I've got a file on you.

แม่ติ๋ว ชีวิตนี้อยู่เพื่อใคร?

คัดลอกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 มีนาคม 2552
คอลัมน์ Life Style : Read & Write โดย เจ้าหมาวัด




แม่ติ๋ว-สุธาสินี น้อยอินทร์ แห่งบ้านโฮมฮัก เรื่องจริงของคนต้นแบบแห่งการใช้ชีวิตที่มีคุณค่า


หลายคนคงคุ้นเคยกับโฆษณาของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งซึ่งนำเสนอภาพของ 'แม่ต้อย' หญิงผมสั้นทะมัดทะแมงผู้มีชีวิตได้อีกเพียงสองปี พร้อมกับคำกล่าวว่า "ชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ใช่ชีวิตที่ร่ำรวยมีเกียรติหรืออายุยืน แต่เป็นชีวิตที่ตัวเราเป็นคนมีคุณค่า และทำให้ชีวิตคนอื่นมีคุณค่า"


แม้ว่าจะเป็นเพียงโฆษณาชิ้นหนึ่งแต่ก็ทำให้หลายคนได้คิดและก่อแรงบันดาลให้แก่ชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นแม่ต้อยคนนี้ไม่ใช่แต่เป็นเพียงเรื่องราวในโฆษณาเท่านั้น หากแต่ว่าเป็นตัวละครที่อ้างอิงมาจากชีวิตจริงๆ ของผู้หญิงคนหนึ่ง


ผู้หญิงคนนั้นคือ แม่ติ๋ว-สุธาสินี น้อยอินทร์ แห่งบ้านโฮมฮัก


แม่ติ๋ว ชีวิตนี้อยู่เพื่อใคร เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดทุกแง่มุมชีวิตของผู้หญิงแกร่งคนนี้ ตั้งแต่ชีวิตในวัยเยาว์ ย่างเข้าวัยรุ่น ความล้มเหลวในชีวิต ช่วงการสร้างบ้านโฮมฮัก ไล่เรื่อยมาจนถึงการได้มาเป็นแม่แบบให้เหล่าต้นกล้าและเป็นต้นแบบชีวิตให้ใครหลายๆ คน ความตั้งใจอันดีของเธอได้มอบรอยยิ้มให้กับเด็กๆ และเติมเต็มในสิ่งที่เธอขาดหาย เป็นรอยยิ้มที่ไม่เคยจะจางหายจากใบหน้าของเธอ แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาสุดท้ายของชีวิตเธอก็ตามที


ติ๋วเคยแร้นแค้นความรัก เคยเจ็บปวดจากการต้องแย่งชิงความรักจากบรรดาภรรยาของพ่อ จึงรู้สึกว่าเงินที่ได้ไม่สามารถเติมหัวใจให้เต็มได้เลย ตอนนี้เราไม่ได้แย่งชิงความรักจากใครเลย ติ๋วมีเด็กๆ รุมรัก รุมกอด ได้ความรักอย่างเปิดเผย จริงใจ โดยที่ไม่ต้องมุดอยู่ใต้โต๊ะ เหมือนลูกหมาคอยเพื่อบอกให้รู้ว่ามีเรารออยู่ตรงนี้" แม่ติ๋วของเด็กๆ เล่าด้วยรอยเปื้อนยิ้ม

เธอเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด แม่เป็นหญิงไทยโบราณสอนให้รู้จักแบ่งปัน ขณะที่ยายคอยให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง ส่วนพ่อรับราชการและต้องไปต่างจังหวัดอยู่บ่อยๆ แม้ชีวิตครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่พ่อคือต้นแบบเป็นฮีโร่ในสายตาเสมอ ด้วยคำสอนที่ย้ำเตือนว่า "การศึกษาสอนให้พ่อออกไปรับใช้คนอื่น" ด้วยเหตุนี้เธอจึงเป็นนักกิจกรรมตัวยง ชอบออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ออกไปสร้างโรงเรียน หนักเข้าก็เข้าป่าขึ้นไปอยู่บนดอยสูงกับปกาเกอะญอที่จังหวัดเชียงราย

จากนั้นทำงานที่มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมคลองเตยร่วม 2 ปี ก่อนย้ายไปอยู่ที่ชนบทที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เป็นโรงพยาบาล ช่วยผู้ป่วยทำสมุนไพร ทำบ้านรองรับเด็กท้องไม่พร้อมและรณรงค์เรื่องยาเสพติดได้ 3 ปี ช่วงนั้นยาเสพติดระบาดหนัก ด้วยการทำงานกับเด็กๆ ทำให้เด็กมาบอกว่ามีการซื้อขายที่ไหนและเอามาจากใคร เธอได้ข้อหาเป็นภัยต่อสังคมและถูกไล่ที่จากผู้มีอิทธิพล ต้องอพยพไปอยู่ในที่รกร้างและปักเต็นท์อยู่รวมกันกว่า 22 ชีวิต กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ "บ้านโฮมฮัก" และปัจจุบันมีเด็กถึง 112 คน

เธอเล่าถึงสมาชิกบ้านโฮมฮักว่าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเอชไอวี ถัดมาคือ กลุ่มที่ถูกล่วงละเมิด ถูกกระทำความรุนแรงจากผู้เลี้ยงดู บางรายถูกเร่ขาย "หนหนึ่งป่วยมากจนลุกไม่ขึ้น มีลูกๆ บอกว่ามีเด็กคนหนึ่งถูกขาย เลยบอกให้เขารีบพาไป คว้ากุญแจรถได้สตาร์ทไปเลยและซื้อกลับมาได้ในราคา 5,000 บาท ต่อชีวิตเด็กคนหนึ่งคนถูกกว่าสุนัขหนึ่งตัว" แม่ติ๋วเล่าเสียดสีกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมว่า "ถ้าเราปล่อยให้เด็กคนหนึ่งไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์แล้ว ก็จะมีเด็กอีกหลายคนหลุดเข้าสู่กระบวนการนั้นๆ"


เด็กกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่สูญเสียพ่อแม่อย่างรวดเร็วขณะที่อายุยังน้อย ซึ่งทุกคนสงสารเด็ก แต่ไม่กล้าอุ้ม ในวันที่พ่อแม่จากไป วันแรกเด็กจะถูกแย่งชิง เพื่อแบ่งแยกทรัพย์สินเงินทองและถูกทอดทิ้งในที่สุด
"ณ ตอนนี้ถ้าเราเปิดเผยเรื่องราวของเขา และถ้าเขาถูกตั้งคำถามจากสังคม ติ๋วยังกอดเขาได้อยู่ เขาจะไม่เซ ไม่ล้ม และไม่เจ็บปวด แต่ถ้าวันใดเราไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เรื่องราวของเขาถูกเปิดเผยจากผู้ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ เขาจะบาดเจ็บทางจิตใจ แล้วใครจะกอดเขา แล้วเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไรที่จะกล้าเผชิญหน้ากับความจริงที่จะเกิดขึ้น เพราะเด็กยังเล็กและเด็กเขาไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้" แม่ติ๋วเล่าและบอกอีกว่า..


