Tough Time Never Last ...But Tough People Do
Group Blog
 
All Blogs
 
9>พี่เลี้ยงที่แสนดี

ตอนนี้จะเป็นเรื่องราวของตัวช่วยในการเลี้ยงดู
ลูกที่มีความสำคัญมากคนหนึ่ง ขณะที่เราต้อง
ทำงาน ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
อย่างไม่จำกัดเวลา 5 -9 โมง งานต่าง ๆ จะเรียง
เข้ามาในความคิด เรื่องแล้วเรื่องเล่า งานนี้เสร็จไป
งานโน้นเข้ามา จะปฎิเสธไม่ได้เลยในฐานะมนุษย์
เงินเดือนด้านบริหาร

ลูกล่ะ ต้องฝากไว้กับคนที่ไว้ใจได้มากที่สุด ตอนนี้
จะพูดถึงคน ๆ นี้ค่ะ
-------------------

“ไงค่ะ ลูกวันนี้ จ้า... คิดถึงแม่ใช่ไหม โอ๋ โอ๋ ก็ไปทำงานแป๊บเดียว ก็กลับมาแล้ว
เห็นไหม กินนมเยอะไหมลูก ฮึ เยอะเหรอคะลูก อ๋อ ได้ทีละ 4 ออนซ์เลยเหรอ
เก่งจัง แล้วหลับกลางวันหรือเปล่า หลับสบายใช่ไหมคะ จ๊ะ จ๊ะ......”


คุยกันเป็นตุ เป็นตะ ราวกับเด็กน้อยรู้ภาษา เราสองคนก็เหมือนคนบ้าแบบนี้ทุกวัน
และก็ยินดีบ้าจริง ๆ เพราะมันอิ่มอก อิ่มใจบอกไม่ถูก กลับถึงบ้านไม่ทันจะอะไรก็
ขออุ้มลูก ขอหอมแก้ม แม้จะหลับไปแล้วก็ขอจับมือจิ๋ว ๆ นิ่ม ๆ หรือลูบหัวโหนก ๆ
ผมบาง สีน้ำตาลอ่อน ๆ นุ่ม ๆ หอมที่หัวเบา ๆ เพราะเกรงลูกจะตื่น และหลายครั้งเลยมี
แกล้งเขย่าเบา ๆ ให้ลูกตื่นขึ้นมาคุย อ้อ แอ้ ด้วย วันไหนแกล้งปลุกแล้วลูกอารมณ์เสีย
เพราะหลับลึก แล้ว ก็ร้องไห้จ้า พี่เลี้ยงก็รับไปกล่อมให้นอนได้ต่อ ละอายใจอยู่เล็ก ๆ
แต่ก็....อ่ะนะ.....ก็คิดถึงนี่



เป็นเห่อ ก็ธรรมดา ปันเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ยิ้มอารมณ์ดีได้ทั้งวัน เจอ หน้าใครก็ยิ้มให้
อันนี้ก็มีเคล็ดลับอยู่อย่างคือ เวลาเห็นหน้าลูกให้เรามีรอยยิ้มเสมอ เพราะเด็กจะเลียน
แบบค่ะ ทุกวันกลับจากทำงานต่อให้เหนื่อยแค่ไหน ทะเลาะกับลูกค้าจนไฟแล๊บ
อยู่ต่อหน้าลูกก็ต้องฉีกปากยิ้มเข้าไว้ มีประโยชน์สองอย่างคือ ใจเราจะเย็นลง
และลูกจะยิ้มตอบทันที


โอย หายเหนื่อยจริง ๆ หายเครียดด้วย ทุกอย่างรอบตัวจะดีขึ้นแน่นอน


ขอแนะนำนางเอกในตอนนี้ค่ะ

" พี่ญัติ "
เป็นแม่บ้านของอามา แต่เนื่องจากอามาเห็นว่า พี่ญัติเป็นคนสะอาด สะอ้าน แม้ว่าไม่เคย
เลี้ยงเด็กเล็กมาก่อน ก็น่าจะฝึกได้ เพราะมีความสะอาดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ฉะนั้นอย่างอื่น
ก็น่าจะเป็นเรื่องรองไป


