เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นเด็กวัดที่ Bön Monastery(4)
** (พ.ย. 2022) ทำการแก้ไขการอ่าน Bön เป็น เพิน แทนคำเรียกเดิมที่ระบุว่า "บอน"
เพื่อไม่ให้ผู้อ่านต้องเป็นการเสียเวลารอลุ้นกับ งานพิธีใหญ่ ที่พูดถึงครั้งก่อน หลังจากหักใจมาหลายวันว่าจะลงเรื่องไปแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นยังไง
แล้วตกลงว่าเรื่องนี้ "ใครผิด?" งั้นเบิกจำเลยมาว่าความกันดีกว่า... - นาวัง ผู้ส่งอีเมล์มาบอกข่าว แต่กลับลืมระบุเวลา
- Guest Master ผู้อุบเรื่องเงียบเป็นความลับ...แกล้งอำทำไม่รู้ไม่ชี้
- คุนชก ผู้ซึ่งไม่ยอมรอการรับสายจากปลายทางได้เกินสิบวินาที
ทีนี้ก็ตามแต่จะพิจารณาละกันเนอะ อิอิ

เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นเด็กวัดที่ Bön Monastery (จบ)
วันนี้มันก็เหมือนกับทุก ๆ เช้า ที่จะต้องรีบลุกตื่น เพื่อออกมาเดินข้างนอกไล่ ความหนาวกับการทำกิจวัตรบางอย่างที่พอจะดูกลมกลืนไปกับทุกคนในที่นี้ นั่นก็คือการไปเดินโกร่ารอบ Protector Temple ซึ่งหากวันไหนโชคดีฉันก็อาจ จะได้เจอได้ทักทายกับคนที่รู้จักและคุ้นหน้าบ้าง
แต่วันนี้ ไหงกลับรู้สึกแปลกพิกลก็ไม่รู้สิ... ระหว่างที่เดินออกมาจากเกสท์เฮาส์ ก็มีแค่ชายรัสเซียผู้เงียบขรึมเดินล่วงหน้าขึ้นไปยังวัดเพียงลำพัง โดยที่เขาทิ้ง ระยะห่างนำหน้าฉันไปก่อนแค่นิดเดียว เมื่อเดินผ่านไปทางโรงสวด ก็ไม่ปรากฏพระสักรูปในบริเวณนั้นอย่างที่เคย มันถูกปิดประตูไว้เหมือนกับว่าเช้านี้จะไม่มีการทำวัตรตามปกติ แม้แต่ห้องอื่น ๆ ที่แบ่งกลุ่มย่อยสำหรับทำศาสนกิจในยามเช้าก็ด้วย ประตูใหญ่ของ Protector Temple มีการเผยอแง้มไว้ราวกับว่าได้มีการเปิดเพื่อ ให้คนได้เดินเข้าออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนด้านบนหลังคาวัดมีก็พระสองรูปที่สวม หมวกทรงสูงคล้ายพัดมีปลายเป็นพู่ไหมพรม กำลังยืนท่องบทสวดพร้อมกัน และยกสังข์มาเป่าสลับกันบางช่วง
พอได้เจอกับนายล็อบซังที่มาเดินวนรอบพร้อมเพื่อนอีกคน ฉันจึงรีบตรงเข้าไปถามถึงงานพิธีฯ ที่ว่านั่นทันที ซึ่งเป็นที่น่าผิดหวังเมื่อเขากลับบอกว่า ... ไม่รู้ในสิ่งที่ฉันพูดมาสักนิด
7.30 น. ก็แล้ว ...ท่านรินโปเช ไม่ได้ออกมาให้น้ำมนต์ตามเวลาเช่นเดิม ส่วนกลุ่มชาวต่างชาติที่เหลือต่างก็ออกมาเดินโกร่ากันตอนสาย
เมื่อฉันได้เจอพระคุนชกอีกครั้งหลังมื้อเช้า ขณะที่เขากำลังเดินผ่านหน้า- เกสท์เฮาส์เพื่อตั้งหน้าตั้งตาไปยังที่ไหนสักแห่ง เขาบอกว่าเมื่อคืนนี้ตั้งใจจะโทร ไปบอกเรื่องพิธีใหญ่ที่จัดในวัด ซึ่งเริ่มตอนหกโมงเช้าและตอนนี้ก็จบงานเรียบร้อย
พลาดอย่างแรง!
คุนชก ได้พูดอะไรบางอย่างตบท้ายก่อนเดินออกไป พร้อมกับการเอามือเคาะหน้าผากตัวเองและทำหน้าแบบเซ็ง ๆ
"ดีมาก ขะรับ!"
....
ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่ตอกย้ำความแปลกประหลาดของวันนี้อีกเรื่องก็คือ มีสายเรียกเข้าจากพระรินเชน... เหวย ๆๆๆ ตายละเหวย ฉันแทบจะปาดเหงื่อก่อนกดรับ แถมแอบวิตกด้วยว่าจะคุยรู้เรื่องไหมนั่น!
