กัชชุคุครั้งแรกของคนตัวเล็ก

กัชชุคุ.. คือการค้างแรมร่วมกันเพื่อฝึกซ้อมร่วมกันทำกิจกรรม เช่น ฝึกกีฬาต่างๆ ไปถ่ายภาพนอกสถานที่ของชมรมถ่ายภาพ เช่นนี้เป็นต้น..


วันนี้จะคุยถึงกัชชุคุของยูโดค่ะ..

ตั้งแต่เข้าชมรมยูโดมา เจ้าตัวเล็กได้ไปค้างต่างจังหวัดค่อนข้างบ่อยถ้ามีการแข่งขันที่ต่างจังหวัดไกลๆ ซึ่งทุกครั้งหม่อมแม่จะถือเชี่ยนหมากตามไปด้วย แต่คราวนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องฉายเดี่ยวค่ะ..


ที่จังหวัดฟุกุโอกะ เขามีกิจกรรมเข้าค่ายเพื่อฝึกซ้อมยูโดปีละสองหรือสามครั้ง โดยกำหนดไว้ว่าเด็กที่จะมาเข้าค่ายได้ต้องอยู่ระดับป.ห้าและหกเท่านั้น ชมรมต้นสังกัดของเด็กที่ฝึกซ้อมก็จะส่งเด็กในสังกัดตัวเองไปโดยแจ้งให้ผู้ปกครองกรอกใบสมัครแล้วทางชมรมก็จะรวบรวมส่งไปที่ตัวจังหวัดที่จัดกิจกรรมนี้ การฝึกนี้แล้วแต่ความสมัครใจ ใครจะไปหรือไม่ก็ได้ ใครจะไปแค่วันเดียวหรือค้างคืนเพื่อฝึกซ้อมสองวันก็ได้อีก สำหรับที่ชมรมนี่ เลือกแบบค้างคืนค่ะ เพราะเคยปฏิบัติกันมาอย่างนี้ประจำ


กิจกรรมครั้งนี้จัดในวันที่ 11-12 กรกฏาคม ค้างหนึ่งคืนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 5,145 เยน ซึ่งนับว่าใช้ได้สำหรับค่าอาหารสี่มื้อและที่พักหนึ่งคืน ผู้ปกครองต้องพาเด็กไปลงทะเบียนในเวลา 9.30 โดยมอบเงินให้เด็กตามจำนวนนั้นเป๊ะๆ แล้วเด็กต้องเดินไปแจ้งครูผู้ฝึกด้วยตัวเองตามสถานที่ที่ลงทะเบียน จากนั้นก็เริ่มเปิดการอบรมตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป โดยมีพักกลางวันหนึ่งชม.ครึ่ง ซ้อมอีกทีบ่ายสองครึ่งถึงห้าโมงครึ่ง จากนั้นก็ให้ไปอาบน้ำ ทานข้าวเย็น เข้าประชุมฟังครูผู้สอนอบรมด้วยปากเปล่าอีกรอบก่อนเข้านอน เช้าตื่นแต่เช้ามาวิ่งออกกำลังกาย ก่อนจะไปทานข้าวแล้วเข้าห้องซ้อมยูโดต่อถึงกลางวันก็เสร็จสิ้นการอบรม โดยผู้ปกครองจะมารับในเวลานี้..

ตอนกลางวันที่ส่งเจ้าตัวเล็กไปห้องทานข้าวซึ่งทุกมื้อจะเป็นบุฟเฟ่ต์นั้น เจ้าตัวมีน้ำตาปริ่มๆเล็กน้อยค่ะ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ไปนอนที่อื่นคนเดียว กลั้นอกกลั้นใจบ๊ายบายพ่อแม่แบบฝืนยิ้มสุดขีด พ่อแม่ก็กลั้นใจหันหลังกลับเหมือนกัน ไม่อ้อยอิ่ง .. ทั้งๆที่สงสารสุดๆ กระงืดดด.. ลูกติดแม่หรือแม่ติดลูกกันแน่ฟระ? ตอนแรกก็คิดว่าเป็นลูกเราคนเดียวที่มีน้ำหูน้ำตา คิดว่าเด็กญี่ปุ่นเขาไม่เป็นกัน เพราะเขาเลี้ยงแบบช่วยเหลือตัวเองมาตลอด คงแข็งแกร่ง แต่วันถัดไปก็ได้ยินครูฝึกเขาคุยกับแม่เด็กอีกคนว่าลูกเขาร้องไห้อยู่นานและบ่อยมาก ตกกลางคืนก็หาโทรศัพท์หยอดเหรียญจะโทร.ไปหาแม่ เพราะที่ฝึกเขาไม่อนุญาตให้เอามือถือไว้ใช้ เลยได้รู้ว่าเออ.. เด็กญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนกันวุ้ย


ชั้นปีเจ้าตัวเล็กมีเขาคนเดียวในชมรมค่ะที่ไป อีกคนที่อยู่ป.ห้าเหมือนกันไม่ได้ไปด้วย เขาเลยไม่มีเพื่อน พวกพี่ๆป.หกที่ไปด้วยกันก็ต้องแยกไปกันตามชั้นปี เลยโดดเดี่ยววิเวกวิเหวโหว.. แต่ก็หวังว่าคงได้เพื่อนในไม่ช้า เพราะเป็นเด็กชั้นปีเดียวกัน นอนห้องเดียวกันเป็นสิบคน ซึ่งวันรุ่งขึ้นก็เห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันเดินมาคุยด้วยกับเจ้าตัวเล็ก แสดงว่าก็พอมีเพื่อนอยู่บ้าง..

