมาธิภาวนา ก็มักจะเป็นสมาธิภาวนาในระหว่างการอ่าน การคิด การเขียนนั้นเอง แนวทางนี้ สุดท้ายจะนำไปสู่ ปัญญาวิมุตติ ถ้าผู้นั้นสามารถเดินไปจนสุดเส้นทางนี้ โดยเน้นการภาวนาที่หนักไปทางปัญญา ใช้ความคิดนึกตามธรรมดาที่มีอยู่ไปพิจารณาข้อธรรมในชีวิตหรือสิ่งที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ ด้วยความไม่ประมาทอย่างสม่ำเสมอและแยบคาย เป็นเส้นทางที่เรียบกว่า เหนื่อยน้อยกว่า ลำบากน้อยกว่า แต่โลดโผนน้อยกว่า และขาดสีสันในชีวิตน้อยกว่าในอีกทางเลือกหนึ่ง

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งนั้น เป็นเส้นทางของผู้กล้า ของนักผจญภัยทางจิตวิญญาณที่สมัครใจแสวงหาความลำบากโดยเต็มใจ ซึ่งต้องการกำลังใจที่เข้มแข็ง และเฉียบขาด ด้วยความเพียรทั้งหมดอย่างเต็มที่อย่างเหนือมนุษย์ธรรมดา แนวทางนี้สุดท้ายจะนำไปสู่ เจโตวิมุตติ เมื่อบรรลุธรรมอันสูงสุดได้แล้ว ย่อมสามารถแสดงธรรมสั่งสอนคนด้วยวิธีอันวิจิตรได้ และยังสามารถเป็นพิเศษที่จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ รวมทั้งยังสามารถที่จะทำสิ่งอื่นอันเป็นคุณสมบัติพิเศษที่พวกปัญญาวิมุตติไม่สามารถกระทำได้ แม้จะเข้าถึงพุทธธรรมได้อย่างเดียวกัน ได้รับผลเป็นความสุขสงบเยือกเย็นชนิดเดียวกันก็ตาม

ความต่างของแนวทางปัญญาวิมุตติกับเจโตวิมุตติ ว่าควรจะเลือกแนวทางใด จึงอยู่ที่อุปนิสัยใจคอ และระดับอินทรีย์ที่อ่อนแข็งของคนผู้นั้นเป็นสำคัญ โดยที่โอกาสประสบความสำเร็จในแนวทางเจโตวิมุตตินั้น มีน้อยกว่าของแนวทางปัญญาวิมุตติเป็นอย่างมาก สำหรับคนธรรมดาโดยทั่วไป

จุดเด่นของพระหนุ่มอินทปัญโญ ประการหนึ่งก็คือ เขาเป็นคนที่รู้จักตัวเองเป็นอย่างดี คือไม่ประเมินตัวเองต่ำเกินไป และก็ไม่ประเมินตัวเองสูงเกินไป นอกจากนี้ เขายังเป็นคนที่มีความรอบคอบเป็นนิสัย และมีความเฉียบแหลมในการประเมินสถานการณ์อย่างเยือกเย็นและรอบด้าน เพราะเหตุนี้กระมัง เขาจึงแทบไม่เคยตัดสินใจผิดพลาดเลยโดยเฉพาะในเรื่องใหญ่

เขาจึงตัดสินใจบอกปัดไม่ไปกับพระโลกนาถ ทั้งๆ ที่คนรอบข้างต่างก็ยุให้เขาไปกันทั้งนั้น แต่เขามีความคิดที่เป็นตัวของตัวเองมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เขามีความเห็นว่า การไปธุดงค์กับพระโลกนาถนั้น มันเหนื่อยกว่า ลำบากกว่า และเป็นประโยชน์น้อยกว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่นี้ และกำลังจะทำต่อไปชั่วชีวิตนี้ของเขา

