กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ข้อกฎหมายว่าด้วยเรื่องพลังงานหมุนเวียนนี้จะเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตไฟฟ้าของยุโรปไปตลอดกาลได้อย่างไร



กังหันลมและแผงโซลาร์ในอังกฤษอาจไม่ถูกนับรวมอยู่ในกฎหมายใหม่ของประเทศ

รัฐบาลจากประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปเตรียมจัดการประชุมที่เมืองบรัสเซลส์ในช่วงนี้ เพื่อลงคะแนนเสียงในวาระอันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องพลังงานหมุนเวียนในสหภาพยุโรป ซึ่งจะตระหนักถึงประเด็นด้านสิทธิของประชาชนและชุมชนในการผลิตไฟฟ้าด้วยตนเอง

การประชุมครั้งนี้อาจกลายมาเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎเกณฑ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นในตลาดไฟฟ้าของยุโรปในยุคนี้

ทาง Unearthed ได้รับรายงานข่าวเกี่ยวกับตัวบทล่าสุดของคำสั่งว่าด้วยเรื่องพลังงานหมุนเวียน ซึ่งพบว่าอาจช่วยผลักดันให้มีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนจากครัวเรือนและผู้ผลิตรายย่อยในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นได้

ทว่าทางอังกฤษกลับดูไม่มั่นใจว่าจะนำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้กับกฎหมายของประเทศหรือไม่หลังจากที่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ศักยภาพในการ “จำหน่ายไฟฟ้า” ของอังกฤษนั้นอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด โดยงานวิจัยฉบับหนึ่งชี้ว่าหนึ่งในสามของประชากรในอังกฤษอาจผลิตไฟฟ้าได้เองถึงร้อยละ 44 ของไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในปี 2593

อย่างไรก็ดี ปัญหาคือการที่ลักษณะการซื้อขายไฟฟ้านั้นไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบจำนวนมากโดยประชาชนกว่าหลายล้านครัวเรือน แต่มีไว้เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ หรือกังหันพลังลมแบบนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ที่ได้รับการผลักดันในประเทศ

ส่วนการให้เงินอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนนั้นก็ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีชนิดใดชนิดหนึ่งในขณะนั้นโดยเฉพาะ ดังเช่นในตอนที่แผงโซลาร์แบบติดตั้งบนหลังคาได้รับการสนับสนุน และเมื่อการอุดหนุนลดลง ความวุ่นวายก็กลับมาดังเดิม

นี่คือระบบที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับเหล่าบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ที่มีการว่าจ้างกลุ่มผู้ค้าเพื่อซื้อขายพลังงานของพวกเขา และบริษัทเหล่านี้ก็ยินดีหากจะคงรูปแบบระบบเหล่านั้นไว้

กลุ่มบริษัทดังกล่าวมักจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า โดยเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในอัตราที่ช้ามาก

การเข้าไปรบกวนระบบข้างต้นนี้และเปิดทางให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายบุคคลและชุมชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ผู้คนนับล้านจะสามารถต่อสู้กับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้โดยตรง พร้อมกับได้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนให้เติบโตขึ้น และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้า รวมถึงช่วยลดการพึ่งพาผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่อื่นๆดังที่เคยเป็นมา

การยื่นคำขอขั้นสุดท้ายของสหภาพยุโรปครั้งนี้นับเป็นการประนีประนอมกับอังกฤษ แต่ก็เป็นการประนีประนอมที่มีพลังมากพอจะเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและใช้ไฟฟ้าของประเทศได้

โดยสิ่งที่คุณควรรู้มีดังต่อไปนี้:

ในตอนนี้ประชาชนมี “สิทธิในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน” แล้ว

สิทธิของประชาชนที่จะผลิต ใช้ ขายและกักเก็บไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะได้รับการยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในร่างกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยพวกเขาจะสามารถทำเป็นรายบุคคล ผ่านทางผู้ทำการสำรองไฟฟ้า หรือเป็นการซื้อขายแบบคนต่อคน (peer-to-peer) ก็ได้ และพวกเขายังสามารถร่วมมือกันภายในอาคารหรือหน่วยอพาร์ตเมนต์ รวมถึงให้บุคคลภายนอกเข้ามาช่วยจัดการการติดตั้งได้อีกด้วย

ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับค่าตอบแทนในการผลิตไฟฟ้าของตนเอง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเรื่องนี้เพิ่งจะกลายมาเป็นความจริง การที่ประชาชนผลิตไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้าจากแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านของตนเองแต่กลับไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้นนั้นเป็นไปได้จริงๆ ดังเช่นในประเทศสเปนเป็นต้น

โดยภายใต้กฎหมายนี้ ผู้ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยตนเองจะได้รับค่าตอบแทนตามอัตราในตลาดเป็นอย่างน้อยที่สุดสำหรับไฟฟ้าส่วนเกินที่พวกเขาจ่ายให้โครงข่ายไฟฟ้า กฎหมายใหม่นี้จะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรายย่อยได้รับค่าตอบแทนสำหรับผลประโยชน์ที่พวกเขามอบให้กับระบบและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ กฎหมายนี้ยังทำให้ “ภาษีแสงอาทิตย์” ของสเปนซึ่งมีสาระสำคัญขัดแย้งกันผิดกฎหมายภายใต้ข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรป โดยภาษีแสงอาทิตย์นั้นกำหนดให้ไฟฟ้าส่วนเกินทั้งหมดที่จ่ายให้กับโครงข่ายนั้นไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ และยังคิดค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติกับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าที่ตนผลิตเองอีกด้วย (สำหรับระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่สูงกว่า 10 กิโลวัตต์ขึ้นไป)