เพราะตอนนั้นตัวเองกำลังเดินจ้ำอยู่ที่ป่าด้านล่าง ซึ่งก็ถือว่าอยู่ไปไกลจากวัด มาระยะหนึ่งแล้ว ฉันตั้งใจว่าจะแวะไปดูโรงเรียน (Central School for Tibetan) เสียหน่อย แต่รินเชนบอกให้รีบกลับมายังวัดและให้มาเจอกันตรงลานจอด แท็กซี่หน้าปากทางเข้า โดยที่ไม่ได้พูดถึงรายละเอียดอะไรไปมากกว่านี้ ฉันไม่รู้ภาษาทิเบตได้ดีเท่าไหร่และรินเชนก็พูดอังกฤษได้ไม่กี่ประโยค
"อาบี้?" ตอนนี้เลยอ่ะนะ? "อาบี้" ตอนนี้แหละ "ทิ้ก ...ดัส มินิต" โอเค อีกสิบนาทีน้อ!
พวกเราต่างก็ใช้ภาษาสื่อสารปนเปกันมั่วไปหมด และดูเหมือนว่า'ฮินดี' จะกลายมาเป็นภาษากลางไปแล้ว จากนั้นฉันก็รีบเร่งเดินกลับไปยังด้านบนอย่างไว เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรที่สำคัญหรือปล่าวน่ะสิ 
พวกเด็กที่เข้ามาเล่นกันในโรงเรียนช่วงวันหยุด
10 นาที ให้หลัง ฉันก็ได้เจอกับรินเชนที่ออกมายืนรอตรงลานจอดรถรับจ้างหน้า ร้านขายของชำพร้อมกับพระอีกหนึ่งรูป และเขาบอกให้ฉันนั่งพักรอสักเดี๋ยว "วันนี้ไปโซลัน... ไปกินข้าวกลางวันที่นั่น" หือ? ในขณะเดียวกันนี้ ฉันก็เริ่มเห็นพระรูปอื่น ๆ ต่างพากันเดินเท้าออกไปนอกวัด ส่วนพระที่มีรถจิ๊ปอย่าง ทินเล่ ก็ขับรถพาเพื่อน(พระ)ติดรถไปยังที่ไหนสักแห่ง
ไม่นานนัก พระยงซุล ซึ่งถือว่าเป็นเพื่อนอีกราย ที่ฉันตั้งใจจะมาเยี่ยม ก็เดินลงมาจากทางบันไดวัดพร้อมกับพระร่างท้วม
"เด ปู้ หยิน เบ้?"
ฉันลองทักไปตามที่ Guest Master สอนมาอีกที มันเป็นภาษาทิเบตที่แปลว่า สบายดีไหม? พระยงซุล ตอบกลับ "เด ปู้ หยิน" สบายดี... จากนั้นเขาก็แนะนำพระที่ชื่อว่า จีมี่ ที่มาด้วยกันให้รู้จัก
พระรินเชน ได้บอกให้ฉันเดินทางไปเที่ยวในตัวเมืองกับพระทั้งสอง ส่วนเขานั้นไม่ได้ไปด้วยเพราะยังติดงานอยู่ จากนั้นก็แยกตัวกลับวัด พร้อมกับพระที่มาด้วยกัน...
ถึงจะยังรู้สึกไม่เข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ก็ตามและในตอนนี้บนรถแท็กซี่ ก็มียงซุล, จีมี่ และฉัน ที่กำลังเดินออกไปยังตัวเมืองโซลันด้วยกัน โชคดีหน่อยที่ 'พระจีมี่' มาอยู่อินเดียนานพอที่จะสื่อสารเป็นภาษาฮินดีได้ ส่วน 'พระยงซุล' นับตั้งแต่ที่ได้เจอในวันแรกจนบัดนี้ก็ยังพูดไม่ได้ซักที แต่ทั้งนี้ ...พวกเขาทั้งสองไม่พูดภาษาอังกฤษ
"วันนี้พระจะไม่อยู่วัด เพราะเป็นวันหยุดที่ทางวัดจะกำหนดให้มีแค่เดือนละหน แต่จะเป็นเมื่อไหร่ก็ไม่ได้ระบุตายตัว พวกเขาจะออกไปข้างนอกเพื่อทำธุระ ชอปปิ้ง แล้วก็กินอาหารดี ๆ ..."
คนขับแท็กซี่ได้แปลคำบอกเล่าจากพระจีมี่ให้ฟัง และพวกเราก็อาศัยจังหวะนี้ คุยซักถามกันบ้างในระหว่างที่ยังมีล่าม แต่หลังจากลงรถไปแล้วก็คงลำบากหน่อย


ที่ตลาดกลางใจเมืองโซลันดูอึกทึกและวุ่นวายดี ผู้คนก็เยอะแยะ ดูต่างจากใน หมู่บ้านโดลันจิยังกับคนละโลกเลย และสิ่งแรกที่ได้ทำหลังจากมาถึงเมืองโซลัน นั่นก็คือ 'การชั่งน้ำหนัก' พวกเราได้จ่ายเงินกันคนละ 5 รูปี ให้กับคนเฝ้าเครื่องที่ วางตาชั่งไว้ที่ข้างทางเดินเท้า ซึ่งมันเป็นเครื่องชั่งแบบธรรมดา ๆ นี่แหละ
อื้อหือ! น้ำหนักหายไปสองกิโลฯ แน่ะ

เวลาที่ต้องมาเดินตามพระทั้งสองไปโน่นนี่แบบนี้ บางทีทำตัวไม่ถูกสักเท่าไหร่ ว่าจะต้องรักษาระยะห่างขนาดไหนกันถึงจะดูเหมาะ ฉันก็เลยพยายามเดินตาม ต้อย ๆ ยังกับเด็กวัด ... คงขาดแต่พร็อพประกอบอย่าง ย่ามสะพาย กระป๋องใส่ ดอกไม้ ใส่อาหาร แล้วก็บาตรพระล่ะมั้ง!