"เด็กที่พ้นวิกฤติทางใจ มีความตั้งใจ และมีความหวัง ความฝันที่อยากจะกลับมารับใช้สังคม เขาจึงอยากจะเรียนมาก ส่วนบ้านเราเป็นครอบครัวใหญ่ ไม่ใช่สำนักงาน ไม่ใช่สถานสงเคราะห์ บ้านเราเป็นสังคมใหญ่ ตื่นขึ้นมาแล้วได้ยินเสียงพูดคุยของพี่น้อง เสียงถกเถียงกันเสียงดัง แต่หลังสองโมงเช้าแล้วเด็กไปโรงเรียนบ้านก็เงียบ เรานั่งล้อมวงคุยกับแม่ๆ ว่าใครมีปัญหาอะไร เหมือนคุยกับลูก และแก้ไขรายบุคคลไป แม้เด็กมีที่มาต่างกัน แต่บาดแผลในใจบาดเจ็บไม่ต่างกัน พวกเราไม่ได้เรียนจิตวิทยา แต่เด็กๆ คือครูด้านจิตวิทยาของเรา"


เธอเล่าอีกว่า "เด็กๆ กลัวที่สุดว่าจะไม่มีคนรัก เขาจึงต้องทำตัวให้น่ารัก จะได้มีคนรักเขา เด็กๆ กลัวการไม่ได้ไปโรงเรียน เด็กๆ ไม่กลัวตาย เราคุยเรื่องความตายว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นวิถีชีวิต รวมถึงเป็นเรื่องหลักของเหตุและผล สิ่งที่เกิดขึ้นต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับมัน ทุกๆ คนพร้อมมาก เด็กๆ ทำศพกับเราบ่อยมาก เขาเห็นการตายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจจะไม่ปกติสำหรับเขาที่ยังเด็กอยู่ที่จะรับรู้ แต่ถ้าวันหนึ่งถึงวันของเขาด้วยเหมือนกัน เขาจะได้การดูแลก่อนตายอย่างอบอุ่น เหมือนกับคนที่เขากำลังทำให้ บ้านเราจะทำโลงศพร่วมกัน นำศพบรรจุในโลงและเราจะขุดหลุมฝัง เราจะช่วยกัน เด็กบางคนบอกว่า 'พรุ่งนี้อาจจะถึงทีเรานะแม่นะ' นั่นแสดงว่าเขามีสติ เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับความรักที่มีและความรักที่เขาได้รับ และพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ด้วย"


หากใครถามถึงเรื่องอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ตั้งแต่อายุ 47 ปี แม่ติ๋วเขียนไว้ว่า "เหมือนน้ำกรดที่รดหัวใจ" สภาพตอนนี้ภาวะของกายเป็นเรื่องของหญิงชราคนหนึ่ง แต่มีหัวใจเหมือนเด็กอายุ 15 ปี เธอมีเด็กๆ กอดแข้งกอดขา เรียกแม่จ๊ะแม่จ๋า


"หวังให้สังคมเข้าใจเรื่องเอชไอวีและกล้าที่จะกอดเขามากขึ้น เรื่องเงินแม้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่อยากเปิดภาพเด็กเพื่อให้ได้เงิน เพียงอยากให้ทุกคนแบ่งปันความรัก ให้เขาโตอย่างเข้มแข็งแล้วเขาจะเป็นผู้ให้ที่ไม่ทำร้ายใคร เพราะเขาเต็มอิ่มในความรัก คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องแล้ว รางวัลชีวิตของติ๋วไม่ใช่โล่ ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ชื่อเสียงเกียรติยศใดๆ


แต่คือเสียงหัวเราะของเด็กๆ ในแต่ละวัน และมีคนมาเยี่ยมเยียนเด็กๆ บ้างแค่นั้นเองสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่" แม่ติ๋วของเด็กๆ กล่าวทิ้งท้าย


------------------------------------
หมายเหตุ : ผู้ประสงค์บริจาคเงินและสิ่งของตามกำลังเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ติดต่อได้ที่ มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์เพื่อเด็กเยาวชน โทร.045-722241 หรืออีเมล noiin_su@yahoo.com




 

Create Date : 11 มีนาคม 2552   
Last Update : 11 มีนาคม 2552 13:20:13 น.   
Counter : 621 Pageviews.  

บ้า แปลก แหวกกฏ อย่างไรให้เป็นนักประดิษฐ์




ในฐานะที่ไม่ได้ถือพาสปอร์ตญี่ปุ่น ก็ไม่แปลกถ้าคุณอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อ “ดอกเตอร์โยชิโร่ นากามัตสึ” ศาสตราจารย์นักประดิษฐ์แห่งแดนปลาดิบ แต่นั่นก็ไม่เป็นไรหรอก คุณยังมีเวลาอีกทั้งชีวิตที่จะติดตามความอัจฉริยะ (และความมันส์) อันไม่จบสิ้นของชายคนนี้…


ดร.นากามัตสึเคยถูกยกให้เป็นหนึ่งในห้านักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เทียบชั้นกับแมรี่ คูรี่ และอาคีเมเดสนั่นเลย คำถามคือเขาสร้างอะไรที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์โลกขั้นนั้นเรอะ …อืมม์ จะว่ายังงั้นก็คงได้ วันนี้เราจะแนะนำให้คุณรู้จักกับผู้ให้กำเนิดฟลอปปี้ดิสก์แผ่นแรกของโลก

พูดถึงปูมหลังของเขาสักเล็กน้อย… ดร. โยชิโร่ นากามัตสึ อายุ 77 ปี ถึงวันนี้มีสิ่งประดิษฐ์จากห้องทดลองของเขาได้รับการจดสิทธิบัตรทางปัญญาแล้วกว่า 3,200 ชิ้น เป็นสถิติสูงสุดของโลก ณ ปัจจุบัน ทิ้งห่างโทมัส เอดิสัน (ผู้รั้งอันดับ 2) ราวๆ สามเท่าตัว ถ้าจะถามว่าอะไรหรือคือสิ่งสำคัญที่นักประดิษฐ์เจ๋งๆต้องมีในตัว บางคนว่า “ต้องรอบรู้” บางคนว่า “ต้องมีวิธีคิดที่แตกต่าง” บางคนก็ว่า “คุณต้องอยากรวยเป็นพื้นฐาน” (ว่าไปนั่น) แต่ถ้าถาม ดร.นากามัตสึ แล้ว ชายคนนี้บอกเราว่า “ความรัก” ต่างหาก ที่เป็นบ่อเกิดของ “สิ่งประดิษฐ์” ทั้วมวล

นี่คือหนึ่งในเรื่องรักของเขา …กาลครั้งหนึ่งในฤดูหนาวของญี่ปุ่น ครั้งเมื่อเด็กชายนากามัตสึมีอายุได้14 ปี เขาได้ประดิษฐ์ที่สูบน้ำมือถือขึ้นเป็นครั้งแรก สิ่งเดียวที่นำเขามาสู่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้คือ “ความรักแม่” …นากามัตสึนั่งมองแม่ของตนค่อยๆรินซีอิ๊วขาวจากขวดใหญ่ลงในขวดเล็กๆ แขนของแม่สั่นจากอากาศหนาว ทำให้ต้องบรรจงรินอย่างช้าที่สุดเพื่อไม่ให้มันหกเลอะ… ณ วินาทีนั้น เด็กชายรู้สึกว่าเขาอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้แม่มีชีวิตที่ง่ายขึ้น
“นั่นแหละครับคือจุดเริ่มต้น ความรักคือจิตวิญญาณของสิ่งประดิษฐ์” ดร.นากามัตสึกล่าวชัดเจน

