กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

มีเพียงพวกเขาที่มองไม่เห็น - ความอุดมสมบูรณ์ของเทพาที่ไม่ปรากฏอยู่ในรายงาน EHIA



บทความ โดย วัชรพล แดงสุภา - ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และนักดำน้ำอาชีพตั้งแต่ปี 2544


ผมยืนมองท้องทะเลจากหาดทรายที่ อ.เทพา แสงแดดยามเย็นแยงสายตาของผมที่จ้องมองชาวประมงขณะกำลังทยอยกลับบ้านพร้อมกับรอยยิ้มที่เปื้อนหน้า อีกไม่นานภาพเบื้องหน้านี้อาจจะถูกแทนด้วยท่าเรือขนส่งถ่านหิน พวกเราได้ยินมาว่ารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากำลังผลิต 2,200 เมกะวัตต์  จังหวัดสงขลานั้นละเลยที่จะระบุถึงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างโดยเฉพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ พวกเราจึงต้องพิสูจน์ความอุดมสมบูรณ์นั้นด้วยตาตัวเอง

“ที่นี่สมบูรณ์มากจนคนสามารถจับปลาด้วยมือเปล่าได้เลยนะ” เพื่อนร่วมทางเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่อย่างภูมิใจ

“จับด้วยมือก็ปกตินี่พี่ ถ้าจับด้วยเท้าสิแปลก”

ชาวบ้านกำลังใช้เท้าเขี่ยทรายเพื่อหาหอย

พูดไม่ทันขาดคำ “บัง” ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ก็ใช้เท้าปาดทรายเป็นเส้นโค้ง เพียงช่วงเวลาต้มบะหมี่เดือดบังก็ได้หอยมาเต็มมือ บังบอกว่าในนี้มีหอยหลายชนิดแต่ถ้าอยากจะดูตัวใหญ่หน่อยเดี๋ยวจะใช้คราดมาหาให้ดู แน่นอนพวกเราย่อมอยากเห็น บังจึงเดินไปเอาคราดที่บ้าน คราวนี้บังเดินลงไปในน้ำที่ลึกกว่าเมื่อครู่เล็กน้อยปักคราดลงบนพื้นทรายแล้วเดินถอยหลังไปเรื่อย ๆ ไม่นานนักก็ได้หอยมา

หอยที่จับได้จากการใช้เท้าเขี่ยทราย

การหาหอยด้วยคราด

ชายทะเลริมหาดนอกจากหอยแล้วที่นี่ก็มีปลาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ในตอนกลางคืนที่นี่จะกลายเป็นแหล่งตกปลาของชาวบ้านในพื้นที่และคนจากภายนอกเข้ามาไม่เว้นวัน

ภาพบรรยากาศการตกปลายามค่ำคืนริมหาดเทพา

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเรากลับมาที่ชายหาดอีกครั้ง เราเห็นชาวประมงกำลังยืนทอดแหอยู่ริมทะเล แม้จะเป็นทะเลตื้น ๆ แต่ก็หาปลาได้ไม่น้อย ภาพความอุดมสมบูรณ์แบบนี้ไม่พบได้บ่อยนักในปัจจุบัน และหากออกเรือไปอีกเล็กน้อยก็หาปลาได้มากขึ้นอีก แม้ว่าอากาศไม่ค่อยดีแต่วันนั้นบังก็จับปลาได้มาก บังสาวอวนอยู่นานจนถึงกับบ่นว่าปวดแขน

นอกจากปลาและหอยแล้ว ทีเด็ดอีกอย่างของทะเลเทพาก็คือกุ้งเคย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของกะปิเทพาสินค้าขึ้นชื่อของที่นี่ เราได้เห็นชาวประมงที่กำลังรุนกุ้งเคยอยู่ริมทะเล ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตัวเองก็คงยากที่จะเชื่อว่าทะเลเทพามีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอย่างมากมายถึงเพียงนี้

บรรยากาศการจับปลาในตอนเช้า

การรุนเคยตอนเช้ามืด

จะว่าไปก็อิจฉาคนที่นี่ที่มีอาหารทะเลดี ๆ สด ๆ กินกันทุกวัน ต่างจากคนเมืองอย่างพวกเราที่เรากินแต่อาหารสำเร็จรูป และถ้ายิ่งเป็นอาหารทะเลที่สดและปลอดภัยนั้นมันแทบจะหาไม่ได้

ช่วงสายพวกเราออกเรือสำรวจทรัพยากรใต้น้ำในพื้นที่ที่กำลังจะเป็นเส้นทางการเดินเรือขนถ่ายถ่านหิน แม้ว่าน้ำจะขุ่นมากเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและเป็นทะเลน้ำตื้น แต่เราได้พบฝูงปลาหลากหลายชนิด ทั้งปลาสลิดหิน ปลาสาก หรือแม้แต่ปลากระพง นอกจากนั้น บนแนวปะการังเทียมที่เราได้ไปดำน้ำยังเต็มไปด้วยหอยแครง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของชุมชน

แผนที่แสดงเส้นทางการการเดินเรือและขนส่งถ่านหิน

ฝูงปลากระพงข้างเหลืองในบริเวณใกล้เส้นทางการเดินเรือ


หนึ่งในฝูงปลาสลิดที่กำลังหาอาหารในแนวปะการังเทียม

กลับมาถึงชายฝั่งที่ระบุว่าจะเป็นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราเข้าไปสำรวจป่าชายเลนบริเวณคลองตูหยงซึ่งเป็นอีกหนึ่งในทรัพยากรอันทรงคุณค่าของที่นี่ เนื่องจากคลองในป่าชายเลนนั้นเป็นคลองที่ค่อนข้างตื้น เราจึงต้องเปลี่ยนมาเดินทางด้วยเรือขนาดเล็กและลงมาลากเรือบ้างในบางครั้ง

เราพบว่ามีการโค่นต้นไม้ป่าชายเลนที่อยู่ริมคลอง ชาวบ้านบอกว่าเป็นการกระทำโดยหน่วยงานรัฐเพื่อขยายพื้นที่คลอง ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่รู้จะขยายไปทำไม เพราะเรือที่ชาวบ้านใช้กันนั้นกว้างแค่เมตรกว่า ๆ เท่านั้น หรือมีคนจะพยายามทำให้ป่าชายเลนดูเสื่อมสภาพลง

ใบไม้แห้งลอยผ่านป่าชายเลนที่เพิ่งจะถูกโค่น

อย่างไรก็ตาม ป่าชายเลนที่นี่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก พรรณไม้ป่าชายเลนหลากหลายชนิดขึ้นกันอยู่อย่างหนาแน่นเป็นร่มเงาให้กับผู้สัญจรอย่างพวกเราและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิดไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงนกที่พวกเราพบเห็นอยู่ตลอดทาง

สภาพป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ริมคลองตูหยง

ในที่สุด เราก็ได้พบเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของคลองตูหยงแห่งนี้ นั่นก็คือการจับปลาด้วยมือเปล่าที่เรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ ชาวประมงเพียงเดินลุยน้ำพร้อมนำ อวนยาว ๆ ไปล้อมเป็นครึ่งวงกลมใกล้ ๆ โคนไม้โกงกาง จากนั้นก็นำตะกร้าหรือถุงตาข่ายเล็ก ๆ สำหรับใส่ปลาติดตัวแล้วเดินข้ามไปในแนวอวนที่ล้อมไว้แล้วจึงเริ่มจับปลากันด้วยมือเปล่า ครู่เดียวปลาก็เกือบจะเต็มถุงตาข่าย  ชาวประมงทำอย่างง่ายดายจนพวกเราสงสัยว่ามันเป็นไปได้อย่างไรจึงลองเข้าไปจับปลาในแนวอวนบ้าง แต่ก็จับไม่ได้เพราะว่าปลาหลุดมือไปทุกครั้ง

ชาวประมงกำลังรวบถุงตาข่ายสำหรับใส่ปลาที่จับได้จากคลองตูหยง

“ช่วยหน่อยตัวใหญ่” เสียงชาวประมงคนหนึ่งตะโกนเรียกเพื่อนให้มาช่วยจับปลาตัวใหญ่ ไม่ทันจะขาดคำเพื่อนที่อยู่บนเรือก็ต้องกระโดดลงน้ำเพื่อมาช่วยกันจับปลาตัวนี้ ผมเองซึ่งไม่รู้จะช่วยอย่างไรก็ได้เอาใจช่วยและเฝ้าดูด้วยความสงสัยว่ามันคือปลาอะไรกันแน่จึงต้องใช้คนถึงสามคนในการนำปลาตัวนี้ขึ้นมา

ยื้อกันอยู่สักพักความสงสัยของผมก็หมดไปเมื่อปลากระพงขาวตัวใหญ่ราว ๆ 70  เซนติเมตร ถูกดึงขึ้นเรือ

ปลากระพงขาวขนาดใหญ่ขณะถูกนำขึ้นเรือ

ชาวประมงกำลังจับปลากระพงขาวด้วยมือเปล่า

นี่ไม่ใช่ปลากระพงตัวเดียวที่เราเจอในวันนี้ แต่ทำไมปลาเศรษฐกิจอย่างเช่นปลากระพงจึงไม่ถูกกล่าวถึงใน “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ในรายงานกล่าวถึงปลาเพียงห้าชนิดในคลองช่วงฤดูฝนซึ่งก็คือ ปลาหมอ ปลานิล ปลาช่อน ปลาเข็ม และปลากระดี่หม้อ! เพราะเหตุใดรายงานจึงมองข้ามความอุดมสมบูรณ์อันมากมายที่พวกเราได้พบเห็นระหว่างการสำรวจเพียงไม่กี่วัน พวกเขาแค่ไม่เห็นหรือพวกเขาเลือกที่จะไม่เห็น หากรายงานยังมีความบกพร่องมากถึงเพียงนี้ แล้วจะให้ชุมชนเชื่อได้อย่างไรว่าโครงการนี้จะไม่เป็นภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเช่นนี้