“วันนี้ดูหนังสือหน้าที่ 34 ถึง 45 นะญัติ แล้วคืนนี้มาคุยกัน”


ทุกวันก่อนออกไปทำงาน ฉันจะมีการมอบหมายงานให้พี่ญัติเป็นประจำอยู่แล้ว นอกจาก
เรื่องน้ำ เรื่องนม และอาหารส่วนอื่น ๆ อีกอย่างที่พี่ญัติจะต้องทำคือ อ่านหนังสือคู่มือเลี้ยง
ลูกของ อาจารย์ชนิกา ตู้จินดา ในสมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มีแค่หนังสือเล่มนี้เพียง
เล่มเดียวที่เป็นที่พึ่งได้ ก็ให้พี่ญัติอ่านทีละบท กลับมาก็มาทำความเข้าใจกันหากมีปัญหา



พี่ญัติเป็นคนเรียบร้อยและสะอาดมาก เสื้อสีอ่อนทุกตัวของน้องปัน จะกลายเป็นสีขาว
เพราะซักและขยี้อย่างให้มั่นใจว่าสะอาดจริง ๆ ผ้าอ้อมทุกผืน จะพับเก็บเท่ากันทุกผืน
ราวกับที่วางขายในห้าง อาหารก็สะอาด ตารางในการให้นม ให้น้ำ อาบน้ำ หรือหากต้อง
กินยา ก็จัดการป้อนอย่างตรงเวลาที่หมอสั่ง ราวกับนางพยาบาลมืออาชีพ


ทุกเย็นเมื่อกลับถึงบ้าน ลูกจะเนื้อตัวสะอาดและหอมน่ารักทุกครั้ง พี่ญัติจัดการให้น้อง
อาบน้ำใส่เสื้อผ้าใหม่เหมือนรู้เวลากลับถึงบ้านของฉัน


“คุณ ๆ เห็นน้องแล้วจะได้หายเหนื่อยค่ะ ”



โดยไม่เคยต้องสั่ง พี่ญัติจะจดให้เป็นสมุดบันทึกแบบละเอียดว่าวันนี้น้องทานนม
กี่ออนซ์ตอนกี่โมง เวลาไม่สบาย พี่ญัติก็ร้อนอก ร้อนใจทุกครั้ง จะโทรศัพท์รายงานกับ
ฉันเกือบตลอดเวลา



“ญัติไม่อยากให้คุณช่า กับคุณช้างกังวล เดี๋ยวจะทำงานไม่ได้”



ครอบครัวเราโชคดีที่มีพี่เลี้ยงที่ดี ได้พูดกับคุณช้างเสมอว่า มีเงินก็จ้างพี่เลี้ยงได้อยู่แล้ว
แต่พี่เลี้ยงที่ “มีใจ” และรักลูกเรานั้นคงหาไม่ได้ง่าย ๆ ดังนั้น มีสิ่งใดที่เราสามารถให้เขา
ได้ ไม่เพียงเงินทองแต่เป็นน้ำใจ ก็ควรจะหยิบยื่น คำพูดนี้ จะพูดกับพ่อของลูก
แม้กับลูก ๆ ทุกคนตอนโตพอรู้ความได้ ก็พูดให้ฟังเสมอ ว่าพี่ญัติดูแลพวกเขาแทนแม่
จะดีเยี่ยมแค่ไหน เลยถือโอกาสพูดเรื่องของการรู้บุญคุณคนและการไม่รังเกียจคนที่ด้อย
กว่า ให้ถือเรื่องของการให้เป็นสำคัญกว่าเรื่องใด


แต่แล้ววันหนึ่ง...


