Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
 
18 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 
สอนลูกจัดการกับความเจ้าอารมณ์ของตัวเอง/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

       ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วไม่เคยโกรธ…
       
       เพราะฉะนั้นพ่อแม่ไม่ต้องเครียดเมื่อลูกมีอาการโกรธ โมโห เพราะจัดเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งของมนุษย์กันเลยทีเดียว ไม่ใช่เป็นสิ่งไม่ดี หรือเป็นความผิด แต่เป็นอารมณ์ที่เด็กต้องการส่งสัญญาณบางประการให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ได้รับรู้ว่าหนูเกิดความไม่พอใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
       
       แต่ประเด็นคือ เมื่อมีอาการโกรธ หรือโมโหแล้ว เจ้าตัวเล็กของเราสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้หรือเปล่าต่างหาก และก็เป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องตระหนัก และต้องหาทางช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วเขาหรือเธอตัวน้อยอาจติดพฤติกรรมโมโหร้าย หรือเจ้าอารมณ์ไปจนโตก็ได้ 
       
       แล้วถ้าเจ้าตัวเล็กของเราเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ล่ะ ..!!
       
       ประการแรก เริ่มจากการตรวจสอบตัวเองก่อนว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ชอบตามใจลูก หรือตอบสนองลูกทุกครั้งที่ลูกต้องการสิ่งใดๆ โดยไม่ได้สนใจว่าเหมาะสม ควรหรือไม่ควร แต่ไม่อยากขัดใจลูกหรือไม่ ถ้าใช่แล้วล่ะก็ต้องปรับตัวเองก่อนว่าจากนี้ไปจะไม่ตามใจลูกพร่ำเพรื่อ ควรจะมีขอบเขต บางอย่างก็ต้องขัดใจบ้าง แต่เวลาขัดใจต้องอธิบายให้ลูกฟังด้วยว่าเพราะอะไร
       
       และถ้าพ่อแม่ประเภทนี้ไม่เริ่มจากการปรับตัวเองก่อนล่ะก็ ยากที่จะสอนลูกให้จัดการอารมณ์ของตัวเองได้แน่
       
       ประการที่สอง ควรฝึกให้ลูกรู้จักสังเกตอารมณ์ของตัวเอง ให้สังเกตว่าอะไรคือสัญญาณเริ่มต้นของอารมณ์โกรธของตัวเอง เช่น อึดอัด หายใจแรง กล้ามเนื้อเกร็งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มือเย็น เหงื่อแตก ฯลฯ และเมื่อพบว่ามีอาการเหล่านี้ ก็ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ถ้าหากมีพฤติกรรมเหล่านี้ ให้พยายามหายใจเข้าลึกๆ และฝึกให้ผ่อนอารมณ์ เช่น นับหนึ่งถึงร้อย หรือให้นึกถึงเรื่องที่ลูกคิดถึงแล้วสบายใจ
       
       ประการที่สาม ฝึกให้ลูกระบายความรู้สึกเมื่อเกิดอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจ ให้เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้พ่อแม่ฟัง ซึ่งหมายความว่า พ่อแม่ต้องพร้อมทุกเมื่อที่จะรับฟังลูกเมื่อลูกต้องการเรา และเมื่อรับฟังเรื่องราวจากลูกแล้ว ก็ต้องสอบถามอารมณ์ความรู้สึกว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เพื่อให้เขาได้เรียนรู้อารมณ์ของตัวเองด้วย จากนั้น พ่อแม่ค่อยๆ ให้คำแนะนำเพื่อให้อารมณ์ของลูกกลับเข้าสู่สภาวะปกติให้ได้ก่อน
       
       ประการที่สี่ พาลูกออกไปจากบรรยากาศที่ทำให้เขาเกิดสภาวะอารมณ์โกรธ หรือไม่พอใจ เพื่อเบี่ยงเบนสถานการณ์ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็สามารถเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย แต่ถ้าลูกโตก็ต้องใช้เวลาและเทคนิคของพ่อแม่มากหน่อย
       