ผลการสำรวจปลาและสัตว์น้ำบริเวณคลองเทพา คลองตูหยง และคลองเกาะแลหนัง ช่วงฤดูฝนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ผมกลับมายืนบนชายหาดอีกครั้ง ภาพเบื้องหน้าในวันนี้ไม่ได้มีเพียงท้องทะเลที่ตัดกับเส้นขอบฟ้า แต่มันคือท้องทะเลและป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ น่าเสียดายที่คนไทยส่วนมากอาจไม่รู้ถึงสิ่งนี้ และอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนที่นี่กำลังจะถูกคุกคามจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความสมบูรณ์ของที่นี่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยมลพิษทางอากาศ มลพิษในแหล่งน้ำ สิ่งปนเปื้อนในอาหารทะเล จนถึงวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เทพาไม่ได้เป็นแค่ทรัพยากรของคนในพื้นที่แต่เป็นสมบัติของคนทั้งประเทศที่คนเป็นเจ้าของและมีสิทธิที่จะร่วมกันปกป้อง โปรดช่วยกันแชร์เรื่องราวนี้ออกไปเพื่อปกป้องชุมชน ธรรมชาติ และตัวคุณเอง

อ่านเพิ่มเติม:

  1. รายงาน ต้นทุนชีวิต โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย
  2. รายงาน หยุดยุคถ่านหิน: ชุดข้อมูลภัยที่แท้จริงของถ่านหิน
  3. แถลงการณ์กรีนพีซ กรณีคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) เห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา
  4. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา
  5. รายงานชี้แจงเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ประกอบการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/-ehia/blog/60129


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 31 สิงหาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 14:53:19 น.   
Counter : 7685 Pageviews.  


เมื่อไหร่ที่โลกของเราจะตระหนักถึงความเลวร้ายของอาวุธนิวเคลียร์?



บทความ โดย Bunny McDiarmid

เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่กำหนดทางเดินของชีวิตของฉัน ไม่ว่าจะทางเดินด้านวิชาชีพ หรือความสนใจส่วนตัว นั่นคือช่ว⁞งเวลาที่ฉันได้เหยียบผืนดินบนเกาะรองจ์แลป (Rongelap) ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ในวันที่ 17 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2528 ขณะนั้นฉันมีอายุเพียง 24 ปี

แวบแรกเมื่อเห็นชายหาดทรายพร้อมกับต้นมะพร้าวที่เรียงราย และน้ำที่ใสจนเห็นพื้นทะเล ฉันคิดว่าฉันได้เดินทางมาถึงหาดสวรรค์ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่เป็น

ชุมชนพื้นเมืองกลุ่มผู้หญิงพร้อมป้ายข้อความว่า “เรารักอนาคตของลูกหลานของเรา” ยืนรอต้อนรับพวกเราอยู่บนชายหาดพร้อมดอกไม้

ฉันคือหนึ่งในลูกเรือของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ  ที่มาเดินทางมาเพื่อย้ายชาวบ้านออกจากเกาะอันเป็นที่รักของพวกเขา ที่กำลังฆ่าพวกเขาลงอย่างช้า ๆ จากฆาตกรที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ย้อนกลับไปเดือนมีนาคม พ.ศ. 2497 เกาะนี้ถูกปกคลุมไปด้วยสารกัมมันตรังสีจากการที่สหรัฐอเมริกา ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ “แคสเซิล บราโว” (Castle Bravo) คือชื่อรหัสที่กำหนดให้กับการทดสอบแรกของระเบิดนิวเคลียร์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่เกาะรองจ์แลปไม่ได้รับแม้กระทั่งคำเตือนหรือการป้องกันใดๆ ทั้งสิ้น

หยาดฝนที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีตกโปรยปรายบนเกาะเป็นเวลาหลายวัน สารกัมมันตรังสีละลายไปกับแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค ทะเล บ้านเรือน สวน และแทรกซึมเข้าไปสู่ร่างกายของชาวบ้าน ในแถบเมืองร้อนซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่นอกบ้าน เด็กๆ ออกมาเล่นกับเขม่าละเอียดสีขาว โดยที่พวกเขานั้นคิดว่ามันคือหิมะ

ในหลายปีถัดมา ประชาชนตระหนักว่าชีวิตบนเกาะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป หลังจากกัมมันตรังสีเริ่มส่งผลกระทบเมื่อเวลาผ่านไป และสารกัมมันตรังสีไม่มีทางที่จะถูกกำจัดออกไปจากเกาะนี้ได้

เด็กหลายคนบนเกาะถูกผ่าไทรอยด์ที่โดนทำลายจากกัมมันตรังสี ผู้หญิงหลายคนที่ให้กำเนิดบุตรที่มีความพิการขั้นรุนแรงหรือที่เรียกกันว่า เด็กแมงกระพรุน ซึ่งปัญหานี้ไม่สามารถที่จะถูกเพิกเฉยได้

ประชาชนไม่สามารถที่จะทนเชื่อคำพูดของนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯเกี่ยวกับความปลอดภัยบนเกาะได้อีกต่อไป พวกเขาไม่มีตัวเลือก มีแต่เพียงความต้องการที่จะย้ายออกจากเกาะ พร้อมความหวังอันริบหรี่ที่จะได้กลับมายังสถานที่แห่งนี้

การอพยพชาวเกาะรองจ์แลปไปเกาะเมจาโท (Mejato) โดยลูกเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ

ความแตกต่างสุดขั้วระหว่างทิวทัศน์อันสวยงามของเกาะกับการไร้ความรับผิดชอบของทหารสหรัฐฯ ที่ใช้ชีวิตของประชาชนมาเป็นหนูทดลอง เรื่องราวนี้ยังคงเป็นเรื่องที่น่าปวดใจในแม้ว่าผ่านมาหลายปี

