กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

10 สถานที่ธรรมชาติอันน่าทึ่ง



Blogpost โดย Greenpeace Australia Pacific

เราได้รวบรวมภาพธรรมชาติที่สวยงามมาให้คุณได้ดูกัน

© ULET IFANSASTI

มีธรรมชาติอันสวยงามอยู่ทั่วโลกที่เราควรช่วยกันปกปักรักษา ธรรมชาติแต่ละแห่งก็สวยงามแตกต่างกันไป จากป่าฝนที่มีพืชเป็นยารักษาโรคจนถึงสายน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชีวิตของพวกเราล้วนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อย่างไรก็ตามผลกระทบจากน้ำมือของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการก่อมลพิษ การทำเหมือง การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังคุกคามธรรมชาติอันสวยงามเหล่านี้

10 สถานที่ที่คุณจะได้เห็นต่อไปนี้ล้วนมีความสวยงามและความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้สถานที่แต่ละแห่งยังคงอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีประชากรไม่มากและอยู่ห่างจากเมืองใหญ่

ในวันนี้ สถานที่เหล่านี้ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่ใครจะรู้ถึงอนาคตของธรรมชาติเหล่านี้ว่าจะเป็นเช่นไร หากเราไม่ร่วมกันปกป้องธรรมชาติเหล่านี้ก่อนที่จะสายเกินไป

เพื่อปกป้องความสวยงามและความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เราต้องร่วมกันเป็นเจ้าของของแหล่งอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ เริ่มตั้งแต่หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งและร่วมเรียกร้องให้ผู้ประกอบการพลาสติกทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง อนาคตของสิ่งแวดล้อมอยู่ในมือของพวกเรา

1.ป่าฝนในปาปัวนิวกินี

© Markus Mauthe / Greenpeace

เนื่องจากมีพื้นที่ที่ถูกคุ้มครองมากมาย พื้นที่ป่าฝนในปาปัวนิวกินียังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และยังไม่ถูกรุกรานจากฝีมือมือมนุษย์  ชุมชนท้องถิ่นได้เริ่มให้มีการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าฝนนี้เกิดความอุดมสมบูรณ์เพิ่มทุก ๆ ปี

เป็นที่น่าเศร้า ในปัจจุบันกว่าร้อยละ 60 ของป่าฝนโบราณในปาปัวนิวกินีกำลังถูกทำลายจากการตัดไม้เพื่อการทำอุตสาหกรรมกระดาษและน้ำมันปาล์ม

2.เกาะกาลาปากอส

© John Goldblatt / Greenpeace

เกาะกาลาปากอสเป็นแหล่งของความหลากหลายของชีวภาพอันน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทั้งบนบกและในน้ำ สัตว์เฉพาะถิ่นหลายสายพันธุ์บนเกาะนี้ได้ถูกศึกษาโดย ชาลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง สัตว์บนเกาะนี้ไม่สามารถพบเจอได้ตามพื้นที่ต่าง ๆ แต่พบได้ที่เกาะนี้ที่เดียว รัฐบาลของเอกัวดอร์ได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อปกป้องระบบนิเวศอันมีคุณค่า เช่น ระบบการจัดการผู้เยี่ยมชมที่จะช่วยจับตาและหยุดการรุกรานของสัตว์ในพื้นที่

3.หมู่เกาะเซเชลส์

รูปโดย Alin Meceanu จาก Unsplash

หาดทรายสีขาวบริสุทธิ์บนเกาะเซเชลส์สามารถอธิบายได้เป็นอย่างดีถึงสภาพภูมิประเทศที่งดงามที่หมู่เกาะเซเชลส์ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา รัฐบาลท้องถิ่นได้จัดตั้งเขตคุ้มครองทางทะเลหลายแห่งซึ่งประสบความสำเร็จในการหยุดการประมงที่ผิดกฎหมาย

4.นามิเบีย

รูปโดย jean wimmerlin จาก Unsplash

นามิเบีย ประเทศที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาตอนใต้ นามิเบียเป็นประเทศเดียวที่มีพันธะสัญญาต่อการการอนุรักษ์และปกป้องว่าด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยความพยายามขององค์กรรัฐบาลและภาคเอกชนที่ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อม นามิเบียได้ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับผู้ลักลอบล่าสัตว์

5.แอนตาร์กติกา

© Paul Hilton / Greenpeace

แอนตาร์กติกาเป็นทวีปเดียวที่ไม่มีประชากรดั้งเดิมอาศัยอยู่ แต่เป็นพื้นที่ที่สัตว์พื้นเมืองและจำนวนของนักวิทยาศาสตร์อาศัยอยู่  ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ยังไม่ถูกความเจริญเข้าครอบครอง แอนตาร์กติกาจึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์สายพันธุ์พื้นเมือง เช่น แมวน้ำช้าง วาฬหลังค่อม และเพนกวินจักรพรรดิ์ นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของพืชนานาพันธุ์ รวมถึงมอสและตะไคร่น้ำหลากชนิด

