Welcome to my blog

5 วัน 4 คืน บันดุง เมืองภูเขาไฟแห่งดินแดนชวาตะวันตก (ตอนที่ 3: Kawah Putih+Situ Patengan)


สถานที่ท่องเที่ยว : ทะเลสาบ Kawah Putih, Indonesia
พิกัด GPS : -8° 50' 20.50" N 107° 24' 11.39" E

วันที่สี่

สำหรับคนอินโดแล้ว บันดุงอาจจะเป็นแหล่งช็อปปิ้งชื่อดัง หรือเป็นสถานที่ตากอากาศ แต่สิ่งที่ดึงดูดคนไทยมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นสถานที่ๆเกี่ยวข้องกับ ภูเขาไฟ ซึ่งรอบๆเมืองบันดุงมีอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง นั่นก็คือ Tangkuban Perahu และ Kawah Putih โดยเมื่อวานนี้เราได้เที่ยว Tangkuban Perahu กันไปแล้ว (สามารถอ่านได้ในรีวิวตอนที่ 4) ในวันนี้ เราจะมาเที่ยว Kawah Putiih กันต่อครับ

ปัญหาของการเที่ยวภูเขาไฟที่นี่ก็คือ ไปลำบาก เพราะที่อินโด ระบบการคมนาคมขนส่งยังแย่มาก (เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว) ดังนั้นวิธีเที่ยวที่สะดวกที่สุดก็คือ การหารถเช่าพร้อมคนขับจากบริษัททัวร์ท้องถิ่น โดยในทริปนี้ผมเลือกใช้บริการของ Diaz travelindo ซึ่งเป็นบริษัททัวร์ที่ได้รับการแนะนำใน Tripadvisor โดยผมได้เช่ารถเป็นเวลา 2 วันสำหรับการเที่ยวนอกเมืองบันดุง ในราคาวันละ 700,000 รูเปียะ  (1,600 บาท) เป็นรถ Toyoya Innova 4 ที่นั่ง รวมค่าน้ำมัน ค่าคนขับรถ และค่าผ่านทางต่างๆแล้ว แต่ยังไม่รวมค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆครับ

 

จุดหมายที่เราจะไปเที่ยวในวันนี้ เป็นหมู่บ้านเล็กๆทางตอนใต้ของเมืองบันดุงที่ชื่อว่า Ciwidey ซึ่งมีภูมิประเทศที่สวยงาม และอยู่ใกล้กับภูเขาไฟ

บริเวณนี้จะมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอยู่ด้วยกัน 3 แห่งคือ
  • Kawah Putih --> ทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟสีเทอร์คอยซ์
  • Situ  Patengan --> ทะเลสาบน้ำจืด รอบๆมีไร่ชา
  • Kampung Cai Ranca Upas --> สถานที่เลี้ยงกวาง เราสามารถให้อาหารกวางเพลินๆที่นี่ได้
ทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟ Kawah Putih

จุดหมายแรกของเราคือ ทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟสีเทอร์คอยซ์ ที่ชื่อว่า Kawah Putih ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองบันดุง 46 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 2 ชั่วโมงครับ

Kawah Putih อาจเรียกได้ว่าเป็น White Crater ซี่งในทางธรณีวิทยาเกิดจากการประทุของ ภูเขาไฟ Patuha ในช่วงศตวรรษที่ 12 ทำให้ที่นี่กลายเป็นปล่อง ต่อมาฝนได้ตกลงมาสะสมในปล่องนี้ ทำให้ที่นี่กลายเป็นทะเลสาบ อย่างไรก็ตาม น้ำฝนได้ทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุในปล่องภูเขาไฟนี้ ทำให้น้ำในปล่องนี้มีความเป็นกรดสูงมาก (ห้ามนำร่างกายสัมผัสโดนน้ำเด็ดขาด)

 

 
น้ำในทะเลสาบ Kawa Putih มีสีเทอร์คอยซ์ เนื่องจากมีแร่ธาตุ พอเกิดการสะท้อนแสงในมุมองศาที่เหมาะสม ก็จะเกิดเป็นสี ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงของวัน (ผมแนะนำให้มาตอนเช้า คนจะน้อย และสีของน้ำจะสวยที่สุดครับ)
 



คำเตือน: บริเวณนี้จะมีกลิ่นกำมะถันรุนแรงมาก ซึ่งอาจะเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น จึงมีป้ายเตือนว่า ไม่ควรอยู่บริเวณทะเลสาบเป็นเวลานานครับ (ทางการแนะนำว่า ไม่ควรอยู่เกิน 15 นาที)
 

ค่าเข้าชม: ที่นี่มีค่าเข้าชมอยู่ที่ 75,000 รูเปียะต่อคน (170 บาท) แต่ถ้านำรถเข้ามาจะเสียเงินเพิ่มอีก 150,000 รูเปียะต่อคัน หรือนั่งรถกะป๊อของทางท้องถิ่นเข้ามาก็ได้ครับ (ค่ารถ 35,000 รูเปียะต่อคน) นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามมุมถ่ายรูปต่างๆ

Tips:
  • ถ้ามากันหลายคน นั่งรถเข้าไปเองดีกว่า เพราะรถกะป๊อท้องถิ่นสภาพแย่มาก ต้องนั่งเบียดเสียดกัน แถมถนนยังค่อนข้างแย่
  • ควรเตรียมหน้ากากไปด้วย เพราะกลิ่นกำมะถันรุนแรงมาก (ถ้าฝนตก กลิ่นจะยิ่งแรงมากขึ้น)
  • ควรไปตอนเช้า เพื่อหลีกเลี่ยงนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
Comment: โดยส่วนตัว ผมชอบที่นี่มากกว่า Tangkuban Perahu เพราะบรรยากาศค่อนข้างชิลล์กว่า ค่าเข้าถูกกว่า และ Tourist scam ก็มีน้อยกว่า ดังนั้น ถ้าใครมีเวลาจำกัดแนะนำให้มาที่นี่ครับ
 

หลังจากที่เที่ยว Kawah Putih เราก็มารับประทานอาหารเที่ยงที่ร้าน Warung kopi gunung ซึ่งเป็นร้านอาหารกลางหุบเขา อากาศเย็น บรรยากาศชิลล์มากครับ
 

 
ทะเลสาบปาเต็งกัน (Situ Patengan)

เป็นทะเลสาบที่ได้ชื่อว่า สวยที่สุดในจังหวัดชวาตะวันตก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,600 เมตร ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งปลูกชา และสตรอเบอรี่ รวมทั้งพืชเมืองหนาวอื่นๆ

 
 
 

