Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
 
11 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
"นางร้ายในละครไทย"..เรื่องที่ผู้ใหญ่พึงระวัง!

เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และนักวิจัยด้านศึกษาและพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัย
       เมื่อพูดถึง "นางร้าย" นับเป็นตัวละครที่สร้างสีสัน และทำให้ละครไทยดูมีรสชาติมากขึ้น เพราะมีความจัดจ้านทั้งในเรื่องการแสดงออกด้านอารมณ์ พฤติกรรม และคำพูด ซึ่งมีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะร้ายลึก ร้ายแว้ด ๆ ร้ายแบบจอมตบ ร้ายยั่ว หรือร้ายชนิดตลกเบาปัญญา แต่ไม่ว่าจะร้ายแบบไหนก็ทำให้ผู้ชมคนดูคอยลุ้น และสะใจกับจุดจบที่สมควรได้รับในตอนท้ายเรื่อง
       
       แต่ในสายตาของใครอีกหลายคน กลับตำหนิไปที่บท "นางร้าย" ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทั้งความก้าวร้าว ชอบกรี๊ด เอาแต่ใจ หรือโกหกเก่ง จนเป็นห่วงว่าเด็กและเยาวชนจะเลียนแบบ ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจนคนทำงานด้านเด็กอย่าง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และนักวิจัยด้านศึกษาและพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัย ออกมาตอกย้ำด้วยความห่วงใย และอยากให้พ่อแม่ รวมถึงผู้ใหญ่ในสังคมตระหนักถึงบทนางร้ายที่อาจเป็นพิษต่อเด็กทั้งทางอารมณ์และพฤติกรรม
       
       เรื่องนี้ เรืองศักดิ์ ให้ความเห็นผ่านทีมงาน Life & Family ว่า ความร้ายของนางร้ายในแต่ละยุคมีความร้ายแตกต่างกันไป แต่นางร้ายในยุคสมัยใหม่นี้ ครบรสของความร้ายกาจเลยทีเดียว โดยเฉพาะเสียงที่แหลมสูง พฤติกรรมเหวี่ยงวีน ร้ายลึก และชอบจับผู้ชายด้วยกลวิธีที่แยบยลขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ เด็กบางคนไม่สามารถแยกดีและไม่ดีออกจากกันได้ พ่อแม่ควรใส่ใจในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้มาก
       
       "นางร้ายยุคไหน ๆ ก็ร้ายทั้งนั้น เพราะเขาปั้นมาให้ร้าย แต่นางร้ายสมัยนี้ครบรสของความร้ายเลย ไม่ว่าจะเสียงที่โก่งคอกรี๊ดด้วยเดซิเบลสูง ๆ แหลม ๆ ทิ่มแทงแก้วหู รวมไปถึงพฤติกรรมรุนแรงต่าง ๆ แต่แปลกที่คนดูหลายคนกลับชอบ ว่าแซ่บ สนุก เพราะเป็นสีสันจัดจ้าน แต่สำหรับผลที่จะเกิดตามมากับเด็กหากถูกปล่อยให้ดูนางร้ายบ่อย ๆ อาจไม่สนุกอย่างที่คิด" 
       
       "เช่น ถ้าลูกของคุณอยากได้ใคร่มีอะไรแล้วไม่ได้ดังใจก็วี้ด กรี๊ด แพร่ด เหวี่ยง วีน อย่างตัวร้ายในละครบ้างคุณจะสนุกไหม แล้วถ้าลูกของคุณวัน ๆ เอาแต่กรีดกราย ย้ายสะโพก ตามจับผู้ชาย ไร้สาระไปวัน ๆ คุณจะมองว่าเป็นเรื่องสนุกไหม สำหรับพ่อแม่ที่ให้ลูกดูละครแบบนี้ พึงยอมรับผลที่จะเกิดในภายหน้าเองนะ เพราะคุณกำลังสร้างค่านิยมใหม่ให้ลูกแบบเนียน ๆ และอย่างชอบธรรมว่าความรุนแรง และเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ"

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       ทั้งนี้ เพื่อให้มองเห็นภาพถึงผลกระทบจากอิทธิพลของบทนางร้ายในละครที่มีต่อเด็กได้ชัดยิ่งขึ้น คนทำงานด้านเด็กท่านนี้ได้ยก 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาฝากให้พ่อแม่ และผู้ใหญ่ในสังคมได้ตระหนักกันด้วย
       