น่าเศร้าที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประมงอุตสาหกรรมขนาดยักษ์กำลังคุกคามระบบนิเวศอันเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้ พวกเราสามารถร่วมกันสร้างแหล่งคุ้มครองทางธรรมชาติได้ที่นี่

6.อ่าวเกรทออสเตรเลียไบท์

© Ella Colley / Greenpeace

เกรทออสเตรเลียไบท์ อ่าวเปิดที่ตั้งอยู่บริเวณตะวันตกและตอนใต้ของออสเตรเลีย อ่าวนี้เป็นบ้านของกลุ่มสัตว์น้ำ วาฬ สิงโตทะเล และหน้าผายาวเป็นร้อยกิโลเมตร สถานที่นี้ถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสายพันธุ์สัตว์หายาก และร้อยละ 85 ของสัตว์น้ำที่พบที่นี่ไม่สามารถพบได้ในสถานที่อื่น ๆ

อ่าวเกรทออสเตรเลียไบท์กำลังถูกคุกคามจากการขุดเจาะน้ำมันใต้ทะเลลึก คุณสามารถร่วมปกป้องอ่าวเกรตออสเตรเลียไบท์ได้ที่นี่

7.แทนซาเนีย

© Roberto Isotti / A.Cambone / Homo ambiens / Greenpeace

การคุ้มครองสัตว์ป่าของชุมชนในแทนซาเนียช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศนี้ไว้ได้ รูปที่คุณเห็นคือช้างแอฟริกันที่กำลังเดินผ่านอุทยานแห่งชาติโกโรโกโร การจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ช่วยปกป้องช้างและสัตว์ต่าง ๆ จากการล่าและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย

8.เมืองคูคุย อาร์เจนติน่า

© Martin Katz / Greenpeace

เมืองคูคุยตั้งอยู่แถบเหนือสุดของประเทศอาร์เจนติน่า เมืองนี้เป็นที่ตั้งของภูมิประเทศแบบป่าดงดิบขนาดใหญ่ นาเกลือขนาดใหญ่ และเทือกเขาสูง ภาพที่เห็นคืออุทยานแห่งชาติคาลิเลกัว พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล โชคร้ายที่สถานที่นี้เป็นเป้าหมายของการสำรวจขุดเจาะน้ำมัน

9.อุทยานแห่งชาติแจสเปอร์ เมืองอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา

© Greenpeace

พื้นที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสูงใหญ่ที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ อุทยานแห่งชาติแจสเปอร์เป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในเทือกเขาแคเนเดี้ยนร็อกกี้ และยังเป็นบ้านของสัตว์หายาก เช่น หมีกริซลี กวางมูส กวางคาริบู และหมาป่า  น่าเสียดายที่ท่อส่งก๊าซขนาดใหญ่กำลังจะถูกติดตั้งผ่านเมืองอัลเบอร์ต้า และท่อทรานส์เมาเท่นกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอแผนการ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

10.เกาะแบร์ ประเทศนอร์เวย์

© Mitja Kobal / Greenpeace

เกาะแบร์ เกาะที่อยู่ทางใต้สุดของหมู่เกาะนอร์วีเจี้ยน สฟาลบาร์  เกาะนี้เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล เกาะแห่งนี้ที่ไม่มีการอาศัยและการพัฒนาของมนุษย์ คุณสามารถพบสัตว์พื้นเมืองและอาณาจักรนกทะเลขนาดใหญ่ได้ที่เกาะแห่งนี้ หลายครั้งที่นกจะบินเหนือหน้าผาอันสูงชันของเกาะนี้ เกาะแบร์ยังคงถูกรายล้อมไปด้วยธารน้ำแข็ง ถ้ำ และเสาหินมากมาย

รูปของความมหัศจรรย์และความสวยงามของธรรมชาติไม่สามารถที่จะเอามาลงในบทความนี้ได้หมด แต่อย่างน้อยรูปในบทความนี้จะช่วยย้ำเตือนถึงสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อม เราสามารถร่วมมือกันเพื่อเป็นพลเมืองที่ดีของโลกใบนี้ได้ เพียงแค่คุณร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมรักษาธรรมชาติอันสวยงามนี้ให้อยู่กับโลกนี้ตลอดไป

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/10/blog/61771


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2561   
Last Update : 10 สิงหาคม 2561 10:57:47 น.   
Counter : 399 Pageviews.  


อนาคตที่น่าอยู่และมีสันติสุขเป็นแบบไหน?