...
พระจีมี่ จำเป็นต้องทำธุระเรื่องของการต่ออายุบัตรประจำตัวพระจากสำนักงาน- แห่งหนึ่ง ซึ่งพวกเราก็จำเป็นจะต้องไปนั่งรอการดำเนินเรื่องระหว่างนี้ด้วย เนื่องจากพระยงซุล มีปัญหาเรื่องการพูดคุยค่อนข้างเยอะ แต่ก็แก้ไขความเงียบ ด้วยการเปิดภาพของใครบางคนจาก WeChat ให้ดูผ่านทางหน้าจอมือถือ
บนภาพเหล่านั้นมีพระสงฆ์ในนิกายต่าง ๆ ของศาสนาพุทธ บ้างก็เป็นมหายาน บ้างก็ห่มสีจีวรสีกรักเหมือนพระไทย ซึ่งหากให้เดาจากหน้าตาแล้วก็อาจเป็น พระสงฆ์ศรีลังกา ไม่ก็จากแถบอื่นในเอเชียใต้ พวกเขายืนถ่ายรูปหมู่ร่วมกันโดยมี ป่าไผ่เป็นแบคกราวด์ ฉันมองเห็นแผ่นป้ายที่เขียนเป็นชื่อสถานที่เป็นภาษาไทย และหนึ่งในนั้นก็มีพระที่แต่งเครื่องแบบอย่างนักบวชในศาสนาเพินยืนอยู่ด้วย
อ๋อ...เข้าใจแล้ว ยงซุลกำลังคุยถึงพระรูปหนึ่งจากโดลันจิ ที่กำลังเรียนอยู่ในประเทศไทยสินะ .....
เอกสารของพระจีมี่ ยังคงดูเหมือนจะไม่เรียบร้อยดี เขาเดินถือแบบฟอร์ม สำหรับกรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษมาให้ฉัน คงเหมือนอยากจะให้ช่วยเขียนลง ไปในนั้นแทนให้หน่อย พอฉันพลิกอ่านดูก็ถึงกับเกาหัวเพราะเขียนไม่ถูก!
ก็อย่างเช่น ...ชื่อพ่อ ชื่อแม่ ถิ่นเกิด อะไรแบบนี้
ยังดีที่พระได้ชี้บอกรายละเอียดบางส่วนที่อิงให้ตรงกับบัตรเก่าให้ดู ซึ่งมันก็ไม่ถึงกับต้องกรอกรายละเอียดจนครบทุกช่อง และเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ได้ร้องขอให้ลงข้อมูลทั้งหมด หลังยื่นเรื่องแล้วก็ใช้เวลารออีกพักหนึ่ง สำหรับการบัตรประจำตัวใหม่ของพระ
มีเรื่องที่น่าสนใจสำหรับฉันนิดหน่อย ก็คือสถานภาพที่แจ้งบอกบนบัตรเก่านั้น ถูกระบุว่า พระจีมี่ เป็นลามะ (Lama) ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่เคยถามพระทิเบต จากทั้งฝั่งพุทธวัชรยานหรือกระทั่งเพิน ต่างไม่มีใครบอกฉันสักคนว่าพวกเขา คือ ลามะ และกลับบอกว่าให้เรียกว่า พระ (Monk) ด้วยซ้ำ เพราะด้วยเหตุผล ที่ว่าคำเรียก ลามะ นั้นจะใช้สำหรับ 'พระที่เป็นครู' หรือ 'พระระดับชั้นผู้ใหญ่'
แต่จะว่าไปแล้วสำหรับคำเรียกเฉพาะที่ว่านี้ ก็คงถูกใช้เรียกแทน พระทิเบต เพื่อให้ดูง่ายต่อการแยกประเภทนักบวชล่ะมั้ง?
