กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ทำไมมนุษย์ต้องกิน “ผัก” : ประโยชน์ของ “ผัก” ในสายตาเทรนเนอร์ที่ออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ



บทความ โดย พิชา รักรอด

บทความนี้เราขออุทิศพื้นที่ให้กับการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับการกินผักผลไม้ในชีวิตประจำวัน เมนูผักอันแสนเอร็ดอร่อย แหล่งโปรตีนจากผักสำหรับสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงแนวคิดและทัศนคติของการกินผักที่ส่งผลต่อสุขภาพและภาวะโลกร้อน

เจสซิก้า คูนี่ เจ้าของอินสตาแกรมแอคเคาน์ Miss_Cuny เป็นผู้อยู่เบื้องหลังข้อความบอกวิธีสร้างกล้ามเนื้อให้เฟิร์มอยู่เสมอและหลักการกินอาหารให้สอดคล้องกับการออกกำลังกายอีกมากมาย ซึ่งนอกจากการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่คุณเจสซิก้าหลงใหลแล้ว การรับประทานผักผลไม้ และไม่กินเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย (Veganism) ยังเป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบด้วยเช่นกัน  

กินผักเพราะอยากมีสุขภาพที่ดี  

เจสหันมากินผัก และไม่กินเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย (Veganism) ก็เพราะอยากลองดูค่ะ  คือเจสไปตรวจสุขภาพและพบว่าตัวเองคอเลสเตอรอลสูง ทั้งๆ ที่เป็นคนคุมอาหาร และออกกำลังกายอยู่ตลอด แต่อาจเพราะช่วงก่อนไปตรวจสุขภาพ เจสกินสเต็กบ่อยมาก หลังจากนั้น เลยลองกินแบบวีแกนดู และกลับไปตรวจอีกครั้ง ก็พบว่าคอเลสตอรอลกลับเป็นปกติ แต่ตอนนั้น เรารู้สึกว่าไม่อยากกินเนื้อสัตว์แล้วค่ะ เราเลยกินแบบวีแกนมาเรื่อยๆ นอกจากนี้เจสยังได้ดูสารคดีหลายเรื่องที่พูดถึงธรรมชาติถูกทำลายจากการเลี้ยงสัตว์เพื่ออุตสาหกรรม เราเลยคิดว่ามันก็ดี ถ้าเราได้ลองลดกินเนื้อสัตว์ เพราะก็ไม่ได้ลำบากอะไรค่ะ

เมนูผักในชีวิตประจำวันทำไม่ยากอย่างที่คิด

อาหารในชีวิตประจำวันของเจสจะเป็นอาหารแบบที่ทุกคนกินกันปกติเลยค่ะ เจสแค่เปลี่ยนจากเนื้อสัตว์มาเป็นเต้าหู้เท่านั้นเอง อย่างวันนี้เจสก็ทำเบอร์ริโต้เต้าหู้ (Tofu Burrito) ปกติเบอร์ริโต้จะใส่ไก่และเนื้อ แต่เจสกินแบบวีแกน เจสจึงเอาเต้าหู้มายีแทน แล้วรสชาติมันจะคล้ายเนื้อบดเลยค่ะ

เมนูที่เจสทำก็มีทั้งไทยและตะวันตก เช่น พะแนง แกงเขียวหวาน พาสต้า กะเพรา เยอะเลยค่ะ ยิ่งถ้าเรายีเต้าหู้จนน้ำแกงเข้าไปในเต้าหู้ เราแทบจะไม่ได้กลิ่นเต้าหู้เลยค่ะ ส่วนพวกซอส บางอย่างก็ทำเอง เช่น มายองเนส เจสจะเอาเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มาปั่น ใส่มะนาวนิดหน่อย ก็ได้แล้วค่ะ เจสจะกินอาหารที่ไม่ค่อยแปรรูป เช่น มัน กล้วย ฟักทอง เอามากินแทนข้าวเลยค่ะ เพราะมันทำให้น้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก เจสจะไม่ค่อยกินข้าวเพราะแม้กินในปริมาณน้อยแต่ให้แคลอรี่สูง ถ้าเป็นมัน จะอิ่มท้องกว่าค่ะ

เวลาเจสมองอาหาร เจสไม่ได้มองว่ามันคืออะไร แต่มองว่ามันให้อะไรเราบ้าง แล้วทุกมื้อต้องมีคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตกับโปรตีนที่ต้องมี อาจจะเป็นกล้วย ผลไม้ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือบางทีก็มีพวกวีแกนดริ้งเลยค่ะ ออกกำลังกายเสร็จก็ดื่มเลย กลับบ้านมาเจสก็ยีเต้าหู้กิน ยังไงก็ต้องมีโปรตีนทุกมื้อ และในพวกถั่ว มันมีคาร์โบไฮเดรตอยู่แล้ว ไฟเบอร์มันสูงค่ะ

จริงๆ อาหารที่เจสกินมันก็คืออาหารแบบ Plant Based หรืออาหารที่มีพืชผักเป็นส่วนประกอบหลัก หลายคนอาจจะมองว่ามันหายากและราคาแพง แต่เจสคิดว่า ถ้าเราลองมองดีๆ เราจะเห็นว่าราคามันถูกมากและหาง่ายด้วย เช่น เต้าหู้ก้อนนึงราคาเพียง 25 บาทเอง แต่ให้โปรตีนเทียบเท่าไก่ชิ้นนึงซึ่งราคาแพงกว่ามาก การกินอาหารแบบนี้จะช่วยระบบในร่างกายดีขึ้น เพราะร่างกายได้รับวิตามินมากขึ้น ต่างจากการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีไขมัน มันก็ทำให้เป็นมะเร็งได้ เพราะมันมีฮอร์โมนจากการเลี้ยง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมยังส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกของเราด้วย ซึ่งเจสก็อยากให้คนมองในส่วนนี้ด้วยค่ะ

