กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
คุ้มครองโลกอย่างไรในยุคพลาสติกครองโลก



บทความ โดย ธารา บัวคำศรี

วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ก่อรูปขึ้นในสหรัฐอเมริกาจากปี พ.ศ. 2505 แต่กว่าจะเป็นกระแสธารของความสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมจากวิกฤตที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้นและกลายเป็นจุดกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ ก็อีกเกือบทศวรรษถัดมาคือในปี 2512 เมื่อสมาชิกวุฒิสภาเกย์ลอร์ด เนลสัน ผลักดันให้มีการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้า ชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคนออกมาบนท้องถนนและในพื้นที่สาธารณะเพื่อร่วมรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 22 เมษายน 2513 มีการตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา(United State Environmental Protection Agency หรือ USEPA) นำไปสู่การตรากฎหมายอากาศสะอาด นำ้สะอาด และกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Clean Air Act, Clean Water Act และ Endanger Species Act) นับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วทุกมุมโลกร่วมกันลงมือปฏิบัติการในวันคุ้มครองโลก

ในปี พ.ศ.2561 นี้ เครือข่ายวันคุ้มครองโลก(Earth Day Network) ได้ กำหนดเป้าหมายการรณรงค์ในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มาแรงที่สุดของยุคว่าด้วยเรื่อง “ยุติมลพิษพลาสติก (End Plastic Pollution)” การรณรงค์จะทุ่มเทแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับพลาสติกของเรา

โดยจะสืบเนื่องไปจนถึงวาระครบรอบ 20 ปี ของวันคุ้มครองโลกใน ปี พ.ศ.2563

การผลิตพลาสติก

พลาสติกถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ.2450 แต่เรื่องราวแห่งความรักระหว่างมนุษย์และพลาสติกเกิดขึ้นจริงๆ ในราวปี พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การผลิตพลาสติกเพิ่มปริมาณเป็นยี่สิบเท่าเมื่อเทียบกับสองทศวรรษก่อนหน้านี้

ผลิตภัณฑ์พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมนุษย์ เป็นเวลายาวนานที่เรารับรู้แต่ประโยชน์ของมัน แต่เราแทบไม่รู้อะไรเลยถึงผลกระทบที่เป็นหายนะต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ ระบบนิเวศธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ พลาสติกกลายเป็นปัญหาจากการที่มันไม่สามารถย่อยสลายได้ การที่สารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกมาจากน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ และความท้าทายอันใหญ่หลวงของการจัดการพลาสติกที่เหมาะสม

จนถึงปัจจุบัน พลาสติกถูกผลิตออกมาราว 9.1 พันล้านตันทั่วโลก ในจำนวนนี้กลายเป็นขยะพลาสติก 6.9 พันล้านตัน มีเพียงร้อยละ 9 ถูกนำไปรีไซเคิล อีกร้อยละ 12 ถูกนำไปเผา ที่เหลือราวร้อยละ 79 ของขยะพลาสติก (5.5 พันล้านตัน) สะสมในหลุมฝังกลบและในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ คาดการณ์ว่าหากแนวโน้มการผลิตพลาสติกและการจัดการขยะพลาสติกยังเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป ภายในปี พ.ศ.2593 จะมีพลาสติกราว 1.32 หมื่นล้านตันถูกทิ้งในหลุมฝังกลบและในสิ่งแวดล้อม ในขณะที่นิวยอร์กไทมส์รายงานว่าสาเหตุหลักของการผลิตพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งร้อยละ 54 ของบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

พลาสติกและผลกระทบสุขภาพ

ผลกระทบในทางลบชัดเจนมากขึ้นหลังจากหลายทศวรรษของการผลิตสินค้าพลาสติกที่ทำจากน้ำมันนับล้านล้านรายการ เป็นที่รับรู้ว่ามลพิษพลาสติกเป็นอันตรายด้านสาธารณสุขและร่างกายของมนุษย์ สารเคมีที่หลุดออกมาจากพลาสติกบางชนิดที่ใช้บรรจุอาหารมีภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ งานวิจัยพบประจักษ์พยานและความเกี่ยวข้องที่ชัดเจนระหว่างระดับของสารเคมีเหล่านี้และการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซมและระบบสืบพันธุ์ การทำงานของระบบประสาทและระบบสมองบกพร่อง โรคหลอดเลือดและหัวใจ

พลาสติกหลายชนิดมี Phthalates ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งยอดฮิตตัวหนึ่งที่มีโอกาสหลุดจากเนื้อพลาสติกเข้าสู่ร่างกายของคนเรา และ Bisphenol A ซึ่งเป็นสารเคมีนิยมใช้กันทั่วไปเพื่อทำให้ขวดพลาสติก เช่น ขวดนม มีความใส สารพิษจะกรองออกและแทรกซึมลงในของเหลวและอาหารที่บรรจุอยู่ภายในได้เมื่อใช้งาน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สาร Bisphenol A จำนวนเพียงเล็กน้อย มีผลทำให้ก่อมะเร็ง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง การเริ่มเป็นหนุ่มสาวเร็วเกินไป โรคเบาหวานและโรคอ้วน ไฮเปอร์ (hyperactivity) และอื่นๆ

พลาสติกและวิกฤตโลกร้อน

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของพลาสติกยังไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด พลาสติกคือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา ประมาณว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกมาจากร้อยละ 8 ของการผลิตน้ำมันทั่วโลก การขุดเจาะน้ำมันและกระบวนการผลิตพลาสติกนั้นปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายรวมถึงคาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ โอโซน เบนซีน และมีเทนที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกายังระบุว่าในกระบวนการผลิตพลาสติก PET(พลาสติกที่นิยมใช้ทำขวดน้ำ) ทุกๆ 1 ออนซ์ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 5 ออนซ์