วันที่ 29 สิงหาคม ปีนี้ เป็นวันต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์สากล

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้เราได้ระลึกว่าทำไมการทดลองนิวเคลียร์และอาวุธนิวเคลียร์ถึงเป็นอันตราย และวันนี้เป็นวันที่จะสะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนที่เราได้ร่วมกันต่อสู้การทดลองนิวเคลียร์ และที่สำคัญที่สุดคือเราจะต่อสู้กันไปได้อย่างไรเพื่อที่จะกำจัดสิ่งประดิษฐ์ที่เลวร้ายชนิดนี้

ปีนี้ เราจะยังคงเดินหน้าสู้ต่อไป เพราะเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พบว่าแนวคิดการใช้ขีปนาวุธนิวเคลียร์กำลังแพร่หลายและส่วนใหญ่อยู่ในกำมือของคนที่ต้องการใช้มัน

การทดลองถึงสองพันครั้ง

อาจจะยากที่จะจินตนาการถึงการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำให้ดูเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องธรรมดา

ถือว่าเป็นช่วงยุคทองของวิทยาศาสตร์และการการันตีด้านความมั่นคงจากการที่อาวุธนิวเคลียร์ได้ถูกทดสอบมากกว่า 2,000 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม ปีพ.ศ. 2488 เมื่อการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่มีชื่อว่า ทรินิตี้ (Trinity) ได้ถูกดำเนินการโดยกองทัพสหรัฐฯในรัฐนิวเม็กซิโก

ในช่วงปี 60 และ 70 จำนวนการทดลองมีจำนวนเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะลดลง แต่ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายปี 90

ประเทศที่ทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ด้วยการทดลองถึง 1,054 ครั้ง สหภาพโซเวียต 715 ครั้ง ประเทศฝรั่งเศส 210 ครั้ง และสหราชอาณาจักรซึ่งมีการทดลองเท่ากับประเทศจีนที่ 45 ครั้ง

ความโกรธและความไม่อ่อนข้อประชาชนทั่วทุกมุมโลกทำให้เกิดพลังที่สำคัญในการหยุดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในสิ่งแวดล้อม กรีนพีซได้ออกเดินทางครั้งแรกในฐานะองค์กรในปีพ. ศ. 2514 เพื่อหยุดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ บทบาทหน้าที่ในการเดินทางครั้งนั้นทำให้ฉันรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

การเรียกร้องให้หยุดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หน้าตึกองค์การสหประชาชาติในกรุงเจนีวา

ในปีพ.ศ. 2539 รัฐหลักๆ ได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty) โดยจะยุติการทดสอบนิวเคลียร์ทั้งหมด ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาจะไม่เคยมีผลบังคับใช้ แต่การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ก็หยุดชะงักลง

สนธิสัญญานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในระดับสากล การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากปีพ.ศ. 2539 ล้วนได้รับการประนามและโดนคว่ำบาตรซึ่งเป็นการลงโทษอย่างเอกฉันท์ของสหประชาชาติว่าด้วยความมั่นคง

ประเทศเดียวที่ได้ยังคงทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในศตวรรษที่ 21 คือเกาหลีเหนือ ซึ่งในช่วง 11 ปีที่ผ่านมาเกาหลีเหนือทดลองไปแล้วถึง 5 ครั้ง

เมื่อสิ้นสุดยุคของสงครามเย็น และการลงนามในสนธิสัญญาต่างๆที่ทำให้หลายประเทศหยุดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ สื่อและความสนใจของสาธารณชนเริ่มจางลง เราเข้าสู่ยุคที่หลายคนกำลังมีชีวิตอยู่ภายใต้ข้ออ้างเท็จที่ว่าการคุกคามของสงครามนิวเคลียร์เป็นเรื่องในอดีต

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่ให้คำมั่นที่จะยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นยังไม่ได้ทำตามที่ให้คำมั่นไว้

พวกเขาถูกขัดขวางและพบข้อแก้ตัวหรือละเลยอย่างเห็นได้ชัดในความมุ่งมั่นของพวกเขา ผลที่ได้นั้นตายตัว เกือบ 25 ปีหลังจากสิ้นสุดยุคสงครามเย็นนั้นยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์ประมาณ 16,300 ชนิด ของจำนวน 98 พื้นที่ใน 14 ประเทศ มี 9 ประเทศยังคงใช้เงินเพื่อรักษาและปรับปรุงคลังแสง แทนที่จะยุติการใช้

เมื่อความจริงถูกเปิดเผย

เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา การใช้ชีวิตโดยเชื่อว่าสนธิสัญญาหยุดใช้อาวุธนิวเคลียร์ยังมีพลังอยู่ได้ถูกทำลายอย่างหมดสิ้น

ดูเหมือนว่าสงครามนิวเคลียร์จะไม่ใช่เรื่องชวนเชื่ออีกต่อไป เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ (ซึ่งเชื่อว่ามีหัวรบขีปนาวุธจำนวนถึง 6,800 หัวรบ) ได้ข่มขู่เกาหลีเหนือด้วยวาทะ "ไฟและความเกรี้ยวกราด" ส่วนเกาหลีเหนือได้ข่มขู่ว่าจะโจมตีเกาะกวม ซึ่งเป็นเขตปกครองของสหรัฐฯที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ดูเหมือนว่ากลายเป็นของแถมในการเจรจาข่มขู่ระหว่างสองประเทศ การคุกคามที่สามารถพูดกันได้ง่ายและดูไร้ความหมาย

เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดนี้ ทำให้ฉันรู้สึกโกรธและความหมดหวัง เราไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาบ้างหรือ? อย่างไรก็ตาม ฉันพยายามที่จะคิดในแง่ดี

นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายข้อความหน้าสถานทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงเบิร์น

เมื่อความจริงถูกเปิดเผย เป็นอีกครั้งที่เราถูกทำให้คิดว่าสถานการณ์ตอนนี้มีความเสี่ยงระดับไหน สถานการณ์ที่เปราะบางเพราะการอยู่ของมนุษย์โลกและอาวุธนิวเคลียร์ที่แพร่หลาย อาวุธที่มีอานุภาพการทำลายล้างเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้น นั่นก็คือสงคราม การใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือแม้แต่การคุกคามโดยการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อชีวิตทุกชีวิตบนโลกอันมีค่าของเรา

การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในปัจจุบันนั้นชัดเจน คือ การเจรจาต่อรองและการทูต ด้วยวิธีเหล่านี้สามารถนำเราออกมาห่างจากวิกฤตการณ์เหล่านั้น แต่นั่นยังไม่เพียงพอ เราอยากเห็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองยุติการใช้งาน

ในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นที่องค์การสหประชาชาติในนิวยอร์ก เมื่อประเทศ 122 ประเทศได้ลงนามสนับสนุนสนธิสัญญาห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่

ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ สนธิสัญญาห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ฉบับนี้จะเปิดให้ลงนาม ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองและพันธมิตรจำนวนหนึ่งของพวกเขาได้เห็นพ้องร่วมกันคว่ำบาตรสนธิสัญญาฉบับนี้ และได้ทำทุกอย่างที่จะพับการเจรจาครั้งนี้ ซึ่งพวกเขาล้มเหลวในการขัดขวาง การเจรจายังมีขึ้น ถึงอย่างไรก็ตาม การไม่เข้าร่วมประชุมของพวกเขานั้นมีความสำคัญ เพราะว่าถ้าพวกเขาไม่ร่วมลงนาม นั่นหมายความว่าประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองไม่จำเป็นต้องทำตามสนธิสัญญา

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญานั้นมีความสำคัญสูงมากที่จะทำให้เห็นว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกกฎหมายและมีประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศนั้นเป็นไปได้ยาก สนธิสัญญากำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับโลกที่อาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ไม่ใช่ทางเดินที่ถูกต้อง

ในช่วงเวลาที่การคุกคามจากสงครามกลายเป็นเรื่องที่ถูกจุดประเด็นได้อีกครั้ง รัฐบาลทั่วโลกโลกต้องใช้สนธิสัญญานี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดความตระหนักและยกเลิกการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

Bunny McDiarmid ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซสากล

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60112


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 30 สิงหาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 14:59:00 น.   
Counter : 7238 Pageviews.  


สัญญาณที่ดี แต่ยังช้าเกินไปหากต้องรอถึง 3 ปี ที่จะจัดการมลพิษทางอากาศของประเทศไทย



บทความ โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ทุกลมหายใจของเราอาจกำลังถูกคุกคามด้วยมลพิษทางอากาศ หากกรมควบคุมมลพิษยังรออีก 3 ปี เพื่อจัดการกับปัญหามลพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยยังละเลย

อากาศสะอาด คือสิทธิพื้นฐานของเราทุกคน หลังจากที่กรีนพีซอัพเดทสถานการณ์มลพิษ PM2.5 และเปิดเผยข้อมูลจากการประมวลค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 19 จุดใน 14 เมืองทั่วประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 และพบว่าค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ทั้ง 14 เมืองเกินค่าความปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ล่าสุด ​นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้มีคำตอบเพิ่มเติมแล้วว่า จะมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ให้ครอบคลุมในปี 2563 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบการรายงานค่าดัชนีคุณภาพอากาศ และทดสอบระบบการรายงานผ่านแอพพลิเคชั่น AIR4THAI

ทว่า กรมควบคุมมลพิษยังคงเพิกเฉยไม่ได้กล่าวถึงการรวมค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศนั้น คือ ตัววัดที่ช่วยบอกเราได้ว่า อากาศที่เราหายใจนั้นมีมลพิษและอันตรายมากน้อยเพียงใด

