กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

รับสมัครอาสาสมัคร เพื่อร่วมในโครงการผู้นำอาสาสมัครกรีนพีซ Greenpeace Volunteer Leaders



รับสมัครอาสาสมัคร
เพื่อร่วมในโครงการผู้นำอาสาสมัครกรีนพีซ
Greenpeace Volunteer Leaders

เปิดรับสมัคร  16 มิถุนายน - 10 กรกฏาคม 2560
ห้ามพลาด ! รับจำนวนจำกัดเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น



หากคุณคิดว่าคุณสามารถเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รักงานจิตอาสา ชอบความท้าทาย มองโลกในแง่ดี มีความรับผิดชอบสูงและพร้อมที่จะเป็นผู้นำ โครงการนี้เหมาะกับคุณ! สมัครเลย

โครงการฯนี้ มุ่งพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพผู้นำอาสาสมัครกรีนพีซ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านอาสาสมัครเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมจิตอาสาของบุคคลในทุกระดับชั้น ร่วมกันสร้างสังคมให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการลงมือทำ เปลี่ยนแปลงทัศนคติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสันติและดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกิจกรรมที่ผู้นำอาสาสมัครจะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในปี 2560 นี้ จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติก อาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

มาสร้างประสบการณ์การเป็นผู้นำกับกรีนพีซ องค์กรที่ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากล ร่วมเรียนรู้ผ่านการทำงานรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยแนวทางการเผชิญหน้าอย่างสันติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานอาสาสมัครประเทศไทยสู่ระดับสากล

หมายเหตุ: ถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่สามารถจัดสรรเวลาได้เป็นอย่างดี และพร้อมที่จะเข้าร่วมงานกับกรีนพีซได้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี อย่ารอช้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ สมัครเลย แต่หากคุณมีแผนในการพักผ่อนระยะยาวหรือมีช่วงเวลาระหว่างวันค่อนข้างหนักและแน่นมากโครงการนี้อาจจะยังไม่เหมาะสำหรับคุณ

คุณสมบัติ

  • อายุ 25  ปีขึ้นไป
  • มีความรู้ความเข้าใจงานรณรงค์ของกรีนพีซ
  • มีความเป็นผู้นำ - กล้าตัดสินใจ -  กล้าแสดงออก
  • มีทักษะการสื่อสาร การประสานงาน และสามารถทำงานเป็นทีม
  • มีวินัย ความมุ่งมั่น มีความเป็นจิตอาสาและทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน
  • มีประสบการณ์ในการเป็นผู้นำหรือบริหารทีม เช่น หัวหน้าหรือประธานชมรม  นายกองค์การนิสิต ผู้นำโครงการ หรือผู้นำชุมชน เป็นต้น
  • มีประสบการณ์ในการเขียนโครงการ รับผิดชอบโครงการ หรือเข้าร่วมงานพัฒนาสังคม
  • มีการจัดสรรเวลาที่ดี สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ช่องทางออนไลน์หรือร่วมกิจกรรมต่างๆ)
  • มีความสามารถในการทำงานผ่านเครื่องมือออนไลน์
  • สามารถเดินทางออกต่างจังหวัด ลงพึ้นที่  หรือเดินทางต่างประเทศได้
  • ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง
  • ไม่มีประวัติอาชญากรรม