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายก่อนและหลังหันมากินผัก

ค่อนข้างต่างเลยค่ะ ระบบขับถ่ายและผิวพรรณของเจสดีขึ้นมาก เป็นสิวน้อยลง จากแต่ก่อนที่เราจะเป็นผดและสิวค่อนข้างเยอะ พอหยุดกินเนื้อสัตว์ ปัญหาผิวหนังก็ลดลงมาก ซึ่งเจสคิดว่าเพราะเจสได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากการกินผลไม้ด้วยค่ะ จากแต่ก่อนที่กินผลไม้ไม่ได้เยอะมาก พอเปลี่ยนมาเป็นวีแกน เราก็กินผลไม้แทนข้าวเลย ผลไม้ที่เจสกินส่วนใหญ่มันจะมีค่า GI ที่ต่ำ GI หรือ Glycemic Index คือดัชนีน้ำตาล ถ้าผลไม้มีค่า GI สูงมาก มันจะทำให้น้ำตาลในเลือดเราสูงขึ้น ส่งผลให้เราอยากของหวานมากขึ้น แต่ถ้าเรากินผลไม้ที่มีค่า GI ต่ำ น้ำตาลในเลือดมันก็จะไม่ดีดมาก

และผลไม้บางอย่าง แม้ว่าจะมีค่า GI สูง แต่มีค่า GL (Glycemic Load) หรือ ปริมาณน้ำตาลต่ำ เช่นแตงโม เราต้องกินเยอะมาก มันถึงจะได้น้ำตาลเยอะมาก แต่องุ่น ค่า GI กับ GL สูงทั้งสองค่า ดังนั้น เราจึงต้องเลือกประเภทผลไม้ที่กินด้วยค่ะ

Certified Exercise Nutrition

เจสไปสมัครเรียนเรื่องโภชนาการของนักกีฬาเพาะกายค่ะ มันเป็นโภชนาการของคนที่ต้องการลดน้ำหนัก เขาจะสอนให้รู้ว่า สารอาหารแต่ละอย่างมีอะไรบ้าง อยู่ในอาหารประเภทไหน และสอนเรื่องแคลอรี่ด้วยค่ะ เจสก็จะนำมาคำนวณว่าร่างกายตัวเองในแต่ละวันต้องการโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันกี่กรัม แต่เจสไม่ได้นับทุกมื้อนะคะ จะใช้วิธีทำอาหารกินในหนึ่งวัน แล้วจำหน้าตา ปริมาณและแคลอรี่ของมันไว้เพื่อเอาไว้ใช้ในวันถัดไปค่ะ

บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าการกินคลีนทำให้ผอมลง แต่การที่เราผอมลง เราต้องกินน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ไขมันบางอย่างมันดีต่อสุขภาพก็จริง แต่ถ้ากินเยอะไป มันก็ไม่ทำให้เราผอมลง เนื่องจากว่าแคลอรี่มันสูง เช่น น้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ ให้แคลอรี่ประมาณ 100 กิโลแคลอรี่ แต่ถ้าใส่ในการทำอาหาร แคลอรี่ก็จะเกินได้ค่ะ บางอย่างถึงแม้ว่าแคลอรี่จะน้อย แต่มีสารอาหารไม่เยอะ มันก็ไม่ดีต่อระบบภายในร่างกายด้วยเช่นกัน คุณอาจจะผอมลง แต่ร่างกายคุณก็อาจจะโทรมด้วย เพราะเซลล์ในร่างกาย ไม่ได้รับสารอาหารเท่าที่ควร น้ำหนักจึงอาจจะลดได้ แต่สุขภาพก็ไม่ได้ดีขึ้นค่ะ

แหล่งโปรตีนสำหรับการสร้างกล้ามเนื้อ

บางคนอาจจะมองว่าแหล่งโปรตีนของคนที่กินแบบวีแกนมีน้อย แต่จริงๆ แล้ว มันมีเยอะมากค่ะ เช่นเมล็ดพืชต่างๆ ถั่ว เต้าหู้ ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ ถั่วแระญี่ปุ่น บร็อคโคลี ผักโขม ถั่วลูกไก่ ถั่วเหลือง และอีกมากมาย ฉะนั้นมันไม่ได้ลำบากอะไรเลยและมันก็เพียงพอสำหรับความต้องการของร่างกายด้วย อย่างถั่วเหลืองถือเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดในบรรดาแหล่งโปรตีนเลยนะคะ บางคนคิดว่ากรดอะมิโนของอาหารที่เป็นพืชอาจจะไม่ครบเหมือนเนื้อสัตว์ แต่จริงๆ คือมันดีกว่าเนื้อสัตว์อีกนะ เพราะถ้าเรากินพืชหลายสี ร่างกายก็จะได้รับกรดอะมิโนหลายอัน ซึ่งก็คือการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน อีกอย่างคนกินผักจะแก่ช้า เพราะวิตามินในผักผลไม้มีเยอะ และมันช่วยซ่อมแซมเซลล์ได้ดี เซลล์เลยตายช้าลง คนกินเลยแก่ช้าลงด้วยค่ะ

นิยามของคำว่า “อาหารที่ดี”

เจสคิดว่าต้องเป็นอาหารที่ให้ Micronutrients เยอะ คืออาหารที่ให้วิตามินและเกลือแร่ค่ะ สำหรับช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าการกินอาหารที่ไม่มีไขมันเยอะคือดีต่อสุขภาพแล้ว แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามสารอาหารเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ค่ะ มันต้องกินให้ได้สารอาหารครบทั้งหมด การกินอะไรที่มากจนเกินไป มันอาจก่อให้เกิดโรคเช่น มะเร็งก็ได้นะคะ และทำให้ร่างกายทำงานหนักมากๆ ถ้าเรากินวิตามินเกลือแร่น้อย มันก็จะไม่มีอะไรไปซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย เพราะคนเราพออายุเยอะขึ้น เซลล์มันก็จะแก่ลง ประสิทธิภาพในการทำงานก็น้อยลง ถ้าเรายังกินผลไม้น้อยอยู่ ก็จะไม่มีอะไรไปช่วยซ่อมแซมเซลล์ ร่างกายก็จะพังลงเรื่อยๆ ถ้าเราอายุมากขึ้น เราก็ต้องปรับเปลี่ยนอาหารการกินด้วยค่ะ