แผนการแบ่งสรรไฟฟ้าแผนใหม่จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้

ทางรัฐบาลของประเทศต่างๆนั้นสามารถเสนอแผนการเกี่ยวกับการแบ่งสรรไฟฟ้าอื่นๆได้ เช่น แผนการใช้พลังงานแบบเสรี (Net metering) ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้สามารถซื้อขายหรือส่งหน่วยไฟฟ้าจากที่หนึ่งไปยังบิลไฟฟ้าของอีกที่หนึ่งได้

มีหลายครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง หรืออาจอาศัยในบ้านที่ไม่สะดวกติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาเรือน ข้อกำหนดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถมีบทบาทในตลาดไฟฟ้า

ในสหรัฐอเมริกาและประเทศกรีซ ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องชำระค่าบริการโครงข่ายสำหรับไฟฟ้าที่มีการนำจ่ายระหว่างพื้นที่ ในประเทศเช่นนี้ แผนการแบ่งสรรไฟฟ้าอย่างแผนการใช้พลังงานแบบเสรีจะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ถูกเอาเปรียบได้ง่ายและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เข้าถึงไฟฟ้าได้ยากสามารถเข้าถึงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าได้

ร่างกฎหมายนี้จะช่วยผลักดันให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนท้องถิ่นมากขึ้น 

ในตอนนี้ มีการแยกส่วนชุมชนผู้ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น บริกซ์ตัน (Brixton energy) กับบริษัทพลังงานดั้งเดิมอื่นๆอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่ากลุ่มบริษัทดั้งเดิมจะไม่สามารถเอาเปรียบกลุ่มอื่นผ่านทางกฎหมายได้ 

ในขณะเดียวกัน กฎหมายนี้จะยังช่วยบีบให้รัฐบาลประเทศต่างๆ (ที่อาจไม่นับรวมอังกฤษ) เปิดทางให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กๆสามารถเข้าถึงการสนับสนุนของภาครัฐได้

โดยในตอนนี้ การประมูลทอดตลาดขนาดใหญ่ในระบบราชการกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากและเริ่มเข้าไปแทนที่ระบบการจัดเก็บภาษีโดยตรงแบบเดิมอย่างรวดเร็ว ระบบเช่นนี้เป็นวิธีที่จะทำให้ราคาของโครงการใหญ่ๆลดต่ำลงได้เป็นอย่างดี และจะทำงานได้ดีหากคุณมีสำนักงานผู้ค้าและนักบัญชีทั้งสำนักงานไว้จัดการงานเอกสาร ซึ่งกลุ่มผู้ร่วมมือท้องถิ่นจะถูกกีดกันออกไปจากระบบโดยสิ้นเชิง

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ร่างกฎหมายนี้ระบุไว้ว่ารัฐบาลต่างๆจะต้องใส่ใจกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเสมอเมื่อจะมีการออกแผนการสนับสนุนใดๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดั้งเดิมได้อย่างเท่าเทียม เช่น ด้วยการสร้างระบบการชำระเงินโดยตรงสำหรับผู้จำหน่ายไฟฟ้ารายเล็ก เป็นต้น

ทั้งหมดนี้อาจไม่ถูกนำไปใช้ในอังกฤษ 

อังกฤษได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะออกจากสหภาพยุโรปโดยคงไว้ซึ่งการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทว่ากฎหมายต่างๆข้างต้นนี้จะช่วยทำให้โรงไฟฟ้ากังหันพลังลมแบบบนชายฝั่งและพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กสามารถปฏิบัติการได้ง่ายดายยิ่งขึ้น โดยอังกฤษได้ละเลยการให้การสนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้ากลุ่มนี้มาสักพักแล้ว

นอกจากนี้ ข้อกฎหมายดังกล่าวจะยังช่วยนำอังกฤษไปสู่การมีพลังงานที่มีประสิทธิภาพ  การผลิตไฟฟ้าจากขยะ และเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนอันเป็นเรื่องที่อังกฤษต่อต้านมาเนิ่นนาน

โดยสำนักข่าวไคลเมท โฮม (Climate Home) รายงานว่าทางโฆษกของรัฐบาลได้ปฏิเสธที่จะกล่าวว่าอังกฤษจะยอมนำข้อกฎหมายใหม่นี้ไปใช้หรือไม่ โดยกล่าวแค่เพียงว่า: 

“เรากำลังศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งเป้าด้านพลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน”

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : https://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61702/


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2561   
Last Update : 6 กรกฎาคม 2561 13:46:49 น.   
Counter : 355 Pageviews.  


