กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

[ภาพ] ไปเที่ยวทะเลพลาสติกกันไหม



บทความ โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ไปเที่ยวทะเลกันไหมคะ แต่ทะเลที่เราจะพาไปชมนี้อาจจะไม่สวยงามเท่าไร เพราะหาดทรายขาวนวลและคลื่นใสนั้นถูกคุกคามไปด้วยสิ่งแปลกปลอมจำนวนมากตั้งแต่ชิ้นเล็กเท่าเม็ดทราย ไปจนถึงวัตถุขนาดใหญ่

สิ่งเหล่านั้นคือขยะพลาสติก

“Protect What You Love” (ปกป้องสิ่งที่คุณรัก) ข้อความที่เรียงขึ้นจากขยะที่พบจากชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสวาลบาร์ด ภูมิภาคอาร์กติก

เราคงทราบกันแล้วว่า กว่าพลาสติกแต่ละชิ้นจะย่อยสลายได้นั้นต้องใช้เวลาหลายร้อยปี หลอดพลาสติกที่เราทิ้งลงคลองไปนั้น อาจจะยังล่องลอยอยู่ในทะเลหรือบนชายหาดใดสักแห่งบนโลกใบนี้ก็เป็นได้ ลองมาชมภาพผลกระทบของขยะพลาสติกต่อทะเลของประเทศต่าง ๆ กัน ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่กรีนพีซประเทศต่าง ๆ ได้บันทึกไว้ในช่วงเวลาที่ไปทำกิจกรรมเก็บขยะบนชายหาดบริเวณนั้น

พลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยในทะเลบริเวณเกาะอาโซรึช ประเทศโปรตุเกส มหาสมุทรแปซิฟิก

เศษขยะพลาสติกบนหาดทราย Cala en basset เกาะมายอก้า ประเทศสเปน ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

นกบูบีตีนฟ้านั่งพักอยู่ท่ามกลางขยะพลาสติก ณ ชายหาด เกาะ Sula nebouxii ประเทศเปรู

มะนิลาเบย์ ประเทศฟิลิปปินส์ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของเอเชีย แต่ถูกคุกคามด้วยขยะพลาสติกจากครัวเรือนและอุตสาหกรรม

ขยะที่เกาะสวาลบาร์ด ประเทศนอร์เวย์ มหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งในภาพเป็นขยะจากเครื่องมือประมง ผู้ว่าราชการของสวาลบาร์ดระบุว่า ร้อยละ 80 ของขยะจากสวาลบาร์ด มาจากอุตสาหกรรมประมง

ขยะพลาสติกที่ถูกพัดขึ้นมาบนชายหาด บริเวณทรัค ลากูน ประเทศไมโครเนเซีย

ขยะพลาสติกบนชายหาดในยาง จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

ขยะพลาสติกกองโตบนชายหาดของเกาะแกน ในหมู่เกาะมัลดีฟส์

นกแกนเน็ต บนเกาะเฮลลิโกแลนด์ ประเทศเยอรมนี นกในบริเวณนั้นใช้พลาสติกและอวนประมงมาทำรังเป็นเรื่องปกติแล้ว แต่เชือกอวนเหล่านี้อาจเป็นอันตรายและสามารถรัดคอนกจนเสียชีวิตได้

ขยะพลาสติกประเภทต่าง ๆ ที่ถูกเก็บในบริเวชายหาดของฮาวายถูกนำมาจัดเรียง เป็นคำว่า “Trash” (ขยะ) ซึ่งสะกดขึ้นจากลูกกอล์ฟ เห็นได้ชัดถึงความหลากหลายของขยะพลาสติก และที่มาที่แตกต่างกัน

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาร่วมกันเลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อดูแลโลกของเรา และเพื่อตัวเราเองทุกคน

ร่วมลงชื่อ ลดขยะพลาสติก คืนชีวิตให้มหาสมุทร  คลิกที่นี่

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58610


 ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 16:13:30 น.   
Counter : 7835 Pageviews.  


10 ภาพ ก่อนและหลัง การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์



บทความ โดย Rashini Suriyaarachchi

บ่อยครั้งที่การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นยากที่จะมองเห็น แม้ว่าเรากำลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การทำอุตสาหกรรม การขุดเจาะและใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็ยังยากที่เราจะเห็นว่ารอยแผลเป็นที่เราทิ้งไว้ให้โลกใบนี้นั้นใหญ่ขนาดไหน

และเมื่อคุณลองขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นคุณก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลง

หลายทศวรรษที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (NASA)ได้จับตามองการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ในชุดภาพหัวข้อ ภาพการเปลี่ยนแปลง (Images of Change) ซึ่งบางภาพได้ถูกถ่ายไว้เพื่อเปรียบเทียบห่างกันมากกว่า 55  ปี แต่ขณะที่บางภาพเพียงแค่ในสิบปีหรือน้อยกว่านั้นก็สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าใจหาย เราอยากให้คุณลองดูภาพ 10 ภาพนี้แล้วเรียนรู้ถึงผลกระทบที่เราทำต่อโลกใบนี้ โลกที่เป็นบ้านของพวกเรา

1. การหดตัวของทะเลอาราลในเอเชียกลาง

ทะเลอาราลเคยถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งของสี่ของทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ ณ ปัจจุบัน ทะเลอาราลได้ถูกออกแบ่งเป็นสองแถบคือทะเลอาราลแถบเหนือและทะเลอาราลแถบใต้ ส่วนทะเลในแถบตะวันออกนั้นได้เหือดแห้งไปตั้งแต่ปี พ.ศ.  2557 ตามรายงานขององค์การนาซา การสูญเสียน้ำทั้งหมดอาจหมายถึงการที่บริเวณนี้จะเผชิญกับอากาศที่เย็นขึ้นในช่วงฤดูหนาว และอากาศที่ร้อนและแห้งมากกว่าเดิมในช่วงฤดูร้อน

