Once upon a time ...
Group Blog
 
All blogs
 
ลักทรัพย์ ติดคุก..ก็ติดไป

ช่วงนี้ นอกจากมึนๆกับเหตุการณ์บ้านเมืองแล้ว ยังมึนกับเรื่องของคนด้วย

ไปนั่งทำตัวเลขให้บริษัทเล็กๆแห่งหนึ่งนอกเมืองหลวงเพื่อส่งให้ทนายเอาไปทำต่อ เป็นคดีลักทรัพย์ ต่างกรรม ต่างวาระ นั่นคือ ลักทรัพย์หลายครั้ง ตำรวจที่ไปปรึกษาคดีบอกว่า ดูท่าจะติดคุกเป็นร้อยปี

แต่การทำคดีอาญาไม่ง่ายเลย แม้คดีลักทรัพย์จะมีอายุความสิบปี แค่ให้ตำรวจรับเรื่องร้องทุกข์ยังต้องมีขั้นตอน และขั้นตอนที่ว่านี้ ได้แต่ให้ทนายความไปทำ เพราะฟังๆแล้ว ก็...เฮ้อ..ไม่ไหวค่ะ ไม่มีเวลา ไม่มีใจจะทำอย่างที่ทนายความแนะนำ ให้คุณทนายทำให้หน่อยแล้วกัน

ระหว่างที่รวบรวมเอกสารและวิเคราะห์ตัวเลขของความเสียหาย ก็นึกย้อนไปว่า...ไม่น่าเลย

ไม่น่าพลาดให้เขาลักทรัพย์ไปได้ขนาดนี้ กรณีนี้เป็นการลักน้ำมัน โดยคนขับรถแอบลักน้ำมันไปในระหว่างที่ใช้รถ ทุกเดือนจะมีรายงานการใช้บัตรเติมน้ำมันมาเรียกเก็บเงิน เพียงแต่ไม่มีการวิเคราะห์อัตราการใช้น้ำมัน ซึ่งข้อมูลนี้เป็นตัวหนึ่งที่จะควบคุมการใช้น้ำมันได้ ส่วนการควบคุมว่ามีการขับรถออกนอกเส้นทางที่สั่งงานหรือเปล่า ถ้ายังไม่ใช้ GPS ก็คุมโดยใช้เลขไมล์ของรถได้

ระหว่างที่ดูสมุดจดเลขไมล์ พบข้อความสั่งการของผู้จัดการคนก่อนว่า ให้เพิ่มข้อมูลจำนวนไมล์ที่ใช้ในแต่ละครั้งด้วย แต่ไม่มีการปรับปรุงตามที่ผู้จัดการสั่ง คือ เดิมจะมีเลขไมล์เริ่มต้นและสิ้นสุดในแต่ละจุด แต่ไม่มีการแสดงตัวเลขผลต่างของแต่ละจุดซึ่งจะเห็นความเหมาะสมของระยะทางที่ใช้ (ก็แค่ลบเลข จะยากอะไร) ผู้จัดการเองก็ไม่ได้มีการติดตามสิ่งที่สั่งไว้ด้วย ตรงนี้เป็นจุดพลาดอีกหนึ่งจุดเพราะมีหลายครั้งที่เลขไมล์ไม่ตรงตามที่เป็นจริง

ย้อนกลับไปคิดถึงระบบการควบคุมภายในที่ดี ที่พลาดไปคือ ระบบการรายงาน และการควบคุมสั่งการ เนื่องจากไว้วางใจกัน จึงไม่มีการนำรายงานการจดเลขไมล์มาสอบทานเป็นระยะ รายงานการเรียกเก็บค่าน้ำมันที่ระบุเวลาและจำนวนการใช้น้ำมัน ฝ่ายบัญชีการเงินบันทึกรายการและจ่ายเงิน แต่รายงานตัวนี้กลับไม่ได้รับการสอบทานคู่กับรายงานการจดเลขไมล์ ซึ่งหากผู้จัดการแผนกได้สอบทานรายงานทั้ง 2 อย่างประกอบกัน ก็จะเห็นความผิดปกติได้

ส่วนฝ่ายที่วางนโยบายการใช้บัตรน้ำมันก็คิดว่าได้ป้องกันไว้ดีแล้ว เนื่องจากกำหนดวงเงินต่อวันไว้ว่าให้เติมได้ไม่เกินเท่าไหร่ ว่าไปแล้วก็ดีที่มีตรงนี้ ไม่งั้น ความเสียหายจะมีมากกว่านี้