เชิญร่วมงาน "Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน"




        Rainbow Warrior Ship Tour 2018
        พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน
        Greenpeace Southeast Asia - Thailand

        สงขลา: 16-21 พฤษภาคม 2561
        ภูเก็ต: 9-12 มิถุนายน 2561
        กระบี่: 13-14 มิถุนายน 2561

เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) เรือธงของกรีนพีซออกเดินทางมายังประเทศไทยที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 16-21 พฤษภาคม 2561 จังหวัดภูเก็ตและกระบี่) ระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายน 25621 เพื่อทำงานร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัย ยั่งยืนและเป็นธรรม


เรือของกรีนพีซเป็นพลังสำคัญในการทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ยุติยุคถ่านหิน และผลักดันนโยบายพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2543 โดยที่ชุมชนในภาคใต้ของไทยลุกขึ้นสู้คัดค้านแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นผลสำเร็จ จนถึงปัจจุบันภาคใต้ของไทยยังปลอดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน  และควรจะเป็นเช่นนี้ต่อไปเพื่อปกป้องความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงทางอาหาร แหล่งท่องเที่ยวอันสวยงาม และเพื่ออนาคตที่น่าอยู่ของเราทุกคน

ในปีนี้ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ได้มารณรงค์ที่สองฝั่งทะเลของประเทศไทย ในจังหวัดสงขลา กระบี่ และภูเก็ต ในโครงการ  “Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน” เพื่อเป็นอีกพลังเสียงบอกเล่าถึงเรื่องราวของการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมของประชาชนเพื่อยุติยุคถ่านหินและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรม

พบกับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

จังหวัด

สถานที่

วันที่

ลงทะเบียน
*ไม่มีค่าใช้จ่าย

สงขลา

หาดสมิหลา

16 พฤษภาคม 2561

ร่วมกิจกรรมบริเวณชายฝั่ง
(ไม่ต้องลงทะเบียน)

17-20 พฤษภาคม 2561

ขึ้นชมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

ภูเก็ต

ท่าเรือน้ำลึก

09-12 มิถุนายน 2561

ขึ้นชมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

กำหนดการ

วันเวลา

สถานที่

กิจกรรม

16 พฤษภาคม 2561

หน้าห้างไดอาน่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
  • ปล่อยตัวนักปั่นจักรยานรณรงค์จากหาดใหญ่-สงขลา
หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
  • การแสดงต้อนรับ

  • แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

  • กิจกรรมบนชายฝั่งหาดสมิหลา

17 พฤษภาคม 2561 หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
  • กิจกรรมขึ้นชมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์
  • กิจกรรมบนชายฝั่งหาดสมิหลา
18 พฤษภาคม 2561 หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
  • กิจกรรมขึ้นชมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

  • เวที“Beach for Life” โดยกลุ่มเยาวชน Songkla Forum บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

  • กิจกรรมบนชายฝั่งหาดสมิหลา

19 พฤษภาคม 2561 หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
  • กิจกรรมขึ้นชมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ บนเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

  • เวที ”ปัญญ์ทอล์ค” โดยกลุ่มปันรัก

  • กิจกรรมบนชายฝั่งหาดสมิหลา

20 พฤษภาคม 2561 หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
  • กิจกรรมขึ้นชมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

  • กิจกรรมบนชายฝั่งหาดสมิหลา

21 พฤษภาคม 2561 หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
  • งาน “อะโบ๊ยหมะ เทใจให้ทะเล”

  • นำเสนอรายงานตือโละปาตานี  วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

 *กำหนดการและกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลง

**รายละเอียดกำหนดการและกิจกรรมของจังหวัดภูเก็ตจะแจ้งให้ท่านทราบเร็วๆนี้

ทำไมต้องพลังงานหมุนเวียน 100%?

เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยมีโอกาสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี พ.ศ. 2593 พลังงานหมุนเวียน 100% หมายถึงระบบพลังงานที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในสังคมจากการผสมผสาน เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน อาทิ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ความร้อนใต้พิภพและชีวมวล เข้ากับเทคโนโลยีด้านประสิทธิภาพพลังงาน โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การพัฒนาระบบสายส่งแบบกระจายศูนย์ รวมถึงระบบเก็บประจุไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% ไม่ใช่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ทางเทคนิคหรือผลดีในทางเศรษฐกิจอีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องของเจตจำนงทางการเมือง

ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลดผลกระทบที่เป็นหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและปรับปรุงสภาพสังคมให้ดีขึ้นโดยเคารพข้อจำกัดทางนิเวศวิทยา ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้โดยที่ไม่ทำลายวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชน ในขณะที่ผลประโยชน์จากพลังงานฟอสซิลนั้นตกอยู่กับบรรษัทอุตสาหกรรมไม่กี่แห่ง

ภาคใต้ของไทยเป็นเป้าหมายของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความเข้มแข็งของชุมชนบ่อนอก บ้านกรูด และทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงปากพนัง นครศรีธรรมราช คือพลังการต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตและระบบนิเวศที่ค้ำจุนทุกชีวิตนำไปสู่การยุติโครงการในที่สุดชุมชนในจังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาต่างยืนหยัดคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมายาวนานกว่า 5 ปี ในขณะที่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการโรงแรม การท่องเที่ยว ชาวประมง และเกษตรกร ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนให้กระบี่เดินหน้าไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100%

ประเทศไทยมีศักยภาพใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ขาดแต่เจตจำนงทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบายพลังงานรวมถึงกฎหมายและกลไกสนับสนุนที่ชัดเจนและจริงจัง

ร่วมรณรงค์กับ เรนโบว์ วอร์ริเออร์ เพื่อพลังงานหมุนเวียนของทุกคน

ลงทะเบียนเพื่อเยี่ยมชมเรือ ที่จังหวัดสงขลา

ร่วมผลักดันพลังงานหมุนเวียน 100% ของประเทศไทย


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2561   
Last Update : 11 พฤษภาคม 2561 12:45:47 น.   
Counter : 515 Pageviews.  


