Welcome to my blog
4 วัน 3 คืน กูชิง เมืองหลวงแห่งรัฐซาราวัก (ตอนที่ 2: เที่ยวพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมบอร์เนียว)


สถานที่ท่องเที่ยว : พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมบอร์เนียว (Borneo Culture Museum), เมืองกูชิง รัฐซาราวัก, Malaysia
พิกัด GPS : 1° 33' 19.80


วันที่สอง

ใครเป็นเหมือนผมไหมครับ เวลาที่จะไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม ผมจะชอบหาเวลาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อที่จะศึกษาประวัติความเป็นมา โบราณวัตถุ และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ของเมือง หรือประเทศนั้นๆ

สำหรับที่เมืองกูชิง อาจจะเรียกได้ว่า เป็นสวรรค์ของคนชอบพิพิธภัณฑ์เลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่มีพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วยกันหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ซาราวัก (Sarawak Museum), พิพิธภัณฑ์แมว (Cat Museum), พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาวจีนในกูชิง (China History Museum) แต่สำหรับในรีวิวตอนนี้ ผมจะมารีวิวพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งเปิดใหม่ สดๆร้อนๆของเมืองนี้ นั่นก็คือ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมชาวเกาะบอร์เนียว (Borneo Cultures Museum) ครับ

พิพิธภัณฑ์นี้ห่างจากที่พักของเรา 3 กิโลกว่าๆ เราเลยตัดสินใจเรียก grab ไป ค่ารถก็ไม่แพงครับ แค่ 4 ริงกิต (32 บาท) เท่านั้น

 

ถ้ามองจากด้านบน จะเห็นว่า อาคารของพิพิธภัณฑ์นี้มีรูปร่างค่อนข้างแปลกตา เพราะอาคารนี้เอาแบบผังมาจากรัฐสภาซาราวักที่อยู่ตรงข้ามของแม่น้ำ โดยแต่ละกลีบที่แผ่ออกมา จะสะท้อนถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐนี้ ซึ่งทั้งหมดถูกรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยปุ่มตรงกลาง ในฐานะที่ทุกคนถือเป็น ชาวซาราวัก (Sarawakian) ครับ
 

 
ในเชิงขนาดพื้นที่ พิพิธภัณฑ์นี้ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นที่จัดแสดงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศมาเลเซีย และใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองแค่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ที่กรุงเทพครับ

ช่วงที่ผมไป พิพิธภัณฑ์นี้เข้าฟรีนะครับ (เพราะเป็นช่วงที่เพิ่งเปิดใหม่ๆ) แต่หลังจากนั้นไม่นาน ที่นี่ก็เก็บค่าเข้า สำหรับผู้ใหญ่ชาวต่างชาติมีค่าเข้าชมอยู่ที่ 50 ริงกิต หรือประมาณ 400 บาทครับ

พิพิธภัณฑ์นี้มีอยู่ 5 ชั้นด้วยกัน
  • ชั้นที่ 1 จะจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนไปเรื่อยๆ อย่างตอนที่ผมไป มีการจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การผลิตไฟฟ้าของรัฐซาราวัก
  • ชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก ภายใต้ธีม  A Love our Rivers and Arts & Crafts sections
  • ชั้นที่ 3 จัดแสดงเกี่ยวกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนที่สัมพันธ์กับธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ภายใต้ธีม In Harmony with Nature
  • ชั้นที่ 4 จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐซาราวัก ภายใต้ธีม Time Changes
  • ชั้นที 5 จัดแสดงเกี่ยวกับโบราณวัตถุ การค้าระหว่างซาราวักกับอาณาจักรต่างๆ ภายใต้ธีม Objects of Desire 
ผมไม่รีวิวเกี่ยวกับชั้นที่ 1 และ 2 นะครับ เพราะส่วนตัวรู้สึกว่า ไม่มีอะไรน่าสนใจ มาเริ่มกันที่ชั้น 3 เลยดีกว่าครับ
 
สำหรับ ชั้น 3: In Harmony with Nature จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองของรัฐซาราวักที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ กลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในรัฐซาราวักมีหลายกลุ่ม แต่ถ้าจะจัดจำแนกตามถิ่นที่อยู่ ก็สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆด้วยกัน โดยกลุ่มแรกคือ คนที่อยู่ติดน้ำ เช่น แม่น้ำ และทะเล ส่วนอีกกลุ่มคือ คนที่อยู่ในป่า

กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ติดแม่น้ำก็ ได้แก่ ชาวเมลาเนา (Melanau) ซึ่งพอเข้ามาในนิทรรศการชั้นนี้เราจะเจอกับเรือจำลองของพวกเค้า

 