การออกกำลังกายสไตล์ Miss Cuny

เจสเน้นออกกำลังกายเรื่อยๆ มากกว่าค่ะ เราอาจมีช่วงหยุดเล่นบ้าง ป่วยหรือไปเที่ยว แต่เราก็กลับมาเล่นตลอด และเจสทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เลย หลังจบมหาลัยก็สมัครสมาชิกที่ฟิตเนสเลย เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว เจสชอบที่ได้เคลื่อนไหวตลอด เจสชอบให้ร่างกายมันฟิตแอนด์เฟิร์ม แอคทีฟ ทำอะไรแล้วกระฉับกระเฉงค่ะ

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61978


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2561   
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2561 14:06:04 น.   
Counter : 978 Pageviews.  


MAKE SMTHNG #BuyNothing เทศกาลแห่งความคิดสร้างสรรค์ DIY ของเก่าลดการซื้อของใหม่



ยินดีต้อนรับเข้าสู่เดือนแห่งความคิดสร้างสรรค์ DIY ของเก่าลดการซื้อของใหม่กับเทศกาล  MAKE SMTHNG  #BuyNothing

การบริโภคของโลกกำลังล้นเกิน และหนึ่งในการแก้ไขปัญหาก็คือ ไอเดีย! เพราะเราจะใช้ไอเดียเพื่อลดการบริโภคในด้านต่างๆ เช่น แฟชั่น อาหาร พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และอื่นๆ เราพบว่าเราสามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาประดิดประดอยของเก่าให้กลับมาเป็นใหม่อีกครั้ง เราสามารถ รีไซเคิล ซ่อมแซม ประยุกต์ สิ่งของที่เรามีด้วยศิลปะงานคราฟท์

MAKE SMTHNG WEEK  (Make Something Week) คือเทศกาลแห่งความสร้างสรรค์และกำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เทศกาลที่จะนำของเก่ามาแปลงร่างให้เป็นของใหม่ไฉไลกว่าเดิม ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของเราจะช่วยให้เราเพิ่มอายุการใช้งานสิ่งของและลดการซื้อของใหม่ ท้าทายวัฒนธรรมการบริโภคที่ล้นเกินและสิ้นเปลือง


กิจกรรม MAKE SMTHNG Week ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน


ครั้งแรกกับงาน MAKE SMTHNG ในประเทศไทย พบกับ Workshop จากคนรุ่นใหม่สาย DIY ที่จะมาช่วยพวกเราประดิดประดอยได้เจ๋งยิ่งขึ้น! กับ 5 มือโปรด้านงาน craft

  • "มาส์กกับสครับผิวหน้าและผิวตัว จากข้าวกับสมุนไพรฤทธิ์เย็น"โดย Mamasayyes
  • แชมพูก้อน ทำง่าย เก็บสะดวก ปลอดขยะ โดย  ใส่ใจเนเจอร์แอนด์เฮอร์เบิล
  • ไขผึ้งห่ออาหาร วัสดุจากธรรมชาติแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดย SuperBee Wax Wraps
  • กระเป๋าจากป้ายผ้าใบเก่า โดย TAM:DA
  • เปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าเป็นสิ่งใหม่ โดยคุณปีโป้ จากช่องยูทูป pipodiy

และพลาดไม่ได้กับวงเสวนา “Shopless Society ซื้อน้อย ใช้ซ้ำ ทำเอง” กับ

  • เจ้าของเพจ Facebook “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” ที่รณรงค์เกี่ยวกับขยะพลาสติก
  • คุณลีฬภัทร กสานติกุล บรรณาธิการบริหารนิตยสาร My Home
  • คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เราอยากชวนทุกคนมาปล่อยของ สร้างสิ่งใหม่จากของเก่าเหลือใช้ด้วยกันในวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน 2561 ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

มา #Repair #Upcycling #Reuse และ #MakeSmThng เพื่อท้าทายวัฒนธรรมการบริโภคที่ล้นเกินและสิ้นเปลืองด้วยกัน

*กิจกรรมนี้มีค่ามัดจำ 200 บาท ผู้ที่มาร่วมงานจะได้รับเงินมัดจำคืนภายใน 1 อาทิตย์ หลังจากกิจกรรมจบ

กำหนดการและเวลา Workshop

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561

10.00 - 20.00 น.       กิจกรรมประดิษฐ์สิ่งของง่ายๆ จากเสื้อผ้า/กระดาษเหลือใช้

13.00 - 16.00 น.        "มาส์กและสครับผิวหน้าและผิวตัวจากข้าว และสมุนไพรฤทธิ์เย็น"โดย Mamasayyes ยูทูปเบอร์ผู้หลงใหลในการนำวัสดุในครัวมาเปลี่ยนเป็นของประทินผิว   

16.30 - 19.30 น.  แชมพูก้อน ทำง่าย เก็บสะดวก ปลอดขยะโดยใส่ใจเนเจอร์แอนด์เฮอร์เบิล

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2561

10.00 - 20.00 น.        กิจกรรมประดิษฐ์สิ่งของง่ายๆ จากเสื้อผ้า/กระดาษเหลือใช้

13.30 - 16.00 น.        ไขผึ้งห่ออาหาร วัสดุจากธรรมชาติแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติก (BeeswaxWraps)โดย SuperBee Wax Wraps

18.00 - 19.00 น.        วงเสวนา “Shopless Society ซื้อน้อย ใช้ซ้ำ ทำเอง”