งานเผยแพร่พุทธศาสนาไปสู่ตะวันตกเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่อินทปัญโญรู้ดีว่า นี่ไม่ใช่ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของตัวเขา ภารกิจที่แท้จริงของเขาอยู่ที่นี่ อยู่ที่เมืองไทยนี้ เพราะที่นี่เป็นเวทีของเขา และเป็นสนามรบของเขา ตัวเขาจึงต้องการเผยแพร่ธรรมะในเมืองไทยให้แข็งแรงและมั่นคงก่อนเป็นอันดับแรก และเป็นความจำเป็นอันเร่งด่วนด้วย เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์อันเป็นวิกฤตของพุทธศาสนาในเมืองไทยที่พระโลกนาถซึ่งเป็นคนต่างชาติไม่เข้าใจ

จริงอยู่ หากดูเผินๆ การออกไปโลดโผน ผจญภัยในวัยหนุ่มมันดูน่าท้าทายกว่า เท่กว่าและเสียสละกว่าก็จริง แต่การที่ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งอ่านหนังสือเขียนหนังสือทั้งวันทั้งคืน มันก็ต้องใช้ความเสียสละ ใช้ความเพียรพยายามเช่นกัน แต่คนละแบบกันเท่านั้น สำหรับอินทปัญโญเขาพิจารณาแล้วว่า แบบหลังนี้ เขาสามารถทำได้ดีกว่า และจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าแบบแรก

ผลปรากฏว่า อินทปัญโญตัดสินใจไม่ผิด เพราะคณะพระโลกนาถที่พาภิกษุและสามเณรกว่า 200 รูป เดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2476 เดินด้วยเท้ามุ่งหน้าไปทางอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์พักอยู่ที่นครสวรรค์ได้ 2 สัปดาห์ก็เดินทางต่อไปพิษณุโลก ผ่านตากเข้าป่าแม่สอด เข้าพม่าไปถึงย่างกุ้งก็เข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปอินเดียไม่ได้ แต่ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่เจดีย์ชเวดากองในพม่านี่เองที่พระเณรไทยแตกคอกันเอง จนส่วนใหญ่ไม่ยอมไปกับพระโลกนาถต่อ แล้วเดินทางกลับเมืองไทย ในที่สุดจึงเหลือพระเณรเพียง 10 กว่ารูปที่ไปกับพระโลกนาถจนถึงกัลกัตตาในอินเดียเท่านั้น พระเณรเหล่านี้พอไปนมัสการสังเวชนียสถานเสร็จแล้วก็กลับเมืองไทยกันหมดเหลือเพียงเณรกรุณา กุศลาสัย รูปเดียวเท่านั้นที่อยู่อินเดียเพื่อศึกษาต่อ ส่วนพระโลกนาถพอพาพระเณรไทยถึงอินเดียแล้วก็ไปลังกาต่อ เพื่อไปนำพระมาอีกคณะหนึ่ง ท่านจึงไม่มีเวลาดูแลพระเณรไทยที่ท่านพามาอยู่ในอินเดีย จนต้องเดินทางกลับ ยกเว้นเณรกรุณาที่เป็นเด็กกำพร้าและไม่มีที่ไปเท่านั้นที่ต้องจำใจกัดฟันอยู่เรียนต่อคนเดียวที่อินเดียต่อไป

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับผู้ที่คิดจะเผยแพร่ธรรมะ ว่าควรคำนึงถึงความเหมาะสมของตนเอง และแนวทางในการบรรลุธรรมของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ดี อินทปัญโญก็ได้กลายเป็น “พี่ชายทางธรรม” ของเณรกรุณา โดยติดต่อกันทางจดหมายเป็นเวลาหลายปี แม้จะไม่เคยพบหน้ากันเลยก็ตาม โดยมีหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” ของคณะธรรมทานเป็นตัวเชื่อม

ความล้มเหลวของโครงการของพระโลกนาถ และการตัดสินใจถูกต้องที่ไม่ไปกับพระโลกนาถของพระหนุ่มอินทปัญโญ ทำให้ตัวเขามีความเชื่อมั่นในเส้นทางของเขายิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่หวั่นไหวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาได้ตระหนักยิ่งขึ้นว่า การพัฒนาตัวเองทางจิตวิญญาณของเขาเพื่อบรรลุพุทธธรรมกับการเผยแพร่ธรรมะไปพร้อมๆ กันนั้น มันเป็นกระบวนการเดียวกันที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้

 

โดย: คนเดินดินฯ 15 มิถุนายน 2549 14:21:01 น.  