หากว่าเหตุผลอื่นๆ ไม่อาจโน้มน้าวใจให้ผู้คนลดการใช้พลาสติกลงเพื่อคุ้มครองตัวเราและโลก เราจำต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างพลาสติกกับวิกฤตโลกร้อน การที่เราใช้พลาสติกมากขึ้นยิ่งเร่งเร้าวิกฤตโลกร้อนนั้นควรเป็นเงื่อนไขสำคัญให้แต่ละคนลงมือปฏิบัติในการยุติมลพิษพลาสติก

มลพิษพลาสติกในมหาสมุทร

ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล พลาสติกที่ถูกทิ้งจะรวมตัวกันโดยกระแสน้ำวนมหาสมุทรเป็นแพขยะ กล่าวได้ว่า กระแสน้ำวนมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ(North Pacific Gyre)ถือเป็นบริเวณที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลกและเรียกว่าแพขยะใหญ่แห่งมหาสมุทรแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) งานวิจัยล่าสุดระบุ แพขยะดังกล่าวกินพื้นที่รวมกันมากกว่าประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า โดยที่พื้นผิวของมันจะมีชิ้นส่วนพลาสติกขนาดต่างๆ มากกว่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเช่นแพลงตอนถึง 18 เท่า หรืออีกนัยหนึ่ง 1 กิโลกรัมของแพลงตอนจะมีขยะพลาสติกอยู่ 6 กิโลกรัม

การสำรวจในปี พ.ศ. 2558 มีชาติสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ที่เป็นแหล่งปล่อยขยะพลาสติกลงในมหาสมุทรมากที่สุดในโลก คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และ มาเลเซีย

ขยะพลาสติกเป็นภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเล

เป็นที่รู้กันว่าพลาสติกสามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและนกได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากพวกมันเข้าใจผิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร เรามักพบว่าศพของสัตว์ที่ตายมักจะมีเศษชิ้นส่วนพลาสติกอยู่เต็มท้อง เมื่อเร็วๆ นี้ ในประเทศไทยพบสัตว์ทะเลหายากตายจากกินขยะพลาสติกและเศษเครื่องมือทำประมงเฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี โดยแบ่งเป็นการกินร้อยละ 60 จะเป็นพวกโลมาและวาฬ ส่วนพวกเต่าพบปัญหาขยะในทะเลติดพันขาและตามลำตัวสูงถึงร้อยละ 70

พลาสติกจิ๋ว(Microplastics)

เมื่ออยู่ในน้ำ สัมผัสแสงแดดหรือสสารอื่นๆ พลาสติกจะแตกออกเป็นชิ้นเล็กมากๆ บางครั้งเล็กจนไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า เศษชิ้นส่วนพลาสติกนี้อยู่ในทุกหนทุกแห่ง เมื่อเราดื่มน้ำ กินปลาและอาหารทะเล หรือเติมเกลือลงไปในมื้ออาหาร ก็มีโอกาสสูงที่จะรับเอาชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กเข้าไป

ไมโครบีดส์(microbeads) เป็นพลาสติกจิ๋วในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด และอื่นๆอีกมากมาย ส่วนใหญ่จะทำจากพอลิเอทิลีน แต่สามารถทำจากพลาสติกปิโตรเคมีอื่นๆได้ เช่น พอลิโพรพิลีนและพอลิสไตรีน ไมโครบีดส์มีขนาดเล็กพอที่จะลงไปในท่อระบายน้ำของอ่างล้างหน้าของเราและง่ายต่อการผ่านระบบกรองน้ำ การที่มีขนาดเล็กจึงอาจดูเหมือนไม่เป็นอันตราย แต่ไมโครบีดส์จำนวน 100,000 เม็ด จะถูกล้างลงอ่างด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์เพียงครั้งเดียว และเมื่อหลุดสู่ท้องทะเลก็จะปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร

งานวิจัยเรื่อง ผลกระทบจากชิ้นส่วนไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็งบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ระบุตรวจพบสัตว์ทะเลตระกูลหอยใน “พื้นที่เศรษฐกิจชลบุรี” พบสารเคมีปนเปื้อนจากพลาสติกขนาดจิ๋วเกินค่ามาตรฐานโดยพื้นที่บริเวณอ่างศิลาพบการปนเปื้อนมากที่สุด

เราทำอะไรได้บ้าง

เมื่อเราเปิดหัวใจให้กว้าง เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเรียนรู้จากปัจเจกบุคคล กลุ่มอาสาสมัคร เครือข่ายพลเมือง องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยที่ทำงานเพื่อช่วยกันแก้ไขและหาทางออกที่ยั่งยืน ปฏิบัติการต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำเพิ่มเติมเพื่อช่วยยุติมลพิษพลาสติก

  • คำนวณหารอยเท้าเชิงนิเวศจากการใช้พลาสติกของเราเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน https://www.earthday.org/plastic-calculator/

  • เล่าเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจของการใช้พลาสติกน้อยลง ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อย่างเรื่องนี้ https://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58423/

  • ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Million Acts of Blue ปฏิบัติการเพื่อผลักดันร้านค้าปลีก บรรษัทและภาคธุรกิจใ้ห้ลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

  • ลงชื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารของบรรษัทขนาดใหญ่มีนโยบายและภาระรับผิดต่อมลพิษพลาสติกที่บรรษัทดังกล่าวมีส่วนก่อขึ้น

ธารา บัวคำศรี เป็นผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันเฉียงใต้

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61416


 ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




Create Date : 23 เมษายน 2561
Last Update : 23 เมษายน 2561 11:33:53 น. 0 comments
Counter : 519 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com