คุ้มครองโลกอย่างไรในยุคพลาสติกครองโลก



บทความ โดย ธารา บัวคำศรี

วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ก่อรูปขึ้นในสหรัฐอเมริกาจากปี พ.ศ. 2505 แต่กว่าจะเป็นกระแสธารของความสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมจากวิกฤตที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้นและกลายเป็นจุดกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ ก็อีกเกือบทศวรรษถัดมาคือในปี 2512 เมื่อสมาชิกวุฒิสภาเกย์ลอร์ด เนลสัน ผลักดันให้มีการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้า ชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคนออกมาบนท้องถนนและในพื้นที่สาธารณะเพื่อร่วมรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 22 เมษายน 2513 มีการตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา(United State Environmental Protection Agency หรือ USEPA) นำไปสู่การตรากฎหมายอากาศสะอาด นำ้สะอาด และกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Clean Air Act, Clean Water Act และ Endanger Species Act) นับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วทุกมุมโลกร่วมกันลงมือปฏิบัติการในวันคุ้มครองโลก

ในปี พ.ศ.2561 นี้ เครือข่ายวันคุ้มครองโลก(Earth Day Network) ได้ กำหนดเป้าหมายการรณรงค์ในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มาแรงที่สุดของยุคว่าด้วยเรื่อง “ยุติมลพิษพลาสติก (End Plastic Pollution)” การรณรงค์จะทุ่มเทแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับพลาสติกของเรา

โดยจะสืบเนื่องไปจนถึงวาระครบรอบ 20 ปี ของวันคุ้มครองโลกใน ปี พ.ศ.2563

การผลิตพลาสติก

พลาสติกถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ.2450 แต่เรื่องราวแห่งความรักระหว่างมนุษย์และพลาสติกเกิดขึ้นจริงๆ ในราวปี พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การผลิตพลาสติกเพิ่มปริมาณเป็นยี่สิบเท่าเมื่อเทียบกับสองทศวรรษก่อนหน้านี้

ผลิตภัณฑ์พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมนุษย์ เป็นเวลายาวนานที่เรารับรู้แต่ประโยชน์ของมัน แต่เราแทบไม่รู้อะไรเลยถึงผลกระทบที่เป็นหายนะต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ ระบบนิเวศธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ พลาสติกกลายเป็นปัญหาจากการที่มันไม่สามารถย่อยสลายได้ การที่สารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกมาจากน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ และความท้าทายอันใหญ่หลวงของการจัดการพลาสติกที่เหมาะสม

จนถึงปัจจุบัน พลาสติกถูกผลิตออกมาราว 9.1 พันล้านตันทั่วโลก ในจำนวนนี้กลายเป็นขยะพลาสติก 6.9 พันล้านตัน มีเพียงร้อยละ 9 ถูกนำไปรีไซเคิล อีกร้อยละ 12 ถูกนำไปเผา ที่เหลือราวร้อยละ 79 ของขยะพลาสติก (5.5 พันล้านตัน) สะสมในหลุมฝังกลบและในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ คาดการณ์ว่าหากแนวโน้มการผลิตพลาสติกและการจัดการขยะพลาสติกยังเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป ภายในปี พ.ศ.2593 จะมีพลาสติกราว 1.32 หมื่นล้านตันถูกทิ้งในหลุมฝังกลบและในสิ่งแวดล้อม ในขณะที่นิวยอร์กไทมส์รายงานว่าสาเหตุหลักของการผลิตพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งร้อยละ 54 ของบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

พลาสติกและผลกระทบสุขภาพ

ผลกระทบในทางลบชัดเจนมากขึ้นหลังจากหลายทศวรรษของการผลิตสินค้าพลาสติกที่ทำจากน้ำมันนับล้านล้านรายการ เป็นที่รับรู้ว่ามลพิษพลาสติกเป็นอันตรายด้านสาธารณสุขและร่างกายของมนุษย์ สารเคมีที่หลุดออกมาจากพลาสติกบางชนิดที่ใช้บรรจุอาหารมีภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ งานวิจัยพบประจักษ์พยานและความเกี่ยวข้องที่ชัดเจนระหว่างระดับของสารเคมีเหล่านี้และการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซมและระบบสืบพันธุ์ การทำงานของระบบประสาทและระบบสมองบกพร่อง โรคหลอดเลือดและหัวใจ

พลาสติกหลายชนิดมี Phthalates ซึ่งเป็นสารเคมีก่อมะเร็งยอดฮิตตัวหนึ่งที่มีโอกาสหลุดจากเนื้อพลาสติกเข้าสู่ร่างกายของคนเรา และ Bisphenol A ซึ่งเป็นสารเคมีนิยมใช้กันทั่วไปเพื่อทำให้ขวดพลาสติก เช่น ขวดนม มีความใส สารพิษจะกรองออกและแทรกซึมลงในของเหลวและอาหารที่บรรจุอยู่ภายในได้เมื่อใช้งาน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สาร Bisphenol A จำนวนเพียงเล็กน้อย มีผลทำให้ก่อมะเร็ง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง การเริ่มเป็นหนุ่มสาวเร็วเกินไป โรคเบาหวานและโรคอ้วน ไฮเปอร์ (hyperactivity) และอื่นๆ