จุดประสงค์ของการฝึกอบรมนี้ ก็เพื่อเตรียมเด็กให้พัฒนาเพื่อเป็นนักกีฬาโอลิมปิค ซึ่งถ้าไม่เตรียมเด็กไว้ตั้งแต่ช่วง ป.5 ป.6 ก็จะไม่ทันเนื่องจากร่างกายเด็กจะเติบโตขี้นเรื่อยๆจนถึงระดับอุดมศึกษา ระดับการพัฒนาทางด้านกีฬาก็ต้องค่อยๆเพิ่มไปตามการเจริญเติบโตของร่างกายด้วย ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ไม่ใช่มาเร่งฝึกให้เก่งพรวดเดียวตอนโตแล้ว เป็นไงคะ.. การวางแผนเตรียมคนของเขา สุกเอาเผากินซะที่ไหน?


เขาจะมีจัดแข่งนะคะ ในแต่ละจังหวัดจะเอาคนที่ชนะเลิศไปแข่งขันในระดับประเทศอีกทีที่จังหวัดโตเกียว หรือจังหวัดอื่นตามแต่จะหมุนเวียนไปในแต่ละปี และผู้ชนะเหล่านี้เองที่จะมีแววจะได้เป็นนักกีฬาทีมชาติต่อไปในอนาคต


การฝึกฝนของญี่ปุ่น เขาไม่เน้นที่ความเก่งกาจ แต่เน้นที่ความสม่ำเสมอ และหัวใจสำคัญของการฝึกนั้นๆ ครูฝึกจะบอกไว้เลยว่าการได้มาฝึกที่นี่ ไม่ใช่เพื่อจะได้ความเก่งกลับไป แต่จะฝึกพื้นฐานของกีฬาชนิดนี้ให้ถูกต้องแม่นยำ คนตัวใหญ่ชนะคนตัวเล็กกว่า ถือเป็นเรื่องปกติเพราะความได้เปรียบของขนาดร่างกาย แต่เด็กต้องมีการเจริญเติบโตขึ้นไปอีก เด็กที่ตัวใหญ่กว่าเพื่อนๆ ใช่ว่าจะเก่งตลอดจะชนะตลอด เพราะการพัฒนาของร่างกายของคนตัวเล็กกว่า จะเป็นไปได้อย่างเรื่อยๆ และสามารถฝึกฝนพัฒนาให้ฝีมือก้าวหน้าไปพร้อมๆกับขนาดร่างกาย ในขณะที่คนตัวใหญ่ ขนาดของร่างกายอาจจะเพิ่มขึ้นได้อีกนิดหน่อยเนื่องจากเขาโตเต็มที่อยู่แล้ว แต่การฝึกปรือฝืมืออาจจะคงที่ ถ้าไม่สามารถหาคนตัวใหญ่กว่ามาฝึกซ้อมด้วยได้ เพราะจะต้องฝึกซ้ำๆกับเพื่อนๆที่ตัวเล็กกว่านั่นเอง ยกเว้นพวกที่ได้รับการฝึกซ้อมอย่างจริงๆจังๆ แต่ส่วนมากเด็กที่ตัวใหญ่มักจะหาคู่ซ้อมด้วยยากค่ะ และจะอุ้ยอ้าย ไม่คล่องตัวเท่าคนตัวเล็กๆ

ป้าโซเคยได้ยินครูฝึกคนไทยบ่นๆว่า ในระดับประถม มัธยมต้น เด็กไทยจะมีโอกาสชนะเด็กญี่ปุ่น แต่พอเลยไปถึงระดับอุดมศึกษาหรือผู้ใหญ่แล้ว ทำไมเราสู้เขาไม่ได้ คงเพราะเหตุผลนี้แหละค่ะ.. เพราะญี่ปุ่นเขาไม่ได้ฝึกแบบเร่งรัด เขาฝึกแบบเรื่อยๆ แต่จะไปเห็นผลตอนโตเต็มที่แล้วนั่นเอง

กีฬายูโด เป็นศาสตร์ที่ไม่ใช่การทำร้ายคู่ต่อสู้ แต่เป็นศาสตร์ที่ป้องกันตัวเอง เพราะฉะนั้นหัวใจหลักของกีฬาชนิดนี้จึงเน้นที่ความปลอดภัยจากการฝึกซ้อม นั่นคือท่าล้มตบเบาะตอนฝึกเบื้องต้นนั่นเอง การล้มที่ถูกท่าจะต้องถ่ายน้ำหนักตัวผ่านไปที่มือผ่านไปที่เบาะ ให้เบาะรับน้ำหนักแล้วเราก็จะไม่เจ็บตัว เก็บคอ เก็บคาง และการล้มที่ถูกท่าโดยการเอียงๆมือและตัวตอนทำท่าตบเบาะนั้น จะเซฟไหล่ด้วยค่ะ