เมื่อความรักที่เป็นพื้นฐานผนวกเข้ากับวิธีการทดลองที่แหวกกฎ ดร.นากามัตสึสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์มากมายให้กับชาวโลก ไม่เพียงแต่ฟลอปปี้ดิสก์ ดร.สติเฟื่องคนนี้คือผู้คิดค้นเครื่องส่งแฟ็กซ์, นาฬิกาดิจิตอล, ตั๋วรถไฟกระดาษชนิดที่มีแถบแม่เหล็ก และอีกมากมาย รวมทั้งเขียนหนังสืออีกกว่า 80 เล่ม และเมื่อปี ค.ศ. 2005 เขาเพิ่งได้รับรางวัล IG Nobel Prize ในสาขาการวิจัยด้านโภชนาการ (เขาใช้เวลา 35 ปีในการบันทึกภาพมื้ออาหารที่เขารับประทานในแต่ละวัน เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าอะไรที่ส่งผลดีและผลเสียต่อภาวะการทำงานของร่างกายและสมองของมนุษย์)

ฟังดูคล้ายนักวิทยาศาสตร์สมองบวมในการ์ตูนญี่ปุ่น ชายคนนี้ใช้เวลานอนแต่ละวันเพียง 4 ชั่วโมง (ระหว่างตีสี่ถึงแปดโมงเช้า) และกินข้าววันละมื้อเท่านั้น (แต่ละมื้อถูกคำนวณไว้ที่ 700 แคลอรี่เท่ากันทุกวันเพื่อการวิจัยข้างต้น) นอกจากนี้ในทุกๆวัน เขาจะใช้เวลาประมาณ 4 -5 นาทีนั่งบนเก้าอี้ซีรีเบร็กซ์ สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นของตน เพื่อเรียกความสดใสกระปรี้กระเปร่าในระหว่างวัน โดยทางทฤษฎีแล้ว เก้าอี้ตัวนี้จะปล่อยคลื่นความถี่พิเศษบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิตและการทำงานของสมอง พูดง่ายๆก็คือ ถ้าเรานั่งเก้าอี้นี้สักหนึ่งชั่วโมง สมองของเราจะรู้สึกเหมือนว่าได้นอนพักมา 8 ชั่วโมง ยังไงยังงั้น

เอาล่ะ ถึงตอนนี้เราพอทราบแล้วว่า “ความรัก” คือชนวนแห่งการสร้างสรรค์ของศาสตราจารย์แดนปลาดิบคนนี้ แต่สิ่งที่เราอยากรู้มากกว่านั้นก็คือ นอกเหนือจากความรักแล้ว นักประดิษฐ์เก่งๆเขาต้องมีอะไรอีกบ้างในตัว การสร้างงานดีๆขึ้นมางานหนึ่ง มันคงต้องมีอะไรมากกว่าความรักหรือแรงบันดาลใจน่า (หรือคุณว่าไง)



มองให้ไกลและกล้าที่จะก้าวก่อนคนอื่น

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งที่เพิ่งจะได้รับการจดสิทธิบัตรของ ดร.นากามัตสึ คือ สเปรย์กระตุ้นความต้องการทางเพศที่มีชื่อน่ารักว่า “NakaMats Love Jet” เจ้าเจลใสบรรจุขวดเล็กๆนี้จะทำให้คุณเพิ่มความหฤหรรษ์ทางกามรสถึง 3 เท่า พอออกวางจำหน่าย มันได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากผู้ใช้ก็จริง แต่ก็ได้รับเสียงวิจารณ์หนักเอาการจากสาธารณชน (ผู้ที่ไม่ได้ใช้) ก็แหม…เรื่องเซ็กซ์ในสังคมเอเชียเรานี่ มันเป็นเรื่องปากว่าตาขยิบที่สุดอยู่แล้ว หลายคนตั้งคำถามกับเขาในทำนองว่า อายุก็ใกล้จะ 80เต็มที ยังใช่เวลาที่ควรจะหมกมุ่นเรื่องพรรค์นี้อยู่หรือ

ทางดร.นากามัตสึดูจะปลงๆกับผู้คนที่ใจ(และวิสัยทัศน์)แคบเหล่านี้ เขาว่าคนส่วนมากมองไม่เห็นความตั้งใจที่แท้จริงของเขาหรอก เพราะมันไกลเกินไป อันที่จริงแล้วเขาประดิษฐ์สเปรย์นี้ขึ้นเพราะเป็นห่วงอนาคตของชาติต่างหาก

“ผมต้องการเร่งอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรของญี่ปุ่น เพราะทุกวันนี้คนญี่ปุ่นมีลูกน้อยลงมาก อัตราการมีบุตรอยู่ที่ 1.53 คนต่อคู่สมรสเท่านั้น ในเชิงประชากรศาสตร์มันเข้าข่ายอันตรายแล้ว” เขายังระบุว่า หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ในอีก 800 ปีข้างหน้า จะไม่เหลือชาวญี่ปุ่นบนโลกอีกต่อไป

ความที่เป็นคนค่อนข้างบ้าบิ่น ทำอะไรไม่อายใครอยู่แล้ว นักประดิษฐ์ผู้นี้ยินดีโปรโมทสิ่งประดิษฐ์ของเขาทุกวิถีทาง บ่อยครั้งที่เขาปรากฏตัวในโทรทัศน์เพื่อสาธิตการใช้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เช่น รองเท้าเด้งดึ๋ง, ไม้กอล์ฟไม่รู้พลาด หรือ สเปรย์ฉีดผิวเป็นเด็กตลอดกาล ดร.นากามัตสึมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้มีโอกาสถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ในอนาคต เขาอยากจะเห็นทฤษฎีรองเท้าเด้งดึ๋งถูกพัฒนาในแวดวงกีฬาระดับสากล อยากเห็นนักวิ่งโอลิมปิกวิ่งได้เร็วขึ้นแต่มีความเสี่ยงจากอุบัติเหตุน้อยลง เหมือนทฤษฎีที่สูบน้ำมือถือในอดีต ที่ปัจจุบันถูกพัฒนาไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม และกลายเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย

“ความคิดก้าวล้ำเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก ผมเหมือนคนนั่งเครื่องย้อนเวลาที่มองอะไรไกลกว่าชาวบ้านเขาอยู่ 10-20 ปี” ดร.นากามัตสึพูดเสมอว่า เขาคิดและทำในสิ่งที่เป็นเรื่องของอนาคต การจะให้คนทั่วไปเข้าใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอดทน อาจต้องรอกันอีกหลายปี แต่ด้วยความกล้าที่จะเดินอยู่นอกกรอบค่านิยมทางสังคมบวกกับการค้นคว้าทดลองอย่างจริงจัง ดร.นากามัตสึได้พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า อิสระทางความคิดและแรงบันดาลใจที่แน่วแน่ชัดเจนนั้นเป็นพื้นฐานของการเป็นนักประดิษฐ์ที่จะประสบความสำเร็จได้




จากไอเดียสู่สิ่งประดิษฐ์



มีเพียงนักประดิษฐ์ที่แท้จริงเท่านั้นถึงจะสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกได้ ให้สังเกตว่า ณ จุดหนึ่งในระหว่างการคิดค้นทดลอง นักประดิษฐ์ที่แท้จริงจะเผชิญกับภาวะหนึ่งที่เรียกว่า “Pika” พูดง่ายๆ ก็เหมือนการยิงปืน เปรี้ยงเดียวนี่แหละที่ทำให้นักประดิษฐ์ก้าวข้ามอุปสรรคจำนวนมากได้ บุคคลนั้นจะพบกับจุดเปลี่ยนทางความคิดที่ชัดเจนและแรงพอ เขาจะมองเห็นแก่นแท้และสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นสำเร็จ