พลาสติกและวิกฤตโลกร้อน

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของพลาสติกยังไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด พลาสติกคือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา ประมาณว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกมาจากร้อยละ 8 ของการผลิตน้ำมันทั่วโลก การขุดเจาะน้ำมันและกระบวนการผลิตพลาสติกนั้นปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายรวมถึงคาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ โอโซน เบนซีน และมีเทนที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดโลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกายังระบุว่าในกระบวนการผลิตพลาสติก PET(พลาสติกที่นิยมใช้ทำขวดน้ำ) ทุกๆ 1 ออนซ์ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 5 ออนซ์

หากว่าเหตุผลอื่นๆ ไม่อาจโน้มน้าวใจให้ผู้คนลดการใช้พลาสติกลงเพื่อคุ้มครองตัวเราและโลก เราจำต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างพลาสติกกับวิกฤตโลกร้อน การที่เราใช้พลาสติกมากขึ้นยิ่งเร่งเร้าวิกฤตโลกร้อนนั้นควรเป็นเงื่อนไขสำคัญให้แต่ละคนลงมือปฏิบัติในการยุติมลพิษพลาสติก

มลพิษพลาสติกในมหาสมุทร

ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล พลาสติกที่ถูกทิ้งจะรวมตัวกันโดยกระแสน้ำวนมหาสมุทรเป็นแพขยะ กล่าวได้ว่า กระแสน้ำวนมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ(North Pacific Gyre)ถือเป็นบริเวณที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลกและเรียกว่าแพขยะใหญ่แห่งมหาสมุทรแปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) งานวิจัยล่าสุดระบุ แพขยะดังกล่าวกินพื้นที่รวมกันมากกว่าประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า โดยที่พื้นผิวของมันจะมีชิ้นส่วนพลาสติกขนาดต่างๆ มากกว่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเช่นแพลงตอนถึง 18 เท่า หรืออีกนัยหนึ่ง 1 กิโลกรัมของแพลงตอนจะมีขยะพลาสติกอยู่ 6 กิโลกรัม

การสำรวจในปี พ.ศ. 2558 มีชาติสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ที่เป็นแหล่งปล่อยขยะพลาสติกลงในมหาสมุทรมากที่สุดในโลก คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และ มาเลเซีย

ขยะพลาสติกเป็นภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเล

เป็นที่รู้กันว่าพลาสติกสามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและนกได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากพวกมันเข้าใจผิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร เรามักพบว่าศพของสัตว์ที่ตายมักจะมีเศษชิ้นส่วนพลาสติกอยู่เต็มท้อง เมื่อเร็วๆ นี้ ในประเทศไทยพบสัตว์ทะเลหายากตายจากกินขยะพลาสติกและเศษเครื่องมือทำประมงเฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี โดยแบ่งเป็นการกินร้อยละ 60 จะเป็นพวกโลมาและวาฬ ส่วนพวกเต่าพบปัญหาขยะในทะเลติดพันขาและตามลำตัวสูงถึงร้อยละ 70

พลาสติกจิ๋ว(Microplastics)

เมื่ออยู่ในน้ำ สัมผัสแสงแดดหรือสสารอื่นๆ พลาสติกจะแตกออกเป็นชิ้นเล็กมากๆ บางครั้งเล็กจนไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า เศษชิ้นส่วนพลาสติกนี้อยู่ในทุกหนทุกแห่ง เมื่อเราดื่มน้ำ กินปลาและอาหารทะเล หรือเติมเกลือลงไปในมื้ออาหาร ก็มีโอกาสสูงที่จะรับเอาชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กเข้าไป

ไมโครบีดส์(microbeads) เป็นพลาสติกจิ๋วในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด และอื่นๆอีกมากมาย ส่วนใหญ่จะทำจากพอลิเอทิลีน แต่สามารถทำจากพลาสติกปิโตรเคมีอื่นๆได้ เช่น พอลิโพรพิลีนและพอลิสไตรีน ไมโครบีดส์มีขนาดเล็กพอที่จะลงไปในท่อระบายน้ำของอ่างล้างหน้าของเราและง่ายต่อการผ่านระบบกรองน้ำ การที่มีขนาดเล็กจึงอาจดูเหมือนไม่เป็นอันตราย แต่ไมโครบีดส์จำนวน 100,000 เม็ด จะถูกล้างลงอ่างด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์เพียงครั้งเดียว และเมื่อหลุดสู่ท้องทะเลก็จะปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร

งานวิจัยเรื่อง ผลกระทบจากชิ้นส่วนไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็งบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ระบุตรวจพบสัตว์ทะเลตระกูลหอยใน “พื้นที่เศรษฐกิจชลบุรี” พบสารเคมีปนเปื้อนจากพลาสติกขนาดจิ๋วเกินค่ามาตรฐานโดยพื้นที่บริเวณอ่างศิลาพบการปนเปื้อนมากที่สุด