เมื่อจบธุระจากตรงนี้แล้วเราก็ย้ายที่ไปต่อยังร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ดูใหญ่พอควร ทีแรกเมื่อฉันได้เดินเข้าไปก็รู้สึกหวั่น กลัวว่าจะถูกมองว่าแปลกหรือปล่าวล่ะเนี่ย แต่ก็เห็นมีกลุ่มพระทั้งหลายจากวัดเดียว ต่างก็พากันมากินมื้อกลางวันที่นี่เช่นกัน ก็เลยพอให้หายกังวลได้บ้าง และพวกเขาต่างก็พากันมานั่งที่ลานด้านนอกซึ่งดู ไม่ลับตาคนเท่าไหร่
และพอเลือกที่นั่งกันได้ ระหว่างเปิดดูรายการอาหาร ฉันก็ยังคิดไม่ตกอีกว่าจะกินอะไรดี ที่ราคาไม่แรงมากไป
จีมี่บอกว่าไม่ต้องเกรงใจ เพราะวันนี้ยงซุลจะเป็นเจ้าภาพ
พวกเขาต่างสั่งอาหารมังสวิรัติที่เป็นแกงเห็ด มากินกันคนละชาม มีข้าวหนึ่งโถตั้งเป็นกองกลางแล้วก็ยังมีมันฝรั่งทอดชิ้นหนาเตอะมากินเล่นอีก ส่วนฉันได้สั่งอาหารสิ้นคิดอย่าง ข้าวบริยานีไก่ (หรือจะเรียกว่าข้าวหมกไก่) มากินแม้ว่ามันจะถูกเสิร์ฟมาเป็นโถก็ตาม แต่หลังอดกินเนื้อสัตว์มาตั้งหลายวัน ฉันก็กินแทบหมด และไม่แน่ว่านี่คืออาจเป็นอาการลงแดงขั้นเบื้องต้นก็ได้

ในวันนี้จะมีพระหลายรูปเดินสวนกันเจอที่ตลาดของตัวเมืองโซลันเยอะไปหมด บ้างก็พากันยืนเลือกผ้าสำหรับตัดจีวรใหม่, รองเท้ากีฬา, ข้าวของเครื่องใช้ที่- จำเป็น, ถั่วแห้งผลไม้แห้ง ตามที่ต้องการนำติดกลับไปวัด เพราะไม่รู้ว่าจะได้ออก มาอีกเมื่อไหร่ในเดือนหน้า
สำหรับฉันแล้วนี่คือสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ดูเหมือนว่าเหล่าคนในพื้นที่นี้จะคุ้นชินกับภาพที่ว่าเสียแล้ว
ก่อนที่จะกลับไปที่วัด ทั้งยงซุลและจีมี่ต่างได้ข้าวของติดมือกันคนละนิดสำหรับ การออกมาจับจ่ายในวันหยุดของเดือนนี้ ส่วนฉันก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าได้ซื้อ ฝรั่งขี้นกมากินหนึ่งกิโลฯ
.....
ช่วงขากลับเราเปลี่ยนบรรยากาศจากแท็กซี่มาเป็นออโต้ริกชอว์แทน และมานั่ง ดื่มชากันที่ร้านอาหารที่อยู่ตรงหน้าทางเข้าวัดอีกรอบ ครั้งนี้พวกเขาได้สั่งซุปเนื้อ- แกะที่ต้มกับผักและวุ้นเส้นมาให้กิน พร้อมกับซาลาเปาไร้ไส้ที่คนทิเบตเรียว่า 'ทิงโม่' อีกสองก้อน
ไม่รู้ว่าทำไมต้องเลี้ยงดูปูเสื่อกันถึงขนาดนี้ด้วย ฉันคิดว่าพระยงซุลคงอยากเลี้ยงตอบแทนที่อุตส่าห์แวะมาเยี่ยม
ระหว่างนั้นฉันพยายามถามเรื่องที่ยังข้องใจอยู่ ... ก็คือวันที่ฉันเจอกับพระยงซุลครั้งนั้น คำถามก็คือ ทำไมต้องเดินทางออกมาจากทิเบต เพื่อมายังธรรมศาลา?
"ดารัมซาลา ไปพบ ทะไลลามะ"
เขาตอบได้แค่นี้เพราะมีอุปสรรคเรื่องภาษา แต่นั่นมันก็แค่ข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งที่ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ก่อนที่ฉันจะหมดหวังกับสิ่งที่อยากรู้มานาน สายตาก็เหลือบไปเห็นนายชีมมี ที่เพิ่งขับรถกลับมาจากที่ไหนสักแห่ง กำลังเดินตรงดิ่งมาหาข้าวกินที่ร้านนี้พอดี
จากนั้นชีมมีก็ถูกลากให้เข้ามานั่งคุย เพื่อช่วยแปลเรื่องเล่าของพระยงซุลให้ฟัง "พระบอกว่าเดินทางมาจากเมือง นาชุ (Nachu) ซึ่งมันก็ไกลมาก ๆ และใช้ เวลานานกว่าหนึ่งวันเพื่อมาต่อรถที่ ลาซา (Lhasa) และก็เป็นครั้งแรกที่เขาได้ มาอินเดียและรู้สึกกลัวอยู่บ้าง..."
โอ้โห! ฉันยังไม่เคยไปทิเบตหรอกนะ แต่ดูจะลำบากทีเดียว และกว่าจะมาถึงอินเดียได้ก็คงจะทุลักทุเลพอสมควร
"ตอนลงรถที่ดารัมซาลาคืนนั้น เขาบอกว่าเห็นเธอยืนอยู่ในเงาตะคุ่ม ๆ คนเดียว ทีแรกก็เข้าใจว่าเป็นคนอินเดีย...แต่พอเห็นเดินเข้ามาคุยเพื่อขอติดรถไปยัง แมคลอดกันจ์ แล้วเดินกลับไปเอาเป้ที่วางแอบไว้มาสะพายก็เข้าใจทันทีว่า เป็นคนต่างชาติ"
ชีมมี ได้ช่วยแปลช่วยพูดถามไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้และแอบหยุดถาม นอกรอบในเรื่องของเวลาลงรถฯ ตามที่พระยงซุลได้เล่า
"ตีสาม...นี่เธอไปถึงที่นั่นตอนมืดมากเลยนะ!"