ไฮไลท์อย่างหนึ่งของทะเลสาบนี้ก็คือ ตรงกลางทะเลสาบจะมีหินอยู่ก้อนหนึ่ง เรียกว่า Batu Cinta หรือ Stone of Love ซึ่งมีตามตำนานกล่าวไว้ว่า มีคู่รักชายหญิงสูงศักดิ์คู่หนึ่งรักกัน แต่ก็ถูกพลัดพรากจากกัน จนเวลาผ่านไปหลายปี ทั้งคู่ก็มาพบกันอีกตรงหินก้อนนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ความรักของทั้งคู่ จึงมีการสร้างทะเลสาบนี้ขึ้น ดังนั้นคู่รักชาวอินโดจึงนิยมมาอธิษฐานขอพรกันที่ทะเลสาบแห่งนี้
 

ค่าเข้าชม: คนละ 20,000 รูเปียะ + ค่ารถ 15,000 รูเปียะต่อคัน

ศูนย์อนุรักษ์กวาง Kampung Cai Ranca Upas

จริงๆ สถานที่นี้ผมไม่ได้ใส่ไว้ในแผนเที่ยวตั้งแต่แรก เพราะมันออกจะดูน่าเบื่อไปซะหน่อย แต่ในเมื่อเวลาเหลือ คนขับรถของเราจึงแนะนำให้มาครับ

ในแถบชวาตะวันตกจะมีกวางสายพันธุ์หนึ่ง เรียกว่า Ranca Upas แปลว่า กวางที่ชอบอาศัยอยู่ใกล้หนองน้ำ ที่นี่จึงเป็นเหมือนสถานที่เพาะพันธุ์กวางสายพันธุ์นี้ โดยเค้าจะจัดที่ๆให้นักท่องเที่ยวได้ให้อาหาร และสัมผัสกับกวางอย่างใกล้ชิด

ค่าเข้าชม; คนละ 25,000 รูเปียะ + ค่ารถ 25,000 รูเปียะต่อคัน

 

หลังจากให้อาหารกวางเสร็จ เราก็เดินทางกลับเข้าตัวเมืองบันดุง จากนั้นเราก็ใช้เวลาที่เหลือในตอนเย็นไปกับการช็อปปิ้ง และซื้อของฝากครับ

Paris Van Java mall

บันดุงขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการช็อปปิ้งครับ ที่นี่จึงมีทั้งห้างและ Outlet เยอะแยะมากมายกว่า 80 แห่ง ผมจึงมั่นใจว่าสายช็อปต้องชอบเมืองนี้แน่นอน เมืองนี้โด่งดังถึงขนาดว่า ในช่วงวันหยุด คนอินโดจากจาการ์ต้า รวมทั้งคนมาเลย์ สิงคโปร์ ต่างก็แห่กันมาที่เมืองบันดุงแห่งนี้เพื่อช็อปปิ้งโดยเฉพาะ

ห้างนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบันดุง (ดังนั้นมั่นใจได้ว่ารถติดแน่นอน) ภายในมีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงหนัง และรีสอร์ท ภายใต้ธีมเมดิเตอร์เรเนียน

 

 
สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดของเมืองนี้คือ สินค้าราคาถูกเวอร์มาก อย่างเสื้อผ้า uniqlo ที่นี่ เช็คราคาแล้ว ถูกกว่าที่เมืองไทย 20-50% เลยครับ
 

 
ของฝากจากบันดุง

หลายๆคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อมาบันดุง แล้วควรจะซื้ออะไรเป็นของฝากดี ผมขอแนะนำบราวนี่จากร้านที่ชื่อว่า Amanda brownies ครับ

ร้านนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองบันดุง เปิดขายมาไม่ถึง 20 ปี แต่สามารถขยายสาขาไปได้ทั่วทั้งอินโดนีเซีย รวมทั้งในมาเลเซียอีกด้วย ดังนั้นการันตีคุณภาพอย่างแน่นอน (ที่สำคัญคือ ถูกเวอร์มาก)

Tip: ร้านนี้มีหลายสาขา แต่ต้องระวังร้านปลอมด้วยครับ ของแท้ต้องมีตราแบบที่โชว์ในรูปด้านล่างนี้เท่านั้น (ถ้าใครใช้บริการของ Diaz travelindo มั่นใจได้ว่า เค้าพามาถูกร้านแน่นอน)

 

หลังจากซื้อของฝากเสร็จ ผมก็ให้คนขับพากลับที่พัก การเที่ยวบันดุงวันนี้ก็จบลงอย่างครบรส 

วันที่ห้า

วันนี้ไม่มีอะไรเที่ยวแล้วล่ะครับ ผมเรียก grab จากที่พักไปยังสนามบินเพื่อเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ก่อนจะบินกลับกรุงเทพต่อไป ทริปบันดุงก็จบลงอย่างประทับใจครับ

 



 
บทสรุป

บันดุงถือเป็นเมืองที่ผมชอบมากๆเมืองหนึ่งในอาเซียนเลยครับ เนื่องจากเมืองนี้มีอากาศที่เย็น และกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถเที่ยวได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นสายลุย, สายชิลล์, สายช็อป, สายชิม หรือสายอาร์ต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยยังมาเที่ยวที่เมืองนี้ค่อนข้างน้อย (ทั้งๆที่เมืองนี้มีความเกี่ยวข้องกับคนไทยเป็นอย่างมาก) ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเดินทางลำบาก ไม่มีเที่ยวบินตรง แต่ถ้าใครมีโอกาสมาที่อินโดนีเซีย ผมแนะนำให้ลองนั่งรถจากกรุงจาการ์ต้ามาสัก 3 ชั่วโมงเพื่อมายังเมืองบันดุงแห่งนี้ รับรองว่า คุณจะตกหลุมรักเมืองนี้ครับ

ท้ายที่สุดก็ขอขอบคุณที่ตามอ่านกันมานะครับ ผมพยายามจะรีวิวให้ละเอียดที่สุดเผื่อว่าใครจะไปตามรอย ถ้าหากมีข้อสงสัยประการใด สามารถคอมเม้นไว้ข้างใต้ หรือหลังไมค์มาถามได้เลย ยินดีตอบทุกข้อความครับ


บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง




 

Create Date : 28 เมษายน 2562    
Last Update : 21 เมษายน 2567 23:09:18 น.
Counter : 2306 Pageviews.  