เราทำอะไรได้บ้าง

เมื่อเราเปิดหัวใจให้กว้าง เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเรียนรู้จากปัจเจกบุคคล กลุ่มอาสาสมัคร เครือข่ายพลเมือง องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยที่ทำงานเพื่อช่วยกันแก้ไขและหาทางออกที่ยั่งยืน ปฏิบัติการต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำเพิ่มเติมเพื่อช่วยยุติมลพิษพลาสติก

  • คำนวณหารอยเท้าเชิงนิเวศจากการใช้พลาสติกของเราเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน https://www.earthday.org/plastic-calculator/

  • เล่าเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจของการใช้พลาสติกน้อยลง ชีวิตมีความสุขมากขึ้น ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อย่างเรื่องนี้ https://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58423/

  • ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Million Acts of Blue ปฏิบัติการเพื่อผลักดันร้านค้าปลีก บรรษัทและภาคธุรกิจใ้ห้ลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

  • ลงชื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารของบรรษัทขนาดใหญ่มีนโยบายและภาระรับผิดต่อมลพิษพลาสติกที่บรรษัทดังกล่าวมีส่วนก่อขึ้น

ธารา บัวคำศรี เป็นผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันเฉียงใต้

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61416


 ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 23 เมษายน 2561   
Last Update : 23 เมษายน 2561 11:33:53 น.   
Counter : 516 Pageviews.  


ต้นกล้าท้าหมอกควัน พลังเยาวชนต่อกรกับปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ



บทความ โดย ฐิติกร ศรีชมภู

กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับวิกฤตการณ์หมอกควันพิษ PM2.5 ที่กำลังปกคลุมกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครเท่านั้นที่เจอกับวิกฤตการณ์ฝุ่นพิษ ขณะนี้หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ก็กำลังประสบปัญหานี้ด้วยเหมือนกัน

หากเช็คดูจากค่าคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ www.aqicn.org จะเห็นได้ว่าหลายอำเภอในเชียงใหม่ และลำปางมีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะประเด็นเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นที่เร่งด่วน ประกอบการทางภาครัฐไม่มีการขยับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นถึงปัญหานี้และคิดที่จะนำพลังของเยาวชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในบทความนี้เราชวนคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้จัดโครงการ “ต้นกล้าท้าหมอกควัน” โครงการดีๆ จากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อาจารย์ ดร. ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ฝ่ายกิจกรรมสัมพันธ์เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เยาวชนในเขตภาคเหนือตอนบนให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหมอกควัน และสร้างเครือข่ายเยาวชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในชุมชน อีกทั้งเพื่อสร้างโรงเรียนต้นแบบในการลดการเผาในชุมชนของตนเอง ความคาดหวังของโครงการนำร่องที่นี้สามารถกระตุ้นให้โรงเรียน และชุมชนโดยรอบตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน จนนำไปสู่ผลลัพธ์คือ การแก้ปัญหาหมอกควันในชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

อะไรคือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาจารย์เริ่มโครงการนี้

โครงการนี้เริ่มมาจากภาคเหนือพบปัญหาจากการเผาในที่โล่งเป็นระยะเวลามากว่า 10 ปี และปัญหานี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ค่อนข้างมาก เราเลยคิดโครงการที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะปลูกฝังให้กับเยาวชนให้ทราบและตระหนักถึงปัญหาและการแก้ปัญหาในอนาคตด้วย โครงการนี้จะเน้นไปที่ตัวเยาวชน โรงเรียน รวมทั้งครูที่ต้องสอนเด็กเรื่องสิ่งแวดล้อมให้นักเรียนในชั้นเรียนอยู่แล้ว นอกจากนี้เราอยากสร้างสีสันจากงานวิจัยที่เราทำกันมาเป็นสิบๆ ปี ที่คนทั่วไปอาจเข้าถึงยาก เพราะเป็นการตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสารภาษาอังกฤษ จึงกลายเป็นที่มาของโครงการนี้

เปิดตัวโครงการ "ต้นกล้าท้าหมอกควัน" (ภาพ: Somporn Chantara)

มีวิธีการให้ความรู้เด็กอย่างไรที่ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องหมอกควันเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับพวกเขา

เราจัดทำเอกสารการอบรมซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันเกิดจากอะไร แล้วถ้าหากเกิดแล้ว จะส่งผลกระทบถึงใครบ้าง เราจะพยายามยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เพราะว่าเราใช้ข้อมูลที่เราได้มาจากในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าไปปลูกพืชไร่ และการเผาหลังช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบน เรายังมีข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝุ่นในอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับจุดความร้อนที่ตรวจได้จากภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงฤดูแล้ง และพบว่าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานของประเทศไทยไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีซึ่งสอดคล้องกับภาวะของการเกิดปัญหา และเมื่อพูดถึงมลพิษ PM2.5 เราจะมีคำอธิบายให้ซึ่งเป็นภาพของ USEPA องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของทางสหรัฐฯ ที่เขาได้ทำสื่อการสอนขึ้นมา โดยใช้เป็นการเปรียบเทียบเส้นผมของคนเรา ว่าโดยเฉลี่ยแล้วเส้นผมของคนเรามีขนาดเท่าไหร่ เราไม่สามารถมองเห็นฝุ่น PM2.5 ด้วยตาเปล่าได้ แต่เราสูดหายใจเข้าไปทุกวัน ไม่มีทางทราบได้เลยว่าในฝุ่นนั้นมีอะไรบ้าง

