อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
29 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
ประชาธิปไตยกับอภิชนาธิปไตย

โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ "มองมุมใหม่"
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551


ในความเชื่อของพวก อภิชนาธิปไตย (aristocracy) นั้น เชื่อว่าระบอบการปกครองที่ดีนั้น จะต้องมาจากคนที่มีความสามารถ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สมควรมีสิทธิในการปกครองเท่านั้น โดยเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ไม่สามารถหาคนที่มีความรู้ความสามารถ มาปกครองประเทศได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น ในความคิดของพวกอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ จึงต้องการให้คนกลุ่มน้อยที่มีความสามารถเข้ามาปกครองประเทศ บางคนเลยเถิดไปถึงกับ เสนอให้มีระบบ "การเมืองใหม่" ที่เสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70:30 กล่าวคือ เพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30 ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องของบุคคลที่อ้างว่า ทำเพื่อ "ประชาธิปไตย" แต่กลับมีข้อเรียกร้องในเชิง "อภิชนาธิปไตย" เช่นนี้

คำว่าประชาธิปไตย มาจากคำว่า democracy ซึ่ง demos มาจากคำว่า people หรือประชาชน และคำว่า kratein มาจากคำว่า to rule หรือปกครอง กล่าวโดยสรุป คือ democracy หรือประชาธิปไตย แปลว่า การปกครองโดยประชาชน (rule by people)หรืออาจกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน(popular sovereignty)นั่นเอง

ความหมายของประชาธิปไตยนั้น นอกเหนือจากนิยามที่ทราบโดยทั่วไป ว่า "เป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และมีสิทธิ อำนาจ และโอกาสในการเข้าควบคุมกิจการทางการเมืองของชาติ" แล้ว ยังหมายความรวมถึงปรัชญาของสังคมมนุษย์ หรือวิถีชีวิตที่ยึดถืออุดมคติ หรือหลักการที่กำหนดพฤติกรรมระหว่างมนุษย์ในสังคม ในกิจการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คือ

1) การเมือง ประชาชนแต่ละคน มีส่วนในการกำหนดนโยบายในการปกครองประเทศ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

2) เศรษฐกิจ ประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบการทางเศรษฐกิจ หรือให้บุคคลได้รับหลักประกันในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ หรือทางเศรษฐกิจที่ตนเองได้ลงแรงไป

3) สังคม ประชาชนได้รับความยุติธรรมในสังคม ไม่มีการกีดกันระหว่างชนชั้น กลุ่มชน หรือความแตกต่างใดๆ หรือเกิดระบบอภิสิทธิ์ชนหรือระบบอุปถัมภ์

4) วัฒนธรรม ส่งเสริมค่านิยม แบบแผน หรือประเพณีที่ยึดมั่นในหลักการประนีประนอม การใช้เหตุผล การยอมรับนับถือคุณค่าและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ มีความเข้าใจและเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกันเพื่อส่วนรวม โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ชอบธรรมและเหมาะสมกับกาลสมัย ตลอดจนให้ความสำคัญกับสมาชิกที่อยู่ในสังคมเดียวกัน

ประชาธิปไตยจึงมีความหมายทั้งในรูปแบบการปกครอง และปรัชญาในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวม รัฐบาลที่เกิดขึ้น จึงเป็นเสมือนเครื่องมือในการช่วยให้ประชาชน ได้บรรลุจุดหมายปลายทางของสังคม นั่นคือ ความผาสุกของประชาชนทั้งปวง ซึ่งหมายถึง

1) เสรีภาพ ที่บุคคลมีและใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอดคล้องกับหลักการเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวัสดิการของส่วนรวม

2) โอกาส ที่บุคคลจะสามารถดำเนินกิจการต่างๆ ตามความต้องการ ทุกคนจะได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ในการที่จะพัฒนาศักยภาพต่างๆ ตามความสามารถของตนเอง

3) ความเจริญ ที่บุคคลมีโอกาสพัฒนาตัวเอง มีความเจริญก้าวหน้าทั้งในด้านสติปัญญา ความสามารถและบุคลิกภาพของแต่ละคน ศักดิ์และสิทธิในการปกครองประเทศ หรือการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจปกครองตนเอง

