กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ความหวังอยู่ที่ไหน?



Blogpost โดย Rex Weyler 

ผมไม่มั่นใจว่าเราจะชนะด้วยการใช้ตรรกะ

หลากหลายสายพันธุ์ที่สูญสิ้นไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษต่างๆ การเถลิดล้ำเข้าไปอย่างง่ายๆในถิ่นที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์บนโลก เราจะย้อนคืนสิ่งเหล่านี้กลับไปได้อย่างไร? เรามีวิทยาการทางวิทยาศาตร์ แต่มนุษยชาติส่วนใหญ่ไม่มีปณิธานทางการเมืองในเรื่องนี้ เราอยู่ในโลกทางการเมืองที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และวาทกรรมทั่วไปก็ดูจะถูกครอบงำโดยการยึดติดกับต้นแบบการพัฒนาและเศรษฐกิจอย่างนั้น

ในปีที่ผ่านมา หัวข้อข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิเวศวิทยาฟังดูน่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ 2 ใน 3 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่ในภาวะวิกฤต ภัยแล้งในประเทศเคนยา โมซัมบิก สหรัฐอเมริกา และศรีลังกา แม่น้ำที่แห้งเหือดและสงครามแย่งชิงน้ำ มวลผึ้งถูกฆ่าโดยไวรัสซิกา การปล่อยมีเทนเกินคาด นักอุตุนิยมวิทยาถูกบังคับให้เขียนรายงานการพยากรณ์ใหม่ และที่แย่ที่สุดคือ วิกฤตแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟกำลังเสื่อมโทรม เหล่าทหารอเมริกันทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาการณ์ให้กับโครงการสร้างท่อขนส่งน้ำมันที่เจาะลอดใต้เขตสงวนอเมริกันอินเดียนที่ Standing Rock และจับตัวผู้อาวุโสในชุมชนและนักข่าวไป

กว่าสิบปีที่ผ่านมา เราสามารถรายงานข่าวดีได้บ้าง แม่น้ำสะอาดขึ้น (บางส่วน) การฟื้นตัวของโอโซน (อย่างช้าๆ พร้อมกับผลกระทบข้างเคียง) เขตสงวนพันธ์ุวาฬ (หรืออะไรทำนองนั้น) การสั่งห้ามทิ้งขยะ (ที่โดนมองข้าม) และในวันนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากรเสือในทวีปเอเชีย ป่าชายเลนที่ได้รับการปกป้องที่มาดากัสการ์ เหล่าปลาแซลมอนกลับคืนสู่แม่น้ำ Elwha ในสหรัฐอเมริกาหลังการรื้อถอนเขื่อน และกฎข้อบังคับใหม่ของประเทศบราซิลที่จะช่วยรักษาส่วนต่างๆของผืนป่า Mato Grosser ได้

ในเวลาเดียวกัน เราสูญเสียป่าเป็นล้านๆเฮกตาร์ทุกปี สูญเสียสายพันธ์ุของสิ่งมีชีวิตต่างๆไปอย่างรวดเร็ว และมีสารพิษสะสมเพิ่มเรื่อยๆ

ผมเป็นคนกระตือรือร้นครับ ผมพร้อมที่จะพยายามไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ามันจะดูไม่มีหวังก็ตาม และจะยังคงอารมณ์ขันไว้ ส่วนมากนะ ถึงอย่างไรก็ตาม บางครั้งผมก็ยังคงวิตกอยู่ว่า ความหวังอยู่ที่ไหน?

สำหรับภูมิรัฐศาสตร์หรอ? เรื่องนี้ผมไม่มั่นใจ กระบวนการทางการเมืองโลกดูจะมีความทุจริตมากเกินไป ถูกเบี่ยงเบนออกจากความจริงเกินไป ละเลยมิติทางนิเวศวิทยา ดูปรุงแต่งจนเกินไป และช้าเกินกว่าที่จะสามารถระบุและแก้สภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ

ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน่ะหรอ? หลังจากที่ประชุมมา 30 ปี เราก็ได้ข้อตกลงปารีสมา ที่ไม่ได้กล่าวถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือความจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้พลังงานฟอสซิลอยู่ใต้ดินต่อไป ข้อตกลงนี้ไม่ได้สร้างข้อผูกมัดเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศใดๆทั้งสิ้น และไม่ว่าจะในกรณีใดๆก็ตาม ข้อผูกมัดเหล่านั้นไม่เพียงพออีกต่อไปที่จะคงระดับอุณภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้เพิ่มน้อยกว่า 3 องศาเซลเซียสได้ เมื่อบวกกับการปล่อยก๊าซมีเทนที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็...จะว่าสิ้นหวังก็ไม่แปลก นี่คือจุดเริ่มความไม่แน่ใจของผมว่าเราจะสามารถชนะด้วยการใช้ตรรกะจริงๆ แล้วความหวังอยู่ที่ไหนกัน?

