Welcome to my blog
3 วัน 2 คืน ปีนัง สีสันมรดกโลกบนดินแดนไข่มุกมาเลย์ (ตอนที่ 3: คฤหาสน์เปอรานากัน+ตึึก Komtar)


 
สถานที่ท่องเที่ยว : คฤหาสน์เปอรานากัน (Penang Peranakan Mansion), Malaysia
พิกัด GPS : 5° 25' 4.59" N 100° 20' 27.91" E

วันที่สาม

วันนี้เป็นวันสุดท้ายของทริปสั้นๆที่ปีนังของเราครับ เรายังมีเวลาเหลืออีกเกือบๆเต็มวัน ก่อนจะขึ้นเครื่องกลับในช่วงเย็น วันนี้เราเลยตัดสินใจว่า จะไปเที่ยวที่ คฤหาสน์เปอรานากัน (Pinang Peranakan Mansion) ซึ่งได้ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้ไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต และสถาปัตยกรรมของ ชาวเปอรานากัน (Peranakan)


จากที่พักของเรา ไปยังคฤหาสน์เปอรานากัน ไม่ไกลกันมากครับ จริงๆจะเดินก็ได้แหละ แค่กิโลกว่าๆ แต่ด้วยสภาพอากาศ และแสงแดดยามสาย เราขอเรียก grab ดีกว่าครับ ค่ารถก็ไม่แพง ประมาณ 4 ริงกิต หรือคิดเป็นเงินไทยก็แค่ 30 กว่าบาทเท่านั้นเอง
 

เดิม คฤหาสน์เปอรานากัน (Pinang Peranakan Mansion) เป็นบ้านของคหบดีชาวจีนที่ชื่อว่า ชุงเก็งกวี (Chung Keng Quee) ซึ่งเป็นชาวจีนฮากกาจากมณฑลกวางตุ้ง ที่ได้เดินทางเข้าสู่ บริติชมลายา (British Malaya) หรือมาเลเซียภายใต้การปกครองของอังกฤษ และต่อมาก็ได้มีฐานะร่ำรวยขึ้นจากการทำเหมืองและค้าขายดีบุกในรัฐเปรัก (Perak)
 

ในปี 1893 ชุงเก็งกวี ก็ได้ทำการซื้อที่ดินบนเกาะปีนัง และได้ทำการสร้างคฤหาสน์ขึ้นในสไตล์เปอรานากัน จนเมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1901 คฤหาสน์ก็ตกเป็นของลูกหลาน แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ลูกหลานก็ไม่ค่อยได้ดูแลคฤหาสน์แห่งนี้ ที่นี่จึงค่อยๆถูกทิ้งให้เสื่อมโทรมลง จนเมื่อทศวรรษ 1990 ได้มีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เข้ามาทำการปรับปรุงคฤหาสน์ และได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น
 



ถ้าใครเคยดูซีรีส์สิงคโปร์เรื่อง บ้าบ๋า ย่าหยา รักยิ่งใหญ่จากใจดวงน้อย (The Little Nyonya) เวอร์ชั่น 2008 ที่เคยฉายทางช่อง Thai PBS คงจะคุ้นๆกับบ้านหลังนี้นะครับ เพราะที่นี่แหละ ที่เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้
 

ที่นี่มีค่าเข้าชมนะครับ อยู่ที่ 20 ริงกิต (ประมาณ 160 บาท) โดยเราสามารถเดินชมคฤหาสน์เองก็ได้ แต่ถ้าใครสนใจที่นี่จริงๆ เค้าจะมีไกด์พาชมฟรี เป็นรอบๆ มีทั้งแบบภาษาจีน และภาษาอังกฤษ แต่เรื่องเวลา ต้องสอบถามตอนซื้อตั๋วอีกทีนะครับ เพราะเหมือนจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามจำนวนนักท่องเที่ยว

ตอนที่ผมไป มีไกด์ภาษาอังกฤษตอนรอบ 11 โมง คือลุงคนที่อยู่ในรูปนี้ครับ

 

พิพิธภัณฑ์นี้เปิดทุกวัน ไม่มีวันหยุดนะครับ (ไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ที่มักจะหยุดวันจันทร์ หรือวันอังคาร) มีเรื่องเล่าขำๆจากไกด์ที่นำชมพิพิธภัณฑ์ เค้าบอกว่า ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์นี้เปิดมาเกือบ 30 ปี ที่นี่เปิดทุกวัน ไม่เคยมีวันหยุดเลย จนเพิ่งมาปิดเมื่อปี 2021 เพราะการระบาดของโควิด 19 ทำให้ปิดไปนานหลายเดือน เพิ่งจะกลับมาเปิดใหม่เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมานี่เอง (เค้าเล่าว่า ตอนที่เปิดใหม่ๆ บางวันก็ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเลยสักคนเดียว เพิ่งจะเริ่มมาเยอะก็ช่วงที่ผมไปนี่แหละครับ)

อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า คฤหาสน์นี้ก่อสร้างขึ้นตามแบบฉบับของชาวเปอรานากัน อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับ ชาวเปอรานากัน (Peranakan) มาก่อน ผมเลยจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์นี้คร่าวๆก่อน เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานก่อนจะพาไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กันนะครับ

ชาวเปอรานากัน (Peranakan) แปลเป็นภาษาไทยว่า เกิดที่นี่ พูดง่ายก็คือ พวกเค้าเป็นกลุ่มลูกครึ่งระหว่างพ่อค้าชาวจีนที่ทำการค้าขาย หรืออพยพมาที่แถบคาบสมุทรมลายู ภาคใต้ของไทย สิงคโปร์ รวมทั้งบางส่วนของอินโดนีเซีย กับผู้หญิงในท้องถิ่นนั้นๆ เกิดเป็นลูกครึ่ง ซึ่งถ้าเป็นผู้ชาย จะถูกเรียกว่า บ้าบ๋า (Baba) ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า ย่าหยา (Nyonya) ทีนี้ด้วยความที่พวกเค้ามีพ่อและแม่ที่มาจากชาติพันธุ์แตกต่างกัน ทำให้เค้าได้รับทั้งวัฒนธรรมจีน และวัฒนธรรมท้องถิ่น และเมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น ก็ได้สร้างวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมของบรรพบุรุษโดยมาผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมใหม่ เรียกว่า วัฒนธรรมจีนช่องแคบ (Strait Chinese) ครับ

 
 
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าชาวเปอรานากันจะเป็นกลุ่มคนลูกผสมระหว่างคนจีนกับคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่คนเปอรานากันส่วนใหญ่ ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่นับถือพุทธ และมีประเพณีหลายๆอย่าง เช่น การเซ่นไหว้บรรพบุรษเหมือนกับคนจีน

จริงๆ วัฒนธรรมเปอรานากัน ยังสามารถแบ่งแยกย่อยได้ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆด้วยกัน ก็คือ เปอรานากันเหนือ (Northern Peranakan) ซึ่งจะพบได้ในแถบปีนัง และภาคใต้ของไทย กับ เปอรานากันใต้ (Southern Peranakan) ซึ่งจะพบในแถบมะละกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะมีความแตกต่างกันเล็กๆน้อยๆ ทั้งเรื่องภาษา การแต่งกาย และอาหารครับ

อาหารเปอรานากัน (Peranakan) ก็เป็นอีกสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ อาหารที่นี่จะผสมผสานระหว่างความเป็นจีน กับความเป็นมลายูท้องถิ่น อาหารปีนังที่ดังๆเกือบทั้งหมดก็เป็นอาหารเปอรานากัน ตัวอย่างเช่น เมนูเส้นคล้ายๆก๋วยเตี๋ยวรสเผ็ดที่เรียกว่า ลักซา (Laksa) ซึ่งหาทานได้ทั่วไปบนเกาะปีนัง หรือว่าขนมหวานที่เรารู้จักกันดีอย่าง ลอดช่อง (Chendol) จริงๆก็เป็นอาหารเปอรานากันที่กำเนิดที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทย

 

สิ่งแรกที่สัมผัสได้เมื่อเข้ามาในคฤหาสน์แห่งนี้คือ ความหรูหราครับ ที่นี่จะมีการตกแต่งผสมผสานระหว่างข้าวของเครื่องใช้จากจีน และจากประเทศตะวันตก ที่แม้จะมาจากคนละแหล่งกัน แต่สามารถผสมกันได้อย่างลงตัว
 








มาเริ่มที่ห้องนี้ครับ ห้องนี้เป็นห้องแรกสำหรับใช้รับแขก แนะนำลองสังเกตที่ประตูทางเข้าหลักในรูปนี้ครับ ถ้าดูดีๆ ประตูนี้จะมีรูเล็กๆอยู่เต็มไปหมด ถือเป็นความฉลาดในการออกแบบ เพราะคนภายในจะสามารถมองเห็นว่า ใครมาจากภายนอกได้ แต่คนจากภายนอกจะมองไม่เห็นด้านใน นอกจากนี้ รูเล็กๆนี้จะช่วยทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศ ทำให้ภายในบ้านหลังนี้เย็น


กระเบื้องโมเสกที่ใช้ปูพื้นคฤหาสน์ เป็นของหรูหราที่นำเข้ามาจากสกอตแลนด์
 

มาดูกันที่ห้องรับประทานอาหารกันบ้างครับ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การทานข้าวของคนเปอรานากัน จะไม่ได้ใช้ตะเกียบเหมือนคนจีน แต่จะใช้ช้อน ส้อม และมีด แบบชาวตะวันตกครับ
 