“เราไม่สามารถแก้ปัญหาโดยใช้แนวคิดแบบเดิมๆที่เราใช้การสร้างปัญหานั้นขึ้นมา”

— อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ฉันเริ่มทำงานกับกรีนพีซมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ฉันไม่ได้รู้สึกว่าปี 2551 เป็นเวลาที่ผ่านมานานสักเท่าไร ทว่าโลกของเราในตอนนั้นมันต่างกันมากจริงๆ ในตอนนั้นเรายังโพสต์ทวิตเตอร์พร้อมกันหลายๆทวีตไม่ได้ วิกิพีเดียและการกระจายความรู้อย่างทั่วถึงก็ยังเป็นแค่ภาพฝันที่วาดขึ้นมาลอยๆ และอาการเสพติดโซเชียลมีเดียก็ยังไม่ได้เป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชอย่างตอนนี้เลยด้วยซ้ำ

เทคโนโลยีได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปมากอย่างที่เราไม่เคยประสบมาก่อน ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วิกฤติผู้อพยพลี้ภัย อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป…. ต่างเป็นเพียงตัวอย่างผลกระทบเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากระบบพังๆ นี้เท่านั้น และปัญหาเหล่านี้ก็ยิ่งทวีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในบางกรณียังถูกกระตุ้นด้วยนวัตกรรมดิจิทัลที่สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เรื่องของเทคโนโลยีกับความต้องการของสังคมเราในปัจจุบันนั้นมีระยะห่างระหว่างกันอย่างชัดเจน

โซเดียมไซยาไนด์รั่วไหลที่บ่อเหมืองทองแบบพื้นราบที่ปาปัวนิวกินี © เกลน แบร์รี / กรีนพีซ

พวกเราต่างกำลังประสบกับปัญหารอยขาดที่ถูกกรีดเป็นแผลลึกเรื้อรัง ซึ่งก็คือสายใยของระบบนิเวศ สังคม และวัฒนธรรมทางจิตใจที่ขาดออกจากกัน รวมถึงความไม่เชื่อมโยงกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัดกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลก ระหว่างความเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคลกับการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และระหว่างค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเรา

อย่างไรก็ดี ความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจเชิงสังคมของเราที่เป็นอยู่นี้ก็ได้ปลุกความต้องการอันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้เพื่อร่วมกันสร้างโลกใบใหม่ที่ดีกว่า ทั้งขบวนการอาหรับสปริง ลอส อินดิกนาดอส และการยึดวอลล์สตรีท ซึ่งได้แพร่กระจายระบบคุณค่าใหม่และจุดประกายการริเริ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญที่ให้ค่ากับผลกำไรมากกว่าผู้คน รวมถึงกระบวนทัศน์ว่าด้วยการเติบโตที่ไม่มีที่สิ้นสุด โดยความเคลื่อนไหวเหล่านี้ต่างใช้เทคโนโลยีเพื่อแสดงภาพระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกชนชั้นและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งจะใช้ได้จริงได้แม้ในขีดจำกัดทางสิ่งแวดล้อมบนโลกของเรา

เศรษฐกิจแบบแบ่งปันและแบบหมุนเวียนนับเป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะไปในทิศทางดังกล่าว รูปแบบเศรษฐกิจเหล่านี้เริ่มมาจากการตอบสนองต่อวิกฤติเศรษฐกิจที่ผู้คนต่างถูกบีบให้ใช้ความจุ เวลา และสินค้าที่มากเกินความจำเป็น รวมถึงการที่บริษัทต่างๆ เริ่มประสบกับปัญหาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนทรัพยากร ทว่าโชคร้ายที่ภาคเอกชนและสิ่งที่ผลักดันพวกเขา (ที่เราเรียกกันว่า “การเติบโต”) ได้เข้ามาคุกคามเศรษฐกิจรูปแบบนี้เช่นเดียวกับแนวคิดอื่นๆ โดยแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดผลสะท้อนกลับที่อาจทำให้เราต้องเพิ่มจำนวนผลผลิตรวมทั้งหมด จนผลประโยชน์ที่จะได้มานั้นต้องสูญเปล่า

นอกจากนี้ วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมก็ไม่อาจทำให้เป็นที่ตระหนักได้หากถูกตัดขาดจากประเด็นอื่นๆ เนื่องจากแนวคิดต่างๆ อย่างเช่นเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนนั้นจะใช้การได้ก็ต่อเมื่อมีการนำไปรวมกับกลยุทธ์อื่นๆ ที่กว้างกว่าในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ

ลองจินตนาการดูว่า…. จะเป็นอย่างไรหากเราปรับระบบเศรษฐกิจใหม่ให้เป็นไปดังนี้

  • ให้ผู้คนสำคัญกว่าผลกำไร

ให้ความสำคัญกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมมาก่อนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ทั้งแคบและไม่ยั่งยืน รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และความยุติธรรมในสังคม แทนที่จะละเลยสิ่งเหล่านี้โดยใช้ข้ออ้างในชื่อของ “การเติบโต” พร้อมสนับสนุนความยุติธรรม ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสในกระบวนการทางการเมืองและเศรษฐกิจ

  • ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ปฏิบัติต่อผู้ปกครองและพ่อแม่ที่คอยดูแลลูกหลานโดยไม่มีรายได้ในฐานะผู้ช่วยเหลือสังคมตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ รวมถึงรักษาพื้นที่ชุมชนไว้ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้ชุมชนต่างๆ สามารถจัดระบบการจัดการทรัพยากรที่พวกเขาให้ความสำคัญได้ โดยขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของตนเองแทนที่จะถูกกำหนดด้วยตลาดหรือภาครัฐ