หน้าที่ของผู้นำอาสาสมัคร

  • ดูแลและบริหารจัดการอาสาสมัครกรีนพีซทีมละ 5 คน
  • ประชุมและวางแผนกิจกรรมร่วมกันกับเจ้าหน้าที่กรีนพีซและอาสาสมัคร สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตลอด 1 ปี
  • บริหารจัดการงบประมาณของกิจกรรม
  • ประสานงานและเผยแพร่งานรณรงค์ของกรีนพีซ
  • ร่วมประชุมกับผู้นำอาสาฯ แต่ละทีม
  • ขับเคลื่อนการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  • ได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำและเตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติหน้าที่ (Volunteer leaders camp)
  • ได้รับการอบรมด้านการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี ซึ่งเป็นแนวทางที่กรีนพีซใช้ในการรณรงค์กว่า 40 ปี
  • ได้รับประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล
  • ภายหลังจากการเข้าอบรมทักษะการเป็นผู้นำ จะได้ปฏิบัติหน้าที่จริง อันจะเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถในการเป็นผู้นำอาสาฯ การฝึกการบริหารจัดการคน งบประมาณ การทำงานเป็นทีม และนำทีมการทำงาน ร่วมถึงประสบการณ์จริงในการทำงานภาคสนาม
  • โอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆที่อาจจัดขึ้นในภายหลัง เช่น การประชุมอาสาสมัครกับกรีนพีซนานาชาติ
  • มีโอกาสได้ศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศร่วมกับอาสาสมัครนานาชาติของกรีนพีซ
  • ภายหลังจากได้ร่วมงานอาสาฯกับกรีนพีซเป็นเวลาหนึ่งปี จะได้รับประกาศนียบัตรจากกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิ่งที่องค์กรจะจัดให้

  • สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร ในระหว่างปฏิบัติภารกิจและทำกิจกรรม
  • ผู้ประสานงานโครงการของกรีนพีซประจำแต่ละทีม คอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติภารกิจของอาสาสมัคร
  • ประกันอุบัติเหตุในระหว่างปฏิบัติภารกิจ
  • ค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 1,000 บาทต่อครั้ง เบิกได้ตามจริง

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/getinvolved/volunteer/Greenpeace-Volunteer-Leaders

ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2560   
Last Update : 19 มิถุนายน 2560 12:48:19 น.   
Counter : 742 Pageviews.  


“ขยะพลาสติก” ในทะเลไทย ใครว่าเรื่องเล็ก



บทความ โดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความสวยงามของทะเลไทยขึ้นชื่อติดอันดับโลก แต่ในขณะเดียวกันประเทศของเราก็ติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก มากถึง 1 ล้านตันต่อปี

แล้วขยะที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลเหล่านี้มาจากไหน?

จากการเปิดเผยของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม เป็นต้น ถัดมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น ยังไม่รวมขยะอื่นๆที่พบได้ในทะเล เช่น ถุงพลาสติก ฝาน้ำ และเศษบุหรี่

ไม่เฉพาะแค่การท่องเที่ยว แต่รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคล ครัวเรือน อุตสาหกรรม ขยะเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำต่างๆ จากลำคลอง สู่แม่น้ำ ท้ายที่สุดแล้วก็จะมีขยะส่วนหนึ่งลงสู่ท้องทะเล

ปัญหาขยะล้นทะเลไทยเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเรายังขาดการจัดการขยะอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการเติบโตของเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี 2556 ซึ่งได้สำรวจปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยรวม 26.77 ล้านตัน แต่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 7.2 ล้านตัน มีขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อยู่ที่ 5.1 ล้านตัน ในขณะที่ขยะมูลฝอยจำนวน 6.9 ล้านตันไม่ได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ส่วนอีก 7.6 ล้านตันคือปริมาณขยะมูลฝอยที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ จะเห็นได้ว่าเกินครึ่งของขยะมูลฝอยในประเทศไทยไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี

ขยะที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเป็นปัญหาใหญ่ของการจัดการขยะของไทย ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น

  • ขาดจิตสำนึกเพื่อสาธารณะ เมื่อประชาชนยังเห็นแก่ความสะดวกสบาย จึงสร้างขยะมากมายโดยไม่รู้ตัว (คนไทยสร้างขยะประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน) โดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากและเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม

  • ขาดแรงจูงใจในการจัดการขยะ เนื่องจากคนไทยไม่ได้เห็นประโยชน์ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากพอ เช่น เรื่องการแยกขยะ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแยกประเภทขยะก่อนทิ้งเพราะไม่ได้เห็นผลอย่างชัดเจนว่าการแยกขยะก่อนทิ้งนั้นสำคัญอย่างไร หรือจะเป็นเรื่องการนำของกลับมาใช้ใหม่ คนส่วนใหญ่ยังมองว่าการทิ้งขยะเป็นวิธีกำจัดขยะที่ง่ายที่สุด

  • ขาดการส่งเสริมทัศนคติที่ดีและความเข้าใจในเรื่องการจัดการขยะที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

  • ขาดมาตรการทางกฎหมายที่จะลดการใช้ขยะอย่างจริงจัง เช่น การห้ามใช้ถุงพลาสติก หรือ การเพิ่มภาษีของบริษัทผู้ผลิตพลาสติก เป็นต้น

  • ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการลงทุนเพื่อการจัดการขยะอย่างถูกวิธี

  • นวัตกรรมที่จะนำไปสู่การลดขยะยังไม่แพร่หลาย เช่น การออกแบบเพื่อใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้จริงโดยไม่มีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต

แต่ท้ายที่สุดแล้วทางแก้ที่ยั่งยืนของปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ ไปจนถึงการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในระดับบุคคล เช่น มีการจัดการขยะที่ดี การออกแบบที่ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด หรือแม้แต่การที่สาธารณชนมีความตระหนักในการบริโภค ลดและเลิกใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เพราะการจัดการที่ปลายเหตุหลังจากขยะเกิดขึ้นแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58977


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 09 มิถุนายน 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 16:03:55 น.   
Counter : 8525 Pageviews.  


มหาสมุทรของเรา อนาคตของเรา “Our Ocean Our Future”



บทความ โดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้


อนาคตเราจะเป็นอย่างไรถ้ามหาสมุทรของเราเต็มไปด้วยขยะพลาสติก มลพิษ และไม่มีปลา…

8 มิถุนายนของทุกปี คือ วันมหาสมุทรโลก เป็นวันที่คนทั่วโลกออกมาแสดงพลังเพื่อปกป้องมหาสมุทรของเรา มหาสมุทรเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมโลกและเชื่อมโยงกับผู้คนโดยตรงเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหาร น้ำ และอากาศ ขณะนี้มหาสมุทรถูกคุกคามจากปัญหารอบด้านไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการทำประมงเกินกำลังผลิตของทะเล ทุกปัญหาล้วนเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการบริโภคของเราทั้งสิ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และทุกปัญหาล้วนแล้วแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง

ปัญหาพลาสติกเป็นอีกหนึ่งปัญหาอันดับต้นๆที่ต้องได้รับการแก้ไข หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมจึงมีการรณรงค์หรือมีการพูดถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเลกันมากมาย ทั้งในเวทีโลก และเวทีระดับประเทศ ตลอดจนในสื่อต่างๆ เราอาจจะจำได้จากภาพที่มีการแชร์ในโลกโซเชียล เช่น หลอดอาบเลือดที่ติดในรูจมูกเต่า แมวน้ำที่มีเศษสายพลาสติกรัดของคล้องที่คอจนเกิดเป็นแผลลึก  การพบซากวาฬที่มีถุงพลาสติกเต็มกระเพาะ มันเกี่ยวอะไรกับเราและเพราะอะไรที่เราต้องร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง มาถึงตอนนี้หลายคนอาจจะมีคำตอบในใจ