ห้องสำหรับสันทนาการ มีโต๊ะเล่นไพ่บริดจ์ตั้งอยู่


ขยับขี้นมาที่ชั้นสองกันบ้างครับ เราจะพบกับรูปวาดของชุงเก็งกวี เจ้าของคฤหาสน์คนแรกในเครื่องแบบจีนเต็มยศเลย

สิ่งที่ผมมองว่า น่าสนใจคือ หิ้งพระ ที่อยู่ใต้รูปวาด อันนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมจีนดั้งเดิมแน่นอน แต่น่าจะเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวพุทธในแถบปีนัง

 
 
นอกจากรูปของชุงเก็งกวีแล้ว ยังมีรูปวาดของภรรยา และลูกหลานอีกหลายคน
 



 
ห้องสำหรับนั่งเล่น พูดคุยกัน อยู่บนชั้นสองครับ สังเกตด้านหลัง จะมีแก้วคริสตัลหลากสีสันที่สมัยก่อนเป็นของมีค่าราคาแพงมาก เก็บสะสมอยู่ที่นี่เต็มไปหมด แสดงให้เห็นถึงฐานะความร่ำรวยของเจ้าของคฤหาสน์แห่งนี้
 

 
ตุ๊กตาแบบตะวันตกครับ สมัยก่อนเป็นของเล่นมีค่าสำหรับคุณหนูตระกูลสูงศักดิ์ชาวเปอรานากัน
 

 
เรือนหอสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาวครับ สิ่งที่น่าสนใจคือ เตียงในห้องนี้จะเล็กมาก เหมือนเตียงสำหรับเด็ก เพราะสมัยก่อน คนที่จะเป็นเจ้าสาวได้ อายุแค่ 13-14 เท่านั้นเอง

มีเรื่องเล่าตลกๆจากไกด์นะครับ เค้าเล่าว่า สมัยก่อนในคืนที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอด้วยกัน จะมีการนำไก่ตัวผู้และตัวเมียใส่สุ่มไว้ แล้วซุกไว้ใต้เตียง พอเจ้าบ่าวเจ้าสาวนอนด้วยกันครบ 1 คืน คนในบ้านจะหยิบไก่ออกมา ถ้าหยิบออกมาได้ไก่ตัวผู้ก่อน เชื่อว่า เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะได้ลูกชาย แต่ถ้าหยิบได้ตัวเมีย จะได้ลูกสาวครับ

 

ห้องพักสำหรับผู้หญิง (ย่าหยา) อันนี้น่าจะสำหรับคนที่แต่งงานมาสักพักล่ะ เพราะเตียงใหญ่ ภายในจะมีการจัดแสดงเครื่องแต่งกายไว้ด้วย
 

หลังคาของคฤหาสน์นี้ตรงกลางของบ้านจะถูกเปิดโล่ง เพื่อให้แสงแดดส่องลงมาได้ พอฝนตก น้ำฝนจะไหลลงสู่บ่อรับน้ำ เพื่อใช้เป็นน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคภายในบ้านครับ
 

 
มาดูที่หลังบ้านบ้างครับ อันนี้เป็นห้องครัวของบ้านหลังนี้
 

 
นอกจากนี้ ด้านข้างของบ้าน ยังมีศาลประจำตระกูล ซึ่งเป็นที่ตั้งป้ายสถิตดวงวิญญาณของบรรพบุรษ ไกด์เล่าว่า ทุกๆปี ลูกหลานของชุงเก็งกวี ก็จะมาที่ศาลเจ้าแห่งนี้ เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรษของพวกเค้า
 



 
สิ่งที่อยากให้ดูคือ งานแกะสลักรอบๆศาลครับ สวยงามมาก
 

จริงๆยังมีเรื่องราวอื่นๆอีกมายเกี่ยวกับคฤหาสน์แห่งนี้ที่เราได้ฟังจากไกด์ของเรา บอกเลยว่า ตลอด 45 นาทีที่ไกด์พาชม เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามากๆ ใครที่มาปีนัง แล้วเป็นสายเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม ต้องลองหาเวลามาเที่ยวที่นี่นะครับ คุ้มค่ากับค่าตั๋ว (ที่ออกจะแพงไปซักนิด) แน่นอน

เราเที่ยวที่คฤหาสน์นี้ 3 ชั่วโมงเต็มครับ ตั้งแต่ 9 โมงเช้ายันเที่ยง ก็ได้เวลาหาของกินพอดี เรามาทานกันที่ร้านตรงข้ามคฤหาสน์ที่ชื่อว่า The Forest Heritage ครับ โดยรวมร้านนี้โอเคนะ ราคาอาจจะแรงไปนิด แต่อาหารอร่อย

