Group Blog
 
<<
กันยายน 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
4 กันยายน 2555
 
All Blogs
 
ปอดบวมในผู้สูงอายุ..น่าห่วงไม่แพ้ในเด็ก!

ศาสตราจารย์ นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ
       เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจยอดฮิตในช่วงหน้าฝนที่คุกคามเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเป็นโรคที่มีการอักเสบของเนื้อปอด ถุงลมปอด ทำให้เด็กหายใจลำบาก บางรายหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม มีไข้ขึ้นสูง ไอ และมีเสมหะมาก สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อไมโครพลาสมา แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae หรือเชื้อนิวโมคอคคัส 
       
       ไม่เพียงแต่อัตราความชุกของโรคที่พบมากในเด็กแล้ว ยังพบได้บ่อยในผู้ใหญ่วัย 50 ปีขึ้นไปอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว และโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคถุงลมโป่งพองหรืออักเสบเรื้อรัง ผู้ที่ต้องฟอกไตเป็นประจำ รวมถึงผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว และอาจลุกลามไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น โรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต และหูชั้นกลางอักเสบ นอกจากนี้ โรคปอดบวมยังเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอีกด้วย
       
       ศาสตราจารย์ นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ ให้ความรู้ในงานสัมมนาเรื่องทางเลือกในการป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสในผู้ใหญ่ จัดโดยไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อก่อโรคที่มีความสำคัญ เพราะสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อาทิ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเรียกว่าโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease) อีกทั้งยังเป็นเชื้อก่อให้เกิด 'โรคปอดบวม' ซึ่งคร่าชีวิตของคนทั่วโลกกว่าปีละ 1.6 ล้านคน ซึ่งนอกจากเด็กแล้ว ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว และโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน หัวใจวาย ตับแข็ง ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เป็นต้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้สูง เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีโรคประจำตัว ยิ่งทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อต่าง ๆ
       
       สอดรับกับผลการศึกษาเปรียบเทียบอุบัติการณ์การติดเชื้อนิวโมคอคคัสในประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงสาเหตุการเป็นโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบในผู้ป่วย โดยทำการศึกษาทุกช่วงอายุ พบว่า ในจังหวัดนครพนม มีการเกิดโรคปอดบวมชุมชนในผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป) สูงถึง 1,573 คนต่อประชากร 100,000 คน ในช่วงเดือนกันยายน 2546 ถึงสิงหาคม 2547 และในจังหวัดสระแก้ว 1,310 คนต่อประชากร 100,000 คน ในช่วงเดือนกันยายน 2545 ถึงสิงหาคม 2546 นับได้ว่าเป็นโรคที่คุกคามผู้สูงอายุไทย และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมดเลยก็ว่าได้ โดยในปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม-25 มิถุนายน 2555 ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วยโรคปอดบวม 78,571 คน เสียชีวิต 541 คน ส่วนใหญ่คือร้อยละ 62 เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก
       
       สำหรับอาการในผู้ใหญ่ คล้าย ๆ กับเด็ก โดยอาการของผู้ติดเชื้อที่ปอดสังเกตได้จาก มีอาการไอ มีเสมหะ เหนื่อย หายใจลำบาก หากลามเข้าสู่กระแสเลือด จะทำให้เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ไข้ขึ้น หนาวสั่น และช็อกในที่สุด หากลุกลามไปยังสมองก็อาจทำให้เป็นโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมองได้
       
       ด้านการรักษานั้น แม้ว่าการติดเชื้อสามารถรักษาได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบันพบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้เชื้อนิวโมคอคคัสมีการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น โดยทั่วไปการติดเชื้อจะขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ เชื้อก่อโรค การสัมผัสก่อโรค และภาวะสุขภาพของประชากร ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเพื่อป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกัน การลดการสัมผัสเชื้อก่อโรคโดยการหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหรือที่ ๆ มีผู้ป่วยจำนวนมากก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือตัวผู้สูงอายุเอง อาจพิจารณาขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเกี่ยวกับทางเลือกในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคปอดบวม และการติดเชื้อรุนแรง

       นอกจากนั้น การป้องกันไม่ให้ป่วยด้วยโรคปอดบวม ต้องหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าหลายชั้นให้ร่างกายอบอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ในผักและผลไม้จะมีวิตามินซี สร้างภูมิต้านทานโรคได้ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีและใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ถ้าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่คนแออัด หมั่นล้างมือให้สะอาดภายหลังสัมผัสสิ่งของหรือผู้ป่วย
       
       ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นพ.ธีระพงษ์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน สมาคมวิชาชีพแพทย์ได้ส่งเสริมให้มีการเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะการติดเชื้อดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเมื่ออายุมากขึ้น โดยวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัสที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมี 2 ประเภท คือ วัคซีนนิวโมคอคคัสโพลีแซคคาไรด์ เป็นวัคซีนดั้งเดิม มีใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 และวัคซีนนิวโมคอคคัสแบบคอนจูเกต ชนิดป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 10 สายพันธุ์ และวัคซีนชนิดล่าสุดที่สามารถป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์
       
       สำหรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ได้รับการรับรองให้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กอายุ 6 สัปดาห์ ถึง 5 ปีได้ แต่มีเพียงวัคซีนแบบคอนจูเกตชนิดป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองให้ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะสามารถป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวในประเทศไทยได้มากสุดถึง 13 สายพันธุ์ (คิดเป็น 68 เปอร์เซ็นต์ ของสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย) ซึ่งจัดเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตลอดจนผู้ป่วยที่ไม่มีม้าม ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ต้องพิจารณาถึงประโยชน์และความคุ้มค่าด้วย
       
       นับเป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจที่ทุกบ้านไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และโรคเรื้อรังต่าง ๆ เพราะ 2 กลุ่มนี้ คือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโรคปอดบวมในช่วงหน้าฝนเป็นพิเศษ



Create Date : 04 กันยายน 2555
Last Update : 4 กันยายน 2555 8:24:06 น. 0 comments
Counter : 663 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.