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรจะต้องให้ทุกคนเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง อย่างที่เกริ่นไปเบื้องต้นปัญหานี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของการบริโภคของทุกคน ภาพขยะเต็มคลอง และตามชายหาดอาจจะทำให้หดหู่ได้ชั่วครู่ ทุกคนอาจจะไลค์แชร์ และแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่เช้าวันต่อมายังซื้อกาแฟใส่แก้วพลาสติกมีหลอดและสวมด้วยถุง และยังคงซื้ออาหารเช้าใส่กล่องโฟมใส่ถุงอีกเช่นเดิม ทุกคนทราบถึงปัญหาแต่ไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมใดๆเนื่องจากความเคยชิน และทางเลือกในการเปลี่ยนอาจจะมีไม่มากนักและอาจจะลดทอนความสะดวกสบายลงไปบ้าง การลดการใช้พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้นอาจเป็นทางออก แม้ดูเป็นสิ่งเล็กน้อยแต่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ภาครัฐยังเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันนโยบายการแก้ไขในกระดาษให้เกิดการบังคับใช้ได้จริง รัฐบาลไทยเริ่มมีการตื่นตัวโดยในเวทีโลกมีการประกาศคำมั่นว่าจะแก้ไขให้สถานการณ์ขยะพลาสติกดีขึ้นภายใน 5 ปี จากปี 2560-2565

การตื่นตัวของทุกภาคส่วนและการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากพลังเล็กๆของทุกคน โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ จะเป็นพลังสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และอนาคตของเราร่วมกัน “มหาสมุทรของเรา อนาคตของเรา” ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรและใช้ทรัพยากร ร่วมทั้งสิทธิในการปกป้องทรัพยากรนั้นซึ่งจริงๆคือการใช้สิทธิในการปกป้องอนาคตของตัวเราเองและของโลก

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/our-ocean-our-future/blog/59616


 ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 16:05:37 น.   
Counter : 5380 Pageviews.  


ปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหวัง



บทความ โดย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้การถอนตัวของสหรัฐอเมริกาจากความตกลงปารีสจะมีผลสะเทือนไปทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นของประชาคมโลกลดทอนไป ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างยืนยันต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้อย่างแข็งขันในการปฏิบัติการเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสและมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม)

ผลสะเทือนสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรปและจีนที่เน้นถึงความมุ่งมั่นมากขึ้นภายใต้ความตกลงปารีส เรียกว่าเป็นการตลบหลังสหรัฐอเมริกาหลังจากการประกาศ ของประธานาธิบดีทรัมป์ก็ว่าได้

บิล แฮร์(Bill Hare) นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีประสบการณ์อย่างลึกซึ้ง กว้างขวางและยาวนานได้วิเคราะห์ประเด็นสำคัญต่อเรื่องนี้ไว้ดังนี้

สหรัฐอเมริกาไม่เคยเรียนรู้ความผิดพลาดของตนเองในอดีต

การประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีสของประธานาธิบดีทรัมป์ในวันที่ 2 มิถุนายน มีความละม้ายคล้ายคลึงกับที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศไม่ลงสัตยาบัน ในพิธีสารเกียวโตในปี พ.ศ.2548 จากการกดดันของกลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรม เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะ อย่างยิ่งเอ็กซอน(Exxon) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่

ถึงแม้ว่าพิธีสารเกียวโตจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่ได้บรรลุเป้าหมายเต็มศักยภาพอันเป็นผลมาจากการที่สหรัฐอเมริกาไม่เข้าร่วม แต่บรรดาประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมอย่างแข็งขันเพื่อทำให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของ พิธีสารเกียวโตนั้นไม่เพียงแต่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่ามากในการใช้ประโยชน์จากกลไกของพิธีสารในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรอบนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นตัวบทกฎหมายของสหภาพยุโรปนั้นมีลักษณะที่ครอบคลุมและรอบด้านมากที่สุดในโลก สหภาพยุโรปมีเครื่องมือและกลไกทุกอย่างที่จำเป็นในการลดโลกร้อนอย่างมุ่งมั่นมากขึ้น ส่วนจีน เกาหลีใต้ เม็กซิโก ชิลีและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ รวมถึงไทย มีระบบการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(emissions-trading systems) เป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจกที่คุ้มค่าในอนาคต

สหรัฐอเมริกาอาจถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

Bill Hare มองว่า ทั้งจีนกับอินเดียกำลังคว้าอนาคตไว้ และความเป็นผู้นำ(ในปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ)กับการพัฒนาเศรษฐกิจสามารถทำควบคู่กันไป

ในปี พ.ศ. 2540 ช่วงที่มีการยกร่างพิธีสารเกียวโต การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกามีร้อยละ 19 ของการปล่อยทั่วโลก และมีสัดส่วนในเศรษฐกิจโลกร้อยละ 20 (วัดจาก GDP ที่เป็น Market Exchange Rate) ในขณะที่จีนมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 12 และมีสัดส่วนในเศรษฐกิจโลกร้อยละ 7 เมื่อมีการยกร่างความตกลงปารีส ในปี พ.ศ.2558 จีนกลายเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของโลก(ร้อยละ 23) และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด(ร้อยละ 17) ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 13 และบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกก็ลดลงเป็นร้อยละ 16

ในช่วงเวลาเดียวกัน อินเดียซึ่งผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21 มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกือบเป็น 2 เท่า (จากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 7 ของเศรษฐกิจโลก) จีนและอินเดียดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวและมีการจ้างงานหลายหลายแสนตำแหน่งจากการลงทุนพลังงานหมุนเวียนขนานใหญ่ อินเดียยังวางแผนทุ่มทุนเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าในทศวรรษข้างหน้านี้

Bill Hare วิเคราะห์ว่า แม้การประกาศของทรัมป์อาจไปหนุนช่วยกลุ่มที่ปฏิเสธเรื่องโลกร้อนซึ่งส่งผลให้ปฏิบัติการกู้วิกฤตโลกร้อนล่าช้า หรือแม้กระทั่งการสนับสนุน ”ถ่านหินสะอาด” แต่ความเสี่ยงดังกล่าวนี้ยังคงอยู่ในวงจำกัด รัสเซียซึ่งยังไม่ได้ให้สัตยาบันในความตกลงปารีส(Paris Agreement) ได้ส่งสัญญานว่าจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนการดำเนินการที่อยู่ภายใต้ความตกลงปารีสต่อไป

คำสัญญาที่ว่างเปล่า

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาลดลงนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา คำสั่งที่ลงนามโดยประธานาธิบดีของทรัมป์ซึ่งมุ่งไปที่การยกเลิกมาตรการภายในประเทศ จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับเดิมในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า

จากการที่ราคาพลังงานหมุนเวียนและตัวเก็บประจุไฟฟ้าลดลง การที่ก๊าซธรรมชาติเข้ามาแทนที่ถ่านหิน รวมถึงการดำเนินงานของรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนียที่เดินหน้าแผนพลังงานพลังงานสะอาดที่ผลักดันในยุคโอบามา การควบคุมการปล่อยมีเทนและการตั้งค่ามาตรฐานของยานยนต์ ดังนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มสูงขึ้นอีกก่อนปี พ.ศ.2573 เป็นอย่างน้อย

การใช้ถ่านหินและการทำเหมืองถ่านหินจะยังคงลดลงต่อไปอีกเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดพลังงาน รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงและการแข่งขันอย่างเหลือล้นในด้านราคาพลังงานหมุนเวียนและระบบเก็บประจุไฟฟ้า ในขณะที่ การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา(และทั่วโลก) แซงหน้าการจ้างงานในกิจการเหมืองถ่านหิน

รายงานทบทวนฉบับล่าสุดขององค์การพลังงานหมุนเวียนสากลหรือ International Renewable Energy Agency(IRENA) ระบุถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวกเร็วของการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนของสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนี้มีราว 800,000 คน เฉพาะการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวในช่วงสามปีที่ผ่านมามีมากกว่า 2  เท่าของตำแหน่งงานในกิจการเหมืองถ่านหินในสหรัฐอเมริกา(ซึ่งกำลังลดลง)