ที่จริงแล้วรถเมล์ที่ฉันนั่งมามันซิ่งไวไปถึงตั้งแต่ตีสองครึ่งต่างหาก แล้วถ้าไม่บังเอิญมาเจอพระยงซุลเข้า ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงเหมือนกัน
ภายหลังจากที่คุยกันรู้ความแล้ว เรื่องของพระยงซุลก็ได้ถูกเฉลยออกมา ให้รู้ในวันนี้เองว่า ที่จริงแล้ว...พระยงซุลเดินทางมายังประเทศอินเดีย ไม่ใช่เพราะเพื่อลี้ภัยอย่างที่ฉันเคยทึกทักมาก่อน แต่มาในฐานะ นักศึกษาใหม่ของ Yungdrung Bön Monastic Centre ที่ยึดถือว่าเป็น ศูนย์กลางการเรียนการสอนของศาสนาเพินที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบันต่างหาก ซึ่งหากเทียบกับสถานภาพของทิเบตตอนนี้ก็คงไม่สามารถรองรับได้ดีเท่าไหร่
"หลังจากที่เขาสำเร็จการศึกษา ยงซุลก็จะกลับไป ทำหน้าที่ในฐานะพระชั้นผู้ใหญ่แล้วล่ะ"
ชีมมี ได้พูดเสริมให้ได้พอเข้าใจอีกนิด
แล้วอีกนานไหมกว่าจะได้กลับบ้าน? ฉันถามต่อ พระยงซุล บอกว่ายังไม่แน่ใจแต่ก็ราวห้าปีที่ต้องเรียน
ก่อนที่ยงซุลและจีมี่ จะขอตัวแยกย้ายกลับไปวัดกัน เขาถามถึงวันที่ฉันจะเดินทางออกไปจากที่นี่ด้วย และหากเป็นไปได้พวกเขากับรินเชนจะพยายามมาส่ง
.... พระทั้งสองกลับไปกันแล้ว ส่วนนายชีมมียังคงนั่งดื่มชาอยู่ที่ร้าน ไม่ใช่เพราะติดลม แต่อาจเพราะยังไม่หายข้องใจบางเรื่อง "ฉันล่ะสงสัยจริง ๆ เธอไว้ใจเขาได้ยังไงที่กล้าไป ขอติดรถไปยังเมืองข้างบนตอนมืดค่ำแบบนั้นอันตรายออก"
ดีมากขะรับ !? ... ประสาทกินเรอะไง !?
ฉันทำท่าแบบเลียนแบบมาจากพระคุนชก เมื่อเช้านี้เป๊ะ มันเป็นภาษาฮินดีก็จริง แต่คนที่นี่ก็มักพูดกันบ่อยซะจนติดปาก
"ถ้าต้องให้เลือกติดรถไปกับ กลุ่มผู้ชายหรือพระ ฉันว่าไปกับพระยังไงก็ปลอดภัยกว่าเห็น ๆ"
พอชีมมีได้ฟังเหตุผลนี้ ก็ออกอาการขำแบบไม่ตั้งใจ ดูเหมือนเขาจะเพิ่งนึกได้ว่า ยงซุล เป็นพระ แล้วเราก็เปลี่ยนเรื่องคุยกันต่อ
"วันนี้ ใคร ๆ ต่างก็ไปข้างนอก เธอมาอยู่แต่ที่วัดแบบนี้ไม่น่าเบื่อตายเรอะ"
เขายังบอกอีกว่ากลุ่มพระบางส่วนจะไปเตะฟุตบอลกันที่สนามบอล ของมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ไกลไปจากนี้ ฉันถึงกับคิ้วขมวดในสิ่งที่ได้ยินทันที
"พวกพระเล่นกีฬากันได้ด้วย?" "อ้าว ถ้าไม่ออกกำลังกายแล้วร่างกายจะแข็งแรงได้ยังไง?"
ชีมมีพูดเหมือนว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรนัก แถมยังบอกอีกด้วยนะ ว่าพระต้องเปลี่ยนชุดลงสนามเสียก่อนไม่ใช่ว่าจะไปเล่นกีฬากันทั้งจีวรแดง
มิน่า! วันที่เข้าไปนั่งฟังหมอจากอเมริกามาบรรยายพิเศษในวันนั้น หมอพูดถึงเรื่องสุขภาพของพระทิเบต ว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ...
"ตกลง ว่าวันนี้ เธอไม่ได้ออกไปไหนเลย?"
เขาจะชวนฉันไปเที่ยวมหาวิทยาลัยฯ ที่อยู่ไกลจากนี้แค่สี่กิโลเมตร
"ฉันออกไปกับยงซุลแล้วก็จีมี่ตั้งแต่ก่อนเที่ยงซะอีก พวกเราไปกินข้าวกลางวัน กับซื้อของที่โซลัน "
แต่แล้วนายชีมมี ก็มีสีหน้าแปลก ๆ กับเรื่องที่ได้ยินเข้า
"เธอออกไปกับสองคนนั่น?"
นั่นไงล่ะ นั่นไงล่ะ!... นี่คือเรื่องที่ฉันยังคิดกังวลอยู่ไม่หายสรุปแล้วว่ามันดูไม่ดีใช่มั้ย
"โอ...ให้ตายเถอะ แล้วคุยกันรู้เรื่องยังไงเนี่ย?"