จากหลักการเบื้องต้นของประชาธิปไตย ที่ผมกล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นหลักการสากลไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลก ไม่จำเพาะว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบฝรั่งหรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ผู้คนชอบอ้างเข้าข้างตนเอง เมื่อต้องการออกนอกลู่นอกทางของหลักการประชาธิปไตย

ดังนั้น การที่พวกอภิสิทธิ์ชนที่ต้องการให้คนกลุ่มน้อย ที่เชื่อว่ามีความสามารถเหนือประชาชนธรรมดาสามัญเข้ามาปกครองประเทศ จึงขัดต่อหลักความเสมอภาค เพราะเท่ากับการไม่ยอมรับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อสภาพอันแท้จริงของมนุษย์

ในบางครั้งการปกครองแบบประชาธิปไตย อาจไม่สามารถคัดเลือกคนที่มีความสามารถเข้ามาปกครองประเทศได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การที่ให้บุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน นำความต้องการของประชาชนมาใช้ได้ ย่อมดีกว่าการที่ได้คนดีมีความสามารถ แต่ใช้ความสามารถนั้นหาประโยชน์เข้าสู่ตัวเอง โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน

พวกอภิชนาธิปไตยมักชอบอ้างว่า มนุษย์โดยทั่วไปนั้นไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีความเข้าใจและไม่ทราบความต้องการของตัวเอง ฉะนั้นประชาธิปไตยหรือการปกครองโดยประชาชน จึงเป็นการปกครองที่ไม่มีประโยชน์ เพราะประชาชนเป็นกลุ่มคนที่ไร้คุณภาพ ไม่สมควรที่จะมาปกครองประเทศ คนที่ดีที่เหมาะสมที่จะมาปกครองประเทศก็คือชนชั้นนำ

ซึ่งแนวความคิดของพวกอภิชนาธิปไตยนี้ กล่าวได้ว่าไม่ตรงกับความจริงสักเท่าใด เพราะในแต่ละประเทศ ก็มีคนที่มีความรู้ความสามารถอยู่ทั่วไป และคนต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นบุคคลธรรมดาที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และทำให้ประชาธิปไตยสามารถดำเนินไปด้วยดี ในทางปฏิบัติ ระบอบอภิชนาธิปไตยกลับสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมาหลายประเทศ อาทิเช่น ญี่ปุ่น หรือเยอรมนี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น

ในหลายครั้งเราอาจได้ยินข้อกล่าวหาที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้า ไม่รวดเร็ว ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริงอยู่บ้าง เพราะกระบวนการของประชาธิปไตย ต้องอาศัยความเห็นชอบ ต้องศึกษาความต้องการและรับฟังเสียงต่างๆจากประชาชน แต่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ

ตรงข้ามกับระบอบอภิชนาธิปไตยหรือเผด็จการ ซึ่งอาจจะสัมฤทธิผลต่างๆ ในเวลาอันสั้น แต่ความก้าวหน้าต่างๆ นั้นไม่ยั่งยืน อาทิเช่น อาณาจักรไรซ์ของเยอรมนี สามารถคงอยู่ได้เพียง 6-7 ปี ส่วนประเทศอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาที่ยึดถือประชาธิปไตยเป็นหลัก ยังคงมีความก้าวหน้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ แม้แต่เยอรมนีหรือญี่ปุ่นที่เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด

ประวัติศาสตร์สอนเรามาโดยตลอด แต่หลายคนไม่รู้จักเข็ดหลาบ กลับพยายามหมุนเข็มนาฬิกากลับไปอยู่ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีอภิสิทธิ์ชนไม่กี่กลุ่ม นำพาประเทศไปพบจุดจบอันน่าอเนจอนาถ

กรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จได้ภายในวันเดียว ฉันใด ระบอบการเมืองไทย ก็ย่อมไม่อาจแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่มักง่าย ด้วยการให้คนเพียงไม่กี่กลุ่มปกครองประเทศ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ก็ฉันนั้น




Create Date : 29 ตุลาคม 2551
Last Update : 29 ตุลาคม 2551 1:02:45 น. 0 comments
Counter : 1066 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.