“สิ่งนี้เป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เกิด ไม่ใช่สิ่งที่สอนกันได้”ดร.นากามัตสึว่าไว้อย่างนั้น

คงจะจริงที่เขามีพรสวรรค์ของการเป็นนักประดิษฐ์สูงส่งกว่ามนุษย์ทั่วไป แต่เมื่อถึงเวลาต้องนำมันมาใช้งานจริงๆนี่สิ เขาเริ่มต้นอย่างไรหรือ เมื่อไอเดียมันมาแล้วมันไปต่อยังไง แรงบันดาลใจนี่ถูกนำมาใช้ยังไงบ้าง

“สำหรับผมแล้ว ภาวะขาดอากาศเป็นสิ่งสำคัญครับ …ในสระว่ายน้ำ ผมจะจมตัวอยู่ใต้ผิวน้ำจนถึงจุดที่กำลังจะสูญเสียออกซิเจนสุดท้าย ในเวลาแค่0.5 วินาทีก่อนจะเริ่มสูดน้ำเข้าปอดนี่แหละ สิ่งที่ผมเรียกว่า Pika มันจะเกิดขึ้น” ฟังดูค่อนข้างอันตรายและอาจใช้ไม่ได้สำหรับทุกคน

ทว่าสำหรับ ดร.นากามัตสึ ไอเดียเก๋อย่างเดียวไม่ได้พาใครไปไกลนัก

“ไอเดียใหม่ยังไม่ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่นะ มันคนละเรื่องเลย บางคนคิดได้ไม่รู้จบแต่ไม่ศึกษามันต่อ ในขณะที่บางคนทำก็ทำการวิจัยไปโดยไม่มีไอเดีย แต่ถ้าคุณต้องการจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ชั้นเลิศล่ะก็ คุณต้องทำทั้ง 2 อย่างให้ได้ดี”

อันที่จริงแล้วผู้ชายคนนี้อยากจะเรียกตนเองว่า “นักวิทยาศาสตร์” มากกว่า “นักประดิษฐ์” ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ไอเดีย” “สิ่งเร้า” หรือ “แรงบันดาลใจ” เท่านั้นน่ะสิ พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่อง “ทฤษฎี” อย่างที่สุดด้วย ถ้าไม่ใช่เพราะ “ทฤษฎี” พวกนี้ สิ่งประดิษฐ์ของดร.นากามัตสึก็คงไม่ต่างจากของเล่นบนท้องถนนทั่วไป

พูดถึงเรื่องไอเดียหรือแรงบันดาลใจนี่ ดร.นากามัตสึให้ข้อคิดที่น่าสนใจอยู่อย่าง ที่ว่าไอเดียมันมีหลายระดับ แบบที่มาปรู๊ดปร๊าดนี่ถือเป็นระดับล่าง ไม่ใช่อะไรที่ยั่งยืน สำหรับนักประดิษฐ์ที่ดี นอกจากไอเดียที่เป็นแก่นสารแล้ว คุณต้องมีความสามารถที่จะทำมันขึ้นมาได้ด้วย นักประดิษฐ์ต้องพัฒนาไอเดียบนองค์ความรู้ที่เหมาะสม และทำให้สิ่งประดิษฐ์นั้นสร้างประโยชน์ได้จริงสำหรับคนทั่วไป


ดร.นากามัตสึเผยถึงหลักการ 3 ข้อที่เขาสร้างและปฏิบัติตามโดยตลอด เขาเรียกมันว่า “Ikispiration” ประกอบไปด้วย

1) ทฤษฎี-รวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
2) ไอเดีย-แรงบันดาลใจสำคัญ
3) การผลิต-ศึกษาตลาดและความเป็นไปได้ ต้องให้แน่ใจว่ามันมีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปไม่สูญเปล่า

ถ้าคุณสอบผ่านทั้ง 3 ข้อนี้ได้แล้ว นั่นคือคุณมีโอกาสที่จะสร้างงานอันสมบูรณ์แบบได้


ยกตัวอย่างง่ายๆ …ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เขาใช้เวลาว่างสบายๆอยู่กับ The Fifth Symphony ของบีโธเฟน มันเป็นเพลงสุดโปรดที่เขาฟังอยู่บ่อยๆ แต่แล้วในวันนั้น เสียงเพลงอันไพเราะกลับฟังแปร่งๆไป อาจเป็นเพราะรอยขีดข่วนบนแผ่นหรือไม่ก็เข็มหัวอ่านของเครื่องเล่นที่สึกหรอจากการใช้งาน

“ตอนนั้นผมอารมณ์เสียมาก” เขาเล่า “ผมอยากจะฟังเพลงแบบใสกริ๊ง ไม่ใช่เวอร์ชั่นที่มีเสียงรบกวนตลอดเวลา วินาทีนั้นทำให้ผมคิดถึงการฟังเพลงแบบไม่ต้องอาศัยเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียง อีกอย่างผมก็อยากจะพัฒนาตัวแผ่นเสียงเองด้วย อยากจะทำให้ขนาดมันเล็กลง บางลง ดูแลง่าย และทนทานกว่าเดิม นั่นจะทำให้ชีวิตสุนทรีย์เป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะครับ”

ในตอนนั้น การจะบันทึก The Fifth Symphony ของบีโธเฟนลงบนแผ่นเสียงแผ่นหนึ่ง เราต้องการแผ่นที่หนาถึง 2 นิ้ว ซึ่งมีโอกาสแตกหักง่ายมาก

เราจะสังเกตุได้ว่า นักประดิษฐ์ผู้นี้ไม่ได้คิดถึงแต่การพัฒนาวิทยาการของการบันทึกเสียงที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เขานึกไปถึงความสะดวกและความง่ายต่อการใช้งานจริงด้วย เขาศึกษาทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้องและลงมือพัฒนาอุปกรณ์การบันทึกเสียงในระบบใหม่ ผลลัพธ์คือ เขาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เอาชนะข้อจำกัดทุกอย่างของแผ่นเสียงได้สำเร็จ ซึ่งมันก็คือเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานของแผ่นฟลอปปี้ดิสก์นั่นเอง



อิสระภาพ ความมีวินัย และการฝึกตน

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) คือส่วนผสมที่พอดีของคำสองคำ คือ “อิสระ” และ “กฏเกณฑ์” สมองของมนุษย์เราจะถูกพัฒนาให้เปิดรับความท้าทายได้อย่างสร้างสรรค์ก็ต่อเมื่อเรารู้จักใช้ทั้งทักษะการจดจำและการคิดแบบไร้ขีดจำกัดควบคู่กันไป ด้วยสองอย่างนี้ คนเราจะจัดการกับปัญหาที่พบได้ในหลายลักษณะ

