Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
20 สิงหาคม 2555
 
All Blogs
 
ตามไปดูเทคนิคจัดการเรียนร่วมเพื่อเด็กพิเศษที่ "สาธิตเกษตรฯ"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระพีพร ศุภมหิธร
       เมื่อเอ่ยถึงโรงเรียนที่มีโครงการจัดการศึกษาพิเศษ ปัจจุบันมีตัวเลือกอยู่หลายแห่ง แต่ก็ใช่ว่าจะตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ และเด็กได้ดีเท่าที่ควร เห็นได้จาก เด็กพิเศษจำนวนไม่น้อย มีอาการถดถอย หรือบางรายต้องส่งกลับโรงพยาบาลเพื่อเริ่มรักษาใหม่ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ต้องการการเอาใจใส่และการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่บางโรงเรียนยังขาดพร้อมทั้งในเรื่องครู ระบบการจัดการ รวมไปถึงการร่วมมือกันระหว่างพ่อแม่ นักจิตวิทยาเด็ก และคุณหมอ
       
       แต่ใช่ว่าครอบครัวเด็กพิเศษจะหมดหวังกับการหาสถานศึกษาให้ลูกเสียทีเดียว เพราะยังมีอีกหนึ่งตัวเลือกปรากฏขึ้นมา นั่นก็คือ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปัจจุบันนำระบบการบริหารจัดการ พร้อมด้วยเครื่องมือทันสมัยต่าง ๆ เช่น เครื่องวัดระดับสติปัญญา เข้ามาใช้ร่วมด้วยเพื่อให้การดูแลเด็กพิเศษเป็นไปอย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีโครงการวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ เพื่อจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กออทิสติกด้วย ซึ่งใช้รูปแบบการเรียนเฉพาะเป็นรายบุคคล เพื่อให้เด็กสามารถเรียน และพัฒนาการเรียนได้ตามความสามารถส่วนบุคคล ตลอดจนสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขและอยู่ร่วมกับเด็กปกติทั่วๆ ไปได้
       
       สำหรับโครงการวิจัยฯ ดังกล่าวนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระพีพร ศุภมหิธร หัวหน้าศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า เป็นโครงการพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เด็กออทิสติกได้รับการศึกษา และการรักษาควบคู่กันไป โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งเด็กที่มีโอกาสเข้าเรียนในโครงการนี้ได้ ต้องเป็นเด็กออทิสติกที่ได้รับการบำบัดรักษา หรือการวินิจฉัยจากทีมแพทย์รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์เท่านั้น โดยจะรับเด็กออทิสติกเข้าเรียนในชั้นเตรียมประถมศึกษาปีละ 5 คน ปัจจุบันมีเด็กทั้งหมด 82 คน และครูอีก 43 คน
       
       "ทางศูนย์ฯ จะเปิดรับเด็กออทิสติกเข้าเรียนตั้งแต่เตรียมประถม ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเราไม่มีเตรียมประถม แต่เราตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเด็กพิเศษจริง ๆ ซึ่งเริ่มมาได้หลายปีแล้ว เพราะการรับเด็กตั้งแต่ป.1 หลังจากติดตามความพร้อมของเด็กเมื่อส่งไปเรียนร่วมกับเด็กปกติในชั้นป.3 พบว่า เด็กยังไม่พร้อมเท่าที่ควร บางคนเป็นทุกข์ และเรียนไม่ได้ ดังนั้น เราจึงรับเด็กตั้งแต่ชั้นเตรียมประถมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลังจากส่งเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติในชั้นป.3 แล้ว พบว่า เด็กสามารถเรียน และอยู่กับเพื่อนอย่างไม่เป็นทุกข์" หัวหน้าศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กพิเศษท่านนี้ให้ข้อมูล
       
       ลึกลงไปถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กกลุ่มนี้ ในปีแรก เด็ก ๆ ทั้ง 5 คนจะเรียนร่วมกันโดยมีครูในโครงการฯ 2 คนเป็นผู้ดูแล ยกเว้นวิชาศิลปะ พละศึกษา และดนตรีที่จะเรียนร่วมกับเด็กปกติ แต่หากเด็กมีความชำนาญหรือความถนัดในวิชาใดเป็นพิเศษก็จะแยกให้ไปเรียนร่วมกับเด็กปกติในวิชานั้น ๆ ทันทีที่ขึ้น ป.2 และเมื่อเด็กขึ้นป.3 เด็กจะต้องเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กปกติเต็มตัว โดยแยกไปห้องละ 2-3 คน ภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดของครูในโครงการฯ

       "เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว โครงการสอนเด็กออทิสติกของเราประสบความสำเร็จมาก อย่างต่างประเทศ ยากมากที่เด็กจะเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กปกติในห้องเรียนใหญ่ ๆ ซึ่งเขาจะเป็นศูนย์เฉพาะ และส่งเด็กไปเรียนร่วมแค่บางรายวิชาเท่านั้น แต่ที่สาธิตเกษตรฯ พอขึ้นป.3 เราจะจัดเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กปกติเลย แต่ในชั้นเตรียมประถม ป.1 และป.2 เราจะให้เรียนร่วมในบางวิชาไปก่อน เช่น ศิลปะ พละศึกษา ดนตรี สนทนาภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เด็กค่อย ๆ มีเพื่อน เมื่อถึงเวลาที่จะต้องไปเรียนร่วมกับเด็กปกติแบบเต็มตัว เขาจะได้ไม่มีปัญหาในการเรียน และอยู่ร่วมกับเพื่อนในห้อง"
       
       สำหรับการส่งเด็กเข้าเรียนร่วมในชั้นป.3 นั้น การส่งต่อข้อมูลของเด็กให้แก่ครูที่รับไม้ต่อ นับเป็นกระบวนการสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ทำให้ศูนย์การศึกษาพิเศษของที่นี่ได้รับการยอมรับในเรื่องการบริหารจัดการที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งของประเทศไทย
       
       "การส่งต่อข้อมูลเมื่อเด็กเลื่อนชั้นในแต่ละปีการศึกษา เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สาธิตเกษตรประสบความสำเร็จ เพราะเราจะมีการส่งต่อข้อมูลทุกปี โดยก่อนที่จะปิดเทอม เราจะพิจารณาถึงความเหมาะสมว่า คุณครูท่านใดจะเป็นผู้ดูแลเด็กออทิสติกในปีการศึกษาถัดไป เพื่อให้ครูที่จะรับช่วงต่อได้ศึกษาข้อมูลผ่านบันทึกพฤติกรรมของนักเรียนที่ครูแต่ละท่านจะต้องเขียนในทุก ๆ ชั่วโมงการสอน นอกจากนั้นในช่วงปิดเทอม เราจะมีสัมมนาคุณครูประจำโครงการ เช่น เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ หรือพาไปศึกษาดูงาน พอเปิดเทอม หัวหน้าศูนย์จะเข้าไปรายงานเคสของนักเรียนตัวเองในทุกระดับชั้นตั้งแต่ ป.3-ม.6 เพื่อให้ครูทุกท่านทราบว่า ปีนี้ในแต่ละระดับชั้นจะมีนักเรียนออทิสติกเข้าไปเรียนร่วมกี่คน ชื่ออะไร ใครเป็นผู้ดูแล รวมไปถึงรายละเอียดที่จำเป็นเกี่ยวกับพฤติกรรมทั้งที่พัฒนาขึ้น และสิ่งที่เด็กยังต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเราจะให้แนวทางแก่ครูเพื่อนำไปใช้พัฒนาเด็กอย่างเหมาะสม"
       
       ในส่วนของเด็ก ๆ เมื่อถึงช่วงเวลาปิดภาคเรียน ทางศูนย์จะพาเด็ก ๆ ไปที่โรงพยาบาลยุวประสาทฯ เพื่อให้ทีมแพทย์สังเกตพัฒนาการเป็นรายบุคคล เช่น เทอมที่ผ่านมามีพัฒนาการดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแพทย์จะแนะนำอาจารย์ และพ่อแม่ถึงแนวทางการดูแลเด็กที่ถูกต้องต่อไป
       
       "ครู แพทย์ และพ่อแม่สำคัญมาก เราจะมีการประชุมร่วมกันทุกเทอม ส่วนเทอมปลายจะมีครูดารณี อุทัยรัตนกิจ ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาโรงเรียนจากอเมริกามาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการเตรียมครูเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในปีต่อ ๆ ไปด้วย ซึ่งครูของเราจะมีความใกล้ชิดกันมาก และที่สำคัญครูของเราจะเข้าใจเด็กออทิสติก และเด็กพิเศษคนอื่น ๆ ทุกคน เพราะถ้าครูไม่เข้าใจก็ยากที่จะช่วยเหลือเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ เช่น จู่ ๆ เด็กฉีกสมุด ขว้างปาข้าวของ ครูก็ต้องเข้าใจ เพราะเด็กอาจมีความเครียดทั้งจากที่บ้าน หรือในห้องเรียน และไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้"