นอกจากนี้ยังต้องสร้างสถาบันและโครงสร้างต่างๆ ขึ้นใหม่เพื่อให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นลดลงและให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งเรื่องการกระจายความรู้ ข้อมูลและแหล่งข้อมูลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม การกระจายอำนาจและกระจายพลังงาน รวมถึงระบบโภชนาการ โดยตระหนักถึงความหลากหลายของมนุษย์ไปพร้อมๆ กับมอบโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรมโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สัญชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา รสนิยมทางเพศ เพศสภาพ ชนชั้นทางสังคม อายุ ไปจนถึงความสมบูรณ์ทางใจและกาย

  • แบ่งปันทรัพยากร

เผยแพร่วิธีการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ เพื่อกระจายความร่ำรวยใหม่อย่างเท่าเทียม โดยต้นแบบทางธุรกิจใหม่ๆ (อาทิ การเป็นเจ้าของร่วมกัน แพลตฟอร์มที่ผู้ใช้เป็นเจ้าของด้วยตนเอง และเครือข่ายการทำธุรกรรมทางการเงินและการทดแทนแบบบุคคลต่อบุคคล) อาจใช้งานได้จริงโดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย (อาทิ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์หรือบล็อกเชน อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ) ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของให้ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหากใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม

นักเรียนจากโรงเรียนของรัฐในจัลกา ประเทศอินเดีย ผู้ซึ่งเรียกร้องให้มีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นในหมู่บ้านของพวกเขา  ©ปีเตอร์ คาตัน / กรีนพีซ

  • ให้ประสบการณ์สำคัญกว่าทุกสิ่ง

เสนอมุมมองทางเลือกในการดำเนินชีวิตโดยอาศัยการมีส่วนร่วมและการเชื่อมโยงกันทางสังคม ความเป็นสากลนิยม รวมถึงประสบการณ์ร่วมกันเพื่อให้เป็นภูมิคุ้มกันจากระบบบริโภคนิยม พร้อมวัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจโดยไม่ใช้แค่ปริมาณของสินค้าและบริการที่ผลิตได้ (GDP) แต่ใช้การสนับสนุนเพื่อสงวนไว้ซึ่งทรัพยากรและสวัสดิภาพของสาธารณชน

  • ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ปฏิรูปการใช้ชีวิตของเราใหม่และจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดด้วยความใส่ใจ ด้วยการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด การผลิตอาหารที่เหมาะสมกับระบบนิเวศ และการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะสามารถป้องกันการสร้างมลพิษและกำจัดขยะต่างๆ ได้โดยเริ่มที่การลดใช้และการใช้ซ้ำ

  • จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่จะส่งผลให้เกิดสิ่งต่างๆ ดังนี้

- การบำรุงรักษาพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล เขตคุ้มครองทางทะเล ป่าสงวน และพื้นที่รกร้างต่างๆ เพื่อทะนุถนอมความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ

- การลดขนาดและลดอิทธิพลของอุตสาหกรรมการเงินในระบบเศรษฐกิจลงอย่างมหาศาล รวมถึงยุติการกระทำและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นอันตราย

- การตั้งกฎเกณฑ์เพื่อลงโทษเมื่อมีการละเมิดสิทธิทางระบบนิเวศและสิทธิมนุษยชน และเพื่อควบคุมการใช้ทรัพยากรส่วนรวมของภาคเอกชน

- การสร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมซึ่งจะโน้มเอียงไปทางสวัสดิภาพของสาธารณชนและการพัฒนามาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและสังคมทั่วโลก และยุติระบอบการค้าเสรีแบบเสรีนิยมใหม่ที่ไปสนับสนุนการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและการตัดสินกฎหมายที่เอื้อต่อบริษัทของภาคเอกชน

  • ให้ผู้คนมีเวลาว่างมากขึ้น

ยุติความหมกมุ่นกับเวลางานและสนับสนุนการแบ่งงานที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นด้วยการลดชั่วโมงทำงานของแต่ละบุคคลลง รวมถึงปลดปล่อยผู้คน ทรัพยากร และพลังงานจากแรงกดดันด้านการเพิ่มผลิตผลทางการตลาดและการบริโภค เพื่อให้เราได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่สำคัญกับเรามากขึ้น

  • กระจายความมั่งคั่ง

ทำให้ผู้ที่มีทรัพย์สินมากที่สุด ใช้ทรัพยากรและพลังงานมากที่สุด สร้างขยะและมลพิษมากที่สุด มีส่วนร่วมกับธุรกรรมทางการเงิน การลงทุนที่เป็นภัย และกิจกรรมอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณประโยชน์มากที่สุด ต้องจ่ายภาษีมากที่สุด รวมถึงผลักภาระทางภาษีออกจากค่าแรงและค่าจ้าง และยุติการให้เงินอุดหนุนกับบริษัทต่างๆ ที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังที่กำลังเติบใหญ่ ณ งานเกษตรเชิงนิเวศที่ประเทศไทย © กรีนพีซ