ดร.นากามัตสึให้ข้อสังเกตว่า “ความอัจฉริยะของมนุษย์คนหนึ่งนั้นเกิดจากการที่เขาค้นพบพรสวรรค์ส่วนตัวที่จะคิดได้อย่างอิสระ และพรสวรรค์ข้อนี้ต้องถูกพัฒนาอย่างเต็มที่ หาไม่แล้ว มนุษย์คนนั้นจะไม่มีทางสร้างสรรค์อะไรที่ล้ำเลิศได้เลย นอกจากนั้น โดยมากแล้วนักประดิษฐ์เก่งๆจะเป็นคนที่เปิดกว้าง สนใจในศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา วิทยาศาสตร์ และอื่นๆอีกมาก ไม่ค่อยมีนักหรอกที่จะรู้ลึกรู้ดีอยู่แค่เรื่องตรงหน้าอย่างเดียว”

แม้ว่า ดร.นากามัตสึจะเชื่อนักหนาในเรื่องพรสวรรค์ของนักประดิษฐ์ แต่เขาก็ยังมีความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองให้มีความคิดเชิงสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้นได้ และใครก็ตามที่พยายามทำเช่นนั้น คุณภาพชีวิตของเขาก็จะพัฒนาขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว ครั้งหนึ่งนักประดิษฐ์ผู้นี้เคยกล่าวไว้ว่า ประเทศใดก็ตามที่สนับสนุนและส่งเสริมประชาชนของตนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งด้านการงานและความเป็นอยู่ส่วนบุคคล ประเทศนั้นจะต้องแข็งแรงและร่ำรวยอย่างแน่นอนในอนาคต เริ่มจากไอเดีย พัฒนาต่อไปเป็นผลิตภัณฑ์ วันหนึ่งข้างหน้ามันอาจกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศเลยก็ได้

ทุกวันนี้ ดร.นากามัตสึยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่เดินเข้าออกห้องทดลอง ชายชราคนนี้ไม่เคยนอนรอให้แรงบันดาลใจหล่นลงมาจากฟ้า เขาทำงานด้วยวินัยสม่ำเสมอและเป็นระบบระเบียบ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ทุกวันนี้ เขาสร้างงานจากห้องทดลองได้มากขึ้น ผ่านอุปสรรคต่างๆได้เร็วกว่าสมัยยังหนุ่มด้วยซ้ำ

ดร.นากามัตสึหวังไว้ว่าเขาจะจดสิทธิบัตรให้ได้ถึง 7,000 ฉบับก่อนที่ความตายจะมาเยือนในอีก 67 ปีข้างหน้า (นับอายุรวมได้ 144 ปี)

ท่าทางดูไม่ได้ล้อเล่นกับการกล่าวอ้างตัวเลขดังกล่าวเสียด้วย

๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘๘

หมายเหตุ เนื่องด้วยผมประทับใจเมื่อได้ฟังสัมมนาจากแก จึงเอามาลงไว้ในบล็อกผมเพื่อเป็นฟืนเติมแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

เครดิต จาก //www.tcdcconnect.com คอลัมน์ window into the world





 

Create Date : 06 ตุลาคม 2551   
Last Update : 6 ตุลาคม 2551 23:31:38 น.   
Counter : 331 Pageviews.  

Steve Jobs “จงหิวโหย จงโง่เขลา”

คัดลอกจาก Positioning Magazine ฉบับเดือนตุลาคม 2548
บทความเดิมจาก Fortune ฉบับเดือนกันยายน 2548
แปลและเรียบเรียงโดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์






สุนทรพจน์ที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลกของ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple และผู้สร้าง Macintoch

โอวาทที่ Steve Jobs ผู้สร้าง Macintosh แสดงในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัย Stanford เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความประทับใจให้แก่บัณฑิตจบใหม่ในวันนั้น แต่ยังรวมไปถึงโลกคอมพิวเตอร์ที่ Silicon Valley และยังคงได้รับการชื่นชมและกล่าวขวัญไปทั่วโลกจนถึงวันนี้

สุนทรพจน์วันนั้น Jobs เพียงแต่เล่าถึงบทเรียนในชีวิตของเขา 3 บท แต่เป็น 3 บทที่ทำให้เขาซึ่งแม้แต่แม่ที่แท้จริงก็ไม่ต้องการ กลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก

บทเรียนบทแรกของ Jobs ซึ่งเขาเรียกมันว่า “การลากเส้นต่อจุด” เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ตัวเขาเองไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะได้ลาออกหลังจากเรียนในมหาวิทยาลัย Reed College ไปได้เพียง 6 เดือน ส่วนเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยนั้น Jobs กล่าวว่า มันเริ่มขึ้นตั้งแต่เขายังไม่เกิด

แม่ที่แท้จริงของเขา ซึ่งเป็นนักศึกษาสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ไม่ต้องการเลี้ยงดูเขา และตัดสินใจยกเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่นตั้งแต่เขายังไม่ลืมตาดูโลก แต่เธอมีเงื่อนไขว่า พ่อแม่บุญธรรมของลูกของเธอจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย Jobs เกือบจะได้เป็นลูกบุญธรรมของนักกฎหมายที่จบมหาวิทยาลัยและมีฐานะ ถ้าเพียงแต่พวกเขาจะไม่เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายว่า พวกเขาไม่ต้องการเด็กผู้ชาย

กว่า Jobs จะได้พ่อแม่บุญธรรม ซึ่งต่อมาเป็นผู้เลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ ก็อีกหลายเดือนหลังจากเขาเกิด เนื่องจากแม่ที่แท้จริงของเขาเกิดจับได้ว่า ว่าที่พ่อแม่บุญธรรมของ Jobs ได้ปิดบังระดับการศึกษาที่แท้จริงซึ่งไม่ได้จบมหาวิทยาลัย และพ่อบุญธรรมของ Jobs ไม่ได้เรียนมัธยมด้วยซ้ำ แต่ต่อมาเธอก็ได้ยอมเซ็นยก Jobs ให้แก่พ่อแม่บุญธรรม เมื่อพวกเขารับปากว่าจะส่งเสียให้ Jobs ได้เรียนมหาวิทยาลัย

17 ปีต่อมา Jobs ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสมตามความต้องการของแม่ที่แท้จริง ผู้ไม่เคยเลี้ยงดูเขาแต่กลับต้องการกำหนดชะตาชีวิตของลูกที่ตนไม่เคยเลี้ยงดู เพียง 6 เดือนในมหาวิทยาลัย Jobs ใช้เงินเก็บที่พ่อแม่บุญธรรมซึ่งเป็นเพียงชนชั้นแรงงานได้สะสมมาตลอดชีวิต หมดไปกับค่าเล่าเรียนที่แสนแพง Jobs ตัดสินใจลาออก เพราะเขามองไม่เห็นคุณค่าของการเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่สามารถช่วยให้เขาคิดได้ว่า เขาต้องการจะทำอะไรในชีวิต

แม้ว่าตอนนี้เมื่อมองกลับไปเขาจะรู้สึกว่า การตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะการลาออกทำให้เขาไม่ต้องฝืนเข้าเรียนในวิชาปกติที่บังคับเรียนซึ่งเขาไม่เคยชอบหรือสนใจ แต่สามารถเข้าเรียนในวิชาที่เขาเห็นว่าน่าสนใจได้

แต่เขาก็ยอมรับว่า นั่นเป็นชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อเขาไม่ได้เป็นนักศึกษาจึงไม่มีห้องพักในหอพัก และต้องนอนกับพื้นในห้องของเพื่อน ต้องเก็บขวดโค้กที่ทิ้งแล้วไปแลกเงินมัดจำขวดเพียงขวดละ 5 เซ็นต์ เพื่อนำเงินนั้นไปซื้ออาหาร และต้องเดินไกล 7 ไมล์ทุกคืนวันอาทิตย์ เพื่อไปกินอาหารดีๆ สัปดาห์ละหนึ่งมื้อที่วัด Hare Krishna