 

พอทานข้าวเสร็จ เราก็เดินทางต่อไปที่ตึก Komtar เพื่อไปเที่ยวที่ The top penang
 
 
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ The top komtar ก็คือ เราจะได้ชมวิวมุมสูงของปีนังแบบนี้
 





 
นอกจากนี้ที่นี่ยังมี Jurassic Research Centre ให้เราได้อารมณ์เหมือนอยู่ในหนังเรื่อง Jurassic park ครับ
 









นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีอควาเรียมที่ชื่อว่า The top boutique aquarium ซึ่งปลาที่จัดแสดงส่วนใหญ่จะเป็นปลาน้ำจืด แต่ส่วนตัวผมว่าที่นี่ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ ปลาน้อย แล้วก็ดูไม่ดีเท่าไหร่ ถ้าใครเวลาจำกัด ตัดไปเลยก็ได้ครับ 
 

Tip: ใครที่อยากมาเที่ยวที่ The top แล้วมีแผนจะไปเที่ยว The Habitat ที่ปีนังฮิลล์อยู่แล้ว แนะนำให้ลองดูตั๋ว Combo ticket ใน klook ดูนะครับ ประหยัดกว่าซื้อแยก

https://www.klook.com/th/activity/69925-klook-pass-penang-attraction-pass/?spm=BookingDetail.ActivityCard&clickId=a6f19b1628

 

 
คหสต. ผมว่าที่เที่ยวต่างๆที่ The top komtar เหมาะสำหรับมาเที่ยวฆ่าเวลา หรือหลบร้อนเฉยๆครับ ไม่ได้น่าสนใจขนาดที่ต้องมาชม เอาเป็นว่า ถ้าใครเวลาเหลือก็มา แต่ถ้าเวลาน้อย ไม่ต้องมาก็ได้ เอาเวลาไปเที่ยวที่อื่นดีกว่า

เราเที่ยวที่ The top ถึงบ่ายสาม จากนั้นก็เดินกลับโรงแรมเพื่อไปเอากระเป๋า และเรียก grab ไปสนามบินครับ ค่ารถตกอยู่ที่ 31 ริงกิต หรือประมาณ 250 บาท 

 
 
กลับไทยล่ะครับ อันนี้เป็นไฟลท์ที่ผมบินกลับ ใช้บริการของสายการบินหางแดงเหมือนตอนขามาครับ
 

สรุปทริป

ถ้าพูดถึงปีนัง ผมเชื่อว่า หลายคนอาจจะนึกถึงแค่สตรีทอาร์ต หรืออาหารอร่อย แต่จริงๆแล้ว ปีนังยังเป็นเมืองประวัติศาสตร์ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองเก่าอย่างจอร์จทาวน์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทำให้ทุกพื้นที่ของปีนัง เต็มไปด้วยเรื่องราว ที่ผสมผสานความโบราณแบบดั้งเดิม กับวิถีชีวิตของผู้คนปีนังแบบสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมปีนังจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศมาเลเซีย

สำหรับการเที่ยวที่ปีนัง ผมว่า ระยะเวลาแค่ 3 วัน 2 คืน น่าจะพอดีกับการเก็บสถานที่สำคัญเกือบทั้งหมดในปีนังแล้วครับ นอกจากนี้ ด้วยความที่ปีนังอยู่ใกล้เมืองไทย บินแค่ชั่วโมงกว่าๆก็ถึงแล้ว ที่นี่จึงเหมาะสำหรับคนที่มีเวลาเที่ยวน้อย เช่น มีเวลาแค่วันหยุดช่วงศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ก็สามารถเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวเมืองนอกได้ง่ายๆ ในราคาสบายกระเป๋าที่เมืองเก่าที่เป็นมรดกโลกแห่งนี้

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านบล็อกของผมนะครับ หวังว่าข้อมูลที่ผมเขียนมาทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ ถ้าใครมีคำถามอะไร สามารถส่งข้อความหลังไมค์มาถามได้เลย หรือจะเม้นไว้ใต้บล็อกนี้ก็ได้ ยินดีตอบ และให้ข้อมูลนะครับ

บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง



Create Date : 04 กันยายน 2565
Last Update : 30 เมษายน 2567 21:56:48 น. 0 comments
Counter : 2905 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจ้าสำนักคันฉ่องวารี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ชอบท่องเที่ยว สนใจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ

Blog นี้จะใช้เขียนความทรงจำในการเดินทาง และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด เผื่อใครจะมาตามรอย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ถ้าชอบ blog เนื้อหาประมาณนี้ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เจ้าสำนักคันฉ่องวารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.