เนื่องจากชาวเมลาเนา เป็นชาติพันธุ์ที่ทำประมงในทะเล ซึ่งอาจมีอันตรายได้ ชาวเมลาเนาจึงนิยมทำเครื่องรางของขลังที่เป็นงานแกะสลักจากกระดูก หรือพวกเขาสัตว์ พวกเค้าเชื่อว่า การพกเครื่องรางเหล่านี้ไปขณะออกทะเลจะทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่างๆครับ
 

 
ชาวเมลาเนานับถือธรรมชาติ โดยเค้าเชื่อว่าจระเข้เป็นราชาแห่งจิตวิญญาณทั้งมวล พวกเค้าเลยมีจระเข้จำลอง เอาไว้ใช้สำหรับเคารพสักการะ
 

หลังจากที่มีผู้เสียชีวิต พอมีการทำพิธีศพแล้ว ชาวเมลาเนาจะมีการแกะสลักไม้เอาไว้เป็นตัวแทนของผู้ที่เสียชีวิต
 

นอกจากชาวเมลาเนาแล้ว ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆได้แก่ ชาวอิบัน (Iban), ชาวบิดายุห์ (Bidayuh) และ ชาวโอรังอูลู (Olang Ulu) ที่อาศัยอยู่ในป่าลึก ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของคนกลุ่มนี้ให้เราดูด้วยครับ
 





 
ชาวอิบัน (Iban) เป็นชาติพันธุ์ที่มีการทำเกษตร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังนับถือในธรรมชาติและภูตผี จึงมีการแกะสลักเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมทั้งภาพวาด ประดับไว้ตามพื้นที่ทำการเกษตร เพราะเชื่อว่า จะทำให้พื้นที่นั้นๆเป็นสิริมงคล และได้ผลผลิตที่ดี
 



ขึ้นมาที่ ชั้นที่ 4: Time changes จะบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของดินแดนซาราวัก

ถึงแม้ว่า ซาราวักจะดูห่างไกลจากคนไทย แต่บอร์เนียวก็ไม่ได้ไร้ราก ไร้อารยธรรมนะครับ ที่นี่ก็มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองเหมือนกัน ซึ่งประวัติศาสตร์ทั้งหมดของซาราวัก จัดแสดงอยู่ในชั้นนี้ครับ

มาเริ่มกันที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซาราวักก็เหมือนส่วนอื่นๆของโลก ที่มีการค้นพบอารยธรรมของมนุษย์ตามถ้ำ ซึ่งในรัฐนี้มีแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบแล้วมากถึง 18 แหล่งครับ

 

มีการค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย อย่างอันนี้เป็นโครงกระดูกของมนุษย์ที่ชื่อว่า The Niah Lady (ผู้หญิงที่ค้นพบที่ถ้ำ Niah ในทางตะวันออกของรัฐซาราวัก)
 

โบราณวัตถุจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ขวานหิน (เช่นเดียวกับที่พบในอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ส่วนอื่นๆของโลก)
 

 
พอเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ ซาราวักก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของ อาณาจักรมัชปาหิต (Kingdom of Majapahit) ที่มีศูนย์กลางอยู่บนเกาะชวาฝั่งตะวันออก (ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซีย) จึงมีการค้นพบเทวรูปศิลปะแบบชวา รวมทั้งศิวลึงค์ ที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
 

 
แม้ว่าซาราวักจะไม่ได้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นเมืองท่าการค้าใหญ่โต เหมือนอย่างกรุงศรีอยุธยาหรือมะละกา แต่ก็พอจะมีการค้าขายกับต่างประเทศอยู่บ้าง เห็นได้จากโบราณวัตถุต่างๆที่พบเจอได้ในแถบนี้
 


 
หลังจากยุคอาณาจักรมัชปาหิต ซาราวักก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของ จักรวรรดิบรูไน (Brunei empire) โดยบรูไนได้จัดตั้งป้อมที่เรียกว่า เซมาฮารัน (Semeharan) ขึ้นบริเวณใกล้ๆเมืองกูชิง เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการปกครองในแถบนี้ จึงมีการค้นพบปืนใหญ่จากยุคนี้จากยุคจักรวรรดิบรูไนขึ้นที่นี่ครับ
 

จุดเปลี่ยนสำคัญของซาราวักก็คือ การเข้ามาของ เซอร์ เจมส์ บรูค (Sir James Brooke) ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษที่ได้เข้ามาค้าขายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งไทย) ต่อมาเขาได้เข้าไปพัวพันกับการก่อกบฏของกลุ่มชนพื้นเมืองซาราวักต่อจักรวรรดิบรูไน โดยได้ช่วยทำการเจรจา ทำให้การก่อกบฏครั้งนี้สงบลง ด้วยเหตุนี้ ทางสุลต่านบรูไน จึงได้ตอบแทนด้วยการแต่งตั้งให้เจมส์ บรูคเป็น ราชาซาราวัก (Rajah Sarawak) หรือ ราชาผิวขาว (White Rajah) มีอำนาจในการปกครองพื้นที่แถบปากแม่น้ำซาราวัก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น เมืองกูชิง (Kuching)
 