ทั้งหมดนี้อาจกลายมาเป็นระบบใหม่ที่ดีต่อประชากรหมู่มากและสิ่งแวดล้อมแทนที่จะสนับสนุนแค่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งอาจช่วยพาเราออกจากสังคมกินทิ้งกินขว้าง (Throwaway Culture) และระบบบริโภคนิยม ทั้งนี้ ระบบใหม่นี้จะเปิดกว้างอย่างเสรี (ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้) ยุติธรรม (สำหรับทุกสังคมวัฒนธรรม) และยั่งยืน (อยู่บนความเป็นจริงทางระบบนิเวศ)

แม้บางคนอาจสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้ฟังดูอุดมคติเกินไปหรือไม่... ทว่าหากเราต้องการจะสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นใหม่และระบบในอนาคตนี้ เราต้องรวบรวมความกล้าและอย่ากลัวที่จะคิดต่าง เพื่อทำให้ความท้าทายใหม่ๆ ในครั้งนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

แนวคิดใหม่นี้จะนำมาซึ่งจิตสำนึกส่วนรวมและความหวังใหม่ให้กับโลกของเรา ซึ่งจะเป็นโลกที่เราได้เชื่อมโยงเข้ากับผืนโลกและผู้คนอื่นๆ อีกครั้งในฐานะมนุษย์

แล้วคุณล่ะ มองเห็นอนาคตแบบใด มาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อบอกเล่ามุมมองความหวังแห่งอนาคตของคุณกับเรา

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61762


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2561   
Last Update : 9 สิงหาคม 2561 15:46:05 น.   
Counter : 1736 Pageviews.  


ต้องมีโลก 1.7 ใบถึงจะพอ หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลงการบริโภค



Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์


คงไม่เป็นการพูดเกินจริงสักเท่าไรนักหากจะบอกว่าขณะนี้มนุษย์กำลังผลาญทรัพยากรโลกเกินกว่าอัตราที่โลกจะสามารถเยียวยาได้ทัน โดยรายงานล่าสุดจากองค์กร Global Footprint Network  ได้คำนวณไว้ว่า วัน Earth Overshoot Day (วันหนี้นิเวศโลก) หรือ วันที่โลกใช้ทรัพยากรในปริมาณสำหรับใช้ทั้งปีหมดไปแล้วในอัตราที่โลกไม่สามารถผลิตฟื้นคืนได้ทัน ในปีนี้ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2018 โดยที่เป็นการใช้ทรัพยากรหมดไปเร็วที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 ที่เริ่มต้นคำนวณ (ตรงกับวันที่ 29 ธันวาคม)  และหากมนุษย์ยังคงกระหายทรัพยากรอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อไป เราจะต้องการโลก 1.7 ใบถึงจะพอกับการตอบสนองการบริโภคของมนุษย์ และจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

นั่นหมายความว่าภายใน 7 เดือน เราได้เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเกินกว่าที่มหาสมุทรแลผืนป่าจะดูดซับได้ เราประมงจับปลา ตัดป่าไม้ ใช้ผืนดินทำอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ใช้น้ำจืด เกินกว่าที่โลกจะสามารถผลิตได้ใหม่ทัน ผลลัพธ์ที่เด่นชัดที่สุดจากหนี้ที่เราสร้าง น่าจะหนีไม่พ้นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

และนี่คือหนี้นิเวศที่มนุษย์ทุกคนติดค้างกับโลก

นับแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เรากำลังยืมทรัพยากรที่เราควรสงวนไว้ใช้ในปีหน้ามาใช้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา รายงานจากองค์กร Global Footprint Network เผยว่า เราได้ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งคาร์บอน อาหาร น้ำ ต้นไม้ และผืนดินของทั้งปี หมดไปแล้วภายใน 212 วัน หรือราว 7 เดือน 

เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา วันหนี้นิเวศโลก ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม ขยับมาอีก 20 ปี ตรงกับวันที่ 30 กันยายน และปีต่อไปอาจจะเป็นปีแรกที่งบประมาณของทรัพยากรโลกจะหมดไปเร็วเป็นประวัติการณ์ที่เดือนกรกฎาคมก็ได้