2. ผลกระทบของภัยแล้งในรัฐแอริโซน่าและยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายนี้เปรียบเทียบระดับน้ำของทะเลสาบโพเวลที่ในช่วงปี พ.ศ. 2542 มีระดับน้ำเกือบเต็ม และในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2557 ที่ระดับน้ำลดลงถึงร้อยละ 42 ของทั้งหมด

3. การเติบโตของเมืองที่ดูน่าเหลือเชื่อในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเมืองซานอันโตนิโอได้เติบโตขึ้นอย่างเรื่อยๆ ตามข้อมูลขององค์การนาซา ในปี พ.ศ. 2553 เมืองซานอันโตนิโอมีอัตราการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับที่ 4 ของ ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีประชากรถึง 1.4 ล้านคน

4. การเจริญเติบโตที่รวดเร็วของกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

กรุงมะนิลาเมืองหลวงของฟิลิปปินส์มีการเติบโตของอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันกรุงมะนิลาเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ตามข้อมูลขององค์การนาซา แม่น้ำปาสิก (Pasig) ที่ตัดผ่านกรุงมะนิลาเป็นเป็นแม่น้ำที่เป็นมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

5. การตัดไม้ทำลายป่าในประเทศอาร์เจนตินา

ระหว่างปี พ.ศ. 2541 และ ปี พ.ศ. 2545 เมืองซัลตา (Salta) ของประเทศอาร์เจนตินาได้สูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 194,000 เฮกตาร์ ของพื้นที่ป่าทั้งหมด สาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่านี้คือความก้าวหน้าทางการเกษตรกรรม

6. การติดตามการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศโบลิเวีย

ที่ประเทศโบลิเวียนี้ องค์กรนาซ่าได้ติดตามผลกระทบของการย้ายที่ตั้งถิ่นฐานและการพัฒนาด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าไม้ของประเทศโบลิเวีย

7. การละลายของน้ำแข็งในเทือกเขาแอลป์

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับภูเขาแมทเทอร์ฮอร์น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนของประเทศอิตาลีและประเทศสวิสเซอร์แลนด์ของเทือกเขาแอลป์

8. การละลายของธารน้ำแข็งในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอลาสก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในช่วงกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ตามข้อมูลขององค์การนาซานั้นซึ่งมีข้อยกเว้นบางประการได้บอกว่าธารน้ำแข็งทั่วโลกหดตัวลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

9. ธารน้ำแข็ง Qori Kalis ในประเทศเปรู ที่หายไป

ในปี พ.ศ. 2521 ธารน้ำแข็ง Qori Kalis ยังมีการเคลื่อนที่ของน้ำแข็งให้เห็น แต่ในปี พ. ศ. 2554 ธารน้ำแข็งทั้งหมดได้ถอยกลับไปอยู่บนพื้นดิน

10. ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก

แผนที่นี้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกระหว่างช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 ตามข้อมูลขององค์การนาซา อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ปี พ. ศ. 2423 และสองในสามของการที่โลกมีอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยสูงขึ้นเกิดดขึ้นตั้งแต่ปี พ. ศ. 2518 โดยมีอุณหภูมิสูงขึ้นราว 0.15 ถึง 0.20 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ

คุณคิดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัวใช่หรือไม่?

ร่วมมือกันตั้งแต่ตอนนี้เพื่อปักป้องรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีค่าไว้ให้ลูกหลานในรุ่นต่อไป

ขอบคุณภาพประกอบจากองค์การนาซา

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/10/blog/59232


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2560   
Last Update : 15 พฤษภาคม 2560 14:24:27 น.   
Counter : 1134 Pageviews.  


ถุงพลาสติกใบนี้...ควรฟรีหรือ (บังคับ) จ่าย



บทความ โดย ฐิตินันท์ ศรีสถิต

คงผ่านหูผ่านตากันมาบ้างกับโครงการ “รวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก” ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ขอความร่วมมือจากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้าในวันที่ 15 ของทุกเดือน ตั้งแต่สิงหาคม 2558 ก่อนจะขยับความถี่เป็นวันที่ 15 กับ 30 ของทุกเดือน และเพิ่มความเข้มข้นเป็น “ทุกวันพุธ” เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

หากถามว่า มาตรการแบบนี้สามารถสร้างความเคยชินในการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคุณลูกค้าได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

คำตอบเป็นไปได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าใครตอบ

ทส. ซึ่งตั้งเป้าลดใช้ถุงพลาสติก 89 ล้านใบภายใน 4 ธันวาคม 2559 จัดนิทรรศการความสำเร็จของโครงการฯ ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม 2559 โดยแจ้งตัวเลข 166,775,853 ใบเป็นจำนวนการใช้ถุงพลาสติกที่ลดลง[1] นั่นนับว่าเกินเป้าไปเกือบเท่าตัว

ครั้นลองสุ่มสอบถามจากพนักงานแคชเชียร์บางรายก็พบว่า ลูกค้าไม่ได้ให้ความร่วมมือเสมอไป และเมื่อผู้ซื้อร้องขอถุงพลาสติกหูหิ้ว พวกเขาก็ยากจะปฏิเสธ

...หรือการแจกแต้ม แจกคะแนน แจกพ้อยต์ รวมถึงมอบเปอร์เซ็นต์ส่วนลดจะยังไม่จูงใจมากพอให้เปลี่ยนพฤติกรรม

