อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมไทย

ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองเต็มไปด้วยคดีความทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะการใช้หลักความยุติธรรม เข้าจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้คนต่างๆที่ถูกแบ่งข้างกันอย่างชัดเจน และเริ่มมีการใช้กำลังความรุนแรง รวมไปถึงการมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการก้าวล่วงสถาบัน ซึ่งนำมาซึ่งการถูกอีกฝ่ายที่เป็นคู่ความขัดแย้งแจ้งความดำเนินคดี หลายต่อหลายคดี

โดยแต่ละคดีปรากฏว่าแต่ละฝ่ายเริ่มมีการใช้มวลชนเข้ากดดันการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ถูกกดดันในการทำหน้าที่ ดำเนินคดีอาญาต่อแกนนำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแกนนำม็อบ นปก.โดยใช้กระบวนการที่เคยปฏิบัติ ด้วยการออกหมายเรียก และหมายจับกุมดำเนินคดี แต่ก็ต้องยอมผ่อนปรนหลักการในกระบวนการยุติธรรมลง หลังจากที่ม็อบนับหมื่นเคลื่อนตัวปิดล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.)เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว "นายสนธิ ลิ้มทองกุล"แกนนำพันธมิตร ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีกรณีการเผยแพร่ซ้ำการปราศรัยของ "ดา ตอปิโด"แกนนำกลุ่มต้านพันธมิตร ที่พาดพิงสถาบันให้ได้รับความเสียหายเข้าใจผิด

ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการควบคุมตัว"ดา ตอปิโด"มาดำเนินคดี..และถูกควบคุมตัวในห้องขังโดยห้ามไม่ให้ประกันตัว..ขณะที่"นายสนธิ ลิ้มทองกุล"ได้นำเนื้อหาการโจมตีสถาบันของ"ดา ตอปิโด"มาเผยแพร่ซ้ำ ทำให้มีผู้แจ้งความดำเนินคดีกับ “นายสนธิ” และมีการออกหมายจับกุม กระทั่งมีการเข้ามอบตัวของ “นายสนธิ” (๒๔ก.ค.)ท่ามกลางกระแสข่าวตำรวจจะไม่ปล่อยตัว"นายสนธิ"ทำให้ม็อบพันธมิตรไม่พอใจทำการระดมประชาชนกว่าหมื่นบุกให้กำลังใจ"นายสนธิ"ที่บริเวณด้านหน้า กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทั่งนายสนธิ ได้ถูกปล่อยตัว ท่ามกลางการประกาศว่า พันธมิตรได้รับชัยชนะในครั้งนี้..

จากเรื่องดังกล่าว ทำให้กระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การจับกุมตัว การกล่าวโทษดำเนินคดี ไปจนถึงการออกหมายจับ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล ได้รับการพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะกับคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน คดีหมิ่นประมาทต่างๆ ต่อกระบวนการการควบคุมตัวผู้ต้องหา และการปฏิบัติกับผู้ต้องหา

ดังนั้น เมื่อวันที่ 24-25 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้จัดงานสัมมนาโครงการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ขึ้น ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ตฯ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลของสหประชาชาติ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยไม่เกิดการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกระบวนการสอบสวนเพื่อค้นหาความจริง

ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวในการบรรยายเรื่อง "สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม" โดยระบุว่า กระบวนการยุติธรรมไทยได้พัฒนามาจากระบบไต่สวนที่ไม่แยกอำนาจหน้าที่การสอบสวนฟ้องร้องกับการพิจารณาพิพากษาออกจากกัน การตรวจสอบความจริงในระบบไต่สวนจึงมีชั้นเดียว คือ การตรวจสอบโดยศาล ในระบบไต่สวน "ผู้ถูกกล่าวหา" เป็น "กรรมในคดี" จึงขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ซึ่งเป็นระบบกล่าวหา ได้แยกอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความจริงออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ การตรวจสอบความจริงในชั้นเจ้าพนักงาน และการตรวจสอบความจริงในชั้นศาล

โดยกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ต้องหามีสิทธิต่าง ๆ ในการต่อสู้ทางคดีซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้วิธีพิจารณาคดีอาญาที่ดีต้อง มีความเป็นเสรีนิยม มีความเป็นประชาธิปไตย และเป็นการกระทำเพื่อสังคม ให้สังคมได้รับรู้ ตระหนักและเห็นว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง อีกทั้งนัยยะที่สำคัญในตัวกฎหมายประกอบด้วย 2 หลักสำคัญ คือ เป็นกฎหมายที่รักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองสิทธิ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบความจริงที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนในชั้นเจ้าพนักงาน จึงต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาเสมอ ต้องเริ่มจากการพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นความผิดอาญาหรือไม่ และเป็นความผิดฐานใด พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยาน หลักฐานทั้งปวงเพื่อยืนยันการกระทำนั้นต่อศาล