แต่เรายังสามารถพลิกสถานการณ์ได้ #MovetheDate

ภาคอุตสาหรรมที่ก่อก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลที่เราอาจะคิดไม่ถึงคือ ภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ซึ่งอีกไม่ช้าปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนนี้จะแซงหน้าอุตสาหกรรมฟอสซิลไปแล้ว  หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเร่งการผลิตที่เกินอัตราการบริโภค (ดังเช่นกรณีล่าสุดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาผลิตเนื้อสัตว์เกินจำนวนมากถึง 2.5 พันล้านปอนด์) อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นคือภาคส่วนที่ใช้ทรัพยากรดิน ทำลายป่าไม้ สร้างมลพิษทางอากาศ และน้ำ อย่างครบวงจร รวมถึงเป็นอุตสหกรรมที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังผู้บริโภคอย่างเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวินะที่นำมาใช้กับสัตว์ ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค แต่ใช้กับสัตว์เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยจากสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด และหากป่วยจะส่งผลเสียต่อคุณภาพเนื้อตามมา สิ่งเหล่านี้ตกค้างมายังเนื้อสัตว์บนจานอาหารของเรา

การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงร้อยละ 50 และแทนที่เนื้อสัตว์ด้วยผัก จะเป็นการช่วยขยับวันหนี้นิเวศโลกไปได้ และถือเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่เราทำได้ในการลดรอยเท้าคาร์บอนของเราผ่านอาหารการกินในแต่ละมื้อ แต่ละคำ

เพราะปัญหานั้นไม่ใช่มนุษยโลกไม่มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค แต่ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิต หรือราว 1.3 พันล้านตัน ได้กลายมาเป็นอาหารเหลือทิ้งในแต่ละปี เพียงแค่ 1 ใน 4 ส่วนของอาหารที่เหลือทิ้งหากนำมาใช้อยู่ถูกต้อง ก็จะสามารถเลี้ยงมนุษย์ได้อีกราว 870 ล้านคน นั่นคือการผลิตที่เกินความต้องการของอุตสาหกรรม สูญเสียทั้งทรัพยากร สูญเสียเศรษฐกิจ และเป็นการหยิบยืมอนาคตของลูกหลานเรามาใช้ ถ้าเราลดการผลิตอย่างเหลือทิ้งได้ เราจะขยับวันหนี้นิเวศโลกออกไปได้อีก 11 วัน

แน่นอนว่าผู้บริโภคทุกคนสามารถลดการใช้ทรัพยากรได้ แต่การเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ต้องเกิดขึ้นจากภาครัฐกำหนดนโยบาย และภาคอุตหกรรมที่ไม่มุ่งเน้นเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตน แต่คำนึงถึงความยั่งยืนของโลก

เพราะเรามีโลกเพียงใบเดียว ที่จะต้องอยู่กันไปอีกนาน



ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 02 สิงหาคม 2561   
Last Update : 2 สิงหาคม 2561 14:00:58 น.   
Counter : 410 Pageviews.  


คุณจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นปะการังและวิถีชีวิตของคุณถูกเหยียบย่ำ



Blogpost โดย Madjuri ชาวประมงพื้นบ้าน


ครั้งแรกที่ผมได้เรียนรู้วิธีตกปลาคือเมื่อผมยังเด็ก พ่อแม่เป็นคนสอนผม และพวกเขาบอกว่าเกาะการิมุนชวา ของเรา เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับปลาอย่างแน่นอนเพราะอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะบอร์เนียว ที่ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์และปลาชุกชุม


ผมชื่อ มาจูริ และผมยังคงเป็นชาวประมงอยู่ เว้นแต่ว่าผมเองก็เป็นพ่อคนแล้วตอนนี้ พร้อมกับภรรยาและบุตรชายสองคน ผมเกิดที่เกาะการิมุนชวา และผมก็อยู่ที่นี่มาทั้งชีวิต การิมุนชวา ที่เป็นที่รู้จักจากอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่เต็มไปด้วย เต่า ปลาฉลาม และปลาต่างๆ คือบ้านของผม

ในอดีตเราไม่จำเป็นต้องแล่นเรือไปไกลเกินไปที่จะหาปลา เพียงแค่ 5 กิโลเมตร ก็เพียงพอและเราก็ได้ปลาจากอวนมานับร้อยกิโลกรัมแล้ว แต่ในวันนี้ สิ่งต่างๆเปลี่ยนไป เรือบรรทุกถ่านหินซึ่งขนส่งถ่านหินจากเหมืองในประเทศอินโดนีเซียแล่นผ่านบริเวณนี้

นักกิจกรรมของกรีนพีซอินโดนีเซียเข้าสกัดเรือในการิมุนชวา ซึ่งบรรทุกถ่านหินจากเหมืองต่างๆในกาลิมันตัน ไปยังโรงไฟฟ้าบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย © นุโกรโฮ อาดิ ปุตารา / กรีนพีซ

เมื่อฝนตก น้ำไหลลงมาจากด้านบนของเรือ ลงสู่มหาสมุทร และเปลี่ยนทะเลเป็นสีดำ เมื่ออากาศร้อนและดวงอาทิตย์ค่อยๆแผดเผาลงมา ถ่านหินจะร้อนขึ้นและเริ่มปล่อยควัน ทำให้เราไอและหายใจไม่สะดวก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เพื่อนของผมเริ่มมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงเนื่องจากควันที่มีมากเกินไป