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561

10.00 - 20.00 น.        กิจกรรมประดิษฐ์สิ่งของง่ายๆ จากเสื้อผ้า/กระดาษเหลือใช้

13.00 - 16.00 น.        กระเป๋าจากป้ายผ้าใบเก่า โดย TAM:DA  

16.30 - 19.30 น.        เปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าเป็นสิ่งใหม่ โดยคุณปีโป้ จาก Cheeze TV DIY

หมายเหตุ: กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

MAKE SMTHNG เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ทั้งใน ฮ่องกง จีน สหรัฐอเมริกา แคนาดา เคนยา และประเทศอื่นๆอีกมากมายโดยจัดขึ้นเพื่อท้าทายวัฒนธรรมบริโภคนิยม โดยเสนอทางเลือกหลายๆทางเพื่อแก้ปัญหาการบริโภคแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นด้านแฟชั่น เทคโนโลยี หรือการลดขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีทั้งดีไซน์เนอร์ คนดังและผู้ที่สนใจในงาน DIY มาร่วมกิจกรรม อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ www.makesmthng.org

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/getinvolved/activities/Make-SMTHNG-Week-Bangkok




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2561   
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2561 11:16:53 น.   
Counter : 354 Pageviews.  


การชะลอถ่านหินฉบับปลอม



บทความ โดย จริยา เสนพงศ์

การชะลอเพื่อผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนอุตสาหกรรมถ่านหินระลอกใหม่

จากเดิมการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อยู่ภายใต้การจัดสรรของหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐตามกรอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าของรัฐ กลุ่มทุนธุรกิจพลังงานเอกชนและการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ขณะนี้กำลังเปลี่ยนมือสู่การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกลางรายโครงการในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมที่บริษัทเอกชนเหล่านั้นดำเนินการอยู่แล้ว โดยที่โครงการถ่านหินเหล่านี้สามารถผลักดันได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเพื่อลดต้นทุนราคาเชื้อเพลิงจากการเพิ่มสูงขึ้นของเชื้อเพลิงน้ำมันเตาทำให้ต้องนำเข้าถ่านหินอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น จากข้อมูลของกรมศุลกากร(1) พบว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าถ่านหินราว 1.6 ล้านเมตริกตัน และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้วมีการนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 21.6 ทั้งจากเหมืองถ่านหินในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ถ่านหินราว 39. 07 ล้านเมตริกตัน โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าถ่านหินราว 23.73 ล้านเมตริกตันและที่เหลือป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

หากพิจารณาถึงการใช้ถ่านหินของโรงไฟฟ้าถ่านหินและกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจะพบว่าอยู่ในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนักและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพิจารณาร่วมกับทิศทางการพัฒนาและการลงทุนของรัฐที่มุ่งผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขยะและเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามภาคต่างๆ ของประเทศ

การเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกลางของภาคอุตสาหกรรมกำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนและประชาชนในพื้นที่เนื่องจากมีปัจจัยบางประการที่เอื้อให้โครงการดังกล่าวจะสามารถเดินหน้าตามที่คาดหมายไว้

ปัจจัยแรกคือ การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการดำเนินการอยู่แล้วและ /หรือเป็นพื้นที่ของเจ้าของโครงการ และอาจจะเปิดช่องให้มีการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในพื้นที่ก่อนที่จะมีการอนุมัติขั้นตอนสุดท้ายจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) 

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดจากกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (2) ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของกลุ่มธุรกิจในเครืออุตสาหกรรมกระดาษเอสซีจีที่มีโรงงานกระดาษของบริษัทในเครือดำเนินกิจการในพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และมีการใช้ถ่านหินในการผลิตความร้อนในอุตสาหกรรมกระดาษมาอย่างต่อเนื่อง

การเกิดขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ จึงอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับโรงงานอุตสาหกรรมกระดาษ และโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสื่งแวดล้อมหลังจากมีการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่

ถัดมาคือ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ EHIAกระบวนการทั้งสองนี้ยังคงก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ไม่แตกต่างจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ เนื่องจากกระบวนการจัดทำรายงานดังกล่าวยังคงซ้ำรอยความผิดพลาดตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินการศึกษาผลกระทบที่ยังคงขอบเขตการศึกษาไว้ที่รัศมี 5 กิโลเมตรทุกโครงการ ทั้งๆที่โครงการที่จะเกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบมากกว่านั้นและเกิดการสะสมมลพิษในระยะยาว รวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการฯ และการเพิกเฉยต่อการจัดทำทางเลือกการลงทุนพลังงานอื่นที่ครอบคลุมเพื่อประกอบการพิจารณา

อีกตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นคือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี (3)(4) ขนาด 150 เมกะวัตต์ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนอนุมัติสุดท้ายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลังจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)ภายใต้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้ว่ามีการจัดทำรายงานฉบับดังกล่าวแต่ยังคงเกิดปัญหาดังที่กล่าวตอนต้น และส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมลงชื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและการเห็นชอบต่อรายงาน EHIA ดังกล่าวมากกว่า2,000 รายชื่อ

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความเกี่ยวพันของอุตสาหกรรมถ่านหินสู่การอนุมัติการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ

การจัดการพลังงานของประเทศไทยยังคงล้มเหลวในมิติของธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็น

1) ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การเข้าถึงและสิทธิของประชาชนตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนพลังงานของประเทศซึ่งยังเป็นไปได้ยากยิ่ง

2) ผลประโยชน์ทับซ้อนของถ่านหิน รวมถึง รัฐบาลสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ลงทุนสัมปทานถ่านหินและนำเข้าถ่านหินภายใต้การต่อรองอำนาจทางการเมือง