ถ้าขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วทุกวันเลยล่ะจะเป็นไปได้รึ

ประเทศไทยมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในโครงการ “มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก” ซึ่งขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อจำนวน 12 ร้านใน ม.มหิดล วิทยาเขตศาลายา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 2559 โดยประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรณรงค์รับบริจาคถุงพลาสติกใช้แล้วสภาพดีอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อนเริ่มโครงการ

เมื่อไม่แจกถุงพลาสติกย่อมต้องมีทางเลือกให้ผู้ซื้อ

หนึ่ง...ซื้อถุงพลาสติกใหม่ใบละ 2 บาท

สอง...เตรียมถุงผ้า ถุงพลาสติก หรือถุงอะไรก็ได้มาใส่เอง

สาม...หยิบถุงพลาสติกรียูสจาก drop box ในร้านมาใช้ซ้ำ

เจ้าหน้าที่กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ม.มหิดล ให้ข้อมูลจากการสุ่มสังเกตว่า ร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี นับจากวันแรกจนถึงเดือนตุลาคม 2559 สามารถลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้ 288,861 ใบ แต่ตอนนี้เริ่มขาดแคลนถุงพลาสติกรียูส จึงต้องเร่งรับบริจาคให้มากขึ้น ซึ่งหากแก้ปัญหาสำเร็จก็อาจขยายการดำเนินงานไปยังวิทยาเขตพญาไท ศิริราช ฯลฯ

ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ เจ้าหน้าที่กองกายภาพฯ แอบหวังให้สังคมของชาวมหิดลเดินไปถึงจุดที่ไม่ต้องมีจุดบริการถุงพลาสติกรียูส เพราะทุกคนพกถุงพลาสติกใช้ซ้ำหรือถุงผ้าติดตัวจนกลายเป็นนิสัยนั่นเอง[2]

ไม่ใช่แค่ที่เดียว สถาบันอุดมศึกษาใจกลางเมืองอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ประชาสัมพันธ์และเตรียมงานโครงการ “Chula Zero Waste” กันอย่างคึกคักตั้งแต่ปลายปี 59 ก่อนเริ่มมาตรการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสหกรณ์และร้านสะดวกซื้อทุกสาขาในมหาวิทยาลัยวันที่ 1 ก.พ. 60 โดยรับบริจาคถุงผ้าและถุงพลาสติกใช้แล้วเพื่อหมุนเวียนใช้และเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการซื้อถุงพลาสติกใหม่เอี่ยมในราคาใบละ 2 บาท

แล้วถ้าเพิ่มดีกรีความเข้มข้นด้วยการเก็บค่าถุงพลาสติกโดยให้ลูกค้าที่ต้องการใช้งานเป็นผู้จ่ายล่ะ ไม้แข็งแบบนี้ต้องตามไปดูตัวอย่างของต่างประเทศ

ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ริเริ่มมาตรการทางกฎหมายกับถุงพลาสติกทุกชนิด ยกเว้นถุงพลาสติกใส่เนื้อสด เมื่อมีนาคม 2545 ปรากฏว่า ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึงร้อยละ 90 ในช่วงแรก แต่เมื่อผ่านไป 5 ปีผู้บริโภคชักจะตื่นตัวน้อยลง จึงเพิ่มราคาถุงจากใบละ 0.15 ยูโรเป็น 0.22 ยูโร การประเมินผลภาพรวมพบว่า ผู้ประกอบการร้านค้าตอบรับดี ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงจริง เก็บภาษีได้ปีละประมาณ 20 ล้านยูโร และมีโรงงานผลิตถุงพลาสติกบางแห่งต้องปิดกิจการ

ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่เริ่มเก็บค่าถุงพลาสติกในปีเดียวกัน รัฐบาลสั่งห้ามใช้ถุงที่มีความหนาน้อยกว่า 0.06 มิลลิเมตรแต่ไม่กำหนดอัตราภาษีตายตัว ร้านค้าส่วนใหญ่คิดค่าถุงใบละ 1-3 ดอลลาร์ไต้หวัน ผ่านไปหนึ่งปีอัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงกว่าร้อยละ 80 หลังจากนั้นมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย

นิวซีแลนด์ แคนาดา สเปน เบลเยียมก็เลือกใช้การเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน แต่ยังไม่สุดขีดถึงขั้นออกกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายถุงพลาสติกจากโพลีเอทธีลีนเหมือนประเทศบังคลาเทศ หรือห้ามใช้ถุงพลาสติกเหมือนกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา อาทิ แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย เคนยา รวันดา แทนซาเนีย ฯลฯ

ใช่ว่าการบังคับเข้มงวดจะประสบผลสำเร็จเสมอไป...

ภูฏานและจีนเป็นกรณีตัวอย่างที่ออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก แต่ยังไม่ได้ผลนักหรือลดได้ในช่วงแรกแต่หลังจากนั้นก็มีแนวโน้มการใช้ที่เพิ่มขึ้นด้วยหลายสาเหตุ ได้แก่ ไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่อง ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่ามาทดแทนถุงพลาสติก และขาดการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนซึ่งควรทำควบคู่กัน[3],[4]

ถึงบรรทัดนี้ เอ๊ะ...สมัครใจ? กฎหมาย? มาตรการแบบไหนที่จะเหมาะกับบ้านเรา

คำถามคาใจพาให้ต้องไปนั่งคุยกับอาจารย์ชาคริต สิทธิเวช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ “อิน” กับเรื่องเขียวๆ ถึงขั้นลงมือปฏิบัติตั้งแต่แยกขยะ เลือกใช้ถ่านไฟฉายชาร์จได้ พกถุงผ้า กระทั่งพกรถเข็นเล็กติดรถไว้สำหรับขนของที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ


อาจารย์ชาคริต สิทธิเวช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ©ฐิตินันท์ ศรีสถิต

อาจารย์ชาคริตเปิดบทสนทนาด้วยการเล่าประสบการณ์ตรงจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งงดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้า โดยเปลี่ยนมาจำหน่ายในราคาใบละ 100 วอน หรือประมาณ 3 บาท ตั้งแต่ประมาณปี 2541-2542 โดยไม่ใช้กฎหมายบังคับ

ระยะแรกผู้คนแสดงความไม่พอใจด้วยการด่าทอร้านค้า ลูกค้าหลายคนไม่แยแสการเก็บค่าถุงด้วยซ้ำ เพราะตั้งราคาขายถูกมาก กระทั่งวิเคราะห์กันว่า มาตรการนี้น่าจะล้มเหลว เพราะปริมาณการใช้ถุงพลาสติกไม่ลดลงเลย

แต่หลังจากนั้น เมื่อพยายามอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการทำเพื่อส่วนรวมและแก้ปัญหาขยะ ความเข้าใจก็งอกงาม กลายเป็นพลังมวลชนที่ค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงในช่วงเกือบสองทศวรรษและพัฒนาเป็นค่านิยมที่เข้มแข็งในปัจจุบัน

“ตอนนี้คนด่าร้านค้าที่ยังแจกถุงพลาสติก และไม่มีคนเกาหลีที่ซื้อถุงพลาสติกอีกแล้ว ทุกคนเตรียมถุงผ้ามาเอง”

แล้วเราควรบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีถุงพลาสติกในเมืองไทยหรือไม่

“พูดยากนะ ตอบไม่ได้จริงๆ เพราะคนไทยมีนิสัยไม่เหมือนใคร ใครทำอะไรดีงามเห็นด้วยหมด ไม่ขวางนะแต่อย่ามายุ่งกับฉัน บางครั้งคนอื่นไม่ทำก็ต่อว่าเขา แต่พอตัวเองก็ยังขอถุงอยู่ดี”

อาจารย์ชาคริตมองว่า การบังคับช่วยให้ผู้ประกอบการสบายใจที่จะเก็บค่าถุงพลาสติก สามารถอ้างการทำหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่ต้องกลัวเสียลูกค้า เพราะทุกแห่งต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด ต่างจากการขอความร่วมมือหรือมาตรการสมัครใจที่ผู้ประกอบการบางแห่งอาจละเว้นปฏิบัติ ซึ่งกลายเป็นดึงดูดลูกค้าที่ยังต้องการใช้ถุงพลาสติกจากคู่แข่งที่ให้ความร่วมมือไปโดยปริยาย

“แต่ฝ่ายที่จะไม่ทำคือการเมือง การเมืองไทยมักไม่ทะเลาะกับชาวบ้านและนี่คือต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย”

ยิ่งเคยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคของไทยมีแนวโน้มที่จะต่อต้านมาตรการเก็บภาษีการใช้ถุงพลาสติกด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปได้ยากที่เรื่องนี้จะริเริ่มจากฝั่งการเมือง

ทั้งนี้ควรทำความเข้าใจด้วยว่า การเขียนกฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลาศึกษานานเพื่อให้รัดกุม แถมยังมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ซึ่งในทัศนะของนักกฎหมายท่านนี้ กฎหมายไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรเลย กฎหมายที่ออกมาจะดีหรือไม่ล้วนขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนในสังคม ถ้าคนไม่สนใจ ไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่บังคับใช้ให้เข้มงวด เหมือนที่เกิดขึ้นกับกฎหมายดูแลสิ่งแวดล้อมหลายฉบับในบ้านเรา ท้ายที่สุดกฎหมายก็จะกลายเป็นขยะ

...หัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงจึงอยู่ที่ “คน” ไม่ใช่กฎหมาย

“สังคมที่ดีคือสังคมที่ไม่มี กม.เลย สังคมไหนมี กม. ยิ่งเยอะ แสดงว่าสังคมนั้นยิ่งแย่ และใช่ว่าจะได้ผล คนไทยทุกคนทำให้ประเทศเป็นอย่างนี้ ต้องถามพวกเราทุกคนว่าจะเอายังไงกับบ้านเมือง” อาจารย์ชาคริตทิ้งท้าย[5]

ผู้เขียนมิบังอาจชี้ชัดว่า กฎหมายภาษีถุงพลาสติกจะเวิร์กกับผู้บริโภคไทยหรือไม่

แต่คำถาม “จะเอายังไงกับบ้านเมือง” ยังก้องอยู่ในหัว นำมาซึ่งคำตอบส่วนตัว ถึงวันนี้ถุงพลาสติกหูหิ้วไม่ควรฟรีแล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ที่โครงการ “มหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก” และ “Chula Zero Waste” จะเป็นต้นแบบของการขอความร่วมมือจ่ายค่าถุงพลาสติกซึ่งจุดประกายให้สถาบันการศึกษาอื่น ชุมชนอื่น เกิดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาเดินตาม

และจะน่าดีใจยิ่งกว่านั้น หาก ทส. นำไปใช้ต่อยอด “โครงการรวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก” ให้ทวีความเข้มข้นขึ้น ควบคู่กับการเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของถุงพลาสติก อาจนำร่องทดลอง 3-6 เดือนแล้วสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า จะเดินหน้าอย่างไร