5 วัน 4 คืน บันดุง เมืองภูเขาไฟแห่งดินแดนชวาตะวันตก (ตอนที่ 2: Tankuban Perahu+Lembang+Curung Dago)


 
สถานที่ท่องเที่ยว: ปากปล่องภูเขาไฟ Tangkuban Perahu, จังหวัดชวาตะวันตก, Indonesia
พิกัด GPS : -7° 14' 32.65


ซาลามัตปากี (สวัสดี) ครับทุกคน หลังจากตอนที่แล้ว ผมได้รีวิวเมืองบันดุงกันไปแล้ว ในตอนนี้ ผมจะพาทุกคนออกนอกเมืองเพื่อไปยังไฮไลท์สำคัญอีก 1 แห่งของทริปนี้ นั่นก็คือ ภูเขาไฟที่ชื่อว่า Tangkuban Perahu ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเล็กๆทางตอนเหนือของบันดุงที่ชื่อว่า Lembang เรื่องราวจะเป็นยังไงมาชมกันต่อเลยครับ

วันที่สาม

สำหรับการเดินทางของเราในวันนี้ ผมใช้บริการรถเช่าพร้อมคนขับของ Diaz travelindo ราคาวันละ 700,000 รูเปียะ (1,600 บาท) โดยเป็นรถ Toyoya Innova  รวมค่าน้ำมัน ค่าคนขับรถ และค่าผ่านทางต่างๆแล้ว แต่ยังไม่รวมค่าเข้าชมสถานที่ต่างๆครับ

เช้าวันนี้ รถมารับที่โรงแรมของเราในเวลา 8.00 am เพื่อออกเดินทางไปทางเหนือ 26 กิโลเมตร ไปพบกับจุดหมายปลายทางแห่งแรก 

ภูเขาไฟ Tangkuban Perahu

เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่สุดของเมืองบันดุงเป็นเวลานับร้อยปี (รัชกาลที่ 5 ก็เคยเสด็จเยือนที่นี่) ภูเขาไฟนี้ยังถือเป็น ภูเขาไฟที่ยังมีพลัง (Active volcano) และประทุบ่อยครั้งมากที่สุดบนเกาะชวา (ครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2015) จนทำให้ยอดภูเขาแบนลง ไม่ใช่ยอดแหลมๆเหมือนภูเขาทั่วไป
 
 
ภูเขาไฟนี้มีปากปล่อง (Crater) จำนวนมากถึง 12 ปล่อง แต่ปล่องที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า Kawah Ratu หรือ Queen Crater ซึ่งการมาที่นี่ทำได้ง่ายมาก แค่ลงจากที่จอดรถแล้วก็เจอปากปล่องนี้เลย (น่าจะเรียกได้ว่าเป็นภูเขาไฟที่มาง่ายที่สุดในประเทศอินโดนีเซียเลยครับ)
 
 
ภูเขาไฟนี้ยังคงประทุอยู่เรื่อยๆ ช่วงใดที่มีการประทุ เค้าจะปิดไม่ให้เข้าชม ดังนั้นถ้าใครมีโอกาสมาชมที่นี่ ถือว่าคุณโชคดีสุดๆ (แบบผม) นอกจาก Kawah Ratu แล้ว ที่นี่ยังมีปากปล่องอื่นๆ แต่เนื่องจากส่วนใหญ่เดินไกล หรือไม่ก็ปิดเพื่อความปลอดภัย เราจึงไม่ได้ไปชมครับ

ค่าเข้าชมภูเขาไฟ Tangkuban Perahu

วันหยุด ค่าเข้าชมต่อคน 300,000 รูเปียะ + ค่ารถ 35,000 รูเปียะต่อคัน

วันธรรมดา ค่าเข้าชมต่อคน 200,000 รูเปียะ + ค่ารถ 25,000 รูเปียะต่อคัน (ดังนั้น ควรจัดทริปมาที่นี่ในวันธรรมดา)

 
คำเตือน:

1. สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของที่นี่ไม่ใช่ตัวภูเขาไฟ แต่เป็นคนขายของ และคนที่อ้างตัวเองว่าเป็นไกด์บริเวณนี้ พวกนี้จะตามเราทุกฝีก้าว พอสบโอกาสก็อาจจะชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์เรา ดังนั้นใครจะมาที่นี่ต้องระวังตัวมากๆ และควรเดินทางเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปจะดีที่สุดครับ

2. ถ้าไม่อยากเสียเงิน ไม่ควรให้ไกด์พวกนี้ช่วยถ่ายรูป หรือนำทางเราให้ เพราะเค้าจะหาเรื่องขอเงินเรา

3. คนขับรถของเราแนะนำว่า ควรอยู่แค่บริเวณ Kawah Ratu จะปลอดภัยที่สุด ไม่ควรลงไปที่ปล่องอื่น (ใน Tripadvisor ก็แนะนำอย่างนี้เช่นกัน)

ตำนานภูเขาไฟ Tangkuban Perahu

ชื่อ Tangkuban Perahu แปลว่า ภูเขาไฟเรือคว่ำ ซึ่งมีที่มาจากนิทานปรัมปราของแถบเมืองบันดุงดังนี้ครับ

กาลครั้งหนึ่ง มีหญิงสาวผู้หนึ่งนามว่า ดายัง ซัมบี เธอมีบุตรชายคนเดียวนามว่า ซังกูเรียง แต่ซังกูเรียงนิสัยไม่ดี และไม่เชื่อฟังเทพเจ้า แถมยังด่าทอเทพเจ้าจนทำให้ทั้งคนทั้งเทพเอือมระอา วันหนึ่งดายัง ซัมบีทนไม่ไหวเลยตัดสินใจนำซังกูเรียงไปปล่อยกลางป่า โดยเธอได้แต่ภาวนาว่าถ้าลูกชายพอมีบุญอยู่พอก็คงรอดจากอันตรายอันมีมากมายในป่าได้ เมื่อเทพเจ้ารู้ว่าเธอเอาลูกนิสัยเสียไปปล่อยนั้นก็ดีใจ ดายัง ซัมบีจึงได้รับพรให้สวยงามเป็นอมตะ

หลายสิบปีต่อมา ซังกูเรียงยังไม่ตายและได้เติบโตเป็นหนุ่มกลับมายังบันดุงอีกครั้ง เขาตกหลุมรักดายัง ซัมบีผู้เป็นแม่ ทันทีที่แรกเห็น ซังกูเรียงจำมารดาตนไม่ได้ ในขณะที่ดายัง ซิมบียังจำบุตรตนได้ไม่เคยลืม แต่เธอก็ไม่กล้าบอกความจริงกับเขา และแล้ว ซังกูเรียงก็ขอดายัง ซิมบีแต่งงาน เธอจึงออกอุบายให้เขาสร้างเรือขนาดใหญ่เพื่อใช้ข้ามวิมานให้สำเร็จก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจึงจะยอมแต่งงานด้วย

ซังกูเรียงได้ร่ายมนต์เรียกยักษ์และมังกรที่เป็นเพื่อนตนให้มาช่วยกันสร้างเรือจนใกล้เสร็จ ดายัง ซิมบีแอบดูอยู่ก็ตกใจ เพราะหากเรือเสร็จนางก็ต้องแต่งงานกับลูกชายของตนเอง นางจึงชวนชาวเมืองบันดุงให้ช่วยกันนำผ้าสีแดงสดมาขึงที่ขอบฟ้าประหนึ่งว่าดวงอาทิตย์กำลังขึ้น ซังกูเรียงหลงกลเข้าใจว่าพระอาทิตย์กำลังขึ้นจริง ๆ เขาจึงเสียใจ และหงายเรือที่ต่อใกล้เสร็จนั้นขว้างออกไปโดยแรง และเรือยักษ์ลำนี้จึงคว่ำและกลายมาเป็นภูเขาไฟลูกนี้นั่นเอง
 