 

ยาวววววววววววววว
อ่านนนนนนนนนนนนนน



 

โดย: run to me 15 มิถุนายน 2549 16:08:54 น.  

 



ยังอ่านไม่จบ ติดไว้ตอนล่างๆ นะคะ ว่างๆ จะเข้ามาอ่านอีกทีค่ะ



 

โดย: Malee30 15 มิถุนายน 2549 19:23:52 น.  

 

 

โดย: rebel 15 มิถุนายน 2549 21:17:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


คนเดินดินฯ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]








ปณิธาน

การเดินทางของชีวิตของทุกผู้คน
ทุกคนต่างต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่จะมีสักกี่คนที่จะก้าวไปถึง
เมื่อเราก้าวถึงจุดนั้น
ขออย่าลืมการแบ่งปันและเจือจาน
แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
เพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีงาม

เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง
ได้ใช้ชีวิตของเขา
ตามศักยภาพและความตั้งใจของเขา
ตราบเท่าที่เขาต้องการ







เดินไปสู่ความใฝ่ฝัน


ชีวิตหนึ่งร่วงหล่นไปตามกาลเวลา
คลื่นลูกใหม่ไล่หลังคลื่นลูกเก่า
นั่นคือวัฏจักรของชีวิตที่ดำเนินไป

เยาว์เธอรู้บ้างไหม
ว่าประชาราษฎรนั้นทุกข์ยากเพียงใด
เสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เหลืออยู่
เธอเคยมีความใฝ่ฝันที่แสนงามบ้างไหม

สักวันฉันหวังว่าเธอจะเดินไปตามทางสายนี้
ที่อาจดูเงียบเหงาและโดดเดี่ยว
แต่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน
ฉันก็ยังมีความหวัง
ว่าผู้คนในประเทศนี้
จะตื่นขึ้นมา
เพื่อทวงสิทธิ์ของพวกเขา
ที่ถูกย่ำยีมาช้านาน
และฉันหวังว่าเธอจะเดินเคียงคู่ไปกับพวกเขา

เพื่อสานความใฝ่ฝันนั้นให้เป็นความจริง
สัญญาได้ไหม
สัญญาได้ไหม
เยาว์ที่รักของฉัน


***********



ขอมีเพียงเธอเป็นกำลังใจ




ทอดสายตามองออกไปยังทิวทัศน์ข้างหน้า
แลเห็นต้นหญ้าโบกไสว
เห็นดอกซากุระบานอยู่เต็มดอย
ความงามที่อยู่ข้างหน้า
เป็นสิ่งที่ฉันจะเก็บมันไว้
ยามที่จิตใจอ่อนล้า...

ชีวิตยามนี้แม้ผ่านมาหลายโมงยาม
แต่จิตใจข้างในยังคงดูหงอยเหงา
หลายครั้งอยากมีเพื่อนคุย
หลายครั้งอยากมีคนปรับทุกข์
และหลายครั้งต้องนั่งร้องไห้คนเดียว

รางวัลสำหรับชีวิตที่ผ่านมา
มันคืออะไรเคยถามตัวเองบ่อย ๆ
ความสำเร็จ...เงินตรา...เกียรติยศชื่อเสียง
มันใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า
ถึงจุดหนึ่งชีวิตต้องการอะไรอีกมากไปกว่านี้

หลายชีวิตยังคงดิ้นรนต่อสู้
เพื่อปากท้องและครอบครัว
มันเป็นความจริงของชีวิตมนุษย์
ที่ต้องดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด
มีทั้งพ่ายแพ้ มีทั้งชนะ
แต่ชีวิตต่างต้องดำเนินไป
ตามวิถีทางของแต่ละคน

ลืมความทุกข์ ลืมความหลังที่เจ็บปวด
มองออกไปข้างหน้า
ค้นให้พบตัวตนของตนเองอีกครั้ง
แล้วกลับไปสู้ใหม่
การเริ่มต้นของชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป
จะต้องดำเนินต่อไป

ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต....