หากมองด้วยสายตาเป็นกลาง ถุงพลาสติกมีข้อดีเฉพาะตัวที่หาไม่ได้ในถุงผ้าหรือถุงกระดาษ มันเหนียวทนทาน (ไม่นับรวมถุงก๊อบแก๊บเนื้อบางจ๋อยจากซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยนี้นะ) น้ำหนักเบา พับให้เล็กลงได้เพื่อความสะดวกพกพา แม้จะเปียกชื้นก็ยังใช้งานได้ดีไม่มีเปื่อยขาด

และเมื่อพิจารณาศักยภาพการก่อสภาวะโลกร้อนในขั้นตอนผลิต ขนส่ง ใช้งาน และกำจัด โดยเปรียบเทียบกับถุงผ้าและถุงกระดาษ ถุงพลาสติกกลับสร้างผลกระทบในแง่นี้น้อยกว่าใครเพื่อน

รายงานวิจัยการวิเคราะห์วัฏจักรชีวิตของถุงพลาสติกหูหิ้วจากซูเปอร์มาร์เก็ต (Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006) โดย Dr. Chris Edwards และ Jonna Meyhoff Fry ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารของสำนักงานสิ่งแวดล้อมประเทศอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ระบุว่า

ถุงพลาสติกเนื้อบางใสผลิตจากโพลีเอทธิลีนความหนาแน่นสูง (High-Density Polyethylene หรือ HDPE) 1 ใบที่ใช้งานเพียงครั้งเดียวจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.57 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยจะลดลงเหลือ 1.4 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่าเมื่อใช้งานซ้ำอีก 1 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นปริมาณใกล้เคียงกับถุงกระดาษและถุงผ้าฝ้ายที่ใช้งานซ้ำ 4 ครั้งและ 173 ครั้งตามลำดับ[6]

ใช้ซ้ำถุงพลาสติกหลายๆ ครั้ง กับหยิบถุงผ้ามาใช้แค่ 2-3 ที...อย่างไหนจะดีกว่า

วลีสั้นห้วนแบบ “ลดใช้ถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” จึงสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่แพ้การแห่ผลิตถุงผ้าตามถ้อยคำรณรงค์ “ใช้ถุงผ้าลดโลกร้อน” ตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว

ขอย้ำชัดๆ อีกครั้ง ถุงพลาสติกจะก่อปัญหาหนักเมื่อโดนทิ้งขว้าง เพราะคุณสมบัติไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติทำให้ขยะถุงพลาสติกอุดตันท่อระบายน้ำ จนก่อปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบังคลาเทศในปี 2541

มันร้ายกาจยิ่งกว่าเมื่อปลิวลงแหล่งน้ำและไหลออกสู่ทะเล ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกทะเลจำนวนมากหลงกินถุงพลาสติกเพราะเข้าใจผิดว่ามันคืออาหาร

ถุงพลาสติกแผลงฤทธิ์อีกครั้งเมื่อสัมผัสแสงแดดจนแตกเป็นชิ้นพลาสติกเล็กๆ แม้ไซซ์จิ๋วกระทั่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อนุภาคพวกนี้ยังคงความเป็นพิษไว้ครบถ้วนและพร้อมจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านลำดับขั้นการกินต่อเป็นทอดๆ โดยเริ่มต้นที่แพลงก์ตอน ไล่มาจนถึงปลายสุด ซึ่งก็คือพวกเรานั่นเอง

คนที่เข้าใจผลกระทบนี้ถ่องแท้จะไม่นิ่งเฉยกับปัญหาขยะถุงพลาสติก

ระหว่างที่ยังไม่มีวี่แววความเปลี่ยนแปลงวงกว้างในสังคม ผู้เขียนซึ่งเชื่อมั่นในพลังของคนตัวเล็กๆ ก็หวังว่า บทความนี้จะสะกิดใจให้บางคนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันมาพกถุงพลาสติกใช้ซ้ำหรือถุงผ้าและหยิบขึ้นมาใช้ทุกครั้งที่จับจ่ายในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดสด

คงจะดีมาก ถ้าสังคมไทยเดินไปถึงจุดที่ไม่ว่าจะยังแจกฟรีหรือต้องจ่ายเงิน ก็ไม่มีนัยสำคัญต่อการพกถุงส่วนตัวไปซื้อของ หรือการตัดสินใจเลือกอุดหนุนซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อใดใด

ต้องยอมรับความจริง เราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้หรอก...นอกจากตัวเอง

และสังคมก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เช่นกัน...ถ้าไม่เริ่มต้นจากหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่า “คน”


[1] กองส่งเสริมและเผยแพร่, “กิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙”, 7 ธันวาคม 2559, เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. www.deqp.go.th/service-portal/news-system/news-detail/?id=131459

[2] อิสสรียา จิตวรานนท์. (17 มกราคม 2560). นักวิชาการโสตทัศนศึกษา กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล. สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์.

[3] วรางคณา ศรนิล. “มาตรการทางนโยบายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก : ประสบการณ์ของต่างประเทศกับการประยุกต์ใช้ในประเทศไทย” ในวารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2555.

[4] “สำรวจเพื่อนร่วมโลก กลยุทธ์ลด “ถุงพลาสติก” – บทเรียนนานาชาติ”, THAIPUBLICA, 28 มีนาคม 2555. thaipublica.org/2012/03/strategy-reduce-plastic-bag

[5] ชาคริต สิทธิเวช. (18 มกราคม 2560). อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สัมภาษณ์.

