Tough Time Never Last ...But Tough People Do
Group Blog
 
All Blogs
 
14>แม่พิมพ์ของลูก

แต่ละวัน ในวัยเรียน ลูก ๆ ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียน พบและเห็นเพื่อน ๆ และ คุณครู อาจารย์
ทั้งหลายมากกว่าอยู่ที่บ้าน แม้นับเวลา นับชั่วโมงแล้วอาจจะพอ ๆ กัน แต่สำหรับพ่อ และ
แม่ ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือหนูถีบจักร ย่อมมีเวลาอยู่ด้วยกัน น้อยกว่าอยู่แล้ว


ส่วนจะน้อย หรือ มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการแบ่งสรรปันส่วนเวลากันได้ดีเพียงไหน


อาจารย์ หรือ คุณครูที่ลูกได้พบเจอ สถานะทางสังคม ก็คือผู้ประสาทวิชาความรู้ให้
แต่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มีโกรธ มีทุกข์ มีสุข มียาก ลูกได้พบเจอครู
หลายคนที่เป็นครูที่ดี ขณะเดียวกัน ก็มีครูที่ฝากความมีสีสรรให้กับครอบครัวเราอยู่
ไม่น้อยเหมือนกัน


ดูซิ ว่าเหมือนกับของใครบ้างหรือเปล่า


จากคุณ : ชราร่า - [ 26 พ.ย. 49 22:46:48 ]




--------------------------------------------------------------------------------

หน้าหลัก แจ้งลบ bookmark ส่งต่อกระทู้ พิมพ์ โหวตกระทู้ เก็บเข้าคลังกระทู้ กระทู้ก่อนหน้า กระทู้ถัดไป








--------------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็นที่ 1

“งานปีใหม่ คุณครูบอกว่าให้เอาของขวัญไปสองชิ้นนะ แม่”


“...ทำไมสองชิ้นล่ะคะ มีงานอะไรบ้างจ๊ะ”


“คุณครูบอกว่า ชิ้นนึงไว้จับฉลาก ราคา 30 บาท ส่วนอีกชิ้นนึงเป็นของขวัญคุณครู ราคาเท่าไรก็ได้ค่ะ”


“?? !! ??”


“...พรุ่งนี้ แม่จะแวะซื้อให้ตอนหลังเลิกงานนะคะ สำหรับของขวัญจับฉลาก” ลูกมองหน้าฟังฉันต่อ

“ส่วนของขวัญครู ก็ให้คุณครูโทรหาแม่เองนะคะ ลูกรู้เบอร์ของที่บ้านใช่ไหมลูก ถ้าครูถามก็บอกครูไปนะ”


ลูกคงไม่ได้เข้าใจหรอกว่า ฉันอยากให้ครูโทรมาเพื่ออะไร ลูกจะพูดตามที่ฉันบอก
หรือเปล่า ก็ไม่รู้ แต่สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนอะไรบางอย่างในการจัดการทางออกของฉัน
และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของลูก ซึ่งน่าเศร้ามาก ไว้เล่าต่อไปค่ะ


“บ้านเราเป็นคนจนเหรอคะ แม่” วันนี้ลูกมากับคำถามแปลก ๆ


“...ทำไมเหรอลูก” ฉันยังไม่ตอบ เพราะยังไม่รู้ที่มาของคำถามดี


“ที่โรงเรียน เพื่อนบอกว่าถ้าได้เงินวันละ 5 บาท เป็นคนจน อย่างน้องเจนได้แบงค์ 20 ทุกวัน...”


“ใช่ ๆ น้องตูน ก็ได้ สอง20 บาทแน่ะ ” ลูกอีกคนเสริม


“แล้วทำไมเราจน ล่ะแม่” ขอบตาเริ่มแดง ๆ


ยังไม่ทันจะตอบคำถามลูก ก็ได้ที่มาของคำถามคือ “ คุณครูไม่ให้หนูแสดงบนเวที
งานปีใหม่ของโรงเรียน เพราะว่าต้องออกเงินชุดแสดงเอง มันแพงมากน่ะแม่ คนละ
150 บาท ครูถามว่าถ้าคุณแม่ให้ 150 ได้ ครูก็อนุญาตให้ขึ้นแสดงได้ แต่ต้องซ้อมก่อน
หลาย ๆ วัน...”