สุดท้ายแล้วก็ต้องมาถึงวันลา มีชาวฝรั่งเศสมาเข้าพักเพิ่มอีกหนึ่งคนเมื่อคืนนี้ เขามาที่นี่เป็นครั้งแรกและจะพักอยู่ประมาณสองอาทิตย์ เพื่อมาเก็บข้อมูลสำหรับ พิจารณาเรื่องการให้เงินสนับสนุนด้านทุนการศึกษาของเด็กนักเรียน
ฉันคิดว่าหากมองโดยรวมแล้ว ชาวต่างชาติที่มายังหมู่บ้านโดลันจิ ก็มักจะมี- จุดประสงค์ที่ชัดเจนอยู่สองเรื่องหลัก ๆ นั่นคือกลุ่มผู้ที่มาปฏิบัติตนในวิถีของเพิน แล้วก็กลุ่มคนที่มาติดต่อเรื่องการมอบทุนฯ นี่แหละ



ในช่วงการอพยพยลี้ภัยสมัยแรก ๆ พวกเด็กทิเบตพลัดถิ่นเหล่านั้น มักไม่มี ทางเลือกอื่นไปนอกเสียจากการบวช เพราะยังไงเสียก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแล- ของวัดฯ จนกระทั่งอายุ 18 ปีอยู่ดี ซึ่งหลังจากนี้พวกเขาก็จะต้องตัดสินใจอีกครั้ง ว่าจะเลือกเป็นพระหรือออกไปใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา
แต่หลังจากที่เริ่มมีเงินสนับสนุนจากต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือ ก็เริ่มมีโครงสร้าง- ขั้นพื้นฐานสำหรับที่อยู่อาศัยอย่างน้ำประปา, ไฟฟ้า และการดูแลด้านสาธารณสุข รวมไปถึงการศึกษาของเด็กที่ถูกขยายสร้างเป็นโรงเรียนปกติ และพวกเขาก็สามารถ เข้ารับศึกษาเล่าเรียนกันแบบเด็กทั่วไปได้

เวลาที่อยู่ห้องสมุด ฉันมักหยิบหนังสือ Tibet's Ancient Religion : BON ที่เขียนโดย Christopher Baumer มาเปิดดูเพื่อทำความเข้าใจอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในเล่มนี้ก็ได้บอกเล่าถึงจุดเริ่มแรก จากตำนานของโลกที่ได้ก่อร่างสร้างขึ้นมา อย่างไร รวมถึงเทววิทยา, สวรรค์, ปีศาจ, พิธีกรรม, จารีต, สถานที่สำคัญที่ เกี่ยวข้อง และกระทั่งหมอผี (Shaman) ผู้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่าง ความเชื่อในยุคเก่าแก่ดั้งเดิมจนกระทั่ง เพินได้แปรเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของ 'ศาสนา' อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

นอกเหนือไปจากการได้เห็นเพินผ่านเล่มตำราทั้งหลายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ โอกาสที่ฉันได้มาทำความรู้จัก Bön ผ่านทางพระและผู้คนในหมู่บ้านโดลันจิแห่งนี้ โดยไม่ใช่ในแง่ของการมาค้นหา, ศึกษา หรือเพื่อพิสูจน์ความเชื่อใด ๆ ทั้งนั้น แต่นี่กลับเป็นเรื่องที่ได้มองเห็นผ่านภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ในแง่ของ ความเป็นเพื่อนมนุษย์ ที่เราทั้งหลายต่างแทบไม่ได้แปลกแยกไปจากกันสักนิด
และในทางกลับกัน หากหนังสือเล่มเดียวกันนี้จะถูกเปิดอ่านจากห้องสมุดสักแห่ง เรื่องราวของศาสนาเพิน คงอาจจะดูไกลเกินเอื้อมหรือจับต้องแทบไม่ได้เลยใน ความรู้สึกและเมื่อใดก็ตามหากได้กล่าวถึงชาว Bönpo ผ่านการมองเห็นเพียงแค่ ปกหนังสือหรือเห็นกันอย่างผิวเผิน พวกเขาก็คงจะมีภาพลักษณ์ที่ลึกลับมากเสีย จนน่ากลัว

ตำแหน่งด้านซ้าย : ผู้นำของศาสนาเพินคนปัจจุบัน ในวัย 88 ปี (ภาพถ่าย ปี 2015) (**เพิ่มเติม - His Holiness Lungtok Tenpai Nyima ได้มรณภาพเมื่อเดือนกันยายน 2017)
ในปี ค.ศ. 1961 พระนักวิชาการทางศาสนาทั้งสามที่ประกอบไปด้วย
- Yongdzin Tenzin Namdak Rinpoche
- Geshe Lungtok Tenpa'i Nyima Rinpoche (ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้นำทางศาสนาเพิน คนปัจจุบัน) - Geshe Samten Karmey ได้ถูกรับเชิญให้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการทิเบตศึกษา เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งมี Rockefeller Foundation เป็นผู้ให้ทุนการสนับสนุน