กรณีนี้เห็นได้ชัดในช่วงต้นปีของแต่ละปีกับวิกฤตหมอกควันพิษที่เชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว  แต่กรมควบคุมมลพิษยังคงรายงานว่าอากาศที่เชียงใหม่ยังปลอดภัยแม้ว่าทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยควันพิษ เนื่องจากเป็นการวัดคุณภาพอากาศจาก PM10 คือวัดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน ไม่รวมค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มวัดค่ามลพิษ PM2.5 โดยมีสถานีตรวจวัดอัตโนมัติ จํานวน 12 สถานี ใน 10 จังหวัด ต่อมาในปี 2556 องค์การอนามัยโลก(WHO) จึงกําหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ปัจจุบันนี้กรมควบคุมมลพิษเผยว่ามีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็กแล้ว จำนวน 26 สถานี ใน 18 จังหวัด และมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมทุกสถานี ในปี 2563 (จากข้อมูลล่าสุดในช่วง2560ครึ่งปีแรกมี 19 สถานี ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ) โดยมีสถานีตรวจวัด PM10 จำนวน 63 สถานี ใน 33 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังคงกําหนดค่ามาตรฐานให้มีการปล่อยมลพิษทางอากาศ PM 2.5 สูงกว่านับเท่าตัว เมื่อเทียบเคียงกับองค์การอนามัยโลกและหลายประเทศอย่างเช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และอเมริกา โดยระดับความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกเสนอไว้ว่าไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนของประเทศไทยกำหนดไว้ว่าไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 3 ปีที่ประชาชนต้องรอและสูดมลพิษทางอากาศที่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยเข้าไปทุกวันนั้น คือเป็นวิกฤตที่ประเทศไทยต้องกังวล และอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชากรในกลุ่มเสี่ยงได้

ในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยกรมควบคุมมลพิษที่ระบุไว้ในบทที่ 2 ของร่างแผนฯ ว่า “จากการติดตามตรวจสอบพบว่า ปริมาณ PM2.5 ในหลายพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน” จากนี้ต่อไปเราคงต้องจับตามองว่าสถานการณ์มลพิษ PM2.5 ของประเทศไทย จะเดินหน้าไปในทิศทางใด แต่การเพิ่มการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็กกว่า PM2.5 นั้นถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นปกป้องประชาชนจากภัยมลพิษทางอากาศ

สิ่งที่กรมควบคุมมลพิษสามารถดำเนินการได้เพิ่มเติมเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ คือ การเร่งดำเนินการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศนี้ให้เป็นวาระเร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องรออีกถึง 3 ปี รวมถึงควรดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยที่แหล่งกำเนิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx)และฝุ่น ละอองขนาดเล็กทั้ง PM10 และ PM2.5 ให้สอดคล้องกับข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลก ซึ่งปัจจุบันนี้ค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษของประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ย 1 ปี ไว้ที่ไม่เกิน 25 มก./ลบ.ม. ในขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีไว้ที่ไม่เกิน 10  มก./ลบ.ม. นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษยังสามารถร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กําหนดค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5และปรอทที่แหล่งกําเนิดที่อยู่กับที่รวมถึงการตรวจวัดและรายงาน การปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้า

ค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษที่ยังคงแตกต่างจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกนั้น เป็นสิ่งที่เอื้อให้กับผู้ปล่อยมลพิษมากกว่าการคุ้มครองสิทธิและสุขภาวะของประชาชนไทย

ทุกคนมีสิทธิในเข้าถึงอากาศสะอาด กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยPM2.5 ให้สอดคล้องกับข้อแนะนําขององค์การอนามัยโลก เพื่อความแม่นยำในการระบุผลกระทบต่อสุขภาพและแนวทางป้องกัน

ร่วมลงชื่อขออากาศดีคืนมา คลิกที่นี่


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 15:07:40 น.   
Counter : 8419 Pageviews.  


เพิกเฉย PM2.5 ประเทศไทยพลาดเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)



บทความ โดย นันทิชา โอเจริญชัย อาสาสมัครกรีนพีซ

เกือบหนึ่งปีหลังจากที่สหประชาชาติโลก หรือยูเอ็น (UN) ได้ประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในปีพ.ศ. 2559 ซึ่งรัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินการแผน โดยมีมติกำหนดให้มี 30 ประสงค์เร่งด่วนที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการในช่วง 5 ปีแรก จากเป้าหมายทั้งหมด 17 ประการและ 169 เป้าประสงค์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ใน 30 เป้าประสงค์นี้ ไม่มีข้อไหนเลยที่กล่าวถึงเรื่องมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน PM2.5 ที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วนของประเทศไทย

รายงานดัชนีประสิทธิภาพ SDGs ปี พ.ศ. 2560 ของ UN เผยว่าประเทศไทยได้รับคะแนน 25.8 เต็ม 100 ในเรื่องของ “ระดับ PM2.5 (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในเขตเมือง” ทั้งนี้จากการจัดระดับมลพิษทางอากาศของเมืองโดยกรีนพีซพบว่าทั้ง 19 พื้นที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก(10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)และเกินค่ามาตรฐานของประเทศไทยเองที่ตั้งไว้อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้น ไทยถูกจัดอันดับว่า “แย่” ในอีกหลายด้าน รวมทั้ง “การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคผลิตพลังงาน” และ “ความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังล้าหลังอยู่ในเรื่องของการต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวชี้วัดการปล่อยมลพิษทางอากาศของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน PM2.5 เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย 11ซึ่งมุ่งที่จะ “ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของประชากรมีความปลอดภัยทั่วถึง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Cities and Communities) ส่วนในการจัดเรียงของสถิติทางการของประเทศไทยก็ได้ระบุว่า “ประชากรในเขตเมืองได้รับมลพิษทางอากาศกลางแจ้งเกินค่ามาตรฐานตามค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก” เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเช่นเดียวกัน แม้ว่าเป้าหมายเหล่านี้จะควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอื่นๆโดยเฉพาะเป้าหมาย 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมาย 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมาย 15: การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภาคพื้นดิน ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพอากาศ แต่ยังดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยยังคงเพิกเฉยกับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เป็นภัยคุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกวินาที

อันที่จริงแล้ว แต่ละเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน นั้นมีความเชื่อมโยงกับ การพัฒนาที่ยั่งยืนทุกเป้าหมาย โดยส่งเสริมเป้าหมายซึ่งกันและกัน การปรับปรุงในเรื่องหนึ่งไม่เพียงแต่ช่วยบรรลุความสำเร็จในด้านนั้นๆเพียงด้านเดียว แต่ยังคงช่วยแก้ไขปัญหาในด้านอื่นๆไปอีกด้วย ทั้งนี้การดำเนินแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะไม่ถูกจุดประสงค์ของมันเลย หากรัฐบาลเน้นปรับปรุงด้านใดด้านหนึ่ง โดยที่ละทิ้งเป้าหมายอื่น ๆ ไว้จัดการทีหลัง การบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนรัฐบาลจำเป็นที่จะพัฒนาทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากว่าฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นอีกหนึ่งต้นตอที่กระทบต้นทุนชีวิตของประชาชน จึงควรเป็นหนึ่งในปัญหาที่รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ในปีนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศนำการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาผูกโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เพื่อที่จะเดินแผนไปในทิศทางเดียวกันกับที่วางไว้ก่อนหน้า แต่สิ่งที่เป็นปัญหากับยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยนั้น คือการที่ขาดคำว่ายั่งยืนไป และการที่ขาดคำนั้นจะทำให้การดำเนินแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG นั้นไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิง

ขณะนี้ดูเหมือนว่าจุดหมายปลายทางเดียวของรัฐบาลคือการพัฒนา โดยมุ่งการเจริญเติบโตทางเงินและการผลาญทรัพยากร ดูตัวอย่างจากการพัฒนาเมืองหลวงและอีกหลายเมืองที่กำลังรุดพัฒนาที่กำลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษทางอากาศที่คร่าชีวิตของประชาชนหลายหมื่นคนต่อปี หลักของการพัฒนาอาจหมายถึงเมืองที่ใหญ่ขึ้น แต่หลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นย่อมหมายถึงการพัฒนาเมืองที่ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วประเทศไทยจะหวังที่จะพัฒนาอย่างแท้จริงได้อย่างไร หากคนไทยยังต้องทนใช้ชีวิตในเมืองที่เต็มไปอากาศสกปรก

ร่วมลงชื่อ ขออากาศดีคืนมา ได้ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25-sdgs/blog/59868


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 15:10:01 น.   
Counter : 5707 Pageviews.  


ประเทศไทยยังไม่พ้นวิกฤตมลพิษทางอากาศ PM2.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560



หากในพื้นที่ใดมีมลพิษทางอากาศ ประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง นอกเสียจากจะย้ายถิ่นฐาน มลพิษทางอากาศจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญร่วมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 หลายเมืองในประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ  ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หากประเทศไทยยังคงละเลยการแก้ไขมลพิษทางอากาศที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปิดเผยข้อมูลจากการประมวลค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 19 จุดใน 14 เมืองทั่วประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ในงาน “Unmask Our Cities: อัพเดทสถานการณ์มลพิษ PM2.5” โดยระบุว่า ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ทั้ง 14 เมืองเกินค่าความปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และมี 10 เมืองจากทั้งหมด 14 เมือง ที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยของ PM2.5 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 สูงกว่าระดับความปลอดภัยที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทย ซึ่งตั้งไว้ว่าไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี

ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ พบว่า  2 พื้นที่เมืองที่มีค่าเฉลี่ยของความเข้มข้น PM2.5 สูงสุด ได้แก่ขอนแก่น (44 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และสระบุรี (40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ถึง 4 เท่า และมีอีก 8 พื้นที่เมืองที่ยังต้องเผชิญกับปัญหา ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ(พระประแดง) ปราจีนบุรี(ท่าตูม) ราชบุรี(เมือง) สมุทรสาคร(เมือง) ลำปาง(แม่เมาะ) เชียงใหม่(เมือง) และตาก(แม่สอด) โดยมีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่อยู่ในระดับที่สูงตั้งแต่ 26 ถึง 39 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพใหญ่

มลพิษทางอากาศเป็นประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อมประการหนึ่งที่รัฐบาลไทยยังล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหา โดยที่ฝุ่นละอองPM 2.5 ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน แนวคิดที่ว่า “ได้อย่างย่อมเสียอย่าง” ไม่ควรเป็นหลักการที่ควบคู่กับการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ โดยที่ยอมแลกด้วยสุขภาพของประชาชนที่สูญเสียไปเนื่องจากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย

ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างแท้จริง จำเป็นจะต้องแก้จากแหล่งกำเนิดมลพิษ และทำความเข้าใจกับปัญหา ซึ่งแนวทางต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศที่กรมควบคุมลพิษควรเร่งดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย คือ ปรับปรุงดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยโดยนำค่าเฉลี่ยของ PM2.5 มาใช้ในการคำนวณ (PM2.5 AQI)

มลพิษทางอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายในงานเสวนาเรื่อง “ฝุ่นละออง PM2.5 แผนการจัดการมลพิษทางอากาศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ได้ถกถึงมาตรฐานการค่ามลพิษของไทยที่ยังขาดการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งนอกจาก PM2.5 แล้ว ยังรวมถึงสารพิษต่าง ๆ อาทิ พีเอเอช (โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน) สารหนู แคดเมียม และปรอท ซึ่งเป็นสารพิษองค์ประกอบหลักของ PM2.5

“ฝุ่นพิษ PM2.5 ร้ายกว่าปรอท หรือตะกั่วซึ่งมีสารพิษเพียงตัวเดียว PM2.5 เป็นสหสารพิษ และมีสารอิททรีย์ระเหยง่ายที่เป็นสารก่อมะเร็ง ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยไม่มีการรวบรวมข้อมูลด้านมลพิษ ตั้งแต่ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบันนี้เรายังคงไม่รู้ว่ามีแหล่งปล่อยมลพิษในประเทศอยู่กี่แห่ง แล้วเราจะควบคุมได้อย่างไร” คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการ ป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “ไทยยังไม่มีการกำหนดว่าสารพีเอเอชเป็นสารอันตราย ทั้งที่ประเทศอื่นกำหนดหมดแล้ว จากที่ได้ทำการวิจัยพบว่า สารพีเอเอชในมลพิษทางอากาศที่เชียงใหม่เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 906 มวน และในการตรวจสอบการกระจายตัวของพีเอเอชที่กรุงเทพฯพบว่ามีการกระจายตัวสูงสุดที่ดินแดง รองลงมาที่โชคชัยสี่ ตัวอนุภาค PM2.5 ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่สามารถนำพาสารก่อมะเร็งได้ อุปมาคือฝุ่นคือรถยนต์ สารก่อมะเร็งเป็นผู้ก่อการร้าย ยิ่งมีขนาดเล็กเท่าไร ยิ่งนำพาสารก่อมะเร็งไปได้ไกล”

นอกจากนี้ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการวิจัยในระหว่างช่วงหมอกควันพิษทางภาคเหนือตอนบนว่า ในช่วงที่กำลังเกิดการเผาไหม้กับช่วงที่มีแต่ควัน ผลที่ได้คือค่ามลพิษไม่ต่างกัน “สิ่งที่มีผลเสียอย่างต่อเนื่องคือไอเสียจากยานพาหนะ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของสารก่อมะเร็ง ถ้าอยากลดสารก่อมะเร็งใน PM2.5 ของภาคเหนือตอนบน คือต้องลดยานพาหนะ” ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ กล่าว

ในงานนี้ คุณเสกสรร แสงดาว ผู้อํานวยการส่วนแผนงาน กรมควบคุมมลพิษ ได้อัพเดทความคืบหน้าของการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษว่า มีการขยายสถานีตรวจวัด PM2.5 และกำลังประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรวม PM2.5 เข้าไปในดัชนีคุณภาพอากาศ ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลอง

“ประเทศไทยต้องยอมรับว่า ค่า PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งตามประกาศของ WHO จึงต้องควบคุมที่แหล่งกำเนิดให้ปล่อยฝุ่นละอองออกมาไม่เกินมาตรฐาน โดยกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีการปล่อย PM2.5 จากทุกแหล่งกำเนิดก่อน รวมถึงปรับปรุงค่ามาตรฐานในบรรยากาศและแหล่งกำเนิดให้สอดคล้องกับประเทศใกล้เคียง เช่น จีน สิงคโปร์ ยุโรป เป็นต้น” คุณสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เสนอแนะ

ความเข้มข้นของ PM2.5 ในเขตเมืองเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แม้ว่าประเทศไทยได้รับรองเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ยังต้องมีความพยายามอีกมากในการทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันในประชาคมโลก รวมถึงเป้าหมายข้อที่ 3 ว่าด้วยการ สร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย  และเป้าหมายข้อที่ 11 ว่าด้วยการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ความต้านทานและความหยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและยั่งยืน

“ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ เรายังพูดว่าไม่เกินมาตรฐาน แต่ไม่ใช่มาตรฐานองค์การอนามัยโลก เป็นมาตรฐานของตน แผนทุกแผนของรัฐบาลหลังจากนี้ ไม่มีพูดถึงมลพิษทางอากาศเลย ประชาชนไม่ทราบว่าถ้าโครงการใดเกิดขึ้นจะเกิดผลกระทบและมลพิษมากเพียงใด เรามักพูดว่า เรามีทางเลือก แต่เรามีแต่เรื่องต้องเสีย ทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประเทศจะเกิดมลพิษน้อยที่สุดหรือหายนะมากที่สุดหากเรากำหนดแผนพัฒนา มลพิษทางอากาศเป็นเรื่องปลายจมูก แต่มีความสำคัญมาก ทั้งที่ทุกวินาทีคนไทยกำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศ ทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน การพัฒนามีทางเลือกของมัน ไม่ใช่ไม่มีทางเลือก เราสามารถผันตัวเองสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขึ้นอยู่กับว่าให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวทิ้งท้าย

เขียนโดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25-2560/blog/60005/


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 11 สิงหาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 15:11:57 น.   
Counter : 6570 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com