กลไกการบริหาร/โครงสร้างองค์กรของอาเซียน
สวัสดิ์สิริอาทิตยวาร-กมลมานเจิดจรัสที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ค่ะ
กฎบัตรอาเซียนหรือกฎหมายสูงสุดของอาเซียน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ "กฎบัตรอาเซียน") ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 เป็นเอกสารหลักที่กำหนดโครงสร้างและกลไกการบริหารของอาเซียน
ภายใต้กฎบัตรอาเซียน ที่ชุมนุมสุดยอดอาเซียน [ASEAN Summmit] หรือที่ประชุมของประมุขหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นองค์การกำหนดนโยบายสูงสุดของอาเซียนโดยมี 1. ที่ประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน [ASEAN Coordinating Council] ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐสมาชิกอาเซียน 2. ที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมอาเซียน [ASEAN Community Council] ซึ่งประกอบด้วยคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ซึ่งต่างล้วนเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี) 3. ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาของประเทศสมาชิกอาเซียน (เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านกลาโหม ด้านการศึกษา และด้านการเงินและการคลัง ฯลฯ ) 4. ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ระดับปลัดกระทรวง) 5. คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน [Committee of Permanent Representatives to ASEAN] ซึ่งเป็นที่ประชุมของเอกอัครราชทูตที่แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนแต่งตั้งให้ ไปประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจารการ์ตา เป็นองค์กรกำหนดนโยบายและเร่งรัดการดำเนินการตามมติ ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนระดับรองลดหลั่นกันลงมา
การนำเอานโยบายของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน หรือความตกลงต่างๆของอาเซียนไปปฏิบัตินั้น เป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศสมาชิก โดยมีสำนักเลขาธิการอาเซียน (ซึ่งปัจจุบันได้แก่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย) เป็นหัวหน้าผู้บริหารสำนักงาน ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ได้จัดตั้ง "กรมอาเซียน" ภายในประเทศตนเอง เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับกรมอาเซียนของประเทศอื่น สำนักเลขาธิการอาเซียน และหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศตนเอง ในการดำเนินกิจกรรม/ความร่วมมือในสาขาต่างๆของอาเซียน
ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนๆ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "คู่เจรจาของอาเซียน" ซึ่งปัจจุบันประกอบไปด้วย 9 ประเทศ กับหนึ่งองค์กร (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป) นั้น ในปีหนึ่งๆ อาเซียนจะจัดประชุมระดับผู้นำหรือรัฐมนตรีคู่เจรจาเหล่านี้ เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการผสานความร่วมมือ ดังเช่นที่ไทยจะจัดการประชุมระดับผู้นำ ระหว่างอาเซียนกับ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในเดือนเมษายน 2552
นอกจากนี้ อาเซียนยังได้จัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สาม [ASEAN Committee in Third Countries] ซึ่งประกอบด้วยเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ประจำอยู่ในประเทศคู่เจรจา ตลอดจนในประเทศอื่นๆ ที่อาเซียนเห็นสมควร เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลและวิเคราะห์ท่าทีของประเทศที่คณะกรรมการอาเซียนเหล่านี้ตั้งอยู่ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป
จาก นานาสาระเกี่ยวกับอาเซียน และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 โดยกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ขอขอบคุณ
Create Date : 26 กรกฎาคม 2552 |
|
0 comments |
Last Update : 26 กรกฎาคม 2552 22:58:56 น. |
Counter : 2579 Pageviews. |
|
 |
|