ในระหว่างนั้นคัมภีร์สำคัญของทางศาสนา ก็ได้ถูกรวบรวมและจัดเรียบเรียงสารบบ ขึ้นใหม่อีกครั้งโดย Yongdzin Rinpoche ภายใต้ชื่อ 'The Nine Ways of Bön' และได้ถูกแปล เป็นภาคภาษาอังกฤษจนสำเร็จใน ปี ค.ศ. 1967 โดย David Snellgrove ผู้เชี่ยวชาญด้านทิเบตวิทยา ซึ่งเขาได้รับการเจาะจง ให้รับหน้าที่นี้จากท่าน Yongdzin Rinpoche โดยตรง และเรื่องราว 'เพิน' หรือ 'เพิน' ก็เริ่มถูกเผยแพร่ออกสู่สายตาโลกตะวันตกนับแต่นั้นเป็นต้นมา
*** เพิ่มเติม : David L. Snellgrove เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อเดือนมีนาคม 2016 ไม่นานมานี้ ในวัย 95 ปี

ยามเช้าของวันสุดท้าย พระคุนชกออกมายืนทักทายจากระเบียงที่พักที่ติดกับ ห้องสมุด เขารู้แล้วว่าฉันจะเดินทางออกไปยังที่อื่นต่อ คุนชกก็คงมาจะส่งลาได้ แค่นี้แหละ เพราะหลังจากเดินโกร่า กลับมากินมื้อเช้าและเก็บข้าวของ ก็คงไม่มี เวลาได้เจอกันอีก
พระยงต้า หรือ Guest Master ได้แนะนำให้ฉันออกไปก่อน 10 โมงเช้า เพราะจะ มีรถประจำทางเข้าเมืองแค่เที่ยวเดียวต่อวัน หากฉันไม่อยากนั่งแท็กซี่ออกไป
อืม ...หวังว่ารอบนี้คงไม่โดนอำอีกนะ
กลุ่มนักเรียนและพระ บนตึกฝั่งตรงข้ามกับที่พัก พากันออกมายืนท่องตำรากัน ที่ระเบียงเพื่อรับแดดก่อนเข้าชั้นเรียนเช่นทุกวัน พวกเขาต่างโบกมือและตะโกน บอกลาหลังจากที่เห็นฉันเดินหอบกระเป๋าออกมาจากห้องพักและคืนกุญแจ 
อาคาร Medical Collage ที่เหล่านักเรียนแพทย์จะมายืนท่องตำรากันทุกเช้า "จะไปไหนล่ะนั่น!"
เสียงดุ ๆ ห้วน ๆ จากพระที่คุ้นหน้ารูปหนึ่งได้พูดทักมาระหว่างเดินสวนกัน เป็นได้เจอทีไร พระก็พูดทักฉันด้วยเสียงดุดันยังกับพวกครูฝึก นศท. เสมอ
"ไปชิมลาค่ะ" ฉันบอกถึงจุดหมายข้างหน้า
"แล้วจะกลับมาอีกไหม?"
ฉันบอกว่าไม่กลับมาแล้ว คงต้องเป็นครั้งหน้าโน่นนนน....
ยังมีใครอีกหลายคนที่ฉันรู้จัก แต่ไม่ได้บอกลาในวันกลับ อย่างพระยงซุลเอง ก็ด้วย ที่ส่งข้อความมาบอกทาง WeChat และฉันเดาว่าในครั้งนี้เขาอาจหา คนช่วยพิมพ์ส่งมาเป็นภาษาอังกฤษให้จนได้
พวกเราไปส่งไม่ได้ในวันนี้ เพราะติดงานพิธีศพของคนในหมู่บ้าน ส่วนรินเชนอยากยังคงวุ่นอยู่เช่นกัน ต้องขอโทษด้วย
....
ฉันออกมายืนรอรถตรงที่ลานจอดแท็กซี่ จุดเดียวกับที่ช่วงเย็นจะมีพ่อค้าขนเอา ผัก,ผลไม้มาวางขาย แล้วก็ยังได้เห็นเปม่า หนึ่งในนักเรียนแพทย์ฯ เดินไล่หลัง ตามมาไม่ไกลโผล่มาพอดี เขาบอกว่าจะแวะมาไหว้พระขอพร พวกเราก็เลยได้ ยืนคุยอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่เขาจะชี้บอกให้เห็นจุดรอรถเมล์ที่ฉันควรไปยืน ซึ่งที่ตรง- นั้นได้มีชาวบ้านบางส่วนมานั่งรอกันที่ขอบซีเมนต์ศาลาที่ยังไม่ได้มีการสร้าง หลังคาคลุม...แล้วจากนั้น เปม่า ก็เดินหายไปยังทางขึ้นวัด
ฉันย้ายที่ยืนไปยังจุดที่เขาบอก มันอยู่ไกลกว่าจุดเดิมเล็กน้อยและไม่มีร่มเงาบัง แดดที่ดีนัก แต่ยังไงเสียฉันก็ไม่อยากพลาดเที่ยวรถมากกว่า
และเมื่อได้หันกลับไปมองทางเข้าวัด ก็นึกไปถึงตอนที่เดินทางมาในวันแรก แบบกล้า ๆ กลัว ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเดินทางมายังหมู่บ้านแห่งนี้ทำไมกัน แล้วถ้าจะมีแต่ประชากรที่พระเยอะแยะเต็มไปหมดแบบนี้ ฉันไปจะคุยอะไรกับ ใครเขารู้เรื่องได้... สนทนาธรรมเรอะ? แทบไม่อยากนึก