อย่างไรก็ตาม เขาชอบที่หลังจากลาออก เขาสามารถที่จะไปเข้าเรียนวิชาใดก็ได้ที่สนใจ และวิชาทั้งหลายที่เขาได้เรียนในช่วงนั้น ซึ่งเขาใช้เวลาทั้งหมด 18 เดือน โดยเลือกเรียนตามแต่ความสนใจและสัญชาตญาณของเขาจะพาไป ได้กลายมาเป็นความรู้ที่หาค่ามิได้ให้แก่ชีวิตของเขาในเวลาต่อมา และหนึ่งในนั้นคือ วิชา ศิลปะการประดิษฐ์และออกแบบตัวอักษร (calligraphy)

Jobs ยอมรับว่า ในตอนนั้นเขาเองก็ยังมองไม่ออกเช่นกันว่า จะนำความรู้ที่ได้จากวิชานี้ไปใช้ประโยชน์อะไรได้ในอนาคตของเขา แต่ 10 ปีหลังจากนั้น เมื่อเขากับเพื่อนช่วยกันออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh เครื่องแรก วิชานี้ได้กลับมาเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไม่เคยนึกฝันมาก่อน และทำให้ Mac กลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรก ที่มีการออกแบบตัวอักษรและการจัดช่องไฟที่สวยงาม

ถ้าหากเขาไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัย เขาก็คงจะไม่เคยเข้าไปนั่งเรียนวิชานี้ และ Mac ก็คงไม่อาจจะมีตัวอักษรแบบต่างๆ ที่หลากหลาย หรือ font ที่มีการเรียงพิมพ์ที่ได้สัดส่วนสวยงาม รวมทั้งเครื่องพีซี ซึ่งใช้ Windows ที่ลอกแบบไปจาก Mac อีกต่อหนึ่งก็เช่นกัน คงจะไม่มีตัวอักษรสวยๆ ใช้อย่างที่มีอยู่ในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม Jobs บอกว่า ในเวลาที่เขาตัดสินใจลาออกนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะสามารถ “ลากเส้นต่อจุด” หรือหยั่งรู้อนาคตได้ว่า วิชาออกแบบและประดิษฐ์ตัวอักษร (คอลิกราฟฟี่) จะกลายเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ในการออกแบบ Mac เขาเพียงสามารถจะลากเส้นต่อจุดระหว่างวิชาลิปิศิลป์กับการคิดค้นเครื่อง Mac ได้อย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อมองย้อนกลับไปข้างหลังเท่านั้น

ในเมื่อไม่มีใครที่จะลากเส้นต่อจุดไปในอนาคตได้ ดังนั้นคำแนะนำของ Jobs ก็คือ คุณจะต้อง “ไว้ใจและเชื่อมั่น” ว่า จุดทั้งหลายที่คุณได้ผ่านมาในชีวิตคุณ มันจะหาทางลากเส้นต่อเข้าด้วยกันเองในอนาคต ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา โชคชะตา ชีวิต หรือกฎแห่งกรรม ขอเพียงแต่คุณต้องมีศรัทธาในสิ่งนั้นอย่างแน่วแน่

บทเรียนชีวิตบทที่สองที่ Jobs เล่าต่อไปคือ ความรักและการสูญเสีย Jobs อายุเพียง 20 ปี เมื่อเขาเริ่มก่อตั้ง Apple กับเพื่อนที่โรงรถของพ่อ เพียง 10 ปีให้หลัง Apple เติบโตจากคนเพียง 2 คนกลายเป็นบริษัทใหญ่โตที่มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์และพนักงานมากกว่า 4,000 คน

แต่หลังจากที่เขาเพิ่งเปิดตัว Macintosh ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดของเขา ได้เพียงปีเดียว Jobs ก็ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งเองกับมือ เมื่ออายุเพียงแค่ 30 ปี หลังจากเขาทะเลาะถึงขั้นแตกหักกับนักบริหารมืออาชีพ ที่เขาเองเป็นผู้ว่าจ้างให้มาบริหาร Apple และกรรมการบริษัทกลับเข้าข้างผู้บริหารคนนั้น

ข่าวการถูกไล่ออกของเขาเป็นข่าวที่ใหญ่มาก และเช่นเดียวกัน มันเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตของเขา Jobs กล่าวว่า เขาได้สูญเสียสิ่งที่เขาได้ทำมาตลอดชีวิตไปในพริบตา และเขารู้สึกเหมือนตัวเองพังทลาย เขาไม่รู้จะทำอะไรอยู่หลายเดือน และถึงกับคิดจะหนีออกจากวงการคอมพิวเตอร์ไปชั่วชีวิต

แต่ความรู้สึกอย่างหนึ่งกลับค่อยๆ สว่างขึ้นข้างในตัวเขา และเขาก็พบว่า เขายังคงรักในสิ่งที่เขาทำมาแล้ว ความล้มเหลวที่ Apple มิอาจเปลี่ยนแปลงความรักที่เขามีต่อสิ่งที่ได้ทำมาแล้วแม้เพียงน้อยนิด เขาจึงตัดสินใจที่จะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเขาพบว่า การถูกอัปเปหิจาก Apple กลับกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของเขา เพราะความหนักอึ้งของการประสบความสำเร็จได้ถูกแทนที่ด้วยความเบาสบายของการเป็นมือใหม่อีกครั้ง และช่วยปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ จนสามารถเข้าสู่ช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ที่สุดในชีวิตของเขา

ช่วง 5 ปีหลังจากนั้น Jobs ได้เริ่มตั้งบริษัทใหม่ชื่อ NeXT และ Pixar และพบรักกับ Laurence ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของเขา Pixar ได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนจากคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องแรกของโลกนั่นคือ Toy Story และขณะนี้เป็นสตูดิโอผลิตการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก

ส่วน Apple กลับมาซื้อ NeXT ซึ่งทำให้ Jobs ได้กลับคืนสู่ Apple อีกครั้ง และเทคโนโลยีที่เขาได้คิดค้นขึ้นที่ NeXT ได้กลายมาเป็นหัวใจของยุคฟื้นฟูของ Apple

Jobs กล่าวว่า ความล้มเหลวเป็นยาขมแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไข้ เมื่อชีวิตเล่นตลกกับคุณ จงอย่าสูญเสียความเชื่อมั่นในสิ่งที่คุณรัก Jobs เชื่อว่า สิ่งเดียวที่ทำให้เขาลุกขึ้นได้ในครั้งนั้น คือเขารักในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้นคุณจะต้องหาสิ่งที่คุณรักให้เจอ เพราะวิธีเดียวที่จะทำให้คุณเกิดความพึงพอใจอย่างแท้จริง คือการได้ทำในสิ่งที่คุณเชื่อว่ามันยอดเยี่ยม และวิธีเดียวที่คุณจะทำให้คุณสามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ก็คือ คุณจะต้องรักในสิ่งที่คุณทำ และถ้าหากคุณยังหามันไม่พบ อย่าหยุดหาจนกว่าจะพบ และคุณจะรู้ได้เองเมื่อคุณได้ค้นพบสิ่งที่คุณรักแล้ว