[6] Dr. Chris Edwards and Jonna Meyhoff Fry. “Life cycle assessment of supermarket carrier bags: a review of the bags available in 2006”, Environment Agency, February 2011. www.gov.uk/government/publications/life-cycle-assessment-of-supermarket-carrierbags-a-review-of-the-bags-available-in-2006

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58586


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2560   
Last Update : 5 พฤษภาคม 2560 10:12:44 น.   
Counter : 1011 Pageviews.  


แอพพลิเคชันที่คุณใช้อยู่ทุกวัน รักษ์โลกแค่ไหน?



บทความโดย แกรี่ คุก

คุณรู้หรือไม่ว่า บางแอพพลิเคชันที่เราใช้อยู่ทุกๆวัน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อจะนำไปสู่อนาคตสีเขียวได้ โดยเราสามารดูได้ที่การเลือกใช้พลังงานที่จะนำมาใช้เดินระบบในศูนย์ข้อมูลของพวกเขา (และชีวิตดิจิตอลของเรา) ว่ามาจากพลังงานหมุนเวียนหรือไม่?

การปฏิวัติพลังงานมาถึงแล้ว และผู้นำด้านเทคโนโลยีทั้งหลายกำลังเปิดรับพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรและยั่งยืน แต่ก็ยังมีหลายแห่งที่ยังคงพึ่งพาถ่านหินและแหล่งพลังงานสกปรกอื่นๆที่มีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จาก เฟสบุ๊ค ถึง เน็ตฟลิกซ์ ด้านล่างนี้คือรายชื่อผู้นำด้านพลังงาน กลุ่มที่กำลังปรับตัวเองให้ดีขึ้น และกลุ่มที่ยังล้าหลังซึ่งยังคงใช้พลังงานสกปรกๆอย่างถ่านหินอยู่

ผู้นำการแข่งขัน:

เฟสบุ๊ค (เกรด: เอ)
Facebook (Grade: A)

หลังจากที่เรารณรงค์กับเฟสบุ๊ค ไม่ให้กดถูกใจถ่านหิน เมื่อปี 2554 ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีนี้ได้ผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียนและสร้างความเชื่อมั่นให้เราว่า ทุก ๆ การกดถูกใจและแชร์จะเป็นมิตรต่อโลกมากกว่าที่ผ่านๆมา

Activists showing Facebook signs used in the campaign against Facebook's use of coal. 13 Apr, 2011  © Peter Soerensen / Greenpeace

กูเกิล (เกรด: เอ)
Google (Grade: A)

ราชาแห่งโปรแกรมค้นหา (เสิร์ชเอนจิน) เป็นบริษัทด้านอินเทอร์เน็ตเจ้าแรกที่ลงนามในสัญญาที่มีความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเมื่อปี 2553 และมีความคืบหน้าที่น่าดีใจที่จะไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย

วอตส์แอปป์ (เกรด: เอ)
WhatsApp (Grade: A)

ตั้งแต่ตกเป็นของเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็คือ เฟสบุ๊ค ในปี 2557 ผู้ให้บริการส่งข้อความที่เป็นที่รู้จักอย่างมากนี้ ได้เข้าร่วมลงแรงเพื่อให้มีอินเทอร์เน็ต ที่จะขับเคลื่อนโดยพลังงานหมุนเวียน ข้อความวอตส์แอปป์ถึง 3 หมื่นล้านข้อความที่เราส่งกันในทุกๆวัน เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะมุ่งไปสู่อนาคตแห่งพลังงานหมุนเวียน

ไอทูนส์ (เกรด: เอ)
iTunes (Grade: A)

ตราบใดที่ยังมีดนตรี เราก็ยังมีความหวัง! แอปเปิลเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่จริงจังมากๆเรื่องการทำให้บางส่วนของพวกเขาบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า เมื่อคุณดาวน์โหลดเพลงจากไอทูนส์ แอปเปิลได้เลือกใช้พลังงานหมุนเวียนในการทำให้เพลงของคุณนั้นใช้การได้อย่างเป็นมิตรต่อโลกแล้ว

ยูทูป (เกรด: เอ)
YouTube (Grade: A)

ในปี 2558 การดูวีดิโอบนอินเทอร์เน็ตนับเป็น ร้อยละ 63 ของการใช้อินเทอร์เน็ตโลก ทำให้การดูวีดิโอเช่นนี้ ถือเป็นการใช้พลังงานที่มากที่สุด ภายในปี 2563 มีการคาดการณ์ว่าการดูวีดิโอผ่านอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มถึงร้อยละ 80 และนั่นจะกินพลังงานเป็นอย่างมากเลยทีเดียว


กำลังปรับปรุง

เอทซี่ (เกรด: บี)
Etsy (Grade: B)

เอทซี่ได้เริ่มเดินไปในทางที่จะนำตลาดออนไลน์ของพวกเขาไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาดกว่าเดิม พวกเขาได้เปลี่ยนบางส่วนของระบบการดำเนินการไปสู่ศูนย์ข้อมูลที่ใช้พลังงานหมุนเวียน พวกเขาได้เริ่มเห็นความสำคัญ และเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลต่างๆลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน

ลิงด์อิน (เกรด: บี)
LinkedIn (Grade: B)

การค้นหางานของคุณเพิ่มรอยเท้าคาร์บอนหรือไม่? ครั้งสุดท้ายที่เราวัดระดับ ลิงด์อิน เมื่อปี 2558 พวกเขายังอยู่ในเกรดซี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็ได้ยอมรับข้อตกลงเพื่อที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ และได้พลักดันให้การดำเนินการในศูนย์ข้อมูลและเครื่องใช้ต่างๆ ใช้พลังงานหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงใช้พลังงานหมุนเวียนเพียงร้อยละ 10 ลิงด์อินจำเป็นจะต้องสนใจและให้ความสำคัญมากกว่านี้ และวางแผนเพื่อดำเนินงานเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