แต่คงต้องขอบคุณรินเชนและยงซุล ที่ทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับที่แห่งนี้ แม้ว่ามันจะดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าสนใจเลยก็ตามในความคิดแรก

ผ่านไปเกือบชั่วโมงนึงแล้ว ก็ยังไม่มีรถมาหรือฉันจะพลาดรถเที่ยวนี้ไปแล้วก็ไม่รู้ แสงแดดเริ่มร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องไปหาร่มหลบบังที่ร้านค้าของชาวอินเดีย ที่อยู่ตรงข้ามกับศาลารอรถ พวกเขาอนุญาตให้ฉันเอาของไปฝากวางที่ร้านและ ยืนหลบแดดที่นี่ได้ อีกทั้งเจ้าของร้านได้บอกให้รู้ว่าวันนี้รถจะมาช้ากว่าเวลาปกติ
มีพระสามรูปเดินตรงดิ่งมาจากทางถนนเพื่อมุ่งหน้ากลับเข้าวัดกัน และหนึ่งในนั้น ก็คือพระคุนชก หลังจากที่เห็นพวกเขาเลยถือโอกาสแวะมาทักฉันเป็นหนสุดท้าย
"พวกเราเพิ่งจะไปเดินโกร่ามาเหมือนกัน แต่เป็นรอบใหญ่ พอเดินรอบเขาเสร็จแล้ว ก็พักดื่มชากันก่อนกลับ"
พระรูปหนึ่งที่มาด้วยกัน เขามีกลุ่มผมสีขาวขึ้นกระจุกเดียวตรงด้านหน้า ฉันรู้จักเขาและเห็นหน้าอยู่บ่อยครั้งแต่ไม่รู้ชื่อ
"ฉันเห็นท่านไปยืนข้างท่านรินโปเช เวลาให้น้ำมนต์ทุกเช้า"
แต่พระอีกรูปนี่สินึกไม่ออก แต่ก็ถามไปว่า พวกเราเคยพบกันมาก่อนหน้านี้หรือปล่าว? ทำไมถึงได้รู้สึกคุ้นซะจริง ... ผิดคาดเลยแฮะ ที่พระกลับจำได้ดีกว่าเสียอีก เพราะท่านบอกว่า จำฉันได้ตั้งแต่ที่มาวันแรก เพราะเป็นคนที่โทรศัพท์ไปแจ้งบอก ให้รินเชนออกมารับเอง
พอได้ลองถามเรื่องของรถราที่จะไปต่อจากนี้ คุนชก ได้บอกว่า ไม่ต้องกังวลไปสบายใจได้ เพราะจะมีเที่ยวรถวิ่งแทบตลอด "รถมันจะไปจอดที่ท่ารถใหญ่ เดี๋ยวก็จะได้ยินพวกเด็กรถตะโกน ชิมลา ๆๆๆ ...ชิมลาาาาา แล้วก็รู้เอง "
คุนชก ท่องชื่อเมืองระรัว ๆ พร้อมทำเสียงปิดท้ายลากยาว และทำหน้าตายเลียนแบบกระเป๋ารถเมล์ได้เหมือนชะมัด!
.... ไม่นานนักรถประจำทางก็มาจอดรับสีกที ฉันต้องขึ้นรถออกไปจากโดลันจิจริง ๆ แล้ว กลุ่มชาวบ้านต่างพากันนำมัดกระสอบที่บรรจุผักไม่ก็พืชผลการเกษตรบางอย่าง ขนขึ้นรถเพื่อนำออกไปส่งขายยังตัวเมือง ส่วนกลุ่มผู้หญิงเห็นหลายคนดูก็จะ เชี่ยวชาญกับการถักนิตติ้งกันเหลือเกิน พวกเธอต่างหยิบเอามาถักกันระหว่าง เดินทางและพูดคุยไปด้วย...จนดูเหมือนว่ามันถักง่ายดายนัก บานกระจกข้างหน้าต่างถูกปิดอยู่เพื่อไม่ให้ผมพัดหัวฟูในขณะที่รถวิ่งไปตาม จุดรับส่งของหมู่บ้านถัดไป และตอนนี้ฉันกลับพยายามที่จะเลื่อนเปิดงัดมันขึ้นมา อย่างว่องไว เพราะเห็นนายล็อบซังกับเพื่อนและพระทินเล่ กำลังยืนคุยกันอยู่ที่ หน้าร้านน้ำชา ดูเหมือนพวกเขาไม่ทันมองเห็นรถประจำทางที่ผ่านมาจอดด้วยซ้ำ
รับสั่ง !
ทินเล่ ! เสียดายจริงที่จำชื่อเพื่อนตาล็อบซังไม่ได้ ฉันตะโกนเรียกชื่อพวกเขา ก่อนที่ทั้งสามจะหันมาโบกมือส่งลาได้ทันเวลา
แล้วพวกเราก็มาเจอกันอีกจนได้เนาะ
แต่มาคิดดูแล้ว ...หลังจากที่รถวิ่งผ่านไป สามคนนั้นคงไม่หันมาถามกันเองหรอกนะ "นี่ ๆ ไอ้คนที่โบกมือให้พวกเราบนรถเมื่อกี้นี้...ใคร อ่ะ?"
Create Date : 26 สิงหาคม 2559 |
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2565 10:19:23 น. |
|
23 comments
|
Counter : 1686 Pageviews. |
 |
|
เราจ่ายกันคนละ 5 ปี - รูปี
บิณฑบาต - สะกดอย่างนี้จ้าา
ในที่สุดก็จากลาเนาะ คนเจอกัน ได้พูดคุยได้มีบางช่วงเวลาร่วมกัน ก็แสดงว่าเคยทำบุญหรือกรรมร่วมกันมาแหละเนาะ
ตอนหน้าไปไหนต่อเนี่ย
วันนี้โหวตเต็มแล้ว พรุ่งนี้มาโหวตให้นะฟ้า