 
หลังจากชมภูเขาไฟเสร็จ เราก็มารับประทานอาหารเที่ยงที่ร้าน KLC resto ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Lembang หลังจากนั้น เราก็ไปเที่ยว Lembang Floating Market กันต่อครับ
 

 
ตลาดน้ำเล็มบัง (Lembang Floating Market)

นอกจากภูเขาไฟ Tangkuban Perahu แล้ว บริเวณเมือง Lembang ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้พักผ่อนหย่อนใจอีกแห่ง นั่นก็คือ Lembang Floating Market หลายคนอาจจะคิดว่า ที่นี่ก็เหมือนตลาดน้ำในเมืองไทย แต่ผมว่าบรรยากาศต่างกันนะ ที่นี่จะเหมือนสวนสาธารณะที่มีบึง แล้วมีคนมาขายของเยอะๆมากกว่า ก็เป็นอีกอารมณ์ที่แปลกดี

ค่าเข้าชม: 20,000 รูเปียะ (แถมกาแฟฟรีด้วย)

 
 
ในเมื่อมาตลาดที่นี่ ผมก็ขอแนะนำขนมหวานที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาที่บันดุงก็คือ กล้วยชีส (Pisang keju) ครับ กล้วยของที่นี่จะเป็นกล้วยลูกใหญ่ เอามาทอดในน้ำมันอ่อนๆ แล้วโรยด้วยชีส นม และช็อคโกแลต เป็นขนมที่ผมว่าอร่อยที่สุดของทริปนี้เลย
 

 
ใครเป็นสายถ่ายรูปไม่ควรพลาดที่นี่ เพราะนอกจากตลาดน้ำแล้ว ที่นี่ยังมี Rainbow garden และเมืองจำลอง Kota Mini อีกด้วยครับ (เสียค่าเข้าชมเพิ่ม)
 



 
น้ำตกตะโค๊ะ (Curug Dago Waterfall)

สำหรับคนอินโด และคนชาติอื่นๆแล้ว ที่นี่อาจไม่ใช่ที่เที่ยวยอดฮิต ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครใส่ลงไปในโปรแกรมเที่ยว และรีวิวที่นี่หายากมาก แต่สำหรับคนไทยแล้ว ที่นี่มีความสำคัญอย่างยิ่งครับ (ต้องขอบคุณคนขับรถของเรา ที่แนะนำที่นี่มาให้)

ค่าเข้าชม: เข้าฟรี แต่ควรให้ Tip กับคนที่ดูแลแถวนั้น

ข้อมูลจากหนังสือตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะชวาสามครา ระบุว่า ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จเยือนน้ำตกแห่งนี้ถึง 2 ครั้ง ในการเสด็จประพาสครั้งสุดท้าย พระองค์ได้ทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธย “จปร” ไขว้ พร้อมกับตัวอักษร “ร.ศ.120” ลงบนหินก้อนหนึ่งที่อยู่ใกล้กับน้ำตกนี้

 


 
ต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ได้เสด็จเยือนที่นี่เช่นกัน และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย “ปปร” พร้อมกับตัวอักษร “พ.ศ. 2472” ไว้ด้วย

ปัจจุบันสถานทูตไทยร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดสรรงบประมาณสร้างศาลาทรงไทยครอบพระปรมาภิไธยทั้งสององค์ที่ทรงจารึกไว้เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนที่นี่เพื่อให้คงสภาพสมบูรณ์ต่อไปอีกนานเท่านาน และเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินโดนีเซียครับ
 
 
หลังจากชมน้ำตกเสร็จแล้ว เราก็เดินทางกลับเข้าตัวเมืองบันดุง เพื่อไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร์ได้เข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้ทำการกุมตัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 7 และอัญเชิญเสด็จยังพระที่นั่งอนันตสมาคม
 
 
ต่อมา คณะราษฎร์ได้กราบทูลอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อมบริพัตรออกจากประเทศไทยโดยได้จัดขบวนรถไฟพิเศษพร้อมทหารนับร้อยนายคุ้มกันหนาแน่น วิ่งตลอดไม่มีหยุดพักกว่า 10 ชั่วโมงจากกรุงเทพ ฯ จนถึงปีนัง และนั่นถือเป็นการเสด็จออกจากประเทศไทยโดยไม่ได้เสด็จกลับมาอีกเลยจนสิ้นพระชนม์

จากปีนัง พระองค์ได้เดินทางต่อไปยังอินโดนีเซีย และทรงเลือกบันดุงเป็นที่ประทับ โดยทรงซื้อที่ดินที่ถนนเนลันด์เพื่อปลูกพระตำหนักเป็นเรือนชั้นเดียวแบบชวาผสมดัตช์เพื่อประทับพร้อมครอบครัวและพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ที่ตามเสด็จลี้ภัยมาด้วยกันที่บันดุง

พระองค์ได้สร้างพระตำหนักขึ้นสองหลังชื่อว่า พระตำหนักประเสปัน (Praseban) และ พระตำหนักดาหาปาตี (Dahapati) ซึ่งชาวเมืองต่างรู้จักพระตำหนักทั้งสองนี้เป็นอย่างดี

ร้านอาหาร Dapur Dahapati

ร้านอาหารแห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่อง ซุปหางวัว (Sop Buntut) และเมนูต่างๆที่ทำจากหางวัว (แนะนำให้ทาน)

นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนมาที่นี่ เพียงเพราะต้องการมาทานอาหารอร่อยๆ พร้อมกับซึมซับบรรยากาศบ้านโบราณในสไตล์ดัตช์ แต่สำหรับคนไทย ที่นี่กลับมีเรื่องราวมากมายให้ได้เรียนรู้ครับ

 
 
ในอดีตที่นี่ชื่อว่า พระตำหนักดาหาปาตี ซึ่งเป็นพระตำหนักที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระขนิษฐา (น้องสาว) ต่างพระมารดาในทูลกระหม่อมบริพัตร และเป็นอีกหนึ่งพระองค์ที่ได้ตามเสด็จมายังบันดุงด้วย
 
 
ปัจจุบัน ที่นี่กลายเป็นร้านอาหารซึ่งดำเนินกิจการโดยข้าหลวงชาวชวาที่เคยเฝ้าถวายการดูแลรับใช้ และตกทอดมายังรุ่นลูกหลานที่นับได้ว่าเป็นรุ่นที่ 3
 
 
เมื่อเดินไปด้านหลังอาคาร จะพบว่ามีการติดพระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระชายา พระโอรส-ธิดา และสมาชิกราชสกุลบริพัตร ที่ทางร้านได้อัญเชิญขึ้นประดับบนผนัง พร้อมกับเข้ากรอบเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี
 




 
โรงเรียนอนุบาลประเสบัน

ตั้งอยู่ข้างๆร้านอาหาร Dapur Dahapati ในอดีตที่นี่เป็นพระตำหนักที่ชื่อว่า พระตำหนักประเสบัน ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
 