Time’s First Breath © Lisa Gibbons

Time’s First Breath © Lisa Gibbons

สภาวะฉุกเฉินระยะยาว

ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมจะเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนฝึกความอดทน อาจจะเป็นจุดที่ดีที่จะเริ่มค้นหาความหวัง ในความอดทน ในความสงบ ในการสัมผัสโลกนี้อย่างช้า ๆ และระมัดระวัง

เราอาจจะสบายใจได้มากขึ้น เพราะประวัติศาสตร์เองก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่ามันเป็นไปได้ที่สังคมจะเปลี่ยน เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อธรรมเนียมต่างๆเปลี่ยน มันอาจจะรู้สึกว่ากะทันหัน แต่การรณรงค์ใหญ่ๆที่ว่าด้วยเรื่องชนชาติ ศาสนา หรือความเท่าเทียมทางเพศ ต่างใช้เวลาหลายช่วงอายุคน และยังคงแก้ไม่หายขาดอยู่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่า สังคมเปลี่ยนได้

เรารู้สึกถึงนาฬิกาที่กำลังเดิน ในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ และนี่สามารถทำให้เรายิ่งสิ้นหวังขึ้นไปอีก เราได้ยินว่าเรามีเวลาเพียง 5 ปี หรือเพียงทศวรรษหนึ่ง หรือเราจะต้องเปลี่ยนให้ได้ก่อนปี 2593 หรือแม้กระทั่งภายในวันพรุ่งนี้ แต่ธรรมชาตินั้นใช้เวลาดำเนินการเป็นล้านๆปี ล้านๆช่วงอายุ กว่าจะขจัดความวิบัติและหาสมดุลใหม่ได้อีกครั้ง

ผมไม่ได้มองหาความหวังในความเชื่อที่ว่ามนุษยชาติจะสามารถแก้ไขวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมต่างๆในช่วงชีวิตของผม หรือแม้กระทั่งในรุ่นลูกๆหลานๆของผม ธรรมชาติใช้เวลา แต่หุ้นและท่อส่งน้ำมันคือสิ่งตรงกันข้าม เพราะมันสร้างขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

โลกอันร่ำรวยมีวิถีชีวิตแบบนั้นได้เพราะการไหลเวียนของพลังงานทรัพยากรอันมหาศาลไปยังกลุ่มคนเหล่านั้น ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับการยึดครองอาณานิคม การขูดรีด การสกัดทรัพยากร ร่องรอยสารพิษ และภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยผู้นำ และนักเผด็จการ ซึ่งถูกควบคุมโดยมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ โลกาภิวัตน์ทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่กำลังหมดอายุขัย เราไม่อาจเติบโตด้วยตนเองจากพลังทางการตลาด มือที่มองไม่เห็นและกลจักรแห่งความหลอกลวงนี้ เราใช้ธรรมชาติมากเกินไปแล้ว เฉกเช่นฝูงหมาป่าที่ล่าเหยื่อจนแหล่งอาหารของตนร่อยหรอ ความยิ่งใหญ่ไม่ได้ช่วยอะไรเรา

ทั้งตรรกะ ทั้งวิทยาศาสตร์และข้อมูล นักวิจัยที่ขึงขังต่างก็บอกเราถึงสิ่งนี้ และถึงแม้บางสถาบันเริ่มที่จะตระหนักถึงหลักฐานทางสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่วาทกรรมหลักกลับกลืนกินวิทยาศาตร์และตรรกะให้หายไปด้วยกระแสเล็กน้อยในสังคม และการโปรโมทตัวเอง

ด้วยวิธีใดสักวิธี เหล่าคนที่อยู่กับความจริงจะต้องจัดการปัญหาหนักๆนี้ด้วยตนเองอีกครั้ง ด้วยความสามารถที่พวกเขามี และด้วยทรัพยากรอะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการจะปกป้อง ผมเจอความหวังในผู้คนที่เรียบง่ายกลุ่มนี้ อยู่อย่างเรียบง่าย ทำงานร่วมกัน และฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกเขา

James Kunstler ได้ให้นิยามคำว่า สภาวะฉุกเฉินระยะยาว (long emergency) เพื่อช่วยให้เราเข้าใจช่วงระยะเวลาที่แท้จริงที่การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้น

The Messenger © Lisa Gibbons

The Messenger © Lisa Gibbons

ตื่นขึ้นมาในโลกธรรมชาติดั้งเดิม

ผมพบความหวังในตัวศิลปิน ผู้ที่สามารถทำให้วัฒนธรรมกระแสหลักสั่นสะเทือนได้ ศิลปินมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เปล่งเสียงให้กับความรู้สึกลึกๆของเรา อย่างเช่น ผลงาน La Marseillaise ของ Rouget de Lisle ท่ามกลางนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศส Marcus Garvey และการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของพลเมืองผิวดำทั่วโลก Franca Rame ในการเคลื่อนไหวเรื่องการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ในประเทศอิตาลี ผลงาน O Leader! ของ El General ที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวเพื่อระบบประชาธิปไตยในประเทศตูนิเซีย หรือการแสดงละครเสียดสี Yes Men นักกวีชาวแคนาดาผู้เป็นที่ชื่นชอบอย่าง Leonard Cohen ที่เพิ่งเสียชีวิตไป เพลงของเขาจากเมื่อปี 2531 ชื่อ Everybody Knows ได้เตือนเราว่า