 
แบบจำลองพระราชวังของเซอร์เจมส์ บรูค ในระยะแรกๆ
 

ข้าวของเครื่องใช้จากพระราชวังของราชวงศ์บรูคครับ
 

 
ในช่วงที่เจมส์ บรูคได้ปกครองซาราวัก เค้าได้ทำการพัฒนารัฐซาราวักขึ้น ทั้งการพัฒนาบ้านเมือง การรวบรวมชนเผ่าต่างๆ และการขยายอาณาเขตไปเรื่อยๆ จนซาราวักมีขนาดใหญ่เท่าในปัจจุบัน และในที่สุดซาราวักก็ได้พัฒนากลายเป็น ราชอาณาจักรซาราวัก (Kingdom of Sarawak) โดยมีเจมส์ บรูคเป็นกษัตริย์ปกครอง และมีการสืบราชสันตติวงศ์ของตำแหน่งราชาซาราวักต่อมาอีกถึง 6 คน รวมเป็นระยะเวลาถึง 110 ปี อย่างไรก็ตาม ราชอาณาจักรซาราวักก็ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากการรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

หลักฐานจากทหารญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานซาราวักในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

 


 
แม้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ฝ่ายราชาซาราวักในขณะนั้น ก็ตัดสินใจโอนซาราวักให้ไปอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัว โดยผู้ปกครองซาราวักคนแรกภายใต้รัฐบาลอังกฤษก็คือ เซอร์ชาร์ล โนเบล อาเดน คราก (Sir Charles Noble Arden Clarke) แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนพื้นเมือง จนเกิดม็อบ และเหตุการณ์จลาจลไปทั่วทั้งรัฐ
 

 
ภาพม็อบที่ต้องการต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษครับ จะสังเกตว่า มีผู้หญิงเข้าร่วมด้วย เนื่องจากในยุคที่บรูคปกครอง ได้ให้การศีกษา และเน้นความเสมอภาคทางเพศระหว่างชายหญิง
 

สุดท้ายแล้ว อังกฤษก็ยอมให้เอกราชกับซาราวัก แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นที่ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูการ์โน มีท่าที่อยากจะผนวกทั้งเกาะบอร์เนียว รวมทั้งรัฐซาราวักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย และทางซาราวักก็ประเมินแล้วว่า ตัวเองไม่มีความสามารถในการต่อต้านการคุกคามจากอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้ ผู้ว่าการรัฐซาราวักในขณะนั้น จึงตัดสินใจนำซาราวักเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย แต่การเข้าร่วมนี้ก็มีเงื่อนไขเยอะแยะมากมาย ที่ทำให้รัฐนี้มีอิสระในการปกครองตัวเอง มากกว่ารัฐอื่นๆของมาเลเซีย 
 

แม้ว่าซาราวักจะรวมเข้ากับมาเลเซียแล้วก็ตาม แต่เส้นทางของซาราวักก็ไม่ได้ราบรื่นครับ ในช่วงสงครามเย็น ซาราวักก็มีขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ และสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ขึ้นบนเกาะบอร์เนียวขึ้นเช่นกัน

ข้าวของบางชิ้น ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของการมีอยู่ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่รัฐซาราวัก

 



 
ทั้งหมดนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์ของรัฐซาราวักที่จัดแสดงที่นี่นะครับ จะเห็นว่า รัฐนี้มีความเป็นมา ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไปจนถึงช่วงที่เป็นประเทศเอกราช  และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นรัฐชาติของซาราวัก ก็คือ ธงชาติ นั่นเอง โดยนับตั้งแต่เซอร์เจมส์ บรูค สถาปนาราชอาณาจักรซาราวัก จนกระทั่งกลายมาเป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซีย ซาราวักก็มีการเปลี่ยนแปลงธงอยู่หลายครั้ง ดังต่อไปนี้
 

ชั้นสุดท้ายที่ผมจะมารีวิวก็คือ ชั้นที่ 5: Objects of Desire 

ชั้นนี้จัดแสดงเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่พบในรัฐซาราวัก หลายชิ้นก็เป็นของที่มีมูลค่าสูง แสดงให้เห็นว่า บนเกาะนี้มีอารยธรรม และมีการค้าขายกับอาณาจักรข้างเคียง ผ่านบรูไนซึ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ที่สุดบนเกาะบอร์เนียวในขณะนั้น และหนึ่งในรัฐที่บอร์เนียวทำการค้าขายด้วย ก็คือ สุโขทัย ครับ

 