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติบทบาทการตรวจสอบในการออกหมายค้นและการขอหมายจับของศาล ซึ่งเป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และความจำเป็นของการขอออกหมายค้น หมายจับ ยังไม่แสดงถึงความเป็นเสรีนิยมในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร และหลายส่วนก็ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายเท่าที่ควร อย่างเรื่องของการขอหมายค้น หมายจับ รวมทั้งความสมบูรณ์ของการแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งยังไม่สมบูรณ์นัก การแจ้งข้อกล่าวหาที่สมบูรณ์จะต้องแจ้งว่าการกระทำของเขาคืออะไร และผิดกฎหมายอย่างไร ตรงจุดนี้เราควรพัฒนาเรื่องการเคารพสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาให้มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้อาชีพนายประกันและบริษัทประกันเสรีภาพที่เข้ามาหากินในขั้นตอนการขอประกันตัวของผู้ต้องหา และได้ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลจากการประกันเสรีภาพ ซึ่งระบบอยางนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นการซ้ำเติมผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นประชาชนยากจน กระทรวงยุติธรรมจึงต้องเข้าไปดูแลแก้ไข
"ตามกฎหมายกระบวนการยุติธรรมไทยในปัจจุบันสามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดีพอสมควร แต่ทางปฏิบัติยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง การปฏิรูปกฎหมายต้องทำพร้อมกัน 3 อย่าง คือ ปฏิรูปตัวบทกฎหมาย ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และปฏิรูปความคิดของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษหน่วยงานใหม่ เป็นมิติใหม่ของสังคมไทย ที่จะปฏิรูปความคิดของคนในองค์กรได้ และจะทำให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนได้" ดร. คณิต กล่าว

Mr.Homayuan Alizadeh Regional Repressentative, Office of High Commissioner for Human Rights : OHCHR บรรยายเรื่อง Human Rights : The Road to Justice" โดยกล่าวว่า ในการทำให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน ดำเนินไปได้ด้วยดี จะต้องคำนึงถึงคนยากจน และผู้ทุพพลภาพ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักจะถูกละเลย ฉะนั้นจะต้องมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อการดำเนินการและมีแนวทางที่ละเอียดที่จะดำเนินไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ถ่องแท้ ดังนั้นการสร้างสังคมยุติธรรมคนในสังคมนั้นจะต้องมีสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกันทุกคน

Dr.Friedrich Hamburger Ambassador Head of Delegation, EU Delegation บรรยายเรื่อง The Role of international Cooperation to Promoting and Protecting Human Rights" โดยกล่าวว่า ตนได้ยินบ่อยครั้งเรื่องการที่ผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีไม่ได้รับการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสม และเข้าใจว่าวัฒนธรรมความเชื่อที่แตกต่างกันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบกับเรื่องนี้โดยเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตนเชื่อว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบัน สมาชิกสหภาพยุโรปและอื่น ๆ ราว 110 ประเทศ ได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว และในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งใน ปี 2006 ได้มีกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้ว่า จะไม่มีการซื้อสินค้าจากประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือประเทศที่ยังมีการลงโทษประหารชีวิตอยู่ นอกจากนี้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้มีการกำหนดจุดยืนของตัวเองในเวทีระหว่างประเทศไว้โดยมีเป้าหมายในการพยายามคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย

นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการอัยการพิเศษ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ สำนักงานต่างประเทศ สำนักอัยการสูงสุด กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้มากที่สุดในคดีอาญา ทั้งนี้เนื่องจากการรับโทษในคดีอาญาของผู้ต้องหาแต่ละประเภทล้วนกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ปรับ ยึดทรัพย์ จำคุก ประหารชีวิต

นอกจากนั้นระหว่างการดำเนินคดีก็คล้ายกับว่าเจ้าพนักงานจะมีดาบอาญาสิทธิที่จะไปจับกุม หรือถามคำถามที่ปกติเราจะไม่สามารถถามคนอื่นได้เลย

แต่เมื่อสวมบทพนักงานสอบสวนแล้วเขาสามารถถามคำถามเหล่านั้นได้ จึงเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นได้

ดังนั้นการคุ้มครองสิทธิกับการดำเนินคดีสามารถทำควบคู่กันได้ แต่ต้องถามก่อนว่า การคุ้มครองสิทธินั้นสิทธิของใคร เพื่ออะไร และทำอย่างไร และต้องคำนึงว่าผู้ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิคือ ผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือเหยื่อ และพยาน การคุ้มครองสิทธินั้นเป็นไปเพื่อค้นหา "ความจริง" ซึ่งจะเป็นเกราะปกป้องทั้งสามฝ่าย ในกระบวนการค้นหาความจริงของกระบวนการยุติธรรม

สำหรับบทบาทอัยการกับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการค้นหาความจริง ทั้งในคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครองนั้น อัยการมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้น รวมทั้งในส่วนคดีอาญาพิเศษในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 40(5) และยังมีกฎหมายอื่นๆที่กล่าวถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นไว้.///





Create Date : 25 กรกฎาคม 2551
Last Update : 25 กรกฎาคม 2551 23:22:55 น. 2 comments
Counter : 1752 Pageviews.

 
กาก


โดย: คน IP: 182.53.165.116 วันที่: 25 สิงหาคม 2554 เวลา:17:37:20 น.  

 
กากฉิบหายเนื้อหาแค่นี้ก็ไม่มี


โดย: รัก IP: 182.53.165.116 วันที่: 25 สิงหาคม 2554 เวลา:17:40:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.