ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

อาการหนัก ทีวีดิจิตอล ขู่ DEAD AIR ได้ไม่คุ้มจ่าย !!!

ต้องเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยืดเยื้อมานาน และมีโอกาสบานปลายถึงขั้นอาจสร้างเดือดร้อนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก รวมถึงประชาชนคนไทยในฐานะผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์

หลังจากแวดวงทีวีดิจิตอลกำลังเจอมรสุมหลายด้าน จนทำให้บริหารบางช่องถึงขนาดประกาศจะยุติการออกอากาศเลยทีเดียว ทั้งนี้ แฟนข่าวทีนิวส์ ที่ติดตามข่าวสารมาโดยตลอด ก็จะรู้ว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยมีช่องทีวีเกิดใหม่ในระบบดิจิตอลขึ้นมาพร้อมๆ กันถึง 24    ช่อง ตามแนวคิดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
สำหรับทีวีดิจิตอล จำนวน  24 ช่อง ที่มีออกมาก่อนหน้านี้นั้น ได้แบ่งสัดส่วนออกเป็นกลุ่มดังนี้  
กลุ่มที่  1  ช่องข่าวและสาระ หรือ ช่องทีวีบริการชุมนุม    
กลุ่มที่  2  เป็นช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน   
กลุ่มที่  3  ช่องข่าวและสาระ    
กลุ่มที่  4  ช่องรายการทั่วไป ความคมชัดมาตรฐาน (SD)    
กลุ่มที่  5  ช่องรายการทั่วไป ความคมชัดสูง (HD)  


หากแยกย่อยลงไปอีก ในกลุ่มช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน มี 3 บริษัทที่ชนะการประมูลได้รับสัมปทานดำเนินการ  คือ  
1.บริษัทบีอีซี –  มัลติมีเดีย จำกัด 
2.บมจ. อสมท.  
3.บริษัทไทยทีวี  จำกัด     

โดยมีเม็ดเงินที่ใช้ในการประมูลรวมกันทั้งสิ้น  1,974  ล้านบาท

ส่วนกลุ่มช่องข่าวและสาระ  มี 7 บริษัทที่ชนะการประมูล ประกอบด้วย
บริษัทเอ็น บีซี  เน็กซ์   วิชั่น   (เครือ  Nation)  
บริษัท วอยซ์ ทีวี  จำกัด ( Voice Tv)   
บริษัทไทยทีวี  จำกัด  ( Tv Pool)    
บริษัท สปริงนิวส์  เทเลวิชั่น  ( Spring News)    
บริษัทไทยนิวส์  เน็ตเวิร์ค  (ทีเอ็นเอ็น)   
บริษัทดีเอ็น บรอดคาสท์ (New TV)  ในเครือเดลินิวส์    
และ บริษัท 3 เอ มาร์เก็ตติ้ง (Bright TV)  

เบ็ดเสร็จรวม  7 บริษัทใช้เงินประมูลเพื่อให้ได้เป็นทีวีดิจิตอล  รวม 9,238  ล้านบาท
จากข้อมูลเพียงแค่ 2 กลุ่มแรก ก็มีเม็ดเงินที่แต่ละบริษัทต้องใช้เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นทีวีดิจิตอลแล้วกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 2 กลุ่มที่เหลือ เริ่มจาก ช่องรายการทั่วไป ความคมชัดมาตรฐาน (SD) ประกอบด้วย
บริษัทไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ในเครือเวิร์ค พอยท์   
บริษัททรู  ดีทีที จำกัด    
บริษัทจีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด  (แกรมมี่)   
บริษัทบีอีซี – มัลติมิเดีย  จำกัด  (ช่อง 3)  
บริษัทอาร์.เอส เทเลวิชั่น  จำกัด  ( RS)   
บริษัทโมโน บรอดคาซท์  จำกัด  ( Mono)   
และ บริษัทแบงคอก  บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ในเครือ เดอะ เนชั่น