3) การนำเข้าถ่านหินของบริษัทเอกชนทุนใหญ่ที่เน้นการกระจายถ่านหินป้อนสู่อุตสาหกรรม โดยนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศสู่เกาะสีชัง ขนส่งทางเรือสู่จังหวัดอยุธยา และขนทางบกโดยรถบรรทุกป้อนให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ใช้เป็นเชื้อเพลิง จากจุดเริ่มต้นธุรกิจนำเข้าถ่านหินมาใช้ในกิจการภายในสู่การขายถ่านหินให้กับอุตสาหกรรมอื่น และสุดท้ายขยายฐานสู่การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของตน โดยขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การรับซื้อไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)

จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงถูกตั้งคำถาม เนื่องจากไฟฟ้าสำรองของประเทศมีมากกว่าร้อยละ 30 และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานได้สั่งชะลอการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ทั้งหมดซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน แต่ขณะเดียวกัน ยังคงมีการเดินหน้าโดย กกพ. เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ จากกลุ่มอุตสาหกรรม

ดังนั้น การชะลอโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในประเทศไทยจึงมิใช่การเปลี่ยนผ่านสู่การลงทุนพลังงานหมุนเวียนแต่คือการเปลี่ยนมือสู่กลุ่มทุนภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ถ่านหินอยู่แล้วและเพิ่มการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกลางตามจังหวัดเป้าหมาย

การลด ละ เลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ของประเทศไทยยังไม่ขึ้นเกิดจริงตราบเท่าที่เจตจำนงของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหินยังคงอยู่และดำเนินต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติพลังงานหมุนเวียนที่แท้จริงได้ ที่นี่

อ้างอิง
1. https://www.hellenicshippingnews.com/thailands-jan-coal-imports-rise-22-on-year-to-1-6-mil-mt/
2. https://www.matichon.co.th/region/news_725519
3. โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ขนาด 40 เมกะวัตต์ (TG 7)
4. โครงการ โรงไฟฟ้า พลังความร้อน ขนาด 150 เมกะวัตต์ 

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61817


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2561   
Last Update : 30 สิงหาคม 2561 13:48:37 น.   
Counter : 471 Pageviews.  


เมื่อพลาสติกไม่เพียงแต่ทำลายมหาสมุทร หากยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก



บทความ โดย Sarah-Jeanne Royer

Sarah-Jeanne Royer นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาย พร้อมทีมวิจัย พบว่าพลาสติกที่กำลังย่อยสลายสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดใหม่ที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก และก๊าซที่เพิ่งค้นพบนี้ไม่ได้รวมอยู่รายชื่อของก๊าซที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก การปล่อยก๊าซเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพลาสติกมีการผลิตออกมาและเกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเริ่มย่อยสลายเมื่อเวลาผ่านไป

ก๊าซเรือนกระจกมีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น ระบบนิเวศบนบกและในมหาสมุทร พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง และการกัดเซาะชายฝั่ง พลาสติกส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากก๊าซธรรมชาติดังนั้นการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะพลาสติกอาจไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยฮาวายเป็นที่แรกที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างก๊าซเรือนกระจกและพลาสติกในสิ่งแวดล้อม


โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลหลักต่อพลาสติกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าโพลีเอธิลีน ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด พลาสติกชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไปในพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งมากที่สุด และเป็นพลาสติกชนิดเดียวกันที่ไหลลงสู่มหาสมุทรและแม่น้ำของเรา ข้อมูลของงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเมื่อพลาสติกชนิดนี้แตกตัวในมหาสมุทร ระดับของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 488 เท่ามากกว่าเม็ดพลาสติกเม็ดก่อนที่จะถูกผลิตเป็นถุงพลาสติกหรือขวดน้ำพลาสติก

แต่ยังไม่จบเพียงเท่านั้น พลาสติกที่อยู่กล้างแจ้งโดนแสงแดดและลม เช่น บนชายหาด แนวชายฝั่งทะเล ทุ่งหญ้า หรือสนามเด็กเล่น เป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ ดังนั้นในขณะที่เราต้องปกป้องพลาสติกไม่ให้ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว เรายังต้องจัดการกับขยะพลาสติกบนพื้นดินอีกด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้มีความหมายอย่างมากต่อการจัดการของเสียรวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันมลพิษจากขยะพลาสติกอยู่ในระดับวิกฤตและเมื่อบวกกับข้อมูลใหม่ชิ้นนี้แล้วทำให้ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ลองคิดเล่น ๆ ว่าจำนวนขยะพลาสติกที่ถูกพัดขึ้นมาบนชายฝั่ง พร้อมกับปริมาณพลาสติกที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ถึงเวลาเราควรเพื่อปกป้องโลกของเราจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเราจำเป็นต้องหยุดมลพิษจากขยะพลาสติกที่ต้นตอ

หลอดพลาสติกที่เก็บได้จากการทำความสะอาดชายหาดที่เกาะฟรีดอม ประเทศฟิลิปปินส์ © Daniel Müller / Greenpeace

อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับพลาสติกและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฉบับคลิกได้ที่นี่

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61823


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2561   
Last Update : 29 สิงหาคม 2561 14:07:21 น.   
Counter : 492 Pageviews.  


สิ่งมีชีวิตกี่สายพันธุ์บนโลกกำลังรับผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์



Blogpost โดย Rex Weyler

แค่เพียงสังเกตดู เราก็รู้ได้ว่ามนุษย์นั้นได้เข้าไปรบกวนสมดุลของสรรพชีวิตบนโลก ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ต้องสูญพันธุ์ไปมากมาย โดยในผลสำรวจสิ่งมีชีวิตบนโลก (Census of Earth’s Biomass) ฉบับล่าสุดได้มีการเผยถึงรายละเอียดบางส่วนเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางสายพันธุ์บนโลก

งานวิจัยของ ยีนอน เอ็ม บาร์-ออน และ รอน ไมโล จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มัน ร่วมกับ ร็อบ ฟิลิปส์ จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ในวารสารชื่อ Proceeding of the National Academy of Science (PNAS) ฉบับนี้ ได้รวบรวมผลวิจัยทั้งระดับโลกและท้องถิ่นกว่าหลายร้อยชิ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งภายในเนื้อหามีการแสดงจำนวนโดยประมาณที่จัดทำขึ้นใหม่ของวงศ์ ไฟลัม และอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตที่จำเพาะเจาะจงบางชนิด