       ประการที่ห้า ชวนทำกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าจะช่วยให้ลูกผ่อนคลาย เช่น ชวนไปเดินเล่น วาดรูป ชวนไปกินไอศกรีม หรือกิจกรรมโปรดของลูก เพื่อให้คลื่นลมพายุในใจลูกสงบซะก่อน

       ประการสุดท้าย เมื่ออารมณ์พุ่งพล่านสงบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อย่าลืมที่จะชวนลูกพูดคุยว่าต้นตอของความโกรธเกิดจากอะไร และเขาคิดอย่างไรกับสถานการณ์นั้นๆ แล้วอาจลองโยนคำถามหรือเสนอแนะทางออกว่าถ้าทำอย่างนี้ หรือแก้ปัญหาแบบนี้จะดีกว่าไหม จากนั้นก็ควรสอบถามว่าเมื่อเกิดอารมณ์โกรธแล้วผลที่ตามมาเป็นอย่างไร ยิ่งถ้าหากลูกมีอารมณ์โกรธแล้วขว้างปาข้าวของเสียหาย หรือทำให้ผู้อื่นหรือตัวเองเจ็บตัว ผลที่ตามมาคืออะไร เพื่อให้เขาได้ลำดับเหตุการณ์และคิดถึงผลเสียที่ตามมาหากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้
       
       อย่างไรก็ตาม สำหรับคนเป็นพ่อแม่แล้วย่อมไม่อยากให้ลูกมีอารมณ์โกรธ หรือเป็นเด็กเจ้าอารมณ์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกเป็นเด็กอารมณ์ดี ร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี จะช่วยสร้างพื้นฐานด้านอารมณ์ที่ดีให้กับลูกได้ เพราะคนที่มีทักษะทางอารมณ์ที่ดี คือคนที่รู้จักและเท่าทันอารมณ์ตัวเอง และมีโอกาสที่จะจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีกว่า เพราะพื้นฐานอารมณ์มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และมีความมั่นคงทางอารมณ์ 
       
       แน่นอนว่า วิธีที่จะส่งเสริมให้ลูกมีพื้นนิสัยอารมณ์ดี ก็ต้องเริ่มจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยความรัก ความเข้าใจ โอบกอดสัมผัสอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้เกิดความไว้วางใจ เชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นที่รัก ไม่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งเป็นรากฐานของการเห็นคุณค่าในตัวเอง
       
       รวมไปถึงการส่งเสริมให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ต้องการ เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดหรือแก้ปัญหาสิ่งใดก็ตาม โดยไม่ลืมที่จะชื่นชมหรือให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ
       
       สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยเรื่องพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของลูกด้วย ก็คือ การส่งเสริมกิจกรรมที่ลูกได้แสดงความรู้สึกและอารมณ์ เช่น เล่านิทาน ดนตรี ศิลปะ การเล่น ฯลฯ เพราะจะช่วยฝึกเรื่องสมาธิหรือการจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย และสิ่งนี้ยังเป็นฐานของการพัฒนาไปสู่ความมุมานะ พยายามตั้งใจได้อีกด้วย
       
       อย่าลืมว่าสังคมยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เด็กยุคใหม่เป็นเด็กหงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ขี้โมโห เพราะเป็นสังคมแห่งความเร่งรีบ สังคมแห่งเทคโนโลยีที่เป็นตัวปลุกเร้ากระตุ้นอารมณ์เด็กรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา 
       
       แต่สิ่งสำคัญที่สุด พ่อแม่ต้องไม่ตกเป็นทาสความเจ้าอารมณ์ของตัวเองด้วย เพราะถ้าพ่อแม่ไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ก็อย่าได้หวังที่จะสอนให้ลูกจัดการอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน ..!!!



Create Date : 18 กรกฎาคม 2555
Last Update : 18 กรกฎาคม 2555 7:54:27 น. 0 comments
Counter : 863 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.