 
ปัจจุบัน ด้านหน้าของพระตำหนักก็ยังคงเหมือนเดิมกับในรูปถ่ายไม่มีผิดเพี้ยนเลยครับ
 
 
วงเวียนสยาม

ในอดีต บริเวณด้านหน้าของพระตำหนักทั้งสองเป็นวงเวียน เรียกว่า วงเวียนสยาม  แต่ปัจจุบัน วงเวียนนี้ไม่มีแล้ว กลายเป็นปั๊มน้ำมันแทน
 
 

ผมรับประทานอาหารเย็นที่นี่ และเดินชมพระตำหนักต่างๆ พอได้เวลาสมควรก็กลับที่พัก การเดินทางของทริปบันดุงในวันที่สามก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ

อย่างที่ผมเคยอธิบายไปในตอนแรกๆแล้วว่า สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองบันดุงหลายแห่งมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเขาไฟหรือน้ำตกที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 เคยเสด็จเยือน จนมีการสร้างอนุสรณ์สถานระลึกไว้ หรืออดีตพระตำหนักของเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ซึ่งถ้าใครสนใจจะเที่ยวตามรอยแบบในบล็อกนี้ ผมแนะนำให้ลองติดต่อ บริษัท Diaz travelindo  เค้าสามารถจัดทริปอย่างที่ผมไปเที่ยวมาในวันนี้ให้ได้ครับ
 

 
เรื่องราวในบันดุงยังไม่จบเพียงเท่านี้ครับ ในตอนหน้าผมจะพาไปพบกับความสวยงามของภูเขาไฟอีกแห่ง พร้อมกับธรรมชาติและวิวทิวทัศน์ที่สวยงามกันต่อ ฝากติดตามในตอนหน้าด้วยนะครับ
 




 

Create Date : 26 เมษายน 2562    
Last Update : 21 เมษายน 2567 23:09:05 น.
Counter : 2967 Pageviews.  

5 วัน 4 คืน บันดุง เมืองภูเขาไฟแห่งดินแดนชวาตะวันตก (ตอนที่ 1: เที่ยวในเมืองบันดุง)


สถานที่ท่องเที่ยว : Gedung Sate, เมืองบันดุง, Indonesia
พิกัด GPS : -7° 5' 59.16" N 107° 37' 7.79" E


สวัสดีครับ วันหยุดช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเป็นยังไงกันบ้าง เชื่อว่าหลายคนคงใช้วันหยุดนี้ในการไปเที่ยวพักผ่อน หาความสุขให้ตัวเอง สำหรับผมก็เช่นเดียวกันครับ

วันหยุดยาวที่ผ่านมา ผมได้ใช้ในเวลาช่วงนั้นไปเที่ยวยังอีกหนึ่งประเทศในแถบอาเซียนของเรา ที่นี่เป็นประเทศที่มีธรรมชาติที่สวยงาม มีความตื่นตื่นใจในแบบที่หาไม่ได้ในเมืองไทย และที่สำคัญค่าครองชีพของที่นี่ต่ำมาก ผมกำลังพูดถึงประเทศ อินโดนีเซีย โดยเมืองที่จะมารีวิวในซีรีส์ชุดนี้ อาจจะยังเป็นเมืองที่ไม่คุ้นหูสำหรับคนไทย แต่จริงๆแล้ว เมืองนี้ความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก เมืองนั้นมีชื่อว่า บันดุง (Bandung) ครับ

ทริปนี้ผมไปมาในวันที่ 13-17 เมษายน 2562 เป็นเวลา 5 วัน 4 คืน โดยไปกับครอบครัว ดังนั้นทริปนี้จะไม่เน้น backpack เหมือนทริปที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หรูมาก เน้นเที่ยวสบายๆ ถ่ายรูปสวยๆ และชมธรรมชาติแบบที่หาไม่ได้ในเมืองไทยครับ
 

รู้จักกับเมืองบันดุง (Bandung)

เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สี่ของประเทศอินโดนีเซีย และเป็นเมืองหลวงของ จังหวัดชวาตะวันตก (West Java Province) อยู่ห่างจากเมืองหลวงอย่างกรุงจาการ์ต้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 180 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่ราบสูงกว่า 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้ที่นี่มีสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี
 
 
บันดุงรายล้อมไปด้วยภูเขาไฟที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวอินโดนีเซีย และชาวต่างประเทศ โดยมีแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวกับภูเขาไฟที่สำคัญ ได้แก่ Tangkuban Perahu และ Kawah Putih นอกจากนี้ บันดุงยังเป็นแหล่งปลูกชาที่ใหญ่ที่สุด และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญตั้งแต่สมัยที่อินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ครั้งหนึ่งดัตช์เคยมีแผนจะย้ายศูนย์กลางการปกครองของอินโดนีเซียจากจาการ์ต้ามาอยู่ที่นี่ด้วยครับ
 

 
บันดุงยังมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จประพาสที่เมืองนี้ถึง 2 ครั้ง และทรงทอดพระเนตรเห็นว่า บันดุงเป็นเมืองน่าอยู่ ถนนหนทางก็ดี ในขณะเดียวกัน พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ก็เคยเสด็จมาดูงานที่นี่เกี่ยวกับการทหาร การศึกษา สาธารณสุข ศาล และเคหสถานต่างๆ ที่เมืองนี้ เนื่องจากในเวลานั้น บันดุงเป็นเมืองที่เจริญมากจนได้ชื่อว่าเป็น ปารีสแห่งเกาะชวา ดังนั้น เมืองนี้จึงถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของการพัฒนาประเทศของไทยอีกด้วย

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 บันดุงยังเป็นที่ลี้ภัยของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จนสิ้นพระชนม์ โดยพระองค์ได้สร้างพระตำหนักขึ้นสองหลังชื่อว่า พระตำหนักประเสปัน (Praseban) และ พระตำหนักดาหาปาตี (Dahapati) ซึ่งชาวเมืองต่างรู้จักพระตำหนักทั้งสองนี้เป็นอย่างดี โดยบริเวณด้านหน้าของพระตำหนักจะเป็นวงเวียนเรียกว่า วงเวียนสยาม อีกด้วยครับ


 
ข้อดีของเมืองนี้ก็คือ ที่นี่เป็นเมืองที่มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี โดยตอนกลางวันอุณหภูมิจะสูงสุดไม่เกิน 30 องศา และต่ำสุด 18-20 องศาในช่วงเช้ามืด อย่างไรก็ตาม เมืองนี้จะมีฝนเยอะในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ควรหลีกเลี่ยงครับ

ช่วงที่ผมไปคือ เดือนเมษายน ถือว่าอากาศค่อนข้างเย็นสบาย แต่ก็เจอฝนทุกวันในช่วงบ่าย ดังนั้น ถ้าใครวางแผนมาเที่ยวช่วงเดียวกันนี้ อาจต้องวางแผนรับมือกับฝนไว้ด้วยครับ