“ทุกคนรู้ว่าเรือรั่ว

ในขณะเดียวกัน เราต่างรู้ว่ากัปตันโกหก”

ศิลปินไม่ต้องมีคำอธิบาย พวกเขาใช้โอกาสนั้นสื่อสารถึงหัวใจของเหตุการณ์

Rachel Carson ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ของขวัญที่เธอให้แก่มนุษยชาติกลับมาจากความสามารถด้านภาษาและการเล่าเรื่องของเธอ ในปี 2508 เธอเขียนในหนังสือ The Sense of Wonder ว่า “โลกของเด็กนั้นสดใหม่และสวยงาม เต็มไปด้วยความอัศจรรย์และความตื่นเต้น มันเป็นโชคไม่ดีของพวกเราส่วนใหญ่ ที่มีสายตามองเห็นความจริง สัญชาตญาณต่อสิ่งที่สวยงามและน่ามหัศจรรย์ ถูกทำให้เลือนลางหรือถูกปิดกั้นไปตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่” แน่นอนว่าเธอพูดถึงโลก และรวมถึงธรรมชาติดั้งเดิมในตัวเราเอง ที่เตือนให้เรารู้ตัวว่า เราก็เป็นสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ กับสัตว์สี่เท้า กับสัตว์ปีก และสัตว์น้ำ อย่างที่เครือญาติในธรรมชาติคอยเฝ้าเตือนเรา

“เป็นสิ่งที่ประโยชน์และจำเป็น สำหรับเราที่จะหันกลับไปมองโลก และในระหว่างการพิจารณาไตร่ตรองความงามนี้ ให้สัมผัสถึงความน่าอัศจรรย์ใจและความนอบน้อมอ่อนไหวของมัน” Carson กล่าว

นี่คือที่ๆผมมองหาความหวังเป็นที่แรกๆ ผมเจอความหวังในธรรมชาติดั้งเดิมที่ยังอยู่ในโลกนี้ และในหัวใจของผู้คน สัญชาตญาณอันบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่งของชีวิตและความรัก ผมเจอความหวังในการเต้นรำอันไม่รู้จบของพันธุ์พืช สัตว์ เห็ดรา และแบคทีเรีย และรวมทั้งในทุกจังหวะก้าวของชีวิต ของพันธะไฮโดรเจน ธาตุอาหาร แร่ธาตุ น้ำตาล และโปรตีนต่างๆ ในแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนผ่านสู่สิ่งมีชีวิต ผมเจอความหวังในเวทมนต์ของสิ่งเหล่านี้ และในความสร้างสรรค์ของวิวัฒนาการธรรมชาติ

Ebb and Flow © Lisa Gibbons

Ebb and Flow © Lisa Gibbons

ความหวังที่ใครสักคนจะพบในโลกธรรมชาติกินเวลายาวนาน ไม่ใช่ความหวังแบบชั่วครู่ตามชีวิตง่ายๆหรือชัยชนะทางการเมือง ความหวังนี้จะเป็นปาฏิหาริย์ที่มีอายุยืนยาวกว่าคนทั่วไป ยาวกว่าสังคมต่างๆ หรือแม้กระทั่งสายพันธุ์ๆหนึ่งและถิ่นที่อยู่อาศัย

ผมเจอความหวังน้อยมากในอาณาจักรของมนุษย์ ที่ซึ่งมีสถาบันใหญ่ๆ รัฐบาล บริษัทต่างๆ เศรษฐกิจโลก หรือที่ประชุม ผมไม่พบความหวังในความคิดที่ว่ามนุษยชาติจะสามารถจัดการกับระบบนิเวศได้มากนัก นั่นให้ความรู้สึกเหมือนความอหังการเล็กๆ “การควบคุมของธรรมชาติ เป็นวลีที่ถูกใช้ด้วยความเย่อหยิ่ง ที่มีมาตั้งแต่ยุคหินแห่งชีววิทยา” Rachel Carson เตือนเราเมื่อ 50 ปีก่อน

ตามที่ผมเชื่อ งานของเราคือการจัดการตัวเราเอง ความต้องการ ความกลัว และความไม่มั่นใจของเรา สิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ในระดับโลก มนุษยชาติที่อยู่รอดอดทนจะอยู่ผ่านความอหังการของการจัดการระดับโลก และกลับมาอยู่กับโครงสร้างสังคมที่ก่อตัวขึ้นรอบๆสถานที่หรือสังคมๆหนึ่ง รอบๆความพอประมาณและความเหมาะสม