“คุณช่า พ่อจดหมายมาจากอุดร บอกว่าญัติต้องกลับไปแต่งงาน ที่บ้านนอกถึงอายุ
แล้วต้องแต่ง ไม่งั้นจะอายเขาว่าลูกสาว ไม่มีคนเอา”


มีมา ก็ย่อมมีจาก หลังจากช่วยเลี้ยงลูกทั้งสามได้เข้าปีที่ 7 ปี พี่ญัติก็ต้องไปมีครอบครัว
เอง วันนั้นเด็ก ๆ ร้องไห้มากมาย รู้จากอาม่า ( แม่สามี ) ว่าร้องกันลั่นขนส่งหมอชิต
แล้วหลังจากแต่งงานได้เพียงเดือนเดียว พี่ญัติก็หนีจากบ้านมาหาลูก บอกว่าคิดถึงน้อง
ทางเราก็ได้ให้อยู่ด้วยพักหนึ่งและเกลี่ยกล่อมให้กลับไป พร้อมสัญญาว่า จะติดต่อกัน
ตลอดเวลา และหากมีอะไรให้ช่วยเหลือก็จะยินดีมาก


พี่ญัติขอเสื้อผ้าพร้อมเครื่องใช้ของเด็กที่ไม่ใช้แล้ว บอกว่ามีลูกเมื่อไร จะให้ลูกใช้เสื้อผ้า
และข้าวของเหล่านี้ จะได้คิดถึงว่าเลี้ยงน้องอยู่ แม่ช่าจัดแบ่งของให้ไปมากมาย เวลาผ่าน
ไป ตอนพี่ญัติพาลูก ๆ มาเที่ยวกรุงเทพ และพักที่บ้าน ครอบครัวเราก็จะเห็นเสื้อผ้าชุดนี้
กระเป๋าใบนั้น รองเท้าคู่เก่งของเด็ก ๆ ซึ่งพี่ญัติมาบอกทีหลังว่า อนุญาตให้ลูกใส่เฉพาะ
เวลาจะมาเยี่ยมเราเท่านั้น เวลาอื่นไม่ให้ใส่เพราะกลัวว่าจะเก่าเร็ว โถ ตอนให้ไปก็เก่า
ประมาณหนึงแล้วล่ะ


ช่วงที่พี่ญัติเพิ่งกลับไปตอนนั้น เด็ก ๆ เริ่มเขียนหนังสือได้บ้างแล้วแต่ว่าตัวหนังสือจะใหญ่
เท่าหม้อแกงและยังโย้เย้ อยู่มาก แม่ช่าก็ได้จัดการให้เด็กเขียนจดหมายไปเล่าเรื่องราว
ต่าง ๆ ให้พี่ญัติฟัง สะกดถูก ผิด ไม่เป็นรัย เขียนไม่จบประโยคก็ให้ส่งไปทั้งอย่างงั้น
แม่ช่าไม่เคยแต่ง ไม่เคยเขียนให้ ลูกอยากเล่าอะไร ก็เขียนอย่างนั้น มีมาถามตัวสะกด
บ้างเล็กน้อย เพราะตั้งใจกันมาก ก้มหน้าก้มตา มากกว่าทำการบ้านซะอีก


แม่ช่าเลยถือโอกาสเล่าให้ลูกฟังเรื่องการส่งจดหมาย ต้องใส่ซอง จ่าหน้าและติดแสตมป์
เพราะเป็นค่าส่งแล้วใครคือบุรุษไปรษณีย์ ตอนนั้นพาลูก ๆ ไปถึงที่ทำการไปรษณีย์เลย


“โห แม่ แล้ว พี่ญัติจะเห็นจดหมายน้องปันเหรอแม่”


ลูก แปลกใจเมื่อเห็นกองจดหมายมหึมา ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังคัดแยกอยู่

...“รู้ซิคะ เพราะว่าลูกเขียนที่อยู่ที่หน้าซองแล้วนี่คะ
พี่ไปรษณีย์ก็ส่งไปตามนั้น
พี่เขาต้องแยกเป็นจังหวัดก่อนเห็นไหม ......”