สไกป์ (เกรด: บี)
Skype (Grade: B)

หากเรายังคงติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนจากทั่วโลก แต่ยังสงสัยว่าการโทรของคุณใช้พลังงานหมุนเวียนหรือไม่ นี่คือคำตอบ สไกป์เป็นแอพพลิเคชันที่มีการพัฒนาโดย ไมโครซอฟท์ เช่นเดียวกับลิงด์อิน ซึ่งเคยถูกจัดให้อยู่ในเกรด ซี มาก่อน อย่างไรก็ดี พวกเขาได้เริ่มพยายามดำเนินการอินเทอร์เน็ตจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อตามให้ทันคู่แข่งอย่างแอปปิลและกูเกิลแล้ว

Airship Flight over Facebook in Silicon Valley. Apple, Facebook and Google have committed to powering their data centers with renewable energy, and Greenpeace is challenging other tech companies (Amazon, Twitter, Netflix and Pinterest) to join them. 3 Apr, 2014  © George Nikitin / Greenpeace

ในทางกลับกัน...

ทวิตเตอร์ (เกรด: เอฟ)
Twitter (Grade: F)

ในขณะที่ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นพื้นที่ให้กับคนที่ไม่ยอมรับและปฏิเสธประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ตัวอักษร 140 ตัว จากทวิตเตอร์ สามารถถูกเผยแพร่โดยพลังงานหมุนเวียนได้ หากทวิตเตอร์เลือกที่จะตามรอย เฟสบุ๊ค กูเกิล แอปเปิล และผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ

อเมซอน ไพรม์ (เกรด: ซี)
Amazon Prime (Grade: C)

ในขณะที่การบริการบนเว็บไซท์ของอเมซอน (Amazon Web Services - AWS) ซึ่งรวมถึงเพลงและวีดิโอจาก อเมซอน ไพรม์ ได้มีพันธะสัญญาการตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มที่ และได้ลงนามในหลายสัญญาใหญ่ๆเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ยังคงเป็นไปไม่ได้ที่เหล่าลูกค้าจะสามารถทราบผลการดำเนินการที่พวกเขากำลังทำอยู่ บริษัทนี้เก็บเงียบเรื่องข้อมูลการใช้พลังงานและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของพวกเขา การวิเคราะห์ของกรีนพีซแสดงให้เห็นว่าการบริการบนเว็บไซต์ของอเมซอนยังคงขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว ในด้านที่อาศัยพลังงานจากถ่านหินและแหล่งพลังงานสกปรกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน

อาลีบาบา (เกรด: ดี)
Alibaba (Grade: D)

พื้นที่การตลาดออนไลน์โลกที่โด่งดังนี้ยังคงถูกดำเนินการด้วยถ่านหิน จนถึงวันนี้ยังไม่มีการประกาศออกมาว่าทางบริษัทจะหันไปส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ประธานบริหารของอาลีบาบา หรือ แจ็ค หม่า มักถูกพูดถึงว่าเป็นคนที่มักจะมีวิสัยทัศน์และมีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะฉะนั้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้อาลีบาบายังไม่ทำให้การซื้อของของเราเป็นมิตรกับโลกมากขึ้นล่ะ?

เน็ตฟลิกซ์ (เกรด: ดี)
Netflix (Grade: D)

เน็ตฟลิกซ์ได้เปลี่ยนวิถีการดูโทรทัศน์ของเรา แต่โชคไม่ดีนักที่พวกเขาไม่ได้คิดการณ์ไกลในเรื่องการใช้พลังงานของพวกเขาด้วย ในขณะที่ผู้นำที่แท้จริงด้านเทคโนโลยีมากมายอย่าง กูเกิล แอปเปิล และเฟสบุ๊ค กำลังใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินระบบแอพพลิเคชันของเรา เน็ตฟลิกซ์กลับยังคงติดอยู่กับพลังงานสกปรกอย่างถ่านหิน


คนดูโทรทัศน์จำนวนมาก กำลังขอให้เน็ตฟลิกซ์เดินตามรอยเท้าของบริษัทเทคโนโลยีสร้างสรรค์บริษัทอื่น ๆ โดยล้มเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหิน และให้การชมซีรี่ส์และหนังของพวกเรามาจากพลังงานหมุนเวียน

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้เน็ตฟลิกซ์หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อโลกอย่างเต็มร้อย!

อ่านข้อมูลคะแนนของบริษัทต่างๆ พร้อมคำอธิบาย ในรายงาน Greenpeace’s 2017 Clicking Clean ที่ clickclean.org

แกรี่ คุก เป็นนักรณรงค์อาวุโส ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58554


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2560   
Last Update : 3 พฤษภาคม 2560 11:05:49 น.   
Counter : 791 Pageviews.  