เราพบว่ามนุษย์และปศุสัตว์บนโลกมีจำนวนรวมกันมากถึงร้อยละ 96 ของจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆอย่างวาฬ สิงโตทะเล หมี ช้าง แบดเจอร์ หนูผี กวาง เสือพูมา หนู หมาป่า และอื่นๆ ที่เหลือรวมกันนั้นมีจำนวนเพียงราวร้อยละ 4.2 เท่านั้น

โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดรวมถึงมนุษย์และปศุสัตว์นั้นคิดเป็นจำนวนเพียงร้อยละ 0.03 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก และสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์ทั้งหมด ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์จำพวกปลา แมลง หนอน สัตว์ปีก และอื่นๆ นั้นนับรวมกันเป็นเพียงร้อยละ 0.37 ของสิ่งมีชีวิตรวมเท่านั้น ส่วนผู้ผลิตหลักทั้ง 2 อาณาจักรที่สร้างอาหารเองได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ อันได้แก่พืชและแบคทีเรีย ยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจำนวนมากที่สุดทั้งบนผืนโลกและใต้ผืนน้ำ ซึ่งมีจำนวนรวมกว่าร้อยละ 95 ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมด

การกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในโลก

แผนภาพโวโรนอยของการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตโลก (ได้รับการยินยอมให้เผยแพร่จากการสำมะโนสิ่งมีชีวิตของบาร์-ออน ฟิลิปส์ และไมโล)

จุดเริ่มต้นในโบราณกาล

แบคทีเรียคือสิ่งมีชีวิตที่มีเรื่องราวความเป็นมายาวนานและมีความสำคัญอย่างมาก พวกมันเริ่มเติบโตมาจากโมเลกุลที่มีชีวิตตั้งแต่เมื่อ 3,500 ล้านปีก่อน โดยมีไซยาโนแบคทีเรีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน) และสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ชื่อโปรแคริโอต รวมถึงอาร์เคียอันเป็นแบคทีเรียระดับเดียวกัน เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตรูปแบบเดียวที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้เมื่อเกือบสองพันล้านปีที่ผ่านมา

ขณะที่แบคทีเรียเริ่มมีวิวัฒนาการมากขึ้นจนสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นอาหารได้ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง พวกมันก็ทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ดี การเติบโตครั้งนี้ได้ปล่อยก๊าซออกซิเจนสู่ท้องทะเลและทำให้เกิดเหตุการณ์ “ออกซิเจนพิษ” ขึ้น ซึ่งเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติการณ์ในช่วง 2,500 และ 2,100 ล้านปีก่อน โดยออกซิเจนที่เป็นพิษต่อแบคทีเรียอนาแอโรบิก (anaerobic) ได้ทำให้สายพันธุ์จำนวนมากสูญพันธุ์ลง จนกระทั่งเกิดสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการให้สามารถเผาผลาญออกซิเจนเพื่อกำจัดมลพิษขึ้น โดยสิ่งมีชีวิตที่หายใจด้วยออกซิเจนนี้ได้ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่สมดุลอีกครั้งจนทำให้พืชเติบโต และในขณะเดียวกัน เหล่าฟังไจก็เติบใหญ่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ใต้ผิวโลกที่ไร้ออกซิเจน

ฟังไจในป่าดิบชื้นที่หุบเขาคาลาซู เมืองสอหร่ง ปาปัวตะวันตก © เจอรนาสันโต สุขารโน / กรีนพีซ

ในปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ยุคโบราณกาลเหล่านี้ทั้งอาร์เคีย ฟังไจ แบคทีเรีย โพรทิสต์ และพืชนั้นมีจำนวนมากถึงร้อยละ 99.6 ของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยนักชีววิทยาได้ประเมินค่าชีวมวลไว้เป็นหน่วย “คาร์บอนพันล้านตัน” (Gt C) ซึ่งสรุปรวมของค่าการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันโดยอิงจากสำมะโนสิ่งมีชีวิตของบาร์-ออน ฟิลิปส์ และไมโลมีดังต่อไปนี้

สิ่งมีชีวิตรวมบนโลก: คาร์บอน 545.2 พันล้านตัน (Gt C)

พืช

450 Gt C

ร้อยละ 82.54

บนพื้นผิวโลกเป็นหลัก

แบคทีเรีย

70 Gt C

ร้อยละ 12.84

ใต้ผิวดินระดับลึก

ฟังไจ

12 Gt C

ร้อยละ 2.20

ใต้ผิวดินระดับตื้น

อาร์เคีย

7 Gt C

ร้อยละ 1.28

ใต้ผิวดินระดับลึก

โพรทิสต์

4 Gt C

ร้อยละ  0.73

ในน้ำเป็นหลัก

สัตว์

2 Gt C

ร้อยละ 0.37

ในน้ำทะเลเป็นหลัก

ไวรัส

0.2 Gt C

ร้อยละ 0.04

ในระบบนิเวศทั้งหมด

แม้ว่าผลวิเคราะห์นี้จะมียอดสรุปรวมที่น่าเชื่อถือ ทว่าจำนวนที่ได้ก็ยังไม่แน่นอนนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำทะเลลึกและใต้ผิวดิน ซึ่งเป็นไปได้ว่าทั้งแบคทีเรีย ฟังไจ อาร์เคีย และโพรทิสต์ต่างก็อาจมีจำนวนมากกว่าที่คำนวณไว้มาก ส่วนของค่าประมาณพืชและสัตว์นั้นมีจะความน่าเชื่อถือมากกว่า