ทัศนศึกษาครั้งนี้เด็ก ๆ รู้การเดินทางของจดหมาย ที่ขายแสตมป์ การชั่งและการส่งพัสดุ
โดยฉันพาไปทีละจุด ๆซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นครั้งแรกของฉันเหมือนกันที่มาดูว่าไปรษณีย์
เขาทำงานกันอย่างไร


"ลูก ๆสงสัยค่ะ ถามบ่อยก็เลยพามาดู ขออนุญาตนะคะ"
พร้อมส่งยิ้มให้เชิงบอกว่าเกรงใจนะ

ทางเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เขตลาดพร้าวเห็นเด็ก ก็เอ็นดู และตอบคำถามกับเด็ก ๆ อย่างไม่รู้
เบื่อ อีกทั้งอนุญาตให้เข้าไปในห้องทำงานจดหมายต่างประเทศ และคุยเรื่องรหัสไปรษณีย์
ว่าแบ่งเขตกันอย่างไร ฯลฯ


ลูกจะจำอะไรบ้างหรือเปล่าฉันไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ลูกได้รับแน่ ๆ ในคราวนี้ ก็คือ ความ
มีน้ำใจ การให้ การบริการโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างก็การรู้จัก
การให้แก่สังคมต่อไป


หลังจากจดหมายเดินทางไปไม่นานพี่ญัติจะตอบกลับมาว่า เห็นจดหมายน้องก็ต้องอ่าน
หลาย ๆ รอบไป ร้องไห้ไปทุกครั้ง และเก็บจดหมายทุกฉบับเอาไว้ บางฉบับก็เขียนมา
ขอรูป เด็กๆ ที่ขยายใหญ่หน่อยไปไว้อวดคนแถวบ้านที่ต่างจังหวัด บอกว่า เป็นลูกของ
พี่ญัติที่กรุงเทพ หลังสุด พี่ญัติขออนุญาตมางานรับปริญญาของลูก ๆ ด้วย และเช่น
เคย ขอรูปที่ถ่ายคู่พร้อมขอให้ใส่กรอบ ติดไว้ฝาบ้าน


“รูปนี้เป็นลูกญัติที่กรุงเทพเรียนจบแล้ว” พี่ญัติขออนุญาตฉันว่าจะบอกใคร ๆ แบบนี้
ฉันแทบจะอนุญาตทันที ที่ญัติยังพูดไม่จบประโยค


จบตอนนี้อยากบอกว่า เรื่องการสอนลูก สามารถสอดใส่เข้าไปได้ในทุก ๆ เหตุการณ์ทั้งสิ้น
การเรียนการสอนไม่จำเป็นต้องรอ พึ่งคุณครูเสมอไป คนเป็นแม่ เป็นพ่อ เมือไรที่อยู่ใกล้
มีเรื่องราวที่พบที่เห็น ก็นำมาทำให้เป็นเรื่องสนุก แล้วค่อย ๆ บ่ม ค่อย ๆ ใส่เข้าไปใน
ความคิดของลูก และหลาย ๆ ครั้ง คุณจะรู้สึกว่า ตัวคุณเองก็เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูก
ได้เหมือนกัน





























Create Date : 28 มกราคม 2550
Last Update : 28 มกราคม 2550 20:06:39 น. 2 comments
Counter : 413 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ ที่แบ่งปันให้อ่านนะคะ พี่ญัติน่ารักจัง


โดย: ซิมเปี๊ยะกุน วันที่: 30 มกราคม 2550 เวลา:16:56:55 น.  

 


โดย: แม่ช่า (ชราร่า ) วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:19:44:12 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ชราร่า
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




");}
Friends' blogs
[Add ชราร่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.