ส่วนบทเรียนชีวิตบทสุดท้ายในโอวาทของเขาคือ ความตาย เมื่ออายุ 17 ปี Jobs ประทับใจในข้อความหนึ่งที่เขาได้อ่านมา ซึ่งเสนอแนวคิดให้คนมีชีวิตอยู่โดยคิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต และตลอด 33 ปีที่ผ่านมา Jobs จะถามตัวเองในกระจกทุกเช้าว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตของเขา เขาจะยังคงต้องการทำสิ่งที่เขากำลังจะทำในวันนี้หรือไม่ ถ้าหากคำตอบเป็น “ไม่” ติดๆ กันหลายวัน เขาก็รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องเปลี่ยนแปลง

Jobs กล่าวว่า วิธีคิดว่าคนเราอาจจะตายวันตายพรุ่ง เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดเท่าที่เขาเคยรู้จักมา ซึ่งได้ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจครั้งใหญ่ๆ ในชีวิตได้ เพราะเมื่อความตายมาอยู่ตรงหน้า แทบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนอื่น ชื่อเสียงเกียรติยศ ความกลัวที่จะต้องอับอายขายหน้าหรือล้มเหลว จะหมดความหมายไปสิ้น เหลือไว้ก็แต่เพียงสิ่งที่มีคุณค่าความหมายและความสำคัญที่แท้จริงเท่านั้น

วิธีคิดเช่นนี้ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้คุณไม่ตกลงไปในกับดักความคิดที่ว่า คุณมีอะไรที่จะต้องสูญเสีย เพราะความจริงแล้ว เราทุกคนล้วนมีแต่ตัวเปล่าๆ ด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อปีที่แล้ว เขาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่ตับอ่อนชนิดที่รักษาไม่ได้ และจะตายภายในเวลาไม่เกิน 3-6 เดือน แพทย์ถึงกับบอกให้เขากลับไปสั่งเสียครอบครัวซึ่งเท่ากับเตรียมตัวตาย

แต่แล้วในเย็นวันเดียวกัน เมื่อแพทย์ได้ใช้กล้องสอดเข้าไปตัดชิ้นเนื้อที่ตับอ่อนของเขาออกมาตรวจอย่างละเอียด ก็กลับพบว่า มะเร็งตับอ่อนที่เขาเป็นนั้นแม้จะเป็นชนิดที่พบได้ยากก็จริง แต่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด และเขาก็ได้รับการผ่าตัดและหายดีแล้ว

นั่นเป็นการเข้าใกล้ความตายมากที่สุดเท่าที่ Jobs เคยเผชิญมา และทำให้ขณะนี้เขายิ่งสามารถพูดได้เต็มปาก เสียยิ่งกว่าเมื่อตอนที่เขาเพียงแต่ใช้ความตายมาเตือนตัวเองเป็นมรณานุสติว่า ไม่มีใครที่อยากตาย แม้แต่คนที่อยากขึ้นสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายก่อนเพื่อจะไปสวรรค์ แต่ก็ไม่มีใครหลีกหนีความตายพ้น และเขาคิดว่า มันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น Jobs เห็นว่า ความตายคือประดิษฐกรรมที่ดีที่สุดของ “ชีวิต” ความตายคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ความตายกวาดล้างสิ่งเก่าๆ ให้หมดไปเพื่อเปิดทางให้แก่สิ่งใหม่ๆ

ดังนั้น Jobs บอกว่า เวลาของคุณจึงมีจำกัด และอย่ายอมเสียเวลามีชีวิตอยู่ในชีวิตของคนอื่น จงอย่ามีชีวิตอยู่ด้วยผลจากความคิดของคนอื่น และอย่ายอมให้เสียงของคนอื่นๆ มากลบเสียงที่อยู่ภายในตัวของคุณ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องมีความกล้าที่จะก้าวไปตามที่หัวใจคุณปรารถนาและสัญชาตญาณของคุณจะพาไป เพราะหัวใจและสัญชาตญาณของคุณรู้ดีว่า คุณต้องการจะเป็นอะไร

Jobs ปิดท้ายสุนทรพจน์ของเขา ด้วยการหยิบยกวลีที่อยู่ใต้ภาพบนปกหลังของวารสารฉบับสุดท้ายของวารสารเล่มหนึ่งที่เลิกผลิตไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเขาเปรียบวารสารดังกล่าวเป็น Google บนแผ่นกระดาษ และเป็นประดุจคัมภีร์ของคนรุ่นเขา วารสารดังกล่าวมีชื่อว่า The Whole Earth Catalog จัดทำโดย Stewart Brand ส่วนวลีนั้นคือ “จงหิวโหย จงโง่เขลาอยู่เสมอ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหวังจะเป็นเช่นนั้นเสมอมา





 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2548   
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 8:29:11 น.   
Counter : 344 Pageviews.  

พิการ.........แต่ไม่ไร้ความสามารถ




คัดลอกจากเวปไซด์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ



นักวิ่งสู้ชีวิตนามว่า เฮนรี่ วันโยเก้ หนุ่มชาวเคนยาวัย 30 ปี ผู้ซึ่งแม้จะตาบอดแต่ไม่ยอมแพ้ ฝึกฝนจนกลายเป็นแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกวิ่ง 5,000 และ 10,000 เมตร เคยสร้างสถิติโลกใหม่จากพาราลิมปิกที่ประเทศกรีซปี 2547 นับว่าเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นสำหรับผู้ที่ไม่ยอมแพ้ แม้ว่าชะตากรรมจะช่วงชิงการมองเห็นของเขาไปอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว

เฮนรี่ เกิดที่หมู่บ้านในชนบทห่างไกลของคาฮูโฮ กรุงคิคูยู นครหลวงเคนยา วัยเด็กเขาได้เล่นสนุกสนานและบางครั้งเจ็บตัวเหมือนเด็กทั่วไป เขาอยากเป็นนักวิ่งแต่มารดาไม่เห็นด้วย เพราะอยากให้เรียนเต็มที่ เมื่อจบมัธยมศึกษาในปี 2537 เริ่มทำธุรกิจผลิตรองเท้าด้วยความหวังว่า วันหนึ่งจะได้สานต่อความฝันและท่องเที่ยวอย่างที่ชอบ

แต่ทำได้ไม่นาน เขาก็เกิดอาการหัวใจวาย ซึ่งปรากฏว่ามีผลกระทบต่อประสาทตา ทำให้เริ่มสูญเสียการมองเห็นไป 85% ในช่วงเดือนมีนาคม 2538 และปลายเดือนเมษายน เขาตาบอดสนิท เฮนรี่กล่าวว่า "ผมไปโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่หมอรักษาได้น้อยเหลือเกิน จนในที่สุดผมก็ตาบอด"

ชะตากรรมเช่นนี้บางครั้งอาจทำให้คนเราท้อแท้และสิ้นหวัง จนอาจไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เฮนรี่ก็เช่นกัน ในช่วงแรกเขาทำใจยอมรับไม่ได้ เขานึกไม่ออกว่าจะต่อสู้ต่อไปเพื่ออะไร แต่มารดาที่เคยคัดค้านไม่ให้เขาเป็นนักวิ่งนั่นเอง คอยให้กำลังใจและเป็นหลักชัยอันแข็งแกร่งให้ยึดเหนี่ยวในยามที่เผชิญมรสุมแห่งความผิดหวัง