       กระนั้น การส่งเด็กพิเศษเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กปกติ ย่อมมีบ้างที่จะเกิดปัญหาการอยู่ร่วมกับเพื่อนในห้องเรียน สำหรับแนวทางในการจัดการปัญหาดังกล่าวนี้ หัวหน้าศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กพิเศษท่านนี้ บอกว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้แก่เด็กทั้งสองฝ่าย เริ่มจากเด็กพิเศษที่ถูกเพื่อนล้อเลียน หรือกลั่นแกล้ง ครูจะเข้าไปช่วยเหลือด้วยการพูดให้กำลังใจว่า ตัวเขาก็คือเด็กสาธิตเกษตรฯ คนหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่เพื่อนพูดหากไม่เป็นความจริงก็ไม่ควรสนใจ ส่วนเด็กปกติ ครูจะมีวิธีจัดการโดยเรียกเข้ามาคุย และอธิบายด้วยเหตุและผลถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่กระทำกับเพื่อน
       
       "ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ พ่อแม่ของเด็ก เราเคยมีคุณแม่ท่านหนึ่งที่หลังจากได้ยินเพื่อนมาล้อเลียนลูกของเธอ คุณแม่ท่านนี้ก็เข้าไปจับตัวเด็กคนนั้น แล้วตะโกนบอกเด็กว่า พูดอะไร พูดให้มันดี ๆ นะ ปรากฎว่า ลับหลังแกล้งหนักกว่าเก่าอีก หรือไม่ก็บอกเพื่อนคนอื่น ๆ ว่าไม่ให้เล่นกับเด็กคนนี้ เพราะแม่เขาใจร้าย แล้วในที่สุด เมื่อครูจัดให้เข้ากลุ่มกับเพื่อน เพื่อนก็ไม่เอาเลยค่ะ เพราะกลัวทำอะไรพลาดแล้วเดี๋ยวแม่ของเพื่อนคนนั้นจะมาจัดการอีก ท้ายที่สุดแล้ว เด็กก็อยู่ได้แค่ ม.3 เพราะไม่มีเพื่อนคนไหนยอมรับเขาได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมาก ๆ"
       
       ดังนั้น พ่อแม่ต้องยอมรับให้ได้ว่า ลูกเป็นเด็กออทิสติก หรือเด็กพิเศษ และต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์ จากนั้นติดตามการรักษา และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง รวมไปถึงการให้ความร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในเรื่องข้อมูลต่าง ๆ และที่สำคัญ อย่าเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กพิเศษมากจนเกินไป แต่ควรปล่อยให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองบ้างในบางเรื่อง เพราะไม่เช่นนั้น เด็กจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ยาก
       
       "ทุกวันนี้มีหลายๆ โรงเรียนเปิดโครงการพิเศษสำหรับเด็กพิเศษ แต่เมื่อพูดถึงความพร้อม ยังมีหลายแห่งขาดบุคลากร สถานที่ หรือผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดการทั้งในเรื่องงบประมาณ และให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งภาครัฐเองก็แทบจะไม่ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้เลย แต่สำหรับสาธิตเกษตรฯ เราไม่อยากพูดว่า เราทำได้ดีที่สุด แต่เราทำได้ดีมาก ๆ แห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่สำคัญ เด็กพิเศษของเราหลายคนเมื่อจบม.6 แล้ว สามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนได้หลายแห่ง" หัวหน้าศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กพิเศษคนเดียวกันนี้ทิ้งท้าย
       
       อย่างไรก็ดี นอกจากเด็กออทิสติกแล้ว ทางศูนย์วิจัยการศึกษาเพื่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษของสาธิตเกษตรฯ ยังมีโครงการการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) และเด็กที่มีวุฒิภาวะไม่สมวัยด้วย ซึ่งถือเป็นศูนย์เด็กพิเศษที่เป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียน รวมไปถึงภาคส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์ฯ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อร่วมโครงการ 80 พรรษา มหาราชินี แม่แห่งแผ่นดิน โดยจัดกิจกรรม Open house เปิดศูนย์เด็กพิเศษ..สาธิตเกษตรสู่สังคม เพื่อให้บุคคลภายนอกได้รับฟังบรรยายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยฯ และศึกษาดูงานโครงการการศึกษาพิเศษ 1 2 และ 3 ซึ่งเป็นโครงการสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) เด็กออทิสติก เด็กที่มีวุฒิภาวะไม่สมวัยตามลำดับ



Create Date : 20 สิงหาคม 2555
Last Update : 20 สิงหาคม 2555 8:05:15 น. 0 comments
Counter : 1706 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.