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ เรือถ่านหินมาจอดอยู่ใกล้แนวปะการังที่พวกเราชาวประมงท้องถิ่นวางเหยื่อและกับดักไว้ เมื่อเรือเข้ามา เหยื่อก็หายไปและกับดักก็ถูกทำลาย แนวปะการังถูกพังยับเยิน ถูกเหยียบย่ำโดยเรือเหล่านั้นและถูกบดขยี้เพราะสมอของพวกเขา จากที่เคยเต็มไปด้วยสิ่งชีวิต ตอนนี้ไม่มีปลาใดที่ต้องการอยู่ที่นั่น ซึ่งหมายความว่าเราไม่มีอาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวของเรา

ภาพจากโดรนแสดงแนวปะการังที่เสียหายใกล้กับเกาะเคจิล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติการิมุนชวา ในตอนกลางของเกาะชวา © Nugroho Adi Putera / กรีนพีซ

นอกจากนี้เรายังตกปลาหมึกตอนกลางคืนโดยใช้แสงเพื่อดึงดูดให้มันมาที่เรือของเรา แต่เรือบรรทุกถ่านหินมีไฟสว่างกว่า ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าพวกเขากำลังตกปลาหมึกเหล่านี้ไปแทน ยิ่งพรากรายได้ไปจากเรามากขึ้นไปอีก

เราได้ยื่นรายงานและข้อร้องเรียนไปยังหน่วยงานท้องถิ่น ขอร้องให้เรือเหล่านี้ไปจอดที่อื่น นอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และอยู่ให้ห่างจากเขตการประมงดั้งเดิม แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

หากสิ่งนี้ยังดำเนินต่อไป ลูกหลานของเราจะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากจะไม่มีใครสามารถจับปลาได้ ผมต้องการให้คนรุ่นต่อไปได้มีความสุขจากความสวยงามของการิมุนชวา ผมบอกพวกเขาว่าการรักษาธรรมชาติอันเก่าแก่นี้ไว้ จะกลายเป็นหน้าที่ของพวกเขาในอีกไม่ช้า

ในระหว่างนั้น เพื่อประโยชน์ของปะการังและชุมชนของเรา โปรดช่วยให้เราลุกขึ้นต่อต้านเรือบรรทุกทำลายล้างเหล่านี้

ที่มา : https://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61725/


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2561   
Last Update : 16 กรกฎาคม 2561 10:35:43 น.   
Counter : 442 Pageviews.  


เทศกาลฟุตบอลโลกครั้งนี้ รัสเซียมีวิธีจัดการปัญหามลพิษในอากาศอย่างไร?



บทความ โดย Konstantin Fomin

ในงานฟุตบอลโลกครั้งนี้ เมืองใหญ่หลายแห่งในประเทศของผมต่างเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมหาศาลจากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกัน ซึ่งพวกเขาล้วนเดินทางมาเพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในบรรยากาศของงานเทศกาลกีฬาอันยิ่งใหญ่ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกงานนี้

สนามกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย © CC Vladimir Varfolomeev

ผู้ที่มาร่วมงานฟุตบอลโลกต่างได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศดังกล่าวขณะที่เดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งเพื่อร่วมสนุกกับการแข่งขันแต่ละนัด แต่ก็อย่างที่เจ้าภาพหลายๆคนรู้กันดี ว่าไม่ใช่แค่เพียงบรรยากาศที่น่าตื่นเต้นเท่านั้นที่ผู้ชมเหล่านี้จะได้ดื่มด่ำ แต่ยังมีมลพิษในอากาศอันเป็นปัญหาที่ประชากรทั่วประเทศต่างตระหนักถึง โดยจากผลการวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ที่สนับสนุนโดยกรีนพีซรัสเซียนั้นชี้ว่า ประชากรในกรุงมอสโกถึงร้อยละ 82 ไม่พอใจกับคุณภาพอากาศที่พวกเขาใช้หายใจ ส่วนในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั้นมีถึงร้อยละ 77 และร้อยละ 60 ในเมืองคาซัน

พวกเขาต่างรู้ดีว่าตัวการหลักที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษในอากาศนี้คืออะไร ซึ่งผลการวิจัยข้างต้นยังชี้ว่าผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 80 ในกรุงมอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเมืองรอสตอฟ-นา-โดนู (เมืองที่มีประชากรมากที่สุดลำดับที่ 10 ในประเทศรัสเซีย) นั้นตระหนักว่าควันที่ปล่อยจากเครื่องยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเป็นแหล่งมลพิษหลักที่ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง โดยคุณสามารถอ่านวิธีช่วยรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ที่นี่

ก่อนหน้าที่งานฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้นนั้น กรีนพีซรัสเซียก็ได้เขียนถึงเจ้าหน้าที่ทางการของเจ้าภาพผู้จัดงานในเมืองต่างๆเพื่อดูว่าพวกเขาจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

ข่าวดีก็คือ...