เห็นได้ชัดเจนว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่อาจทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับแรงงานในอุตสาหกรรมถ่านหิน

เป้าหมายลดโลกร้อนทำได้ยากขึ้น

การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวจากความตกลงปารีสผนวกกับการยกเลิกแผนปฏิบัติการ ในระดับประเทศ ทำให้ปฏิบัติการเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส(เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม) และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของ อุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม)นั้นมีความยากลำบาก และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

หากแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มเติมขึ้นจากปริมาณ การปล่อยที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคโอบามา นั้นจะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกร้อนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1 ถึง 0.2 องศาเซลเซียสภายในปี 2643 ซึ่งจำเป็นจะต้องทดแทนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นและอย่างรวดเร็ว โดยประเทศอื่นๆ

ในระยะยาว เป้าหมายของการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกนั้นไม่อาจบรรลุได้ ยกเว้นแต่ว่าสหรัฐอเมริกากลับเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของความพยายามของประเทศทั่วโลกภายใน 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า เพื่อว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งหมดทั่วโลกสามารถทำให้ลดลงเป็นศูนย์ในช่วงกลางศตวรรษ

การต่อกรกับวาระซ่อนเร้นของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ผลักดันโดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล คือการพัฒนาในเรื่องตลาดพลังงานหมุนเวียนและระบบเก็บประจุไฟฟ้า ซึ่งจะกระทบกับอุปสงค์ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนพัฒนาการอย่างรวดเร็วของภาคการผลิตรถไฟฟ้านั้นกระทบต่ออุปสงค์ของน้ำมัน

ผลของการลดราคาอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียนและระบบเก็บประจุไฟฟ้านั่นส่งผลกว้างไกล และบางคนถึงกับกล่าวว่าไม่อาจหยุดได้ การประเมินของภาคอุตสาหกรรมเมื่อเร็วๆนี้ แสดงให้เห็นว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ากับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนแบบต่างๆ ในขณะนี้ถูกกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน การยกเลิก โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และที่อื่นๆ คือตัวชี้วัดของการเปลี่ยนแปลงของตลาดพลังงานที่กำลังเกิดขึ้น

ในเวทีการเจรจาโลกร้อนที่เมืองมาราเกซ มากกว่า 45 ประเทศ รวมตัวกันในนามกลุ่มประเทศที่เผชิญความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ(Climate Vulnerable Forum) ให้คำมั่นต่อเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยและเริ่มต้นทำงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว

แล้วเราควรจะตั้งความหวังอย่างไร

ยังมีกลุ่มประเทศ พรรคการเมือง และตัวแทนผลประโยชน์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พยายาม จะใช้ประโยชน์จากการถอนตัวของสหรัฐอเมริกาเพื่อผลักดันวาระ “โลกร้อนไม่จริง” หรืออย่างน้อยที่สุดการหาช่องทางในการปกป้องตลาดของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล 

คาดกันว่า การถอนตัวของสหรัฐอเมริกาอาจนำไปสู่การที่มีบางประเทศทำงานล่าช้า ต่อข้อเสนอในปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ (NDCs or Nationally Determined Contributions)

การถอนตัวของสหรัฐอเมริกายังมีผลต่อการผลักดันแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก หากมีการสร้างหรือดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะปิดโอกาสในการควบคุมการเพิ่มขึ้น ของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก

การเพิ่มขึ้นของถ่านหินอย่างรวดเร็วที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย ตุรกี บางส่วนของตะวันออกกลางและแอฟริกา นั้นต้องการภาวะผู้นำนโยบายที่เข้มแข็ง และแผนปฏิบัติการระดับประเทศมีความมุ่งมั่น เพื่อรับรองว่าจะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะยุติลง

ยิ่งสหรัฐอเมริกาไม่ลงมือทำอะไรเลย ความยากลำบากก็จะตกแก่โลกมากขึ้น สหรัฐอเมริกาจะกลับมาร่วมในความตกลงปารีสหรือไม่อย่างไร จะต้องรอจนถึงปี พ.ศ. 2563 และประธานาธิบดีคนใหม่ เราคาดหวังได้หรือ? 