“แล้วคุณครูบอกว่า บ้านเรายากจนงั้นเหรอลูก”

“ เต้นรำต้องจับคู่ค่ะ เหลือ 1 คน คือหนูกับทิมมี่…ทิมมี่บอกว่า หนูเอาเงินมา 5 บาท
แม่คงไม่มีค่าชุด คุณครูก็ให้หนูออก” ลูกเล่าตะกุกตะกักตามนี้ ก็ประมาณว่า ทั้งห้องต้อง
เหลือ 1 คน เพราะไม่มีคู่ เพื่อน ๆ สรุปว่าบ้านเรายากจนจากเงินที่ลูกเอามาโรงเรียนใน
แต่ละวัน ดังนั้นคงไม่มีค่าชุดให้ครู ลูกเลยเป็นคนเดียวในห้องที่ไม่ได้ขึ้นเวที สงสารลูกจังเลย


จากคุณ : ชราร่า - [ 26 พ.ย. 49 22:50:49 ]






ความคิดเห็นที่ 2

ฉันเห็นลูกแอบดูเพื่อน ๆ ซ้อมเต้นรำหลังเลิกเรียน กลับถึงบ้าน ยังเลียนแบบท่าเต้นเป็น
จังหวะ ๆ เหมือนที่เห็นมา แต่ไม่ได้รบเร้าหรือมีคำพูดใด ๆ ออกมาว่า อยากขึ้นเวที
เหมือนเพื่อน ๆ


และฉันก็ไม่ได้ถาม !!!
แล้วฉันจะไม่รู้เหรอว่า ลูกอยากทำอะไร


ก็บอกตรง ๆ ว่า ไม่รู้จะอธิบายให้ลูกวัย 6- 7 ขวบฟังอย่างไร เป็นแม่ที่แก้ปัญหาเรื่องโน้น
นี้ได้สารพัด แต่คราวนี้..ก็ถึงจุดตันได้เหมือนกัน


ห่วยได้ใจจริง ๆ เลย ฉันนี่


ซ้ำยังถูกตอกย้ำด้วยเหตุการณ์ที่วันหนึ่งขับรถไปแถวสยามสแควร์ จะผ่านไปทางพระรามสี่
พอรถจอดไฟแดงหน้า จุฬา ฯ ก็ชี้ให้ลูกดู


“นี่เด็ก ๆ เห็นไหม นี่โรงเรียนแม่นะ แม่เคยเรียนที่นี่กับพ่อ”


“อ้าว พ่อกับแม่เรียนโรงเรียนวัดเหรอคะ”


แป่วววว

เพราะเห็นหอประชุมและตึกอักษรมีหลังคามุงกระเบื้องแดงคล้ายวัดนั่นเอง


โอ้ย ซ้ำเติม กระทืบได้แบน จริง ๆ


เก็บความรู้สึกเรื่องนี้มาได้หลายปี หาจังหวะที่จะบอกลูกเรื่อง ความร่ำรวยและความ
ยากจนมีกฎเกณฑ์การวัดที่ไหน ความพอใจ และความไม่รู้จักพอเพียง แตกต่างกัน
อย่างไร จริง ๆ ฉันน่าจะคิดว่าลูกซึมซับได้เองในตอนนั้น แต่ปรากฏว่า กว่าจะตั้งหลัก
สอนลูกได้ มันก็เกิดเป็นตะกอนในใจลูกมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งก็กินเวลามาหลายปีทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งคือการสอนทำการบ้าน สิ่งที่เป็นกิจวัตรก็คือ เด็ก ๆ จะเอาสมุดจดการบ้าน
และการบ้านที่ทำเสร็จแล้วมาวางไว้ที่โต๊ะเครื่องแป้งฉัน เพื่อว่าหากฉันเข้าบ้านแล้ว
ก็จะได้ตรวจดูและเซ็นชื่อ พรุ่งนี้เช้า ก็ให้แก้ ถ้ามี หรือไม่มีแก้ก็ใส่เข้ากระเป๋านักเรียนเลย


วันนั้น เข้าบ้านดึก งานกว่าจะเสร็จหมดแรง เห็นสมุดการบ้านที่คุ้นตาของลูกทุกคน
วางไว้บนโต๊ะตามที่เคย พลิก ๆ หน่อย ก็เซ็นชื่อไป แบบว่าไม่ได้ดู