ผมเชื่อว่าเราจะต้องกลับมาสู่การอยู่แบบชุมชนเล็กๆ ฟื้นฟู และปกป้องระบบนิเวศที่เราอาศัยอยู่ ผู้คนที่แตกกระสานซ่านเซ็นซึ่งสูญเสียความสัมพันธ์กับโลกจะกลับมาสู่รากเหง้าของตนในที่สุด ผมเจอความหวังในชุมชนที่ทุ่มเทดูแลให้ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ ความหวังในคนนอกสังคมและเรียบง่าย ไม่มีสิทธิพิเศษ แต่กลับยืนหยัดและรักษาพื้นที่ของพวกเขา

“เขามีความสุขกับสิ่งเล็กๆที่เขาเป็น” เขียนโดย Yasunari Kawabata ใน Palm-of-the-Hand Stories “เขายังเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้น เมื่อรวมกับแร่ธาตุและพืชชนิดต่างๆแล้ว เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆที่คอยช่วยพยุงสิ่งมีชีวิตอันยิ่งใหญ่ที่ล่องลอยอยู่ในจักรวาล และไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากเป็นสิ่งมีค่าพอๆกับพันธุ์สัตว์และพืชชนิดอื่นๆ"

ผมฝากความหวังไว้กับความพอประมาณแบบนี้ ฝากไว้กับคนที่สามารถลงมือทำโดยไม่ต้องการความสนใจจากคนภายนอก หรือทำเพราะประโยชน์ส่วนตน

ผมเห็นคู่รักหนุ่มสาวหลายคู่รอคอยที่จะมีลูก มีลูกน้อยลง หรืออุปการะเด็กกำพร้า นี่ถือเป็นการตอบสนองที่ดีต่อการเพิ่มจำนวนประชากร ผมมีหวังเพราะสิ่งนี้

เกษตรกรผู้เป็นนักเขียน เวนเดล เบอร์รี่ เขียนไว้เมื่อหลายปีมาแล้วใน Leavings ว่า "ความหวังไม่ควรขึ้นอยู่กับความรู้สึกดีๆ" และเขายังเสนอว่าให้เรามองหาความหวัง "บนพื้นดิน ใต้เท้าของเรา"

เวลาที่ผมรู้สึกสิ้นหวัง ผมกลับไปที่จุดนั้น ผมรู้สึกโชคดีที่ผมอาศัยอยู่ในที่ๆยังคงไว้ซึ่งธรรมชาติดั้งเดิมผมเดินเข้าไปในป่าเมื่ออาทิตย์ที่แล้วกับเพื่อน และเด็กๆกลุ่มหนึ่งจากแถวบ้าน เราเดินเล่นกันไปอย่างไม่มีจุดหมาย ไปถึงน้ำตกเล็กๆแห่งหนึ่งทึ่ไหลลงทะเลซาลิช แล้วไหลไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ริมชายฝั่ง ปลาแซลมอลนับร้อยนอนเกลื่อนพร้อมที่จะย่อยสลายไป นกอินทรีรวมตัวบนต้นไม้เพื่อกินอาหาร ส่วนปลาแซลมอลที่ยังมีชีวิตอยู่พยายามตะเกียกตะกายด้วยความเหนื่อยล้าทวนกระแสน้ำ ผมมองไปที่ตัวหนึ่ง ตัวที่กำลังหันหน้าเข้าหากระแสน้ำ กระเสือกกระสนไปข้างหน้าด้วยครีบเหนื่อยๆของมัน หลายนาทีผ่านไป เพียงเผื่อจะขยับได้อีกไม่กี่เซ็นติเมตร ภาพนี้เป็นเหมือนตัวอย่างให้ผม ให้ผลักดันต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

ดังที่นักกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวโบฮีเมีย เรเนอร์ มาเรีย ริลค์ กล่าวไว้ "ครั้งแล้วครั้งเล่าที่คนบางคนในกลุ่มจะตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าพวกเขาไม่มีที่ยืน ด้วยความที่พวกเขาอยู่กับกฎที่กว้างกว่านั้น พวกเขามีขนบธรรมเนียมที่ต่างออกไป และต้องการพื้นที่ๆจะแสดงตัวตนออกมา อนาคตพูดกับเราผ่านคนเหล่านี้"

โดย Rex Weyler: นักเขียน ผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซสากล


References:

 Pre-ecological politics: Kurt Cobb, Resilience

 Pace of Ozone recovery: Science Daily

 Methane releases higher than predicted: Nature, and summary in The Guardian

 Zika virus spray killing bee colonies: The Guardian

 Species decline: WWF and CBC

 Lisa Gibbons art: lisagibbonsart.com

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58509


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 28 เมษายน 2560   
Last Update : 28 เมษายน 2560 11:39:25 น.   
Counter : 838 Pageviews.  


อาหารอินทรีย์ส่งผลต่อร่างกายคุณอย่างไร?



บทความ โดย เคนจิ อิชิฮาระ

อาหารอินทรีย์ส่งผลต่อร่างกายคุณอย่างไร?