 
 
แผนเที่ยว

วันที่หนึ่ง
  • เดินทางจากสนามบินดอนเมืองมาที่สนามบิน KLIA2 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ด้วยสายการบิน Air Asia Malaysia (AK881)
  • เดินทางต่อ จากสนามบิน KLIA2 ไปที่สนามบินบันดุง ด้วยสายการบิน Indonesia Air Asia (QZ172)
  • เช็คอินเข้าที่พัก (Ivory by Ayola Hotel)
วันที่สอง
  • ชม Gedang Sate ซึ่งเป็นอาคารเก่าสมัยอาณานิคม และเป็นศูนย์กลางการบริหารของบันดุง
  • ชม Geological Museum
  • ชม Museum of The Asian-African Conference               
  • ชมการแสดงอังกะลุงที่ Saung angklung udjo
  • เดินเล่น ทานอาหารเที่ยง และหาซื้อของฝากที่ Jalan Braga
วันที่สาม
  • ออกเดินทางสู่เมือง Lembang
  • ชมปากปล่องภูเขาไฟ Tangkuban Perahu
  • เที่ยวตลาดน้ำ Lembang/ Rainbow Garden/ บ้านจำลอง Kota mini
  • ชมน้ำตก Curug Dago ซึ่งเป็นน้ำตกที่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 เคยเสด็จเยือน
  • กลับเข้าเมืองบันดุง
  • รับประทานอาหารเย็นที่ร้าน Dapur Dahapati ซึ่งในอดีตที่นี่เคยเป็นพระตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุขุมพันธุ์บริพัตรฯ สมัยที่ท่านเคยลี้ภัยมาอยู่ที่เมืองนี้
วันที่สี่
  • ออกเดินทางสู่เมือง Ciwidey
  • ชมทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟ Kawah Putih (White volcano)
  • ชมไร่ชา และทะเลสาบ Situ Patengan
  • กลับเข้าเมืองบันดุง
  • ช็อปปิ้ง และทานอาหารเย็นที่ห้าง Paris Van Java Mall
วันที่ห้า
  • เดินทางจากสนามบินบันดุง ไปที่สนามบิน KLIA2 ด้วยสายการบิน Air Asia Malaysia (AK417)
  • เดินทางจากสนามบิน KLIA 2 กลับไปที่สนามบินดอนเมือง ด้วยสายการบิน Air Asia Malaysia (AK892)
ที่พัก

ทริปนี้ตลอด 5 วัน 4 คืน ผมเลือกพักที่ Ivory Hotel (by ayola) ซึ่งเป็นโรงแรมสามดาวใจกลางเมืองบันดุง

ข้อดีของที่นี่มีมากมาย ได้แก่ ทำเลดีมาก พนักงานบริการดี ตกแต่งสวยงาม สะอาด และที่สำคัญคือ ราคาถูก (ผมจองที่นี่ผ่าน booking.com ได้ในราคาห้องละ 1330 บาทต่อคืน หรือตกคนละ 600 กว่าบาท รวมอาหารเช้าครับ)

ใครสนใจที่พักนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.ivory-ayola.com/

 


 
Tip: ใครจะจองที่พักในประเทศอินโดนีเซีย (ไม่ว่าจะเมืองไหนก็ตาม) ผมแนะนำให้ขอ request ห้อง non-smoking room โดยควรระบุตั้งแต่ตอนจองไปเลย เพราะหากไม่ระบุ ก็อาจจะเจอห้องที่มีกลิ่นบุหรี่รุนแรงได้ (เพราะคนที่นี่เค้าสูบกันจนเป็นเรื่องปกติครับ)

วันที่หนึ่ง

เช้าวันที่ 13 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ แม้ว่าบ้านผมจะอยู่ใกล้กับสนามบินดอนเมืองมาก และ Flight ของเราเป็นตอน 10 โมง แต่เพื่อความไม่ประมาท ผมจึงรีบตื่นแต่เช้า และรีบมาถึงสนามบินตั้งแต่ 7 โมงครึ่งครับ

วันนี้เราขึ้นเครื่องของ Air Asia Malaysia เที่ยวบินที่ AK 881 

เวลา 13.15 ตรงเวลาเป๊ะ เราก็มาถึงที่สนามบิน KLIA2 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ (เวลาที่มาเลเซียเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) ทำให้เรายังมีเวลาอีก 4 ชั่วโมงกว่าๆ ในการต่อเครื่อง สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือ ผ่านตม.เพื่อไปที่เคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบิน Indonesia Air Asia (เนื่องจากเราจองแยกขา และไม่มีบริการ Fly thru ดังนั้น จึงไม่สามารถเช็คอินไปจากเมืองไทย หรือเดินผ่านพื้นที่ Transit area ได้)

Note: การผ่านตม.เข้ามาเลเซียไม่ต้องใช้วีซ่า ขอแค่มีพาสปอร์ตก็ผ่านเข้าไปได้เลย และตม.ที่นี่ถือว่าผ่านค่อนข้างง่าย การเปลี่ยนเครื่องที่มาเลเซียจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทางมาที่บันดุงครับ

คำเตือน: ใครจะไปบันดุงทางเครื่องบิน จะต้องวางแผนเรื่องเวลาต่อ Flight เองดีๆ เนื่องจากเป็นการจองแยกขา หากสายการบินต้นทางดีเลย์ ก็อาจจะตกเครื่องที่จะไปบันดุงได้ ซึ่งในกรณีนี้ สายการบินจะไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น แม้ว่าจะเป็นสายการบินในเครือเดียวกันก็ตาม (ควรเผื่อเวลาในการต่อเครื่องอย่างต่ำ 3 ชั่วโมงขึ้นไป)


ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่อง

สนามบินที่เรารอเปลี่ยนเครื่องมีชื่อว่า Kuala Lumpur International Airport หรือ KLIA ซึ่งมี 2 อาคารด้วยกัน โดยอาคารที่ Air Asia ใช้จะเรียกว่า Terminal 2 หรือที่คนนิยมเรียกว่า KLIA2 (สมัยก่อนเรียกว่า LCCT) 

หลังจากรอต่อเครื่อง 4 ชั่วโมง ผมก็นั่งเครื่อง Flight ถัดไป ไปยังสนามบินบันดุงครับ

สายการบินที่ใช้บริการในวันนี้ เป็นสายการบิน Indonesia Air Asia ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Air Asia Malaysia และ Awair ของอินโดนีเซีย โดยใช้รูปแบบการบริหารแบบเดียวกับสายการบินอื่นในเครือ Air Asia ดังนั้น การจองตั๋ว และการบริการต่างๆ ไม่มีความแตกต่างจากสายการบิน Thai Air Asia ที่เราคุ้นเคยกันดีครับ)

 
ท่าอากาศยานนานาชาติบันดุง (ฺBandung International Airport)