ด้วยแรงใจจากมารดา น้องสาว ภรรยา และฮิ้วจ์ วันโยเก้ ลูกชายวัยสองขวบ เขาได้สมัครเข้าเรียนที่สถาบันเพื่อคนตาบอดมาชาคอส หนึ่งในสถาบันที่มีอุปกรณ์และหลักสูตรการฝึกอบรมที่ดีที่สุดสำหรับผู้พิการในแอฟริกา ตะวันออก เขาได้เรียนรู้วิธีกลับไปใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง อีกทั้งยังช่วยงานในไร่เช่น รีดนมวัว ตัดหญ้าเลี้ยงวัว และช่วยงานอื่นๆ ในไร่ได้บ้าง ก่อนจะเข้าร่วมโครงการนำร่องเล็กๆ ของสถาบันเมื่อปี 2542 เกี่ยวกับการถักนิตติ้ง

โครงการที่ว่านี้ ทำให้เขาได้ตระหนักว่ายังมีหวังที่จะสานต่อความฝันที่จะเป็นนักวิ่งได้ด้วย ดังนั้นเมื่อผ่านหลักสูตรจากสถาบันแห่งนี้ เฮนรี่ไม่เพียงได้เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก เขาเป็นนักถักนิตติ้งที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง

เฮนรี่ได้เป็นตัวแทนนักกีฬาของสถาบันในปี 2542 ได้เข้าร่วมแข่งขันวิ่ง 5 กิโลเมตรและได้ที่หนึ่งในปี 2543 ทำให้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเคนยาให้เป็นตัวแทนทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิก ซึ่งเป็น โอลิมปิกคนพิการที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ในปีเดียวกันและประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในฐานะนักวิ่งจากแอฟริกาคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกในกีฬาวิ่ง 5,000 และ 10,000 เมตร

ต่อมาในปี 2545 เข้าร่วมการแข่งขัน แอฟริกาแอนด์อาหรับ แชมเปียนชิพ ที่อียิปต์ คว้าเหรียญทองเพิ่มอีกสองเหรียญทองจากการวิ่งทั้งสองประเภท และอีกสองเหรียญทองจากพาราลิมปิก คอมมิตตี เวิลด์ แชมเปียนชิพ ที่เมืองลีล์ ฝรั่งเศส และยังได้ชัยชนะในระดับภูมิภาคอีกหลายรางวัล แต่ที่ถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุด คือการได้ครองสองเหรียญทอง และสร้างสถิติโลกใหม่จากการวิ่ง 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร ในพาราลิมปิกปี 2547 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ นั่นเอง

ทั้งหมดนี้พิสูจน์ความคิดของเฮนรี่ที่ว่า 'คนพิการไม่ใช่คนไร้ความสามารถ' ซึ่งจากความสำเร็จและชัยชนะที่ไนโรบี ในปี 2546 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เลือกเขาเป็น 'ทูตแห่งความหวัง' ในโครงการ "Seeing is Believing" ซึ่งจะจัดขึ้นทั่วโลกเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่มองไม่เห็นให้มีโอกาสมองเห็นได้อีกครั้ง และ

เฮนรี่จะร่วมการแข่งขันวิ่งระยะทาง 11 กิโลมเตรระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจศิริ ในวันที่ 29 ตุลาคมศกนี้ด้วย

เฮนรี่กล่าวเสมอว่า "ผมมีชีวิตอยู่กับการพิสูจน์ให้โลกและผู้ที่พิการทางกายได้เห็นว่า คนพิการไม่ใช่คนไร้ความสามารถ" ยังคงยิ้มสู้ชีวิตถึงแม้ดวงตาจะมองไม่เห็น และมีจิตใจที่พร้อมจะแบ่งปัน โดยร่วมงานกับองค์กรการกุศลหลายแห่งทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือคนพิการ และการทำงานผ่าน กองทุนเฮนรี่ วันโยเก้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นด้วยความช่วยเหลือของคนที่ศรัทธาในสิ่งที่นักสู้จากเคนยาผู้นี้ริเริ่มขึ้น และจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ

"ผมมองสังคมด้วยความรู้สึกขอบคุณ เพราะทุกคนล้วนมีส่วนที่ทำให้ผมมีวันนี้ และเป็นอย่างตอนนี้ได้ ผมจึงอยากให้สิ่งเล็กๆ ที่ผมมีอยู่คืนแก่สังคมบ้าง" งานการกุศลของเฮนรี่

เฮนรี่ วันโยเก้ เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อร่วมแข่งขันและการวิ่งการกุศลต่างๆ เขาเป็นนักกีฬาที่ร่าเริง แต่อ่อนน้อมถ่อมตน และสิ่งที่เขาทำเสมอคือ คอยให้กำลังใจแก่คนพิการและสร้างความเชื่อว่าพวกเขาต่างมีความสามารถอยู่กับตัว

นอกจากนี้ เราไม่อาจละเลยบุคคลอีก 2 คน ที่สำคัญมากในความสำเร็จ และทำให้เขามีวันนี้ได้ คือ เพตรา เวอร์เวเยน โค้ชชาวเยอรมันที่ทุ่มเทฝึกสอนให้ในเรื่องการฝึกซ้อมวิ่งคู่กับไกด์ และโจเซฟ คิบันจา เพื่อนสนิทตั้งแต่วัยเด็กของเขาที่ยอมเสียสละและเหนื่อยยากมาช่วยทำหน้าที่เป็นไกด์ให้ ทั้งที่ไม่เคยเป็นนักวิ่งหรือคิดจะเอาดีทางการเป็นนักวิ่งมาก่อน

"โจเซฟกับผมเป็นมากกว่านักวิ่งกับไกด์ เราเป็นเพื่อนซี้กัน ผมเชื่อมั่นในตัวเขา และเราสามารถแบ่งปันสิ่งต่างๆ ด้วยกันได้เสมอ" โจเซฟมาร่วมงานด้วยความประสงค์อย่างเดียวคือ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนรัก เนื่องจากก่อนหน้าที่คิบันจาจะมาเป็นไกด์ให้ เฮนรี่ไม่สามารถฝึกซ้อมการวิ่งได้ดี ร่วมกับไกด์คนอื่นๆ ซึ่งเป็นคนมาจากที่อื่นได้เลย

สำหรับวิธีการแข่งขัน คือ นักวิ่งและไกด์จะต้องผูกข้อมือไว้ด้วยกัน แต่คิบันจาหรือไกด์ ต้องวิ่งอยู่ข้างหลัง ถ้าวิ่งนำถือว่าผิดกฏต้องออกจากการแข่งขัน เฮนรี่อธิบายว่า "โจเซฟจะต้องคอยบอกทิศทาง และคอยเตือนให้ระวังสิ่งกีดขวางที่อาจทำให้สะดุดหรือล้ม รวมถึงส่งขวดน้ำให้ดื่มระหว่างทางด้วย"

ส่วนรายได้พวกเขาได้รับคนละเท่าๆ กัน เพราะต่างต้องฝึกซ้อมหนักเหมือนๆ กัน

.....................

ที่มา : timenews.com และ โครงการ Seeing is Believing กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด




 

Create Date : 26 ตุลาคม 2548   
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 8:29:50 น.   
Counter : 373 Pageviews.  


นายกลางคืน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ฉันกลับมาแล้ว
[Add นายกลางคืน's blog to your web]