ซึ่งกลุ่มนี้มีวงเงินประมูลรวมๆ กันสูงถึง 15,950 ล้านบาท  
สุดท้ายเป็นกลุ่ม ช่องรายการทั่วไป ความคมชัดสูง (HD) ประกอบด้วย  
บริษัทบีอีซี – มัลติมีเดีย จำกัด  (ช่อง  3)   
บริษัทบางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด  
บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7 )  
บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ในเครือนสพ.ไทยรัฐ (Thairath  Tv)  
บมจ. อสมท.    
บริษัทอมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด  
และท้ายสุดเป็น บริษัทจีเอ็มเอ็ม เอชดี  ดิจิทัล  ทีวี จำกัด    

ซึ่งในกลุ่มนี้มีมูลค่าการประมูล มากที่สุด คือ 23,700 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้ว ทีวีดิจิตอลในประเทศไทยทั้ง 24 ช่อง เฉพาะแค่ตัวเลขเงินลงทุนค่าสัมปทานตลอดระยะเวลา 15 ปี ต้องใช้เงินทั้งหมด 50,862 ล้านบาท ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ เงินเดือน บุคลากร และอีกมากมายจิปาถะ   ถามว่าเหตุใดแต่ละบริษัทถึงกล้าลงทุนด้วยมูลค่าสูงขนาดนี้ ก็ต้องตอบว่าเพราะความคาดหวังว่าทีวีดิจิตอลจะกลายเป็นธุรกิจสื่อที่สามารถทำกำไรมหาศาลในอนาคต แต่ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนธุรกิจทีวีดิจิตอลไม่ได้สวยงามเหมือนที่หลายคนคิด  โดยเฉพาะในช่วง 1-3 ปี แรก ซึ่งระบบการแพร่กระจายสัญญาณยังไม่สามารถทำให้ครอบคลุมได้ทั้งประเทศ ซึ่งก็เท่ากับว่า จำนวนผู้ชมทีวีดิจิตอลจะยังไม่มากเพียงพอ ที่แต่ละช่องจะใช้เป็นฐานเรทติ้ง เพื่อทำให้เอเยนซี่ตัดสินใจใช้เม็ดเงินซื้อโฆษณาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย


ขณะที่ก่อนหน้านั้น สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ   MAAT ก็เคยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2557 จะมีมูลค่าประมาณ  1.46 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโตจากปี 2556 ที่ 1.36 แสนล้าน เพียงแค่ 5%    เท่านั้น และที่น่าสนใจปรากฏว่าในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2557 ทาง บริษัท นีลเส็น  ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเกี่ยวกับสื่อโฆษณาที่ได้ความเชื่อถือในระดับต้นๆ ของประเทศ  ได้รายงานผลการซื้อสื่อโฆษณา ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2557 พบว่า “ยอดซื้อสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน โรงภาพยนตร์ สื่อนอกบ้าน สื่อในห้างสรรพสินค้า รวมทั้งสื่ออินเทอร์เน็ต มีมูลค่ารวม 49,738 ล้านบาท ซึ่งถ้านำไปเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 พบว่า เป็นยอดการใช้เงินที่ซื้อสื่อเพื่อการโฆษณาสินค้า ติดลบถึง  9.38% ”

จากข้อมูลทั้งหมด ก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในวันนี้ผู้บริหารช่องทีวีดิจิตอล ต้องออกมารวมตัวกันเรียกร้องให้กสทช. เร่งรัดกระบวนการในการทำให้สัญญาณทีวีดิจิตอลเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อผลที่จะเกิดกับยอดโฆษณาที่จะช่วยพยุงสถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิตอลให้อยู่รอดได้ โดยก่อนหน้านี้ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงฯ และผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิตอล ได้ร่วมกันแถลงคัดค้านมูลค่าคูปองส่วนลดซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอลที่ได้ข้อสรุปในราคา 690 บาท ว่าไม่เพียงพอต่อการซื้อกล่องรับสัญญาณ เราจะไปติดตามรายงานพิเศษในเรื่องนี้กับ คุณวีรกรณ์ อับดุลอารีย์ ขณะที่ล่าสุดในวันนี้ นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ได้เข้าร้องเรียนกรณีดังกล่าวกับคสช. โดยขอให้ตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์แก้ไขวิกฤตโทรทัศน์ดิจิตอล และเสนอปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ


นางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เป็นตัวแทนของสมาพันธ์ฯ เดินทางมายื่นหนังสือเรื่องขอความอนุเคราะห์ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิก ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้า คสช. โดยมีพล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก เป็นตัวแทนรับหนังสือ ทั้งนี้ ในหนังสือคำร้องระบุว่า ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ช่องรายการโทรทัศน์ที่มีความคมชัดสูง (เอชดี) ได้มีหนังสือมายังสมาพันธ์ฯ เพื่อแจ้งความเดือดร้อนเนื่องจากผลกระทบจากที่คณะกรรมการ กสทช. มีมติกำหนดมูลค่าคูปองที่จะนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลที่ราคา 690 บาท และร้องให้สมาพันธ์ฯ ช่วยดำเนินการขอความอนุเคราะห์ต่อหัวหน้าคสช. ให้ช่วยพิจารณากำหนดมูลค่าของคูปองเพิ่มขึ้นจากเดิม 690 บาท เป็น 1,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตของโทรทัศน์ดิจิทัลได้ และขอเสนอให้คสช.รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากราคาดังกล่าว เป็นการกำหนดมูลค่าที่ต่ำกว่าราคาจริง ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากประชาชนอาจได้รับอุปกรณ์ที่ไม่ได้คุณภาพหรืออาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลได้


อย่างไรก็ตาม กรณีของกล่องแปลงสัญญาณโทรทัศน์ หรือ เซ็ตท็อปบ็อกซ์ ดิจิตอล ที่กลุ่มผู้ประกอบทีวีดิจิตอลออกมากดดันกสทช.ขณะนี้ จริงๆ แล้วก็เป็นเงื่อนไขทีมีการกำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10 วรรคสอง ดังเนื้อหาต่อไปนี้“ให้นำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่  ส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง   กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในส่วนของราคาขั้นต่ำ  จะนำไปใช้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์  ในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง...”

ซึ่งก็หมายความว่า เงื่อนไขข้อตกลงต่างๆ ที่อยู่ในแผนการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ระหว่างกสทช. กับผู้รับสัมปทานคลื่นความถี่ ได้กำหนดให้กสทช.นำเงินจำนวนหนึ่งจากค่าสัมปทาน ไปสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์ ในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง แต่ไม่ได้มีการกำหนดลงไปถึงรายละเอียดว่าจะต้องเป็นตัวเงินเท่าไร สำหรับการจัดหากล่องแปลงสัญญาณโทรทัศน์ หรือ เซ็ตท็อปบ็อกซ์ ดิจิตอล ที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ และทาง กสทช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า การสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนได้รับสัญญาณทีวีดิจิตอลอย่างทั่วถึง ก็คือการแจกคูปองเพื่อนำไปซื้อ เซ็ตท็อปบ็อกซ์ ดิจิตอล ในมูลค่า 690 บาท ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แนวทางที่จะนำเงินไปจ่ายเป็นของกล่องแปลงสัญญาณทั้ง 100 % อย่างที่ผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลต้องการ แต่เป็นการให้การสนับสนุน การเปลี่ยนผ่านให้กับประชาชน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 10 วรรคสอง ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556