กิจกรรมในโครงการ ​"ต้นกล้าท้าหมอกควัน" (ภาพ: ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ในทีมโครงการของเราได้ตรวจวัดเก็บตัวอย่างทั้ง PM10 และ PM2.5 ในช่วงฤดูหมอกควันอยู่แล้ว และเรายังวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยว่าใน PM2.5 ประกอบด้วยอะไรบ้าง และมีสารอะไรที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง โดยการนำเสนอเราจะนำเสนอควบคู่ระหว่าง PM10 และ PM2.5 ว่ายิ่งฝุ่นเล็กก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้มากกว่า เพราะว่าฝุ่นสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ลึกกว่า เข้าไปถึงถุงลมปอด หลอดเลือดหัวใจ

และเรายังมีการสอนวิธีการป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศ เนื่องจากการเกิดไฟป่ามีปัจจัยมาจากความแห้งแล้ง การเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่า ก็เป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง เรามีการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องการปลูกป่า มีการสาธิตและฝึกปฏิบัติการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุมชื้นในพื้นที่ป่า  

การแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืนในคำนิยามของโครงการนี้คืออะไร

เราต้องการให้การอบรมมีการถ่ายทอดต่อ ทำไมเราถึงเชิญอาจารย์ คุณครูมาด้วย เพราะว่าอาจารย์อยู่ได้นานกว่าเด็ก และเราคิดว่าเราเริ่มจากโรงเรียนน่าจะเป็นจุดที่ดี ก่อให้เกิดกิจกรรมในโรงเรียนเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่อง จริงๆแล้วมีกลุ่มชาวบ้านที่เข้มแข็งอยู่หลายกลุ่มและเราคิดว่าระหว่างเด็กนักเรียนและชาวบ้านเองจะมีความเชื่อมโยงกันได้ง่ายกว่า

ต้นทุนชีวิตของเด็กเชียงใหม่กับมลพิษทางอากาศ

จริงๆแล้วไม่ใช่เฉพาะเด็กในเชียงใหม่ แต่เด็กในทุกพื้นที่ก็เจอปัญหานี้ได้ ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหามลพิษแบบไร้พรมแดน แม้แต่ว่าคนที่เผาอยู่ในประเทศเรา มันก็ยังเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนบ้านด้วย หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราเผาก็ยังเผื่อแผ่มาถึงเราได้ด้วย สภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกัน แต่อาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยเช่นภาคตะวันตกกับภาคตะวันออก การร่วงของใบไม้ก็ต่างกันเนื่องจากความชื้นในป่า ถ้าความชื้นมีมาก ใบไม้ในป่าก็จะยังไม่ผลัดใบ พอเริ่มแห้งจัดๆใบไม้ก็จะผลัดลงมาเยอะ เพราะฉะนั้นโอกาสของการเกิดไฟป่าก็จะมีมากในช่วงที่แล้งจัด เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับว่ามวลอากาศนั้นจะเคลื่อนที่ไปทางไหน ปัญหานี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ใขร่วมกันทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่เอง คนต่างพื้นที่ด้วย เพราะอย่างที่บอกไม่ว่าแหล่งกำเนิดจะอยู่ที่ไหนก็สามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปหาคนที่อยู่ห่างไกลได้ด้วย

หมอกควันบดบังทัศนวิสัยของเมืองเชียงใหม่, 22 เม.ย. 2559

เชียงใหม่เองเป็นเมืองใหญ่ เพราะฉะนั้นเด็กที่อยู่ในเมืองเองก็มักจะมีปัญหาในเรื่องของภูมิแพ้ค่อนข้างมาก เนื่องจากมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีมลพิษจากด้านอื่นๆอีก ดังนั้นเด็กในเมืองจะมีโอกาสสัมผัสกับมลพิษได้มากกว่าเด็กในชนบทตลอดทั้งปี แต่ว่าเด็กในชนบทเองก็มีโอกาสได้รับมลพิษอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เช่น เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการเผาเยอะ เช่น ที่บ้านเผาขยะเอง  ไม่ได้มีการจัดเก็บเป็นระบบ ก็อาจจะมีปัญหาของสุขภาพ มีงานวิจัยของ ดร. ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เปรียบเทียบมลพิษทางอากาศและสุขภาพของเด็กนอกเมืองกับในเมืองพบว่าในช่วงฤดูหมอกควัน เด็กนอกเมืองที่อยู่ในพื้นที่การเผา มีโอกาสที่จะสัมผัสกับมลพิษมากกว่าเด็กในเมืองด้วยซ้ำ หรือว่าเด็กชาวเขาที่บ้านมีการใช้ฟืนในการทำกับข้าวหรือใช้ก่อไฟในฤดูหนาว ก็มีโอกาสที่จะสัมผัสกับมลพิษได้มากเช่นกัน

จากการเริ่มที่ปลูกฝังเยาวชนจะมีแรงกระเพื่อมไปถึงการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายหรือไม่

เราก็คาดหวังนะคะว่าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้วย เพราะเราคิดว่าเยาวชนจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีในชุมชนของเขาเองแต่ว่าในเชิงนโยบายแล้วมันก็ยากอยู่เพราะว่าที่ผ่านมาเป็นลักษณะท๊อปดาวน์ จะเป็นนโยบายของรัฐบาลส่วนกลางแล้วมีนโยบายให้ทางท้องถิ่นจัดการ แต่ว่าในท้องถิ่นเองเขาก็สามารถเริ่มโครงการของตัวเองได้ด้วย เพราะว่ามันจะมีงบประมาณที่ลงไปในระดับจังหวัด ระดับอำเภออยู่แล้วในเรื่องของการจัดการไฟป่า และการรณรงค์เรื่องการห้ามเผา

นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เล็งเห็นถึงพลังของน้องๆเยาวชนต้นกล้าเล็กที่ในอนาคตจะมาเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามนอกจากพลังของเยาวชนแล้ว หน่วยงานรัฐและชุมชนก็เป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาหมอกควันเพื่อให้ประชาชนและทุกๆคนมีอากาศที่ปลอดภัยไว้หายใจ


ร่วมลงชื่อขออากาศดีคืนมาได้ที่ https://act.gp/2qNm9Vm

ที่มา : https://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61309/


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 28 มีนาคม 2561   
Last Update : 28 มีนาคม 2561 14:12:03 น.   
Counter : 590 Pageviews.  


ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ปกคลุมกรุงเทพฯ มาจากไหนได้อีก : มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ?



บทความ โดย ธารา บัวคำศรี

คุณภาพอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้กลับมาเป็นวิกฤตอีกครั้งหนึ่งในช่วงวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ความเข้มข้นของ PM2.5 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บางนา(05t) และเขตวังทองหลาง (61t) มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร มาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2561 ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 ที่คำนวณโดยใช้โดยการใช้ค่า PM2.5 จากการประมาณค่าด้วยแบบจำลองเทียบกับเกณฑ์ AQI breakpoints ตามมาตรฐานของ US Environmental Protection Agency (เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ PM2.5 AQI breakpoints) ณ เวลา 11.00 นาฬิกา อยู่ที่ 180 ซึ่งเป็นสีแดงที่เตือนถึงระดับมลพิษทางอากาศ มีอันตรายต่อสุขภาพ

กราฟแสดงความเข้มข้นรายชั่วโมงของ PM2.5 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บางนา(05t) ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2561 ที่มา : https://aqmthai.com/public_report.php

กราฟแสดงความเข้มข้นรายชั่วโมงของ PM2.5 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เขตวังทองหลาง(61t) ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2561 ที่มา : https://aqmthai.com/public_report.php

คำถามคือ ในเมื่อมวลอากาศเย็นซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีมากขึ้นในกรุงเทพฯ หมดไป ระดับของดัชนีคุณภาพอากาศกลับมาอยู่ที่ระดับปานกลางและ/หรือระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรกลุ่มเสี่ยงในบางช่วงบางเวลา ทำไม พื้นที่กรุงเทพฯ จึงต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกหลังจากเวลาผ่านไปได้ไม่นาน

นอกเหนือจากแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มาจากรถยนต์หลายล้านคันบนถนนของกรุงเทพฯ แล้ว คำตอบก็คือ “มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน”

จากปริมาณจุดความร้อนบันทึกภาพโดยดาวเทียม และทิศทางลม ของวันที่ 11 มีนาคม 2561 แสดงให้เห็นว่า มีกระแสลมที่ได้รับอิทธิพลของมรสุมจากทะเลจีนใต้พัดเข้ามา ทำให้กรุงเทพฯ และหลายส่วนของภาคกลางได้รับผลกระทบจากหมอกควันรุนแรงขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2561 อันเนื่องมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5 สามารถแขวนลอยในอากาศได้นานและเคลื่อนตัวได้ไกล แม้ว่า กรุงเทพฯ และภาคกลางจะเป็นที่ราบ แต่การที่กรุงเทพฯ มีลมสงบในช่วงเวลากลางวันอยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 1 เมตร/วินาที และอากาศมีความชื้นพอสมควร ทำให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ และฝุ่นละอองขนาดเล็กใหม่ที่ถูกพัดเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว และพม่า จึงทำให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ 

ตามสมมุติฐานข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลจาก Earth Observatory ขององค์การนาซา พบว่า ในช่วงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 จนถึงปัจจุบัน มีจุดเกิดไฟเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกัมพูชากว่าประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบ เครื่องมือ VIIRS บนดาวเทียมของนาซาตรวจจับจุดความร้อนทั้งหมด 1,868 จุดในกัมพูชา 185 จุดในลาว 77 จุดในเมียนมาร์ 217 จุดในไทย และ 144 ในเวียดนาม  ดังภาพด้านล่าง

ที่มา : https://earthobservatory.nasa.gov/IOTD/view.php?id=91771&eo

อาจกล่าวได้ว่าคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ที่เข้าขั้นวิกฤตมีส่วนสัมพันธ์อย่างยิ่งกับ “ปรากฎการณ์หมอกควันพิษข้ามพรมแดนในอาเซียน(ASEAN Transboundary Haze Pollution) จำเป็นต้องมีความร่วมมือในระดับอาเซียนเพื่อต่อกรกับปัญหา

รัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้เห็นร่วมกันในวิสัยทัศน์ภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 (Haze-free ASEAN by 2020) เหลือเวลาอีกไม่นานและมีความท้าทายอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล

ธารา บัวคำศรี - เป็นผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25/blog/61248


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 15 มีนาคม 2561   
Last Update : 15 มีนาคม 2561 9:47:27 น.   
Counter : 616 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com