การจราจรในกรุงมอสโก © Greenpeace

ในกรุงมอสโก เครื่องยนต์รุ่นที่ต่ำกว่ามาตรฐานการปล่อยควันยูโร-3นั้นถูกจำกัดไม่ให้วิ่งในส่วนใจกลางเมือง ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่บังคับใช้ครอบคลุมเป็นเวลาหลายปี

และเพื่อผลักดันให้ผู้คนหันมาใช้เครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทางการยังได้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟสำหรับเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้าถึง 78 จุดในลานจอดรถแห่งต่างๆทั่วเมือง และยังมีแผนจะติดตั้งเพิ่มอีก 79 จุดในปีหน้า

นอกจากนี้ ทางการยังมีแผนจะสร้างทางจักรยานที่เชื่อมกับเขตอื่นๆและสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้เคียงเพิ่มอีกด้วย


สนามกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก © CC Daniil Drozdov

ส่วนในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐบาลท้องถิ่นกำลังเตรียมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะระบบไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงรถรางและรถบัสไฟฟ้า และในเมืองนี้ยังมีการจำกัดการเดินรถที่ปล่อยมลพิษสกปรกรวมถึงรถบรรทุกขนส่งสินค้าอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ทางการยังมีแผนจะขยายเส้นทางจักรยานด้วยเช่นกัน โดยในปีที่ผ่านมา มีการสร้างทางจักรยานถึงเกือบ 40 กิโลเมตร และมีการจัดโครงการเช่าจักรยานขึ้น ซึ่งแผนการสร้างทางจักรยานอีก 39.6 กิโลเมตรนั้นกำลังดำเนินการอยู่ในปีนี้

การตรวจวัดระดับมลพิษในอากาศในเมืองรอสตอฟ-นา-โดนู © Maxim Shpak / Greenpeace

ทางฝ่ายบริหารของเมืองรอสตอฟ-นา-โดนูได้กล่าวตอบกลับผลการวิจัยของกรีนพีซว่า “วิธีการที่เราใช้แก้ปัญหาการจราจรที่ผ่านมาในอดีตซึ่งมีเพียงแค่การเพิ่มความจุการเดินรถบนถนนนั้นไม่อาจช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังอาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น” และเจ้าหน้าที่ทางการของเมืองเยคาเตรินเบิร์กยังกล่าวอีกว่าพวกเขากำลังให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบขนส่งที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น รวมถึงรถบัสที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าผ่านสายเคเบิลลอยฟ้าและการขยายเส้นทางจักรยานระหว่างช่วงที่มีการทำถนนใหม่ในเมือง

แต่ก็ยังมีข่าวที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก...

การตรวจวัดระดับมลพิษในอากาศในเมืองซามารา  © Alla Belolipetskaya / Greenpeace

หากพิจารณาจากคำตอบของทางเมืองซามาราและเมืองวอลโกกราดที่มีต่อแบบสำรวจของเรานั้นพบว่า ทางการของเมืองทั้งสองนี้ต่างเข้าใจดีว่าการแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศนั้นเป็นเรื่องจำเป็น ทว่าน่าเศร้าที่พวกเขายังไม่มีมาตรการเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งพวกเขาอาจเริ่มจากการสนับสนุนให้ประชากรในเมืองหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะและจักรยานมากขึ้น หรือลดการใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลลงก็ย่อมได้

พวกเรายิ่งรู้สึกผิดหวังมากขึ้นไปอีกเมื่อได้ฟังการตอบกลับจากเมืองโซชี ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากฝ่ายบริหารของเมืองได้กล่าวกับพวกเราว่าพวกเขาไม่มีแผนการจะทำตามคำแนะนำของทางกรีนพีซแต่อย่างใด และจะไม่นำวิธีการลดมลพิษในอากาศใดๆมาใช้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ พวกเรายังไม่ได้รับการตอบกลับใดๆจากเมืองนิจนีนอฟโกรอดหรือเมืองซารันสค์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ยิ่งไปย้ำถึงผลการวิจัยของทางกรีนพีซที่พบว่า แทบไม่มีผู้ใดพึงพอใจกับมาตรการยกระดับคุณภาพอากาศของทางการในหลายๆเมืองของรัสเซีย

เมื่อความครึกครื้นของเทศกาลฟุตบอลโลกสิ้นสุดลง พวกเราจะนำผลตอบรับที่ได้จากทางรัฐบาลเหล่านี้มาใช้เพื่อทำให้นักการเมืองทั้งหลายรักษาคำมั่นสัญญาที่จะทำให้คุณภาพอากาศในรัสเซียดีขึ้น หากคุณต้องการติดตามข้อมูลความคืบหน้าของเรา คุณสามารถกดติดตามทวิตเตอร์ของเราได้ที่นี่ และถ้าหากคุณยังไม่ได้เข้าร่วมกับเรา คุณสามารถลงชื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องขออากาศดีคืนมาได้ที่นี่

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : https://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61699/


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2561   
Last Update : 9 กรกฎาคม 2561 15:17:21 น.   
Counter : 470 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com