Welcome to my blog
3 วัน 2 คืน มะละกา เมืองท่ามรดกโลกบนเส้นทางการค้ายุคโบราณ (ตอนที่ 3)


สถานที่ท่องเที่ยว : พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมบาบ๋ายาหยา (The Baba Nyonya Heritage Museum), เมืองมะละกา, Malaysia
พิกัด GPS : 2° 11' 41.81" N 102° 14' 54.11" E

วันที่สาม

ย่านถนนยองเกอร์ของเมืองมะละกา ไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านการเป็นแหล่งสตรีทฟู้ดชื่อดังเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นย่านพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีผู้คนหลากชาติพันธุ์ทั้งชาวคริสต์ ชาวจีน ชาวมุสลิมมลายู และชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ถนนเส้นนี้จึงมีศาสนสถานและพิพิธภัณฑ์ต่างๆตั้งเรียงรายอยู่มากมาย ถ้าใครมีเวลาเที่ยวมะละกาหลายๆวัน ผมก็แนะนำให้มาลองเดินเที่ยวบนถนนเส้นนี้ดูครับ


ที่แรกที่จะแนะนำคือ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมมหาขันทีเจิ้งเหอ (Cheng Ho Cultural Museum) ซึ่งเป็นที่สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของ มหาขันทีเจิ้งเหอ (Cheng Ho) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ซำปอกง

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ขันทีผู้นี้เป็นใคร และมีความสำคัญอย่างไรกับเมืองมะละกา ผมจะเล่าให้ฟังครับ


เจิ้งเหอมีชื่อเดิมว่า หม่า ซานเป่า เป็นชาวมุสลิม เกิดในมณฑลยูนนาน ซึ่งสมัยนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของชาวมองโกล (ราชวงศ์หยวน) ต่อมาจูหยวนจาง ฮ่องเต้องค์แรกของราชวงศ์หมิงได้ยกทัพมาที่ยูนนานและทำการขับไล่ชาวมองโกลออกไปได้สำเร็จ ในเวลานั้นเจิ้งเหอถูกจับตอนเป็นขันที และได้รับใช้องค์ชายจูตี้ ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์เป็นจักรพรรดิหย่งเล่อ


ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เจิ้งเหอได้รับบัญชาให้ออกเดินทางทางทะเลไปสำรวจแว่นแคว้นต่างๆ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และแผ่อิทธิพลของราชวงศ์หมิง ในการเดินทางทั้ง 7 ครั้งของเจิ้งเหอ ได้ออกเดินทางด้วยเรือขนาดยักษ์ จากจีน สู่จามปา ชวา สุมาตรา กรุงศรีอยุธยา มะละกา ลังกา อินเดีย ตะวันออกกลาง ไปจนถึงทวีปแอฟริกา และบางทฤษฎียังกล่าวว่า เจิ้งเหอได้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนหน้าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสด้วยครับ
 



สำหรับประวัติศาสตร์ของเมืองมะละกาแล้ว เจิ้งเหอถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของเมืองนี้ครับ มีบันทึกว่า เจิ้งเหอเป็นผู้รับรองสถานะของเมืองมะละกา ทำให้มะละการอดพ้นจากการรุกรานของรัฐข้างเคียงอย่างกรุงศรีอยุธยา และยังมีตำนานกล่าวไว้ว่า เจิ้งเหอเป็นผู้นำพระราชธิดาของจักรพรรดิหย่งเล่อชื่อว่า ฮังหลีโป (Hang Li Bo) มาอภิเษกกับ สุลต่านมันซูร์ ชาห์ (Mansur Shah) แห่งเมืองมะละกา โดยมีข้าราชการชาวจีนติดตามมาตั้งรกรากอยู่ด้วยจำนวนมาก และบริเวณตำหนักที่ประทับของเจ้าหญิงฮังลิโป ในเวลาต่อมาถูกเรียกว่า ภูเขาซำปอกง เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจิ้งเหอ (ปัจจุบันศาลเจ้านี้ยังอยู่ ใครมีเวลาเหลือ สามารถเรียก grab ไปเที่ยวได้)
 

พิพิธภัณฑ์นี้เปิดระหว่างตั้งแต่ 9.30 ถึง 6 โมงเย็น มีค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 20 ริงกิต และเด็ก 10 ริงกิตครับ

ถ้ดมาคือ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมบาบ๋ายาหยา (The Baba Nyonya heritage Museum) ซึ่งแต่เดิมที่นี่เป็นบ้านของชาวเปอรานากันที่อยู่อาศัยมาอย่างยาวนานถึงสามชั่วอายุคน แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ครับ

 

 
พิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกายของชาวเปอรานากัน น่าเสียดายว่า ที่นี่ห้ามถ่ายรูป ผมเลยไม่มีรูปพิพิธภัณฑ์ที่นี่ ผมเลยขอเอารูปจากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์บางส่วนมาลงในนี้นะครับ
 

หลายคนคงสงสัยว่า ชาวเปอรานากัน ที่ผมกล่าวถึงอยู่บ่อยๆคือใคร ทั้งหมดนี้หาคำตอบที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครับ


ในช่วงศตวรรษที่ 15-16 ได้มีกลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้เดินทางเข้ามาทำการค้าขาย ณ บริเวณคาบสมุทรมลายู ภาคใต้ของไทย สิงคโปร์ รวมทั้งที่เมืองมะละกาแห่งนี้ ต่อมาชาวจีนกลุ่มนี้ก็ได้ลงหลักปักฐาน และแต่งงานกับหญิงชาวมลายู จนมีลูกด้วยกัน ถ้าเป็นชายก็จะเรียกว่า บาบ๋า (Baba) แต่ถ้าเป็นหญิงก็จะถูกเรียกว่า ยาหยา (Nyonya) และเมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น ก็ได้สร้างวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เรียกว่า วัฒนธรรมเปอรานากัน (Peranakan culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี เครื่องแต่งกาย ภาษา และอาหาร (พูดง่ายๆก็คือ เป็นแขกมลายู ผสมจีน)
 



 
พิพิธภัณฑ์นี้ไม่ได้อยู่บนถนนยองเกอร์ แต่อยู่บน ถนนฮีแรน (Heran street) ซึ่งขนานไปกับถนนยองเกอร์ครับ ที่นี่เปิดทุกวันตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น (เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะเปิดถึง 6 โมงเย็น) และมีค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 16 ริงกิต และเด็ก 10 ริงกิต

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์นี้ สามารถดูได้ที่นี่ https://babanyonyamuseum.com/


มาที่ศาสนสถานกันบ้างครับ บริเวณถนนยองเกอร์จะมี มัสยิดกัมปุงกลิง (Masjid Kampung Kling) ซึ่งถือเป็นมัสยิดเพียงแห่งเดียวบนถนนเส้นนี้ สร้างขึ้นโดยพ่อค้าชาวอินเดียมุสลิมในปี 1748 ด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานหลายชนชาติ รวมทั้งมีกลิ่นอายของความเป็นฮินดูอยู่ด้วย
 

 
นอกจากมัสยิด ถนนนี้ยังมี วัดศรีโพยาธะวินายะคารมูรติ (Sri Poyyatha Vinayagar Moorthi Temple) ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ถือเป็นศูนย์กลางของชาวฮินดูในเมืองมะละกา สร้างขึ้นในปี 1781 โดยเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากดัตช์
 

และยังมี วัดเช็งฮุนเต็ง (Cheng Hoon Teng) ซึ่่งเป็นวัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศมาเลเซีย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1646 โดยชาวจีนกลุ่มแรกสุดที่อพยพมาตั้งรกรากที่เมืองมะละกา มีสถาปัตกรรมที่ผสมผสานทั้งแบบเต๋า ขงจื้อ และพุทธมหายาน ด้านในเป็นที่ประดิษฐานทั้งเจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้ากวนอู และเจ้าแม่ทับทิม
 



 
ทั้งหมดนี้ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในย่านถนนยองเกอร์ที่ผมได้ไปเยือนในวันสุดท้ายครับ ในช่วงประมาณเที่ยงผมก็ตัดสินใจเดินกลับโรงแรม เช็คเอาท์ จากนั้นเรียก grab จากโรงแรมไปที่ Melaka Sentral เพื่อขึ้นรถจากเมืองมะละกาไปยังสนามบิน KLIA2 และบินกลับเมืองไทยในช่วงเย็นครับ

สรุปส่งท้าย

มะละกาอาจจะไม่ใช่เมืองที่โดดเด่นในแง่การมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามหรืออลังการงานสร้าง ใครที่จะมาเน้นเดินเล่น ถ่ายรูปสวยๆที่เมืองนี้อาจจะผิดหวัง แต่เมืองนี้กลับมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่มากมาย ถ้าถามผมว่าเมืองนี้เหมาะกับใคร ผมว่า ใครที่เป็นสายเที่ยวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สัมผัสวิถีชีวิตผู้คน และสายกิน น่าจะเหมาะกับมะละกาที่สุดครับ

ข้อดีอย่างหนึ่งของเมืองนี้คือ อยู่ใกล้ไทยนิดเดียว บินแค่ชั่วโมงกว่าก็ไปถึงสนามบิน KLIA2 แล้ว (ตั๋วถูกด้วย) จากนั้นก็นั่งรถไปอีกแค่ 2 ชั่วโมงก็มาถึงเมืองนี้แล้วครับ ลางานแค่วันเดียว มาเที่ยวเล่นถ่ายรูปชิลล์ๆ หาของกิน ชาร์จแบตเตอรี่ ที่สำคัญเมืองนี้ปลอดภัยและเที่ยวง่ายมาก สามารถเที่ยวตามรอยรีวิวซีรีส์ชุดนี้ได้เลยครับ 

บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง



Create Date : 27 มกราคม 2563
Last Update : 30 เมษายน 2567 21:32:26 น. 0 comments
Counter : 2779 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจ้าสำนักคันฉ่องวารี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ชอบท่องเที่ยว สนใจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ

Blog นี้จะใช้เขียนความทรงจำในการเดินทาง และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด เผื่อใครจะมาตามรอย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ถ้าชอบ blog เนื้อหาประมาณนี้ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เจ้าสำนักคันฉ่องวารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.