อาหารที่คุณและครอบครัวคุณทานอยู่ทุกวันนั้นปลอดสารเคมีจริงๆ น่ะหรือ? มาร่วมกับเรา ท้าทายตัวคุณเองในการหันไปหาอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศและช่วยสนับสนุนอาหารที่ปราศจากยาฆ่าแมลงเพื่อครอบครัวในทุกๆ ที่

หากร่วมมือกันพวกเราสามารถเปลี่ยนแปลงระบบอาหารให้ดีขึ้นได้

ในการที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้วอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศส่งผลต่อร่างกายของคุณอย่างไร สองครอบครัวชาวญี่ปุ่นและลูกทั้งสองคน ซึ่งตามปกติจะรับประทานอาหารแบบทั่วไปเกือบทั้งหมด พวกเขาได้ท้าทายตัวเองโดยการเปลี่ยนไปรับประทานอาหารอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 10 วัน

สองครอบครัวนี้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนไปบริโภคอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

“ลูกสาวคนที่สองของฉันเคยมีอาการแพ้ตอนที่เธอยังเป็นเด็กทารก ฉันคิดว่าความไวในการแพ้ของเธอน่าจะเกิดจากอาหาร...” - คุณฮิรุคาวะ

“ฉันไม่คิดว่าผลกระทบสำหรับผู้ใหญ่จะส่งผลมาก แต่เรามีลูก ฉันจึงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายของลูก ๆ เรา...” - คุณนากะ

10 วัน ก่อนและหลังการเปลี่ยนการบริโภคอาหาร ได้มีการเก็บวิเคราะห์ตัวอย่างปัสสาวะเพื่อตรวจสอบหาระดับยาฆ่าแมลงในร่างกาย  รายงานการศึกษานี้ได้จัดทำโดยกรีนพีซประเทศญี่ปุ่น และตัวอย่างการทดลองได้ถูกส่งไปตรวจที่ห้องทดลองเอกชน ณ ประเทศเยอรมนี (รายงานฉบับเต็ม)

เราพบว่าปริมาณยาฆ่าแมลงหลังจากการทานอาหารจากเกษตรเชิงนิเวศนั้น ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับของผู้ใหญ่แล้ว ในเด็กทั้ง 4 คนนี้ มีระดับยาฆ่าแมลงที่สูงกว่า

ก่อน

หลัง

เด็กนั้นถือว่ามีความไวต่อสารเคมีที่เป็นพิษเร็วกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากอวัยวะของพวกเขายังคงอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา การพัฒนาการของสมองเด็กตอบสนองกับสารที่เป็นพิษต่อสมอง และขนาดของยาฆ่าแมลงต่อน้ำหนักตัว มีแนวโน้มที่สูงกว่า เนื่องด้วยขนาดตัวที่เล็กกว่าของพวกเขา

งานวิจัยนี้เผยให้เห็นว่าการกินอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศเป็นวิธีที่จะช่วยลดปริมาณยาฆ่าแมลงในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิผล แต่การที่จะส่งเสริมชีวิตที่ปราศจากสารเคมีฆ่าแมลงอย่างแท้จริงนั้นคือการหันไปหาอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Eco Food

Eco Food  หรืออาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศคืออะไร?

อาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และอาหารอินทรีย์ มีหลายสิ่งที่เหมือนกัน ทั้งคู่มาจากพืชและปศุสัตว์ที่เลี้ยงขึ้นมาโดยปราศจากสารเคมีฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี การดัดแปลงพันธุกรรม หรือยาปฏิชีวนะ แต่สิ่งที่อาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นมากกว่าคือ เป็นอาหารที่ปลูกในท้องถิ่น ตามฤดูกาล เต็มไปด้วยสารอาหาร และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ นี่คือผลผลิตที่มาจากดูแลอย่างสร้างสรรค์จากเกษตรที่ทำการเพาะปลูกอย่างอิสระและได้รับค่าตอบแทนจากผลผลิตที่เป็นธรรม


คุณอยากลองเปลี่ยนดูบ้างไหม?

อุปสรรคสำคัญที่กีดกันไม่ให้ครอบครัวต่างๆ หันมาบริโภคอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศนั้นดูจะไม่ใชประโยชน์ที่ไม่มากพอสำหรับผู้คนและโลกใบนี้ แต่เป็นราคาและความสะดวกในการหาซื้อ

ผู้บริโภคสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้โดยทำให้คนขายรู้ว่าเราต้องการที่จะเปลี่ยนอาหารของเรา

มาร่วมกับเราและท้าทายตัวคุณเองให้เลือกทานอาหารจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศให้มากขึ้น และสนับสนุนอาหารปลอดยาฆ่าแมลงให้กับทุกครอบครัว ด้วยความร่วมมือนี้เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบอาหารให้ดีขึ้นได้

เขียนโดย เคนจิ อิชิฮาระ ผู้รณรงค์ด้านอาหาร กรีนพีซญี่ปุ่น 

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58400


 ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 27 เมษายน 2560   
Last Update : 27 เมษายน 2560 13:54:56 น.   
Counter : 697 Pageviews.  