ในส่วนของพืชซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลนั้นมีจำนวนมากที่สุดบนพื้นผิวโลกโดยคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด รวมถึงแม้จะมีการตัดไม้ทำลายป่าโดยมนุษย์และการกลายสภาพเป็นทะเลทรายของระบบนิเวศทุ่งหญ้าอย่างมหาศาลก็ตาม และแม้ว่ากว่าร้อยละ 99 ของสิ่งมีชีวิตจะอยู่บนพื้นผิวโลก แต่สัตว์ส่วนใหญ่กลับอยู่ใต้ท้องทะเลเป็นหลักในรูปของปลาและแพลงค์ตอนสัตว์

บนพื้นผิวโลก สิ่งมีชีวิตผู้ผลิต (พืชและแบคทีเรีย) นั้นมีจำนวนมากกว่าผู้บริโภคอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน ผู้บริโภคกลับมีจำนวนมากกว่าผู้ผลิตในท้องทะเล ซึ่งเรารู้สึกข้องใจกับจำนวนดังกล่าวจนกระทั่งเราพบว่าผู้บริโภคในทะเลขนาดใหญ่นั้นมักจะกินผู้บริโภคที่มีขนาดเล็กกว่า ในขณะที่ผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดบนผิวโลกนั้นกลับกินพืชเป็นอาหาร

ช้างในทุ่งสะวันนามาไซ มารา ประเทศเคนยา แอฟริกา © มาร์คุส เมาว์ธ / กรีนพีซ

มีเพียงร้อยละ 60 ของสิ่งมีชีวิตในโลกเท่านั้นที่อยู่บนผิวโลกและในทะเล (ราว 320 Gt C)  ส่วนสิ่งมีชีวิตที่เหลือนั้นจะอยู่ใต้ผิวดิน อันได้แก่รากพืช (130 Gt C) และจุลินทรีย์ในดินและใต้ผิวโลกระดับลึก (ราว 100 Gt C) โดยราวร้อยละ 30 ของสิ่งมีชีวิตที่เป็นพืชนั้นจะเป็นรากอยู่ใต้ผิวโลก ซึ่งอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันกับฟังไจ แบคทีเรีย และจุลินทรีย์อื่นๆ

ผลกระทบจากมนุษย์

จากสรุปรวมข้างต้นจะพบว่าสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่แพลงก์ตอนสัตว์และปลา ไปจนถึงมนุษย์และวาฬ นั้นมีจำนวนเพียงน้อยนิดเท่านั้นจากสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก ซึ่งหากสังเกตแค่ค่าสิ่งมีชีวิต (ร้อยละ 0.37 ของสิ่งมีชีวิตโดยรวม) เราจะพบการกระจายตัวดังนี้

สิ่งมีชีวิตบนโลก: คาร์บอน 2 พันล้านตัน (Gt C)

สัตว์ขาปล้อง (อาร์โทรพอด)

1.000 Gt C

ร้อยละ 50.00

50.00 %

กุ้ง กั้ง ปู แมลง แมงมุม

ปลา

0.700 Gt C

ร้อยละ 35.00

ปลาทะเล ปลาน้ำจืด

มอลลัสกา

0.200 Gt C

ร้อยละ 10.00

มักเป็นสัตว์ในทะเล

หนอนปล้อง (แอนเนลิด)

0.200 Gt C

ร้อยละ 10.00

หนอนปล้อง ปลิง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

0.167 Gt C

ร้อยละ 8.35

สัตว์บนบกและในทะเล

ไนดาเรีย

0.100 Gt C

ร้อยละ 5.00

ปะการัง แมงกะพรุน ไฮโดรซัว

หนอนตัวกลม (เนมาโทด)

0.020 Gt C

ร้อยละ 1.00

หนอนปรสิต

สัตว์ปีกตามธรรมชาติ

0.002 Gt C

ร้อยละ 0.10

สัตว์ปีกบนบกและในน้ำ

สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

< 0.001 GtC

น้อยกว่าร้อยละ 0.01

แทบไม่พบ

สัตว์เลื้อยคลาน

< 0.001 GtC

น้อยกว่าร้อยละ 0.01

แทบไม่พบ

จะเห็นได้ว่าครึ่งหนึ่งของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดคือสัตว์ขาปล้อง (อาร์โทรพอด) อันได้แก่แมงมุม ด้วง แมลง และสัตว์จำพวกกุ้ง กั้ง ปู โดยมีแมลงเป็นสายพันธุ์ที่มีจำนวนอุดมสมบูรณ์มากที่สุดกว่าหนึ่งล้านชนิดที่ได้รับการจดบันทึก ส่วนเคยแอนตาร์กติกบางสายพันธุ์ เช่น Euphausia superba นั้นมีจำนวนมากพอๆ กับมนุษย์ทั้งหมด และแม้แต่ปลวกเพียงแค่สายพันธุ์เดียวก็ยังอาจมีจำนวนมากกว่าจำนวนสิ่งมีชีวิตสัตว์ปีกทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแมลงจะมีจำนวนมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นอย่างมหาศาล แต่พวกมันเองก็ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มจำนวนประชากรของมนุษย์ ทั้งจากการทำลายที่อยู่อาศัยและการใช้สารฆ่าแมลง โดยนักชีววิทยาพบว่ามีสารเคมีแปลกปลอมตกค้างกว่า 150 ชนิดในเกสรผึ้งซึ่ง เอริค มุสเซน ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงผึ้งเรียกมันว่า “น้ำหวานพิษฆ่าแมลง” โดยมีตัวการหลักก็คือสารฆ่าแมลงชื่อนีโอนิโคตินอยด์ อันเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่นิยมใช้ทั่วไปโดยบริษัทเกี่ยวกับสารเคมี ทั้งไบเออร์/มอนซานโต ซินเจนทา บีเอเอสเอฟ ดาว และดูปองท์ ส่วนแมลงอื่นๆ อย่างผีเสื้อ จักจั่น และด้วงบางสายพันธุ์ก็ค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆ ตามพื้นที่ต่างๆ บนโลกเช่นกัน

