Group Blog
 
 
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
21 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 

ทำอย่างไรให้ลูกวัยรุ่นช่วยงานบ้าน

       เมื่อเอ่ยถึงงานบ้าน พ่อแม่หลายคนที่มีลูกเล็กวัย 2 - 6 ขวบอาจรู้สึกชื่นใจที่ลูกตัวเล็ก ๆ ของตนเองให้ความสนใจอยากช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เด็กบางคนอาจช่วยคุณแม่ทำกับข้าว บ้างก็อยากช่วยล้างจาน คว่ำจานกันเป็นที่สนุกสนาน บ้างก็ชอบรดน้ำต้นไม้กับคุณพ่อ หรือพาสุนัขไปเดินเล่น เรียกได้ว่า พ่อแม่ทำกิจกรรมใด ๆ เด็ก ๆ ก็อยากมีส่วนร่วมและพร้อมจะสนุกกับกิจกรรมนั้นเสมอ
       
       แต่กับลูกวัยรุ่น...เมื่อเอ่ยถึงการช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน อาจไม่ใช่เรื่องน่าสนุกอีกต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กวัยรุ่นเริ่มติดเพื่อน อยากสนุกกับเพื่อน ๆ มากกว่าจะอยู่บ้านทำงานบ้านที่น่าเบื่อ หรือบางคนก็เรียนกวดวิชาอย่างหนัก และยกหน้าที่ในการทำงานบ้านให้เป็นของพ่อแม่แต่เพียงผู้เดียว หรือบางคนหนักกว่านั้น ตรงที่ว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่าตนเองต้องทำ หรือต้องมีส่วนร่วมในการดูแลบ้านกับพ่อแม่เลย
       
       อย่างไรก็ดี ความจริงอีกข้อหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธก็คือ พ่อแม่เองมีแต่จะแก่เฒ่าลงทุกวัน ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็เริ่มมีอาการติดขัด ไม่สบาย จะทำการใด ๆ ก็อาจไม่สะดวกเหมือนเก่า การมีลูกวัยรุ่นเข้ามาช่วยทำงานบ้าน แบ่งเบาภาระของพ่อแม่บ้างก็ช่วยให้พ่อแม่ได้ชื่นใจ และรู้สึกดีกับตัวเองและลูก ๆ มากขึ้น 
       
       แต่จะสร้างแรงจูงใจให้ลูกวัยรุ่นหันมาทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ได้อย่างไรบ้างนั้น เรามีวิธีดี ๆ มาฝากกันค่ะ
       
       1. อย่ารีบบ่น
       
       เหตุที่ต้องเรียนว่าอย่ารีบบ่น เพราะเรามักพบว่าคุณแม่ที่กำลังมีลูกวัยรุ่นมักจะเริ่มเข้าสู่วัยทองด้วยเช่นกัน หลายท่านจึงมักรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่ลูกไม่เข้าใจ บางครั้งอดไม่ได้ก็ขอบ่นดัง ๆ ให้ลูกสะดุ้งเสียหน่อย จะได้รีบมาช่วยทำงานบ้าน แต่ถ้าทำบ่อยเข้า ลูกวัยรุ่นอาจหนีห่างออกไปมากขึ้นก็เป็นได้
       
       ต่อมาก็คือต้องทำความเข้าใจถึงวัยของลูก ปกติแล้วเด็กวัยทีนทั้งหลายจะไม่ชอบฟังพ่อแม่ว่ากล่าวเยิ่นเย้อ ยืดยาวอีกแล้ว ถ้าคุณแม่อดใจได้ และออกคำสั่งอย่างชัดเจนแบบไม่ต้องผสมอารมณ์ใด ๆ ก็จะได้ใจลูกวัยรุ่นมากกว่า หรือถ้าสามารถพูดกับลูกดี ๆ ได้ก็ยิ่งดี และอย่าลืมตบท้ายด้วยการชมลูกสักนิด ขอบใจลูกสักหน่อย เขาก็จะมีใจช่วยทำงานบ้านมากขึ้น
       
       2. ให้รางวัล
       
       กำหนดปริมาณงานที่ลูกทำและมีรางวัลให้ อาจเป็นสิ่งที่ช่วยจูงใจเด็กวัยรุ่นได้มากขึ้น แต่อย่าให้ความสำคัญกับรางวัลมากเกินไป เพราะมันเป็นแค่เครื่องมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใช้ดึงลูก ๆ ให้เข้าที่เข้าทางกับสิ่งที่พ่อแม่ต้องการฝึกเขาเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างรางวัลที่ไม่ได้เป็นสิ่งของ เช่น หากลูกรับผิดชอบทำความสะอาดบ้าน วันเสาร์อาทิตย์ก็จะให้ไปเที่ยวกับเพื่อนได้ เป็นต้น
       
       แต่ก็มีลูกบางคนชอบต่อรอง ขอไปเที่ยวก่อน เที่ยวเสร็จค่อยกลับมาทำได้ไหม (คำตอบคือไม่ได้จ้ะ) คุณพ่อคุณแม่ลองปิดทางเจรจาด้วยการกำหนดเส้นตายว่าต้องทำให้เสร็จภายใน..... และงานต้องเนี้ยบด้วย ถ้าไม่ผ่านคิวซีจากคุณพ่อคุณแม่ก็คือ "อด" สถานเดียว การให้รางวัลครั้งนี้ก็จะสำคัญมากยิ่งขึ้น
       