ครูฝึกที่นี่จะเน้นเรื่องความสำคัญของท่าที่ถูกของยูโด ซึ่งเป็นการต่อสู้แบบลูกผู้ชายที่สมศักดิ์ศรี แข่งกันทางด้านไหวพริบ ชั้นเชิง ประจันหน้ากัน เน้นที่การทุ่มแบบยูโด เพราะหลังๆมานี่ จากการที่ยูโดกลายเป็นกีฬานานาชาติ การทำแต้มได้ก่อนถือเป็นความสำคัญที่สุดในการแข่งขันไปซะแล้วในหมู่นักกีฬาต่างชาติ กลายเป็นท่าอะไรก็ได้ขอให้ฉันได้แต้ม ซึ่งบางครั้งมองเป็นมวยปล้ำไปซะฉิบ ไม่ใช่ท่าที่สง่าแบบหลักยูโด คว้าหมับเข้าที่ขา ดึงให้คู่ต่อสู้ล้มลงงี้.. ป้าโซเองเห็นการแข่งขันแบบนี้แล้วยังไม่ค่อยชอบใจ เหมือนเอาเปรียบกัน ขโมยคะแนนกัน ไม่ใช่การต่อสู้แบบเผชิญหน้าอย่างสง่างาม


ที่ครูฝึกเน้นเรื่องนี้ เพราะยูโดถือกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น คนเป็นต้นตำรับเขาก็อยากจะรักษาไว้ซึ่งหลักการเดิมๆที่ประพฤติปฏิบัติกันมา เหมือนอย่างมวยไทยเรา ก็คงเน้นที่พวกท่าจรเข้ฟาดหาง หนุมานถวายแหวน ประมาณนั้นมังคะ

เอารูปที่ไปพักแรมมาฝากค่ะ ให้เห็นบรรยากาศ..


ที่พักค่ะ แบ่งเป็นหลังๆแบบนี้ เรียงรายไปหลายหลังเหมือนกัน ไม่ได้มีแต่ยูโดอย่างเดียวนะคะ มีกีฬาชนิดอื่นด้วย










เรือนอาหารค่ะ เป็นร้านอาหาร ทานข้าวกันที่นี่ มีทั้งเป็นบุฟเฟ่ต์และตามสั่ง มีหลายอาคารอยู่




สิ่งบันเทิงใจเล็กๆน้อยๆ ค่ะ



สถานที่รายงานตัวและฝึกซ้อม




บรรยากาศเปิดการอบรมก่อนการฝึกซ้อม




ยืดแข้งขืดขา บริหารก่อนการฝึกซ้อม












แบ่งทีมซ้อมค่ะ แยกเป็นชั้นปี มีตัวยืนประจำสิบคนให้เพื่อนเวียนกันไปซ้อมครั้งละสามนาที สิบรอบแล้วเปลี่ยนตัวยืนใหม่ เพราะตัวเก่าสะบักสะบอมได้ที่




จบเรื่องกัชชุคุค่ะ ว่าจะอัพความเป็นมาก่อนจะมาเล่นยูโดให้จบ ยังไง้.. ยังไงก็ยังไม่กระดืบไปไหน


ลาละค่ะ


Create Date : 22 กรกฎาคม 2552
Last Update : 22 กรกฎาคม 2552 14:45:47 น. 4 comments
Counter : 892 Pageviews.

 
เห็นรูปแล้ว น่าไปเที่ยวจัง สถานที่ดูสะอาดสะอ้าน บรรยากาศก็ดี๊ดีอ่ะ


โดย: เ จ้ า ช า ย น้ อ ย วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:23:15 น.  

 
น่าสนุกจังเลยค่ะป้าโซ
แวะเอามะเขือเทศมาฝากด้วยน่ะ


โดย: นิกกี้ (N_silk ) วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:16:23:12 น.  

 
เป็นการฝึกเด็กที่ดีค่ะ


โดย: d_regen วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:16:38:16 น.  

 
น่าสนุกนะคะ


โดย: คีตอักษรา วันที่: 22 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:33:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ป้าโซ
Location :
คุรุเม่ ฟุกุโอกะ Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]




สวัสดีค่ะ ..

ป้าโซอยู่อำเภอเล็กๆแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุโอกะ ซึ่งอยู่ในเกาะคิวชู เกาะทางใต้ของญี่ปุ่น

เรื่องราวที่เล่าๆสู่กันฟังนี่ มาจากประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งสอดแทรกความคิดเห็นเข้าไปด้วย อันไหนไม่เข้าทีก็อ่านผ่านๆไปละกันนะคะ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะเวียนเข้ามาค่ะ
New Comments
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
22 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ป้าโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.