บันดุงมีสนามบินที่ชื่อว่า Husein Sastranegara International Airport แต่ปัจจุบันยังไม่มีไฟลท์บินตรงจากประเทศไทยไปลงที่สนามบินนี้ ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะไปบันดุงโดยเครื่องบินจะต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ หรือเลือกใช้สายการบินภายในประเทศของอินโดนีเซีย

สนามบินนี้เป็นหนึ่งในสนามบินที่เก่าแก่ของอาเซียน เพราะสร้างตั้งแต่ยุคที่อินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันที่นี่เป็นหนึ่งในสนามบินที่เจริญเติบโตเร็วมากๆ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเมืองบันดุง แม้ว่าจะรัฐบาลจะสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ปัจจุบัน จึงมีสนามบินบันดุงแห่งที่สองเปิดให้บริการด้วยครับ (ใครจะเดินทางมาบันดุงโดยเครื่องบินต้องเช็คดีๆว่า ใช้สนามบินไหน)

ปัจจุบัน บันดุงมีสนามบินใหม่แล้วนะครับ สนามบินใหม่มีชื่อว่า Kertajati International Airport ซึ่งไฟลท์ต่างประเทศทั้งหมดจะย้ายไปบินที่สนามบินนี้แทน รวมทั้งไฟลท์ของแอร์เอเชียจากกัวลาลัมเปอร์มาที่บันดุงด้วย ใครจะเดินทาง ต้องหาข้อมูลตรงนี้ใหม่นะครับ (อัพเดทปี 66)


Tip: อีกวิธีที่ประหยัดและสะดวกที่สุดสำหรับคนไทยก็คือ บินไปลงที่สนามบิน Soekarno-Hatta International Airport ที่กรุงจาการ์ต้า จากนั้นค่อยต่อรถเข้าไปที่บันดุงอีกที ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ให้บริการระหว่างสนามบินจาการ์ต้าและเมืองบันดุง แต่ที่ผมแนะนำก็คือ Citi Trans เนื่องจากสามารถจองออนไลน์ไปจากเมืองไทยได้เลย ค่าใช้จ่ายก็ประหยัดแค่เพียง 90,000 รูเปียะ หรือประมาณ 200 บาทครับ (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.cititrans.co.id/)

การเดินทางจากสนามบินเข้าเมือง

การเดินทางจากสนามบินบันดุงเข้าเมืองเพื่อไปยังโรงแรมที่เราจองไว้ สามารถใช้ Taxi ซึ่งราคาจะตายตัวอยู่ที่ 42,000 รูเปียะ หรือประมาณ 90 บาท โดยต้องเดินไปซื้อตั๋ว Taxi ที่เคาน์เตอร์เท่านั้น ห้ามเดินออกไปขึ้นด้วยตัวเอง ไม่งั้นเจอ Taxi เถื่อนโดนฟันหัวแบะแน่

นอกจากนี้ ยังมีอีกวิธีที่สะดวกและปลอดภัยกว่านั้นคือ ใช้ Grab ซึ่งสามารถใช้ app เดียวกับที่ใช้ในเมืองไทยได้เลย (ผมใช้วิธีนี้)

วันที่สอง

หลังจากวันแรก ผมได้พาทุกคนเดินทางมาถึงเมืองบันดุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่สอง เราจะมาทำความรู้จักกับเมืองนี้กันให้มากขิ้นกันครับ มีคำกล่าวว่าในอดีตที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ปารีสแห่งเกาะชวา คำกล่าวนี้เป็นจริงหรือไม่ เรามาพิสูจน์กันเลย


การเดินทางภายในเมืองบันดุง

การเดินทางภายในตัวเมืองบันดุง ถ้าอยู่ในระยะใกล้เราสามารถเดินได้อย่างสบาย เนื่องจากเมืองนี้ร่มรื่น และอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ข้อดีของโรงแรมที่ผมพัก (Ivory hotel) คืออยู่ใกล้กับที่เที่ยวหลักในเมืองอย่าง Gedung Sate และ Geological museum เราจึงเดินไปเที่ยวได้อย่างสบายครับ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบันดุงเป็นเมืองใหญ่ หลายๆสถานที่ก็อยู่ไกลออกไป ทางเลือกอื่นในการเดินทางก็มีทั้งรถกระป๊อ ที่เรียกว่า Angkot และรถ Taxi ให้บริการหลายบริษัท (เจ้าที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ Blue bird) แต่ส่วนตัว ผมคิดว่า Grab น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากปลอดภัย รถคุณภาพดี คนขับมีมารยาท และมีราคาที่ชัดเจน (เราสามารถใช้ app ของ grab ที่ใช้ในเมืองไทยนี่แหละ สามารถเรียกรถได้ทั้งในอินโด รวมทั้งหลายๆเมืองทั่วทั้งอาเซียนเลยครับ)

นอกจากนี้ วิธีการเดินทางในเมืองที่มีเสน่ห์และคลาสสิคอีกวิธีก็คือ รถม้า แต่ผมยังไม่ได้ลองนะครับ ใครสนใจก็ลองถามราคาดู แล้วเอาข้อมูลมาแชร์กันบ้างนะครับ


สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองบันดุง

1. Gedang Sate         

เป็นสถานที่แรกที่มาเยี่ยมชม เพราะสามารถเดินมาได้จากโรงแรมของเราเลย ที่นี่เป็นอาคารในสไตล์นีโอคลาสสิค ผสมผสานด้วยศิลปะแบบชวา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1920 เพื่อใช้เป็นที่ทำการของดัตช์ที่ปกครองอินโดนีเซียอยู่ในขณะนั้น ปัจจุบันที่นี่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และศูนย์กลางการบริหารของจังหวัดชวาตะวันตก

 

คำว่า Gedang หมายถึง อาคาร ส่วน Sate ก็มาจากอาหารเสียบไม้ที่เรียกว่า สะเต๊ะ นั่นแหละครับ เนื่องจากส่วนยอดของอาคารมีปลายแหลม เหมือนกับไม้ที่ใช้เสียบเนื้อ


2. St.Peter’s Catedral Bandung

โบสถ์นี้เป็นโบสถ์คริสต์ในนิกายโรมันคาทอลิก สร้างขึ้นในปี 1921

สิ่งที่น่าสนใจคือ โบสถ์นี้เป็นโบสถ์คริสต์ในเมืองมุสลิม ที่นี่จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับความหลากหลายทางศาสนาของประเทศอินโดนีเซียครับ

การเดินทาง: ตั้งอยู่คนละฝั่งถนนกับ Gedung Sate สามารถเดินไปได้เลย



3. พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาเมืองบันดุง (Museum Geologi)

อาคารสไตล์โคโลเนียลแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยดัตช์ตั้งแต่ปี 1850 เพื่อเก็บรวบรวมวัตถุต่างๆที่เกี่ยวข้องทางธรณีวิทยาจากทั่วทั้งอินโดนีเซีย เพื่อใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์