ความตื่นตัวของสาธารณชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างงานและเศรษฐกิจ ในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น และขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในการยุติยุคถ่านหิน ต่างหากเล่าที่เป็นความหวัง

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/59602


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 16:08:19 น.   
Counter : 8194 Pageviews.  


พลาสติกทุกชิ้นที่เคยผลิตมายังคงอยู่ และนี่คือเรื่องราวของมัน



บทความ โดย ดิเอโก กอนซากา ผู้ประสานงานสื่อออนไลน์ กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา

Plastic toothbrushes are lined up on Kahuku beach, Hawaii. 26 Oct, 2006,  © Greenpeace / Alex Hofford

ตั้งแต่ตื่นนอนแปรงฟันในตอนเช้า ไปจนถึงการนั่งดูโทรทัศน์ตอนดึกๆ พลาสติกนั้นอยู่รอบตัวเรา มากจนทำให้ยากที่จะจินตนาการได้ว่า เราจะเดินออกมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่มีของที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกเลยสักชิ้นยังไง

แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป มีคนหลายคนที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่แทบจะไม่มีพลาสติกอยู่เลย ลองจินตนาการถึงชายหาดที่ไม่มีเศษพลาสติกสักชิ้นบนชายฝั่งดูสิ

แล้วทำไมในตอนนี้กลับแตกต่างจากตอนนั้นอย่างสิ้นเชิง?

Plastic waste is seen washed ashore in the Truk Lagoon, Micronesia. 15 Jun, 2016,  © Robert Marc Lehmann / Greenpeace

มีทฤษฎีหลายทฤษฎีที่ให้คำอธิบายว่า อะไรเป็นตัวขับเคลื่อนความต้องการพลาสติกเหล่านี้ หนึ่งในนั้นก็คือ เมื่อช่วงหลังของศตวรรษที่ 19 บริษัทผลิตลูกสนุ๊กต่างๆเห็นว่าพวกเขาต้องการสิ่งที่จะมาแทนงาช้าง เพราะในเวลานั้น มนุษย์ใช้งาช้างมากถึงล้านปอนด์ต่อปีเป็นอย่างน้อย และหนังสือพิมพ์ต่างมีรายงานว่า หากอัตราการใช้ยังคงเป็นเช่นนั้น ช้างอาจจะสูญพันธุ์ได้ในเร็ววัน

ดังนั้น การหาสิ่งที่จะมาทดแทนจึงได้เริ่มต้นขึ้น กว่าหลายทศวรรษ นักเคมีจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่างพยายามหาวิธีการที่จะได้ผล และหลังจากที่ใช้เวลาหลายต่อหลายปีลองผิดลองถูก พวกเขาได้ค้นพบพลาสติก แบบที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน จนในระยะแรกของศตวรรษที่ 20 ผู้คนสามารถซื้อหวีและเสื้อผ้าที่มาพร้อมกับกระดุมที่ไม่ได้ผลิตขึ้นมาจากงาช้างได้แล้ว

แต่การพัฒนาการทางเทคโนโลยีนี้ ก็ยังไม่ได้เป็นเหตุทำให้มีถุงพลาสติกปลิวไปมาในเมืองต่างๆ

หรือทำให้ปลาไปติดอยู่ในห่วงพลาสติก อะไรกันที่ทำให้เกิดการใช้พลาสติกที่มากมายขนาดนี้?