       "เคยเห็นมากับตาตอนลงไปเยี่ยมเด็ก ๆ ในต่างจังหวัด เด็กบางคนอยู่อนุบาลเองนะ เริ่มจากเหตุการณ์ที่หนึ่ง มีเด็กหญิงแบ่งเป็น 2 พวก พวกที่หนึ่งเดินมาจากฝั่งซ้าย พวกหนึ่งเดินมาฝั่งขวา แล้วมาประชันหน้ากันโดยมีเด็กผู้ชายยืนกลาง พวกซ้ายนี่เป็นพวกของภรรยารอง ทำหน้าถมึงทึงใส่อีกพวกหนึ่งซึ่งเป็นภรรยาเอก แล้วบอกพวกของตนว่า ตบมันเลย ฆ่ามันเลย มันแย่งสามีฉัน แล้วทำท่าทางปรี่เข้าไปตบตี นี่คือบทบาทสมมุติที่เด็ก ๆ เขาเล่นกัน ซึ่งถามไถ่ได้ความว่า เอาอย่างละคร ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เกิดที่จังหวัดหนึ่ง มีเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ตอนครูเผลอ ๆ เจอเด็กผู้หญิงไม่ได้ จูงมือไปห้องน้ำขึ้นคร่อมจูบปากเลย ถามไถ่ได้ความว่า เอาอย่างละครอีกเช่นกัน" เรืองศักดิ์เล่าด้วยน้ำเสียงเหนื่อยใจกับภาพที่เห็น

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล
       ถึงแม้ทุกวันนี้ นางร้ายในละครจะอยู่คู่กับละครไทย และดูเหมือนจะหลีกไม่ได้ เลี่ยงไม่พ้น แต่บุคคลใกล้ตัว อย่างคุณพ่อคุณแม่ คือกลุ่มคนที่สำคัญ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ในสังคมที่คนทำงานด้านเด็กท่านนี้ วอนขอว่า ควรลงมาชำเลืองมองถึงปัญหา และหาแนวทางป้องกันสื่อร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นกันให้มาก พร้อมกับส่งเสริม และสร้างค่านิยมที่ดี ๆ ผ่านละครน้ำดีกันเสียที เพราะเท่าที่ผ่านมามีน้อยเหลือเกิน
       
       "อย่าเอาความบันเทิงหยาบ ๆ ที่หาดูได้ง่าย มาใส่ให้เด็กบันทึกลงในชีวิตทุกวัน ๆ เลย เพราะเมื่อเด็กเห็นพฤติกรรมเหล่านี้บ่อย ๆ เด็กก็รับ รับ รับไปเรื่อย ๆ เพราะตอนดูนั้น ตัวละครแสดงไปเรื่อย ๆ สีสันมันดึงให้อินจนไม่มีเวลาหยุดคิด พ่อแม่ควรพูดคุย ชี้แนะและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวละคร อย่าเอาแต่จดจ่อรอสะใจ ที่ได้เห็นตัวละครตบตีกัน ถากถางกัน หรือมองเป็นเรื่องขำ ๆ ซึ่งกรรมจะตกอยู่ที่เด็กเอาได้" คนทำงานด้านเด็กวอนผู้ใหญ่ในสังคม
       
       ในประเด็นเดียวกันนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เน้นย้ำว่า แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่มีการพูดถึงมาตลอด แต่ทุกวันนี้ ความรุนแรงของสื่อ และพฤติกรรมของตัวละครในโทรทัศน์ โดยเฉพาะนางร้ายหลายตัวที่ส่งเสียงกรี๊ด และทำลายข้าวของให้เห็นอยู่บ่อย ๆ อาจทำให้เด็กเลียนแบบ และมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จนติดเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวได้ เช่น กรี๊ด หรือขว้างปาข้าวของเมื่อไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เป็นต้น
       
       "ครอบครัว คือจุดเริ่มต้นสำคัญ หากไม่ป้องกัน หรือยังปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวละครดังกล่าว อาจส่งผลต่อเสียต่อพฤติกรรมตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก ส่วนตัวมองว่า ละครหลังข่าว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะให้เด็กดู หรือถ้าปล่อยให้ดู แล้วบอกว่า สอนหรือบอกเด็กอยู่ตลอด วิธีนี้ก็อาจช่วยได้ แต่มันซับซ้อนเกินกว่าที่เด็กจะเข้าใจ ดังนั้น ผลเสียในระยะยาวที่เกิดจากการดูโทรทัศน์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ แทนที่จะให้ลูกดูโทรทัศน์ หรือรอตัวช่วยจากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง พ่อแม่ควรหากิจกรรม หรืออ่านหนังสือให้ลูกฟัง" ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลสรุป




Create Date : 11 กรกฎาคม 2555
Last Update : 11 กรกฎาคม 2555 7:14:00 น. 0 comments
Counter : 763 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.