@@@@@@@@@@@




การเดินทางของความรัก

...ฉันเดินไปด้วยหัวใจที่ว่างเปล่า
สมองได้คิดใคร่ครวญ
ความรักในหลายครั้งที่ผ่านมา
ทำไมจึงจบลงอย่างรวดเร็ว

ฉันเดินไปด้วยสมองอันปลอดโปร่ง
ความรักทำให้ฉันเข้าใจโลก
และมนุษย์มากขึ้น
และรู้ว่าความแตกต่าง
ระหว่างความรักกับความหลงเป็นอย่างไร?

ฉันเดินไปด้วยดวงตาที่มุ่งมั่น
บทเรียนของรักในครั้งที่ผ่าน ๆ มา
มันย้ำเตือนอยู่เสมอว่า
อย่ารีบร้อนที่จะรัก
แต่จงปล่อยให้ความสัมพันธ์
ค่อย ๆ พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรียนรู้และทำเข้าใจกันให้มากที่สุด

ก่อนที่จะเริ่มบทต่อไปของความรัก...




*******************



จุดไฟแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่น

เข้มแข็งกับอ่อนแอ
สับสนหรือมุ่งมั่น
จะยอมแพ้หรือลุกขึ้นท้าทาย
กับชีวตที่เหลืออยู่
ทุกสิ่งล้วนอยู่ที่ใจเราจะกำหนด

ไม่ใช่เพราะอิสระเสรี
ที่เราต้องการหรอกหรือ?
ที่มันจะนำทางชีวิต
ในห้วงเวลาต่อไป
ให้เราก้าวทะยานไป
สู่วันพรุ่งที่สดใส

มีแต่เพียงคนที่รู้จักตนเองอย่างดีพอเท่านั้น
จะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
เมื่อผ่านการสรุปบทเรียน
จากปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ
เราก็จะมีความจัดเจนกับชีวิตมากขึ้น
และการเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ
ในอนาคตก็จะเป็นเพียงปัญหาที่เล็กน้อยสำหรับเรา
ในการที่จะก้าวผ่านไป



ด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่นที่มีอยู่ในใจ
ที่จะต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ
หนทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ย่อมอยู่ไม่ไกลห่างอย่างแน่นอน

*********************



ก้าวย่างที่มั่นคง

บนทางเดินแคบ ๆ ที่เหลืออยู่
หากขาดความมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อไป
ชีวิตก็คงหยุดนิ่งและรอวันตาย
แม้ทางข้างหน้าจะดูพร่ามัว
และไม่รู้ซึ่งอนาคต
แต่สิ่งที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
คือก้าวย่างไปอย่างมั่นคง
และมองไปข้างหน้าอย่าเหลียวหลัง
เก็บรับบทเรียนในอดีต
เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดอีกในอนาคต

"""""""""""""""""""""""""""""""""



ใช้สามัญสำนึกทำงาน

ไม่มีแผนงานที่สวยหรู
ไม่มีปฏิบัติการใดที่สมบูรณ์แบบ
ในยามนี้มีเพียงการทำงานด้วยการทุ่มเท
ลงลึกในรายละเอียดเท่านั้น
จึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาของงานลงได้
บางครั้งโจทย์ที่เจออาจยากและซับซ้อน
แต่เมื่อลงไปคลุกคลีอย่างแท้จริง
โจทย์เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

""""""""""""""""""""""""""""""""



เรียบ ๆ ง่าย ๆ


อย่ามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยแว่นสีที่ซับซ้อน
เพราะในโลกนี้มีเพียงสิ่งสามัญที่เรียบง่าย
สำหรับคนที่สงบนิ่งเพียงพอเท่านั้น
จึงจะแก้โจทย์และปัญหาต่าง ๆ
ด้วยกลวิธีที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ
ไม่ซับซ้อนและตรงจุดได้อย่างเพียงพอ

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ใจถึงใจ

บนหนทางไปสู่ความสำเร็จ
บนหนทางของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
มีเพียงคนที่เข้าใจในสภาพจิตใจของคนทำงานเท่านั้น
จึงจะสามารถนำทีมงานไปสู่เป้าหมายได้
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน








Friends' blogs
[Add คนเดินดินฯ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.