พระอาทิตย์ส่องถึงแม้แต่หมู่บ้านเล็กๆ



บทความ โดย Daniel Cherry

หมู่บ้านเล็กๆที่ห่างไกล ไอรัค นะ ทาฮาลา ในจังหวัดทิซนิท ทางใต้ของประเทศโมร็อกโก ได้ทนทุกข์ทรมานกับการขาดแคลนไฟฟ้าและสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก

Sunrise over Tahala, Souss-Massa-Drâa region, Morocco. © Zakaria Wakrim / Greenpeace

แต่ในปัจจุบันนี้ โครงข่ายการกระจายศูนย์พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการจ่ายพลังงานแบบดิจิตอลและไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบจ่ายไฟจากศูนย์กลาง ได้นำพลังงานไฟฟ้าและความมั่นใจมาให้กับที่แห่งนี้อย่างมาก โดยการให้บริการจัดหาพลังงานสะอาดและไม่คิดค่าใช้จ่ายกับพวกเขา ไม่เพียงเท่านั้น ระบบจ่ายไฟแบบสมาร์ทกริดหรือโครงข่ายอัจฉริยะนี้ยังมีการออกแบบและพัฒนาในแนวทางที่เคารพวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ทั้งชีวิตประจำวัน ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและทางศาสนา ให้สามารถดำเนินไปพร้อมๆกันได้

Attika school microgrid in Tahala. © Zakaria Wakrim / Greenpeace

ผลกระทบต่อชีวิตในทาฮาลานั้นใหญ่หลวง คือ ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับทั้งสุเหร่า โรงเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในชุมชน โครงการนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2559 และได้ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นแบบอย่างให้กับโครงการแบบเดียวกันในประเทศทางแอฟริกาเหนือ อาหรับ และอื่นๆมากมาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความเป็นอิสระด้านพลังงานที่เหลือเชื่อของชุมชนต่างๆ ที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเกิดจากการคิด เงินทุน และการพัฒนาในประเทศโมร็อกโก โดยคนโมร็อกโก เพื่อคนโมร็อกโก

Pupils in the computer room, which runs on solar energy. © Zakaria Wakrim / Greenpeace
ในความเป็นจริง โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ของทาฮาลานั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงจนสามารถผลิตพลังงานได้เกินความต้องการ โดยต้องขอบคุณศักยภาพด้านแสงอาทิตย์ของพื้นที่นี้ และเครือข่ายการประปาที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จ่ายนำ้ไปทั่วทาฮาลาอย่างไม่ต้องพึ่งส่วนกลางนั้น ถือว่าเป็นรางวัลพิเศษให้กับภูมิภาคนี้

Irrigation of Argan trees by solar-powered water pump. © Zakaria Wakrim / Greenpeace

ในฐานะที่เป็นประธานของชมรมสตรี ไอรัค นะ ทาฮาลา ฟาติมา โบมซู กล่าวว่า “โครงการที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเรานั้น มีผลอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของเรา ก่อนที่เราจะมีระบบโครงข่ายพลังงานพลังงานขนาดเล็ก (microgrid) นี้ เราเคยต้องเจอกับปัญหามากมายจากเหตุไฟดับและการขาดแคลนการสนับสนุนด้านพลังงาน ต้องขอบคุณโครงการนี้ที่ทำให้ตอนนี้ ทั้งหญิงชายใน ไอรัค นะ ทาฮาลา ได้รับผลประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ฟรีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้”

Overhead power lines in the Tahala network. © Zakaria Wakrim / Greenpeace
Daniel Cherry เจ้าหน้าที่ด้านงานสื่อสาร กรีนพีซเมดิเตอเรเนียน/โลกอาหรับ

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58482


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 26 เมษายน 2560   
Last Update : 26 เมษายน 2560 13:24:57 น.   
Counter : 719 Pageviews.  


เหตุผลที่ป่าไม้ควรเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาโลกร้อน



เขียน โดย Jannes Stoppel

บนโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤตโลกร้อน ป่าไม้คือปัจจัยของการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผืนป่าสามารถดูดซับมลพิษได้ราวกับฟองน้ำ สามารถจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศด้วยการสังเคราะห์แสง เก็บไว้ในลำต้นและในผืนดิน การต่อกรกับปัญหาโลกร้อนนั้นมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางพลังงานสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย นี่เป็นหนทางเดียวที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสตามที่ตกลงกันไว้ในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) แต่ส่วนที่เหลือของทางออกนั้นอยู่ที่ผืนป่าและต้นไม้


ป่า Carpathian ในประเทศโรมาเนีย บันทึกภาพเมื่อ 20 สิงหาคม 2559

เรากำลังเดินหน้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย แต่แน่นอนว่าต้องใช้เวลา หากเรายุติการทำลายป่า ร่วมไปกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ด้วยเราจะต่อกรกับมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ภายในปี 2563 (REDD+) การที่จะช่วยธรรมชาติลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศและเก็บไว้ในผืนดินและผืนป่านั้น เราจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟู ผืนป่าหลายล้านไร่ที่สูญไป และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในผืนดินเพาะปลูกด้วยกระบวนการเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่จัดการดินอย่างมีประสิทธิภาพ หากเราทำได้อย่างถูกต้อง สัดส่วนของผืนดินและผืนป่าจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ และส่งต่อสภาพภูมิอากาศที่เราอาศัยได้อย่างปลอดภัยสู่คนรุ่นหลังต่อไป