เป็นบทเรียนที่ดีเชียวล่ะ ใครจะเอาไปใช้ (หมายถึง เอาไปวางระบบงานนะ ) ก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ค่ะ คงจะดีถ้าตำรวจได้รวบรวม วิเคราะห์ความเสียหายต่างๆที่รับแจ้งความร้องทุกข์ เล่าถึงสาเหตุ จุดบกพร่องของระบบงานและสิ่งที่ควรระมัดระวังในการประกอบธุรกิจ ข้อมูลแบบนี้ จะเป็นสัญญาณเตือนที่ดีให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่ถ้าตำรวจจะคิดว่า มันเป็นเรื่องทุจริตในองค์กร ก็เป็นเรื่องของคนในองค์กรจะจัดการเอาเอง ไม่ควรจะต้องให้ตำรวจมาเสียเวลากับเรื่องยุ่งยากแบบนี้ เราก็....หมดอะไรจะพูดล่ะ เพราะผู้ที่กระทำผิดก็อาจจะออกไปทำผิดที่อื่นต่ออีก จะกลายเป็นปัญหาของหน่วยงานอื่นต่อไป

ส่วนคนขับรถที่เป็นผู้ลักน้ำมัน ยอมรับสารภาพก่อนออกจากบริษัทไป แม้มาเจอกันที่สถานีตำรวจ เขาก็บอกว่าเขายอมรับว่าเขาขโมยน้ำมันไป แต่...เขาไม่มีเงินจ่าย เอาผมติดคุก ผมก็ยอมครับ

ง่ายๆ แบบนี้ล่ะ

ก่อนหน้านี้ เราคิดว่า ถ้ามีคดีอาญา เขาคงจะกลัวว่าจะมีประวัติติดตัว คงจะหาเงินมาชำระหนี้ อายุยังไม่มาก เพิ่งจะ 30 ต้นๆ น่าจะเห็นแก่อนาคตของตัวเองและลูกสาวตัวน้อยที่ฝากญาติเลี้ยงไว้ที่ต่างจังหวัด ส่วนเมียไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนแล้ว แต่กลับไม่ใช่ จะติดคุกเป็นร้อยปีก็ติดไป เฮ้อ... ผู้บริหารตกลงใจให้ทนายทำคดีต่อไป แม้จะรู้ว่า คดีถึงที่สุดก็ไม่มีทรัพย์ให้ยึด ได้แต่ลงโทษไปตามคดีอาญา

เราคิดถึงคดีของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ยักยอกทรัพย์ของบริษัทไป รายนั้นยอมติดคุกเหมือนกันเมื่อเห็นยอดความเสียหาย ทั้งๆที่มีลูกสาวตัวเล็กที่ต้องดูแลโดยที่เธอแยกทางกับสามี สุดท้าย ผู้พิพากษาคดีนั้นช่วยเกลี้ยกล่อมจนเธอยอมหาทางนำเงินมาชำระหนี้ เรานึกขอบคุณผู้พิพากษาท่านนั้นมากๆเลย เพราะท่านมีวิธีในการช่วยเจรจาให้กับคู่ความทั้งสองฝ่าย เมื่อไปเจอผู้พิพากษาท่านอื่น เรากลับพบว่า เราโชคดีมากๆที่ได้ผู้พิพากษาท่านนั้นมาทำคดีนั้น และคดีนั้นก็จบลงด้วยดี หนี้ได้ถูกชำระหมดสิ้น


เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบริษัทเล็กๆที่หนึ่ง ใครๆก็เพ่งโทษคนผิดคนเดียว ทั้งๆที่ระบบการควบคุมที่หละหลวมก็มีส่วน ทั้งการสอบทานงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง การประสานงานเพื่อส่งข้อมูลให้แก่กัน ความไว้วางใจต่อผู้ที่กระทำผิดและความไว้เนื้อเชื่อใจว่าอีกฝ่าย อีกแผนกคงจะทำในส่วนนี้แล้วรวมไปถึงระบบการตรวจสอบด้วย อยากให้ทุกคน ทุกฝ่ายได้ตระหนักว่า การที่แต่ละคนไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ครบถ้วน สมบูรณ์ มันมีผลอย่างว่าน่ะ ว่าไปแล้ว คดีที่เกิดขึ้นนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีกับทุกองค์กร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่


คนที่เราเจอ เราคิดว่าในขณะที่เขาทำความผิดร้ายแรง ใจเขาไม่ได้คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นหรอก ไม่ได้คิดถึงความเสียหายของคนอื่น ไม่ได้คิดถึงผลที่เขาจะได้รับหากพบว่าได้กระทำผิด และคนที่สิ้นไร้ไม้ตอก ไม่มีอะไรจะเสีย ก็ยอมเดินเข้ากรงขัง ง่ายๆอย่างนั้นเอง

เราคิดไปถึงว่า บางคนยอมเดินเข้าแดนประหาร หลังจากผ่านเหตุการณ์ที่ทำไปโดยอารมณ์ชั่ววูบหรือวางแผนมาดิบดีอย่างใดก็ตาม เรื่องแบบนี้ ช่างเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบเรากับเขา มานั่งคิดว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น แบบนี้ ไม่ได้เลยจริงๆ




Create Date : 23 พฤษภาคม 2553
Last Update : 23 พฤษภาคม 2553 20:54:52 น. 0 comments
Counter : 2910 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

saifan
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add saifan's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.