เย็นวันต่อมา ลูกเอาสมุดที่มีกากบาทสีแดงทั้งหน้ามาให้ดู บอกว่าคุณครูถ้าว่างให้คุณแม่
ไปพบด้วย ฉันรู้สึกผิดมาก แต่ก็หาพยายามข้อมูลและทำความเข้าใจกับความผิดที่ได้
กระทำไว้ก่อนไปพบครู

จากคุณ : ชราร่า - [ 26 พ.ย. 49 22:54:54 ]






ความคิดเห็นที่ 3

โจทย์ก็คือ คุณครูเล่าเรื่อง และให้นักเรียนวาดรูปตามเรื่องนั้น ๆ 4 รูป โดยให้นักเรียนร่วม
ทำงานชิ้นนี้กับผู้ปกครอง


“วันหนึ่ง คุณครูประกาศหน้าเสาธง ว่าจะพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่บางแสน
เด็ก ๆ ดีใจมาก” นี่คือเนื้อหาที่คุณครูให้มา


ด้วยที่กลับบ้านดึกอย่างที่เล่า ลูกก็ทำงานชิ้นนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งรูปทั้ง 4 ที่ครูกำหนดเนื้อหา
นั้น ลูกได้วาดออกมาเป็น


รูปที่ 1 ธงชาติบนเสาสูง มีคน ๆ หนึ่งยืนอยู่ข้างเสา

รูปที่ 2 มีรูปร่างเหมือนไมค์ แต่วาดออกมา เป็นอมยิ้ม

รูปที่ 3 ภูเขาสองลูก มีนกบิน มีห่วงยาง เหมือนโดนัท วางบนพื้น

รูปที่ 4 มือห้านิ้ว ประมาณ 3-4 มือ


คุณครูบอกฉันว่า ไม่สามารถสื่อสารได้ชัดเจนเท่าที่ควร และที่สำคัญ ผู้ปกครองไม่ได้
มีส่วนร่วม ฉันถามคุณครูว่า แล้วภาพที่ครูคาดหวังคืออะไร คุณครูก็หยิบตัวอย่าง
ชิ้นงานที่ดีที่สุดในความเห็นของครูออกมา


รูปที่ 1 รูปเสาธงอยู่ไกล ๆ มีคน ๆ หนึ่งยืนอยู่บนระเบียงห้อง มีไมค์ มีนักเรียนเข้าแถว
หลายแถว ทุกคนมีคิ้ว มีตา มีปาก ครบถ้วน


รูปที่ 2 หน้าของนักเรียนหลายคน ยิ้มแย้ม


รูปที่ 3 นักเรียนกำลังขึ้นรถทัศนาจรอย่างมีระเบียบ ซึ่งมีหลายคัน


รูปที่ 4 ชายทะเล มีรูปเรือใบ รุปเด็กกำลังก่อกองทราบอยู่ริมชายหาด

ทั้งหมดวาดด้วยสีน้ำ สวยงาม


ฉันออกความคิดเห็นกับครูว่า แม้ฉันไม่ได้ร่วมงานชิ้นนี้ แต่ก็ไม่เห็นว่า งานที่ลูกทำด้วย
ตัวเขาเอง จะดูแย่ กว่า ผู้ปกครองคนอื่น ๆ ทำเลยการที่จะกากบาทสีแดง ใหญ่ยักษ์
ขนาดนั้น อยากให้คำนึง ถึงจิตใจของเด็กด้วยในเรื่องความไม่สามารถวาดรูปได้ สิ่งเหล่านี้
คือรูปที่เขาสามารถถ่ายทอดจากจินตนาของเขาจริง ๆ ขอให้คุณครูเข้าใจ ก็ให้คะแนนใหม่


คุณครูยืนยันว่าไม่สามารถให้คะแนนได้ เพราะเป็นงานที่ต้องการให้ผู้ปกครองกับนักเรียน
มีปฎิสัมพันธ์กัน ถ้าให้คะแนนไป ก็เท่ากับเด็กทำถูกต้อง


ดังนั้นงานชิ้นนั้นก็ต้องผิด เพราะว่าผู้ปกครองไม่ให้ความสนใจในงานของนักเรียนเพียงพอ


อยากหัวเราะให้ฟันโยก งานชิ้นเดียว วัดความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครองไปได้
ตลอดกาล งั้นเหรอไม่เรียกว่าหัวสีเหลี่ยม ก็ไม่รู้ว่าเรียกรัยดี


จากคุณ : ชราร่า - [ 26 พ.ย. 49 23:00:15 ]






ความคิดเห็นที่ 4

จุดสรุปของแต่ละเรื่องเป็นดังนี้ค่ะ

ลูกเล่าในตอนหลังว่า หลังปีใหม่ คุณครูได้อวดของหลายอย่างในห้องเรียน...