ป่า Intact ในประเทศรัสเซีย บันทึกภาพเมื่อ 13 กันยายน 2559

ลองมาดูเรื่องตัวเลขกันบ้าง 350 ส่วนต่อล้านส่วน (parts per million) คือความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัย แต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้พาเราสู่ยุคที่ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่เกิน 400 ส่วนต่อล้านส่วน หากเรายังคงดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เราอาจได้เห็นระดับคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 450 ส่วนต่อล้านส่วน ภายในปี 2593 พร้อมกับผลกระทบที่เป็นหายนะ

ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแค่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเร่งด่วนเท่านั้น แต่เรายังต้องลบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพอากาศของโลกนั้นอยู่ในระดับที่เราอาศัยอยู่ได้ เราจำเป็นต้องลงมือทำโดยไม่ไขว่คว้าทางออกที่ผิด ๆ อย่างการกักเก็บคาร์บอน หรือเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน(carbon capture and storage – CCS)


ภาพฉายคำว่า “We Will Move Ahead” ที่การประชุม COP22 เมืองมาราเกซ ประเทศโมร็อคโค เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2559

การประชุม COP22 เมืองมาราเกซ ประเทศโมร็อคโค แทบไม่มีการเจรจาตกลงอย่างเป็นทางการถึงทางออกด้านป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน อย่างไรก็ตามข้อตระหนักถึงบทบาทของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและผืนป่านั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า การลงมืออย่างเหมาะสม ประกอบกับความมุ่งมั่นอันยิ่งใหญ่ มีความจำเป็นอย่างมากในประเด็นนี้ ผู้นำทางการเมืองและทางอุตสาหกรรม รวมถึงองค์กรภาคสังคมต่าง ๆ มีบทเรียนจากโครงการมากมายที่เกิดขึ้น หนึ่งในโครงการนั้นคือ อุตสาหกรรมถั่วเหลืองของประเทศบราซิล ซึ่งกรีนพีซพบว่ามีความเชื่อมโยงกับการทำลายผืนป่าอะเมซอน และโครงการนี้เองที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นหนทางหนึ่งที่กลุ่มอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถลงมือได้ เพื่อมุ่งสู่การยุติการตัดไม้ทำลายป่าในห่วงโซ่อุปทานของตน

พื้นที่ป่าและดินนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อให้เราสามารถต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดย 4 ข้อต่อไปนี้คือประเด็นสำคัญที่ควรเป็นข้อคำนึงในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

1. จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นอิสระในการรับผิดชอบต่อการปล่อยกีาซคาร์บอนไดออกไซด์และลดการปล่อย รวมถึงยุติการทำลายป่า ฟื้นฟูป่า และร่วมลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อื่น ๆ

2. ประเทศที่กำลังพัฒนาควรได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทุนสภาพอากาศสีเขียว (Green Climate Fund - GCF) และจากกองทุนทวิภาคีอื่น ไม่ใช่จากสาขาของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ปล่อยมลพิษ

3. ประเทศในแผนสนับสนุนในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น  หรือ NDCs (Nationally Determined Contributions) ควรยกระดับเป้าหมายข้อกำหนดการใช้ผืนป่าและผืนดิน ซึ่งที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอในส่วนของประเทศที่กำลังพัฒนาและแทบจะไม่ปรากฎเลยในประเทศที่พัฒนาแล้ว

4. อาณาเขตของชนพื้นเมืองและสิทธิชุมชนควรได้รับการตระหนักและคุ้มครอง เนื่องจากคนกลุ่มนี้คือผู้ที่พิทักษ์ผืนป่าจากการบุกรุกและถูกทำลาย

ชมวิดีโอ ต้นไม้จำนวน 750,000 ล้านต้น สามารถทำอะไรได้บ้างกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


บทความนี้แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ  สามารถอ่านได้ที่นี่ Four ways our forests must be part of the climate conversation

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/58457


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 24 เมษายน 2560   
Last Update : 6 กรกฎาคม 2561 11:06:48 น.   
Counter : 672 Pageviews.  