เชอร์โนบิล บทเรียนที่ไม่เคยถูกเรียนรู้



บทความ โดย Rashid Alimov

รูปปั้นครึ่งตัวของเลนนินหน้าอาคารอิฐสีเทาของโรงเรียนในเมือง  Stariye Bobovichi ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค Bryansk ของประเทศรัสเซีย สำหรับบางคนภาพนี้อาจจะทำให้หวนนึกถึงความหลัง แต่บางคนนึกถึงความอันตรายที่เคยเกิดขึ้น กรีนพีซรัสเซียได้นำตัวอย่างดินในบริเวณใกล้กับโรงเรียนและชมรมท้องถิ่นไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีกากกัมมันตภาพรังสีที่ชัดเจน

รูปปั้นเลนนินครึ่งตัวที่โรงเรียนในเขต Bryansk ในประเทศรัสเซีย  (2 มีนาคม พ.ศ. 2559)

นักกิจกรรมจาก 50 เมืองและหมู่บ้านได้นำผลตรวจสารกัมมันตภาพรังสีไปให้ศาลฎีกาของประเทศรัสเซียเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ศาลเลือกที่จะอยู่ฝั่งเดียวกับรัฐบาล พวกเขาได้ตั้งความหวังไว้ว่าอย่างน้อยๆ เจ้าหน้าที่จะกักกันพื้นที่บริเวณใกล้โรงเรียน ที่ซึ่งเด็ก ๆ ชอบมาเดินและเล่น แต่พวกเขากลับไม่ได้ทำอะไรเลย


การตรวจวัดกัมมตภาพรังสีในหมู่บ้านทีได้รับผลกระทบจากมหันตภัยเชอร์โนบิล (8 เมษายน พ.ศ. 2559)

Stariye Bobovichi เป็นชุมชนหนึ่งในหลายพันชุมชนในประเทศรัสเซีย ยูเครนและเบลารุสที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลรัสเซียอ้างว่าได้ช่วยเหลือหมู่บ้านนี้แล้ว การกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้ชาวเมืองในหมู่บ้านแห่งนี้ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ ประกันสังคมและการชดเชยที่เหมาะสมกับที่พวกเขาควรได้รับในฐานะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของหายนะภัยนิวเคลียร์


สมาชิกสภาจากหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากหายนะภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล 8 เมษายน พ.ศ. 2559

ขณะที่ความรับผิดชอบลดลง การขาดความรับผิดชอบกลับเพิ่มขึ้น เมื่อรัฐรวมศูนย์นิวเคลียร์เข้ากับ บริษัทโรซาตอม (Rosatom) ที่กำลังพัฒนาธุรกิจที่มีความเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ณ ใจกลางเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เครื่องปฏิกรณ์สองเครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำจะได้รับการเติมเชื้อเพลิงและเริ่มใช้งานได้เร็ว ๆ นี้ อุบัติเหตุนิวเคลียร์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในเมืองนี้ล้วนมีแต่ผลกระทบที่น่าเศร้าสำหรับประชาชนห้าล้านคนที่พักอาศัยอยู่ในเมืองนี้


โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำ ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (21 มีนาคม พ.ศ. 2560)

เมื่อไม่นานมานี้ หน่วยงานควบคุมนิวเคลียร์ของประเทศรัสเซียได้บอกกรีนพีซว่า “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำเป็นเรื่องที่เกินความรับผิดชอบ" ซึ่งนี่เป็นเรื่องน่ากลัวเพราะหลังจากเหตุการณ์เชอร์โนบิลห้ามไม่ให้มีโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงไหนสามารถสร้างโรงงานได้ใกล้กว่า 100 กิโลเมตรจากเมืองที่มีประชากรมากกว่าสองล้านคนอาศัยอยู่ แต่ในปีพ.ศ. 2557 คำสั่งห้ามนี้กลับถูกยกเลิก กรีนพีซจึงได้ร่วมมือทำงานกับประชาชนที่ต้องรับผิดชอบในการรับมือกับภัยพิบัติเช่นสหภาพเชอร์โนบิล

“พวกเราต่อต้านโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำอย่างสุดใจ” Vasily Nayda หัวหน้าสหภาพเชอร์โนบิลประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกล่าว “แค่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเมืองเลนินกราด (Leningrad) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองซึ่งมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ชนิดเดียวกับเชอร์โนบิลนั้นก็เพียงพอสำหรับเราแล้ว เราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพิ่ม”

Evgeny Frolov หัวหน้ากลุ่มท้องถิ่นสหภาพเชอร์โนบิลประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  ชี้ให้เห็นว่า 25 ปีหลังจากหายนะภัยในปีพ.ศ. 2529 ประชาชนผู้รับผิดชอบในการจัดการกับหายนะภัยนี้ถูกห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลภายในจากรัฐ แต่ตอนนี้พวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถซ่อนความจริงได้อีกต่อไป


โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (24 มีนาคม พ.ศ. 2560)

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำเป็นแผนการที่อันตรายแผนหนึ่งจากหลาย ๆ แผนการที่ โรซาตอม (Rosatom) กำลังดำเนินการทั่วโลก พวกเขากำลังเร่งโครงการระหว่างประเทศในประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มจะได้ผลประโยชน์ทางการเงิน ค่าแรงจูงใจ เทคโนโลยีขั้นสูงและ 'ความปลอดภัยที่ได้รับประกัน' แต่จากการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงของโครงการระหว่างประเทศของโรซาตอม (Rosatom) มันให้ภาพที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

บริษัทโรซาตอม(Rosatom) เพิกเฉยต่อความหายนะที่ผ่านมาในขณะเดียวกันก็ไม่ใส่ใจมากนักต่อการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเขาลืมเรื่องบทเรียนของหายนะภัยเชอร์โนบิล แต่พวกเราได้เรียนรู้จากหายนะภัยนี้และเราจะต่อต้านต่อการขาดความรับผิดชอบที่อันตรายและเราจะปฏิเสธอุตสาหกรรมนิวเคลียร์

ร่วมแบ่งปันบทความนี้นี้เพื่อเปิดเผยและหยุดแผนการอันตรายใหม่ ๆ ที่อาจมีขึ้น

Rashid Alimov ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซ รัสเซีย

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/59270


 ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 28 เมษายน 2560   
Last Update : 28 เมษายน 2560 15:59:51 น.   
Counter : 795 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com