“ เสื้อที่ครูใส่วันนี้เป็นของที่ผู้ปกครองของ___ ให้มา สวยไหมคะ นักเรียน ”


“ลิปสติก ที่ครูใช้ทาวันนี้ ก็เป็นของขวัญจากผู้ปกครองของ __”


“....นี่ __ วานไปบอกคุณพ่อคุณแม่นะคะว่า ขนมเค้กปีใหม่ที่ให้ครูมา อร่อยมาก”


“……………..”
“___________”

ประมาณ กดดัน กดดัน ...


ลูก ๆ รู้ว่า ขืนมาบอกฉัน ก็คงไม่ได้ของขวัญไปให้คุณครูแน่นอน เลยไปปรึกษาพี่พร
( พี่เลี้ยงต่อจากพี่ญัติ ) พี่พร ก็ไปซื้อที่คาดผมพลาสติกจากตลาดนัดหน้าซอยบ้าน
ราคา 7 บาท สีดำใส่ซองกระดาษ สีหม่น ลายคิตตี้บาง ๆ ให้คุณครูไปในวันต่อมา


ไม่ปรากฏว่า คุณครูเอามาพูดอวดเหมือนของเพื่อนคนอื่น ๆ เลย ลูกมาบอกตอนหลังว่า
อายเพื่อนมาก เพราะครูเอาไปให้ลูกของภารโรงใช้


ก็เป็นสาเหตุที่ทั้งครูและเพื่อน ๆ เห็นว่า เราคงไม่มีเงินสำหรับชูดเต้นรำราคา 150 บาท
การจะได้ขึ้นเวทีงานปีใหม่ ก็เป็นความรู้สึกที่ไม่น่าประทับใจของลูกเลย


ผลพวงต่อมา ก็คือ เพื่อน ๆ สรุปว่า เราคงไม่มีทางได้เคยเห็นทะเล จึงวาดรูปออกมาเป็น
ภูเขาสองลูก พระอาทิตย์ส่องแสงอยู่เยื้องไปด้านขวา มีเมฆสองก้อน และนกตัวเล็ก
อีก หนึ่งฝูง คล้ายลอกจาก ส. ค. ส ใบหนาเคลือบเงาในสมัยหนึ่งแบบนั้น


5 ปีผ่านไป มันสะท้อนใจจนออกปากขอโทษลูกตอนนั้น ว่าแม่ไม่ได้มีเจตนาให้ลูกมีความ
ทุกข์ขนาดมากมายแบบนี้


“แม่ไม่ต้องห่วง ตอนหลัง ๆ ก็มานึกดู หนูไม่เคยรู้สึกว่า หนูขาดอะไร หนูก็เลยไม่สนใจว่า
เป็นคนจนแล้วมันอย่างงัยเหรอ”

“แล้วถ้าจนแล้ว อยู่แบบนี้ หนูก็ไม่รู้ว่าการเป็นคนรวยแล้วมันจะดีกว่าตรงไหน”


เรื่องนี้สอนฉันว่า บางครั้งเวลา ก็เป็นตัวช่วยที่ดีได้เหมือนกัน

จากคุณ : ชราร่า - [ 26 พ.ย. 49 23:03:10 ]






ความคิดเห็นที่ 5

ขออนุญาตทำความเข้าใจอีกครั้ง ไม่ได้หมายว่าคุณครูทุกคนเป็นแบบนี้ เรื่องดี ๆ ก็มีเยอะ
จะขอลงชื่อไว้ตรงนี้เลยนะคะ คุณครูมุกดา อาจารย์ทวีพงศ์ อาจารย์อรีรัตน์ ครูเกษม
อาจารย์สายัณห์ ครูประทุมศรี อาจารย์ชนินทร์ ครูอนุทิน
และท่านอื่น ๆ ที่ไม่ได้เอ่ยนามค่ะ







Create Date : 28 มกราคม 2550
Last Update : 28 มกราคม 2550 20:10:42 น. 0 comments
Counter : 374 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ชราร่า
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




");}
Friends' blogs
[Add ชราร่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.