มี 2 ตัวแปรที่ผลักผู้ผลิตให้หันมาใช้วัสดุนี้ อย่างแรกคือ มีการพัฒนาการผลิตแบบจำนวนมหาศาลในสายการผลิด เพราะก่อนหน้านั้น โรงงานต่างๆต้องใช้เวลามากเพื่อผลิตสินค้าหนึ่งชิ้น ทำให้การผลิตพลาสติกนั้น กินเวลาเป็นอย่างมาก

ตัวแปรที่สองคือสงครามโลกครั้งที่ 2 พลาสติกถูกใช้ในหลายรูปแบบ ทั้งปืนยิงรถถัง ถึงส่วนประกอบอากาศยาน และทำให้ในระหว่างปี 2482 ถึงปี 2488 อัตราผลิตพลาสติกเติบโตขึ้นเกือบสี่เท่า เมื่อสงครามจบลง บริษัทต่างๆยังคงจำเป็นจะต้องสร้างกำไรให้ตนเองโดยดำเนินการผลิตต่อไป พวกเขาจึงเปลี่ยนจากการผลิตยานพาหนะสำหรับทหารเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ พลาสติกนั้นมีราคาถูกมาก ทั้งภาชนะพลาสติก เฟอร์นิเจอร์พลาสติก และของเล่นพลาสติก ทำให้ทุกคนสามารถซื้อมันได้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่พลาสติกได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น

Data from PlasticsEurope, qz.com

แต่วิธีแก้ปัญหาสำหรับเมื่อก่อน กลับกลายเป็นปัญหาเสียเองในปัจจุบัน พลาสติกทุกชิ้นที่เคยผลิตขึ้นมายังคงอยู่ เพราะอายุการใช้งานที่ยืนยาวของมัน และจะยังคงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 500 ปี เหมือนกับถ้าหาก ลีโอนาโด ดา วินชี่ ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ในขณะที่เขากำลังวาดภาพ โมนา ลิซ่า อยู่ ขวดน้ำขวดนั้นยังคงอยู่และยังไม่ย่อยสลายไป

พลาสติกต่างๆถูกผลิตมากขึ้นและมากขึ้นในทุกวัน ถูกใช้ และโยนทิ้ง ตัวอย่างเช่น ในประเทศที่ใช้แก้วน้ำพลาสติกเป็นแก้วใช้แล้วทิ้ง เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นที่ของชิ้นนั้นจะถูกใช้ โดนทิ้งไว้ และจบลงในถังขยะ มีการบริโภคพลาสติกมาก จนมีพื้นที่ๆใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสที่เต็มไปด้วยพลาสติกใช้แล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ จนนกในบริเวณนั้นใช้พลาสติกมาทำรังเป็นเรื่องปกติแล้ว

Gannets on Heligoland with Plastic Waste. 7 Aug, 2015,  © Robert Marc Lehmann / Greenpeace

และไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปริมาณการผลิตพลาสติก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกกำลังทำลายดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ ทั้งการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลาสติก และผลกระทบด้านสุขภาพจากสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมในระหว่างการเผาไหม้ ไปจนถึงผลกระทบอันร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล

การลดการใช้พลาสติกดูจะเป็นเรื่องยาก แต่มันง่ายกว่าที่คุณคิด คุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หลากหลายวิธี จากการกระทำง่ายๆอย่างการนำถุงหรือกระเป๋าของตัวเองไปใช้เมื่อไปตลาดหรือร้านขายของชำ หลีกเลี่ยงอุปกรณ์การทำอาหาร จาน ชาม ช้อน ส้อมที่ทำจากพลาสติก รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีทส์ สิ่งที่สำคัญคือการตระหนักในสิ่งที่คุณกำลังบริโภค เพราะไม่ใช่เพียงผลกระทบที่มีต่อชีวิตของคุณและสิ่งรอบๆตัวคุณ แต่เป็นดาวเคราะห์ทั้งดวง และสายพันธุ์อันน่าอัศจรรย์ต่างๆไม่ว่าเล็กหรือใหญ่บนโลกใบนี้


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58663


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 16:11:31 น.   
Counter : 6909 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com