และคูปองซื้อ Set Top Box จะแจกคูปองเป็นจำนวน 22.9 ล้านครัวเรือน ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 2557 ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยจะส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งได้ประสานเรื่องข้อมูลทะเบียนราษฎร์กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยยึดหลักการให้ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และให้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด โดยสรุปก็คือกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ อ้างว่าทีวีดิจิตอลจะไปไม่รอด เพราะคูปองซื้อเซ็ตท็อปบ็อกซ์ ดิจิตอล มูลค่า 690 บาท ไม่ตอบโจทย์ข้อเท็จจริงที่ว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงทีวีดิจิตอลที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีการอ้างว่า มูลค่าของ เซ็ตท็อปบ็อกซ์ ดิจิตอลในปัจจุบัน มีราคากว่า 1 พันบาท ในขณะที่กสทช.ก็ยึดตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการประมูลว่า กสทช. มีหน้าที่นำเงินจากค่าสัมปทานไปใช้เพียงเพื่อการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทีวีดิจิตอลเท่านั้น   


และด้วยปัญหาเรื่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ ดิจิตอล ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลอ้างเป็นตัวแปรทำให้เกิดผลกระทบต่อเรทติ้งหรือแจงจูงใจให้เกิดแรงซื้อโฆษณา ก็นำมาซึ่งข้ออ้างต่อมาของผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอล อย่าง ช่องพีพีทีวี ที่ระบุว่า ตอนนี้ได้ยื่นหนังสือขอชะลอการจ่ายค่าโครงการไปยัง ททบ.5 หรือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกแล้ว เพราะตอนนี้ต้องแบกรับต้นทุนทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าสัมปทาน ค่าโครงข่าย ค่าพนักงาน ค่าสตูดิโอ หรือดอกเบี้ย ในขณะที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงทีวีดิจิตอลอย่างสมบูรณ์ พร้อมเรียกร้องให้กสทช. นำปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาแก้โดยเร็วที่สุด เพราะปัญหาทีวีดิจิตอลที่เกิดขึ้นในขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการแล้ว  และหาก กสทช.ไม่เร่งดำเนินการภายในเดือน ก.ย.นี้ ผู้ประกอบการจะยื่นข้อเสนอขอเลื่อนการจ่ายค่าสัมปทานในรอบต่อไป ซึ่งมีกำหนดจะต้องจ่ายประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค. 2558 และหากภายใน 3 เดือน  ไม่มีความคืบหน้าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะหยุดผลิตรายการ


มาถึงจุดนี้ก็สมเหตุสมผลที่ผู้บริโภคอย่างท่านผู้ชม จะต้องมีส่วนร่วมพิจารณากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นว่าควรหรือไม่ที่กสทช.จะนำเงินค่าสัมปทานที่ควรนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ มาจ่ายเป็นค่าเซ็ตท็อปบ็อกซ์ ดิจิตอล ตามจำนวนที่ผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอลต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ที่ได้ จะอ้างว่าไปตกอยู่ที่ประชาชนทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะตัวผู้ประกอบธุรกิจก็จะได้ประโยชน์ในเรื่องฐานการรับชมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับค่าเรทติ้งที่จะตามมา  ท้ายที่สุด ชะตากรรมทีวีดิจิตอลที่หลายคนมองว่า มีสาเหตุมาจากเซ็ตท็อปบ็อกซ์ ดิจิตอล แท้จริงแล้วมาจากสภาพตลาดโฆษณาที่ไม่ได้ตอบสนองความคาดหวังของผู้ประกอบการที่ยอมลงทุนเป็นเงินหลายพันล้าน แล้วโยนความผิดให้กสทช.ในฐานะผู้รับผิดชอบ หรือผิดทั้งสองฝ่ายที่ไม่วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของทีวีดิจิตอลที่ออกมาพร้อมๆ กันถึง 24 ช่องกันแน่




Create Date : 07 สิงหาคม 2557
Last Update : 7 สิงหาคม 2557 23:23:11 น. 0 comments
Counter : 1036 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ข่าวดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add ข่าวดี's blog to your web]