เคยแอนตาร์กติกเพียงสายพันธุ์หนึ่งอาจมีจำนวนมากเท่าๆ กับมนุษย์ทั้งหมด © แอนเดรีย อิซซอที / Thinkstock

สัตว์อื่นๆ ที่เหลือส่วนมากคือสัตว์จำพวกปลา ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นคิดเป็นเพียงราวร้อยละ 8 ของสัตว์ทั้งหมด และร้อยละ 0.03 ของสิ่งมีชีวิตโดยรวมเท่านั้น แต่อย่างไรเสีย มนุษย์ก็ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่กินพื้นที่สัดส่วนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากที่สุด โดยมีสัตว์ที่ปศุสัตว์ของมนุษย์นั้นถึง 0.1 Gt C หรือคิดเป็นร้อยละ 59.9 ของชีวมวลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดบนโลก และตัวมนุษย์เองก็มีจำนวนมากถึง 0.06 Gt C หรือคิดเป็นร้อยละ 35.9 ของทั้งหมด ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตามธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบกนั้นมีจำนวนคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.2 ของชีวมวลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การที่บรรพบุรุษของเราพัฒนาเทคโนโลยีในการใช้ไฟ อาวุธ และการเกษตรกรรมขึ้นได้ทำให้มนุษยชาติมีอำนาจเหนือสรรพชีวิตบนพื้นโลก โดยเริ่มมาตั้งแต่ราว 50,000 ปีก่อนที่กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์โบราณขนาดใหญ่ (megafauna) ซึ่งนับเป็นการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกถึง 178 สายพันธุ์ โดยสูญพันธุ์ไปทั้งสกุลกว่า 100 สกุล รวมถึงอูฐ ม้า กราวด์สลอธ เสือเขี้ยวดาบ และแกลปโตดอน (อาร์มาดิลโลขนาดใหญ่)

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีการทำเกษตรกรรม โดยสำมะโนความหนาแน่นของสิ่งมีชีวิตปี 2554 ที่รวบรวมโดยวาเคลฟ สมิล ชี้ว่ากิจกรรมของมนุษย์ในช่วงกว่า 5,000 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้จำนวนสิ่งมีชีวิตรวมบนโลกลดลงถึงราวร้อยละ 50 คิดเป็นจากกว่า 1,000 GtC ในช่วงแรกเริ่มของเกษตรกรรมเหลือเพียง 545 GtC ในปัจจุบัน ซึ่งการลดจำนวนลงดังกล่าวก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั้งจากการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ป่าและการดัดแปลงพื้นที่ป่าเพื่อการทำเกษตรกรรม

การครอบงำพื้นที่ของมนุษย์ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังบนพื้นโลก  โดยพอล เชฟัวร์กา และ วาเคลฟ สมิล

ส่วนในมหาสมุทร การประมงของมนุษย์ก็ได้ทำให้จำนวนปลาที่นิยมจับเพื่อการค้าลดลงถึงร้อยละ 85 และ “ปลาใหญ่” อย่างทูน่า ปลากระโทง และฉลาม ลดลงถึงร้อยละ 90 โดยอัตราปลาที่จับได้ในทะเลของโลกนั้นลดลงถึงร้อยละ 6.4 ตั้งแต่ปี 2535 แม้ว่าจะมีการใช้เรือและอวนที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นแล้วก็ตาม นอกจากนี้ พื้นที่ “เขตมรณะ” (พื้นที่ที่มีออกซิเจนน้อยจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้) ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 ซึ่งนับเป็นการปรับเป็นกรดจากการปล่อยคาร์บอนที่ทำลายแนวปะการังอันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่รุนแรงที่สุด อีกทั้งการล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล รวมถึงวาฬ ก็ได้ทำให้จำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลลดลงถึงร้อยละ 80 ด้วยเช่นกัน

ราวครึ่งหนึ่งของพื้นที่ป่าบนโลกถูกทำลาย จากกว่า 6 พันล้านเฮกเตอร์ของป่าไพลสโตซีนเหลือเพียง 3.5 พันล้านเฮกเตอร์ และป่าที่เหลือรอดมาก็มักจะอยู่ในรูปของป่าฟาร์มเนื้อไม้หรือป่าช้าฝังศพซึ่งมีจำนวนชนิดของพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ลดน้อยลงเรื่อยๆ หากเรานับรวมป่าเหล่านี้แล้ว เราจะพบว่ามนุษย์ได้ทำลายพื้นที่ป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงถึงร้อยละ 70 ของป่าทั้งหมดบนโลก โดยเราต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไปราว 13 ล้านเฮกตาร์ต่อปี

ป่าที่ถูกตัดจนเหี้ยนเกรียนในเขตแดนครี ที่ควิเบกเหนือ © กรีนพีซ

ในระหว่างปี 2513 และ 2553 ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังลดลงถึงร้อยละ 29 โดยสัตว์จำพวกปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วนมโดยรวมนั้นลดลงถึงร้อยละ 58  ยิ่งไปกว่านั้น สัตว์ปีกที่มนุษย์เลี้ยง (ส่วนมากเป็นไก่) ยังมีจำนวนมากกว่าชีวมวลของสัตว์ปีกตามธรรมชาติทั้งหมดถึงสองเท่าครึ่ง ส่วนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลานเองก็ลดลงอย่างมากจนเรียกได้ว่าเป็นชีวมวลที่ “แทบไม่พบ” ในสำมะโนชีวมวลปัจจุบัน

หากเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าว มนุษย์เราจะต้องชลอการตักตวงผลประโยชน์จากโลกธรรมชาติและยุติการทำลาย การใช้จนหมดไป และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าบนโลกใบนี้ เพื่อเหลือพื้นที่ให้สรรพชีวิตอื่นๆ ได้เติบใหญ่บ้างเช่นกัน

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61770


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2561   
Last Update : 15 สิงหาคม 2561 11:49:58 น.   
Counter : 426 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com