 
ของบางส่วนที่จัดแสดงที่ชั้นนี้นะครับ ในฐานะคนที่ชอบประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุ บอกเลยว่าเพลินมาก ผมเดินดูเป็นชั่วโมงเลย
 









ทั้งหมดก็เป็นบางส่วนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นะครับ จริงๆ แล้วพิพิธภัณฑ์นี้ใหญ่มาก ถ้าใครเป็นสายประวัติศาสตร์ หรือสนใจศิลปวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองบนเกาะบอร์เนียว คงใช้เวลาศึกษาอยู่ที่นี่ได้เป็นวันๆเลย แต่ส่วนตัว ผมก็เสียดายพิพิธภัณฑ์นี้เหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า แม้ช่วงที่ผมไป พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้เข้าชมฟรี แต่หลังจากนั้นไม่นาน พิพิธภัณฑ์ก็เริ่มเก็บค่าเข้า จากที่เคยชมได้ฟรี คนต่างชาติต้องจ่ายแพงถึง 50 ริงกิต (ประมาณ 400 บาท) ซึ่งผมมองว่า แพงเกินไป แม้แต่คนมาเลเซียจากรัฐอื่นๆก็มีค่าเข้าถึง 20 ริงกิต (ประมาณ 160 บาท) ทั้งๆที่วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ก็คือ ต้องการเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่างๆของชาวซาราวัก เพื่อที่จะบอกกับชาวโลกว่า ซาราวักยังมีตัวตน และมีอัตลักษณ์ ที่แตกต่างจากชนชาติอื่นๆบนโลก แต่เพราะค่าเข้าที่แพงเกินไป หลังจากนี้ต่อไป คนก็คงไปที่นี่น้อยลง แล้วโอกาสที่จะเผยแพร่เรื่องราวความเป็นซาราวักต่อชาวโลกตามวัตถุประสงค์ของที่นี่ ก็คงจะน้อยลงไปด้วย ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า ทางการของรัฐซาราวัก รวมทั้งชาวซาราวักเองพึงพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่

สำหรับรีวิวในตอนที่ 2 ของทริปกูชิงก็ขอจบลงแค่นี้ครับ  ในตอนหน้า ผมจะพาไปเดินเที่ยวรอบๆเมืองกูชิงกันบ้าง สำหรับผมที่นี่ถือเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองที่ผมชอบมากที่สุดของประเทศมาเลเซีย เพราะอะไรผมถึงรู้สึกอย่างนั้น มาหาคำตอบกันได้ในตอนหน้านะครับ

บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง



Create Date : 10 ธันวาคม 2565
Last Update : 30 เมษายน 2567 22:16:59 น. 4 comments
Counter : 1290 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณsettembre, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณnewyorknurse, คุณไวน์กับสายน้ำ


 
เยี่ยมเลยครับ ประเทศใกล้ๆแบบนี้เรากลับไม่ค่อยได้เที่ยวเป็นเรื่องเป็นราวเลย
พิพิธภัณฑ์เป็นที่ๆช่วยให้เรียนรู้ภาพรวมวัฒนธรรมได้ไวกว่าที่อื่นด้วยครับ
อาหารกินตาามร้านแบบนี้ได้กินรสชาติของถิ่นนั้นจริงๆเลย ถ้าไปทัวร์เขาชอบพาไปร้านที่ปรับให้คนไทยกินได้


โดย: ชีริว วันที่: 11 ธันวาคม 2565 เวลา:15:16:41 น.  

 
ใข่ครับคุณชีริว จริงๆประเทศใกล้บ้านเรายังมีอะไรให้น่าค้นหาอีกเยอะเลย ขอบคุณที่มาเยี่ยมชมบล็อกครับ


โดย: เจ้าสำนักคันฉ่องวารี วันที่: 11 ธันวาคม 2565 เวลา:21:37:48 น.  

 
ใช้เวลาเดินทาง รอเครื่องนานมากนะครับ... ผ่าน ต.ม. สอง
ครั้งด้วย

ไว้รออ่านดูภาพท่องเที่ยวธรรมชาติ/บ้านเมือง ในตอนหน้าครับ


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 13 ธันวาคม 2565 เวลา:7:22:24 น.  

 
ครับ ฝากติดตามต่อตอนหน้าด้วยนะครับ คุณไวน์ เดี๋ยวเอาสภาพบ้านเมืองมาให้ดูครับ


โดย: เจ้าสำนักคันฉ่องวารี วันที่: 13 ธันวาคม 2565 เวลา:18:19:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจ้าสำนักคันฉ่องวารี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ชอบท่องเที่ยว สนใจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ

Blog นี้จะใช้เขียนความทรงจำในการเดินทาง และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด เผื่อใครจะมาตามรอย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ถ้าชอบ blog เนื้อหาประมาณนี้ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เจ้าสำนักคันฉ่องวารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.