       3. อย่าจบแค่ครั้งเดียว
       
       เพราะการทำงานบ้านเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ ทำทุกวันไม่มีวันหยุด คงไม่มีใครล้างจานวันเดียว แล้วถือว่างานล้างจานนั้นสิ้นสุดแล้วเป็นแน่ ดังนั้น จะดีกว่า หากการช่วยงานบ้านของลูก ๆ วัยรุ่นจะถูกกำหนดให้รับผิดชอบงานนั้น ๆ เป็นประจำด้วย อีกเหตุผลหนึ่งของการทำงานบ้านเป็นประจำก็คือ การทำบ่อย ๆ จนเป็นความเคยชิน จะทำให้เด็กทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมายดีขึ้นเรื่อย ๆ และความลับอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อเขาทำจนชินแล้ว เขาก็จะเดินไปทำงานนั้น ๆ เอง เมื่อถึงเวลา คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องบอก ไม่ต้องเรียก ไม่ต้องบ่นอีกต่อไปนั่นเองค่ะ
       
       4. ให้เขามีสิทธิจัดการทุกอย่าง
       
       อย่าลืมว่ามันก็แค่งานบ้าน อย่าจริงจังมากไปกับขั้นตอนหรือการจัดการ เช่น ต้องซักผ้าแบบนี้ ๆ ๆ ถูบ้านแบบนี้ ๆ ๆ เท่านั้น ถ้าทำแบบอื่นถือว่าไม่ดี ใช้ไม่ได้ ผิด ต้องถูกบ่นเป็นกระบุง หรือคุณพ่อคุณแม่บางท่านขอให้ลูกช่วยซักผ้า แต่ก็เข้ามากำกับการซักผ้า ตากผ้า ทุกขั้นตอน การทำแบบนี้มีแต่จะทำให้เด็กเบื่อหน่าย ไม่อยากทำ หรือไม่ก็ทำไปอย่างนั้นเอง ไม่อยากทำให้ดีเพราะความรู้สึกมันเสียไปแล้ว หากไม่อยากเป็นเช่นนี้ ก่อนให้ทำ ลองสอนเขาสักครั้ง สองครั้ง จากนั้นลองให้เขาจัดการงานบ้านที่ได้รับมอบหมายด้วยตัวเองดูอาจจะดีกว่า ยิ่งลูกวัยรุ่นได้ตัดสินใจเอง คิดเอง ทำเอง มากเท่าไร เขาก็จะยิ่งยืนหยัดได้ด้วยตัวเองไวมากขึ้นเท่านั้น
       
       5. ถ้ามีพี่น้อง ต้องแบ่งงานอย่างยุติธรรม
       
       การแบ่งงานบ้านอาจไม่ต้องเท่ากัน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือต้องทำให้เด็กรู้สึกว่ายุติธรรม และพอใจกับงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น พี่ชายอาจต้องช่วยงานที่เหนื่อย ใช้แรงมากกว่าน้องสาว (แน่นอนว่าอาจเป็นงานที่สนุกกว่า โลดโผนกว่า และเด็กผู้ชายยินดีทำ) แต่ไม่ใช่ ลูกชายไม่ต้องทำงานบ้านใด ๆ เลย แต่กับลูกสาวต้องทำเองหมดทุกอย่าง ทีมงานเคยพบกรณีดังกล่าวจากครอบครัวหนึ่ง ซึ่งลูกสาวน้อยใจมากที่แม่ทำให้แต่ลูกชาย ส่วนลูกสาวต้องรับผิดชอบงานบ้านทุกอย่าง และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องมีปัญหากระทบกระทั่งอยู่บ่อยครั้ง
       
       6. ทำตารางงานบ้านเพื่อความชัดเจน
       
       ข้อนี้ไม่ต้องยุ่งยาก แค่มีกระดาษแผ่นหนึ่งตีช่อง แล้วก็กำหนดชื่อผู้ได้รับมอบหมายให้ทำงานลงไป อาจกำหนดเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน จะได้ทราบว่า แต่ละวัน ใครมีหน้าที่ต้องทำงานบ้านบ้าง และต้องทำอะไรบ้าง หากไม่ทำ ก็ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนเพื่อฝึกให้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
       
       มากไปกว่านั้น ทีมงานอยากฝากถึงลูกวัยรุ่นที่ไม่ชอบช่วยงานบ้าน หรือเกี่ยงงานเพราะรู้สึกว่าเป็นงานที่จำเจ น่าเบื่อ แต่มีแรงเฮฮากับเพื่อนฝูง ใช้เงินพ่อแม่เที่ยวเตร่กินเหล้าดึก ๆ ดื่น ๆ ว่าในวันที่คุณยังมีแรง การช่วยทำงานบ้าน หรืองานอื่น ๆ ที่สามารถผ่อนแรง ผ่อนภาระให้กับพ่อแม่ที่อายุมากขึ้นทุกวัน ๆ นั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากกว่าการออกไปแสวงหาการยอมรับจากสังคมที่คุณต้องการมากนักค่ะ
       
       ยิ่งกลุ่มที่มีแต่แรง อ้างแต่ศักดิ์ศรี แล้วก็ใช้แรงไปวิ่งไล่ยิงคู่อริบนรถเมล ยิ่งต้องสำนึกให้มาก ๆ ค่ะ




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2555
0 comments
Last Update : 21 มิถุนายน 2555 19:27:14 น.
Counter : 970 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.