14-19 ก.พ.60 นี้ พบกันที่งาน “HEART for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก”





“HEART for the Ocean : 

บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก”

เลิกกันได้มั้ย เลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อทะเลของเรา

วาเลนไทน์นี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชวนคุณมาบอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก ในงาน “HEART for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก” นิทรรศการศิลปะจากขยะพลาสติกที่สะท้อนถึงปัญหาพลาสติกในท้องทะเลไทยของเรา เพื่อให้ทุกคนตระหนักและตื่นตัวถึงปัญหาพลาสติกที่ส่งผลต่อท้องทะเล และร่วมกันลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ระหว่างวันอังคารที่ 14 - อาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


ร่วมชมศิลปะจัดวาง Installation art “Blue Ocean สาส์นจากทะเล” นิทรรศการจากขยะพลาสติกจาก 5 ชายหาดทั่วประเทศไทย และจากขยะพลาสติกในครัวเรือน โดยอาจารย์ป้อม ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ Eco Artist ศิลปินหญิงไทยคนเดียวที่ดังไกลไปถึงประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมถึงนิทรรศการอื่น ๆ ที่จะพาคุณไปรู้จักกับขยะพลาสติกมากขึ้น พร้อมร่วมพูดคุยเพื่อหาแรงบันดาลใจในหัวข้อ “ศิลปะ ขยะ ทะเล” และสนุกกับกิจกรรม D.I.Y. ประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ใกล้ตัวให้เป็นของใช้สุดเก๋และตอบโจทย์ทุกฟังก์ชั่นการใช้งาน

ในงานนี้ทุกคนจะได้เข้าใจปัญหาขยะพลาสติกผ่านกิจกรรมจาก 3 ธีมหลักคือ

  • Learn it yourself พบกับนิทรรศการเรื่องราวคนต้นแบบที่ใช้ชีวิตโดยสร้างขยะให้น้อยที่สุด รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวของพลาสติกที่ส่งผลต่อตัวเราในรูปแบบ Fun Facts

  • Do it yourself รังสรรค์เสื้อยืดธรรมดาๆ ให้เป็นถุงผ้าแสนเก๋, Painting Booth แต่งแต้มสีสันลงบนถุงผ้ากับศิลปินนักวาดภาพประกอบ

  • Feel it yourself ตื่นตาตื่นใจไปกับแฟชั่นโชว์จากขยะพลาสติก ในคอลเลคชั่น “โอเชียน โอต์ กูตูร์ (Ocean Haute Couture)” ผลงานของม๊าเดี่ยว ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ของไทย

กำหนดการ

“HEART for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก” ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้เข้าชมสามารถชมงานนิทรรศการที่จะค่อยๆ นำคุณไปพบกับเรื่องราวของขยะพลาสติก และเวิร์คช็อปกระเป๋าใส่เศษสตางค์จากขวดพลาสติก โดยอาจารย์ป้อม ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ ได้ทุกวัน ตั้งแต่วันอังคารที่ 14 - อาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 21.00  โดยจะมีกิจกรรมพิเศษตามวันและเวลาต่อไปนี้

15 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานเปิดนิทรรศการ ที่นี่

14.00 - 14.30 น.  เปิดงานโดย คุณเย็บ ซาโน (Yeb Sano) ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
14.30 - 15.30 น. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหัวข้อ "ศิลปะ ขยะ ทะเล” กับเหล่าบรรดาผู้คนเปลี่ยนโลก อาทิ อ.ป้อม ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ ศิลปินสร้างสรรค์ผลงาน, คุณศักดาเดช สุดแสวง ผู้นำเครือข่าย Trash Hero, คุณอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคุณฐิตินันท์ ศรีสถิต คนต้นแบบด้านการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
 15.30 - 16.30 น. 

โอเชียน โอต์ กูตูร์ (Ocean Haute Couture) แฟชั่นโชว์ขยะพลาสติก 5 ชุด ที่สะท้อนปัญหาขยะพลาสติก โดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ของไทย ม๊าเดี่ยว คุณอภิเชษฐ์ เอติรัตนะ พร้อมพูดคุยอย่างใกล้ชิด ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

15.00 - 16.00 น.  ร่วมประมูลถุงผ้ากับม๊าเดี่ยว และเหล่าศิลปินชื่อดัง
15.00 - 18.00 น.  D.I.Y. Workshop ถุงผ้าจากเสื้อยืดตัวเก่า พร้อมเพ้นท์ลายร่วมกับศิลปินลายเส้น น่ารักๆ อีกมากมาย

ชมการแสดงดนตรีจากศิลปินที่สร้างเสียงดนตรีจากสิ่งของเครื่องใช้ที่หาได้ใกล้ตัว โดย Stoondio

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560

15.00 - 16.00 น.  อเล็กซ์ เรนเดลล์ จะมาพูดคุยกันในหัวข้อ “สัตว์ทะเลไทย: ทำไมถึงใกล้สูญพันธุ์”
15.00 - 18.00 น.  D.I.Y. Workshop ถุงผ้าจากเสื้อยืดตัวเก่า พร้อมเพ้นท์ลายร่วมกับศิลปินลายเส้น น่ารักๆ อีกมากมาย
ร่วมประมูลถุงผ้าจากเหล่าศิลปินชื่อดัง

ชมการแสดงดนตรีจากศิลปินที่สร้างเสียงดนตรีจากสิ่งของเครื่องใช้ที่หาได้ใกล้ตัว โดย  S-Pavee / Max Jenmana / Opal Praput

***หมายเหตุ กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม



ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Ocean/HEART-for-the-Ocean




 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2560   
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2560 15:02:07 น.   
Counter : 1085 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com