ที่นี่เก็บทั้งดิน หิน แร่ธาตุ ซากฟอสซิล โครงกระดูก และหัวกะโหลกมนุษย์ต่างๆ



ไฮไลท์สำคัญของที่นี่ก็คือ โครงกระดูกของช้างแมมมอธ และ โครงกระดูกของ T-Rex
 


ค่าเข้าชม: 10,000 รูเปียะ
การเดินทาง: อยู่ห่างจาก Gedung Sate 300 เมตร ใช้เวลาเดิน 4 นาที
เวลาทำการ: วันจันทร์-พฤหัส 8.00-16.00 น, วันเสาร์-อาทิตย์ 8.00-14.00 น, วันศุกร์ ปิดทำการ


4. บ้านอังกะลุง (Saung Angklung Udjo)

อังกะลุงเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี (เขย่า) ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในแถบชวาตะวันตก (รวมทั้งในเมืองบันดุง) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) เป็นผู้นำเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 

ปัจจุบัน อังกะลุงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของประเทศอินโดนีเซีย โดยองค์การยูเนสโก้เมื่อปี 2010 ดังนั้นถ้าใครอยากมาดูอังกะลุงแบบต้นฉบับ ก็ต้องมาที่เมืองบันดุงแห่งนี้


Saung Angklung Udjo เป็นบ้านของ Mr.Udjo ศิลปินอังกะลุงเบอร์ต้นๆของอินโดนีเซีย ที่นี่จึงมีขายทั้งอังกะลุง การสอนอังกะลุง รวมทั้งมีการแสดงสนุกๆ ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจเกี่ยวกับอังกะลุงอีกด้วย

การแสดงอังกะลุงมีทุกวันตั้งแต่ 15.30-17.00 ใครอยากมาชมต้องวางแผนเวลาให้ดีนะครับ

ค่าเข้าชม: 80,000-120,000 รูเปียะ ขึ้นอยู่กับวันที่เข้าชม (ตรวจสอบได้ที่นี่ https://angklungudjo.com/)

การเดินทาง: อยู่ห่างจาก Gedung Sate 4.5 กิโลเมตร (แนะนำให้เรียก grab)

5. พิพิธภัณฑ์การประชุมประเทศในกลุ่มเอเชีย-แอฟริกา (Museum Konferensi Asia Afrika)


ย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่สงครามเย็นได้อุบัติขึ้น โลกในเวลานั้นเกิดการแบ่งแยกเป็น 2 ขั้วคือ ขั้วประชาธิปไตย (นำโดยสหรัฐอเมริกา) และ ขั้วคอมมิวนิสต์ (นำโดยสหภาพโซเวียต) ประเทศต่างๆถูกบีบให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็มีกลุ่มประเทศกลุ่มหนึ่งในแถบเอเชียและแอฟริกาที่ต้องการแสดงเจตนารมณ์ว่าเป็นกลาง ไม่ต้องการฝักใฝ่ฝ่ายใด และต้องการรวมกลุ่มให้กลายเป็นขั้วที่สามขึ้นมา

ในวันที่ 24 เมษายน 1955 กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้มาประชุมกันที่เมืองบันดุง ประกอบด้วย อินโดนีเซีย (นำโดยประธานาธิบดีซูการ์โน) พร้อมด้วยผู้นำประเทศต่างๆ 29 ประเทศ เช่น อูนุจากพม่า, ประธานาธิบดีนัสเซอร์แห่งอิยิปต์, นายกรัฐมนตรีเนห์รูแห่งอินเดีย, จอมพลตีโต้แห่งยูโกสลาเวีย เป็นต้น ทั้งหมดนี้มาประชุมกันที่เมืองนี้ เพื่อลงนามใน หลักการบันดุง (The Ten Principle of Bandung) โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปกป้องสันติภาพของโลก พร้อมทั้งจัดตั้ง ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Align movement) ขึ้นมา และยังมีการดำเนินการอยู่มาจนถึงปัจจุบัน



ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่จัดแสดงเกี่ยวกับการประชุม เช่น ภาพถ่าย ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศสมาชิก และมีห้องแสดงวีดีโอเกี่ยวกับการประชุมนี้ด้วยครับ


ค่าเข้าชม: ฟรี
การเดินทาง: ตั้งอยู่ในย่านถนน Jalan Braga
เวลาทำการ: วันอังคาร-พฤหัส 8.00-16.00 น, วันเสาร์-อาทิตย์ 9.00-16.00 น, วันศุกร์ 14.00-16.00 น, วันจันทร์ ปิดทำการ


6. ถนนบราก้า (๋Jalan Braga)

Jalan Braga เป็นถนนสายหลักของย่านเมืองเก่าบันดุง ประกอบไปด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารเก่าแก่ตั้งแต่สมัยที่อินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมของดัตช์ ว่ากันว่า ที่นี่มีความเจริญรุ่งเรือง และสวยงามจนได้ชื่อว่าเป็น ปารีสแห่งเกาะชวา แต่เมื่อเวลาผ่านไปย่านนี้ก็ทรุดโทรมลงเพราะขาดการดูแลรักษาที่เหมาะสม จนเมื่อคุณ Ridwan Kamil ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองบันดุง ก็ได้ออกแคมเปญรื้อฟื้นย่านเมืองเก่า จนที่นี่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวฮิปๆของสายอาร์ตที่มาเที่ยวที่เมืองบันดุง


จุดขายหลักของที่นี่ก็คือ ความเป็น Art street หรือถนนสายศิลปะเพื่อขับเน้น ความเป็นปารีส ที่นี่จึงกลายเป็นย่านสำหรับการซื้อหาภาพวาด หรือฟังดนตรีเพราะๆในแบบของอินโดนีเซีย

นอกจากศิลปะแล้วที่นี่ยังมี Café และร้านอาหารตั้งแต่ Street food ไปจนถึงร้านอาหารหรูหราเลยครับ


เป็นยังไงบ้างครับสำหรับเมืองบันดุง หวังว่ารีวิวนี้คงจะเป็นประโยชน์และทำให้รู้จักกับเมืองนี้ให้มากขึ้นนะครับ 

สิ่งที่เอามารีวิวในตอนนี้เป็นแค่ส่วนเดียวของทริป ในตอนหน้าผมจะพาออกไปเที่ยวนอกเมืองเพื่อไปยังที่เที่ยวอันดับหนึ่งของที่นี่ นั่นก็คือ ภูเขาไฟ Tangkuban Perahu ที่นั่นจะเป็นยังไง มีความน่าสนใจแค่ไหน ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ

บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง




 

Create Date : 17 เมษายน 2562    
Last Update : 21 เมษายน 2567 23:08:50 น.
Counter : 9123 Pageviews.  


เจ้าสำนักคันฉ่องวารี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ชอบท่องเที่ยว สนใจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ

Blog นี้จะใช้เขียนความทรงจำในการเดินทาง และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด เผื่อใครจะมาตามรอย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ถ้าชอบ blog เนื้อหาประมาณนี้ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เจ้าสำนักคันฉ่องวารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.